ไตรลักษณ์ (ลักษณะทั่วไปของทุกสรรพสิ่ง)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NATdrp5995, 15 พฤศจิกายน 2023.

  1. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +134
    ไตรลักษณ์ (ลักษณะทั่วไปของทุกสรรพสิ่ง)


    ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะสำคัญ ๓ อย่าง บางทีเรียกว่า สามัญลักษณ์ แปลว่า ลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ อนิจตา (ความไม่เที่ยง) , ทุกขตา (ความทุกข์) และ อนัตตา (ความไม่มีตัวตน)



    สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ หรือในโลกอื่นๆ อาจมีลักษณะหลายอย่างผิดแผกแตกต่างกัน แต่มีสิ่งที่สรรพสิ่งต่างๆ ที่มีความแตกต่างมากมายนั้น มีลักษณะเหมือนกัน ไม่อาจพ้นไปได้ คือ ลักษณะสำคัญ ๓ ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ความไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไป , ความทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ และ ความไม่มีตัวตน บังคับให้เป็นดังปรารถนาไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็น สังขตธรรม , โลกียธรรม หรือที่เรียกกันว่า สังขารธรรม ต้องตกอยู่ภายใต้ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ทั้งสิ้น ไม่มียกเว้นเลย

    ไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณ์ ทางบาลี อ่านว่า ติลักขณะ อันรูปธรรม และ นามธรรม ที่เป็น สังขารธรรม จะต้องเป็นไปเหมือนกันหมด มีลักษณะ ๓ ประการ



    ๑)อนิจจตา หรือ อนิจจลักษณะ คือ ลักษณะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน โดยมีความเกิดขึ้น และ ก็เสื่อมไปในที่สุด

    มีพุทธภาษิตว่า

    “สัพเพ สังขารา อะนิจจะติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ

    เมื่อใดที่บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

    เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในความทุกข์ นั่นคือทางอันบริสุทธิ์หมดจด”



    สังขารทั้งปวงมีความไม่เที่ยง สังขารในที่นี้มีความหมาย ๒ อย่าง

    สังขาร ๒ คือ สภาพที่ปรุงแต่งขึ้น , สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย

    ๑.อุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่กรรมยึดครองหรือเกาะกุม มีวิญญาณครอง ได้แก่ อุปาทินนธรรม เช่น คน สัตว์ เปรต เทวดา พรหม ฯลฯ

    ๒.อนุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่กรรมไม่ยึดครองหรือเกาะกุม ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ อนุปาทินนธรรมทั้งหมด เว้นแต่อสังขตธาตุ คือนิพพาน ได้แก่ สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง และไม่มีชีวิต เช่น ดิน หิน ทราย น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ , สังขารที่มีวิญญาณครอง แต่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ พืชพันธุ์ต่างๆ



    ความไม่เที่ยง มีลักษณะดังนี้

    -อุปปาทะวะยะ ปะวัตตะนะ คือ มีความเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปในท้ายที่สุด

    -วิปริณามะ คือ ความแปรปรวน

    -ตาวะกาลิกะ คือ เป็นของชั่วคราว

    -นิจจะปะฏิกเขปะ คือ ต้านกับความเที่ยง


    รูป ส่วนที่จับต้องได้ ทางสรีรวิทยา อวัยวะต่างๆของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีการร่วงหล่นสึกหลออยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีการสร้างสำรองขึ้นมาใหม่ ผู้ไม่สังเกต ย่อมไม่รู้ว่า อวัยวะต่างๆมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในสัตว์ และพืชก็ทำนองเดียวกัน ส่วนในวัตถุสิ่งของ เช่น ท่อนไม้ ก้อนหิน ก็มีความเปลี่ยนแปลง ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในที่สุดก็ผุพังทำลายไปโดยไม่มีสิ่งใดต้านทานได้


    เวทนา การเสวยอารมณ์ วันหนึ่งๆ อารมณ์ สุข ทุกข์ เฉยๆ ได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาในความรู้สึก บางครั้งเพียงชั่วโมงเดียวอารมณ์สุข ทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตั้งหลายครั้ง เวทนาจึงเป็นของไม่เที่ยงหมุนเวียนแปรเปลี่ยนไปอย่างนี้


    สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางครั้งจำได้แล้วลืม ลืมแล้วจำได้ใหม่ เวียนอยู่อย่างนี้


