.oO เรื่องสั้น ปั้นแต่ง Oo.

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 22 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    หกโมงเย็นรวมพลไปทานอาหารแหนมเนือง ไปภาคเหนือต้องนั่งขันโตก ไปภาคอิสานก็ทานแหนมเนือง เอ ชัก งงๆ ก็แหนมเนืองเป็นอาหารเวียดนามไม่ใช่เหรอ ใช่หรือเปล่า แต่ตอนนี้กลายเป็นเมนูดังของบางจังหวัดในแถบนี้ไปแล้ว พวกเรามาที่ร้านแดงแหนมเนือง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงบรรยากาศดี แต่รถบัสไม่สามารถจอดที่ร้านได้ จึงต้องจอดห่างออกไปหลายร้อยเมตร ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าดีเสียอีกจะได้เดินดูแม่น้ำโขงยามเย็น.....



    [​IMG]

    ขึ้นชื่อว่าแหนมเนืองก็จะมีผักเยอะ แล้วเค้าทานได้ไหมอ่ะ.... ซี่โครงหมูก็ไม่ทาน ลุยสวนก็ไม่ทาน งานนี้ทานแต่ตัวแหนมเนือง, แหนม, ป่อเปี๊ยะแล้วก็ขนมจีนรสชาติแปลกๆ ๕๕๕..... โดยรวมแล้วอร่อยมาก.....


    [​IMG]


    [​IMG]


    [​IMG]


    [​IMG]



    [​IMG]


    [​IMG]


    ................................
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]


    คืนนี้เป็นคืนแรกที่จะได้นอนโรงแรม ไม่รู้ว่ามีการนับเลขกันหรือว่าออกไปดูเมืองตอนกลางคืน แต่สำหรับสร้อยฟ้าฯ ก็ไม่ได้ไปไหนขณะนี้เสียงหายหมดแล้ว แหบสนิท ยาแก้อักเสบกับยาแก้ไข้เหมือนจะเอาไม่อยู่ พอยาแก้ไข้หมดฤทธิ์ตัวก็ร้อนอีก แล้วคอก็ไม่ได้หายเจ็บลงเลย รีบกินยานอนดีกว่า วันนี้เหนื่อยมากกกกกก..... แต่นอนไม่ค่อยหลับ เพราะคอนี่แหล่ะ พอกำลังจะหลับ ก็มีเสียงออกจากลำคอเป็นเหมือนเสียงครางฮือๆ คงจะอักเสบแล้วตีบลง ขนาดดื่มน้ำยังเจ็บคอมากเลย จนกังวลว่าจะตามมาด้วยหอบขึ้นหรือเปล่า... แล้วก็หลับลงจนได้ แต่เพื่อนร่วมห้องจะนอนหลับหรือป่าวไม่รู้ เขาก็ไม่ได้บ่นให้ฟัง นิ... หุ หุ


    [​IMG]


    ................................................
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  3. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]


    เช้านี้ทางไกด์นัด ๖ ๗ ๘ ก็หกโมงยังไม่อยากตื่นเลย อยากนอนต่อ แต่ก็ต้องตื่นถึงอย่างนั้นก็ไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้น จะถ่ายรูปพระอาทิตย์ริมโขงเสียหน่อยเลยไม่ได้ถ่าย ก็รีบอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัวถือกล้อง ลงไปห้องอาหารเจ็ดโมงเช้า จัดการอาหารเช้าเสร็จ ก็เดินลงริมโขง โรงแรมอยู่ริมโขงเลยเดินลงง่าย ทีแรกมองจากโรงแรม เห็นขอบตลิ่ง ถัดจากขอบตลิ่งก็จะเป็นผืนทราย แล้วก็เป็นสายน้ำอยู่ตรงกลางแม่น้ำ ก็นึกว่าไม่กว้างเท่าไหร่ แต่พอเดินลงไปจริงๆ ตรงส่วนของผืนทรายกว้างมาก ทรายริมโขงเป็นทรายที่ละเอียด ใช้เวลาเดินหลายนาทีกว่าจะถึงตัวแม่น้ำที่อยู่ตรงกลาง ที่ตรงผืนทรายนี้ใกล้ๆ กับสะพานมิตรภาพจะมีเพิงใหญ่ๆ อยู่ ครั้งแรกนึกว่าเป็นที่ปลูกผัก แต่พอเดินไปดู ก็เป็นที่ให้เช่าห่วงยาง โต๊ะญี่ปุ่น เสื่อ และร้านอาหาร เหมือนกับชายทะเล อ้อ เขาเล่นน้ำกันตรงนี้.....ทำเหมือนชายทะเล.....



    [​IMG]



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  4. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    ถึงเวลาแปดโมงเช้า พวกเราก็อำลาโรงแรมแห่งนี้เพื่อออกเดินทางไปเยี่ยมชมวิธีการอนุรักษ์พลังงาน ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่นี่มีสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน มีการสาธิตการทำไบโอดีเซล มีเตาแก๊สชีวะมวล มีตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด แต่ทุกวันนี้ส่วนมากจะยังไม่เห็นความสำคัญของการประหยัดพลังงาน อาจเนื่องจากยังไม่เป็นที่นิยมและไม่เอื้อต่อความสะดวกสบาย บางสิ่งบางอย่างมีต้นทุนทางธุรกิจสูง เช่น โซล่าเซลล์ ก็เลยไม่นิยมกัน แต่ถ้าเป็นรถพลังงานไฟฟ้าพวกไฮบริทนี่คนนิยมกัน เพราะขับแล้วเป็นหน้าเป็นตาทางสังคม หุ หุ


    [​IMG]


    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  5. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    พอเยี่ยมชมวิธีการอนุรักษ์พลังงานเสร็จ ต่อไปพวกเราก็จะเข้าสู่ตลาดท่าเสด็จเพื่อไปซื้อของ ที่นี่ไกด์ให้เวลา ๑ชั่วโมงและจะต้องมาขึ้นรถตอน ๑๑ โมงเช้า เย้ยยยย ชั่วโมงเดียวจะเดินทั่วไหมเนี่ยะ งานนี้จ้ำอีกแล้ว อ่ะตลาดท่าเสด็จ ทำไมถึงชื่อว่าตลาดท่าเสด็จ แล้วตลาดท่าเสด็จมีอะไร นั่นสิเออ.....



    [​IMG]




    ตลาดท่าเสด็จหรือตลาดอินโดจีน ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองเป็นแหล่งรวมสินค้าในแถบอินโดจีนที่นี่เปิดจำหน่ายสินค้าทุกวันเวลาตั้งแต่ ๐๗.๐๐ – ๑๘.๓๐ น.


    [​IMG]

    ในอดีตก่อนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ท่าเสด็จเป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาวที่คึกคัก เป็นย่านการค้าขายชายแดนขนาดใหญ่มีเรือข้ามฟากไปมาหาสู่กัน คนท้องถิ่นจึงเรียกว่าตลาดท่าเรืออีกชื่อหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ณ จังหวัดหนองคายและได้เสด็จฯขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ณท่าเรือของตลาดสินค้าอินโดจีนริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ “ตลาดท่าเรือ” จึงได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น “ตลาดท่าเสด็จ”



    [​IMG]


