หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 มิถุนายน 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ตื่นเงาตัวเอง

    หลังจากได้ลองทดสอบกำหนดอสุภะและสุภะสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอยู่นั้น วาระสุดท้ายที่จะทำให้ท่านได้รู้ความจริงก็คือ

    "เวลาจะได้ความจริง ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า จิตกำหนดอสุภะไว้ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือตั้งให้คงที่ของมันอยู่อย่างนั้นละ จะเป็นหนังห่อกระดูกหรือว่าหนังออกหมดเหลือแต่กระดูกก็ให้มันรู้อยู่ตรงหน้านั้น แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ อยากรู้อยากเห็นความจริงจากอสุภะนั้นว่า

    เอ้า ! มันจะไปไหนมาไหน กองอสุภะกองนี้จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน คือเพ่งยังไงมันก็อยู่อย่างนั้นละ เพราะความชำนาญของจิต ไม่ให้ทำลายมันก็ไม่ทำ เราบังคับไม่ให้มันทำลาย ถ้ากำหนดทำลายมันก็ทำลายให้พังทลายไปในทันทีนะ เพราะความเร็วของปัญญา แต่นี่เราไม่ให้ทำลายให้ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นเพื่อการฝึกซ้อมทดสอบกัน หาความจริงอันเป็นที่แน่ใจ

    พอกำหนดเข้าไปๆ อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นมันถูกจิตกลืนเข้ามาๆ อมเข้ามาๆ หาจิตนี้ สุดท้ายเลยรู้เห็นว่าเป็นจิตเสียเอง เป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะมันกลืนเข้ามาๆ เลยมาที่ตัวจิตเสียเองไปเป็น สุภะ และ อสุภะ หลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะข้างนอกว่าเข้าใจแล้วที่นี่ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้ซิ

    นี่มันเป็นเรื่องของจิตต่างหาก ไปวาดภาพหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง อันนั้น เขาไม่ใช่ราคะ อันนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ตัวจิตนี้ต่างหากเป็นตัวราคะ โทสะ โมหะ ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน พอจิตแย็บออกไป มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ

    กำหนดอยู่ภายในพิจารณาอยู่ภายในจิต ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นน่ะซิ มันผิดกันมาก เรื่องความกำหนัดแบบโลกๆ มันหมดไปแล้ว มันเข้าใจชัดว่า มันต้องขาดจากกันอย่างนี้ คือมันตัดสินกันแล้วเข้าใจแล้ว ทีนี้ก็มาเป็นภาพปรากฏอยู่ภายในจิต ก็กำหนดอยู่ภายในนั้น พอกำหนดอยู่ภายใน มันก็ทราบชัดอีกว่า ภาพภายในนี้ก็เกิดจากจิต มันดับ มันก็ดับไปที่นี่ มันไมดับไปที่ไหน

    พอกำหนดขึ้นมันดับไป พอกำหนดไม่นานมันก็ดับไป ต่อไปมันก็เหมือนฟ้าแลบนั่นเอง พอกำหนดพั้บขึ้นมาเป็นภาพก็ดับไปพร้อมๆ กัน เลยจะขยายให้เป็น สุภะ อสุภะ อะไรไม่ได้ เพราะความรวดเร็วของความเกิดดับ พอปรากฏขึ้นพั้บ ก็ดับพร้อมๆ

    ต่อจากนั้นนิมิตภายในจิตก็หมดไป จิตก็กลายเป็นจิตว่างไปเลย ส่วนอสุภะภายนอกนั้นหมดปัญหาไปก่อนหน้านี้แล้ว เข้าใจแล้วตั้งแต่ขณะที่มันกลืนตัวเข้ามาสู่จิต มันก็ปล่อยอสุภะข้างนอกทันทีเลย รูป เสียง กลิ่น รส อะไรข้างนอกมันปล่อยไปหมด เพราะอันนี้ไปหลอกต่างหากนี่ เมื่อเข้าใจตัวนี้ชัดแล้ว อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร มันเข้าใจทันทีและปล่อยวางภายนอกโดยสิ้นเชิง..."
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    อัศจรรย์จิต

    ท่านเล่าถึงความอัศจรรย์ของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อไปว่า

    "...หลังจากภาพกายในดับไปหมดแล้วจิตก็ว่าง ว่างหมดทีนี้ กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด มองดูต้นไม้ภูเขาตึกรามบ้านช่อง เห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ แต่ส่วนใหญ่คือจิตนี้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด แม้แต่มองดูร่างกายตัวเอง มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด ถึงกับออกอุทานในใจว่า

    "โอ้โฮ ! จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา ว่างตลอดเวลา ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย"

    ถึงมันจะว่างอย่างนั้นมันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกัน เราจะปรุงภาพใดก็แล้วแต่เถอะ เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป จนกระทั่งแย็บเดียวว่างๆ พอปรุงขึ้นแย็บมันก็ว่างพร้อมๆ ไปหมด

    ตอนนี้แหละ ตอนที่จิตว่างเต็มที่ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่ คือ รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี มันรู้รอบหมดแล้ว แล้วปล่อยของมันหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้เดียว มันมีความปฏิพัทธ์ มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้ มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว

    พออาการใดๆ เกิดขึ้นพั้บมันก็ดับพร้อม มันดูอยู่นี่ สติปัญญาขั้นนี้ ถ้าครั้งพุทธกาลเรียกว่า มหาสติมหาปัญญา แต่สมัยทุกวันนี้ เราไม่อาจเอื้อมพูด เราพูดว่า สติปัญญาอัตโนมัติ ก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่ มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย จิตดวงนี้ถึงได้เด่น ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด..."
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    หลักเกณฑ์อันใหญ่หลวง

    หลังจากที่จิตลงอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ แล้วจึงค่อยถอนขึ้นมา เมื่อท่านกำหนดดูต้นไม้ ภูเขา กุฏิ ศาลา กลับไม่เห็นเลย ว่างไปหมด ตามองเห็นวัตถุพอเป็นรางๆ เงาๆ ส่วนใหญ่ของจิตมันทะลุไปหมดว่างไปหมดจนน่าอัศจรรย์ จากนั้นท่านก็นำเรื่องนี้ไปเล่าถวานท่านอาจารย์มั่น ท่านก็พูดร้องขึ้นทันทีอย่างขึงขังตึงตังว่า

    "เอ้อ ! ถูกต้องแล้ว เหมาะแล้ว ได้หลักพยานแล้ว ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว อย่างนี้ละ...ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา เป็นอย่างท่านมหานี่ละ เอาเลยได้การ"

    จากนั้นท่านอาจารย์มั่นเมตตาเล่าถึงความอัศจรรย์ของจิตที่เกิดขึ้นที่ถ้ำสาริกา นครนายก ให้ท่านฟังภายในห้องบนกุฏิที่วัดหนองผือ ท่านนำมาเล่า ดังนี้

    "...ท่านอยู่ถ้ำสาริกา นั่นเวลาท่านได้รับความทุกข์นะ นี่ละ คนเราเวลาจนตรอก จนมุมจริงๆ ช่วยตัวเองได้นะ ปัญญามาเองของท่านก็เหมือนกัน ท่านเป็นโรคท้อง ยานี้ก็เคยบำบัดกันได้เป็นระยะๆ ไป ท่านว่า แล้วไปอยู่ในถ้ำสาริกา ก็เป็นยาสมุนไพรมีอยู่ตามที่ท่านพัก เขาก็บอกแล้วก่อนที่ท่านจะขึ้นไปว่า "พระตาย 4 องค์แล้วถ้ำนี้"

    เขาจึงถามว่า "นี่ท่านจะตายองค์ที่ 5 เหรอ ?" เขาบอกท่านไม่ฟัง ท่านบอกให้เขาพาไปส่งขึ้นถ้ำสาริกา "นี่ท่านจะตายองค์ที่ 5 เหรอ ?" เขาว่าอย่างนั้น

    "โอ๊ย ที่ไหนก็ไม่ว่าแหละ" ท่านว่าอย่างนั้น "ขอไปดู ควรอยู่ก็อยู่" นั่นฟังซิ ท่านพูดถ่อมตนของท่าน "ควรอยู่ก็อยู่ ควรลงก็ลง ให้ไปดูเสียก่อน" ทางจิตท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านเล่าให้ฟัง "ที่ไหนมันไม่ตายน่ะ" ท่านว่าอย่างนั้นทีเดียวนะ

    "ถ้ำหรือไม่ถ้ำ มันก็ตายทั้งนั้นนี่นะ ป่าช้ามีอยู่ทั่วไป" นั่นในใจของท่าน แต่เวลาพูดออกมา "เข้าไปดูเสียก่อน มันควรอยู่ก็อยู่ ไม่ควรอยู่ก็ลงเสีย" ท่านว่าอย่างนั้น

    พอขึ้นไปแล้วโรคก็กำเริบใหญ่เลย "นี่ เรานี่จะเป็นองค์ที่ 5 จริงๆ เหรอ ?" ท่านก็ว่าอย่างนั้น "เอ้า 5 ก็ 5" ท่านไม่ได้ถอย "เอ้า 5 ก็ 5" ว่างั้นเลย เอายาอะไรมาฉันก็ไม่มีน้ำยาเลยแหละ สุดท้ายท่านบอกว่ายากำอยู่นี้ปาเข้าป่า

    "มันเป็นอะไร เอ้า ! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย"

    ยาที่กำนี้เอามาต้มแล้วปาเข้าป่าเลย ทิ้งหมดเข้าในถ้ำเลย ถ้ำเล็กๆ เราไปดูหมดแหละ ที่ท่านบอกตรงไหน ไปดู ทีนี้เวลามันเอาจริงๆ มันก็หนักจริงๆ หนักก็ฟัดกันเลย...ทุกขเวทนา เอากันเต็มเหนี่ยว

    "เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เอาสนามรบนี่เป็นป่าช้า สนามรบกับความทุกข์ ความทรมาน กับกิเลสตัณหาที่เกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวายต่างๆ ขึ้นในนั้น ฟัดกันในนั้นเลย

    "เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย"

    พอได้ที่มันก็พรึบเลย พอลงได้จังหวะแล้วพรึบทันที ดับหมดเลยโลกธาตุ สว่างจ้าไปหมดเลย ไม่มีอะไรปิดบังลี้ลับ สว่างจ้าไปหมดเลย

    ที่เราพูดถึงเรื่องผีใหญ่ที่มันจะมาตีท่าน อย่างนั้นแล้วเห็นไหมล่ะ แบกเหมือนท่อนเหล็กจะมาตีท่าน ดังที่เขียนในหนังสือประวัติท่านอาจารย์มั่น นี่ละความจริง ปีพรรษา 22 ท่านได้หลักเกณฑ์ ไม่หวั่นไหวตรงนั้นนะ ทั้งๆ ที่กิเลสมีอยู่นะ แต่ว่าหลักธรรมนี้เข้าสู่ใจแล้ว ไม่หวั่นไหวเลย เชื่อแน่ต่อมรรคผลนิพพาน กล้าหาญตั้งแต่นั้นมาไปได้หลักเกณฑ์อันใหญ่หลวงที่ถ้ำสาริกา..."

