บทความให้กำลังใจ(ปล่อยวางชีวิตเก่า)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    อันที่จริงถ้ามองให้กว้างกว่าการทำบุญ ก็จะพบปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกัน นั่นคือคนไทยนิยมทำดีกับคนที่ถือว่าอยู่สูงกว่าตน แต่ไม่สนใจที่จะทำดีกับคนที่ถือว่าต่ำกว่าตน เช่น ทำดี กับเจ้านาย คนรวย ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลเดียวกันคือคนเหล่านั้นให้ประโยชน์แก่เราได้ (หรือแม้เขาจะให้คุณได้ไม่มาก แต่ก็สามารถให้โทษได้ ) ประโยชน์ในที่นี้ไม่จำต้องเป็นประโยชน์ทางวัตถุ อาจเป็นประโยชน์ทางจิตใจก็ได้ เช่น คำสรรเสริญ หรือการให้ความยอมรับ ประการหลังคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยขวนขวายช่วยเหลือฝรั่งที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ แต่กลับเมินเฉยหากคนที่เดือดร้อนนั้นเป็นพม่า มอญลาว เขมร หรือกะเหรี่ยง ใช่หรือไม่ว่าคำชื่นชมของพม่าหรือกะเหรี่ยงความหมายกับเราน้อยกว่าคำสรรเสริญของฝรั่ง

    บุคคลจะได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ ไม่ใช่เพราะนิยมทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตนเท่านั้น หากยังยินดีที่จะทำบุญกับสิ่งที่เสมอกับตนหรืออยู่ต่ำกว่าตนอีกด้วย แม้เขาจะไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่ตนได้ ก็ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้เพราะมิได้หวังผลประโยชน์ใด ๆ นอกจากความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ นี้คือกรุณาที่แท้ในพุทธศาสนา การทำดีโดยหวังผลประโยชน์ หรือยังมีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติอยู่ ย่อมไม่อาจเรียกว่าทำด้วยเมตตากรุณาอย่างแท้จริง

    จะว่าไปแล้ว ไม่เพียงความใจบุญหรือความเป็นพุทธเท่านั้น แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ก็วัดกันที่ว่า เราปฏิบัติอย่างไรกับคนที่อยู่ต่ำกว่าเราหรือมีอำนาจน้อยกว่าเรา หาได้วัดที่การกระทำต่อคนที่อยู่สูงกว่าเราไม่ ถ้าเรายังละเลยเด็กเล็ก ผู้หญิง คนชรา คนยากจน คนพิการ คนป่วย รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อย แม้จะเข้าวัดเป็นประจำ บริจาคเงินให้วัด อุปถัมภ์พระสงฆ์มากมาย ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นคนใจบุญ เป็นชาวพุทธ หรือเป็นมนุษย์ที่แท้ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่านี้เป็นเครื่องวัดความเป็นศาสนิกที่แท้ในทุกศาสนาด้วย แม้จะปฏิบัติตามประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เมินเฉยความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ หรือยิ่งกว่านั้นคือกดขี่บีฑาผู้คนในนามของพระเจ้า ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นศาสนิกที่แท้ จะกล่าวไปใยถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

    ในแง่ของชาวพุทธ การช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่เราได้ เป็นเครื่องฝึกใจให้มีเมตตากรุณา และลดละความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี ยิ่งทำมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งเปิดกว้าง อัตตาก็ยิ่งเล็กลง ทำให้มีที่ว่างเปิดรับความสุขได้มากขึ้น ยิ่งให้ความสุขแก่เขามากเท่าไร เราเองก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น สมดังพุทธพจน์ว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เป็นความสุขที่ไม่หวังจะได้รับ แต่ยิ่งไม่อยาก ก็ยิ่งได้ ในทางตรงข้ามยิ่งอยาก ก็ยิ่งไม่ได้

    เมื่อใจเปิดกว้างด้วยเมตตากรุณา เราจะพบว่าไม่มีใครที่อยู่สูงกว่าเราหรือต่ำกว่าเรา ถึงจะเป็นพม่า มอญ ลาว เขมร กะเหรี่ยง ลัวะ ขมุ เขาก็มีสถานะเสมอเรา คือเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา แม้แต่สัตว์ก็เป็นเพื่อนเราเช่นกัน จิตใจเช่นนี้คือจิตใจของชาวพุทธ และเป็นที่สถิตของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง การทะนุบำรุงพุทธศาสนาที่แท้ ก็คือการบำรุงหล่อเลี้ยงจิตใจเช่นนี้ให้เจริญงอกงามในตัวเรา ในลูกหลานของเรา และในสังคมของเรา หาใช่การทุ่มเงินสร้างโบสถ์วิหารราคาแพง ๆ หรือสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่โตที่สุดในโลกไม่

    ดังนั้นเมื่อใดที่เราเห็นคนทุกข์ยาก ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เชื้อชาติอะไร ต่ำต้อยเพียงใด อย่าได้เบือนหน้าหนี ขอให้เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของเขา แล้วถามตัวเองว่าเราจะช่วยเขาได้หรือไม่ และอย่างไร เพราะนี้คือโอกาสดีที่เราจะได้ทำบุญ ลดละอัตตาตัวตน และบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/matichon255203.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    lifeofbuddha101.jpg
    ไม้ขีดไฟในมือคุณ

    พระไพศาล วิสาโล
    วันนี้ความโกรธเกลียดกำลังอบอวลแผ่ซ่านไปทั่ว พร้อมจะประทุเป็นผรุสวาททันทีที่มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องการเมือง เพียงแค่ได้ฟังข่าวสารบ้านเมืองอารมณ์ก็ขุ่นมัว หลายเดือนมานี้หลายคนพบว่าตนตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมกับความโกรธ ครุ่นคิดถึงฝ่ายตรงข้ามเมื่อใดก็อยากเห็นมันพินาศวายวอดเมื่อนั้น คราใดที่คนเหล่านี้มาเผชิญหน้ากัน บรรยากาศก็พลันเขม็งเกลียว

    เมืองไทยวันนี้กำลังร้อนระอุและปริร้าวเพราะการแบ่งฝ่ายแยกขั้วกันอย่างชัดเจน ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันอย่างรุนแรง ถึงขั้นด่าว่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในยามที่บ้านเมืองปกติ การกระทำดังกล่าวมักจำกัดวงอยู่ในกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่อยู่ชายขอบของสังคม ใครที่ทำเช่นนั้นมักเป็นที่รังเกียจ และไม่มีผู้ใดอยากคบค้าสมาคมด้วย แต่ปัจจุบันวิธีการเช่นนี้กลับได้รับความนิยม แต่ละฝ่ายต่างสรรหาถ้อยคำรุนแรงมาว่ากล่าวกัน ราวประชันขันแข่งกันว่าใครจะแรงกว่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่ายิ่งพูดแรงเท่าไร ก็ยิ่งได้ผล เพราะนอกจากสะใจผู้พูดและเรียกเสียงเชียร์จากผู้สนับสนุนแล้ว ยังเป็นการลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญยังเป็นการปรามผู้ที่อยู่กลาง ๆ ไม่ให้วิพากษ์พวกตนเพราะกลัวถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรง ผลก็คือมีแต่เสียงด่าของสองฝ่ายเท่านั้นที่ดังระงมตามสื่อต่าง ๆ ส่วนคนอื่นซึ่งไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายกลับแผ่วเสียงลงไปทุกที ขณะที่จำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกข้าง เพราะเห็นอีกฝ่ายเลวร้ายตามข้อกล่าวหา หรือไม่ก็เพราะกลัวว่าจะถูกตีตราแขวนป้ายเหมือนคนอื่น ๆ

    การกระตุ้นเร้าให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดอีกฝ่าย เป็นวิธีการที่ทุกฝ่ายนำมาใช้อย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างภาพอีกฝ่ายว่าเลวร้ายอย่างมิอาจให้อภัยได้ และเป็นที่มาแห่งความเลวร้ายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้น(และจะเกิดขึ้น)กับประเทศชาติ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายพยายามปลุกเร้ามิใช่ความโกรธและความเกลียดเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้นคือความกลัว

    ความกลัวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นพลังที่มักถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ นักการเมืองที่กระตุ้นให้ผู้คนตื่นกลัว (เช่นปลุกผีคอมมิวนิสต์ หรือขู่ว่าจะมีการก่อการร้าย)จึงมักได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อใดที่ประชาชนถูกปลุกเร้าให้เกิดความกลัว ก็พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อหนีห่างจากภัยคุกคาม (เช่น สละสิทธิเสรีภาพบางอย่าง) และหากจวนตัวก็พร้อมจะสู้ยิบตาเพื่อกำจัดภัยนั้นให้สิ้นซาก ความกลัวนั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเกลียดและก้าวร้าวรุนแรงได้อย่างนึกไม่ถึง ดังชาวเยอรมันที่กลัวและเกลียดชาวยิวถึงขั้นล้างเผ่าพันธุ์ หรือประชาชนที่กลัวคอมมิวนิสต์ครองเมืองจนถึงกับลงมือสังหารนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง

    ความกลัวนั้นกระตุ้นให้ร่างกายทำงานและมีปฏิกิริยาออกไปทันทีโดยไม่ต้องคิด วิธีนี้ช่วยให้เราเอาตัวรอดได้อย่างฉับพลันหากเจอสัตว์ร้ายหรือรถยนต์พุ่งชน แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่แบ่งฝ่ายแยกขั้ว ความกลัวกลับทำให้ผู้คนตื่นตระหนกและไร้เหตุผลหรือขาดวิจารณญาณ ดังนั้นจึงเชื่อคำกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามอย่างง่ายดาย อคติอันเนื่องจากความกลัว หรือภยาคตินั้น สามารถปรุงแต่งให้เราเห็นเชือกเป็นงู เห็นหมูเป็นช้าง และเห็นกวางเป็นเสือไปได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ความผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามแม้เพียงเล็กน้อยสามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ทันที เมื่อผู้คนเกิดภยาคติขึ้นมา (ในขณะที่พวกเดียวกันแม้ผิดพลาดแค่ไหนก็ยอมรับได้เพราะอำนาจของฉันทาคติหรืออคติเพราะชอบ)

    เมืองไทยกำลังเต็มไปด้วยความกลัว เราไม่ได้กลัวว่าเศรษฐกิจจะวิกฤตเท่านั้น แต่ยังถูกปลุกให้กลัวว่าสถาบันกษัตริย์กำลังถูกคุกคาม พุทธศาสนากำลังถูกกลืน ราชาธิปไตยกำลังกลับมา ทุนสามานย์กำลังทำให้สิ้นชาติ ควบคู่กับการปลุกเร้าภยาคติ ก็คือการตีตราแขวนป้ายให้แก่คนที่เห็นต่างจากคน หรืออยู่คนละกลุ่มว่า เป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน หรือเป็นพวกเผด็จการสนับสนุนรัฐประหาร ฯลฯ ต่างฝ่ายต่างผลิตวาทกรรมและสรรหาหลักฐานต่าง ๆ เพื่อโจมตีใส่ร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ไม่เพียงปลุกเร้าความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้คนเท่านั้น มองให้ลึกลงไปพฤติกรรมดังกล่าวยังสะท้อนถึงความกลัวที่อยู่เบื้องหลังแกนนำของแต่ละกลุ่ม ใช่หรือไม่ว่าเขาเหล่านั้นพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มอีกฝ่าย เพราะกลัวว่าหากฝ่ายตรงข้าม “ชนะ” พวกตนก็จะต้องเดือดร้อน ถูกดำเนินคดี ริบทรัพย์ ติดคุก หรือสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ถึงที่สุดแล้วยิ่งปลุกเร้าให้ประชาชนตื่นกลัว ความกลัวก็กลับเพิ่มพูนขึ้นในใจของผู้ที่ปลุกเร้า ไม่ใช่เพียงเพราะว่ายิ่งสร้างภาพอีกฝ่ายให้เลวร้ายเท่าไร ตนเองก็ยิ่งเชื่อภาพที่สร้างขึ้นมากเท่านั้น หากยังเป็นเพราะว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้อีกฝ่ายตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรงและโกรธเกรี้ยวยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งเล่นงานตรงจุดอ่อนหนักมือขึ้น พูดอีกอย่างคือยิ่งวาดภาพให้เขาเลวร้ายมากเท่าไร เขาก็ยิ่งเลวร้ายอย่างที่วาดภาพเอาไว้มากเท่านั้น

    เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างเป็นผลผลิตของกันและกัน ยิ่งกล่าวหาเขา ก็ยิ่งผลักให้เขาเป็นศัตรูและมีจุดยืนที่สุดโต่งมากขึ้น เมื่อสามีถูกภรรยาด่าว่าอย่างรุนแรงเพราะไปมีเมียน้อย เขาย่อมปกป้องตนเอง ทีแรกก็อาจกล่าวโทษว่าภรรยาเป็นเหตุ (เช่น เอาแต่ทำงาน ไม่สนใจดูแลสามี) แต่หากภรรยาต่อว่าไม่หยุด สามีก็จะเริ่มกล่าวหาภรรยาว่า ไม่ได้ดีไปกว่าเขาเท่าไร ทีนี้ก็จะขุดคุ้ยความไม่ดีของภรรยาออกมา ครั้นภรรยาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง สามีไม่เพียงแต่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนการนอกใจของตนเท่านั้น แต่อาจตะแบงไปถึงขั้นยืนกรานหน้าตาเฉยว่า “มีเมียน้อยผิดตรงไหน?” ถึงตรงนี้ต่างฝ่ายต่างอยู่ไกลเกินกว่าจะคุยกันให้รู้เรื่องได้ ไม่มีใครฟังเหตุผลกันแล้ว มุ่งมั่นแต่จะเอาชนะอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะสามัญสำนึกไม่ทำงานแล้ว

    ใช่หรือไม่ว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่นี้ สามัญสำนึกกำลังเหลือน้อยลง เพราะความกลัว โกรธ เกลียด กำลังครองใจ ผู้คนไม่เพียงเชื่อคำใส่ร้ายป้ายสีของแต่ละฝ่ายอย่างง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือสนใจภูมิหลังของเขาอีกต่อไป หากยังไม่สนใจด้วยว่าการเผชิญหน้ากันด้วยความโกรธเกลียดและหวาดกลัวนั้นจะนำไปสู่อะไร ต่างฝ่ายต่างปรารถนาที่จะหาญหักใส่กัน ด้วยความเชื่อว่าความรุนแรงเท่านั้นเป็นคำตอบ ไม่มีใครสนใจว่าหากฟาดฟันกันให้ยับเยินไปข้างหนึ่งแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ขอเพียงแต่ฉันได้รับชัยชนะก็พอแล้ว

    ปัญหาอันสลับซับซ้อนของประเทศเวลานี้ถูกลดทอนให้กลายเป็นเรื่องตัวบุคคล ทางออกของบ้านเมืองจึงเหลือเพียงว่า จะเอาหรือไม่เอาทักษิณ(กับพวก) ต่างฝ่ายพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป้าประสงค์ของตนบรรลุผล โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรต่อบ้านเมือง พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าทั้งสองฝ่ายไม่คำนึงถึงส่วนรวม ความจริงแล้วแต่ละฝ่ายล้วนเห็นแก่บ้านเมือง แต่เมื่อเข้าไปในวังวนแห่งความขัดแย้ง มีการกระทบกระทั่งกันรุนแรงขึ้น ความโกรธเกลียดและความกลัวที่ผุดขึ้นมาก็เปิดช่องให้อัตตาขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือจิตใจ ยิ่งเผชิญหน้ากัน ก็ยิ่งดึงเอาด้านมืดของแต่ละฝ่ายออกมา สำนึกต่อส่วนรวมเลือนหายไป สิ่งที่มาแทนที่คือความหวงแหนในผลประโยชน์ (ตัณหา) ความสำคัญตนว่าเหนือกว่า (มานะ) และความใจแคบเพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตน(ทิฏฐิ) ทั้งหมดนี้ทำให้ความขัดแย้งกันกลายเป็นเรื่องแพ้-ชนะส่วนบุคคล เพื่อ “ตัวกู ของกู” ยิ่งกว่าเพื่อบ้านเมือง

    ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตราบใดที่ไม่ลุกลามไปเป็นการเผชิญหน้าด้วยความมุ่งร้ายต่อกัน หากถึงจุดนั้นเมื่อไร ก็ไม่ยากที่จะเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเลือดตกยางออกและผลักบ้านเมืองสู่วิกฤต สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้ก็คือไม่ช่วยโหมกระพือให้ความขัดแย้งขยายตัวไปถึงจุดนั้น จะทำเช่นนั้นได้ต้องตั้งสติให้มั่น รับฟังอย่างมีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะพูดถูกใจหรือเพราะผู้พูดเป็นพวกเดียวกับตน รู้เท่าทันความโกรธ เกลียด และกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อรับฟังข่าวสารบ้านเมืองหรือได้ยินคำกล่าวหาของแต่ละฝ่าย ขณะเดียวกันก็เปิดใจให้กว้าง ยึดถือ “ความถูกต้อง” ยิ่งกว่า “ความถูกใจ”

    ในยามที่บ้านเมืองกำลังถลำสู่วังวนแห่งความคลั่งไคล้ไร้สติ การดำรงสติให้มั่นเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของเรา สติของเราแต่ละคนสามารถแผ่ขยายไปยังคนรอบตัว และเรียกสติของเขาให้กลับคืนมาจนรวมกันเป็น “สติมหาชน”ได้ ในยามที่สามัญสำนึกกำลังเลือนหายไปจากสังคม หน้าที่ของเราคือเรียกสามัญสำนึกให้กลับคืนมา ให้ผู้คนตระหนักว่าความรุนแรงนั้นนำความพ่ายแพ้มาสู่ทุกฝ่าย และถึงจะมีใครได้ชัยชนะก็เป็นชัยชนะชั่วครู่ชั่วยาม และไม่คุ้มค่ากับความย่อยยับของบ้านเมืองตลอดจนชีวิตที่ต้องสูญสิ้นไป มีใครบ้างที่อยากเห็นลูกหลานของตนเติบโตในสภาพเช่นนี้

    เรายังสามารถเรียกสติและสามัญสำนึกของผู้คนให้กลับคืนมา ด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสาดโคลนหรือใส่ร้ายป้ายสีกัน ใช้เหตุผลยิ่งกว่าอารมณ์ ยึดมั่นในสันติวิธีและกติกาของผู้เจริญ หากจะโต้เถียงหรือทะเลาะกัน ก็ให้กระทำอย่างอารยชน จริงอยู่ผู้นำของแต่ละฝ่ายอาจไม่ฟังเสียงทักท้วงดังกล่าว ในกรณีเช่นนั้นก็สมควรที่เราจะไม่ฟังและไม่ใส่ใจกับคำพูดของคนเหล่านั้นตราบใดที่ยังมุ่งกระตุ้นเร้าความโกรธ เกลียด และกลัว อย่างไร้เหตุผล

    อย่างไรก็ตามนอกจากวิธีการเฉยเมยและไม่รวมกระโจนเข้าไปในความขัดแย้งที่มีลักษณะเผชิญหน้ากันแล้ว เราควรเสนอทางออกเพื่อเป็นทางเลือกที่สามในประเด็นที่มีความขัดแย้งระหว่างทางสุดโต่งสองทาง ทางเลือกที่สามมีความสำคัญเพราะจะเป็นช่องทางสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทางสุดโต่งทั้งสอง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีอยู่ไม่น้อย อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณไปยังทุกฝ่ายในสังคมว่าแท้ที่จริงแล้วทางสุดโต่งทั้งสองนั้นเป็นที่นิยมจริงหรือไม่ ในปัจจุบันประเด็นที่มีความขัดแย้งอย่างมากคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้ผู้คนดูเหมือนจะมีทางเลือกแค่สองทางคือ ๑)ไม่แก้ไขเลยแม้แต่มาตราเดียว กับ ๒) แก้ไขด้วยวิธีรวบรัดโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภา ทั้งสองวิธีมีแต่นำไปสู่การเผชิญหน้ากัน แท้จริงแล้วยังมีทางเลือกที่สามซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะมีใครเสนอได้อย่างมีน้ำหนักหรือไม่ และสื่อสารถึงผู้คนได้กว้างขวางเพียงใด

    วันนี้ความโกรธเกลียดและกลัวกำลังอบอวลแผ่ซ่านไปทั่ว พร้อมจะระเบิดเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ไม่ต่างจากบรรยากาศที่อบอวลด้วยไอน้ำมัน ขอเพียงแต่มีผู้จุดไฟพร้อมกันหลาย ๆคน บัดนี้ไม้ขีดไฟอยู่ในมือทุกคนแล้ว อยู่ที่ว่าจะมีใครจุดหรือไม่ บ้านเมืองจะผ่านพ้นวิกฤตหรือไม่เป็นความรับผิดชอบของทุกคน มิใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ถ้าคุณอยากให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและจัดการความขัดแย้งได้อย่างสันติ อย่างแรกที่ต้องทำคือโยนไม้ขีดไฟทิ้ง หรือไม่ก็ดับประกายไฟเสีย ประกายไฟนั้นมิได้อยู่ที่ไหน หากอยู่ในใจคุณนั่นเอง

    :- https://visalo.org/article/matichon255105.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddhaparinippan.jpg
    นาทีทองของชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    ความตายไม่ว่าจะน่ากลัวอย่างไรในสายตาของคนทั่วไป ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย ความตายหากวัดที่การหมดลมหรือหัวใจหยุดเต้น ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ความกลัวตายนั้นสามารถหลอกหลอนคุกคามผู้คนนานนับปีหรือยิ่งกว่านั้น ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น จึงมีภาษิตว่า “คนกล้าตายครั้งเดียว แต่คนขลาดตายหลายครั้ง” ความกลัวตายยังน่ากลัวตรงที่เป็นแรงผลักดันให้เราพยายามผลักไสความตายออกไปให้ไกลที่สุด จนแม้แต่จะคิดถึง เรียนรู้ หรือทำความรู้จักกับมัน ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะเห็นความทุกข์เป็นศัตรู ยิ่งเมื่อความตายมาอยู่ต่อหน้า แทนที่จะยอมรับ กลับปฏิเสธผลักไสสุดแรง แต่เมื่อไม่สมหวังก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งผลักไส ยิ่งผลักไสก็ยิ่งผิดหวัง ผลคือความทุกข์เพิ่มพูนเป็นทวีตรีคูณ หารู้ไม่ว่าหากยอมรับความตาย ความทุกข์ก็จะน้อยลงไปมาก บางคนที่รู้ว่าเครื่องบินกำลังตก รถกำลังพุ่งชนคันหน้า ในชั่วไม่กี่วินาทีที่เหลืออยู่ ทำใจพร้อมรับความตายโดยดุษณี ไม่คิดต่อสู้ขัดขืน ปล่อยวางทุกอย่าง กลับพบว่าจิตใจนิ่งสงบอย่างยิ่ง

    คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ กล่าวคือ ความตายนอกจากจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด และทำให้เราพลัดพรากไปตลอดกาลจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักแล้ว ความตายยังหมายถึงการสิ้นสุดโอกาสที่จะได้เสพสุข ในยุคบริโภคนิยมซึ่งถือว่าการเสพสุขเป็นสุดยอดปรารถนาของชีวิต อย่าว่าแต่การหมดโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้นเลย แม้เพียงการไม่สามารถที่จะเสพสุขอย่างเต็มที่ จะเป็นเพราะความชรา ความเจ็บป่วย ความพิการ หรือความผันแปรของร่างกาย (เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) ก็ตาม ถือว่าเป็นทุกข์มหันต์อันยากจะทำใจได้

    อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คนที่ไร้ญาติขาดมิตร ยากจนแสนเข็ญ และกำลังประสบทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าเพราะป่วยหนักในระยะสุดท้าย จำนวนมากก็ยังกลัวตาย ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นโอกาสเสพสุขแทบจะไม่มีเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังมีความหวังว่าจะหายป่วยและกลับไปเสพสุขใหม่ แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะยังมีความหวงแหนในชีวิต แม้สิ้นไร้ไม้ตอกเพียงใดก็ยังมีชีวิตเป็นสมบัติสุดท้ายที่อยากยึดเอาไว้อยู่

    มองให้ลึกกว่านั้นก็คือยังมีความยึดติดในตัวตน แม้ไม่มีอะไรหลงเหลือในชีวิต แต่ก็ยังมีตัวตนให้ยึดถือ หากตัวตนดับสูญเสียแล้ว จะมีอะไรทุกข์ไปกว่านี้ ในอดีตอิทธิพลทางศาสนาทำให้ผู้คนเชื่อว่าแม้หมดลมแล้ว ตัวตนก็ยังไม่ดับสูญ หากยังสืบต่อในโลกหน้า หรือมีสวรรค์เป็นที่รองรับ จึงไม่หวาดกลัวความตายมากนัก ตรงข้ามกับคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ค่อยเชื่อในโลกหน้าหรือชีวิตหน้าแล้ว ความตายจึงหมายถึงการดับสูญของตัวตนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีอะไรอยู่หลังความตาย ความตายก็ยังน่ากลัวอยู่นั่นเอง เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน อะไรที่เราไม่รู้ ดำมืด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่เสมอ

    ตราบใดที่ความตายเป็นสิ่งลี้ลับแปลกหน้า มันย่อมน่ากลัวสำหรับเรา แต่เมื่อใดที่เราคุ้นชินกับความตาย มันก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายก็เช่นกัน การเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุดคือ การทำใจให้คุ้นชินกับมันเป็นเบื้องแรก เพื่อมิให้มันเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราอีกต่อไป เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือเจริญ “มรณสติ” อยู่เป็นประจำ

    การเจริญมรณสติคือการระลึกหรือเตือนตนว่า ๑) เราต้องตายอย่างแน่นอน ๒) ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า ๓) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง ๔)หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

    ข้อ ๑) และ ๒) คือความจริงหรือเป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนต้านทานได้ ส่วนข้อ ๓) และ ๔) คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราโดยตรง

    การระลึกหรือเตือนใจเพียง ๒ ข้อแรกว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน และจะตายเมื่อไรก็ได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า เพราะเตรียมใจไว้แล้ว แต่ทันทีที่เราตระหนักว่าความตายจะทำให้เราพลัดพรากจากทุกสิ่งที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง ในชั่วขณะนั้นเองหากเราระลึกขึ้นมาได้ว่ามีบางสิ่งบางคนที่เรายังห่วงอยู่ มีงานบางอย่างที่เรายังทำไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจที่ยังไม่ได้สะสาง ย่อมเป็นการยากที่เราจะก้าวเข้าหาความตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน ยิ่งความตายมาพร้อมกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า หากไม่ได้ฝึกใจไว้เลยในเรื่องนี้ ก็จะทุรนทุรายกระสับกระส่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ไหนจะห่วงหาอาลัยหรือคับข้องใจสุดประมาณ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างมาก
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ด้วยเหตุนี้ลำพังการระลึกถึงความตายว่าจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว จึงยังไม่เพียงพอ ควรที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า เราพร้อมจะตายมากน้อยแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับเวลาและชีวิตที่ยังเหลืออยู่ การพิจารณา ๒ ประเด็นหลังนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวางบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่ยังยึดติดอยู่

    การเจริญมรณสติรวมทั้งการฝึกตาย หากทำอย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร จะมีผลดีต่อจิตใจมากเท่านั้น วิธีที่จะทำให้การฝึกตายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอก็คือการทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนะวิธีการการฝึกตายที่กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต นั่นคือ “ตายก่อนตาย” หมายถึงฝึกการตายจากกิเลส หรือตายจากการยึดมั่นในตัวตน คือทำให้ตัวตนตายไปก่อนที่จะหมดลม

    ตัวตนนั้นมิได้มีอยู่จริง หากเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตนแล้ว ก็จะเกิดการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ตามมาว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่พึงปรารถนา แม้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ยังอดยึดไม่ได้ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ด้วยเหมือนกัน เช่น ความโกรธ(ของกู) ความเกลียด(ของกู) ศัตรู(ของกู) ความยึดมั่นในตัวกูของกูนี้เองที่ทำให้เรากลัวความตายเป็นอย่างยิ่งเพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากสูญเสียไปจากสิ่งทั้งปวง และสิ่งที่เรากลัวที่สุดคือพลัดพรากจากตัวตนหรือการดับสูญของตัวตน

    เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะจะไม่มีความพลัดพรากสูญเสียใด ๆ เลยในเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ที่สำคัญที่สุดคือไม่มี “เรา”ตาย เพราะตัวเราไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเหตุนี้การฝึกใจให้ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนจึงเป็นวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด

    ท่านอาจารย์พุทธทาสได้แนะนำวิธีปฏิบัติหลายประการเพื่อการละวางตัวตน วิธีหนึ่งก็คือฝึก “ความดับไม่เหลือ” กล่าวคือทุกเช้าหรือก่อนนอนให้สำรวมจิตเป็นสมาธิ แล้วพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราหรือของเราแม้แต่สักอย่างเดียว รวมทั้งพิจารณาว่าการ “เกิด”เป็นอะไรไม่ว่าเป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นคนดี เป็นคนชั่ว เป็นคนสวย เป็นคนขี้เหร่ ก็ล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น “เกิด”ในที่นี้ท่านเน้นที่ความสำคัญมั่นหมายหรือติดยึดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อเห็นแล้วให้ละวางความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิด “ตัวกู”ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (แต่การทำหน้าที่ตามสถานะหรือบทบาทดังกล่าวก็ยังทำต่อไป) เป็นการน้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือแห่งตัวตน

    เมื่อทำจนคุ้นเคย ก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อใดที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส หรือจิตนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา ก็ให้มีสติเท่าทันทุกคราวที่ “ตัวกู”เกิดขึ้น นั่นคือเมื่อเห็น ก็สักว่าเห็น ไม่มี “ตัวกู”ผู้เห็น เมื่อโกรธ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น ไม่มี “ตัวกู”ผู้โกรธ เป็นต้น

    การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อดับ “ตัวกู”ไม่ให้เหลือ ซึ่งก็คือทำให้ตัวกูตายไปก่อนที่ร่างกายจะหมดลม หากทำได้เช่นนั้นความตายก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด ความ
    ตายก็ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะไม่มีผู้ตายตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นวิธีเอาชนะความตายอย่างแท้จริง
    แต่ถึงแม้ตัวกูจะไม่ตายไปอย่างสิ้นเชิง ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูอยู่ เมื่อจวนเจียนจะตายท่านพุทธทาสภิกขุได้แนะนำให้น้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือเช่นเดียวกัน นั่นคือละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวกูของกู วิธีการนี้ท่านเปรียบเสมือน “ตกกระไดแล้วพลอยกระโจน” กล่าวคือเมื่อร่างกายทนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จิตก็ควรกระโจนตามไปด้วยกัน ไม่ห่วงหาอาลัยหรือหวังอะไรอย่างใดอีกต่อไป ไม่คิดจะเกิดที่ไหนหรือกลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป นาทีสุดท้ายของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จิตจะปล่อยวางตัวกูเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง จึงนับว่าเป็น “นาทีทอง”อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/matichon255101.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    BuddhaandRiver.jpg
    โลกเป็นอย่างไรเพราะใจเราเป็นอย่างนั้น

    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้เพื่อรับรู้โลกภายนอก ตารับรู้รูป หูรับรู้เสียง จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส และกายก็รับรู้สัมผัสที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะรับรู้โลกภายนอกอะไร มันก็ส่งมาที่ใจ ใจทำหน้าที่คิด ทำหน้าที่รู้สึก เราก็คงจะสังเกตได้ว่า เรารับรู้อะไร ใจก็มักจะเป็นอย่างนั้น เช่น ถ้าเกิดเราเห็นภาพคนกำลังอดอยากหิวโหย ก็เกิดความรู้สึกเศร้า สงสารในใจของเรา ถ้าเห็นภาพอุบัติเหตุรถยนต์ ก็รู้สึกเสียวสยอง หรือหวาดวิตกในใจ ถ้าเห็นเด็กกำลังร้องไห้ ก็เกิดความรู้สึกเศร้าในใจของเรา แต่ถ้าเกิดเห็นภาพคนกำลังสนุกสนานรื่นเริง ก็มีความยินดีเกิดขึ้นในใจ