    ปัจจุบันแม้จุดผ่านแดนถาวรได้ย้ายไปที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแล้วย่านท่าเสด็จก็ยังคงคึกคัก เป็นแหล่งช้อปปิ้งมีสินค้าราคาถูกจากกลุ่มประเทศอินโดจีนให้เลือกซื้อ สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากจีน เวียดนาม และลาว รวมทั้งของไทยด้วย สินค้าจากลาวส่วนใหญ่เป็นผ้าทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายสีสันลวดลายสวยงามนอกจากนี้ยังมีเครื่องเงินลาวซึ่งต้องมีความชำนาญในการเลือกซื้อเพราะมีเครื่องเงินจากที่อื่นมาวางจำหน่ายร่วมด้วยส่วนสินค้าจากจีนจะเป็นพวกเครื่องแก้ว ถ้วยชามกระเบื้อง เครื่องใช้ไฟฟ้ากล้องถ่ายรูป ราคาไม่แพง รวมถึงขนมและอาหารแปรรูปด้วย เช่น ลูกพรุน ลูกหยี รังนกเห็ดหอมแห้ง สมุนไพร ฯลฯ ถ้านิยมสินค้าจากเวียดนาม ก็มีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋ารองเท้า เครื่องถ้วยชาม ซึ่งจะวางขายปะปนกับสินค้าจีนสำหรับคนที่ชอบกินกาแฟสดมีกาแฟจากลาวซึ่งเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นดีแห่งหนึ่งของโลกที่หลายประเทศในยุโรปนำไปบรรจุหีบห่อยี่ห้อดังขายในราคาแพงแต่ที่นี่บรรจุขายในถุงพลาสติกธรรมดาด้วยราคาถูกนอกจากนี้ตลาดท่าเสด็จยังเป็นแหล่งขายสมุนไพรทั้งของไทยและลาวบรรจุถุงพร้อมฉลากบอกสรรพคุณ และหากอยากได้หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอกที่ผลิตในหนองคายกลับไปเป็นของฝาก นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารริมแม่น้ำโขง ทั้งอาหารเวียดนามและอาหารปลาจากแม่น้ำโขงให้เลือกชิมอีกหลายร้าน


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  6. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]
    สมเด็จหญิงน้อย ในพระราชพิธีโสกัณฑ์

    ตรงอาคารท่าเรือเทศบาล ตลาดท่าเสด็จ มีการจัดนิทรรศการ พัสตราภรณ์ไทย เป็นการแสดงผ้าไทยและการแต่งกายของไทยในหลายๆ ยุค และเจ้าของร้านมีผ้าไทยต่างๆ ให้เลือกซื้อหาได้หลายชนิด ถ้าจำไม่ผิดจะรู้สึกจะเคยเห็นออกมาเป็นหนังสือเรื่อง พัสตราภรณ์ มาหลายปีแล้ว ในระหว่างชมนิทรรศการอยู่นั้น ตามฝาผนังก็มีการนำพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายมาแสดงไว้เพื่อให้เห็นลักษณะเครื่องแต่งกาย ซึ่งภาพเหล่านี้สร้อยฟ้าฯ มีหมดแล้ว ก็ไปสะดุดตาภาพของสมเด็จหญิงน้อย ภาพนี้ยังไม่มี จึงได้ถ่ายภาพเก็บไว้แต่เนื่องจากภาพอยู่บนผนังสูง ก็เลยได้ภาพมาไม่สมส่วนนัก แต่ก็ใช้ได้.....



    [​IMG]


    [​IMG]


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  7. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    จากตลาดท่าเสด็จพวกเราก็ขึ้นรถวนเวียนอยู่ในตัวเมืองหนองคาย เพื่อไปทานอาหารกลางวันที่ร้านเดิมเมื่อวาน ทานอาหารเสร็จแล้ว จุดหมายต่อไปที่จะแวะกันคือ บ้านจอมแจ้ง.... บ้านจอมแจ้งมีอะไร ตามไปดูกัน



    [​IMG]

    บ้านจอมแจ้งตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ตำบลสีกาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
    บ้านจอมแจ้งก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๙เดิมทีเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีชื่อด้วยการคมนาคมในสมัยก่อนการต้องอาศัยเรือพายไปตามลำน้ำโขง จากตัวเมืองในจังหวัดหรือหมู่บ้านไกล เวลาเดินทางจะต้องมาพักค้างแรมที่หมู่บ้านนี้ และในช่วงหน้าแล้งน้ำน้อยเรือก็ต้องจอดพักที่บริเวณนี้จนแจ้ง (สว่าง) จึงเดินทางต่อไปได้ จึงได้ชื่อว่า "บ้านแจ้ง" ต่อมาเมื่อการคมนาคมสามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ มีความสะดวกสบายขึ้นไม่มีใครเดินทางทางน้ำแล้ว บ้านแจ้งจึงได้เพิ่มคำว่า"จอม"นำหน้า เป็น "บ้านจอมแจ้ง" ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และทำประมงน้ำจืด



    [​IMG]


    จากนิตยสาร Moderm Maturithy จังหวัดหนองคาย บ้านจอมแจ้งถูกจัดให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับ ๗ ของโลกของผู้เกษียณ โดยมีตัวชี้วัดคือ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม กิจกรรมนันทนาการ ความปลอดภัย ความมั่นคงทางการเมือง และการเข้าถึงเทคโนโลยี ทั้งประเพณี วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อัธยาศัยที่ชาวบ้านมีต่อนักท่องเที่ยวต่างถิ่น และปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในเทศกาลออกพรรษา จึงทำให้เกิดเป็น “กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจอมแจ้ง” ขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในทุกครั้งที่มาดูปรากฏการณ์มหัศจรรย์หรืออยากมาศึกษาวัฒนธรรมริมฝั่งโขงแห่งนี้



    [​IMG]


    การบริหารจัดการภายในหมู่บ้านจอมแจ้งจะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ นับได้ ๘ กลุ่ม คือ กลุ่มแปรรูปอาหารแม่บ้านเกษตร, กลุ่มโฮมสเตย์, กลุ่มแม่บ้านทอผ้าพื้นเมือง, กลุ่มออมทรัพย์, กลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือ, กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ, กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่, กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในปี พ.ศ.๒๕๔๙ บ้านจอมแจ้งได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี



    [​IMG]
    ลุงกำนัน มาเล่าเรื่องราวความเป็นมา
    และผลงานของบ้านจอมแจ้งให้ฟัง

    ในส่วนของรางวัลผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP
    ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ระดับ ๕ดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี ๒๕๔๖
    ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม ระดับ ๕ดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
    ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วตัดระดับ ๔ดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. ๒๕๔๗
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  8. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    การแสดงบนเวทีของเด็กๆ บ้านจอมแจ้ง



    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  9. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    ออกจากบ้านจอมแจ้ง พวกเราก็ต้องอำลาจังหวัดหนองคาย มุ่งหน้าสู่จังหวัดอุดรธานี คืนนี้พวกเราจะนอนกันที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ขณะที่รถกำลังแล่นอยู่ก็เริ่มเกิดอาการไม่ดีเมื่อเกียร์รถเข้ายาก เวลาเข้าเกียร์มีเสียงดังมากบางครั้งมีอาการเกียร์หลุด ก็นั่งรถไปฟังเสียงเกียร์ไป เริ่มรู้ชะตากรรมแล้วว่าหนทางข้างหน้าเราอาจต้องแยกทางกัน หุ หุ


    [​IMG]



    [​IMG]

    แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมือง พวกเราได้แวะช้อปปิ้งกันอีกแล้วที่ตลาดผ้าบ้านนาข่า แต่ก่อนที่จะเข้าไปในตลาด สร้อยฟ้าฯ ได้ปลีกตัวจากลุ่มเพื่อนมากับพี่ๆ อีกกลุ่มนึง เขาชวนไปดูรูพญานาค(เปลวพญานาค) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทางเข้าออกของพญานาค ในวัดนาคาเทวีซึ่งอยู่ติดกับตลาดบ้านนาข่านั่นแหล่ะ... วัดนาคาเทวี เดิมเป็นวัดร้างมีซากเจดีย์ปรากฏอยู่ หลวงปู่หน่อยได้นำชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านขาว ช่วยกันสร้างและบูรณะวัดขึ้นชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าวัดนาคาเทวี บ้านนาข่าได้รับพระวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒



    [​IMG]



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  10. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]


    [​IMG]

    ตลาดผ้าบ้านนาข่าอยู่ในเขตอำเภอเมืองห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๖ กิโลเมตรตามเส้นทางสายอุดรธานี-หนองคาย(ทางหลวงหมายเลข ๒) หรือถนนมิตรภาพหมู่บ้านอยู่ทางขวามือตรงข้ามโรงเรียนชุมชนนาข่า เป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าขิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าขิต ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ มากมาย



    [​IMG]


    [​IMG]


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  11. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    เมื่อช้อปปิ้งกันจนกระเป๋าตังก์แฟบ ก็ถึงเวลาขึ้นรถ เหมือนเดิมขับๆ อยู่เกียร์เข้าไม่ได้ คนขับก็พยายามใส่เกียร์รู้สึกจะเป็นเกียร์ ๕ นี่แหล่ะ พอสักพักเกียร์ก็หลุด เป็นอย่างนี้ไปตลอด จนถึงสวนอาหารอะไรจำชื่อไม่ได้ติดทะเลสาบบรรยากาศดีทีเดียว เมื่อทานอาหารเสร็จก็เช็คอินเข้าโรงแรมที่พักอยู่ในตัวเมืองอุดรธานี ก็มีเพื่อนๆ ชวนไปเดินถนนกลางคืน บางกลุ่มก็เที่ยวราตรี แต่สร้อยฟ้ามาลา ไม่สบาย กินยานอนดีกว่า....