    เมื่อท่านได้เล่าถวายท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านรู้สึกว่าจิตใจพองขึ้น และยิ่งท่านอาจารย์มั่นเมตตาเล่าเรื่องของท่านเองดังกล่าวเป็นสักขีพยานอันเป็นเอกด้วยแล้ว ใจของท่านก็ยิ่งพองขึ้นด้วยความปีติยินดี จากนั้นจึงเร่งภาวนาอย่างเต็มที่ด้วยตั้งใจจะให้ได้ผลอัศจรรย์ดังเดิม

    ท่านภาวนาอย่างหนักอยู่ 2-3 วัน ก็ไม่ปรากฏผลว่าจะเป็นเช่นเดิมแต่อย่างใด จึงได้ขึ้นกราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านเลยขนาบเอาเสียอย่างหนักว่า

    "มันจะเป็นบ้านะท่าน ผมไม่ได้สอนให้คนเป็นบ้า มันเป็นมันก็เป็นหนเดียวเท่านั้น ผมก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ ผมไม่เห็นเป็นบ้า นี่มาเป็นบ้าอะไรอีก ไม่ได้สอนคนให้เป็นบ้านี่นะ

    มันเป็นแล้วก็ผ่านไปแล้ว ไปยุ่งกับมันทำไม พิจารณาในหลักปัจจุบันซิ มันจะเป็นอะไรก็ให้เป็นขึ้นในหลักปัจจุบัน ท่านรู้นั้น ท่านรู้ในหลักปัจจุบันใช่ไหม นี้ไปคว้าหาที่ไหนอีก"
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    การพิจารณาอริยสัจ

    กล่าวโดยสรุปถึงวิธีการพิจารณาอริยสัจ ท่านกล่าวไว้ ดังนี้

    "...ปัญญานี้มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นอสุภะอสุภัง ไปโดยลำดับจนกระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ปัญญาจะเดินตลอดทั่วถึงไปหมดเช่น รูปขันธ์ ที่เห็นว่าเป็นของสวยงามน่ารัก ใคร่ชอบใจน่ากำหนัดยินดี นี่เป็นความสำคัญของกิเลสที่เสี้ยมสอนมาแต่กาลไหนๆ ทำสัตว์โลกให้ตื่นให้หลงอยู่ไม่มีวันอิ่มพอ...

    ปัญญาจึงต้องสอดแทรกเข้าไปตรงนั้น แก้ความที่ว่าสวยงาม มันสวยงามยังไง ดูให้เห็น...แต่เวลาพิจารณาเข้าไปที่ไหนๆ ที่ว่าสวยงาม ไม่มีปรากฏ มีแต่สุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัว ทำไมจะทนต่อความจริงได้ ต้องยอมรับว่าหาความสวยงามไม่มีในสกนธ์กาย นี้...

    เมื่อเลื่อนจากรูปขันธ์นี้ไปแล้วมักจะพิจารณาเป็น ไตรลักษณ์ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่อง สุภะ-อสุภะ ซึ่งมีเฉพาะเรื่องของกายนี้เท่านั้นที่สำคัญมั่นหมายไปต่างๆ จึงต้องแก้ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของสวยงามนั้น ด้วยการพิจารณาอสุภะ อสุภัง

    พอขั้นนี้สมบูรณ์ภายในจิตใจ คือ ประจักษ์กับปัญญาอย่างชัดเจนแล้ว ย่อมปล่อยวางทั้งสุภะคือความสำคัญว่าสวยว่างามด้วย ทั้งอสุภะที่สำคัญว่าไม่สวยไม่งามด้วย ไม่สนใจไม่ยึดในเงื่อนใดเงื่อนหนึ่ง พอตัวในการพิจารณาแล้วผ่านไปในท่ามกลางแห่งความพอดีของตัวเองนั่น ท่านเรียกว่า ปัญญา ผ่านไป นั้นแล้วไปพิจารณาอะไร ก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นขันธ์ละเอียด...เรียกว่า นามขันธ์

    นามขันธ์ นี่พิจารณาด้วยไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ก็ตาม ทุกขัง ก็ตาม อนัตตาก็ตาม ขอให้มีความถนัดชัดภายในจิตใจ ถนัดใจ แน่ใจในอาการใด ชอบในอนิจจังก็ดี ในทุกขังก็ดี ในอนัตตาก็ดี พิจารณาอันนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งได้ หากวิ่งถึงกันหมด

    เพราะธรรมเหล่านี้เกี่ยวโยงกัน นี่เรียกว่า ปัญญา หยั่งทราบตามความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ย่อมปล่อยวางเช่นเดียวกันกับรูป คือรูปกายของเรานี้ แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เป็นอาการอันหนึ่งของจิตเท่านั้น ไม่ใช่จิต นักภาวนาจะทราบเองโดยไม่ต้องสงสัย...นี่ทราบได้อย่างชัดเจนและปล่อยวางได้ตามเป็นจริง ลงได้ตามเป็นจริงของมัน..."
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


    ตอนที่ 8 ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์

    เป็นที่ไว้ใจของครูบาอาจารย์

    ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยในการบำเพ็ญภาวนาของท่าน โดยยกเอาเหตุการณ์สมัยอยู่วัดบ้านหนองผือมาเล่า ดังนี้

    "...มาอยู่บ้านหนองผืออย่างนี้ ผมจะเดินจงกรมให้หมู่เพื่อนเห็นไม่ได้ โน่นต้องเวลาสงัดสี่ทุ่มห้าทุ่มล่วงไปแล้ว หมู่เพื่อนเงียบหมดแล้ว ถึงจะลงเดินจงกรม กลางวันก็เข้าไปอยู่ในป่าโน่น ถ้าวันไหนออกมาแต่วันเช่น ห้าโมงเย็นออกมาอย่างนี้ ก็เข้านั่งสมาธิเสียในกุฏิ จนกระทั่งหมู่เพื่อนเงียบไปหมดแล้วถึงจะลงทางจงกรม เป็นนิสัยอย่างนั้นมาดั้งเดิม ไม่ให้ใครเห็นการประกอบความเพียรของเราว่ามากน้อยขนาดไหน แต่ธรรมดาใครก็รู้ ทางจงกรมจนเป็นขุมเป็นเหวไป (เดินมากจนทางจงกรมเป็นร่องลึก) ใครจะไม่รู้..."

    เรื่องธุดงควัตรนี้ แม้ในช่วงที่ท่านอยู่บ้านหนองผือ ท่านก็ยังเข้มงวดจริงจังเสมอมา ดังนี้

    "...อยู่ที่ไหนก็ตาม เรื่องธุดงควัตรนี้เราจะต้องเอาหัวชนอย่างไม่ถอยเลย ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมให้ขาดได้เลย บิณฑบาต มาแล้วก็รีบจัดปุ๊บปั๊บ จะเอาอะไรก็เอาเสีย นิดๆ หน่อยๆ เพราะการฉันไม่เคยฉันให้อิ่ม ในพรรษาไม่เคยให้อิ่มเลย โดยกำหนดให้ตัวเองว่าเอาเพียงเท่านั้นๆ สัก 60% หรือ 70%...ซึ่งคิดว่าพอดี เพราะอยู่กับหมู่เพื่อนหลายองค์ด้วยกัน ถ้าจะอดก็ไม่สะดวก เพราะการงานในวงหมู่คณะเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ เราเองก็เหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งอย่างลับๆ ทั้งที่ไม่แสดงตัว ทั้งนี้เกี่ยวกับการคอยดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่คณะภายในวัด พรรษาก็ไม่มาก สิบกว่าพรรษาเท่านั้นแหละ แต่รู้สึกว่าท่านอาจารย์มั่นท่านเมตตาไว้ใจในการช่วยดูแลพระเณรอย่างลับๆ เช่นกัน...

    ...พอบิณฑบาตกลับมาแล้ว มีอะไรก็รีบจัดๆ ใส่บาตร เสร็จแล้วก็รีบไปจัดอาหารเพื่อใส่บาตรท่านอาจารย์มั่น ห่อนั้นหรือห่อนี้ที่เห็นว่าเคยถูกกับธาตุขันธ์ท่าน เรารู้และเข้าใจก็รีบจัดๆ อันไหนควรแยกออก อันไหนควรใส่ ก็จัดๆ เสร็จแล้วถึงจะมาที่นั่งของตน ตาคอยดู หูคอยสังเกตฟังท่านจะว่าอะไรบ้านขณะก่อนลงมือฉัน

    บาตรเราพอจัดเสร็จแล้วก็เอาตั้งไว้ลับๆ ทางด้านข้างฝาติดกับต้นเสา เอาฝาปิดไว้อย่างดีด้วย เอาผ้าอาบน้ำปิดอีกชั้นหนึ่งด้วยเพื่อไม่ให้ใครไปยุ่งไปใส่บาตรเรา เวลานั้นใครจะมาใส่บาตรเราไม่ได้ กำชับกำชาไว้อย่างเด็ดขาด แต่เวลาท่านจะใส่บาตรเรา ท่านก็มีอุบายของท่าน เวลาเราจัดอะไรของท่านเสร็จเรียบร้อยแล้วมานั่นประจำที่ ให้พรเสร็จ ตอนทำความสงบพิจารณาปัจจเวกขณะนั่นแล ท่านจะเอาตอนเริ่มจะฉัน ท่านเตรียมของใส่บาตรไว้แต่เมื่อไรก็ไม่รู้แหละ แต่ท่านไม่ใช่ซ้ำๆ ซากๆ นี่ ท่านก็รู้เหมือนกัน ท่านเห็นใจเรา บางเวลาท่านจะใส่ท่านพูดว่า

    "ท่านมหาขอใส่บาตรหน่อยๆ ศรัทธามาสายๆ" ท่านว่าอย่างนั้น

    พอว่าอย่างนั้นมือท่านถึงบาตรเราเลยนะ ตอนเราเอาบาตรมาวางข้างหน้าแล้วกำลังพิจารณาอาหารนี่แหละ เราเองก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพราะความเคารพ จำต้องปล่อยตามความเมตตาของท่าน เราให้ใส่เฉพาะท่านเท่านั้น นานๆ ท่านจะใส่ทีหนึ่งในพรรษาหนึ่งๆ จะมีเพียง 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้งเป็นอย่างมาก ท่านไม่ใส่ซ้ำๆ ซากๆ เพราะท่านฉลาดมาก คำว่า มัชฌิมาในทุกด้านจึงยกให้ท่านโดยหาที่ต้องติไม่ได้..."

    การปฏิบัติต่อท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านก็พยายามใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 5 พรรษาสุดท้ายที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ

    ในเรื่องนี้ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ซึ่งได้อยู่ร่วมจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นในช่วงนั้นด้วย ได้เคยเล่าเกี่ยวกับความเอาใจใส่และความเคารพบูชาของท่านที่มีต่อท่านอาจารย์มั่นว่า

    "ในยุคบ้านหนองผือ พระอาจารย์มหา (หลวงตามหาบัว)...ลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่มั่นไว้ใจกว่าองค์อื่นๆ ในกรณีทุกๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัชเป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมายให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้นด้วยประการใดๆ เลย พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้งเป็นเอง..."

    เรื่องความละเอียดลออเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตการขบการฉันของท่านอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่หล้าก็ยังเคยกล่าวชื่นชมท่านไว้ว่า

    "...พระอาจารย์มหา เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น คงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่มีเหตุผลในใจว่า เราเป็นพระผู้ใหญ่อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่านว่าวันหนึ่งๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายได้ถูก เท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้าง เราก็พลอยเบาใจ..."

    และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโอกาสจำเป็นต้องลาองค์ท่านอาจารย์มั่นเพื่อไปธุระที่จังหวัดอุดรธานีชั่วคราว หลังจากเสร็จธุระแล้ว ขากลับท่านจะพยายามจัดหาเอาของใช้ของฉันที่อุดรธานี ที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ขององค์ท่าน เพราะท่านคอยสังเกตอยู่ตลอดจนรู้ว่าอันใดองค์ท่านฉันได้สะดวกธาตุขันธ์ ท่าจะเอาใส่เข่งๆ เต็มเอี๊ยดเลย แล้วให้เณรแกงหม้อเล็กๆ ถวายองค์ท่านวันละหม้อเป็นประจำ โดยมิให้ท่านอาจารย์มั่นทราบ ซึ่งต่อมาภายหลังท่านอาจารย์มั่นก็ทราบและได้ห้ามปราม แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยความเคารพรักและเป็นห่วงในธาตุขันธ์ของครูบาอาจารย์ ซึ่งล่วงเลยเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านก็หาอุบายวิธีทำถวานท่านอาจารย์มั่นจนได้

    ท่านคอยใส่ใจคอยสังเกตถึงการขบ การฉัน หยูกยา ผ้านุ่งผ้าห่ม บริขาร และเครื่องใช้ไม้สอยทุกสิ่งทุกอย่างของท่านอาจารย์มั่น อย่างตั้งใจจดจ่อด้วยความพินิจพิจารณาอย่างที่สุด เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ธาตุขันธ์ร่างกายของท่านอาจารย์มั่นมากที่สุด

    ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียหรือทุกข์ยากลำบากส่วนตนนั้น ท่านไม่ถือเป็นประมาณหรือเป็นปัญหาอุปสรรคยิ่งกว่าการให้ครูบาอาจารย์ได้รับความสะดวก เรียกได้ว่า ยามใดที่ท่านอยู่ ยามนั้นครูบาอาจารย์ก็เบาใจ
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ช่วยดูแลหมู่คณะ

    ท่านทุ่มเทสติปัญญาสุดกำลังในการดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น โดยระยะแรกๆ ท่านจะเข้าถึงก่อนเพื่อน แต่นานเข้าๆ ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า

    "พระที่มีอายุพรรษามากแล้วไม่ต้องมาเป็นกังวลกับการขนสิ่งขนของอะไรมาแหละ ผู้ใหญ่ก็เป็นแต่เพียงว่าคอยดูแลเท่านั้นแหละพอ"

    จากนั้นมาท่านจึงคอยดูแลให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ ว่า อันใดต้องทำ อันใดควรทำ อันใดต้องเว้น หรืออันใดควรเว้น เพื่อไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตาขวางอรรถขวางธรรมแก่ท่าน นอกจากนี้แล้ว ท่านยังวางระเบียบแบ่งหน้าที่การงานตามธรรมให้สอดคล้องคล่องตัว ให้ประสานราบรื่นในงานด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ตามเหตุผลและเหมาะสมด้วยความเคารพตามอายุพรรษา ผู้ใดเคยดูแลบริขารชิ้นใดของท่านอาจารย์มั่น ก็ให้เอามาตามนั้น ไม่มีการก้าวก่ายกัน สำหรับตัวของท่านจะยืนอยู่บันไดหน้ากุฏิท่านอาจารย์มั่น คอยดูความเรียบร้อยของพระเณรที่ขนของลงไป

    เมื่อท่านอาจารย์มั่นไม่เห็นท่านสักสองวันสามวันผ่านไป ท่านอาจารย์มั่นก็มักจะถามกับพระเณรเสมอๆ ว่า

    "ท่านมหามาไหม ?"

    พระเณรก็ตอบว่า

    "มาครับ อยู่ข้างล่างครับกระผม"

    ท่านอาจารย์มั่นก็นิ่งไปเสีย พอเว้นห่างสองสามวันผ่านไปไม่เห็นอีก ท่านก็ถามขึ้นมาลักษณะเดิมอีก พระเณรก็ตอบแบบเดิม ท่านก็นิ่งอีก แม้ในช่วงที่ท่านอาจารย์มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ถามกับพระเณรว่า

    "ท่านมหาพิจารณายังไงละ ? เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอามากแล้วนะ ท่านมหาได้พิจารณาอย่างไร ?"

    พระเณรก็ตอบว่า

    "ท่านจัดเวรดูแลเรียบร้อยแล้ว"

    คือให้มีพระอยู่ข้างบนสององค์นั่งภาวนาเงียบๆ อยู่ข้างล่างสององค์เดินจงกรมเงียบๆ สำหรับท่านเป็นผู้คอยควบคุมเวรอีกต่อหนึ่ง
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    บริหารสิ่งของ

    ท่านอาจารย์มั่นให้ความไว้วางใจโดยมอบให้ท่านเป็นผู้จัดสรรจตุปัจจัยไทยทานตามความจำเป็นแก่พระเณรภายในวัด ในเรื่องนี้ท่านเคยเล่าไว้ว่า

    "...อย่างของที่ตกมานี่ ท่านอาจารย์มั่นมอบเลยนะ

    "ท่านมหาจัดการดูแลพระเณรนะ"

    ท่านอาจารย์มั่นพูดเท่านั้น แล้วปล่อยเลยนะ เขามาทอดผ้าป่ากองพะเนินเทินทึก เราเป็นผู้ดูแลทั้งหมดเลย

    องค์ไหนบกพร่องตรงไหน องค์ไหนบกพร่องอะไรๆ จัดให้ๆ สำหรับเราไม่เอาครั้นเวลาเราไม่อยู่บ้าง ท่านสืบถามพระนี่

    "ท่านมหาท่านได้เอาอะไรไหม ? ของที่เอามามอบให้ท่านจัดให้พระเณร ท่านเอาอะไรไหม ?"

    พระตอบ "ท่านไม่เอาอะไรเลย"

    ท่านนิ่งนะ เฉย ท่านจับได้หมด พิจารณาแล้ว เราทำทั้งหมดด้วยความเป็นธรรม ท่านรู้...

    เราไม่เอาอะไรนี่ ขนาดท่านเอาผ้าห่มของท่านไปบังสุกุลให้เรา มีที่ไหน ไม่เคยมีนะ เพราะท่านเห็นเราไม่ใช้ผ้าห่ม หนาวขนาดไหนเราก็ไม่เอา เราเด็ดของเราอยู่อย่างนั้นตลอด...ผ้าห่ม ถ้าเอาผ้าใหม่ให้ท่านก็กลัวเราจะไม่ใช้ นั่น เห็นไหมอุบายของท่าน ต้องเอาผ้าของท่านที่ท่านห่มอยู่นั่น พับเรียบร้อยแล้วไปบังสุกุลให้เรา

    เอาดอกไม้เอาเทียนไป โอ๊ย ! ทุกๆ อย่างท่านเป็นอาจารย์ ปรมาจารย์ชั้นเอกทุกอย่าง ไปก็ขึ้นไปวางไว้ที่นอนของเราเลยวางไว้กลางที่นอน มีดอกไม้มีเทียนวาง

    ผ้าห่มเป็นผ้าที่ท่านห่มอยู่แล้ว ผ้าใหม่ท่านกลัวเราจะไม่ใช้ นั่นแหละ ท่านหาอุบาย ต้องเอาผ้าท่านเอง ว่างั้นเถอะ เราขึ้นไปแล้วไปดู โอ๊ย ! เรารู้ทันทีเลยว่า เราปฏิบัติอยู่ทุกวันกับผ้าท่าน ทำไมจะไม่รู้ นี่แสดงว่า ให้ใช้ ให้ใช้หน่อยเถอะ ว่างั้นเพราะท่านเห็นนิสัยอย่างนั้น เอาจริงเอาจังทุกอย่าง..."
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ออกรับความผิดพลาดแทนหมู่เพื่อน

    เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระแก่ท่านอาจารย์มั่น ท่านจะคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลพระเณร คอยสังเกตอัธยาศัยใจคอพระเณรที่อยู่รวมกัน ทราบกันว่าในยามที่พระเณรมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นคราใด ท่านมักจะออกรับผิดกับท่านอาจารย์มั่นแทนหมู่เพื่อนชนิดยอมตัดคอออกรองเลยก็ว่าได้

    ท่านจะรีบดึงปัญหานั้นเข้าหาตัวท่านเองทันที เพราะเห็นหมู่เพื่อนพระเณรเกรงกลัวท่านอาจารย์มั่นมาก ทำให้ท่านรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งความจงใจทำผิดก็ไม่มี จะมีบ้างก็เพียงข้อผิดพลาดบางประการเท่านั้น สำหรับท่านเองก็พออดพอทนได้ หากว่าท่านอาจารย์มั่นจะเคาะจะตีอะไรท่านก็อดทนเอา แต่เมื่อนานๆ ไป ความผิดพลาอมีบ่อยครั้งเข้าๆ ทุกครั้งก็มีแต่ท่านเป็นผู้ออกรับผิดอยู่เรื่อย ท่านอาจารย์มั่นจึงดุเอาว่า

    "ใครผิดหัววัดท้ายวัดก็มหา ใครผิดท้ายวัดหัววัดก็มาหา

    มันจะโง่ขนาดนั้นหรือมหานี่น่ะ หือ ? หือ ?...เอะอะก็มหาผิด เอะอะก็มหาผิด..."

    ในเรื่องนี้จริงๆ แล้วท่านอาจารย์มั่นท่านก็ทราบอะไรดีอยู่แล้ว เพราะนิสัยรวดเร็วและช่างสังเกตอยู่ตลอด จึงสามารถจับได้หมด

    มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านไม่สบาย ป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้น ทั้งลมก็แรงตลอด ฝนก็ตกทั้งคืน ใบไม้จึงร่วงหล่นมากมาย พอเช้ามา ท่านอาจารย์มั่นไม่ได้ยินเสียงปัดกวาดใบไม้ เหมือนทุกๆ วัน รู้สึกผิดจากปกติมาก ท่านอาจารย์มั่นจึงถามขึ้นทันทีว่า

    "หือ ?ๆ พระเณรไปไหนหมด หือ ? ท่านมหาไปไหน ?" พระเณรตอบว่า

    "ท่านอาจารย์มหาป่วย"

    ท่านอาจารย์มั่นพูดแบบดุๆ ขึ้นทันทีว่า "หือ ?ๆ ท่านมหาป่วยเพียงองค์เดียว วัดร้างหมดเลยเชียวหรือ ?"

    ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะโดยปกติประจำวัน ท่านจะคอยใส่ใจเป็นธุระนำหน้าหมู่คณะออกทำข้อวัตรต่างๆ ทุกชิ้นทุกอันอยู่เสมอ เมื่อมาเจ็บป่วยจนลุกไม่ขึ้น พระเณรจึงยังไม่ทันทราบ เลยไม่มีใครพ่เริ่มต้นทำข้อวัตร ทำให้เช้าวันนั้นดูเงียบผิดปกติ

    และในบางครั้งที่ท่านป่วยไข้อย่างหนักมีอยู่เหมือนกันที่ท่านอาจารย์มั่นเมตตาเอายาไปให้ฉันด้วยตนเองเลยทีเดียว ความเคารพต่ออาจารย์ทำให้จำต้องยอมฉัน ท่านเล่าให้ฟังอย่างไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ไปได้เลย ดังนี้

    "...ยาของท่าน ยามโหสถ ถ้าท่านเอาไปแล้วต้องได้ฉัน ยานี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจี้เลย ให้เราฉัน ใครเอาไปให้ เราไม่ฉันนี่นะ

    อันนี้ท่านก็รู้นิสัยเหมือนกันนะ ท่านจัดยาให้เขาเอาไปให้ ก็ไม่ฉัน ไม่เอาเลย สุดท้ายท่านเลยเอามาให้เอง..."
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ญาณหยั่งทราบของท่านอาจารย์มั่น

    ในระยะที่อยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านคอยสังเกตดูทุกแง่ทุกมุมของท่านอาจารย์มั่นและเห็นว่าไม่เหมือนครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ที่ท่านเคยประสบมา สำหรับท่านอาจารย์มั่นนั้นไม่ว่าท่านแสดงสิ่งใดออกมา ย่อมสามารถเอาเป็นคติธรรมได้ทั้งนั้น ดังนี้

    "...ดูทุกแง่ทุกมุม เราดูจริงๆ นะ เพราะเราตั้งใจไปศึกษากับท่านจริง...บางทีท่านก็พูดมีทีเล่นทีจริงเหมือนกันกับเราในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ ก็พ่อกับลูกนี่แหละ แต่เรามันไม่ได้ว่าทีเล่นทีจริงนี่นะ มันเอาเป็นจริงทั้งนั้นเลย ท่านจะพูดแง่ไหน ท่านมีคติธรรมออกมาทุกแง่นะ ถึงแม้จะเป็นข้อตลกนี้ ท่านก็มีคติธรรมออกมา มีธรรมแทรกออกมา ไม่ได้เป็นแบบโลกนะ...