    เรารับรู้อะไรก็มีผลต่อใจของเรา รับรู้สิ่งที่เป็นลบ ใจก็พลอยรู้สึกลบไปด้วย รับรู้สิ่งที่เป็นบวก ใจก็พลอยเป็นบวกไปด้วย เพราะฉะนั้นการรับรู้อะไร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจ ถ้าเราอยากจะให้ใจเราสงบ ใจเราเป็นสุข ไม่ถูกแผดเผาด้วยความโกรธ ไม่ถูกกดกดดันด้วยความเศร้า หรือไม่ถูกกระตุ้นเร้าด้วยความโลภ ความอยาก อันนี้โยงไปถึงว่า เราเลือกอยู่ที่ไหนด้วย ถ้าเราเลือกอยู่ในที่ที่สงบสงัด ใจก็พลอยสงบ หรือสามารถเย็นใจได้ง่าย

    ดังนั้นธรรมข้อหนึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์คือ “พึงนอนและนั่งในที่สงัด” เมื่ออยู่ในที่ที่สงัดหรือที่ที่เป็นรมณีย์ มันก็มีส่วนน้อมใจให้สงบไปด้วย รวมทั้งการรู้จักใช้หู ใช้ตา ใช้จมูกให้เป็น หรือรู้จักรับรู้สิ่งที่เกื้อกูล ต่อการสร้างกุศลธรรมขึ้นมาในใจ อย่างไรก็ตามทำเท่านั้นยังไม่พอ เพราะความจริงมีอยู่ว่า บ่อยครั้งเราไม่ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้าเราอย่างที่มันเป็นจริง แต่มีการตีความหรือปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้เกินเลยจากความเป็นจริงด้วย

    คนเราไม่ได้เห็นอย่างที่รูปปรากฏ ไม่ได้ได้ยินอย่างที่เสียงกระทบหูเรา เพราะว่ามีการตีความ หรือปรุงแต่งซ้อน ชนิดที่สนิทแนบแน่นเลย อย่างเช่น เห็นคนกระซิบกระซาบต่อหน้าเรา เราก็อาจจะตีความไปว่า เขากำลังพูดถึงเรา หรืออาจถึงขั้นนินทาเรา แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น หรือว่ามีคนบางคนมองหน้าเรา จ้องเรา เราก็อาจจะตีความว่า เขากำลังหาเรื่องเราก็ได้ หรือเขากำลังไม่พอใจเรา แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่าเราเข้าใจไปแล้วอย่างนั้น

    คนเราบางครั้งไม่ได้เห็น ไม่ได้รับรู้สิ่งต่าง ๆอย่างที่มันเป็น แต่ว่ามีการตีความไปด้วย ตีความในทางบวกก็มี ตีความในทางลบก็มี บ่อยครั้งก็สร้างปัญหา หรือสร้างความทุกข์ให้กับเรา แล้วเราก็เผลอคิดไปว่า สิ่งที่จิตตีความ มันคือความจริง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่ความคิดของเราเอง

    พระทิเบตท่านหนึ่งเล่าว่า มีคราวหนึ่งจะเดินทางขึ้นเครื่องบิน ที่สนามบินมีการตรวจเอกซเรย์สัมภาระ รวมทั้งโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ ระหว่างที่กำลังรอกระเป๋าเดินทางของท่านที่กำลังผ่านการเอกซเรย์ ท่านก็เหลือบไปมองที่ด่านรักษาความปลอดภัยอีกด่านหนึ่ง ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ มีหนวดเฟิ้มเลย จ้องมองมาที่ท่าน จ้องแบบเขม็งเลย ท่านเหลียวไปมองหลายครั้งก็เห็นว่าเขายังจ้องไม่เลิก ก็รู้สึกไม่ค่อยสู้ดีแล้ว นึกในใจว่าเจ้าหน้าที่คนนี้กำลังสงสัยอะไรเราหรือเปล่า ท่านพยายามนึกว่าทำอะไรให้เขาสงสัย ก็นึกไม่ออก

    ยิ่งเห็นเจ้าหน้าที่คนนั้นจ้องมองท่านมากเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งสังเกตว่าเจ้าหน้าที่คนนี้ หน้าเหี้ยม ดูหยาบกระด้าง หน้าตาท่าทางเหมือนมาเฟียเลย จู่ๆ เจ้าหน้าที่คนนั้นก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพูดอะไรสักอย่าง พระทิเบตก็สงสัยว่าต้องมีเรื่องไม่ดีแน่ แล้วก็จริงด้วย มีเจ้าหน้าที่คนใหม่เดินมาหาชายคนนี้ พูดคุยอะไรกันสักอย่าง แล้วเจ้าหน้าที่ที่มีหนวดก็ชี้นิ้วมาที่ตัวท่าน

    พระทิเบตตอนนี้ใจคอไม่สู้ดีแล้ว เจ้าหน้าที่คนใหม่พอมาถึง ก็พอมายืนแทนเจ้าหน้าที่คนแรกที่มีหนวด จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นเดินตรงมาหาท่าน แล้วถามว่า “คุณคือมิสเตอร์ยงเกใช่ไหม” ท่านก็ตอบว่า “ใช่ มีอะไรเหรอ” เจ้าหน้าที่คนนั้นก็บอกว่า “ผมอยากจะขอบคุณคุณเหลือเกิน เพราะว่าหนังสือของคุณช่วยผมได้มากเลย อยากจะขอบคุณจริงๆ”

    เท่านี้แหละ พระทิเบตยิ้มเลย เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ยิ้มด้วย แล้วก็จับมือท่านมาเขย่า แสดงความเป็นมิตร ตอนนี้พระทิเบตรู้สึกโล่งอกขึ้นมาทันที ทีแรกคิดว่าจะมีเรื่องอะไร อ๋อ ที่แท้มาขอบคุณที่ได้อ่านหนังสือของเรา ทีแรกนึกว่าสงสัยเรา คงจะมาค้นตัวเรา หาสิ่งที่ผิดกฎหมาย แล้วท่านก็พบว่าภาพของชายคนนั้น ในสายตาของท่านเปลี่ยนไปเลย จากคนที่มีสีหน้าเหี้ยม กระด้างเหมือนมาเฟีย กลายเป็นคนที่ใจดี สุภาพเรียบร้อย มีความเป็นมิตร

    สักพักท่านก็มาเอะใจ ทำไมเรามองเจ้าหน้าที่คนนี้เปลี่ยนไป ทีแรกเห็นเขาหน้าเหี้ยม หยาบกระด้าง แต่ตอนนี้เห็นเขาเป็นคนสุภาพ มีน้ำใจ ดูเป็นมิตร ก็คนคนเดียวกันนี่แหละ แต่ทำไมเห็นต่างกันชนิดที่ตรงข้ามกันเลย หลังจากที่เขามาทักทายและขอบคุณ

    เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าจิตของคนเรา หรือความรู้สึกนึกคิดในใจเรา ส่งผลมากต่อการรับรู้ ตอนที่เห็นเจ้าหน้าที่คนนั้นจ้องมองท่านเขม็งเลย ที่จริงเขาไม่ได้คิดอะไรไม่ดีกับท่านเลย แต่ว่าพระทิเบตท่านนี้ตีความไปแล้วว่า เขาคงไม่ชอบเรา ระแวงสงสัยเรา หรือคิดไม่ดีกับเรา คือตีความไปในทางร้ายแล้ว ไม่ได้เห็นอย่างที่เป็น พอตีความไปในทางร้ายว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา ท่านก็เลยรู้สึกไม่ดีกับเขาไปด้วย พอรู้สึกไม่ดีกับเขา ภาพของเขาที่ปรากฏในใจของท่าน ก็กลายเป็นคนที่ดูเหี้ยม กระด้าง เหมือนมาเฟีย หรือเหมือนอันธพาล แต่ว่าพอเขามีอากัปกิริยาในทางที่เป็นมิตร มาขอบคุณท่าน ความรู้สึกของท่านที่มีต่อเขาก็เปลี่ยนไป แทนที่จะเห็นว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา ที่แท้เขามาขอบคุณเรา เลยรู้สึกดีกับเขา พอรู้สึกดีกับเขา ภาพของเขาในสายตาของท่านก็เปลี่ยนไปเลย กลายเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อย มีความเป็นมิตร

    อันนี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นเลยว่า เวลาเรารับรู้อะไรก็ตาม บ่อยครั้งเราไม่ได้รับรู้อย่างที่มันเป็น แต่มีการตีความ และถ้าเราตีความในทางลบ ว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา จิตก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีเลย อย่างเช่น พอพระทิเบตคิดว่าคน ๆ นี้คิดไม่ดีกับท่าน ท่านก็รู้สึกไม่ดีกับเขาทันทีเลย พอรู้สึกไม่ดีกับเขา ภาพของเขาที่ท่านเห็นก็กลายเป็นภาพของคนที่มีสีหน้าเหี้ยม ไม่เป็นมิตร มีการเติมแต่ง มีการใส่สี และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเราในชีวิตประจำวัน เรารับรู้อะไร เราไม่เคยรับรู้อย่างที่มันเป็นจริง ๆ แต่ว่ามีการตีความอยู่เสมอ
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ถ้าตีความในทางบวกก็ดีไป แต่ถ้าตีความในทางลบ ก็เกิดความวิตก เกิดความกลัว เกิดความเครียด เกิดความขุ่นมัว ครั้นมีความวิตก มีความขุ่นมัว เวลามองอะไร ก็เห็นแต่ภาพในทางลบ เห็นคนๆหนึ่งก็มองเขาเป็นคนที่เหี้ยม หยาบกระด้าง แต่พอใจเปลี่ยนไป ความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้นเปลี่ยนไป ภาพที่เห็น หรือที่ปรากฏในใจก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ตรงข้ามกันเลย

    พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่ใช่แค่ว่าเราเห็นอะไรใจก็เป็นอย่างนั้น ในทางกลับกัน ใจเราเป็นอย่างไรก็เห็นโลกไปในทางนั้นด้วย ถ้าใจเราขุ่นมัว มีความเครียด หรือมีความรู้สึกเป็นลบ โลกที่อยู่รอบตัวเรา หรือคนที่อยู่ข้างหน้าเรา ก็ถูกเติมแต่งให้เป็นลบไปด้วย มีการใส่สีให้ดูไม่ดี แต่ถ้าเรารู้สึกบวกกับเขา ภาพที่เห็นก็เปลี่ยนไป กลายเป็นบวกไปด้วย อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลาเลยก็ว่าได้

    โลกเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ใจของเราว่าเป็นอย่างไรด้วย ฉะนั้นบ่อยครั้ง เวลาเรารู้สึกว่าโลกมันหม่นหมอง ผู้คนไม่น่ารัก อาจจะเป็นเพราะว่าใจเราหม่นหมอง หรือว่าใจเรามีความรู้สึกที่เป็นลบก็ได้ ฉะนั้นก่อนที่เราจะตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ หรือมองว่าโลกนี้มันแย่ บางทีเราต้องกลับมาดูที่ใจของเรา ว่าใจเรามีการเติมแต่ง รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรือเปล่า

    ในปฏิจจสมุปบาท ท่านจะกล่าวตั้งแต่ต้นเลยว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้กับสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้กับวิญญาณ ที่พูดมาก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า สังขารปรุงแต่งวิญญาณอย่างไร สังขารในที่นี้ก็คือการปรุงแต่ง หมายถึงความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ มันไปปรุงแต่งการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้แต่ทางใจ ถ้าใจมีความรู้สึกในทางลบ เช่นคิดลบ หรือรู้สึกลบกับใคร ก็จะเห็นภาพคนๆ นั้นในทางลบไปด้วย เห็นเป็นคนที่กระด้าง เป็นคนเหี้ยม ไม่น่ารัก แต่ถ้าใจมีความรู้สึกเป็นบวก ก็จะเห็นเขาเป็นคนที่สุภาพ เป็นมิตร

    อันนี้ก็ไม่ต่างจากเรื่องของคนผู้ชายคนหนึ่งไปพักที่รีสอร์ต ก่อนนอนก็ถอดสร้อยคอที่คล้องพระสมเด็จราคาแพงด้วย ไว้ที่หัวเตียง ตื่นเช้าก็ออกไปเดินเล่น โดยลืมสวมสร้อยคอ พอกินข้าวเสร็จก็กลับเข้ามาในห้อง แล้วพบว่า สร้อยหายไป เอ๊ะ ใครเอาไป สงสัยพนักงานทำความสะอาดเอาไป เพราะว่าเช้านั้น มีพนักงานทำความสะอาดคนหนึ่งเข้าไปจัดเตียง เขาก็ตามหาว่าใครเป็นพนักงานทำความสะอาดคนนั้น พอเห็นเข ก็ปักใจเชื่อเลยว่าพนักงานคนนั้นขโมยเอาสร้อยคอของเขาไป เมื่อเฝ้าสังเกตผู้ชายคนนั้น ก็พบว่าเขามีพิรุธ แววตาก็มีพิรุธ ไม่กล้าสบตาเขา จึงปักใจว่า ใช่แน่ๆ เลย แกเอาสร้อยคอของฉันไปแน่เลย แต่ปรากฏว่าตอนสายๆ เขาก็พบสร้อยคอตกอยู่หลังเตียง

    พอรู้ว่าพนักงานคนนั้นไม่ได้ขโมยไป ก็เห็นเขาเปลี่ยนไป น้ำเสียงเขาไม่ได้มีพิรุธอะไร พูดจาก็ดี อากัปกิริยาไม่มีอะไรผิดปกติ ภาพของพนักงานทำความสะอาดเปลี่ยนไปเลย ที่จริงเขาไม่ได้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เขาก็เหมือนเดิม ไม่ว่าตอนเช้า ตอนสาย หรือตอนบ่าย แต่ที่เปลี่ยนไปคือใจของผู้ชายคนนั้น ทีแรกปักใจเชื่อว่าพนักงานทำความสะอาดเป็นขโมย พอคิดแบบนั้นเข้า ก็เห็นเขามีพิรุธ แต่พอรู้ว่าเขาไม่ได้ขโมยไป ภาพที่เห็นก็เปลี่ยนไป อันนี้เรียกว่าสังขารเป็นปัจจัยให้กับวิญญาณ

    ไม่ใช่เฉพาะกรณีแบบนี้เท่านั้น ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป เวลาเรามีความทุกข์ ความเครียด เราก็มักจะคิดว่าโลกภายนอก หรือคนรอบตัวเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เช่นเห็นเขาไปในทางลบทางร้าย ทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น แต่เราลองสังเกตดูก็ได้ว่า บ่อยครั้งความทุกข์ของเรา มันเกิดจากการที่เราตีความหรือปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ไปในทางลบ หรือปรุงแต่งไปในทางร้ายหรือเปล่า

    ถ้าเรารู้จักหมั่นสังเกต หมั่นทบทวน ก็จะพบว่าบ่อยครั้งเราเคยเข้าใจผิดเพราะตีความในทางลบ หรือเติมแต่งในทางร้าย จนเกิดความวิตก เกิดความเครียด หรือเกิดความไม่พอใจ เมื่อรู้เช่นนี้ก็ควรเอาประสบการณ์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนสอนใจ มันจะช่วยทำให้เรารู้จักทักท้วงใจของเราบ้าง คือทักท้วงว่าสิ่งที่เราเห็น อาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้ อาจมีการตีความไปแล้วในทางลบ หรือทักท้วงว่าที่เรารับรู้หรือมองออกไปข้างนอก อาจจะมีการเติมแต่งไปในทางร้ายก็ได้