    [​IMG]


    [​IMG]


    ................................................
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  12. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    เช้านี้ทางไกด์นัด ๖ ๗ ๘ เหมือนเดิม ทีแรกจะนัด ๕ ๖ ๗ แต่คงจะเช้าเกินไป ก็เลื่อนออกไปอีกหนึ่งชั่วโมง ทานอาหารเสร็จไกด์บอกว่า รถคันที่นั่งมาไปต่อไม่ได้แล้ว เกียร์พัง ต้องกระจายไปกับรถคันอื่น นั่นไงนึกแล้วไม่มีผิด ก็เป็นอันต้องระเห็จไปกับรถคันอื่น แต่รถคันอื่นก็มีเจ้าที่อยู่แล้ว ก็ต้องไปนั่งอยู่ชั้นล่าง แล้วชั้นล่างก็แอร์ไม่เย็นเพราะเขาทำรางแอร์แค่รางเดียว ส่วนอีกรางที่ไปนั่งนั้น มีแต่ช่องแอร์ที่ทำหลอกตาเอาไว้ไม่มีลมออก อืมมม. หายใจลำบาก.......

    [​IMG]


    [​IMG]


    เช้านี้แดดดีมากเหมือนอย่างที่ผ่านมา พวกเราจะไปเยี่ยมชมชุมชนโนนอุทุมพร ไม่รู้จักอีกแล้ว มาเยี่ยมชมแต่ละที่ไม่รู้จักเลย เขาหาที่ให้พวกเราไปดูแต่ละที่เกินความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านจอมแจ้งก็ตาม ที่โนนอุทุมพรก็ตาม แต่สิ่งที่ดีๆ ที่ได้รู้คือ คนในชุมชนมีความตั้งใจในการช่วยกันทำให้ชุมชนที่พวกเขาอยู่นั้นเป็นชุมชนที่น่าอยู่ เกื้อกูลกัน มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และสิ่งของที่เหลือใช้นำมาใช้อีกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นการลดปริมาณขยะ ลดภาวะโลกร้อน บางอย่างสามารถนำไปขายได้ เกิดรายได้เข้าสู่ครัวเรือน แต่ถ้าคิดมาใช้กับชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานครคงจะลำบาก

    [​IMG]


    [​IMG]


    ชุมชนโนนอุทุมพรมีคณะกรรมการชุมชนและกลุ่มเยาวชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆภายในชุมชน ที่ชุมชนนี้มีมาตรการการจัดการขยะด้วยกิจกรรมหลายๆ อย่างเช่น ขยะแลกไข่ เพื่อแยกขยะรีไซเคิลออกมาได้ร้อยละ ๓๐ การใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์มีมากถึงร้อยละ ๖๐ มาผลิตก๊าซชีวะภาพ มาทำเป็นอาหารสัตว์ ใช้เป็นอาหารไส้เดือนได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้กับสวนผักชุมชนขยะทั่วไปไม่ถึงร้อยละ ๑๐ นำมาใช้ทำประโยชน์ต่างๆ เช่น ถุงพลาสติกนำมาทำถุงเพาะกล้าไม้ โฟมนำมาใช้ผสมปูนทำบล็อกคอนกรีตส่วนขยะอันตรายที่เหลือเพียงร้อยละ ๐.๓ถูกนำไปกำจัดโดยเทศบาล


    [​IMG]


    ชุมชนโนนอุทุมพรได้ขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่าจากเจ้าของที่ดินในชุมชนเพื่อจัดทำเป็นแปลงผักปลอดสารพิษและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชาวชุมชนตลอดจนหน่วยงานและชุมชนอื่นๆโดยให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการปลูกดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ผลิตได้ และสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่ว่างสามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์เป็นกระถางการปลูกผักโดยจัดวางไว้หน้าบ้านอย่างสวยงาม


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  13. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    เมื่อเยี่ยมชมชุมชนเสร็จ พวกเราก็ไปทานอาหารกลางวันกันที่ร้าน.... จำชื่อไม่ได้อีกแล้วนึกไม่ออก.....



    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]


    ที่ร้านอาหารนี้ เป็นร้านอาหารไม่ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ดันมีกรุ๊ปอื่นมาลงด้วย เลยทำให้เกิดความโกลาหลกันขึ้น จนกลุ่มเพื่อนที่มาด้วยกันบางกลุ่มเดินออกจากร้านไปหาทานกันเองข้างนอก....เพราะหงุดหงิดกับการเดินไปถึงโต๊ะโน้นก็บอกว่าจองแล้วโต๊ะนี้มีคนนั่งแล้ว.... สร้อยฟ้าฯ กับเพื่อนในกลุ่ม ก็หาโต๊ะนั่งไม่ได้ ถูกกั๊กที่หมด จนจะเดินออกจากร้านไปหาทานข้างนอกบ้างซื้อข้าวกินเองก็ได้... แต่พอดีมีพี่ในกลุ่มอีกคนไปได้โต๊ะในหลืบห้องในสุดก็เลยได้นั่ง..........



    [​IMG]



    [​IMG]



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  14. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    พอทานข้าวกลางวันเรียบร้อย ที่ต่อไปที่จะไปกันก็คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง พวกเรามาถึงบ้านเชียงเกือบบ่ายสามโมง มีเวลาน้อยที่จะเข้าชม ต้องรีบ เขาให้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวจึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวอะไรได้มากนัก ก็รีบเดิน รีบถ่ายรูป บางจุดให้ถ่ายรูปได้แต่ห้ามเปิดแฟลช บางจุดห้ามถ่ายเฉพาะเจาะจงวัตถุ บางจุดห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด ยังไม่เข้าใจอยู่ว่าทำไมถึงห้ามถ่ายรูปมีใครทราบช่วยบอกหน่อย ที่ให้ถ่ายรูปได้แต่ห้ามเปิดแฟลชเหตุผลตรงนี้เข้าใจอยู่เพราะแสงแฟลชอาจจะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาการทำลายความคงสภาพของโบราณวัตถุ แต่ตรงที่ห้ามไม่ให้ถ่ายรูปเลยนี่เพราะอะไรอ่ะ หรือว่ากลัวถ่ายไปแล้ว แล้วรูปออกสู่ภายนอกจะกลัวใครมาขโมยเหรอ.... งง งง งงงงงง ..... แล้วคนภายนอกจะรู้ไหมว่าในนี้มีอะไร เมื่อไม่รู้ ความสนใจก็จะไม่เกิด.... แล้วตรงจุดไหนห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด ป้ายบอกห้ามถ่ายก็เป็นรูปเล็กๆ พร้อมคำพูดห้ามถ่ายรูป ติดอยู่ตรงมุมตู้โชว์สูงจากพื้นประมาณไม่เกินหัวเข่าไม่ได้เป็นที่สะดุดตา แล้วจะเห็นไหมเนี่ยะ... สร้อยฟ้าฯก็ยกกล้องถ่ายอย่างเดียว ก็เลยถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเสียงดัง อายนะ ไม่ใช่ไม่อาย หมดอารมณ์ถ่ายภาพ.....[​IMG]


    มาอ่านประวัติบ้านเชียงกันดีกว่า เรื่องนี้ขอยกมาทั้งเว็ปเลยอาจจะยาวไปหน่อยแต่ข้อมูลดี.....