    พูดถึงเรื่องความเลิศเลอที่สุดในภายในหัวใจก็ดี ภายนอกก็ดี การประพฤติปฏิบัติของท่านก็ดี รู้สึกว่าที่เราผ่านครูบาอาจารย์มานี้ ไม่มีใครเหมือน ท่านพร้อมทุกอย่าง ยิ่งท่านเทศน์ถึงเรื่องเทวบุตรเทวดาแล้ว โอ๊ย ฟังแล้วเราพูดจริงๆ นะ เราเป็นจริงๆ นี่นะ ฟังแล้วน้ำตาร่วงเลยนะ พวกเทพ พวกเทวดามาเยี่ยมท่าน มาฟังเทศน์ท่าน แต่ท่านจะพูดในเวลาเฉพาะนะ ท่านไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้านะ นั่นแหละเห็นไหม จอมปราชญ์

    ท่านรู้หนักรู้เบา รู้ในรู้นอกนะ รู้ควรไม่ควร เวลามีโอกาสอันดีงามอยู่เพียง 2-3 องค์คุยกัน แล้วก็เสาะนั้นเสาะนี้ อยากรู้อยากเห็น ท่านก็คอยเปิดออกมาๆ ทางนี้ก็ค่อยสอดค่อยแทรกเข้าไป ครั้งนั้นบ้าง ครั้งนี้บ้าง หลายครั้งต่อหลายหน...

    ...นี่ท่านพูดถึงเรื่องเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมที่มาเยี่ยมท่าน ท่านบอกว่าท่านมาอยู่ที่สกลนครนี้ พวกเทวดามาเกี่ยวข้องน้อยมาก ท่านว่ายังงั้นนะ จะมาเป็นเวลา ว่างั้นคือ มาในวันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันออกพรรษา นอกนั้นเทวดาไม่ค่อยมากัน หมายถึงเทวดาชั้นสูงนะ พวกสวรรค์ พวกภูมิเทวดามาห่างๆ เหมือนกันนะ

    ส่วนไปอยู่เชียงใหม่ โห ต้อนรับแทบทุกวัน ท่านว่ายังงั้น ไม่มีเวลาว่างเลย เทวดาชั้นนั้นๆ ที่มาเป็นชั้น เป็นชั้นๆ มาเป็นลำดับลำดา...พวกเทวดาเช่น ดาวดึงส์นี้มา การแต่งเนื้อแต่งตัวนี้มีลักษณะไหน รูปร่างนี้จะหยาบไปอย่างนี้ ความละเอียดนะละเอียด เรื่องของเทพนั้นละเอียด แต่เมื่อเทียบกับเทพทั้งหลายแล้วจะละเอียดต่างกันเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป...

    ...นั่นละ เห็นไหม ญาณหยั่งทราบ พวกตาดีท่านอย่างนั้น พวกตาบอดปฏิเสธวันยังค่ำว่าไม่มี...โห เวลานี้กำลังเริ่มลบล้างพวกเทวบุตรเทวดาว่าไม่มีแล้วนะ ก็ชาวพุทธเราเองนี่แหละ มันเป็นข้าศึกต่อพระพุทธเจ้าเสียเอง..."
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    คุณยายชรา ผู้มีญาณหยั่งรู้

    ในหมู่บ้านหนองผือนั้น มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งอายุราว 80 ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่งที่ท่านอาจารย์มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมา คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดหนองผือเสมอ และหลานชายคนหนึ่งของคุณยายก็เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้วก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด

    คุณยายท่านนี้สามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งท่านอาจารย์มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า "รู้เรื่องนั้นไหม ?" คุณยายก็ว่า "รู้" แล้ว "เรื่องนี้ก็รู้ไหม?" ก็ว่า "ก็รู้อีก" ท่านอาจารย์มั่นเลยลองถามว่า

    "แล้วรู้ไหม ? จิตของพระในวัดหนองผือนี้" คุณยายว่า "ทำไมจะไม่รู้" แถมพูดแบบขู่เลยว่า "รู้หมดแหละ" คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่างอาจหาญว่า

    "มองหาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด"

    เวลาเล่าถวายท่านอาจารย์มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมาก ไม่กลัวใครแม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อย (รวมทั้งหลวงตามหาบัว) จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ที่เป็นพิเศษก็ตอนที่คุณยายทายใจท่านอาจารย์มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า

    "จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร ?"

    ท่านอาจารย์มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า

    "ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต"

    คุณยายเรียนท่านว่า "ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย

    แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถาม เพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้"

    ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากท่านอาจารย์มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายสนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพ พวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไขและสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป

    ท่านอาจารย์มั่นเคยชมเชยคุณยาย ท่านนี้ให้พระฟังว่า

    "...แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย..."
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]

    พลาด...เทศน์ครั้งสุดท้าย

    ท่านกล่าวถึงตอนท่านอาจารย์มั่นเทศน์แบบฟ้าดินถล่ม คือเอาอย่างเต็มเหนี่ยวถึง 3 ชั่วโมงที่วัดเจดีย์หลวง เทศน์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ ซึ่งท่านมีโอกาสได้ร่วมฟังด้วย แต่ในคราวที่หนองผือ ท่านกลับพลาดโอกาสฟังเทศน์ครั้งนี้ของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเทศน์ชนิดฟ้าดินถล่มเช่นกันถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ที่สำคัญก็คือเป็นเทศน์ครั้งสุดท้ายจะเป็นด้วยสาเหตุใด ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟัง ดังนี้

    "...พูดง่ายๆ ว่าเป็นครั้งสุดท้ายเทศน์ที่หนองผือเหมือนกัน เราก็พูดกับท่านอย่างชัดเจนก่อนที่จะลาท่านไปเที่ยว มาทางวาริชภูมิ...จากอำเภอวาริชภูมิไปหาหนองผือทางตั้งพันกว่าเส้น

    ท่านก็ถามว่า "จะไปทางไหน ?"

    "ว่าจะไปทางถ้ำพระทางโน้น ทางบ้านตาดภูวง"

    ก่อนจะไปท่านก็ให้ปัญหาถึง 4 ข้อ ผมไม่ลืมนะ เพราะตามธรรมดาผมขึ้นไปหาท่าน ไม่ค่อยครองผ้าแหละ เพราะไม่มีผู้มีคน ก็มีแต่พระแต่เณรในวัด ไม่มีใครไปยุ่งกวน สงบสงัด ตอนเช้าจะไปหาท่าน ฉันจังหันเสร็จแล้วก็ขึ้นไป มีแต่ผ้าอังสะ เพราะท่านก็ไม่ได้ถืออะไรนี่มีแต่พวกกันเอง

    วันนั้นผมครองผ้าไป พอขึ้นไป "จะไปไหนนี่ ?" ท่านว่าอย่างนั้นนะ เราก็เฉย ไม่รู้จะว่าไง ขึ้นไปกราบแล้วท่านก็คุยไป ไม่ได้ปรารภถึงว่าเราจะไปไหนมาไหนเลย สักครู่ท่านก็ปรารภมา

    "ถ้าอยู่ก็ได้กำลัง ไปก็ได้กำลัง อยู่ก็ดี ถ้าอยู่ไม่ได้กำลัง ไปได้กำลัง ไปก็ดี"

    ท่านพูดของท่านไปเรื่อยๆ ก่อน จนนานพอสมควรแล้วก็เปิดโอกาสให้อย่างนี้ละ เราก็กราบเรียนถามถึงเรื่องการงานภายในวัด

    "ถ้ามีอะไรที่จะจัดจะทำ กระผมก็จะได้ช่วยหมู่เพื่อนทำให้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง หากว่าไม่มีอะไร ก็อยากจะกราบนมัสการปรึกษาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปภาวนาสักชั่วระยะหนึ่ง"

    ท่านถาม "จะไปทางไหนล่ะ ?"

    "คราวนี้คิดว่าจะไปไกลสักหน่อย" คือตามธรรมดาผมไม่ค่อยไปไกล ไปประมาณสัก 20-30 กิโลเท่านั้นละ...45 กิโล

    "คราวนี้จะไปไกลหน่อย ไปทางอำเภอวาริชภูมิ"

    "เอ้อ ดี ทางโน้นก็ดี" ท่านว่า "สงบ สงัดดี มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้นแหละ" ท่านว่า "แล้วไปกี่องค์ล่ะ ?"

    "ผมคิดว่าจะไปองค์เดียว"

    "เออ ดีละ ไปองค์เดียว" ท่านก็ชี้ไป "ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ ท่านมหาจะไปองค์เดียว"

    ทีนี้เวลาจะไปก็จำได้ว่า เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ผมไม่ลืมนะ ก่อนจะไปก็ "กระผมไปคราวนี้คงจะไม่ได้กลับมาร่วมทำมาฆบูชาคราวนี้" เราก็ว่าอย่างงั้น ไป 9 วัน 10 วันกลับมา ทางมันไกลนี่ เดินด้วยเท้าทั้งนั้นแหละ

    "เอ้อ บูชาคนเดียวนะ มาฆบูชาคนเดียวจริงๆ นี่"

    ท่านว่าอย่างนั้น แล้วชี้เข้าตรงนี้นะ "พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เป็นมาฆบูชาทั้งนั้นแหละ เอาตรงนี้นะ"

    จากนั้นก็ไป ทีนี้พอถึงวันมาฆบูชาสายๆ หน่อยประมาณสัก 11 โมง ท่านถามพระ "ท่านมหาไม่มารึ ? เห็นท่านมหาไหม ?" พระว่า "ไม่เห็นครับกระผม"

    "ไปไหนกันนา ?" พอบ่าย 2 โมง 3 โมงเอาอีกถามอีก ตกเย็นเข้ามาอีกถามอีก

    "เอ๊ มันยังไง ท่านมหาไปยังไงนา ?" เหมือนกับว่าท่านมีความหมายของท่านอยู่ในนั้น เหมือนกับว่าท่านจะเทศน์ให้เต็มที่ เพราะท่านจะป่วย ก่อนนั้นท่านไม่ได้ป่วยนี่นะ แต่ท่านทราบของท่านไว้แล้วเรื่องเหล่านี้ ตอนที่เราจะลาท่านไป ท่านก็ดีๆ อยู่นี่ พอถึงเวลาท่านลงมาศาลาหันหน้าปุ๊บมา

    "หือ ? ท่านมหาไม่ได้มารึ ?"