    ไม่ว่ารับอะไรเข้ามา จะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง หรือมองออกไป ใจเรามักจะมีการตีความหรือเติมแต่ง และก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทางลบ อาจจะเป็นไปในทางบวกก็ได้ อย่างที่เขาเรียกว่าฉันทาคติ ฉันทาคติคือลำเอียงเพราะชอบ หมายความว่า มองเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะว่ามีความชอบ เช่น เขาทำอะไรก็ดูดีไปหมด เขาทำอะไรก็ดูถูกต้องไปหมด ทั้งๆ ที่ที่ผิดก็มี ที่พลาดก็มี แต่ว่าไม่เห็นเพราะว่ามองเห็นแต่ด้านดี อันนี้เรียกว่าลำเอียงเพราะชอบ หรือมิฉะนั้นก็ตรงข้าม คือ มีโทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ หรือภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง

    อย่างกรณีของพระทิเบตท่านนั้น ทีแรกท่านเกิดโทสาคติ ก็เลยเห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนนั้น เหี้ยม ดุ เหมือนผู้ร้าย เหมือนมาเฟีย แต่พอเขามาขอบคุณ เขามาแสดงความเป็นมิตร ความรู้สึกของท่านก็เปลี่ยนไปเลย ฉันทาคติมาแทนโทสาคติ เห็นเขาเป็นมิตร สุภาพเรียบร้อย อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะสังเกตได้จากประสบการณ์ของตัวเราเอง ว่ามันเป็นอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า จะได้เป็นเครื่องเตือนใจเรา เพื่อไม่ให้เราเป็นทุกข์จากสิ่งปรุงแต่งที่สร้างขึ้นมาเอง

    บางครั้งเวลามีความทุกข์เรามักโทษว่าเป็นเพราะคนโน้นคนนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่จริงความทุกข์เกิดจากการปรุงแต่งในทางลบ หรือการตีความในทางร้ายของเรา ครั้นตีความในทางลบแล้ว เห็นเขาทำอะไร ก็ยิ่งรู้สึกลบ และเป็นทุกข์มากขึ้น

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วที่ใจ” เรื่องที่เล่ามาเป็นตัวอย่างว่า โลกภายนอกที่เราเห็นผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ล้วนแล้วแต่เกิดหรือถูกกำหนดด้วยใจของเรา ถ้าใจเราเป็นลบก็เห็นเป็นลบ ถ้าใจเราเป็นบวกก็เห็นเป็นบวก

    ฉะนั้นการกลับมาดูใจของเรา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าไม่อยากให้เกิดไฟเผาลนใจของเรา ก็ต้องกลับมาสำรวจตรวจตา หรือสอดส่องใจของเราว่า มีอคติ เช่น โทสาคติ ภยาคติหรือเปล่า หรือมีการเติมแต่งในทางลบทางร้ายหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นเราก็จะสร้างหรือก่อทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น.
    :- https://visalo.org/article/dhammamata17_3.html
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    หลวงพ่อพุธ33.jpg
    เพ่งนอก ลืมใน

    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านเคยอธิบายอริยสัจสี่อย่างน่าสนใจไม่เหมือนใคร ท่านบอกว่า การที่จิตส่งออกนอกคือสมุทัย ผลของการที่จิตส่งออกนอกคือทุกข์

    ตรงนี้เป็นเรื่องน่าพิจารณา เพราะพิจารณาดูแล้วความทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเราก็เกิดจากการที่จิตส่งออกนอกนี่แหละ จิตส่งออกไม่ใช่ออกจากตัวอย่างเดียว แต่หมายถึงออกจากปัจจุบันด้วย ไปอยู่กับอดีตหรือไม่ก็อนาคต หรือไม่ก็จดจ่ออยู่กับอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ พอส่งจิตออกไปอย่างนั้นก็ทำให้ลืมกายลืมใจ ลืมปัจจุบันไป ก็เลยพลาดท่าเสียที เกิดทุกข์ขึ้นได้


    เมื่อเกิดผัสสะหรือรับรู้อายตนะภายนอกแล้วก็เกิดเวทนาขึ้น จะเป็นสุขเวทนาหรือหรือทุกขเวทนาก็แล้วแต่ เวทนาส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปรับรู้เรื่องข้างนอก หรือมีสิ่งข้างนอกมากระทบ จะเป็นดินฟ้าอากาศ การกระทำของผู้คน หรือคำพูดของคนรอบข้าง น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็แล้วแต่ ถ้าเกิดสุขเวทนาขึ้นก็พอใจ ถ้าเกิดทุกขเวทนาขึ้นก็ไม่พอใจ พอไม่พอใจก็เลยอยากผลักไสออกไป ถ้ามันไม่ไปก็ทุกข์ ส่วนสุขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็พอใจ พอใจแล้วก็อยากครอบครองหรืออยากยึดให้มันอยู่นานๆ แต่ถ้ามันหายไป ก็ไม่พอใจ กลายเป็นทุกข์อีก แต่ถึงแม้มันไม่หายไป ยังอยู่ ยังได้เสพได้สัมผัสอยู่ ก็อาจทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน อาหารที่เอร็ดอร่อย เพลงที่ไพเราะ หนังที่สนุกสนาน เสพใหม่ๆ หรือดูทีแรกก็มีความสุขดี แต่ถ้าลองเสพทุกวัน กินทุกมื้อสัก ๑ เดือน หรือดูสัก ๑๐ รอบ หรือฟังซ้ำสัก ๒๐ เที่ยว ความสุขก็เริ่มจืดจาง รู้สึกเฉยๆ แล้วกลายเป็นความเบื่อความหน่าย ถ้าเสพนานกว่านั้นความเบื่อก็กลายเป็นความเอียนไป

    มีเหมือนกัน คนที่ดูหนังเป็นร้อย ๆ รอบ อย่างดูหนังสตาร์วอร์ส ได้ข่าวว่ามีบางคนดูเป็น ๑๐๐–๒๐๐ รอบแล้ว พวกนี้เป็นแฟนสตาร์วอร์สตัวจริง อาจเป็นพวกคลั่งก็ได้ แต่ว่าสักวันก็ต้องเบื่อโดยเฉพาะเมื่อตัวเองโตขึ้น ได้พบเห็นโลกมากขึ้น ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น หรือดูหนังที่มีเทคนิคดีกว่า เร้าใจตื่นเต้นมากกว่า ก็จะรู้สึกว่าสตาร์วอร์สไม่สนุกเสียแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นปริณามทุกข์ คือทุกข์ที่เกิดจากการแปรปรวน หรือสุขที่กลายเป็นทุกข์

    สุขสามารถกลายเป็นทุกข์ได้เมื่อประสบการณ์เปลี่ยนแปลงไป อย่างอากาศบนศาลาตอนนี้ก็เย็นสบายดี แต่พอเราเข้าไปอยู่ในห้องแอร์ที่เย็นกว่านี้ แล้วกลับออกมาอยู่ที่ศาลานี้เราจะรู้สึกเลยว่าศาลานี้อากาศร้อน ไม่รู้สึกว่าอากาศเย็นสบายเหมือนตอนก่อนจะเข้าไปในห้องแอร์ ความทุกข์ของคนเราบ่อยครั้งก็เกิดขึ้นในลักษณะนี้ คือเกิดจากการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า อร่อยกว่า สบายกว่า ที่เคยพอใจให้ความสุข ก็กลายเป็นไม่สุข หรือกลายเป็นทุกข์ไปทันที ความทุกข์อย่างนี้เกิดจากการเปรียบเทียบ แต่ก็เป็นผลอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากจิตส่งออกนอก ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    เมื่อจิตส่งออกนอก ไปกระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่ากาม ก็เกิดความอยาก ความอยากมันเป็นทุกข์ในตัว เพราะอยากแล้วแต่ยังไม่ได้สมอยากก็เป็นทุกข์ เมื่ออยากแล้วก็ต้องดิ้นรนให้ได้มา ถ้าของมีจำกัด ก็ต้องแก่งแย่งกัน ถ้าใช้วิธีการที่ชอบธรรม ก็เดือดร้อนน้อยหน่อย แต่ถ้าใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม คือลักขโมย โกงเขา ก็ต้องมีเรื่องเดือดร้อนตามมา

    แต่ถ้าส่งจิตออกนอกแล้ว ไปรับรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันทีถ้าไม่มีสติ เพราะมันจะปรุงแต่งไปต่างๆ นานา จากความไม่พอใจก็กลายเป็นความหงุดหงิดและลุกลามไปเป็นความโกรธ ยิ่งหงุดหงิดยิ่งโกรธ จิตก็ยิ่งส่งออกนอก เพราะคิดหาทางผลักไส ตอบโต้ หรือเล่นงาน จนอาจถึงขั้นคิดหาทางทำร้าย ถึงตรงนี้ใจก็ยิ่งปักตรึงอยู่กับสิ่งนั้น จนลืมกายลืมใจ ลืมไปว่าความโกรธมันลุกลามและเผาลนจิตใจเพียงใด โกรธก็ยังไม่รู้ว่าโกรธ ต่อเมื่อด่าเขาหรือทำร้ายเขาไปแล้ว จึงค่อยรู้ตัว แต่รู้ตัวแล้วก็ยังอดไม่ได้จะไปโทษคนอื่น หาว่าคนอื่นเป็นเหตุให้เราทำอย่างนั้น

    เมื่อจิตเพ่งออกไปที่ข้างนอก เราก็มักจะลืมใจของเรา มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นสังฆปริณายกลัทธิเซ็นในจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน คราวหนึ่งท่านไปร่วมงานเฉลิมฉลองของสำนักหนึ่ง มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ระหว่างนั้นเอง ก็มีพระ ๒ รูปยืนดูธงที่โบกสะบัด รูปหนึ่งบอกว่า “ธงไหว” อีกรูปบอกว่า ไม่ใช่ “ลมไหว”ต่างหาก ต่างคนต่างมีเหตุผล ตอนแรกก็คุยกันดี ๆ ตอนหลังก็ชักมีอารมณ์ ระหว่างนั้นก็มีคนมาร่วมถือหางกันมากขึ้น บรรยากาศเริ่มร้อนแรง เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงไปหาท่านเว่ยหล่างเพื่อขอให้ท่านตัดสินว่า ธงไหวหรือลมไหวกันแน่ พอท่านเว่ยหล่างได้ฟังปัญหา ท่านกลับตอบว่า จิตของพวกท่านต่างหากที่ไหว

    แทนที่จะตอบว่าอะไรที่ไหว ท่านเว่ยหล่างกลับเตือนพระทั้ง ๒ รูปให้หันมาดูใจของตัวว่า กำลังไหวกระเพื่อมด้วยอารมณ์ ตรงนี้สำคัญกว่าคำตอบว่าธงไหวหรือลมไหว เพราะใจที่ไหวกำลังทำให้ทั้ง ๒ รูปทะเลาะกันจนแทบจะเป็นเรื่องอยู่แล้ว ขนาดใจไหวกระเพื่อมจนทะเลาะกัน พระทั้ง ๒ รูปยังไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ไปสนใจสิ่งนอกตัว

    เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าไปสนใจสิ่งนอกตัว หรือส่งจิตไปปักตรึงนอกตัว ก็จะลืมตัวได้ง่ายๆ พอลืมตัวแล้วกิเลส เช่นความโกรธหรือความโลภก็ครอบงำได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็ทำให้เกิดการทะเลาะบาดหมางกันได้ง่าย ยิ่งถ้าไปจับผิดคนอื่น ก็ยิ่งมีโอกาสลืมตัวได้ง่าย แล้วก็เลยทำให้เผลอทำอะไรที่ไม่น่าทำขึ้นมาได้
    ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าว่า ที่สวนโมกข์เคยมีแม่ชีคนหนึ่งมีหน้าที่หาหน่อไม้ไปทำอาหารถวายพระ แม่ชีพบว่าหน่อไม้ที่ยังไม่ทันโตได้ที่มักจะถูกตัดบ่อยๆ สงสัยว่าจะเป็นชาวบ้าน ดังนั้นจึงมักจะบอกชาวบ้านว่าถ้าเห็นหน่อไม้ที่ยังโตไม่ได้ที่ก็อย่าเพิ่งไปตัดมัน รอให้โตเสียก่อน แต่บอกเท่าไรก็ไม่ได้ผล หน่อไม้อ่อนๆ ก็ยังถูกตัด ซึ่งเป็นการเสียของอย่างมาก แม่ชีจึงโกรธ วันหนึ่งไปเห็นหน่อไม้อ่อนอยู่หลายหน่อ ทันทีที่เห็นแม่ชีก็รู้เลยว่าหน่อไม้เหล่านี้คงไม่พ้นมือชาวบ้าน คิดแล้วก็โมโห แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พอโมโหหนักเข้าแม่ชีก็เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง ในใจคงคิดว่า ถ้าห้ามไม่ฟัง ก็อย่าหวังจะได้แตะหน่อไม้อ่อนเลย

     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)

    แม่ชีบอกใครๆ ว่าอย่าตัดหน่อไม้อ่อน แต่ทำไมตัวเองถึงตัด เป็นเพราะแม่ชีต้องการสั่งสอนชาวบ้าน ใจที่คิดจะตอบโต้ชาวบ้านทำให้ลืมตัว เลยตัดหน่อไม้นั้นเสียเอง ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดที่จะเอาชนะชาวบ้าน ก็เลยลืมตัว ทำสิ่งที่ตัวเองห้ามไม่ให้คนอื่นทำ


    ที่สุคะโตเมื่อสิบกว่าปีก่อน พระเณรฉันอาหารเป็นวงทั้งเช้าและเพล ก็มีพระรูปหนึ่งฉันดัง เคี้ยวดัง เวลาตักอาหารช้อนจะกระทบกับจานเสียงดัง ที่จริงไม่ได้ดังมาก แต่พอได้ยินบ่อยๆ ทั้งเช้า เพล ทุกวัน พระรูปหนึ่งก็หงุดหงิด ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นๆ ทุกวัน ในที่สุดวันหนึ่งขณะที่พระกำลังฉันกันอยู่ดีๆ ท่านก็ลุกขึ้นจากวงต่อว่าพระรูปนั้นเสียงดังลั่นไปทั้งศาลาเลยว่า “ฉันดังเหลือเกิน รบกวนคนอื่นเขา ไม่รู้จักมารยาทหรือไง” ว่าแล้วก็เดินออกไป ท่านโมโหพระรูปนั้นที่ฉันเสียงดัง แต่ท่านไม่รู้เลยว่าที่ท่านลุกขึ้นมาโวยวายนั้น ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นยิ่งกว่าพระรูปนั้นเสียอีก

    คนเราเมื่อจ้องมองคนอื่นมากเท่าไร ก็มักจะลืมมองตัวเอง เลยเผลอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากจะเตือนว่าเมื่อใดที่เรามองใครว่าเป็นปัญหา ขอให้ระวังว่าตัวเราเองจะกลายเป็นปัญหาไปเสียเอง เพราะเมื่อเรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา เราก็จะเริ่มสะสมความไม่พอใจเอาไว้ ความไม่พอใจเมื่อสะสมมากเข้าก็กลายเป็นความโกรธโดยไม่รู้ตัว โกรธมากเท่าไรก็ลืมตัวมากเท่านั้น จึงเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ ซึ่งกลายเป็นปัญหากับส่วนรวม บางทีก่อปัญหามากกว่าคนที่เราไม่พอใจเขาเสียอีก

    เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะใจที่ไปจดจ่อกับสิ่งนอกตัวจนลืมดูใจของตน ปล่อยให้ความโกรธเกลียดสะสมจนวันหนึ่งก็ระเบิดออกมา มีหลายกรณีที่ไม่ใช่แค่ด่าเฉยๆ แต่ถึงกับลงไม้ลงมือและฆ่ากัน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ในผับแห่งหนึ่ง มีคนพูดจาเอะอะโวยวาย อีกคนก็ไม่พอใจ หาว่ารบกวนคนอื่น พอขุ่นเคืองหนักเข้า ก็กลั้นโมโหไม่อยู่ ควักปืนยิงเขาตาย การกระทำแบบนั้นแรงเกินกว่าเหตุ แค่เขาส่งเสียงดัง ก็ไปฆ่าเขาแล้ว แต่เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ เป็นเพราะผู้คนมัวแต่เพ่งจ้องความไม่ดีของคนอื่น จนลืมตัว ปล่อยให้ความโกรธครอบงำจนฆ่าเขา เสร็จแล้วตัวเองก็ต้องติดคุกติดตะราง