    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
    ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ก่อให้เกิดความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นที่จะช่วยดูแลรักษาทำนุแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่กำลังถูกขุดทำลายจากขบวนการค้าโบราณวัตถุเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป



    [​IMG]

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๘กรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงโดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔
    ปี พ.ศ. ๒๕๒๖มูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างอาคารหลังที่ ๒ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามว่า “อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิด “อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
    ปี พ.ศ.๒๕๔๙ กรมศิลปากรได้รับงบประมาณตามโครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีนมาดำเนินการก่อสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการ และปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรและส่วนบริการต่างๆ ให้มีความทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามของอาคารหลังใหม่ว่า “อาคารกัลยาณิวัฒนา” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารกัลยาณิวัฒนา ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

    การจัดแสดงและการให้บริการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
    ที่ตั้ง
    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หมู่ที่ ๑๓ ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง
    อำเภอหนองหานจังหวัดอุดรธานี ๔๑๓๒๐
    โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๐ ๘๓๔๐ โทรสาร ๐ ๔๒๒๐๘๓๔๑



    [​IMG]



    สถานที่เปิดให้บริการ
    ๑.อาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงมีอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน ๔ หลังโดยมีส่วนจัดนิทรรศการและส่วนบริการภายในอาคารต่างๆ ดังนี้
    ๑.๑ อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นอาคารหลังแรกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๔ ปัจจุบันปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงและคลังเก็บรักษา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
    ๑.๒ อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเดิมเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงต่อมาได้รับการปรับปรุงพัฒนาเป็นอาคารส่วนบริการ ประกอบด้วย ห้องจำหน่ายบัตรหนังสือและของที่ระลึก ห้องประชุม ห้องควบคุมและรักษาความปลอดภัยและห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน
    ๑.๓อาคารกัลยานิวัฒนาเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหลังใหม่ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นเมื่อครั้งที่มีการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ในปีพ.ศ.๒๕๔๙โดยเป็นอาคารที่สร้างเชื่อมต่อจากอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีภายในมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน ๙ ส่วน ประกอบด้วย

    ส่วนจัดแสดงที่ ๑พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับบ้านเชียง
    จัดแสดงเรื่องราวเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อวันที่ ๒๐มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ทรงเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดพร้อมพระราชทานแนวพระราชดำริอันทรงคุณประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นบ้านเชียงและความก้าวหน้าในการศึกษาวิชาการโบราณคดีของประเทศไทยสืบมาถึงปัจจุบัน
    ส่วนจัดแสดงที่ ๒ การดำเนินงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง
    จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำงานด้านโบราณคดีที่บ้านเชียงเริ่มตั้งแต่การค้นพบโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่บ้านเชียงและการค้นพบโดยบังเอิญของนายสตีเฟน ยัง ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ซึ่งนำไปสู่การทำงานด้านโบราณคดีอย่างเป็นระบบโดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นต้นมานอกจากนี้ยังนำเสนอลำดับเหตุการณ์และบุคคลสำคัญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง
    ส่วนจัดแสดงที่ ๓ การปฏิบัติงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง
    จัดแสดงบรรยากาศการทำงาน ณ หลุมขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงโดยจำลองเอาสภาพของหลุมขุดค้นและบริเวณใต้ถุนของชาวบ้านซึ่งนักโบราณคดีใช้เป็นสถานที่ในการทำงานด้านต่างๆทั้ง การคัดแยก การวิเคราะห์โบราณวัตถุตลอดจนเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการทำงานของนักโบราณคดี ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๗–๒๕๑๘นอกจากนี้ยังมีสื่อวิดีทัศน์ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์นักโบราณคดีและนักวิชาการที่เคยมีส่วนร่วมในการขุดค้นทางโบราณคดี
    ส่วนจัดแสดงที่ ๔ บ้านเชียง : หลุมขุดค้นทางโบราณคดี
    จัดแสดงต่อเนื่องจากส่วนจัดแสดงที่ ๓ นำเสนอบรรยากาศและสภาพการทำงานโบราณคดีโดยจำลองหลุมขุดค้นจำลองและมีหุ่นจำลองนักโบราณคดีกำลังปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆอาทิ การถ่ายภาพ การจดบันทึกหลักฐานโดยผู้ชมสามารถเดินผ่านเข้าไปชมในหลุมจำลองได้อย่างใกล้ชิด
    ส่วนจัดแสดงที่ ๕โบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน
    จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีในและนำมาจัดแสดงตามลำดับอายุสมัย อาทิภาชนะดินเผาสมัยต้นเนื้อดินสีดำตกแต่งที่ผิวภาชนะด้วยลายขูดขีดหรือภาชนะดินเผาสมัยปลายที่นิยมเขียนลายสีแดงที่ผิวภาชนะในรูปแบบต่างๆเครื่องมือและเครื่องประดับทำจากหิน เครื่องประดับสำริด และเครื่องมือเหล็กเป็นต้น
    ส่วนจัดแสดงที่ ๖ วัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์
    จัดแสดงเรื่องราวและวิถีชีวิตของมนุษย์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยนำเสนอในลักษณะของหุ่นจำลองเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมในอดีตการอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ อาทิ การล่าสัตว์ การเกษตรกรรมการทำภาชนะดินเผา การทำโลหกรรม การทอผ้า รวมถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้นโดยจัดแสดงควบคู่ไปกับหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง
    ส่วนจัดแสดงที่ ๗ บ้านเชียง : การค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ
    การจัดแสดงส่วนนี้ปรับปรุงและพัฒนามาจากชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ซึ่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้จัดทำขึ้นและนำไปจัดแสดงในประเทศสหรัฐอเมริการและสิงคโปร์เป็นชุดนิทรรศการที่ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศโดยมีการนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบในแถบเอเชียอาคเนย์จนกระทั่งมีการค้นพบยุคสำริดของวัฒนธรรมบ้านเชียง
    ส่วนจัดแสดงที่ ๘ บ้านเชียง : มรดกโลก
    จัดแสดงเรื่องแหล่งโบราณคดี “บ้านเชียง” ที่ได้รับการยกย่องและประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในลำดับที่ ๓๕๙ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งนี้ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกข้อ ๓ คือ “เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่งหรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีหรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หรือสูญหายไปแล้ว”



    [​IMG]


    ส่วนจัดแสดงที่ ๙ การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง
    จัดแสดงโบราณวัตถุจากการสำรวจของกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕เพื่อศึกษาการกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแอ่งสกลนคร ปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงมากถึง ๑๒๗แหล่ง กระจายอยู่หนาแน่นตามลุ่มน้ำสำคัญในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และสกลนครอาทิ ห้วยหลวง-แม่น้ำสงคราม หนองหานภุมภวาปีเป็นต้น
    ๑.๔ อาคารนิทรรศการไทพวน (ส่วนจัดแสดงที่๑๐)จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมา วิถีชีวิตเอกลักษณ์และภูมิปัญญา รวมทั้งประเพณีต่างๆ ของชาวไทยพวน บ้านเชียงที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เมื่อราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านเชียง” และได้อยู่อาศัยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

    ๒. หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีในตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีในซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๕๐๐ เมตรเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จมาทอดพระเนตรการทำงานของนักโบราณคดี ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในและเก็บรักษาหลักฐานทางโบราณคดีไว้ในสภาพดั้งเดิมโดยจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย

    ๓. บ้านไทพวน (อนุสรณ์สถานในการเสด็พระราชดำเนิน)เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ชาวบ้านเชียงที่อนุญาตให้กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการทางโบราณคดี ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕และเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการทำงานของนักโบราณคดีพร้อมกับเสด็จขึ้นชมเรือนไทพวนของนายพจน์มนตรีพิทักษ์