    "ไม่เห็นครับ" ใครก็ว่าอย่างงั้น

    "เอ๊ มันยังไงนา ? ท่านมหานี่ยังไงนา ?" ว่าอย่างนี้แปลกๆ อยู่ ทั้งๆ ที่ได้ตกลงเรียบร้อยแล้ว ท่านมีอะไรของท่านอยู่แล้วท่านก็เทศน์ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง 6 ทุ่ม ฟาดวันมาฆบูชานี้ โอ๋ย เอาอย่างหนักเทียวนะ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 6 ทุ่มเป๋ง

    เทศน์จบลงแล้ว "โอ๊ย เสียดายท่านมหาไม่ได้มาฟังด้วยนะ" ว่าอีกนะซ้ำอีก ก็เหมือนอย่างว่าเทศน์ครั้งสุดท้าย จากนั้นมาท่านไม่ได้เทศน์อีกเลยนะ

    พอเดือน 4 แรมค่ำหนึ่ง ผมก็มาถึง ผมไปเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ถึงเดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ก็เป็น 1 เดือนพอดี เดือน 4 แรม 1 ค่ำ ผมกลับมา ผมจำได้แต่ข้างขึ้นข้างแรมจำวันที่ไม่ได้ เหตุที่จะจำได้ก็เพราะว่าพอผมขึ้นไปกราบท่านตอนบ่าย พอท่านออกจากที่แล้วผมก็ขึ้นไปกราบ

    "มันยังไงกันท่านมหานี่"

    ท่านว่าอะไรนี้ "เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่มก็ไม่มาฟังกัน" นี่เราถึงได้ย้อนพิจารณา อ๋อ ที่พระท่านเล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพราะเหตุนี้เอง

    "เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่ม นี่ผมเริ่มป่วยแล้วนะ เริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้" นั่นท่านว่า..."
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    คำเตือนล่วงหน้า

    เมื่อท่านอาจารย์มั่นชราภาพมากแล้ว ท่านจะพูดเตือนพระเณรอยู่เสมอให้ตั้งอกตั้งใจ เพราะการอยู่ด้วยกันมิใช่เป็นของจีรังถาวร มีแต่ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรยึดอย่างมั่นใจตายใจ ครูอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน อย่านอนใจว่าได้มาอยู่กับครูกับอาจารย์แล้วท่านจะอยู่กับเราตลอดไป เมื่อนานเข้าๆ ท่านอาจารย์มั่นก็เปิดออกมาอีกว่า

    "...ใครจะเข้มแข็ง ความพากเพียรอะไรก็ให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเป็นอะไรภายในจิตใจ เอ้า ให้มาถามมาเล่าให้ฟังภิกษุเฒ่าจะแก้ให้...นี่เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะ ใครจะแก้เรื่องจิตใจทางด้านจิตตภาวนา นี่ไม่นานนะ"

    ท่านย้ำลง "ไม่เลย 80 นะ 80 ก็นี่ มันนานอะไร พากันมานอนใจอยู่ได้เหรอ..."

    เมื่อท่านอาจารย์มั่นพูดเตือนดังกล่าว พระเณรทั้งหลายต่างสลดสังเวชใจรีบตั้งหน้าตั้งตาเร่งปฏิบัติกัน สำหรับตัวท่านเองท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนสำคัญนี้ให้พระเณรฟังว่า

    "...เหมือนกันว่าจิตนี่มันสั่นริกๆ อยู่ พอได้ยินอย่างนั้นแล้ว ความเพียรก็หนัก เวลาครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาท่านแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัย ก็เร่งความเพียรเข้าเต็มที่ที่ พอท่านย่างเข้า 80 พั้บ ท่านก็เริ่มป่วยแหละ พอป่วยแล้ว ท่านบอกไว้เลยเชียว แน่ะฟังซิ ซึ่งท่านเคยป่วย เคยไข้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เป็นไข้มาลาเรีย เป็นไข้อะไร ท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย

    แต่พอเป็นคราวนี้ เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น ไม่ได้มากอะไรเลย ท่านบอกว่า

    "ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ"

    เพราะเราอยู่อำเภอวาริชภูมิ เราไปถึงวันค่ำหนึ่ง ท่านก็ป่วย ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ผมจำได้ขนาดนั้นนะ วันค่ำหนึ่งเราก็ไปถึงท่าน

    "ผมเริ่มป่วยตั้งแต่วานซืน" วานซืนก็หมายถึงวันขึ้น 14 ค่ำ "นี่ป่วยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะ ไม่หาย ยาจากเทวดาชั้นพรหมไหนๆ ก็มาเถอะ" ท่านว่า

    "ไม่มียาขนานใดในโลกนี้จะมาแก้ให้หาย ไข้นี้จึงเป็นไข้สุดท้าย แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่า โรคคนแก่ อย่าไปหาหยูกหายามาใส่มารักษา มันเป็นไปตามสภาพของขันธ์นี้แหละ" ท่านว่าอย่างนั้น

    "เอามารักษาก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยแล้ว รดน้ำต้นไม้ที่ตายยืนต้นแล้วนั่นแหละ จะให้มันผลิดอกออกใบออกผลเป็นไปไม่ได้ ยังแต่เวลาของมันเหลืออยู่ที่จะล้มลงจมแผ่นดินเท่านั้น...

    ...นี่ก็อยู่แต่มันยังไม่ล้มเท่านั้นเอง จะให้หายด้วยยาไม่หายนะ นี่เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น" ท่านบอกแล้ว

    แน่ไหม ? ท่านอาจารย์มั่น ฟังซิ ผมถึงได้กราบสุดหัวใจผม ท่านเปิดออกมาอย่างนั้นไม่มีอะไรผิด

    "ย่างเข้า 80 ไม่เลย 80 นา" ก็ฟังซิ

    "โรคนี้เป็นไข้วาระสุดท้าย จะไม่หายจนกระทั่งตาย จะตายด้วยป่วยคราวนี้แหละ" ท่านว่า "แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคทรมาน" ก็จริง ตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 12 ฟังซิ 7-8 เดือน ท่านเริ่มป่วยไปเรื่อยๆ เหมือนกับค่อยสุมเข้าไปๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างว่านั้น..."
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เทิดทูนท่านอาจารย์มั่นสุดหัวใจ

    หมู่พระเณรที่บ้านหนองผือทราบกันดีว่า ช่วงเวลาที่ท่านอาจารย์มั่นป่วยหนักมากๆ นี้ ถ้าองค์ท่านไม่นอนทั้งคืน ท่านก็ไม่ยอมนอนทั้งคืนด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะต้องได้นั่งอยู่กับที่นานมากเข้าๆ จนเริ่มรู้สึกเจ็บเอวมาก แต่ด้วยความเคารพรักท่านอาจารย์มั่น แม้จะเจ็บมากเพียงไรก็ตามก็ไม่ถือเป็นอารมณ์กับมันยิ่งกว่าการคอยเฝ้าดูแลองค์ท่านอาจารย์มั่นอย่างใจจดจ่อที่สุด

    เมื่อองค์ท่านงีบหลับไปบ้าง ท่านก็ถือโอกาสนั้นออกไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ด้วยการไปเดินจงกรมในบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ลืมที่จะให้พระที่ไว้ใจได้คอยดูแลองค์ท่านอยู่เงียบๆ ตลอดเวลาแทน ท่านบอกพระองค์นั้นไว้ด้วยว่า

    "หากมีอะไรให้รีบบอกทันที และคอยสังเกตดูว่า ถ้าองค์ท่านมีทีท่าว่าจะตื่นขึ้นก็ให้รีบบอกทันทีเช่นกัน"

    การที่พระผู้เฝ้าไข้องค์ท่านต้องคอยบอกท่านอยู่เสมอๆ เพราะต่างก็สังเกตพบว่า เวลาองค์ท่านตื่นขึ้น เมื่อลืมตาขึ้นมามักจะถามขึ้นว่า

    "ท่านมหาไปไหน ?ๆ"

    พระผู้เฝ้าไข้ก็จะรีบวิ่งไปบอกท่านทันทีในจุดที่นัดหมายกันไว้แล้ว

    ท่านเองก็รีบมาทันทีเช่นกัน

    ยามที่ท่านอาจารย์มั่นป่วยหนักเช่นนี้ ท่านจะเป็นผู้ทำธุระต่างๆ เกี่ยวกับองค์ท่านด้วยตัวเองทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายหนักถ่ายเบาขององค์ท่าน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ท่านเมตตาอธิบายว่า

    "...เราทำต่อท่านด้วยความจงรักภักดี เทิดทูนขนาดไหน ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลยและท่านก็ไม่เคยตำหนิอะไร ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย และท่านก็ไม่เคยตำหนิอะไร เราทำกับท่านถึงจะโง่หรือฉลาด เราขอถวายทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ท่านไม่เคยตำหนิเรา จะถ่ายหนักถ่ายเบาอะไร เราจัดการเองหมด ไม่ให้ใครมายุ่งกลัวใครจะไปคิดไม่ดีในเรื่องอะไรๆ ที่เป็นอกุศลต่อท่าน เพราะปุถุชนเป็นได้นี่นะ

    เราถึงเป็นปุถุชนก็ตาม แต่เรามันไม่ใช่อย่างนั้น เรามอบหมดแล้วนี่ มันต่างกันตรงนี้นะ สติปัญญาที่เรานำมาใช้กับท่านก็เรียกว่า เต็มกำลังของเรา...

    เวลาถ่ายหนักนี่สำคัญมาก ไม่ให้ใครเห็นด้วยนะ เราทำของเราไม่ให้ใครมองเข้าไปเห็นเลยนะ เอาร่างกายเอาตัวของเราบังไว้หมดเลย ทำคนเดียวของเรา แต่ก่อนไม่มีถุงพลาสติก มีแต่กระโถนกับผ้าขี้ริ้ว ผ้าอะไร กระดาษก็มีแบบกระดาษห่อพัสดุ

    เวลาท่านถ่าย เราก็เอามือรองที่ทวารท่านเลย หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ เสร็จแล้วเอาผ้าคอยเช็ดตรงนั้น ให้ท่านถ่ายลงกับมือเราเลยนะ ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย

    เสร็จเรียบร้อยแล้วเราทำความสะอาดเอง ทำเองเสร็จแล้ว เราก็วิ่งออกมา เพราะพระอยู่ข้างนอกเต็มหมด อยู่ในนั้นมีแต่เราคนเดียว..."
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เป็นตายไม่ว่า ถ้าเพื่อพ่อแม่ครูอาจารย์

    ในระยะที่ท่านอาจารย์มั่นไอด้วยโรควัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากมีผู้ที่เข้าไปใกล้ชิดติดพันด้วยแล้ว โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงมากและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยง่าย

    เรื่องนี้เคยมีผู้ถามท่านอยู่เหมือนกันว่าไม่กลัวจะติดเชื้อวัณโรคนี้บ้างหรือ ท่านว่า ท่านไม่ได้สนใจกับวัณโรคที่ร้ายแรงนี้เลย ยิ่งกว่านั้นยังได้อยู่คลอเคลียใกล้ชิดติดพันกับองค์ท่านอยู่ตลอด แม้เวลาองค์ท่านไอ ท่านก็เอาสำลีกว้านเสลดออกช่วยท่าน ยิ่งในเดือนสิบเอ็ด สิบสอง อากาศหนาวเย็นเข้ามา องค์ท่านก็จะไอหนักขึ้น ถ้าคืนไหนไม่ได้นอน ท่านก็ไม่นอนด้วย เพราะต้องช่วยกว้านอยู่ตลอดคืน ท่านว่าสำลีที่ใช้แล้วนี้ถึงกับล้นพูนกะละมังเลย เพราะต้องกว้านออกเรื่อยๆ เหตุการณ์ในตอนนี้ท่านก็เคยเล่าไว้ว่า

    "...ถ้าวันไหนท่านไม่หลับ เราก็ไม่ได้หลับ ถ้าวันไหนท่านได้หลับบ้าง เราก็ออกไปเดินจงกรม กลางวันไม่ไอท่านจะอยู่สบาย ก็ให้พระที่พอไว้ใจได้องค์ใดองค์หนึ่งอยู่แอบๆ ท่าน อยู่ข้างๆ แต่ไม่ได้เข้ามุ้งกับท่าน เราก็ได้พักในตอนนั้น ถ้ากลางคืนนี้เตรียมพร้อมตลอดเวลา

    ถ้าพูดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เราเทิดทูนสุดหัวใจ เรามอบหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือติดเนื้อติดตัวเรา เรามอบหมดเลย ความลำบากลำบน เราไม่สนใจ เรามอบหมดเลย..."