    สังขาร ความปรุงแต่งของจิตให้ดีบ้าง ชั่วบ้าง ก็ไม่เที่ยง บ้างเกิดขึ้นชั่วคราว และดับไปและเกิดขึ้นใหม่ตามเหตุปัจจัย


    วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ก็มีความไม่เที่ยง บางครั้งไปรับรู้อารมณ์ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าวิถีวิญญาณ และบางครั้งก็กลับไปสู่ ภวังควิญญาณ คือ วิญญาณที่ทำหน้าที่รักษาอัตภาพนั้นไว้ไม่ให้แตกดับก่อนอายุขัย ไม่ได้รับอารมณ์


    ความเกิดขึ้น และเสื่อมไปของสังขารทั้งปวงนั้นเองเป็นเครื่องยืนยันความไม่เที่ยง ดังพระบาลีว่า

    อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน

    อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข

    “สังขารทั้งหลาย มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นของธรรมดา

    เกิดขึ้นและดับไป การสงบระงับสังขารทั้งหลายได้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข”


    ประโยชน์ของการเรียนรู้ความไม่เที่ยง

    ๑- ความไม่ประมาท ทำให้คนไม่ประมาทในวัยหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิตเพราะความตายอาจมาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างท่านสอนว่า “อะธุวัง ชีวิตัง ธุวัง มะระณัง แปลว่า ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน ความตายเป็นของยั่งยืน”

    ๒- เป็นกำลังใจให้มีความมานะพยายาม

    ๓- ความไม่เที่ยง ช่วยให้สลดใจ เร่งให้เรารีบประพฤติธรรม



    ๒)ทุกขตา หรือ ทุกขลักษณะ คือ มีอาการทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป ดังมีพุทธาษิตว่า

    “สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ

    เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

    เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในความทุกข์ นั่นคือทางอันบริสุทธิ์หมดจด”


    ความทุกข์นั้นมีลักษณะ ดังนี้

    ๑.อภิญหสัมปฏิปะพัน คือ มีความบีบคั้นอยู่เสมอไป

    ๒.ทุกขมะ คือ ความทนได้ยาก

    ๓.ทุกขวัตถุ คือ เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์

    ๔.สุขปะฏิกเขปะ คือ ต้านกับความสุข


    ความทุกข์ในขันธ์ ๕ หมายถึง ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ เช่น ปวดแขน ปวดขา ฯลฯ

    ความทุกข์ในอริยสัจจ์ ๔ มีขอบเขตกว้างออกไป หมายเอาทุกขเวทนา และแม้ความสุขอันมีตัณหาเป็นมูล ก็จัดเป็นทุกข์ในอริยสัจจ์

    ความทุกข์ในไตรลักษณ์ นี้หมายเอาความต้องแตกดับ ความที่สังขารทั้งปวง ทั้งที่มีวิญญาณ และ ไม่มีวิญญาณต้องทำลายลง เพราะเหตุนี้ความทุกข์ในไตรลักษณ์ จึงครอบคลุมเอาความทุกข์ทุกอย่างไว้ คือมีขอบเขตกว้างมากสุด


    จำแนกทุกข์ออกเป็น ๑๐ ประเภท

    ๑.สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ตามสภาพสังขาร เช่น ความเกิด ความแก่ ความตาย

    ๒.ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์เบ็ดเตล็ด เช่น ความแห้งใจ ความคร่ำครวญรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

    ๓.นิพัทธทุกข์ คือ ทุกข์เนืองนิตย์ เกิดขึ้นประจำ เช่น ความหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ่ายหนัก ถ่ายเบา

    ๔.พยาธิทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ

    ๕.สันตาปทุกข์ คือ ทุกข์เพราะถูกไฟกิเลสแผดเผา โดนไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ แผดเผา

    ๖.วิปากทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากวิบาก หรือผลของกรรม ถึงเวลาที่กรรมชั่วจะให้ผลก็ห้ามได้ยาก ดังพุทธภาษิต “นัตถิ กัมมัง สะมะ พะลัง แปลว่า ไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม”

    ๗.สหคตทุกข์ คือ ทุกข์ที่เคยมีความสุขนั้นแปรเปลี่ยนไป เช่น เคยมีลาภยศสรรเสริญ แล้วต้องเสื่อมไป

    ๘.อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือ ทุกข์จากการแสวงหาอาหาร มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีโคจรสัญญา ต้องแสวงหาอาหารกิน เพื่อประคับประคองอัตภาพขันธ์ ๕