    นายพจน์ ได้มอบบ้านและที่ดินให้แก่กรมศิลปากรจึงได้ปรับปรุงเรือนไทพวนเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรหลุมขุดค้นมนตรีพิทักษ์และจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทพวนบ้านไทพวนได้รับรางวัลพระราชทานด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปีพุทธศักราช๒๕๕๐ จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  15. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]




    [​IMG]


    การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก
    แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๕จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๖ ที่เมืองแซนตาเฟประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ดังนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว


    แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า ๔,๓๐๐ ปีร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญาอันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตและสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานวัฒนธรรมบ้านเชียงได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้วด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโกของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก



    [​IMG]


    ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ
    แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖๐ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว ๘ เมตรราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาวเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว


    "แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง"เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทยโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจวิทยาการและศิลปะอย่างแท้จริงและพัฒนาการเหล่านั้นได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับพัน ๆ ปี



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  16. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    a.jpg
    เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์


    วัฒนธรรมบ้านเชียงจึงนับว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลกมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับพันๆ ปี โดยมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านรู้จักปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มแรกคือเมื่อประมาณ ๕,๖๐๐ ปีมาแล้วรวมทั้งมีการจัดระบบเช่น การฝังศพเป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายสมัยนับเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเรื่องการจัดระบบสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เช่น "การผลิตภาชนะดินเผาด้วยฝีมือระดับสูง", "การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ"โดยเป็นการประดิษฐ์คิดค้นที่มีวิธีการเป็นของวัฒนธรรมบ้านเชียงเองมิได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออินเดียตามที่เคยเข้าใจกัน



    นอกเหนือไปจากโบราณวัตถุประเภทต่างๆทำจากวัสดุนานาชนิดที่ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมและเทคโนโลยีแล้วการขุดค้นที่บ้านเชียงยังพบกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ และเปลือกหอยด้วยซึ่งทำให้นักโบราณคดีสามารถเข้าใจและอธิบายถึงวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้จากหลักฐานการใช้เหล็กและจากกระดูกควายที่พบนักโบราณคดีสรุปได้ว่ามนุษย์รู้จักการทำนาในที่ลุ่มและมีการไถนาแล้วเมื่อราวเกือบ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนหลักฐานกระดูกสัตว์ต่าง ๆ และเปลือกหอยหลายชนิดนักโบราณคดีสามารถบอกได้ว่าสัตว์ชนิดใดน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ชนิดใดเป็นสัตว์ที่ถูกล่าหรือจับมาเป็นอาหาร



    a.jpg
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 กรกฎาคม 2018
  17. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    นอกจากนี้ยังได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘ที่วัดโพธิ์ศรีใน ได้พบหลักฐานโครงกระดูกสัตว์ที่สำคัญแบบเต็มโครงสมบูรณ์ได้แก่โครงกระดูกควาย โครงกระดูกปลา และโครงกระดูกสุนัข เป็นต้นจากการวิเคราะห์เบื้องต้นโดยดร.อำพัน กิจงามนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสัตว์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงกระดูกควายที่พบว่าน่าจะเป็นควายที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน เนื่องจากกระดูกเท้ามีลักษณะผิดปกติซึ่งเกิดจากการกดทับจากการใช้แรงงาน นอกจากนี้ขณะดำเนินการขยายผนังหลุมขุดค้นเพื่อวางโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กได้พบโครงกระดูกสุนัขแบบเต็มโครงสมบูรณ์ซึ่งน่าจะเป็นสุนัขที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เช่นกันโครงกระดูกสุนัขที่สมบูรณ์พบภายหลังจากขุดค้นทางโบราณคดีจนถึงระดับชั้นดินที่ไม่พบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์แล้วและได้ขุดขยายผนังหลุมเพื่อวางโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและใช้เป็นผนังสำหรับทำหลุมขุดค้นจำลองการขุดค้นดังกล่าวได้ใช้วิธีการขุดค้นและเก็บข้อมูลแบบเดียวกับที่ใช้ภายในหลุมขุดค้นโดยขุดขยายออกไปจากขอบหลุมเดิมประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยกเว้นพื้นที่บริเวณ PSN-๑ด้านทิศตะวันออกที่ต้องขุดขยายออกไป ๙๐ เซนติเมตรบริเวณนี้เองที่ทำให้เราได้พบหลักฐานโครงกระดูกสุนัขในพื้นที่ S ๓-๔ E ๑๖-๑๗ลึกจากระดับผิวดินประมาณ ๑๘๐ - ๒๑๐ เซนติเมตร (๒๕๐ – ๒๘๐ cm.dt.) วางตัวอยู่ตรงกับตำแหน่งโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข ๐๔๖ บริเวณใต้แขนข้างซ้ายแต่มีระดับความลึกใกล้เคียงกับโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข ๐๖๙ซึ่งวางอยู่บริเวณใกล้ปลายเท้าโดยมีโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข๐๗๖, ๐๗๐ และ ๐๖๘



    [​IMG]


    ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างโครงกระดูกสุนัขกับหลักฐานทางโบราณคดี
    จากการศึกษาการทับถมของชั้นดินหลังขุดค้นพบว่าลักษณะหน้าตัดของดินใต้โครงกระดูกสุนัขเป็นเส้นโค้งคล้ายหลุมซึ่งน่าจะเป็นภาพตัดขวางของหลุมฝังศพ โดยมีความลึกจากระดับมาตรฐานสมมติ ๒๕๐ - ๒๘๐ cm.dt. อยู่ใกล้กับหลุมฝังศพหมายเลข ๐๖๙ ซึ่งมีความลึกจากระดับมาตรฐานสมมติ ๒๑๐ -๒๕๐ cm.dt. จากหลักฐานวัตถุอุทิศที่พบบริเวณปลายเท้าของโครงกระดูกหมายเลข ๐๖๙ และ๐๗๖ แสดงให้เห็นว่ามีพิธีกรรมการฝังศพที่วางเครื่องเซ่นไว้ที่ปลายเท้าจึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงกระดูกสุนัขที่พบน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหลักฐานหลุมฝังศพโดยอาจเป็นเครื่องเซ่นสำหรับพิธีกรรมการฝังศพของโครงกระดูกมนุษย์ที่ถูกฝังในตำแหน่งถัดออกไปทางทิศตะวันออกในผนังหลุม ซึ่งไม่ได้ขุดค้น อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้นจากหลักฐานข้างเคียงซึ่งยังไม่สมบูรณ์มากนักเนื่องจากพื้นที่แวดล้อมโดยรอบของโครงกระดูกสุนัขไม่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีจึงไม่สามารถสรุปข้อมูลดังกล่าวได้อย่างชัดเจนซึ่งอาจพบหลักฐานบางอย่างที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโครงกระดูกสุนัขที่ยังถูกฝังอยู่ในชั้นดินข้างเคียงก็อาจเป็นได้


    การดำเนินงานอนุรักษ์เบื้องต้นภายหลังการค้นพบโครงกระดูกสุนัข (ตั้งแต่ ปี.พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๙ )
    ภายหลังการแต่งโครงกระดูกสุนัข ได้บันทึกสภาพและเก็บหลักฐานขึ้นจากหลุมขุดค้นโดยการตัดเป็นแท่นดินมีแผ่นเหล็กทำเป็นกรอบป้องกันและรองรับน้ำหนักดินใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดทำเป็นกล่องเจาะรูครอบปิดไว้แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงโครงกระดูกนี้ได้รับการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นจาก ดร.อำพันกิจงามซึ่งจะได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในโอกาสต่อไป และได้รับคำแนะนำจากคุณจิราภรณ์ อรัญยะนาคหัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ในการรักษาสภาพเบื้องต้นว่าให้ใช้กระจกหรืออเครลิคครอบปิดส่วนบน โดยให้มีรูระบายอากาศหากปรากฏเชื้อราหรือเกลือที่ผิวกระดูกให้ทำความสะอาดออกทันทีและให้มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด



    [​IMG]


    ปัจจุบันได้นำโครงกระดูกสุนัขไปจัดแสดงไว้ที่หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในร่วมกับข้อมูลหลักฐานอื่นๆ บางส่วนที่ขุดพบเพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้เข้าชมก่อนที่จะดำเนินการจัดทำหลุมจัดแสดงจำลองต่อไปในภายหน้าซึ่งจะทำการจัดแสดงหลักฐานข้อมูลเดิมก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้


    การอนุรักษ์และการจัดแสดงโครงกระดูกสุนัข
    ๑.ทำความสะอาดด้วยพู่กัน ปัดฝุ่นและเกลือ เบื้องต้นเป็นระยะ ๆ
    ๒.ใส่ดินเทียม(ป่น) ลงในรอยแยก ( crack )
    ๓.นำโบราณวัตถุจริงเก็บไว้ในห้องคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
    ๔.ประสานนักวิชาการช่างศิลป์ออกแบบแท่นฐานโบราณวัตถุและป้ายจัดแสดง (จำนวน ๓ ชุด แท่นสำหรับโบราณวัตถุ ๑ ชุด, แท่นสำหรับจำลองโบราณวัตถุ ๒ ชุด ) พร้อมทั้งทำครอบแก้วหรือพลาสติกอเครลิกสำหรับครอบโบราณวัตถุพร้อมเจาะรูระบายอากาศ
    ๕.ประสานนักอนุรักษ์ตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุ (กระดูกสุนัข)เพื่ออนุรักษ์ก่อนจะครอบแก้ว
    ๖.ประมาณราคาทั้งหมด


    บทสรุปของหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับกระดูกสัตว์ที่ผ่านมา
    ดร. อำพันกิจงาม นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสัตว์ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงผลการศึกษาระบุว่า ได้พบกระดูกสัตว์มากกว่า ๖๐ ชนิด (Kijngam, ๑๙๗๙)โดยชนิดของสัตว์ที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงสามารถนำมาศึกษาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรวมไปถึงปัจจัยต่างๆที่เอื้อประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปตามชนิดและประเภทของสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมนั้นๆณ ระยะเวลาหนึ่งทั้งนี้ต้องอาศัยการศึกษาวิเคราะห์ชนิดของพืชประกอบด้วย



    [​IMG]


    สัตว์เลี้ยงของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงตั้งแต่สมัยต้นจนถึงสมัยปลายได้แก่ วัว หมู และสุนัขจากการศึกษาพบว่าสัตว์เลี้ยงดังกล่าวมีอายุค่อนข้างน้อยเมื่อตายต่อมาในสมัยกลางได้พบกระดูกควาย ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเป็นควายเลี้ยงเพื่อใช้งานเพราะมีการนำกระดูกกีบเท้าของควาย (III phalange) ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมาศึกษาเปรียบเทียบกับควายปัจจุบันพบว่ามีร่องรอยการลากไถเหมือนกันโดยมีความแตกต่างกับวัวซึ่งไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้วัวในการลากไถเลยผลการศึกษายังระบุอีกว่า เมื่อปรากฏหลักฐานการเลี้ยงควายในสมัยกลางก็ปรากฏหลักฐานการใช้เครื่องมือเหล็กที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
    สัตว์จำพวก วัวป่า หมูป่า กวาง สมันละอง/ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง เป็นสัตว์ที่ถูกล่ามาเพื่อใช้เป็นอาหารมีหลักฐานประการหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปริมาณความหนาแน่นของสัตว์เหล่านี้ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่สมัยกลางลงมา ส่วนสัตว์ขนาดเล็กที่ถูกจับมาเป็นอาหารได้แก่ กระต่าย ชะมด อีเห็น พังพอน หนู นาคใหญ่ เสือปลา แมวป่า สัตว์น้ำ ได้แก่หอยและปลาชนิดต่างๆสัตว์เหล่านี้จะพบมากในสมัยต้นและเริ่มลดจำนวนลงในสมัยต่อมานอกจากนี้ยังพบสัตว์จำพวก จระเข้ หมาหริ่ง ตัวนิ่ม อึ่งอ่าง คางคก ตะกวด และเม่นรวมอยู่ด้วย
    ประเภทและชนิดของสัตว์ที่พบทำให้สามารถระบุลักษณะสภาพแวดล้อมของพื้นที่ได้โดยอาศัยรูปแบบการดำรงชีวิตของสัตว์เป็นตัววิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในสมัยต้น พบว่ามีสัตว์ที่ชอบอยู่อาศัยในภูมิประเทศแบบป่าดิบแล้ง(Dry decidous forest) และมีแหล่งน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสมัยกลางผลการศึกษาระบุว่าความต้องการในการขยายพื้นที่เพาะปลูกเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบางประการอันได้แก่ การใช้เครื่องมือเหล็ก และรู้จักใช้ควายเป็นเครื่องทุ่นแรงในการลากไถเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพแวดล้อมของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเกิดการเปลี่ยนแปลงยังผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยทำให้หลักฐานกระดูกสัตว์ที่พบเกิดการเปลี่ยนแปลงไป



    ทั้งนี้วัฒนธรรมบ้านเชียงมิใช่จะมีอาณาบริเวณเฉพาะตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหานจังหวัดอุดรธานีเท่านั้นหากแต่ครอบคลุมอาณาเขตหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับบ้านเชียงก่อให้เกิดความคิดเห็นใหม่ ๆในการศึกษาประวัติวัฒนธรรมโบราณในดินแดนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในความคิดเห็นในเรื่องกำเนิด และพัฒนาการของการเกษตรกรรมและการโลหกรรม
    จึงสรุปได้ว่าหลักฐานที่ได้มาจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้นนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานศึกษาวิจัยวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์และยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวของมนุษยชาติทั้งของประเทศไทยและของโลกอีกด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  18. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]


    ประวัติการค้นคว้าเรื่องโบราณคดีที่บ้านเชียง
    ราวพุทธศักราช ๒๕๐๐ราษฎรชาวบ้านเชียงบางท่านได้เริ่มให้ความสนใจเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนเป็นลายสีแดงซึ่งมักพบเสมอเวลาขุดดินในหมู่บ้านจึงมีการเก็บรวบรวมไว้และนำไปมอบให้นายพรมมี ศรีสุนาครัว ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง (ประชาเชียงเชิด) เก็บรักษาและจัดแสดงให้คนเข้าชมที่โรงเรียนอย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้เรื่องราวทางโบราณคดีของบ้านเชียงก็ยังไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป



    [​IMG]


    พุทธศักราช ๒๕๐๓นายเจริญ พลเตชา หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่นได้ไปสำรวจที่บ้านเชียง และได้รับมอบโบราณวัตถุส่วนหนึ่งมาจากนายพรมมี ศรีสุนาครัวแต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเรื่องราวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยยังไม่เป็นรู้จักกันนักจึงยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ กับแหล่งโบราณคดีแห่งนี้



    [​IMG]

    พุทธศักราช ๒๕๐๙นายสตีเฟน ยัง นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบุตรชายเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เดินทางไปที่บ้านเชียงเพื่อรวบรวมข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์และได้พบเห็นเศษภาชนะดินเผากระจายเกลื่อนอยู่ทั่วไปตามผิวดินของหมู่บ้านจึงได้นำตัวอย่างภาชนะดินเผาลายเขียนสีจำนวนหนึ่งมาให้ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ตรวจสอบซึ่งท่านก็ได้ลงความเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุของยุคโลหะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง



    [​IMG]