    การส่งจิตออกนอกเป็นตัวการแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ใจหรือการสร้างความทุกข์ให้แก่ชีวิตของตน จึงประมาทไม่ได้เรื่องการส่งจิตออกนอก ทำอย่างไรเราจะไม่เผลอส่งจิตออกนอก ก็ต้องมีสติ สติช่วยพาจิตมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่เราทำ ดึงจิตกลับมาดูตัวเอง หันมาเห็นความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท รวมทั้งความอิจฉาริษยา ที่กำลังสะสมอยู่ในใจ เมื่อเห็นแล้วการปล่อยวางก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้จิตโปร่งเบา ไม่ทุกข์ หลวงปู่ดูลย์จึงว่า จิตเห็นจิตคือมรรค

    จิตเห็นจิตหมายความว่ารู้ทันอารมณ์ เห็นความเครียด ความเกลียด ความโกรธที่มันเกิดขึ้น รู้แล้วก็วาง พูดอีกอย่างคือยกจิตออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น การปรุงแต่งก็เกิดขึ้นต่อไม่ได้ เหมือนไฟไม่มีเชื้อ มันก็มอดดับไปเอง แค่รู้ทันหรือเห็นมัน ก็หลุดแล้ว แต่ถ้าอารมณ์นั้นรุนแรง มันก็ดึงจิตกลับเข้าไปใหม่ บางคนสงสัยว่า รู้ทันความโกรธแล้วทำไมยังโกรธอยู่ ตอนที่รู้หรือเห็นความโกรธนั้น จิตหลุดออกไปจากความโกรธ แต่เนื่องจากความโกรธมันมีพลังมาก มันจึงดูดจิตเข้าไปใหม่ เข้าไปครอบครองจิตใหม่ มันเหมือนกับรถที่กำลังแล่นเร็วๆ เราแตะเบรกทีแรก มันไม่หยุดทันทีหรอก เพราะมันเร็วมาก ต้องแตะเบรกหลายๆ ครั้ง การเห็นความโกรธก็เหมือนกัน ไม่ใช่เห็นแล้วจะหยุดเลย ถ้าอารมณ์มันแรงมาก พอมีสติเห็นมัน มันก็หยุดชั่วขณะ แต่แรงส่งยังมีอยู่ ก็เลยปรุงแต่งต่อ ฉะนั้นก็ต้องมีสติเข้าไปเห็นถี่ๆ จนมันคลายลงไป หรือไม่ก็ต้องอาศัยสติที่มีกำลังมาก ถ้าสติมีกำลังมาก ก็หลุดจากอารมณ์นั้นได้ทันที

    จิตเห็นจิตยังมีความหมายลึกกว่านั้น คือเห็นจนรู้ว่าจิตนั้นไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน เห็นจนชัดเจนแจ่มแจ้งว่าจิตนั้นไม่สามารถยึดว่าเป็นเราเป็นของเราได้ และไม่สามารถคาดหวังให้มันเป็นอะไรได้เลย แม้แต่จะหวังให้มันสุขก็หวังไม่ได้ พอเห็นอย่างนี้ นอกจากจะไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู หรือไม่มีตัวกูของกูอีกต่อไปแล้ว ยังปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในจิตอย่างสิ้นเชิง ผลก็คือจิตเป็นอิสระ
    เกิดความสงบล้ำ เป็นสุขอย่างยิ่ง เรียกว่านิพพาน หลวงปู่ดูลย์จึงพูดว่า ผลของการที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือนิโรธ

    จิตเห็นจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีสติเป็นเครื่องมือ สตินั้นทำงานหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ดึงจิตที่เคยส่งออกนอก หรือเกาะติดกับอายตนะภายนอก กลับมาอยู่กับตัว รวมทั้งดึงจิตที่พลัดไปอยู่กับอดีต หรืออนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน สติยังทำหน้าที่กำกับผัสสะ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าไม่มีสติเห็นเวทนา ก็จะปรุงต่อเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ยืดยาวเป็นสาย แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีสติ พอผัสสะเกิดขึ้น เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามมาก็แล้วแต่ มันไม่ปรุงแต่งไปเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะไม่มีตัวกูเป็นผู้เสวยเวทนานั้น ถ้าไม่มีสติ ก็มีตัวกู เป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เป็นเจ้าของเวทนา ทีนี้มันไม่ใช่แค่สุขกาย ทุกข์กายเท่านั้น แต่จะปรุงเป็นผู้สุข ผู้ทุกข์ เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นที่ใจ

    อย่านึกว่าสติเป็นเรื่องเล็กน้อย สติเป็นตัวมรรคที่สำคัญ ทำให้จิตเห็นจิตได้ พูดอย่างนี้มิใช่เราจะต้องปิดหูปิดตาไม่รับรู้สิ่งภายนอก ไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นก็ผิดทาง ถือว่านอกทางพุทธศาสนา เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งที่สอนวิธีฝึกจิตด้วยการไม่ให้ไปรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าการทำเช่นนี้ทำให้คนพ้นทุกข์ได้ คนตาบอดหูหนวกก็พ้นทุกข์ไปนานแล้ว ก็อย่างที่เรารู้กัน แม้ตาบอดหูหนวก จิตก็ยังส่งออกนอกได้ ใจก็ยังทุกข์ได้ การปิดกั้นหูตาไม่ให้รับรู้ จึงไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์
    :- https://visalo.org/article/dhammamata03.htm

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    t5643.gif
    เตรียมตัวสอบไล่วิชาชีวิต

    พระไพศาล วิสาโล
    มีการอุปมาว่าชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง การเดินทางนั้นต้องมีจุดหมาย ใครที่เดินทางโดยไม่มีจุดหมาย ก็ไปไม่ถึงไหน หรือวกวน ถ้าชีวิตไร้จุดหมาย ก็ล่องลอยไปตามยถากรรม เหมือนกับสวะที่ลอยไปในแม่น้ำ การกำหนดจุดหมายชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

    แต่ว่าชีวิตกับการเดินทางมีความแตกต่างกันอยู่อย่างหนึ่ง ในการเดินทางนั้น จุดหมายกับปลายทางเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางไม่เหมือนกัน จุดหมายชีวิต กับปลายทางชีวิต เป็นคนละเรื่องเลยก็ว่าได้

    จุดหมายชีวิตก็คือภาพฝันที่เราอยากไปให้ถึง และเราต้องขวนขวายใช้ความเพียร จึงจะไปถึงจุดหมายชีวิตได้ ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะหมายถึงความสำเร็จในการงาน ความมั่งมี ร่ำรวย มียศศักดิ์อัครฐาน หรือการบรรลุธรรมก็แล้วแต่ ใคร ๆ ก็อยากบรรลุถึงจุดหมายชีวิต แต่ปลายทางชีวิตนั้นไม่ค่อยมีใครอยากคิด ไม่ค่อยมีใครอยากถึง แม้กระนั้นทุกคนก็ต้องไปถึงปลายทางชีวิตอย่างแน่นอน ขณะที่จุดหมายชีวิตนั้น บ้างก็ถึง บ้างก็ไม่ถึง

    ปลายทางชีวิตคืออะไร ก็คือความตายนั่นเอง อย่างบทสวดพิจารณาสังขารที่เราเพิ่งสาธยายเมื่อครู่ ข้อความว่า “ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ” จุดหมายชีวิตต้องใช้ความเพียรจึงจะถึง แต่ปลายทางชีวิตไม่ต้องใช้ความเพียรเลย อย่างไรก็มาถึงแน่ อันนี้คือความจริงของชีวิตที่เราต้องระลึกอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มัวสนใจแต่จุดหมายชีวิต ตั้งแต่เล็กจนโต สิ่งที่เราทำมาตลอดก็คือการพยายามบรรลุถึงจุดหมายชีวิต เรียนหนังสือก็ต้องทำคะแนนให้ได้ดี ๆ จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หรือสอบเข้าคณะที่จะให้มีอาชีพมั่นคง ทำเงินได้ หลายคนอยากประสบความสำเร็จในการงาน รวมทั้งการมีครอบครัวที่ผาสุก นี้คือจุดหมายชีวิตของคนหลายคน

    แต่น้อยคนนักที่จะคิดถึงเรื่องปลายทางชีวิต ทั้ง ๆ ที่มันต้องมาถึงอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว เป็นเพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่คิดถึงแต่การบรรลุจุดหมายของชีวิต โดยไม่สนใจว่าสักวันหนึ่งชีวิตจะมาถึงปลายทาง และเมื่อวันนั้นมาถึง ก็เลยทุกข์ทรมาน ทุรนทุราย กระสับกระส่าย สุดท้ายก็ตายไม่ดี ศพไม่สวย นี้คือโศกนาฏกรรมของผู้คนจำนวนมาก

    ถ้าไม่อยากเจอแบบนี้ เราก็ต้องใส่ใจทั้งจุดหมายชีวิตและปลายทางชีวิต อย่าไปคิดว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ดั้นด้นไปให้ถึงจุดหมายชีวิตก่อน ส่วนปลายทางชีวิตค่อยว่ากันทีหลัง อันนี้เป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะถึงจุดหมายชีวิตก่อนที่จะถึงปลายทางชีวิต

    หลายคนสิ้นชีวิตก่อนที่จะถึงจุดหมาย อุตส่าห์เรียนมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี สะสมเงินทอง หรือพยายามดิ้นรนหางานที่มั่นคง แต่ปรากฏว่าไม่ทันไปถึงจุดหมายชีวิตที่ฝันใฝ่ก็ตายเสียก่อน สิ่งที่พากเพียรเรียนมา รวมทั้งสิ่งที่สะสมมาอย่างเหนื่อยยากก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เมื่อความตายมาถึง มันไม่ช่วยให้เรามีความพร้อมในการรับมือกับความตายเลย

    ผู้คนเป็นอันมากทุกข์ทรมานเมื่อความตายมาถึง ก็เพราะประมาท คิดว่าอีกนานกว่าจุดจบของชีวิตจะมาถึง บางคนคิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเตรียมหรอก มันมาถึงเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้ฉันขอมีความสุข ขอใช้ชีวิตให้เต็มร้อยก่อน เอาไว้เมื่อแก่แล้วค่อยนึกถึงความตายก็แล้วกัน หรือเมื่อถึงวันนั้นก็ค่อยเตรียมตัวแล้วกัน เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า

    มีนักเขียนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน อยู่นิวยอร์ก เขาเป็นนักเขียนแนวประชดประชัน เขาเคยเขียนว่า “ความตายนั้นไม่ยากหรอก หาที่จอดรถในนิวยอร์กยากกว่าเยอะ” อันนี้เขาอาจจะพูดประชดคนนิวยอร์กก็ได้ ที่คิดว่าความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย มันมาเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากันเมื่อนั้น ว่าแต่ว่าตอนนี้ขอหาที่จอดรถให้ได้ก่อน จะว่าไปแล้วคนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนี้ คิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก คิดไปก็อัปมงคลเปล่า ๆ ก็เลยไม่กระตือรือร้นที่จะเตรียมตัว แต่สำหรับชาวพุทธ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

    ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงนำประเด็นนี้มาตรัสเตือนเป็นปัจฉิมโอวาท คนเราเมื่อจะตาย ถึงเวลาต้องสั่งเสีย ก็จะพูดในเรื่องที่สำคัญที่สุด พระพุทธองค์ก็เช่นกันทรงถือว่าความไม่ประมาทเป็นสิ่งสำคัญ จึงตรัสเป็นทำนองสั่งเสียก่อนปรินิพพาน ว่า “ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระองค์ทรังสั่งเสีย หรือแสดงปัจฉิมโอวาทเพียงแค่ ๒ ประโยค เทียบกับปฐมเทศนาแล้วต่างกันมาก เพราะปฐมเทศนามีความยาวมาก แต่ปัจฉิมโอวาทนี้แค่ ๒ บรรทัด แต่เป็น ๒ บรรทัดที่สำคัญมาก ซึ่งเราควรตระหนัก

    สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเป็นคน ก็หมายความว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย คนเราต้องตายแน่ ๆ เพราะเหตุนี้เราจึงควรใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท พยายามใช้ทุกเวลาและนาทีที่ยังมีลมหายใจ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

    การระลึกถึงความตาย ที่เรียกว่ามรณสติหรือมรณานุสติ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมและเน้นย้ำ จัดว่าเป็น ๑ ในอนุสติ ๑๐ ประการ อนุสติหมายถึงสิ่งที่พึงระลึกนึกถึงเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิต มรณสติหรือมรณานุสติเป็นข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือได้แก่ พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ สังฆานุสติ อย่างบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น เน้นการสร้างอนุสติ ๓ ประการ คือการน้อมใจให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อเพิ่มศรัทธาในพระรัตนตรัย นอกจากนั้นก็มีสีลานุสติ คือการระลึกถึงความดีที่ได้ทำ จาคานุสติ คือ การระลึกถึงทานที่เราให้แก่ผู้อื่น เทวตานุสติ คือ การระลึกถึงเทวดา รวมทั้งอุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระนิพพาน แต่ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ มรณสติ เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความเพียรในการทำความดี หมั่นสร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งละเว้นความชั่ว
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ความตายเป็นเรื่องของอนาคตก็จริง แต่การนึกถึงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย กลับมีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันกระตุ้นเราหมั่นทำความเพียร อย่างมีพุทธภาษิตประโยคหนึ่งที่เราสาธยายกันหลายครั้ง “ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้” อันนี้เป็นการเตือนให้ระลึกถึงความตาย เพื่อเราจะได้หมั่นทำความเพียร เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีค่า มีประโยชน์ เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์

    แต่มองเพียงเท่านั้นยังไม่พอ เราควรระลึกถึงความตายอยู่เสมอ จะได้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวตายด้วย การใช้ชีวิตให้มีค่า กับการเตรียมตัวตายหรือการเตรียมตัวให้ตายดี สำคัญทั้งสองอย่าง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะว่ามันสัมพันธ์กันมาก ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า คือทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งทำหน้าที่ต่อคนที่เรารัก หรือมีความสำคัญต่อเรา เช่น พ่อแม่ ลูกหลาน ญาติมิตร รวมทั้งส่วนรวม การกระทำเหล่านั้นจะช่วยให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ คือเมื่อจะตาย ก็รู้สึกภาคภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ มันทำให้เราพร้อมตายได้

    หลายคนไม่พร้อมตาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ย่ำแย่ สร้างบาปกรรมไว้เยอะ ตอนที่ยังอยู่สบายก็ไม่สนใจทำความดี ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอจะตายแล้วย้อนมองชีวิตที่ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่ควรภาคภูมิใจเลย คนประเภทนี้จะพยายามต่อสู้ขัดขืนความตาย เพราะเขาอยากมีโอกาสกลับไปแก้ตัว

    สาเหตุที่หลายคนไม่อยากตาย ต่อสู้กับความตาย ไม่ใช่เพราะว่าเขากลัวตาย แต่เป็นเพราะว่าเขายังไม่พร้อมจะตาย อยากมีโอกาสทำความดีเพื่อแก้ตัว รวมทั้งให้เวลากับคนรัก ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ควรแก่การภาคภูมิใจ เราก็พร้อมจะตายได้มากขึ้น ความดีเหล่านั้นทำให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ ขณะเดียวกัน คนที่ตระหนักว่าหากจะต้องตายก็ขอตายดีให้ได้ เขาจะพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หรือใช้ชีวิตไปตามอำนาจของกิเลส

