ปฏิจจสมุปบาท (สายโซ่แห่งชีวิต)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NATdrp5995, 13 พฤศจิกายน 2023.

  1. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +134
    ปฏิจจสมุปบาท (สายโซ่แห่งชีวิต)


    ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งในบรรดาหลักสอนสำคัญของพระพุทธเจ้า



    อีกประการหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทมีความหมายเท่ากับธรรมทั้งหมดของพระพุทธองค์ มีพระพุทธพจน์ดังนี้ “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท”



    และจากวักกลิสูตร “ดูกรวักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม” เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้เห็น ได้เข้าใจ ซึ่งปฏิจจสมุปบาท เท่ากับย่อมได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงทบทวนมากสุด คือ ปฏิจจสมุปบาท ทรงพิจารณาอยู่นานถึง ๗ วัน ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสายเกิด (สมุทัยวาร) และสายดับ (นิโรธวาร)เมื่อทรงพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้เปล่งพระอุทานด้วยความเบิกบานพระหฤทัย เพราพทรงทราบตระหนักแน่ว่าทรงรู้ปฏิจจสมุปบาทอย่างทั่วถึงแล้ว



    ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่อาศัยกัยเกิดขึ้น เมื่อสิ่งใดดับลง ส่วนที่เหลือก็จะดับตาม อนึ่ง ท่านเปรียบปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นดังโซ่ที่มี ๑๒ ห่วง ที่ผูกมัดหรือคล้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ โดยที่หาจุดเบื้องต้น ท่ามกลาง และปลายสุดมิได้ แต่เมื่อมีข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ห่วงใดห่วงหนึ่งถูกทำลายลง ศักยภาพในการผูกมัดก็จะถูกทำลายไป โซ่นั้นก็ยังมีอยู่ ก็สักแต่ว่าเป็นโซ่ ผูกมัดอะไรไม่ได้ ชีวิตนี้ก็เป็นฉันนั้นถูกปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวาร ผูกรัดมัดตรึงไว้ มวลสัตว์ที่ไม่รู้แจ้งแทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท จึงต้องจมอยู่ในกองทุกข์ แต่พอทำลายห่วงแห่งปัจจยาการ (อีกชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท) อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน แล้ว ตัวโซ่ คือ ภวจักร และสังสารจักร ก็จะขาดสูญลงหมดอานุภาพในการคล้องสัตว์ไว้ในภพภูมิ




    ปฏิจจสมุปบาทนั้นมี ๒ สาย

    ๑.สายเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ เรียกว่า สมุทัยวาร

    อิมัสมิง สะติ อิทัง โหติ

    เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

    อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ

    เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

    ๒.สายดับไปแห่งกองทุกข์ เรียกว่า นิโรธวาร

    อิมัสมิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ

    เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

    อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌันติ

    เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

    อีกอย่างหนึ่ง อาจเรียกสายเกิดว่า มิจฉาปฏิปทา และอาจเรียกสายดับว่า สัมมาปฏิปทาได้แจกแจงปฏิจจสมุปบาทเป็น ๑๒ หัวข้อดังนี้