    พุทธศักราช ๒๕๑๐นายประยูรไพบูลย์สุวรรณ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๗ พร้อมด้วยนายวิรัช คุณมาศได้เดินทางไปสำรวจที่บ้านเชียง และในปีเดียวกันนี้เองนายวิทยา อินทโกศัยนักโบราณคดีจากกองโบราณคดีก็ได้ทำการขุดค้นที่บ้านเชียงในบริเวณที่ดินของนายสิทธาราชโหดี
    พุทธศักราช๒๕๑๕เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ประกอบด้วยนายพจน์ เกื้อกูล และนายนิคมสุทธิรักษ์ได้ทำการขุดค้นที่บ้านเชียงอีกครั้งหนึ่งและในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปบ้านเชียงและทอดพระเนตรการขุดค้นครั้งนี้



    [​IMG]


    และในปีเดียวกันนี้คณะปฏิวัติได้ออกประกาศฉบับที่ ๑๘๙ห้ามขุดค้นหรือลักลอบทำลายแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงในเขต ๙ ตำบลได้แก่ ตำบลบ้านเชียง ตำบลบ้านธาตุ ตำบลบ้านดุง ตำบลศรีสุทโธตำบลบ้านชัย และตำบลอ้อมกอ ของจังหวัดอุดรธานี ตำบลม่วงไข่ ตำบลแวง และตำบลพันนาของจังหวัดสกลนคร



    [​IMG]


    พุทธศักราช ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘กรมศิลปากรร่วมกับพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจัดตั้งโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อดำเนินการขุดค้นบ้านเชียงโดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการฝ่ายไทย และดร.เชสเตอร์ กอร์แมนเป็นผู้อำนวยการโครงการฝ่ายสหรัฐ


    โครงการขุดค้นดังกล่าวจัดทำเป็นโครงการระยะยาวและเป็นโครงการลักษณะสหวิทยาการ (multi – disciplinary) ผลการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานหลายประเภทโดยผู้เชี่ยวชาญวิชาการสาขาต่างๆ ได้ปรากฏเป็นบทความและเอกสารทางวิชาการหลายฉบับซึ่งช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียงในเรื่องต่าง ๆตั้งแต่เรื่องอายุสมัย ลักษณะของประชากร เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ฯลฯ



    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  19. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    [​IMG]

    สังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง
    เจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียง
    การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘โดยโครงการร่วมระหว่างกรม-ศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียได้พบโครงกระดูกคนราว ๑๓๐ โครง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้นำไปวิเคราะห์จำนวน ๑๒๗ โครงผลการวิเคราะห์พบว่าสามารถแยกเพศได้ชัดเจนเพียง ๙๓ โครง โดยมีโครงกระดูกผู้ชาย ๕๔โครง และผู้หญิง ๓๙ โครง
    ผู้ชายมีความสูงเฉลี่ยราว ๑๖๕ – ๑๗๕ เซนติเมตรส่วนผู้หญิงสูงเฉลี่ยราว ๑๕๐ – ๑๕๗ เซนติเมตร คนพวกนี้มีรูปร่างล่ำสัน แข็งแรงมีช่วงขายาว ใบหน้าค่อนข้างใหญ่ หน้าผากกว้าง สันคิ้วโปน กระบอกตาเล็กโหนกแก้มใหญ่
    คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงอายุไม่ยืนนักโดยระยะสมัยต้นมีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๗ ปีส่วนระยะสมัยปลายมีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ ๓๔ ปีโครงกระดูกส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยแสดงถึงการเสียชีวิตเนื่องจากบาดแผลร้ายแรงซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงน่าจะมีชีวิตและสังคมที่สงบสุข



    [​IMG]

    ด้านเศรษฐกิจ
    ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบนเนินดินบ้านเชียงเมื่อประมาณ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วนั้นเป็นกลุ่มชนที่พัฒนาแล้วมีเทคโนโลยีการทำภาชนะดินเผามีการเลี้ยงสัตว์บางชนิด ได้แก่ วัว หมู หมาและไก่ รวมทั้งยังทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว
    การเพาะปลูกข้าวของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่บ้านเชียงนั้น คงจะเป็นการทำนาหว่านในที่ลุ่มมีน้ำขัง ต่อมาในสมัยหลัง ๆ ราว๓,๐๐๐ปีมาแล้วจึงอาจพัฒนามาทำการเพาะปลูกข้าวโดยการทำนาดำในแปลงนาข้าวที่ต้องไถพรวนเตรียมไว้

    นอกเหนือจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้วคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงยังคงทำการล่าสัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิดเช่น เก้ง กวาง สมัน เสือ แรด หมูป่า นิ่ม ชะมด พังพอน นาก กระรอก กระต่าย จระเข้เต่า ตะพาบ กบ ปลาดุก ปลาช่อน และหอยหลายชนิด ฯลฯ



    [​IMG]

    จากหลักฐานทางด้านโลหกรรมที่บ้านเชียงพบว่าสำริดเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุกซึ่งเป็นโลหะที่ไม่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณบ้านเชียงดังนั้นช่างสำริดที่บ้านเชียงจึงต้องได้โลหะทั้งสองชนิดนี้มาจากชุมชนอื่น ๆอันแสดงให้เห็นว่าการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างชุมชนอื่นๆที่อยู่ห่างไกลออกไปนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ปีมาแล้ว


    ด้านสังคม
    ร่องรอยของหลุมเสาบ้านที่พบชี้ให้เห็นว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงนั้นประกอบด้วย บ้านใต้ถุนสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลูกร่วมอยู่กันเป็นหมู่บ้านถาวรบนเนินดินสูงที่ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม
    ในด้านสังคมนี้คงจะมีผู้ชำนาญงานหรือช่างฝีมือในงานเฉพาะด้านบางด้านอยู่ด้วยอย่างน้อยก็พบหลักฐานว่าในระยะแรก ๆ มีนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์ มีช่างทำภาชนะดินเผา และในระยะหลัง ๆมีช่างโลหะสำริดและช่างเหล็กเพิ่มขึ้นมา

    หลุมฝังศพหลายหลุมที่ได้พบว่ามีสิ่งของเครื่องใช้สอย เครื่องประดับฝังอยู่ด้วยในปริมาณที่ต่าง ๆ กันรวมทั้งเป็นของที่มีค่าต่าง ๆกันแสดงให้เห็นว่าในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงน่าจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีฐานะแตกต่างกัน



    [​IMG]


    ภาชนะดินเผา
    การทำภาชนะดินเผาของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงมีวิธีการปั้นขึ้นรูป๒ วิธีใหญ่ ๆ คือ
    วิธีที่ ๑ประกอบด้วยการปั้นดินเป็นเส้นแล้วนำมาวางขดเป็นวงต่อขึ้นบนดินที่ทำเป็นแผ่นเรียบจากนั้นจะใช้วิธีตีแต่งขึ้นรูปด้วยไม้ลายและหินดุให้เป็นภาชนะโดยส่วนดินแผ่นเรียบนั้นจะตีให้เป็นส่วนก้นภาชนะและส่วนขดดินจะตีให้เป็นส่วนผนังหรือภาชนะส่วนบนและปาก
    วิธีที่ ๒ประกอบด้วยการปั้นดินเป็นก้อนวางต่อลงบนดินที่ทำเป็นแผ่นเรียบแล้วบีบส่วนก้อนดินให้ด้านในกลวงเป็นทรงกระบอกจากนั้นจึงตีด้วยหินดุและไม้ลายให้เป็นภาชนะโดยส่วนดินแผ่นเรียบจะตีให้เป็นก้นภาชนะและส่วนก้อนดินนั้นจะกลายเป็นผนังหรือตัวภาชนะส่วนบนและปาก หลังจากนั้นขึ้นรูปแล้วก็นำไปเผาโดยวิธีเผากลางแจ้งหรือวิธีสุมไฟ ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาระหว่าง ๕๐๐ – ๗๐๐ องศาเซลเซียส



    [​IMG]