    ๙.วิวาทมูลกทุกข์ คือ ทุกข์ซึ่งมีวิวาทเป็นมูล เช่น ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน

    ๑๐.ทุกขขันธ์ คือ ทุกข์รวบยอด เช่น ทุกข์จากการมีขันธ์ ๕ หรือ มีตัวมีตน



    ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องความทุกข์

    ความทุกข์เป็นสิ่งธรรมดาประจำในโลกอย่างหนึ่ง ซึ่งยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ ผู้มีปัญญาจึงเห็นความจริงว่า ความทุกข์เป็นสัจจะอย่างหนึ่งของโลก ชีวิตย่อมระคนด้วยทุกข์เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ความยึดมั่นถือมั่นจะลดน้อยลง



    ๓)อนัตตา หรือ อนัตตลักษณะ คือ นามรูป หรือ ขันธ์ ๕ มีลักษณะ ไม่ใช่เรา ไม่เป็นตัวตนแห่งเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ดังพุทธภาษิตว่า

    “สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ

    เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

    เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในความทุกข์ นั่นคือทางอันบริสุทธิ์หมดจด”


    อนัตตามีลักษณะ ดังนี้

    ๑.อัสสามิก คือ โดยความไม่มีเจ้าของ

    ๒.อะวะสะวัตตะนะ คือ ไม่มีสิ่งใดที่พึงตามใจเรา

    ๓.อัตตะปะฏิกเขปะ คือ ต้านกับอัตตา

    ๔.อสุญญตะ คือ ไม่ว่างเปล่าจากกิเลส , ตัณหา และ อุปาทาน หรือ ไม่ว่างจากขันธ์ ๕



    ตามนัยแห่งอนัตตลักขณสูตร อนัตตามีลักษณะ ๓ ประการ

    ๑.เราไม่อาจเลือกได้ตามความพอใจ

    ๒.เราไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น

    ๓.ขันธ์เป็นไปเพื่ออาพาธ (ความลำบากกาย,ลำบากใจ)



    จากอนัตตลักขณสูตร ที่แสดงนี้

    “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือ เพื่อจะตามเห็นสิ่งนั้น ว่านั่นของเรา (เอตัง มะมะ) เราเป็นนั่นเป็นนี่ (เอโสหะมัสมิ) นั่นเป็นตนของเรา (เอโส เม อัตตา)”

    ควรจะพิจารณาให้เห็นดังนี้ว่า

    ขันธ์ ๕ นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตัง มะมะ) เราไม่เป็นนั่นเป็นนี่ (เนโสหะมัสมิ) นั่นไม่ใช่ตนของเรา (นะ เมโส อัตตา)

    เพื่อให้เกิดความปล่อยวาง ต่ออุปาทานในขันธ์ ๕



    สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

    ๑)สันตติ ปิดบัง อนิจจลักขณะ คือ ความต่อเนื่องไม่มีหยุดของรูปธรรม และนามธรรม ปกปิดไม่ให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร

    ๒)อิริยาบถ ปิดบัง ทุกขลักขณะ คือ อิริยาบถที่แปรเปลี่ยนเรื่อยๆทำให้สังเกตุทุกข์ได้ยากขึ้นเพราะมองเห็นความทนไม่ได้ยากขึ้น

    ๓)ฆนะ ปิดบัง อนัตตา คือ ฆนะ ความเป็นกลุ่มก้อน เป็นแท่ง ทำให้มองไม่เห็นสภาพความไม่ตนแห่งเรา ไม่เป็นของเรา เพราะเราเห็นว่าเป็นตนแห่งเรา นี้เพราะขันธ์ ๕ ทำงานร่วมกัน เหมือนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน


    ผู้โพสท์คิดว่าท่านผู้อ่านจะได้รับอะไรไปบ้างไม่มากก็น้อย และสุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านจงประสบแต่ความสุขความเจริญ มีความคล่องตัวทั้งทางโลก และทางธรรม


    ที่มาจาก หนังสือ หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา โดย อ.วศิน อินทสระ

    และจากเว็ป https://th.wikipedia.org/wiki/ไตรลักษณ์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • buddha012.jpg
      buddha012.jpg
      ขนาดไฟล์:
      137.5 KB
      เปิดดู:
      41

แชร์หน้านี้

Loading...