    ที่ท่านอาจารย์มั่นคอยถามถึงท่านมหาอยู่เสมอนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมีขึ้นในระยะนี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มี และแม้ในคราวที่ท่านออกเที่ยววิเวกหลายต่อหลายวันเข้า องค์ท่านก็เริ่มถามกับพระเณรขึ้นแล้วว่า

    "...เอ ท่านมหาไปไหนนา ? ไปหลายวันแล้วนะ..."

    ครั้นเมื่อท่านกลับมาถึงวัด องค์ท่านก็ไม่พูดอะไร แต่พระเณรก็แอบเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ทำเหมือนกับไม่รู้อะไร แต่พอท่านได้ออกเที่ยวอีกหลายวัน องค์ท่านก็ได้ถามพระเณรขึ้นอีก เช่นว่า

    "เออ มหาไปหลายวันแล้วนะ ไม่เห็นนะ"

    ความเมตตาอย่างน่าประทับใจที่ครูบาอาจารย์มอบให้นี้ ก็คงด้วยเพราะองค์ท่านล่วงรู้ถึงหัวใจของท่านที่ยอมมอบทุกอย่างชนิดไม่มีอะไรเหลือ เพื่อเทิดทูนเคารพบูชาคุณอย่างสุดหัวใจต่อองค์ท่านนั่นเอง
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สลดสังเวช...ผู้มีพระคุณสูงสุดจากไป

    ด้วยสมาธิที่แน่นหนาและด้วยความเพียรด้านปัญญาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับๆ ไป จนก้าวเข้าถึงความละเอียดอ่อนของจิต และเห็นอวิชชา ในจิตเป็นของอัศจรรย์ เป็นของน่ารัก น่าสงวน น่าติดข้อง น่าเฝ้ารักษาอยู่อย่างนั้นเป็นอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืน ระยะนี้อยู่ในช่วง 4 เดือน ก่อนหน้าที่ท่านอาจารย์มั่นจะมรณภาพ

    ท่านมีโอกาสอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์มั่นโดยลำดับดังนี้ บ้างโคก 1 พรรษา บ้านนามน 1 พรรษา บ้านโคกอีก 1 พรรษา และแห่งสุดท้าย ที่บ้านหนองผือ 5 พรรษา สำหรับวันมรณภาพของท่านอาจารย์มั่น ตรงกับเวลา 2 นาฬิกา 23 นาที ของวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร สิริรวมอายุได้ 80 ปี ยังความสลดสังเวชแก่ท่านอย่างเต็มที่ด้วย เพราะท่านทราบดีว่า ถึงแม้สติปัญญาจะเป็นอัตโนมัติหมุนตลอดทั้งวันทั้งคืน หรือแม้จิตจะละเอียดเพียงใด แต่ยังมีภาระการงานทางใจอยู่ ยังต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นที่ลงใจและสามารถช่วยชี้แนะจุดสำคัญที่กำลังติดอยู่นี้ให้ผ่านพ้นไปได้ ท่านเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    "...วันท่านอาจารย์มั่นมรณภาพได้เกิดความสลดสังเวชอย่างเต็มที่จากความรู้สึกหมดที่พึ่งทางใจแล้ว เพราะเวลานั้นใจก็ยังมีอะไรๆ อยู่ และเป็นความรู้ที่ไม่ยอมจะเชื่ออุบายของใครง่ายๆ ด้วย เมื่อชี้ไม่ถูกจุดสำคัญที่เรากำลังติดและพิจารณาอยู่ได้อย่างท่านอาจารย์มั่นเคยชี้ ซึ่งเคยได้รับผลจากท่านมาแล้ว ทั้งเป็นเวลาเร่งความเพียรอย่างเต็มที่ด้วย

    ฉะนั้น เมื่อท่านอาจารย์มั่นมรณภาพแล้วจึงอยู่กับหมู่คณะไม่ติด คิดแต่จะอยู่คนเดียวเท่านั้น จึงพยายามหาที่อยู่โดยลำพังตนเอง และได้ตัดสินใจว่าจะอยู่คนเดียวจนกว่าปัญหาของหัวใจทุกชนิดจะสิ้นสุดลงจากใจโดยสิ้นเชิง จึงยอมรับและอยู่กับหมู่เพื่อนต่อไปตามโอกาสอันสมควร..."

    ความอาลัยอาวรณ์ถึงครูบาอาจารย์อย่างสุดหัวจิตหัวใจนี้ เป็นเพราะท่านมีความเคารพรักและเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันก็รู้สึกหมดหวัง หมดที่พึ่งทางใจระคนกันไป แต่แล้วท่านก็กลับได้อุบายต่างๆ ขึ้นมาในขณะนั้นว่า

    "...วิธีการสั่งสอนของท่านเวลามีชีวิตอยู่ ท่านสั่งสอนอย่างไร ต้องจับเงื่อนนั้นแลมาเป็นครูสอน และท่านเคยย้ำว่า

    "อย่างไรอย่าหนีจากรากฐานคือผู้รู้ภายในใจ เมื่อจิตมีความรู้แปลกๆ ซึ่งจะเกิดความเสียหาย ถ้าเราไม่สามารถพิจารณาความรู้ประเภทนั้นได้ ให้ย้อนจิตเข้าสู่ภายในเสีย อย่างไรก็ไม่เสียหาย..."

    เมื่อการมรณภาพของท่านอาจารย์มั่นผ่านไป ผู้คนที่อยู่แวดล้อมเรือนร่างองค์ท่านอาจารย์มั่นก็เริ่มเบาบางลง โอกาสเช่นนั้นท่านจึงเข้าไปกราบที่เท้า และนั่งรำพึงรำพันปลงความสลดใจสังเวชน้ำตาไหลนองอยู่ปลายเท้าเกือบ 2 ชั่วโมง พร้อมทั้ง พิจารณาธรรมในใจของตนกับโอวาทที่ท่านอาจารย์มั่นให้ความเมตตาอุตส่าห์สั่งสอนมาเป็นเวลาถึง 8 ปีที่อาศัยอยู่กับท่าน ว่า

    "...การอยู่เป็นเวลานานถึงเพียงนั้น แม้คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นที่รักยิ่ง หรือลูกๆ ผู้เป็นที่รักของพ่อแม่อยู่ด้วยกันก็จะต้องมีข้อข้องใจต่อกันเป็นบางกาล แต่ท่านอาจารย์กับศิษย์ที่มาพึ่งร่มเงาของท่านเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ไม่เคยมีเรื่องใดๆ เกิดขึ้น

    ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเป็นที่เคารพรักและเลื่อมใสหาประมาณมิได้ ท่านก็ได้จากเราและหมู่เพื่อนผู้หวังดีทั้งหลายไปเสียแล้ว ในวันนั้น อนิจจา วต สังขารา เรือนร่างของท่านนอนสงบนิ่งอยู่ด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสและอาลัยยิ่งกว่าชีวิตจิตใจซึ่งสามารถสละแทนได้ด้วยความรักในท่านกับเรือนร่างของเราที่นั่งสงบกายแต่ใจหวั่นไหวอยู่ด้วยความหมดหวังและหมดที่พึ่งต่อท่านผู้จะให้ความร่มเย็นต่อไป

    ทั้งสองเรือนร่างนี้รวมลงในหลักธรรมคือ อนิจจา อันเดียวกัน ต่างก็เดินไปตามหลักธรรม คือ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอื่นไปไม่ได้

    ส่วนท่านอาจารย์มั่นท่านเดินแยกทางสมมติทั้งหลาย ไปตามหลักธรรมบทว่า เตสัง วูปสโม สุโข ท่านตายในชาติที่นอนสงบให้ศิษย์ทั้งหลายปลงธรรมสังเวชชั่วขณะเท่านั้น

    ต่อไปท่านจะไม่มาเป็นบ่อแห่งน้ำตาของลูกศิษย์เหมือนสมมติทั่วๆ ไป เพราะจิตของท่านที่ขาดจากภพชาติเช่นเดียวกับหินที่หักขาดจากกันคนละชิ้นจะต่อให้ติดกันสนิทอีกไม่ได้ฉะนั้น..."

    ท่านนั่งรำพึงอยู่ด้วยรู้สึกหมดหวังในใจว่า

    "...ปัญหาทั้งหมดภายในใจที่เคยปลดเปลื้องกับท่าน บัดนี้เราจะไปปลดเปลื้องกับใคร ? และใครจะมารับปลดเปลื้องปัญหาของเราให้สิ้นซากไปได้เหมือนอย่างท่านอาจารย์มั่นไม่มีแล้ว...

    ...เป็นกับตายก็มีเราคนเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับหมอที่เคยรักษาโรคเราให้หายไม่รู้กี่ครั้ง ชีวิตเราอยู่กับหมอคนเดียวเท่านั้น แต่หมอผู้ให้ชีวิตเรามาประจำวันก็ได้สิ้นไปเสียแล้วในวันนี้ เราจึงกลายเป็นสัตว์ป่าเพราะหมดยารักษาโรคภายใน..."
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    กองทัพธรรมพระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
    จากภาพ..แถวหลังองค์ขวามือสุด คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    ตอนที่ 9 สติปัญญาอัตโนมัติ

    หมู่เพื่อนแอบจดจ้อง

    ย้อนมากล่าวถึงระยะที่ท่านอาจารย์มั่นเริ่มป่วย หลวงตาเล่าสภาวะจิตในระยะนั้นให้พระเณรฟัง ดังนี้

    "...ตอนท่านอาจารย์มั่นเริ่มป่วย จิตเราก็เริ่มชุลมุนวุ่นวายของมันไม่มีวันมีคืนเลยตั้งแต่นั้นมาเรื่อยๆ จิตเราก็ไม่ว่างเลย ท่านป่วยหนักเข้าเท่าไร เราก็ยิ่งต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเกี่ยวกับการดูแลรักษา ตลอดถึงหมู่เพื่อนที่จะไปเกี่ยวข้องกับท่าน เราเป็นผู้คอยให้อุบาย คอยแนะนำตักเตือน ไอ้เราเองก็หมุนติ้วๆ ซิ ลงจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรมแน่ะ พอออกจากทางจงกรมมาก็ขึ้นกุฏิท่าน นี่หมายถึงอยู่หนองผือ ออกจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรม ปล่อยท่านก็ปล่อยให้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะปล่อยไม่ได้แม้หมู่เพื่อนจะมีมากก็ตาม แต่เราคอยแนะคอยให้อุบายคอยอะไรอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ

    พอมีเวลาบ้างนิดหน่อยก็เข้าทางจงกรม เพราะตอนนั้นจิตมันพิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เรียกว่ามันเป็นของมันเอง ไม่มีใครบอกใครสอนไม่มีใครแนะใครนำแหละ หากเป็นในตัวของมันเองถึงวาระที่มันเป็น นี่ถ้าเราเรียก ก็เรียกว่าภาวนามยปัญญาอย่างว่า เมื่อก้าวถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้ว ต้องหมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติ ไม่หยุดไม่ถอย มีแต่หมุนอยู่ตลอด หมุนกับกิเลสนั่นแหละไม่ใช่หมุนอะไร ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือนลืมเวล่ำเวลา ไม่ได้ส่งออกนอก มีแต่พันกันอยู่กับกิเลสอาสวะประเภทต่างๆ อยู่ภายในนั้น..."