    การโลหกรรม
    การโลหกรรมของบ้านเชียงเริ่มต้นโดยการใช้สำริดเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ววัตถุเกี่ยวเนื่องกับการโลหกรรมด้านสำริดที่บ้านเชียงนั้นมีตั้งแต่เบ้าดินเผาสำหรับหลอมโลหะ แม่พิมพ์หินทรายสำหรับหล่อโลหะให้เป็นวัตถุและตัววัตถุสำริดประเภทต่าง ๆ เช่น ใบหอก หัวขวาน หัวลูกศรกำไลข้อมือ/ข้อเท้า เบ็ดตกปลา ฯลฯ
    วัตถุสำริดชิ้นที่มีอายุเก่าที่สุดที่พบจากการขุดค้นคือใบหอกที่มีส่วนปลายงอพับซึ่งพบฝังอยู่ในหลุมศพที่กำหนดอายุได้ราว ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วผลการวิเคราะห์พบว่าใบหอกชิ้นนี้มีกรรมวิธีการทำคือ เริ่มต้นด้วยการหล่อโดยใช้แม่พิมพ์ชนิด ๒ ชิ้นประกบกันจากนั้นนำไปตีเพื่อตกแต่งรูปร่างให้สมบูรณ์เสร็จแล้วได้ถูกนำไปเผาไฟจนร้อนแดงแล้วปล่อยให้เย็นตัวลงอย่างช้าๆเพื่อลดความเปราะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตีตกแต่งกรรมวิธีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าช่างสำริดรุ่นแรก ๆ ที่บ้านเชียงมีความเข้าใจพื้นฐานของการโลหกรรมสำริดเป็นอย่างดียิ่ง



    [​IMG]


    หลังจากนั้นราว ๒,๗๐๐ – ๒,๕๐๐ปีมาแล้วจึงเริ่มมีการใช้เหล็ก มีผลการวิเคราะห์แสดงว่าเหล็กที่ใช้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ นั้นไม่ใช่เหล็กจากอุกาบาต แต่เป็นเหล็กที่ได้มาจากการถลุงสินแร่เหล็กให้ได้เป็นก้อนโลหะเหล็กเสียก่อนแล้วจึงนำไปตีขึ้นรูปให้เป็นสิ่งของมีรูปร่างตามต้องการขั้นตอนสุดท้ายในการทำเครื่องมือเหล็กคือการชุบให้เหล็กแข็งแรงขึ้นด้วยการเผาให้ร้อนแดงแล้วจุ่มลงไปในน้ำเย็นทันที
    เครื่องมือเหล็กที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นใบหอก หัวขวาน และหัวลูกศร นอกจากนั้นก็มีเคียวและมีด



    [​IMG]


    ผ้าและสิ่งทอ
    เทคโนโลยีการทอผ้าถือกำเนิดมาจากการทำเชือก เสื่อและเครื่องจักสานเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณในแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงรู้จักทำเชือกมานานไม่ต่ำกว่า๕,๖๐๐ปีมาแล้ว
    หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเส้นด้ายหรือผืนผ้าที่พบเสมอในแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงคือแวดินเผา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปั่นด้าย ส่วนใหญ่มีลักษณะทรงกลมครึ่งทรงกลม กลมรี แผ่นกลมแบน รูปกรวย กรวยสองอันประกบกัน เป็นต้น หลักฐานที่แสดงถึงเทคโนโลยีการทอผ้าปรากฏชัดเจนในยุคโลหะมีการพบผ้าและร่องรอยของผ้าบนเครื่องสำริดและเครื่องมือเหล็ก จากการตรวจสอบเส้นใยโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ไม่พบร่องรอยของสีย้อม ผลการวิเคราะห์เส้นใยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์พบว่าผ้าจากแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยป่านกัญชาหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า กัญชง (Hemp หรือ Cannabis Sativa) และส่วนน้อยทอจากใยฝ้าย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013
  20. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    18,949
    ค่าพลัง:
    +43,556
    อายุสมัยของวัฒนธรรมบ้านเชียง
    ผลการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีจากบ้านเชียงที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมบ้านเชียงเริ่มต้นขึ้นเมื่อราว ๕,๖๐๐ ปีมาแล้วและมีความต่อเนื่องมาจนถึงราว ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว ในช่วงระยะเวลายาวนานนับพันๆปีของวัฒนธรรมบ้านเชียงได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ตลอดเวลาซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นทั้งในด้านพฤติกรรมและวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมซึ่งได้แก่ประเพณีการฝังศพ และภาชนะดินเผา

    ดร.จอยซ์ ซี ไวท์ (Dr. Joyce C. White) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรื่องหลักฐานจากบ้านเชียงคนล่าสุดได้ใช้ลักษณะความแตกต่างของภาชนะดินเผาและการฝังศพประกอบกับหลักฐานเสริมอื่นเป็นตัวบ่งชี้ เพื่อจัดลำดับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้สรุปว่า
    วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงแบ่งออกได้เป็น ๓ สมัยใหญ่ดังนี้



    [​IMG]
    ศพเด็กหรือทารกจะใส่ไว้ในภาชนะ


    สมัยต้น (Early Period) มีอายุตั้งแต่ราว ๕,๖๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวมีภาชนะวางอยู่ที่เท้าหรือศีรษะศพ ฝังงอตัว มีหรือไม่มีของฝังรวมอยู่ด้วยภาชนะดินเผาระยะแรก ๆ ของสมัยต้น คือ ภาชนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ๆตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง ในระยะที่ ๒ ของสมัยต้นมีภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็ก ในระยะที่ ๓ ของสมัยต้นมีภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง รูปร่างเป็นภาชนะทรงกระบอก (Beaker) และในระยะที่ ๔ ของสมัยต้น มีภาชนะประเภทหม้อก้นกลมตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายสีมีการตั้งชื่อเรียกว่า “ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว” เนื่องจากได้พบเป็นครั้งแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง


    [​IMG]


    สมัยกลาง (Middle Period) มีอายุตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ – ๒,๓๐๐ ปีมาแล้วมีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว มีเศษภาชนะดินเผาที่ถูกทุบคลุมศพภาชนะดินเผาประเภทเด่นที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาวทำส่วนไหล่ภาชนะหักเป็นมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัดมีทั้งแบบที่มีก้นภาชนะกลมและก้นภาชนะแหลมบางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะในช่วงปลายสุดของสมัยกลางเริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบนี้ด้วยการทาสีแดง



    [​IMG]


    สมัยปลาย (Late Period) มีอายุตั้งแต่ราว ๒,๓๐๐ – ๑,๘๐๐ ปีมาแล้วการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะดินเผาเต็มใบวางอยู่บนลำตัวภาชนะดินเผาที่พบในช่วงต้นของสมัยปลายได้แก่ ภาชนะเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวลต่อมาในช่วงกลางสมัยเริ่มมีภาชนะดินเผาเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดงถัดมาในช่วงท้ายสุดของสมัยจึงเริ่มมีภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน (อ้างอิง: กรมศิลปากร, มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง, ๒๕๕๐)



    [​IMG]


    เกี่ยวกับการกำหนดอายุสมัยของบ้านเชียงนั้นล่าสุดจากการบรรยายเรื่องหลักฐานทางโบราณคดีของบ้านเชียงเมื่อเดือนมิถุนายนพุทธศักราช ๒๕๕๐ ดร.จอยซ์ ซี ไวท์ (Dr. Joyce C. White) ได้เสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลการกำหนดอายุอินทรีย์วัตถุที่ผสมอยู่ในภาชนะดินเผาสมัยแรกสุดของบ้านเชียงว่ามีอายุประมาณ๔,๓๐๐ ปีมาแล้วจึงนำไปสู่การเกิดข้อคิดเห็นใหม่ขึ้นมาว่าการอยู่อาศัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกสุดที่บ้านเชียงนั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อราว๔,๓๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนยุคก่อนประวัติศาสตร์ระยะสุดท้ายที่บ้านเชียงมีอายุระหว่าง๒,๓๐๐ – ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องอายุสมัยของการอยู่อาศัยแรกเริ่มที่บ้านเชียงนี้ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ยังไม่เป็นที่ยุติ (อ้างอิง: สุรพล นาถะพินธุ, รากเหง้าบรรพชนคนไทย: พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์, ๒๕๕๐)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...