    ๑.สายเกิด (สมุทัยวาร) เป็นอนุโลมเทศนา

    เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

    เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

    เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

    เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

    เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

    เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

    โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงเกิดขึ้นพร้อม

    กองทุกข์ทั้งมวล จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้


    ๒.สายเกิด (สมุทัยวาร) เป็นปฏิโลมเทศนา

    โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้เกิดขึ้นพร้อมกับ

    ชรามรณะเกิดมี เพราะชาติเป็นปัจจัย

    ชาติเกิดมี เพราะภพเป็นปัจจัย

    ภพเกิดมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

    อุปาทานเกิดมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย

    ตัณหาเกิดมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย

    เวทนาเกิดมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

    ผัสสะเกิดมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

    สฬายตนะเกิดมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย

    นามรูปเกิดมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

    วิญญาณเกิดมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย

    สังขารเกิดมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย


    ๓.สายดับ (นิโรธวาร) เป็นปฏิโลมเทศนา

    เพราะอวิชชาสำรอกดับไม่เหลือ สังขารจึงดับ

    เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ

    เพราะวิญญาณดับไป นามรูปจึงดับ

    เพราะนามรูปดับไป สฬายตนะจึงดับ

    เพราะสฬายตนะดับไป ผัสสะจึงดับ

    เพราะผัสสะดับไป เวทนาจึงดับ

    เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจึงดับ

    เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจึงดับ

    เพราะอุปาทานดับไป ภพจึงดับ

    เพราะภพดับไป ชาติจึงดับ

    เพราะชาติดับไป ชรามรณะจึงดับ

    โสก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

    กองทุกข์ทั้งมวล ก็ดับลงด้วยระการฉะนี้


    ๔.สายดับ (นิโรธวาร) เป็น อนุโลมเทศนา

    โสก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้ดับลงพร้อมกับ

    ชรามรณะจึงดับไป เพราะชาติดับ

    ชาติจึงดับไป เพราะภพดับ

    ภพจึงดับไป เพราะอุปาทานดับ

    อุปาทานจึงดับไป เพราะตัณหาดับ

    ตัณหาจึงดับไป เพราะเวทนาดับ

    เวทนาจึงดับไป เพราะผัสสะดับ

    ผัสสะจึงดับไป เพราะสฬายตนะดับ

    สฬายตนะจึงดับไป เพราะนามรูปดับ

    นามรูปจึงดับไป เพราะวิญญาณดับ

    วิญญาณจึงดับไป เพราะสังขารดับ

    สังขารจึงดับไป เพราะอวิชชาดับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +134
    (ต่อ)


    ปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ ช่วงนั้น ไม่มีอะไรเป็นมูลการณ์ (the first cause) ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยของกันและกัน เปรียบเหมือนรถยนต์ทั้งคัน พอสตาร์ทรถ กลไกก็ทำงานพร้อมกัน พอดับเครื่องยนต์ ส่วนต่างๆก็ดับหมด



    การแสดงปฏิจจสมุปบาทองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีวิธีแสดงไว้ ๔ วิธี

    ๑)แสดงตั่งแต่ต้นไปหาปลาย เช่นทรงตรัสว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ..... เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี ฯลฯ

    ๒)แสดงท่ามกลางไปหาปลาย เช่นทรงตรัสว่า “เมื่อบุคคลยินดีอยู่ พร่ำรำพันอยู่ ดำรงอยู่ มีใจจดจำอยู่กับสุขเวทนา ความเพลิดเพลินย่อมเกิดขึ้น เมื่อความเพลิดเพลินเกิดขึ้น ตัณหาอุปาทานก็เกิดขึ้น ภพ ชาติ ชรามรณะ ก็เกิดตามมา ความเศร้าโศก รำพัน ความคับแค้นใจก็เกิดขึ้น”

    ๓)แสดงจากปลายสาวไปหาต้น เช่นทรงตรัสว่า “ชรามรณะมี เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ..... สังขารมี เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย”

    ๔)แสดงจากกลางสาวไปหาต้น เช่นทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้หลาย อาหาร ๔ นี้มีอะไรเป็นแดนเกิด เกิดจากอะไร อาหาร ๔ นี้มีตัณหาเป็นแดนเกิด เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดเพราะอาศัยเวทนา เวทนาเกิดเพราะอาศัยผัสสะ ผัสสะเกิดเพราะมีอายตนะ อายตนะเกิดเพราะมีนามรูป นามรูปเกิดเพราะมีวิญญาณ วิญญาณเกิดเพราะมีสังขาร สังขารเกิดเพราะมีอวิชชา”



    จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์แสดงปฏิจจสมุปบาทไม่ได้เริ่มที่อวิชชาเสมอไป จะทรงเริ่มต้นที่จุดใดสุดแล้วแต่เหตุการณ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสามารถจับเอาตอนใดตอนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาทมาแสดงธรรมโดยเอนกปริยายนั้นก็เพราะ ปฏิจจสมุปบาทนั้มีความวิเศษอยู่โดยรอบ และองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม สามารถแสดงข้อธรรมได้เหมาะสมกับ กาละ เทศะ และบุคคล เหตุเพราะองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงเวสารัชชญาณ ๔ และ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ทรงมุ่งผลต่อผู้ฟัง หรือผู้รับธรรมเป็นที่ตั้ง



    ปฏิจจสมุปบาทนั้นมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ หรือช่วง ดังนี้


    ๑.อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง หรือ ความไม่รู้ในสัจจธรรม ได้แก่

    อวิชชา ๘

    ๑)ความไม่รู้ทุกข์

    ๒)ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์

    ๓)ความไม่รู้ในความดับทุกข์

    ๔)ความไม่รู้ในทางแห่งความดับทุกข์

    ๕)ความไม่รู้ในส่วนอดีต

    ๖)ความไม่รู้ในส่วนอนาคต

    ๗)ความไม่รู้ทั้งส่วนในอดีต และอนาคต

    ๘)ความไม่รู้ในหลักธรรม อิทัปปัจจยตา (อีกชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท) ว่าธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิด


    ๒.สังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งขึ้น ได้แก่

    สังขาร ๓

    ๑)กายสังขาร คือ สภาพการปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ กายสัญเจตนา

    ๒)วจีสังขาร คือ สภาพการปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วจีสัญเจตนา

    ๓)จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร คือ สภาพการปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ มโนสัญเจตนา

    อภิสังขาร ๓

    ๑)ปุญญาภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งเป็นกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร และรูปาวจร

    ๒)อปุญญาภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย

    ๓)อาเนญชาภิสังขาร คือ สภาพปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร


    ๓.วิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ ได้แก่

    วิญญาณ ๖

    ๑)จักขุวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางตา

    ๒)โสตวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางหู

    ๓)ฆานวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางจมูก

    ๔)ชิวหาวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางลิ้น

    ๕)กายวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางกาย

    ๖)มโนวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางใจ


    ๔.นามรูป คือ นามธรรม และ รูปธรรม ได้แก่

    ๑)นามธรรม คือ สิ่งที่ไม่ใช่รูป รับรู้ได้ทางใจอย่างเดียว ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นัยแห่งพระอภิธรรมท่านหมายเอา เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์

    ๒)รูปขันธ์ คือ สิ่งที่มีรูป รับรู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และอุปทายรูป ๒๔ ทางพระอภิธรรมหมายเอา รูปขันธ์


    ๕.สฬายตนะ คือ อายตนะ (ที่ติดต่อ,ทางเชื่อมต่อ) ได้แก่ อายตนะภายในทั้ง ๖

    อัชฌัตติกายตนะ (อายตนะภายใน) ๖

    ๑)จักขายตนะ คือ แดนติดต่อทางตา

    ๒)โสตายตนะ คือ แดนติดต่อทางหู

    ๓)ฆานายตนะ คือ แดนติดต่อทางจมูก

    ๔)ชิวหายตนะ คือ แดนติดต่อทางลิ้น

    ๕)กายายตนะ คือ แดนติดต่อทางกาย

    ๖)มนายตนะ คือ แดนติดต่อทางใจ


    ๖.ผัสสะ คือ ความกระทบ , ความประจวบเหมาะระหว่าง อายตนะภายใน ๖ , อายตนะภายนอก ๖ และ วิญญาณ ๖

    ๑)จักขุสัมผัส คือ ความกระทบทางตา

    ตา + รูป + จักขุวิญญาณ

    ๒)โสตสัมผัส คือ ความกระทบทางหู

    หู + เสียง + โสตวิญญาณ

    ๓)ฆานสัมผัส คือ ความกระทบทางจมูก

    จมูก + กลิ่น + ฆานวิญญาณ

    ๔)ชิวหาสัมผัส คือ ความกระทบทางลิ้น

    ลิ้น + รส + ชิวหาวิญญาณ

    ๕)กายสัมผัส คือ ความกระทบทางกาย

    กาย + สัมผัสทางกาย + กายวิญญาณ

    ๖)มโนสัมผัส คือ ความกระทบทางใจ

    ใจ + ธรรมต่างๆ + มโนวิญญาณ


    ๗.เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ ได้แก่

    เวทนา ๓

    ๑)สุขเวทนา คือ ความสุขกาย (สุข) หรือ สุขใจ (โสมนัส)