    ก่อนท่านอาจารย์มั่นจะมรณภาพ และเป็นระยะที่ท่านยังอยู่ระหว่างการออกวิเวก ท่านอาจารย์มั่นได้เคยปรารภถามพระที่ขึ้นไปทำข้อวัตรอุปัฏฐากว่า

    "ถ้าผมตาย พวกท่านจะพึ่งใคร ?"

    สักครู่หนึ่งท่านอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า

    "เออ ให้พึ่งท่านมหานะ มหาฉลาดทั้งภายนอกภายในนะ..."

    ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีพระเณรหมู่เพื่อนต่างแอบจดจ้องท่านอยู่เงียบๆ และตั้งใจว่าเมื่อสิ้นท่านอาจารย์มั่นไป ก็ยังมีความหวังจะได้อาศัยท่านเป็นที่พึ่งที่แนะนำทางการภาวนาต่อไปได้

    ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพิธีศพท่านอาจารย์มั่น พระเณรหลายสิบรูปต่างคอยติดตามท่านอยู่ตลอด แม้ท่านจะพยายามหลบหลีกปลีกตัวหนีไปทางอื่น ด้วยเพราะเป็นระยะที่ต้องการอยู่ลำพังคนเดียว แต่ก็มีหมู่เพื่อนคอยสืบรอยติดตามไปตลอดเวลาแทบจะทุกสถานที่ เพราะเพิ่งขาดร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่คือท่านอาจารย์มั่นไปไม่นานนี้ เดี๋ยวองค์นี้ตามมา สักเดี๋ยวองค์นั้นตามมาอีกแล้ว เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดในระยะนั้น

    ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ระยะนี้ว่า

    "...ถึงระยะที่จะอยู่กับหมู่เพื่อนไม่ได้...มันอยู่ไม่ได้จริงๆ เสียเวล่ำเวลา ใครมายุ่งไม่ได้นะ คิดดูซิไปบิณฑบาตที่ไหน หมู่บ้านใหญ่ๆ ไม่อยู่ ไปหาอยู่บ้าน 5-6 หลังคาเรือน...บ้านใหญ่ไม่เอา ถ้ายิ่งบ้านไหนไปแล้วเขารุมมาหา โอ๋ย บ้านนี้ไม่ได้เรื่องแน่ นั่นเขาจะมายุ่งเราจนหาเวลาภาวนาไม่ได้ ไม่เอา

    หนีไปหาอยู่หมู่บ้าน 3-4 หลังคาเรือน บิณฑบาตกับเขาพอมีชีวิตบำเพ็ญธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น ไปบิณฑบาต ก็ทำความเพียรตลอด ยุ่งกับใครเมื่อไร ทั้งไปทั้งกลับมีแต่เรื่องความเพียรเหมือนกับเดินจงกรม มันเป็นอยู่ในหลักธรรมชาติของมันเองเวลามันหมุนของมัน เห็นชัดๆ อยู่ในหัวใจว่า

    "อยู่กับใครไม่ได้"

    นี่มันก็รู้อยู่กับใจเราเอง ระยะหนึ่งมันบอกว่า "อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องได้วิ่งหาครูหาอาจารย์ไม่งั้นจมแน่ๆ"

    มันรู้ชัดอยู่ ก็ต้องได้เข้าหาครูหาอาจารย์ ถึงวาระที่จะอยู่คนเดียวนี่ จะอยู่กับใครไม่ได้แล้วมันก็รู้อีก ใครติดตามไม่ได้นะ โอ๋ย ! ขโมยหนีจากพระจากเณรเหมือนขโมย ขโมยใหญ่ๆ เลยนี่ โน่น หัวโจรหัวโจกนั่น ขโมยหนีกลางคืน กลางวันหมู่เพื่อนจะเห็น

    ถ้าพอไปกลางวันได้ก็ไป พอไปกลางคืนได้ก็ไปกลางคืน ดึกดื่นไม่ว่านะ หนีจากหมู่เพื่อน มันไม่สบาย มันอยู่ไม่ได้ ก็งานของเราเป็นอยู่อย่างนี้มีเวลาว่างเมื่อไร อยู่อย่างนี้ตลอด แล้วจะไปอ้าปากพูดคุยกับคนนั้น อ้าปากพูดกับคนนี้ได้ยังไง งานเต็มมืออยู่นี่ นั่น ถึงวาระมันเป็นในหัวใจรู้เอง..."
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    นางงามจักรวาล...อวิชชา

    วันหนึ่ง ช่วงเดือน 3 ข้างแรม หลังเสร็จพิธีถวายเพลิงท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็ไปภาวนาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ระยะนั้น ท่านยังคงอัศจรรย์กับความสว่างไสวของจิต ดังคำปรารภกับพระตอนหนึ่งว่า

    "...จิตของเรามันสว่างไสว ก็อย่างว่านั่นแหละ คนเป็นบ้าอัศจรรย์ตัวเอง ไม่มีใครอัศจรรย์เท่าเจ้าของอัศจรรย์บ้าในตัวเอง ไม่ใช่อัศจรรย์ธรรมแต่เป็นอัศจรรย์บ้า ความหลงความยึดจิตอวิชชา มันจึงอัศจรรย์ตัวเอง เวลาเดินจงกรมอุทานออกมาในใจว่า "แหม...จิตเราทำไมสว่างเอานักหนานะ ร่างกายเรามองดูมันเห็นพอเป็นรางๆ เป็นเงาๆ เพราะความรู้ทะลุไปหมด" สว่างไปหมดเลยก็อัศจรรย์ล่ะซิ เราถึงว่าอัศจรรย์บ้า..."

    ท่านอดอาหารมาได้เพียง 3 วัน เนื่องจากระยะนั้นอดนานมากไม่ได้แล้ว เพราะนับแต่เริ่มปฏิบัติมาจนขณะนี้เป็นเวลา 9 ปี ตอนนี้ก็พรรษาที่ 16 แล้ว ท่านก็อดอาหารแบบสมบุกสมบันอย่างนี้ตลอดมา วันนั้นท่านจึงตั้งใจจะฉันจังหัน เนื่องด้วย ท่านอาจารย์กงมาอนุญาตให้ชาวบ้านมาใส่บาตรที่วัดทุกวันพระ พระเณรจึงไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตนอกวัด

    ดังนั้น พอได้อรุณแล้ว เพื่อรอเวลาฉันอาหาร ท่านจึงออกจากกุฏิไปเดินจงกรมทางด้านตะวันตกของวัด ตั้งใจว่าจะเดินอยู่จนกระทั่งได้เวลาบิณฑบาต ขณะที่ท่านเดินจงกรมไปมาอยู่นั้น เกิดรำพึงขึ้นในใจว่า "เอ...จิตนี่ทำไมอัศจรรย์นักหนานะ มันสว่างไสวเอามาก..."

    พอรำพึงถึงเรื่องความอัศจรรย์ของจิตจบลงเท่านั้น อุบายก็ผุดขึ้นมาในขณะจิตหนึ่งเป็นคำๆ เป็นประโยคๆ อย่างไม่คาดไม่ฝันว่า

    "ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนนั้นแลคือตัวภาพ"

    ในตอนนั้นท่านเล่าว่า ท่านงงเป็นไก่ตาแตกไปเลย เพราะยังไม่เข้าใจในอุบายที่ผุดขึ้น จึงได้แบกปัญหานี้ไปคนเดียวในป่าในเขา ทางอำเภอบ้านผือ ท่าบ่อ

    ในช่วงนี้เอง ทีแรกท่านจำเป็นต้องให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ พระอุปฌาย์ของท่านร่วมเดินทางไปด้วย แต่กระนั้นก็ตาม การสนทนาธรรมระหว่างท่านกับท่านเจ้าคุณก็มีไม่บ่อยนัก เพราะกลัวจะขาดการสืบต่อทางความเพียร จึงจำเป็นต้องได้เลี่ยงท่านเจ้าคุณอยู่เรื่อยๆ ส่วนท่านเจ้าคุณเองก็คงสังเกตเห็นได้ชัดเจน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณจึงได้กล่าวขึ้นมา

    "เธอเอ๊ย เรากลับไปแล้วเธอก็จะสบายหรอก เธอยุ่งเพราะเรา"

    ถึงตอนนี้ท่านเคยให้เหตุผลว่า ท่านไม่สะดวกจะอยู่ด้วยใครๆ ในเวลานั้นจริงๆ เพราะไม่อยากให้เสียเวลาขาดความเพียรเลย ท่านเจ้าคุณก็มีเรื่องจำเป็นต้องพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง เวลาพูดคุยทำให้ชะงักไปบ้างในทางความเพียร อีกประการหนึ่ง เมื่อท่านเจ้าคุณไปในที่ใดๆ คณะพระเณรฆราวาสลูกศิษย์ลูกหาก็มักมากราบมาเยี่ยมท่านอยู่ไม่ขาดสาย ดังนั้น เมื่อท่านเจ้าคุณจากท่านไป ความต่อเนื่องทางความเพียรจึงมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ความจำเป็นของครูอาจารย์

    ท่านกล่าวถึง อุบาย ที่ผุดขึ้นในกาย ในจิตของท่านที่ว่า "ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ"

    ในตอนนั้นท่านยังไม่เข้าใจความหมาย จึงได้แต่รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า หากท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ องค์ท่านจะสามารถแก้ปัญหานี้ให้ได้ทันที ดังนี้

    "...หากท่านอาจารย์มั่นยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ท่านจะแก้อุบายนี้ได้ทันที และจิตอวิชชาดวงสว่างไสวน่าอัศจรรย์นี้ก็จะต้องพังทลายขาดสะบั้นลงไปในตอนนี้เลยทีเดียว แต่เพราะด้วยขณะนั้นปัญญายังไม่ทันกับอุบายที่ผุดขึ้น จึงไม่สามารถพังทลายได้ มิหนำซ้ำยังติดยังยึดมันเข้าเสียอีกด้วย..."

    ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงพูดอย่างถึงใจอยู่เสมอว่า ครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงนั้นมีความจำเป็นอยู่ทุกระยะ ดังนี้

    "...ถ้าสมมติว่านำปัญหานี้มาเล่าถวาย ท่านอาจารย์มั่นตรงนี้ปั๊บ...ท่านจะใส่ผางมาทันที ทีนี้จะเข้าใจปุ๊บเดียว จุดนั้นก็พังทลายไปเลย นี่มันไม่เข้าใจ ปัญหาก็บอกชัดอยู่แล้ว นี่ซิถึงได้ว่าความจำเป็นมีอยู่ทุกระยะนา...

    เรื่องจิตนี่จึงสำคัญที่ครูที่อาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน ผู้ที่ท่านรู้แล้วไม่ต้องพูดมากเลย ท่านใส่ปั๊บเดียวได้ความ ใครจะมาสุ่มครอบทั้งหนองทั้งบึงไม่ได้ จะโยนยาใส่กันทั้งตู้ทั้งหีบมันไม่ได้

    เรื่องความจำเป็นกับครูอาจารย์ มันจำเป็นอย่างนี้ไม่ว่าขั้นไหนๆ ความก้าวหน้าของเรามันช้าผิดกัน ปัญหาบางอย่างแก้กันอยู่ 2 วัน 3 วันแก้กันยังไม่แตก...ไม่ตกมันก็ไม่ถอย จะต้องแก้ให้ตกจนได้ นี่ซิมันจะตาย เพราะคำว่าแพ้นั้นมีไม่ได้ ถ้าจะแพ้ให้ตายเสียดีกว่า นอกจากต้องทะลุโดยถ่ายเดียว ถ้าไม่ทะลุก็ต้องเจาะกันอยู่อย่างนั้นหมุนติ้วๆ อยู่นั้น..."
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    พบปราชญ์ กลางป่าเขา

    ราวปี 2493 ท่านได้ไปพักอยู่กับท่านอาจารย์หล้าในเขาลึกราวครึ่งเดือน ที่พักเป็นป่าเขา อาศัยอยู่กับชาวไร่ บิณฑบาตพอเป็นไปวันหนึ่งๆ เดินจากที่พักออกมาหมู่บ้าน กว่าจะพ้นจากป่าก็เป็นเวลา 3 ชั่วโมง 20 นาที ถึงหมู่บ้านก็ร่วม 4 ชั่วโมง

    ท่านได้มีโอกาสศึกษาเรียนถามธรรมกับท่านอาจารย์หล้า รู้สึกว่าซาบซึ้งจับใจท่านมาก ดังปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือ "ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน"

    "...ท่านอาจารย์หล้าอธิบานปัจจยาการคืออวิชชาได้ดี ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง เนื่องจากปัจจยาการหรืออวิชชาเป็นกิเลสประเภทละเอียดมาก ต้องเป็นวิสัยของปัญญา วิปัสสนาขั้นละเอียดเท่าๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบและถอดถอนตัวปัจจยาการคืออวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง..."

    ท่านอาจารย์หล้าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ ท่านไม่รู้หนังสือเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน นับแต่อุปสมบทแล้ว ท่านอยู่ที่ฝั่งไทยตลอดมาจนวันมรณภาพ เพราะทางฝั่งไทยมีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก

    ท่านอาจารย์หล้าเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่าน พระอาจารย์มั่นและท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบท ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา

    ท่านกล่าวถึงการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านอาจารย์หล้าไว้เช่นกันว่า "...ท่านอาจารย์หล้ามีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหนมักมีพวกนี้ไปอารักขา" อยู่เสมอ ท่านมีนิสัยมักน้อยสันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคมคือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวป่าชาวเขา เป็นปกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูงน่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสติปัญญารู้สึกว่า ท่านคล่องแคล่วมาก...

    ...เวลาท่านจะจากขันธ์ไป ก็ทราบว่าไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่านมาก เป็นกังวลไม่สบาย ขอตายอย่างเงียบแบบกรรมฐานตาย จึงเป็นความตายที่เต็มภูมิของพระปฏิบัติ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย..."
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ป่วยหนัก...รักษาด้วยธรรมโอสถ

    คราวหนึ่งท่านออกวิเวกโดยเดินธุดงค์ไปทางบ้านกะโหมโพนทอง ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอบ้านผือกับอำเภอท่าบ่อ ต่อเขตต่อแดนกัน มีแม่น้ำทอนเป็นเขตแดน ชาวบ้านหมู่บ้านกะโหมโพนทองจำนวนมากต่างพากันล้มป่วยด้วยโรคเจ็บขัดในหัวอก ดารดาษกันไปหมดเหมือนโรคอหิวาต์หรือฝีดาษ ถึงขนาดที่ว่าวันหนึ่งๆ เป็นกันตายกันวันละ 3-4 คนบ้าง 5 คนบ้าง บางวันก็มีถึง 7-8 คนบ้าง

    ท่านพักอยู่ในป่า เขาก็ไปนิมนต์ท่านมาสวด กุสลา มาติกา ให้คนตาย เพราะแถวนั้นไม่มีพระ วันทั้งวันเดี๋ยวมีคนนั้นตายแบกเข้ามาแล้ว สักพักเดี๋ยวแบกเข้ามาใหม่อีกแล้ว ท่านเลยจะไม่ได้หนีห่างจากป่าช้าเลย จนสุดท้ายโรคนี้ก็มาเป็นขึ้นกับตัวท่านเอง

    อาการของโรคเจ็บเหมือนกับเหล็กแหลมหลาวทิ่มแทงประสานกันเข้าไปในหัวอกในหัวใจ จะหายใจแรงก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าหากว่าจามด้วยแล้วแทบจะสลบไปในตอนนั้นเลยทีเดียว เมื่ออาการเกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ถ้าขืนเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่นานก็คงต้องตายอย่างแน่แท้ เพราะแม้แต่การหายใจก็จะไม่ได้ มันคับเข้าแน่นเข้าเรื่อยๆ หายใจแรงแทบไม่ได้เลย เมื่ออาการเช่นนี้ปรากฏขึ้น ท่านจึงบอกชาวบ้านว่าเป็นโรคแบบเดียวกันนี้แล้ว ต้องขอหลบตัว

    จากนั้นท่านก็เก็บตัวพักอยู่ที่ป่าไผ่ตีนภู แล้วจึงพิจารณาว่า "...คราวนี้เราจะไปตายเสียแล้วเหรอ ในเวลานี้เรายังไม่อยากไป เพราะในหัวใจถึงจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม แต่ก็รู้อยู่ว่าจิตนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระ ยังมีอะไรอยู่ในจิต หากว่าตายไปในตอนนี้ก็แน่ใจใน ภูมิของจิตภูมิของธรรม ว่า จะต้องไปเกิดในที่นั้นๆ ยังไงก็ต้องค้างอยู่ ยังไม่ถึงที่ เหล่านี้ทำให้วิตกวิจารณ์ว่า

    "ยังไม่อยากตาย"

    เพราะจิตยังจะค้างอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่งในความรู้สึกยังมีอาลัยอาวรณ์อยู่ แต่ไม่ใช่กับชีวิต เป็นความอาลัยอาวรณ์อยู่กับมรรคผลนิพพานที่ตนต้องการจะได้..."

    แต่ด้วยเหตุที่โรคมันบีบบังคับตลอดเวลา ทำให้ท่านต้องหมุนกลับมาพิจารณาย้อนหลังว่า

    "...ไม่อยากตายก็ต้องได้ตาย เมื่อถึงกาลมันแล้วห้ามไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคติธรรมดายุ่งไปทำไม เรื่องทุกขเวทนานี้ก็เคยผ่านเคยรบมาด้วยการนั่งหามรุ่งหามค่ำ นั่งตลอดรุ่ง

    แม้ทุกขเวทนามากแสนสาหัสก็เคยได้ต่อสู้จนได้ความอัศจรรย์มาแล้ว โรคนี้ก็เป็นทุกขเวทนาหน้าเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน จึงถอยไปไม่ได้..."

    มีชาวบ้านยกทั้งบ้านพากันไปเยี่ยม ท่านเป็นร้อยๆ ท่านก็ให้เขากลับหมด ไม่ให้ใครมายุ่งเลย จะเหลืออยู่ก็แต่ผู้เฒ่าคนหนึ่งเท่านั้น แกแอบซุ่มดูท่านอยู่ตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วงที่กอไผ่ในป่าใกล้ๆ กันนั้น โดยไม่ให้ท่านรู้ตัว ท่านตั้งใจจะขึ้นเวทีต่อกรกันกับทุกขเวทนาของโรคนี้ในคืนนี้ ชนิดจะให้ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงเป็นถึงตายเลยทีเดียว จากนั้นก็เข้าที่นั่งภาวนา โหมกำลังสติปัญญาหมุนเข้าพิจารณาทุกขเวทนาในจุดตรงกลางอกที่กำลังเจ็บเสียดแทงอยู่นี้ ท่านเล่าไว้ดังนี้

    "...พิจารณาทุกขเวทนาในหัวอกนี้ว่าเป็นยังไง เกิดขึ้นจากอะไร เสียดแทงอะไร เวทนาเป็นหอกเป็นหลาวเมื่อไรกัน มันก็เป็นทุกข์ธรรมดานี้เอง ทุกข์นี้เป็นสภาพอันหนึ่งเป็นของจริง...ค้นกันไปมาไม่ถอย เป็นตายไม่สนใจ สนใจแต่จะให้รู้ความจริงในวันนี้เท่านั้น

    พิจารณาดังนี้จนกระทั่งถึง 6 ทุ่มกว่า พอเต็มที่เห็นประจักษ์ เวลาถอนนี้ถอนอย่างประจักษ์เช่นเดียวกับทุกขเวทนา จากการนั่งตลอดรุ่ง จิตรอบด้วยปัญญา ทุกขเวทนาถอนแบบเดียวกัน ถอนออกจนโล่งหมดเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ ว่างไปหมดเลยเหมือนกับร่างกายไม่มี พักอยู่จนกระทั่งจิตมันพอตัวแล้วก็ยิบแย็บๆ ถอยออกมาๆ จิตก็ยังว่าง ร่างกายแม้จะมีอยู่ แต่ไม่มีเจ็บมีปวดมีเสียดแทงในหัวอกอย่างที่เป็นอยู่ จึงแน่ใจว่าไม่ตายแล้วทีนี้ โรคนี้หายแก้กันด้วยอริยสัจ

    พอหลังจากนั้นแล้วก็ลงเดินจงกรม เขาเรียกตะเกียงอะไร แก้วครอบเล็กๆ...ภาคอีสานเขาเรียกตะเกียงโป๊ะ...จุดไว้ข้างนอกมุ้งโน้น...ตั้งแต่ต่อสู้กันอยู่โน้นนะ จุดไว้แล้วก็เข้าที่ละ มองเห็นไฟอยู่นอกมุ้งโน้น ไม่ได้เอาเข้ามาในมุ้ง จากนั้นก็ลงเดินจงกรม โอ๋ย เดินก็ตัวปลิวไปเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ..."

    ท่านเดินจงกรมจนตลอดรุ่ง คืนนั้นท่านจึงไม่ได้นอนเลย เมื่อแสงอาทิตย์สว่างพอรำไร ผู้เฒ่าที่แอบอยู่ข้างกอไผ่ก็ปุบปับออกมาด้วยความดีใจ ท่านเห็นผู้เฒ่าจึงทักว่า

    "เอ้า โยมมาทำไมล่ะ ?"

    "โห ผมนอนอยู่นี้ ข้างกอไผ่นี่" แกว่า

    "เอ้า นอนทำไม ? ก็บอกให้ไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้"

    "โอ๊ย ผมไม่ไป ผมกลัวท่านจะตาย ผมคอยแอบอยู่นี้ ผมก็ไม่ได้นอนเหมือนกันทั้งคืน ไฟของท่านสว่างตลอดรุ่ง เห็นท่านมาเดินจงกรม ผมก็ดีใจบ้าง"

    การพิจารณาทุกขเวทนาจากการป่วยคราวนี้ ท่านเคยยกเอามาเป็นตัวอย่างสอนพระให้รู้หลักว่า

    "...เวลาพิจารณาแล้วแก้ถอนกัน มันก็ถอนให้เห็นชัดๆ นี่นะ...มันแก้กันได้ด้วยอริยสัจ ปัญญาพิจารณากองทุกข์ แยกแยะกันกับร่างกายของเราออกให้เห็นอย่างชัดเจน ดังที่เราเคยปฏิบัติมาในสมัยที่นั่งหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้ผิดกันเลย แต่เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสดๆ ร้อนๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่า เรื่องที่เคยเป็นมา มาปฏิบัติไม่ได้...เรื่องแก้กิเลส แก้อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แก้ทุกขเวทนานี้ มันต้องสดๆ ร้อนๆ...อย่าให้เกิดขึ้นมาด้วยการคาดการหมาย...มันถึงแก้สดๆ ร้อนๆ จริงๆ..."
     

แชร์หน้านี้

Loading...