    ๒)ทุกขเวทนา คือ ความทุกข์กาย (ทุกขะ) หรือ ทุกข์ใจ (โทมนัส)

    ๓)อทุกขมสุขเวทนา คือ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา)

    เวทนา ๖

    ๑)จักขุสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา

    ๒)โสตสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู

    ๓)ฆานสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก

    ๔)ชิวหาสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น

    ๕)กายสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย

    ๖)มโนสัมผัสชาเวทนา คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ


    ๘.ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ได้แก่

    ตัณหา ๖

    ๑)รูปตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในรูป

    ๒)สัททตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในเสียง

    ๓)คันธตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในกลิ่น

    ๔)รสตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในรส

    ๕)โผฏฐัพพตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในสัมผัสทางกาย

    ๖)ธัมมตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ในธรรมต่างๆ


    ๙.อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่

    อุปาทาน ๔

    กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นในกามคุณทั้ง ๕

    ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นในความเห็นผิด

    สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นในศีลและพรต

    อัตตะวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นในวาทะว่าเป็นตัวเป็นตน


    ๑๐.ภพ คือ ภาวะของการมีชีวิต ได้แก่

    ภพ ๓

    ๑)กามภพ คือ ภพที่ยังข้องอยู่ในกามคุณทั้ง ๕

    ๒)รูปภพ คือ ภพที่ยังข้องในรูปฌาน

    ๓)อรูปภพ คือ ภพที่ยังข้องอยู่ในอรูปฌาน

    อีกนัยหนึ่งหมายถึง

    ๑)กรรมภพ คือ เจตนาอันเป็นเครื่องกระทำกรรม ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร , อปุญญาภิสังขาร และ อาเนญชาภิสังขาร

    ๒)อุปัตติภพ คือ ผลของเจตนาที่เป็นโลกิยวิบากของกรรม ได้แก่

    ๒.๑- กามภพ , รูปภพ และ อรูปภพ

    ๒.๒- สัญญาภพ คือ ภพของผู้มีสัญญา , อสัญญาภพ คือ ภพของผู้ที่ไม่มีสัญญา และ เนวสัญญานาสัญญาภพ คือ ภพของผู้ที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

    ๒.๓- เอกโวการภพ คือ ภพของผู้มี ๑ ขันธ์ , จตุโวการภพ คือ ภพของผู้ที่ ๔ ขันธ์ และ ปัญจโวการภพ คือ ภพของผู้ที่มี ๕ ขันธ์


    ๑๑.ชาติ คือ การเกิด หรือ การปรากฏแห่งขันธ์ การได้อายตนะต่างๆ


    ๑๒.ชรามรณะ คือ ความแก่ หรือ ความเสื่อมทรุดโทรมแห่งอวัยวะต่างๆ , ความตาย ความสลายแห่งขันธ์ หรือ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์
     
  3. NATdrp5995

    NATdrp5995 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    42
    ค่าพลัง:
    +134
    (ต่อ)


    ความสัมพันธ์ของข้อธรรมทั้ง ๑๒ ข้อในปฏิจจสมุปบาท


    ๑)อัทธา ๓

    ๑- อตีตัทธา คือ กาลในอดีต ได้แก่ อวิชชา และ สังขาร

    ๒- ปัจจุปันนัทธา คือ กาลในปัจจุบัน ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ

    ๓- อนาคตัทธา คือ กาลในอนาคต ได้แก่ ชาติ ชรามรณะ


    ๒)อาการ ๒๐ คือ องค์ประกอบของแต่ละอย่าง ดุจกำของล้อ จำแนกตามเหตุผล

    ๑- อดีตเหตุ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

    ๒- ปัจจุบันผล ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

    ๓- ปัจจุบันเหตุ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

    ๔- อนาคตผล ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา


    ๓)สังเขป หรือ สังคหะ ๔ คือ ช่วง , หมวด , กลุ่ม ได้แก่

    ๑- อดีตเหตุ ได้แก่ อวิชชา สังขาร

    ๒- ปัจจุบันผล ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

    ๓- ปัจจุบันเหตุ ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ภพ

    ๔- อนาคตผล ได้แก่ ชาติ ชรามรณะ


    ๔)สนธิ ๓ คือ เงื่อน , ขั้วต่อ ระหว่างสังเขป

    ๑- ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล คือ สังขาร ต่อกับ วิญญาณ

    ๒- ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ คือ เวทนา ต่อกับ ตัณหา

    ๓- ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล คือ ภพ ต่อกับ ชาติ


    ๕)วัฏฏะ ๓ หรือ ไตรวัฏฏ์ คือ องค์ประกอบต่อเนื่องกันของ ภวจักร หรือ สังสารจักร ได้แก่

    ๑- กิเลสวัฏฏ์ คือ แรงผลักดันของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน

    ๒- กัมมวัฏฏ์ คือ การกระทำต่างๆที่มีเจตนา ได้แก่ สังขาร และ ภพ (เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมภพ)

    ๓- วิปากวัฏฏ์ คือ สภาพชีวิต หรือ ความเป็นไปอันเป็นผลของกรรม ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ภพ (เฉพาะส่วนที่เป็นอุปัตติภพ) ชาติ ชรามรณะ


    ๖)มูล ๒ คือ กิเลสเป็นมูลเหตุ เป็นจุดเริ่มตันในวงจรแต่ละช่วง

    ๑- อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในอดีต ส่งผลถึง เวทนา ในปัจจุบัน (อดีตเหตุ -> ปัจจุบันผล)

    ๒- ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นของปัจจุบัน ส่งผลถึง ชรามรณะ ในอนาคต (ปัจจุบันเหตุ -> อนาคตผล)



    การทำลายโซ่แห่งชีวิต หรือ ปฏิจจสมุปบาท จุดที่ควรทำลาย คือส่วนของกิเลส อันประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใน ๓ ข้อนี้ ข้อที่ควรทำลายก่อน คือ ตัณหา เมื่อตัณหาน้อยลง อุปาทานก็จะน้อยลงตาม อวิชชา คือความเขลา หรือความไม่รู้ ก็จะค่อยๆทุเลาเบาบางลง


    การจะลดตัณหาโดยไม่ใช้หลักธรรมภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ใช้แต่หัวข้อที่มีในปฏิจจสมุปบาท ต้องไปพิจารณาที่ ผัสสะ โดยการสำรวมอินทรีย์ (อินทรีย์สังวร) เช่น เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ เมื่อระวังผัสสะ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดเวทนา เมื่อเวทนาดับ ตัณหาอันเป็นดังกำแพงกั้นแสงสว่างย่อมดับตาม เมื่อนั้นวิชชาย่อมบังเกิด เมื่อแสงสว่างจากวิชชาเกิดมี ความมืด คือ อวิชชา ย่อมมลายหายไป เมื่ออวิชชาดับไป สังขารย่อมดับตาม สังขารดับไป วิญญาณย่อมดับตาม ..... เมื่อชาติดับไป ชรามรณะย่อมดับตาม ความดับสิ้นเชื้อแห่งกองทุกข์ทั้งมวลมีด้วยประการฉะนี้



    สุดท้ายนี้หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้อะไรไปบ้างไม่มากก็น้อย ขอคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านที่เข้ามาอ่าน ประสบความสุขความเจริญ มีความคล่องตัวทั้งทางโลก และทางธรรมเทอญ


    ที่มาจาก หนังสือ หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา โดย อ.วศิน อินทสระ

    และจากเว็ป https://84000.org/tipitaka/dic
     

แชร์หน้านี้

Loading...