    การตระหนักถึงความสำคัญของการตายดี จะทำให้เราไม่เพียงทำความดี ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเท่านั้น แต่ยังเห็นความสำคัญของอีกสิ่งหนึ่ง นั้นคือการรู้จักปล่อยวาง เพราะถ้าเรายังยึดติดลูก พ่อ แม่ ทรัพย์สิน เงินทอง รวมทั้งการงาน ก็ตายดีได้ยาก มีตัวอย่างมากมายของคนที่ตายไม่ดี เพราะห่วงลูก ห่วงทรัพย์สมบัติ มีบางคนอายุมากและป่วยหนัก ใกล้จะตายแล้ว แทนที่จะนึกถึงบุญกุศล หรือนึกถึงพระรัตนตรัย กลับนึกถึงเงินที่ถูกยืมไป ถึงกับส่งจิตไปทวงเงินเพื่อนบ้าน ตัวป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เพื่อนบ้านเห็นเขามาทวงเงิน จึงรีบมาหาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อบอกว่าจะคืนเงินให้

    อีกรายหนึ่งเป็นอาม่า ป่วยหนัก อาม่าเป็นคนที่รักหลานมาก ทุกเย็นเวลากินอาหารก็จะคอยจ้ำจี้จ้ำไชหลานให้กินเยอะ ๆ ตามประสาคนจีน ช่วงที่อาม่านอนป่วยโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าขณะที่หลานกำลังกินอาหารเย็นอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ จู่ ๆ หลานก็พูดโพล่งขึ้นมาว่า “อาม่า หนูพอแล้ว อิ่มแล้ว ไม่เอาแล้ว” พ่อแม่งงเลยว่าลูกพูดกับใคร เพราะตอนนั้นไม่มีใครอยู่เลยนอกจากพ่อ แม่ ลูก ครั้นถามลูก ลูกก็บอกว่าอาม่ามาสั่งให้กินข้าวเยอะ ๆ อาม่าคงจะส่งจิตมาด้วยความเป็นห่วงหลาน
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    ถ้าหากว่าอาม่าตายตอนนั้นคงตายไม่ดี เพราะว่าห่วงหลานมาก ยายคนนั้นก็เช่นกัน ถ้าตายตอนนั้นคงตายไม่ดี เพราะว่ายังเป็นห่วงทรัพย์ อุตส่าห์ไปทวงเงินเขา

    ปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปล่อยวางเฉพาะคนรัก ของรัก หรือสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา สิ่งที่ไม่รัก หรือทำความทุกข์ให้กับเรา ก็ต้องปล่อยวางด้วย เช่น ความโกรธ ความพยาบาท ความรู้สึกผิด อารมณ์เหล่านี้คอยทิ่มแทง รบกวนจิตใจคนใกล้ตายจำนวนมาก ทำให้ตายไม่สงบ ก่อนตายก็ทุรนทุราย บางคนตาค้าง บางคนมีอาการกระสับกระส่าย บางคนทั้ง ๆ ที่โคม่าแต่ก็น้ำตาไหลเวลามีใครบางคนมาเยี่ยม เพราะรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับเขา อารมณ์ที่เป็นอกุศลบางครั้งปล่อยวางยากกว่าทรัพย์สินเงินทอง คนรัก หรือพ่อแม่เสียอีก

    คนที่ตระหนักว่าการตายดีเป็นสิ่งจำเป็น เขาจะเห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวาง ไม่ใช่มาปล่อยวางเอาตอนกำลังจะตาย ซึ่งมักจะไม่ได้ผล เพราะว่าคนเราเวลาใกล้ตาย แม้ว่ากำลังวังชาจะอ่อนระโหย แต่กิเลสและนิสัยเดิม ๆ กลับรุนแรงมากกว่าเดิม

    ร่างกายไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงแล้ว แต่นิสัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสันดาน รวมถึงกิเลส มันกลับมีกำลังยิ่งกว่าเดิม อาละวาดหนักยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ตอนที่ยังไม่ป่วย เราพอจะคุมกิเลส หรือคุมสันดานได้บ้าง แต่พอใกล้ตาย จะควบคุมได้ยากมาก กิเลสหรือนิสัยสันดานเดิม ๆ จะออกมารบกวนรังควานจิตใจอย่างรุนแรง ใครที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โทสะจะออกมามากตอนกำลังจะตาย เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าถึงเวลาใกล้ตายค่อยเตรียมตัวให้ตายดี หรือเตรียมนิมนต์พระ เพื่อน้อมนำจิตให้ไปดี อย่างนี้มักจะไม่ได้ผล เพราะใจไม่ยอมน้อมตาม เนื่องจากกิเลสหรือสันดานยึดครองจิตใจอย่างแน่นหนา

    มีคุณยายคนหนึ่งเป็นอัลไซเมอร์จนลืมลูกลืมหลานหมดแล้ว แต่วัน ๆ หนึ่งแกไม่ทำอะไรเลย เอาแต่นั่งนับเงิน คอยดูสมุดบัญชี ดูรายการหนี้สิน หรือเงินที่ให้คนอื่นยืมไป จะตายอยู่แล้ว ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ลืมเรื่องเงิน จะให้ฟังธรรมก็ไม่เอา สนใจแต่เรื่องเงิน อย่างนี้จะตายดีได้อย่างไร แม้จะไปนิมนต์พระที่เป็นพระอาจารย์เจ้าที่มีคุณวิเศษมานำทางก็คงจะยาก

    ดังนั้น ถ้าเราเห็นความสำคัญของการตายดีก็จะต้องเตรียมตัวเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล พยายามห่างไกลจากความชั่ว แต่ต้องฝึกการปล่อยวางด้วย การเจริญสติที่เราทำที่นี่จะช่วยให้เรารู้จักปล่อยวาง จะว่าไปแล้วการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายให้เรารู้จักปล่อยวางทั้งสิ้น การให้ทานก็คือการสละ ฝึกให้เรารู้จักปล่อยวางทรัพย์สินเงินทอง แต่หลายคนให้ทานไม่เป็น ยิ่งให้ก็ยิ่งยึด หรือให้ด้วยความโลภ บริจาคสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน อย่างนี้จิตยิ่งยึดติดในทรัพย์มากขึ้น หลายคนทำบุญแล้วจิตยิ่งยึดติด ถ้าทำบุญเป็น จิตจะยิ่งปล่อยวาง ทำเพื่อละ ไม่ใช่ทำเพื่อเอา

    ศีลก็เช่นเดียวกัน เราทำเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา เอาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเอาเงินเท่านั้น แต่รวมถึงเอาคำสรรเสริญเยินยอ เช่น อยากให้เขาชม อยากสร้างภาพให้ดูดี อันนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง

    ภาวนาก็เช่นกัน ถ้าภาวนาเพื่อจะเอา แม้แต่เอาบุญหรือเอาความสงบ กลับจะทำให้เราติดยึดมากขึ้น แต่ถ้าเราภาวนาเป็น จิตใจจะปล่อยวาง เวลามีความคิดเกิดขึ้นก็ปล่อยวาง ไม่หลงตามความคิด เวลามีความโกรธ มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็รู้ทัน แล้วางได้ แม้แต่ความสงบเกิดขึ้นก็วาง ไม่ติด ไม่ยึด ไม่หวงแหน ถึงเวลาที่ความสงบจางคลายไปก็ไม่เสียดาย เวลามีใครมาต่อว่าด่าทอ ก็วางคำพูดเหล่านั้นลงได้ เวลามีทุกขเวทนา ความเจ็บปวด ก็วางมันลงได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่วาง กลับยึดมัน

    ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น เราจะรู้สึกทุกข์ แต่แปลกไหม เรากลับหวงแหนมัน เมื่อมันครองใจเราได้ มันจะสั่งเราให้คอยปกปักรักษามันเอาไว้ เป็นองครักษ์พิทักษ์ความความโกรธ รวมทั้งอารมณ์อื่น ๆ เช่น ความเศร้า เราจะหวงแหนอารมณ์เหล่านี้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง แต่ถ้าเราหมั่นเจริญสติ เราก็จะไม่หลงกลมัน ปล่อยวางมันไปจากใจได้

    การภาวนาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่เพียงช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สงบเย็น แต่ก็ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้เราสามารถตายดีได้ นี้คือวิชาหนึ่งที่เราต้องใส่ใจ คือ วิชาเตรียมตัวตาย เป็นหนึ่งในบรรดาวิชาชีวิตที่จะมองข้ามไม่ได้

    เราเรียนวิชาทางโลกหรือวิชาชีพก็ดีอยู่ แต่วิชาชีพส่วนใหญ่ไม่ช่วยให้เราพร้อมตายอย่างสงบหรือตายดีได้เลย บางครั้งอาจจะเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวด้วยซ้ำ วิชาชีพนั้นเรียนไปแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ เพราะว่าไม่ได้ทำอาชีพการงานที่ตรงกับวิชาที่เรียน หรือว่าวิชาความรู้ที่เรียนมาล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกของเราตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่วิชาชีวิต รวมทั้งวิชาเตรียมตัวตายนั้น เรียนแล้วได้ใช้แน่ แต่ก็แปลกที่ไม่ค่อยมีการสอนเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยก็ไม่สอน โรงเรียนยิ่งแล้วใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เราต้องเจอ ต้องใช้แน่ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคนเราให้ความสนใจกับจุดหมายชีวิตมากเกินไป จนลืมปลายทางชีวิต แต่คนที่ฉลาดจะไม่ประมาท เพราะรู้ว่าปลายทางชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องมาถึง จึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

    จะว่าไปแล้วความตายก็คือการสอบไล่ครั้งสุดท้ายของวิชาชีวิต วิชาทุกอย่างต้องมีการสอบ วิชาชีพที่เราเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราต้องสอบอยู่เป็นประจำ เช่น สอบกลางภาค สอบปลายภาค เท่านั้นไม่พอ ยังมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบสมัครงานด้วย วิชาชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องสอบ และเป็นการสอบไล่จริง ๆ คือถ้าสอบไม่ได้ก็ตกจริง ๆ คือ ตกอบาย วิชาชีพ วิชาในโรงเรียน หากเราสอบตก ก็ไม่ได้ตกจริง แค่ซ้ำชั้น แถมได้รับอนุญาตให้สอบแก้ตัวได้ด้วย เช่น สอบซ่อม สอบเอนทรานซ์ไม่ได้ก็สอบใหม่ สอบสมัครงานไม่ได้ก็สอบใหม่ บางคนสอบเนติบัณฑิต สอบมา ๑๐ ปีแล้วก็ยังสอบอยู่ พระหลายรูปสอบประโยค ๙ มา ๒๐ ปีแล้ว สอบไม่ได้ก็ยังสอบอยู่ แต่วิชาชีวิตนั้นถ้าสอบไล่ไม่ได้ก็ตกจริง ๆ จะสอบแก้ตัวไม่ได้ ไม่มีการสอบซ่อม

    ยิ่งกว่านั้น การสอบไล่ในวิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า วิชาทางโลกหรือวิชาชีพที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน เมื่อจะสอบก็มีการประกาศล่วงหน้าทุกครั้ง บางครั้งล่วงหน้าเป็นปี ทำให้เรามีโอกาสเตรียมตัว สามารถวางแผนได้ เช่น อีก ๑ เดือนจะมีการสอบ เราอาจจะเที่ยวสัก ๒ อาทิตย์ จากนั้นก็ค่อยเตรียมสอบ แต่การสอบไล่วิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า เพราะฉะนั้นจะต้องพร้อมตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าฉันเป็นหนุ่มเป็นสาว กว่าจะได้สอบไล่วิชาชีวิตก็คงอีก ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือ ๕๐ ปี ถ้าคิดแบบนี้ถือว่าประมาทมาก

    มีภาษิตธิเบตกล่าวว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน” อย่าไปคิดว่ามีพรุ่งนี้แล้วค่อยมีชาติหน้า มีคนไทยประมาณ ๑,๖๐๐ คน ที่วันนี้คือวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็คือชาติหน้า เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะเป็น ๑ ใน ๑,๖๐๐ คนนั้นหรือไม่ ประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

    ถามตัวเองบ้างว่าวันนี้พร้อมตายหรือยัง ถ้าปลายทางชีวิตมาถึงวันนี้วันพรุ่ง พร้อมหรือเปล่า พร้อมที่จะเผชิญกับมันด้วยใจสงบหรือไม่ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ขอให้เตรียมตัวเสียแต่วันนี้ เตรียมตัวเสียแต่นาทีนี้

    :- https://visalo.org/article/dhammamata12_1.html
    blinkingskull.gif
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    BuddhaBlueSea.jpg
    ความจริงของชีวิตที่ต้องรู้

    พระไพศาล วิสาโล
    พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า

    ความจริงของโลกนี้ไม่ต่างจากใบไม้ในป่า แต่ความจริงที่นำมาสอนนั้นเปรียบได้กับใบไม้ในกำมือ

    ใบไม้ในกำมือ หมายถึง ความจริงที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีความสุขอย่างแท้จริง หรือเพื่อไกลจากความทุกข์ จนทุกข์ไม่สามารถทำอะไรจิตใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อให้เรารู้ว่า ความจริงในชีวิตและในโลกนี้มีมากก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องรู้หมด แค่รู้ในสิ่งที่สำคัญก็พอ

    ใบไม้นอกกำมือหรือใบไม้ในป่า นั้นอาจมีประโยชน์ แต่ไม่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ได้จริง หลายคนแม้มีความรู้มากแต่ก็ยังทุกข์อยู่ เพราะความรู้ที่รู้นั้นแม้เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงที่ช่วยดับทุกข์ได้ ยังไม่ต้องพูดถึง ความรู้ที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

    แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเรายังต้องทำมาหากินและเกี่ยวข้องกับโลกรอบตัว ความรู้เฉพาะเรื่องเฉพาะส่วน หรือความรู้ที่เป็นใบไม้ในกำมือนั้น แม้ช่วยดับทุกข์ได้ก็จริง แต่อาจจะยังไม่พอสำหรับการเลี้ยงชีพหรือหน้าที่การงาน บางคนอาจจะต้องเรียนรู้เรื่องดินฟ้าอากาศ สิงสาราสัตว์ บางคนอาจจะต้องรู้เรื่องทอผ้า สร้างบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการทำมาหากิน ซึ่งต้องอาศัยความจริง เราเรียกความรู้เหล่านี้ว่า ศาสตร์หรือวิชาการ ศาสตร์เหล่านี้เปรียบเหมือนใบไม้นอกกำมือ

    เดี๋ยวนี้เราสนใจแต่ใบไม้ในป่า จนลืมสนใจใบไม้ในกำมือ ที่พระพุทธเจ้าได้เลือกเฟ้นมาให้แล้ว

    มีสำนวนกล่าวว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด

    ความรู้ที่มีอยู่ท่วมหัวนั้นอาจเอามาใช้ในการทำมาหากินได้ แต่ไม่สามารถดับทุกข์ในใจได้ แม้จะมีอาชีพการงานที่มั่นคง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไกลจากความทุกข์ แม้เป็นเศรษฐีก็ต้องอาศัยความรู้ที่มีอยู่ในการทำมาหากิน แต่พอมีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ กลับไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ เพราะความรู้ที่มีนั้นส่วนใหญ่เอาไว้ใช้จัดการกับสิ่งนอกตัว จัดการกับธรรมชาติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม หรือจัดการกับผู้คน

    แต่ไม่ใช่ความรู้ที่ช่วยในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือจัดการกับจิตใจของตนเอง

    คนที่เรียนธรรมะมาพอสมควรจะคุ้นเคยกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งหมายถึง ความจริงอันประเสริฐ เป็นความจริงของชีวิตที่ช่วยดับทุกข์ หรือช่วยแก้ทุกข์ในชีวิตของเราได้ อริยสัจเป็นเพียงใบไม้หนึ่งใบไม้ในกำมือของพระพุทธเจ้า ความจริงเรื่องนี้อาจจะไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งภายนอก แต่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราเองได้

    อริยสัจ ๔ นั้นเริ่มต้นด้วยคำว่า ทุกข์ ทุกข์คืออะไร อยู่ที่ไหนบ้าง

    ทุกข์ หมายถึงความบีบคั้น ความพร่อง อยู่ที่กายและใจของเรา

    ความทุกข์ทางกาย นั้นชัดเจน เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย
    ความทุกข์ทางใจ เช่น ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ยังไม่ต้องพูดถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ

    ลองพิจารณาดู คนเราไม่ว่าจะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่ว่าเราไม่ค่อยใส่ใจที่จะทำความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ บางทีก็ถึงกับปฏิเสธ ไม่ยอมพูดถึงเลยก็มี เช่น ความตาย

    เกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย นี้คือความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบไม่ช้าก็เร็ว แต่คนจำนวนไม่น้อยจะไม่นึกถึงความจริงนี้ เวลามีใครพูดถึงความตายก็จะห้ามไม่ให้พูด เพราะถือว่าเป็นอัปมงคล แม้แต่คำว่า ความตายก็พูดไม่ได้ ต้องพูดว่า จากไป เสีย มรณะ หรือสิ้นลมแทน เพราะเรากลัวคำว่ความตาย

    ซึ่งก็สะท้อนถึงจิตใจที่ปฏิเสธความจริง

    ด้วยเหตุนี้คนปัจจุบันจำนวนไม่น้อยจึงอยู่แบบลืมตาย มีผู้คนมากมายที่ลืมไปว่าตัวเองต้องตาย พอได้ยินว่ามีคนตาย หรือมีคนพูดเรื่องความตายขึ้นมาก็สะดุ้ง เพราะทำให้ระลึกได้ว่าเราก็ต้องตาย จึงไม่อยากได้ยิน ไม่อยากพูดถึง

    คนที่อยู่แบบลืมตายจะพยายามทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง เพราะถ้าว่างเมื่อไหร่ จะหวนคิดเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงเห็นคนสมัยนี้ดูวุ่นไปหมด ทำงานให้วุ่น หรือถ้าว่างก็ไปเที่ยวห้าง ฟังเพลงสนุกสนาน ทำใจไม่ให้ว่าง คนเหล่านี้ไม่ตระหนักว่าถึงแม้จะอยู่แบบลืมตาย แต่ถึงอย่างไรก็เจอต้องเจอความตายอยู่วันยังค่ำ

    ความตายอาจจะไม่ได้มาทันที แต่จะมาอย่างช้าๆ อาทิ เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ไตวาย รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งหมดนี้เป็นโรคที่เป็นกันมากในปัจจุบัน ๗๐ –๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้คนในยุคนี้ในที่สุดก็จะป่วยด้วยโรคเหล่านี้ทั้งสิ้น

    หลายคนพอได้ยินหมอบอกว่าคุณมีก้อนมะเร็งในร่างกาย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่ระยะสุดท้าย ก็ตกใจ หมดเรี่ยวหมดแรง จากที่เคยสนุกสนานร่าเริงก็เปลี่ยนเป็นคนละคนทันที ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ กินไม่ได้ มีสภาพเหมือนคนตายทั้งเป็น คือมีลมหายใจ แต่ไม่มีชีวิตชีวา

    คนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัท ทำงานได้ตามปกติและยังเล่นเทนนิสเป็นประจำ อายุไม่ถึง ๔๐ ปี วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพประจำปี หมอตรวจเสร็จก็บอกว่าคุณหัวใจรั่ว พอได้ยินอย่างนั้นเขาก็ตกใจ เพราะเข้าใจว่าหัวใจรั่วนั้นหมายความว่าหัวใจของเขามีรูรั่ว และมีเลือดพุ่งออกมาเวลาหัวใจเต้น ก็เลยเสียขวัญ เพราะแบบนี้ก็หมายความว่าจะอยู่ได้ไม่นาน ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกว่า ลิ้นหัวใจของเขารั่ว ใครที่มีอาการแบบนี้ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ออกกำลังกายก็ได้ แต่เป็นเพราะเขาเข้าใจผิดและปรุงแต่งเกินเลย เขาก็เลยทรุด สองวันจากนั้นก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่นานก็เข้าห้องไอซียูแล้วก็ไม่กลับออกมาอีกเลย ที่จริงเขาไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่หลังจากที่รู้ข่าวจากหมอ เขาก็มีชีวิตไม่ต่างจากคนตายทั้งเป็น

    ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าหัวใจรั่วนั้นหมายถึงอะไร

    อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าสักวันหนึ่งฉันต้องตาย

    เมื่อเข้าใจผิดว่าฉันกำลังจะตายก็เลยทำใจไม่ได้ วิตกกังวลอย่างหนัก จนร่างกายทรุดลงอย่างรวดเร็ว นี้เป็นผลของการไม่ยอมรับความจริงของชีวิต ว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกคน บางคนไม่ยอมรับแม้กระทั่งว่า วันหนึ่งจะต้องเจ็บป่วย หลายคนยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ตัวเองกำลังแก่ พอเห็นว่า ผิวหนังที่เต่งตึงเริ่มเหี่ยวย่น ผมเริ่มหงอก ตาเริ่มฝ้าฟาง กำลังวังชาลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะผู้ชายพอเตะปี๊บไม่ดังก็มีความทุกข์มาก จิตใจกระสับกระส่าย

    นี่เป็นผลของการไม่ยอมรับความจริง

    ความเจ็บ ความแก่ และความตายเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของความจริง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่กว่าจะเห็นก็ต้องใช้เวลา ความแก่กว่าจะปรากฏให้เห็นก็อายุประมาณ ๓๐ หรือ ๔๐ ปี ความเจ็บอาจจะแสดงตัวเมื่ออายุมากกว่านั้น และตามมาด้วยความตาย อาจจะเกิดขึ้น ๓๐ ถึง ๔๐ ปีข้างหน้า หรืออาจเกิดขึ้นพรุ่งนี้ก็ได้ แต่มีความจริงอีกหลายอย่างที่เราต้องประสบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกวันนี้เราอาจไม่ค่อยมีความทุกข์ทางกายนัก เช่น ความร้อน ความหิว อาจจะมีความปวดเมื่อยบ้าง แต่ไม่นานก็หายไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องเจออยู่บ่อย ๆ นั่นคือความทุกข์ใจ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีความพลัดพรากสูญเสีย เงินหาย โทรศัพท์ถูกขโมย สมบัติถูกโกง หรือถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิ งานการล้มเหลว

    ความทุกข์ใจคือสิ่งที่เราต้องเจอเป็นประจำ ทั้งนี้มีสาเหตุแค่สองประการเท่านั้น คือประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก นี้คือความจริงที่เราหนีไม่พ้น ที่จริงมีอีกข้อหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสถึงก็คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ แต่อาตมาจะไม่พูดถึงข้อนี้มากนัก เพราะถึงแม้เราจะไม่ปรารถนาอะไรเลยก็หนีความจริงสองประการแรกไม่พ้น ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับสี่เรื่อง ดังนี้

    1. ร่างกาย เช่น ความแก่ ความเจ็บป่วย อาจจะรวมถึงความพิการด้วย หรือว่าสวยน้อยลง บางคนมีสุขภาพดี แต่พอหน้ามีสิว ผิวเป็นฝ้าก็ทุกข์แล้ว
    2. ทรัพย์สมบัติ เช่น เงินหาย รายได้น้อย ถูกโกง
    3. การงาน รวมถึงการเรียน เช่น ได้งานที่ไม่ชอบ ตกงาน ได้เกรดน้อย
    4. ความสัมพันธ์ เช่น อกหัก ทะเลาะกับเพื่อน เจ้านายไม่รัก ถูกติฉินนินทา รวมถึงเรื่องเสียหน้า ข้ามหน้าข้ามตา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    การประสบกับสิ่งไม่รัก และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นความจริงของชีวิต ที่ไม่มีใครหนีพ้น การที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เป็นผลจากความจริงที่ว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ทุกสิ่งย่อมตกอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เราเรียกความจริงข้อนี้ว่า อนิจจัง และอนิจจังก็โยงกับความจริงอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ความแปรเปลี่ยนนี้ด้านหนึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ขณะเดียวกันมันก็เป็นผลจากความบีบคั้น ความเสื่อมสลาย ของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เราเรียกความบีบคั้น ความเสื่อมสลาย ว่า ทุกขัง

    อนิจจัง ทุกขังเป็นความจริงของชีวิตข้อใหญ่ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่เรามักละเลยความจริงสองข้อนี้ไป คือทั้งลืมและไม่ยอมรับความจริงดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อเกิดความแปรเปลี่ยนขึ้นมา เกิดความพลัดพรากสูญเสีย รวมไปถึงความแก่ ความเจ็บ เราก็เลยมีความเศร้าโศก คับข้อง ร่ำไรรำพัน กลัดกลุ้มใจ พูดง่าย ๆ คือ ทุกข์ใจ

    เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในทางลบเกิดขึ้นกับร่างกาย ทรัพย์สมบัติ การงาน และความสัมพันธ์ ผู้คนย่อมมีความทุกข์ใจ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ลำพังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ทำให้เราทุกข์ใจได้ ที่เราทุกข์ก็เพราะความยึดติดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น พอมันแปรเปลี่ยนไป หรือพลัดพรากจากเราไป เราก็เลยทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่น ถึงแม้มันจะเปลี่ยนแปลงไป เราก็ไม่ทุกข์ เช่น เงินหาย รถหาย ถ้าเราไม่ยึดมั่นว่าเป็นเงินของเรา รถของเรา เราก็ไม่ทุกข์ นั่นคือเหตุผลที่ว่าเวลารถของคนอื่นหาย หรือลูกของคนอื่นตาย เราจึงไม่ทุกข์ เราจะทุกข์ต่อเมื่อเงินที่หายนั้นเป็นของเรา คนที่ตายนั้นเป็นลูกของเรา เพื่อนของเรา

    เราทุกข์เพราะมีความยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อยึดมั่นแล้วก็อยากจะให้มันอยู่ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น อยากให้ร่างกายนี้เป็นหนุ่มเป็นสาวเสมอ แข็งแรงตลอดเวลา อยากให้ทรัพย์สมบัติอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร์ เมื่อยังมีความยึดติดอย่างนี้ จึงเป็นทุกข์เวลาร่างกายเจ็บป่วย เวลาบ้านทรุด รถพัง หรือเมื่อสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้

    หรือในยามที่ต้องประสบกับสิ่งที่เราไม่รัก เช่น คำตำหนิ หรือความเจ็บป่วยเมื่อยอมรับความจริงไม่ได้ เราจะไม่ทุกข์กายแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะทุกข์ใจด้วย เช่น เมื่อเสียเงินจะไม่ใช่แค่เสียเงินอย่างเดียวแต่เสียใจด้วย หรือมีปัญหาเรื่องงานก็ไม่ใช่แค่เสียงานอย่างเดียวแต่เสียใจด้วย

    คำว่า ยึดติด มีความหมายหลายแง่มุม ที่สำคัญคือความยึดอยากจะให้มันเที่ยง หรืออยากให้เป็นไปอย่างที่เราหวัง ดังนั้นเมื่อถูกตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ เราจึงทุกข์ เพราะปรารถนาคำชม ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือเข้าคณะที่มีชื่อเสียงไม่ได้ เราก็ทุกข์ ที่เราทุกข์ไม่ใช่เป็นเพราะเขาสอบไม่ได้ แต่เป็นเพราะมันสวนทางกับความอยากหรือความคาดหวังของเรา เมื่อยึดติดกับความคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นไปตามความคาดหวังนั้น เราก็ทุกข์ ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่คาดหวัง หรือไม่ยึดติดในความคาดหวังนั้น แม้เขาไม่ได้เราก็ไม่ทุกข์ เหมือนกับที่เราไม่ได้เดือนร้อนเมื่อลูกของเพื่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลยเกี่ยวกับเขา

    ความยึดติดนี้เอง คือความจริงอีกประการที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เรียกว่าสมุทัย สาเหตุที่มีความยึดติดก็เพราะหลง ไม่รู้ความจริง นั่นคืออวิชชา

    หลวงพ่อชา สุภัทโท พูดไว้เป็นกลอนกระชับมากว่า
    ทุกข์มีเพราะยึด
    ทุกข์ยืดเพราะอยาก
    ทุกข์มากเพราะพลอย
    ทุกข์น้อยเพราะหยุด
    ทุกข์หลุดเพราะปล่อย”

    ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ข้อนี้สำคัญมาก คำพูดของหลวงพ่อชาชี้ให้เห็นความจริงในส่วนที่เป็นสมุทัยและนิโรธ ทุกข์มีเพราะยึด คือสมุทัย ส่วน ทุกข์หลุดเพราะปล่อย คือนิโรธ กล่าวคือ คนเราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะปล่อยวาง ที่เราปล่อยวางได้ก็เพราะมีปัญญาเห็นว่าไม่มีอะไรที่ยึดถือได้เลยสักอย่าง ปัญญาทำให้ตระหนักว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ยึดถือไม่ได้เลย จึงเลิกยึด ไม่หยิบ ไม่ฉวย และปล่อยทุกอย่างที่เคยยึดเคยฉวย
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    การไม่ยึดเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถึงแม้คนเราต้องแก่ เจ็บ และต้องตาย แต่ความจริงเหล่านี้จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลยถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่นในตัวตน แต่ที่เราทุกข์เมื่อต้องแก่ เจ็บป่วย และตายก็เพราะเรามีความยึดอยู่ลึกๆ ว่าฉัน ต้องไม่แก่ ต้องไม่เจ็บ ต้องไม่ป่วย ต้องไม่ตาย คือเรายึดว่ามันเที่ยง ความแก่ความเจ็บความตายไม่ใช่ตัวการแห่งความทุกข์ใจ ตัวการแห่งความทุกข์ใจ คือใจที่ยึดอยาก ให้มันเที่ยง หรือยึดอยากให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ ถ้าเข้าใจตรงนี้เราก็จะพบว่า ความทุกข์ของคนเรานั้นอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งนอกตัว ไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บความป่วยด้วยซ้ำ

    หลายคนเป็นมะเร็งแต่ยังยิ้มได้ เพื่อนของอาตมาเป็นมะเร็งเต้านมและเสียชีวิต ในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายเธอป่วยหนักจนต้องนอนอยู่บนเตียง เธอปฏิเสธที่จะเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน เธอได้พูดไว้กับพวกเราว่า ช่วงสองปีหลังเป็นช่วงที่เธอมีความสุขมาก

    ทำไมคนที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ใกล้ตาย จึงมีความสุขได้

    ก็เพราะประการแรกเขายอมรับความจริงได้ว่าความเจ็บป่วยและความตายเป็นเรื่องธรรมดา ประการต่อมาก็คือเมื่อรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ใจก็เริ่มปล่อยวาง เพราะรู้ว่าเมื่อตายแล้วก็ต้องทิ้งสิ่งทั้งปวง เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ขณะเดียวกันแม้ยังไม่ตาย แต่ถ้ายึดถือก็เป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อใกล้ตาย มีอะไรก็ปล่อยหมด รวมทั้งสิ่งที่ค้างคาใจ อย่างเพื่อนของอาตมา เธอมีสิ่งใดที่ค้างคาใจกับแม่ก็พูดกับแม่จนหมด ทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็สะสางจนหมดสิ้น ไม่มีอะไรต้องกังวล สองสามอาทิตย์สุดท้ายเธอบอกว่า ไม่โลภ ไม่โกรธแล้ว ไม่โกรธแม้กระทั่งมะเร็ง คนทั่วไปเวลาป่วยจะรู้สึกโกรธ เช่น โกรธมะเร็ง แต่เธอไม่มีความรู้สึกเช่นนี้กับก้อนมะเร็งเลย เธอเรียกมันว่า คุณก้อนมะเร็ง เราต่างคนต่างอยู่นะ เธอไม่โกรธ ไม่โลภ มีเพียงความหลงที่ยังละไม่ได้

    นี่เป็นตัวอย่างว่า คนที่เจ็บป่วยแต่มีความสุขนั้น เป็นไปได้ เพราะจริงๆ แล้วสุขหรือทุกข์ที่แท้นั้นอยู่ที่ใจปล่อยวางหรือยึดติดถือมั่นแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา

    มีคนไข้คนหนึ่งไปหาหมอ ตัวซีดและผอมมาก หมอเห็นก็สั่งตรวจเลือดทันที พอผลตรวจเลือดออกมา หมอก็บอกคนไข้ว่า ลุงเป็นเบาหวาน ปรากฏว่าลุงยิ้มจนแก้มปริ หมอสงสัยเลยถามว่า ลุงเป็นเบาหวานนะ ต้องกินยาตลอดชีวิต ทำไมลุงถึงยิ้ม ลุงบอกว่า จะไม่ให้ยิ้มได้อย่างไร ตอนแรกผมคิดว่าเป็นโรคเอดส์ เลยดีใจที่เป็นแค่เบาหวาน

    ทั้ง ๆ ที่เป็นเบาหวาน แต่ลุงกลับดีใจ เพราะผลตรวจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เมื่อคาดหวังในทางที่เลวร้าย แล้วไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ก็ทำให้มีความสุข

    ย้อนกลับมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ถ้าเราคาดหวังสิ่งที่แย่ๆ แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ทำให้สุขได้เหมือนกัน ในทำนองเดียวกันถ้าเราไม่ยึดติดกับความคาดหวัง มีอะไรเกิดขึ้นเราก็สามารถวจะเป็นสุขได้

    จะเห็นได้ว่า ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราวางใจอย่างไร เมื่อตระหนักชัดว่าความยึดติด เป็นที่มาแห่งความทุกข์ แทนที่เราจะโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นตัวการแห่งความทุกข์ เราควรจะย้อนกลับมาดูที่ใจของเราเอง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยมองนัก เวลามีความทุกข์ ส่วนใหญ่จะโทษว่าเป็นเพราะคนอื่น เพราะเขาด่าเรา แกล้งเรา โกงเงินเรา เอาเปรียบเรา กินแรงเรา ยิ่งคิดก็จิตใจยิ่งขุ่นเคืองเพราะอยากตอบโต้ อยากแก้แค้น เกิดโทสะขึ้นมา นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ตระหนักเลยว่าตัวการแห่งความทุกข์นั้นอยู่ที่ใจของเรา

    นี่คือความจริงข้อหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าจัดอยู่ในข้อที่เรียกว่า สมุทัย

    ใครว่าอะไรเรา ถ้าเราฟัง ไม่เก็บเอามาคิดก็ไม่ทุกข์ ที่เราทุกข์ ก็เพราะไม่ยอมปล่อยให้คำพูดนั้นผ่านเลยไป เราจะหวนคิดถึงคำพูดและการกระทำของเขา แล้วย้ำคิดย้ำนึก ทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น แต่ก็ยังโทษว่าเราทุกข์เพราะเขา ไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นเพราะใจของเราต่างหาก เปรียบเหมือนเรามีเศษแก้วอยู่ในมือ เพียงแค่พลิกมือลงเศษแก้วก็หลุดมือไป แต่เราไม่ยอมพลิก เท่านั้นไม่พอ เรายังกำแล้วบีบด้วย บีบแล้วบีบเล่า ผลก็คือเศษแก้วบาดมือจนรู้สึกเจ็บ เลือดไหลซิบ ๆ แล้วเราก็โทษเศษแก้วว่าทำให้ฉันเจ็บ ฉันปวด

    ที่จริงแล้วถ้าเราไม่กำหรือบีบเศษแก้วนั้น มือเราก็ไม่เป็นอะไร แต่เราเจ็บเพราะเรากำหรือบีบมันเอง ดังนั้นจึงไม่ควรโทษเศษแก้ว แต่ควรโทษตัวเองที่ไปกำและบีบมันเอาไว้

    คำพูดของบางคนก็เหมือนเศษแก้ว ถ้าเราวางมันเสีย หรือไม่ย้ำคิดย้ำนึกถึงคำพูดเหล่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะใจที่หวนนึกคิดถึงมันบ่อย ๆ ไม่ยอมปล่อยวาง เราเลยทุกข์และเจ็บปวด

    คิดดูก็แปลก อะไรที่เราไม่ชอบ เรากลับยิ่งยึดติด ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งนึกถึงคนนั้น สังเกตไหมเวลามือเราถูกน้ำปลาหรือถูกขี้หมา มันเหม็นใช่ไหม เราทำอย่างไร เราก็รีบล้างมือ แล้วเราทำอะไรต่อ ก็เอามือมาดม ถ้ายังมีกลิ่นก็ล้างต่อ เสร็จแล้วก็ดมมืออีก เราไม่ชอบกลิ่นเหม็น แต่ยิ่งไม่ชอบ กลับยิ่งดม ดมแล้วดมเล่า

    ยิ่งเกลียด ก็ยิ่งนึกถึง ยิ่งผลักไส มันก็ยิ่งผุดโผล่

    เวลาโดนยุง เห็บหรือหมัดกัด เรารู้สึกคันใช่ไหม ก็เลยเกา แต่ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน เราเกาเพื่อให้มันหายคัน แต่กลับคันยิ่งกว่าเดิม ยิ่งพยายามกำจัดความคัน กลับคันหนักขึ้น แต่ถ้าคันแล้วปล่อยมัน ดูมันเฉยๆ จะพบว่าความคันค่อย ๆ หายไป และหายไปเร็วยิ่งกว่าเกาเสียอีก

    เมื่อเราโกรธใคร เวลานึกถึงเขาจะรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เรากลับชอบคิดถึงเขาอยู่เรื่อย กินก็คิด นอนก็คิด ในงานแต่งงานคนเป็นร้อย ถ้าคนที่เราโกรธเข้ามาในงาน เราจะจับจ้องไปที่เขาทันที สายตาจะสอดส่ายว่าเขาทำอะไร คุยกับใคร ทั้งๆ ที่เราไม่ชอบเขา แต่ไม่สามารถวางสายตาจากเขาได้ เห็นเขาคุยกับคนโน้นคนนี้ก็ทุกข์ เพราะสงสัยว่าเขากำลังนินทาเราหรือเปล่า เราจะไม่ยอมละวางสายตาจากเขา ในทำนองเดียวกัน เวลามีเพื่อนมาบอกว่า สมทรงนินทาเธอนะ พอได้ยินอยากนี้เราอยากรู้ทันทีว่า สมทรงพูดถึงเราว่าอย่างไร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาพูดถึงเราในทางไม่ดีแน่ แต่ก็อยากรู้ พอรู้เข้าก็จะโกรธทันที บางทีรู้ทั้งรู้ว่าถ้าได้ยินแล้วก็จะโมโห แต่ก็ยังอยากรู้อยากได้ยิน

    ความอยากรู้นี้ก็เป็นความยึดติดอย่างหนึ่ง

    เราไม่ได้ยึดติดแต่สิ่งที่เราชอบเท่านั้น อะไรที่เราไม่ชอบเราก็ยึดติด อยากรู้ อยากเห็น อยากได้ยิน ครั้นได้รู้ เห็น ได้ยิน ก็เป็นทุกข์ เสร็จแล้วก็โทษว่าเขาทำให้เราทุกข์ แต่กลับมองไม่เห็นว่าเป็นเพราะใจของเราต่างหากที่ดิ้นรน อยากรู้อยากเห็น และยึดมันเอาไว้

    ความยึดติดนี่แหละเป็นที่มาของความทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี การที่เรายึดติด ไม่ยอมวาง ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ ก็ยัง แส่ส่ายดิ้นรน เข้าหา กอดฉวยมันเอาไว้ เป็นเพราะเราไม่มีสติ ไม่รู้ตัว หรือลืมตัว พูดอีกอย่าง เรายึดเพราะหลง

    ตอนแรกอาตมาพูดว่า เราทุกข์เพราะไม่ยอมรับความจริง ว่าอะไรๆ ก็แปรเปลี่ยน ไม่เที่ยงแท้ ที่เรายึดสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ก็เพราะเราไม่ยอมรับความจริง แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งก็คือความลืมตัว เราเลยดิ้นรนแส่ส่ายเข้าไปกอดถ่านร้อน ๆ หรือโจนเข้าไปในกองไฟ ลองสังเกตว่าเวลามือเราถูกไฟหรือของร้อน เราดึงมือกลับทันที แต่พอใจเราถูกไฟโทสะ ใจกลับจมแช่อยู่ในไฟโทสะนั้น เช่น เวลาโกรธเมื่อได้ยินคำด่าว่าของใครบางคน แทนที่เราจะถอนใจออกมาจากความโกรธหรือจากคำพูดของคน ๆ นั้น ใจเรากลับจดจ่อหมกมุ่นอยู่กับคำพูดเหล่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้เราโกรธและเป็นทุกข์มากขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ยอมปล่อยวางคำพูดเหล่านั้น เป็นเพราะลืมตัวเราจึงยึดติดในสิ่งที่เป็นโทษแก่ตัวเอง

    มาถึงตรงนี้ อริยมรรคเป็นความจริงที่เราควรรู้คือ โดยเฉพาะสัมมาสติ ถ้าเรามีสติ ก็จะไม่ลืมตัว จะไม่เผลอยึดสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จะปล่อยวางได้เร็วเพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์

    ความลืมตัวเป็นที่มาของความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ศีลข้อ ๕ ไม่เสพสุรายาเมา จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะน้ำเมาทำให้หลง ทำให้ให้ลืมตัว อย่างไรก็ตามความหลงหรือลืมตัวจนขับรถชนคน ทำร้ายผู้คน ทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นความหลงแบบหยาบๆ ความหลงที่ละเอียดกว่านั้นก็มี เช่น หลงเพราะถูกความโกรธครอบงำ ทำให้ลืมตัว

    มีผู้คนมากมายที่ทำร้ายกันเพราะความหลง หรือเพราะความลืมตัว โดยไม่มีน้ำเมามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่มาก เช่นทำร้ายกันก็เพราะถูกความโกรธครอบงำ แต่ทันทีที่สติเกิดขึ้น ความลืมตัวหายไป การทำร้ายก็เกิดขึ้นได้ยาก มีเรื่องเล่าว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ ผู้ปกครองล้วนเป็นคนมีเงิน เวลาเลิกเรียนจะมีรถยนต์จำนวนมากมายมารับเด็กจนรถติดเป็นแพ โรงเรียนนี้มีกฎว่าให้ขับรถทางเดียว ปรากฏว่ามีผู้ปกครองคนหนึ่งไม่ยอมทำตามกฎ ขับรถเข้าโรงเรียนตรงประตูทางออก ทำให้เข้าถึงที่จอดรถอย่างรวดเร็ว ซึ่งเผอิญเหลืออยู่เพียงที่เดียว ผู้ปกครองอีกคนหนึ่งซึ่งเกือบจะได้ที่จอดรถแล้วแต่โดนแย่งไป เกิดความไม่พอใจ เลยออกจากรถมาต่อว่าคน ๆ นั้นที่ไม่ขับรถตามกฎ ผู้ปกครองคนนั้นเป็นนายทหารเมื่อถูกต่อว่าก็โกรธ ถามกลับไปว่า รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร ก็ได้รับคำตอบว่า ผมไม่สนใจหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำไม่ถูกต้อง ไม่ทำตามกฎ ว่าแล้วก็เดินกลับไปที่รถ

    ไม่เคยมีใครพูดแบบนี้กับนายทหารคนนี้มาก่อน จึงโกรธมาก กลับไปเอาปืนที่รถ แล้วเดินตามผู้ปกครองที่มาต่อว่าตน โชคดีที่ตอนนั้นมีพลเมืองดีเห็นเหตุการณ์ เขาเป็นพนักงานขับรถของโรงเรียน ซึ่งมีปฏิภาณดีมากและแก้ปัญหาอย่างนี้ได้หลายครั้ง พนักงานคนนี้เข้าไประงับเหตุทันที โดยเดินไปหานายทหารแล้วแตะแขนเขา พร้อมกับพูดว่า “ท่านครับ ท่านมารับลูกไม่ใช่หรือครับ” พอได้ยินคำว่าลูก นายทหารคนนั้นก็มีสติกลับมาทันที พอรู้ตัวว่ากำลังจะทำอะไรลงไป แกก็เปลี่ยนใจ กลับมาที่รถเอาปืนเก็บ

    ตอนที่นายทหารกำลังเดินตามผู้ปกครองที่มาต่อว่าตนนั้น แกกำลังหน้ามืด ลืมตัว ลืมทุกอย่าง ใจคิดอย่างเดียว คือ คิดยิงคนนั้นให้หายแค้น แต่พอมีคนมาเตือนเรื่องลูก สติก็กลับมา พอสติกลับมา ความโกรธก็หายไปทันที เพราะรู้เลยว่าถ้ายิงแล้วจะเกิดอะไรกับลูก

    สติทำให้จิตหลุดจากความโกรธ เป็นวิธีจัดการกับความโกรธที่ดีกว่าการกดข่มมัน เมื่อมีสติ ก็จะเกิดความรู้ตัวตามมา ทำให้ปล่อยวางอารมณ์อกุศลทั้งหลาย เพราะดังที่ได้พูดเมื่อกี้ว่า เรายึดอารมณ์อกุศลไว้ก็เพราะความลืมตัว ทั้ง ๆ ที่มันทำให้ทุกข์ ก็ไม่ยอมปล่อย แต่พอมีสติ มีความรู้ตัว ก็จะปล่อยมันไปเอง เพราะเห็นว่ามันเป็นโทษ ฉะนั้นสติจึงเป็นสำคัญมาก เป็นองค์มรรคที่จะช่วยให้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เคยยึดหรือแบกเอาไว้

    อารมณ์ต่าง ๆ นั้นไม่เป็นปัญหาเลยหากเราไม่ยึดหรือแบกมันเอาไว้ คำด่าว่า คำตำหนิก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลยหากเราไม่ยึดมันเอาไว้ ที่จริงเวลาเรามีความทุกข์เพราะอารมณ์หรือคำพูดเหล่านี้ ถ้ารู้ตัวและพิจารณาให้ดีจะพบว่า สาเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้ก็คือ ความยึดติดนี้เอง เราสามารถเห็นสมุทัยได้เวลามีความทุกข์ใจเกิดขึ้น มองในแง่นี้ความทุกข์ก็สามารถสอนธรรมหรือเปิดเผยให้เราเห็นธรรมได้
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    พูดอีกอย่างก็คือ ความทุกข์ รวมทั้ง ความโกรธ สามารถเป็นอาจารย์ให้แก่เราได้ ความเจ็บ ความป่วย ความตายก็เช่นกัน เป็นอาจารย์ที่สอนธรรมให้แก่เรา คือสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง และถ้ามีสติ หันกลับมาดูใจบ่อยๆ จะเห็นความจริงอีกข้อหนึ่ง คืออนัตตา ด้วย เพราะไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราเลย ถ้ามีปัญญาจนเห็นว่าร่างกายและใจก็ไม่ใช่เรา เวลาเจ็บป่วยแล้วเรารู้สึกทุกข์ก็เพราะยึดว่ามีตัวมีตน คือสำคัญมั่นหมายฉันป่วย แต่ถ้ามีสติ และมีปัญญา ก็จะเห็นว่า ที่ป่วยนั้นคือกายป่วย ไม่ใช่เราป่วย ไม่ใช่เราป่วย ที่แก่คือกายแก่ ไม่ใช่เราแก่ ที่ตายเป็นกายที่สลายไป ไม่ใช่เราตาย เพราะว่าไม่มีตัวฉันที่เจ็บ ไม่มีตัวฉันที่ตาย เมื่อมีปัญญารู้เช่นนี้ ใจก็จะอยู่เหนือความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ คือไม่ทุกข์ แต่ก็มีบางท่านปล่อยวางได้เพราะมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งว่า สังขารนี้เป็นทุกข์ ไม่น่ายึดน่าถือเลย

    ในพุทธประวัติมีเรื่องราวของพระสาวกหลายท่านที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่เจ็บป่วย มีทุกขเวทนาบีบคั้นมาก เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ อีกท่านที่เรารู้จักดี คือพระติสสะ ซึ่งเป็นที่มาของตำนานของบังสุกุลเป็น เรื่องราวของท่านมีอยู่ว่า ท่านอาพาธมีแผลพุพองเต็มตัว หนองไหล ส่งกลิ่นเหม็น จนกระทั่งพระด้วยกันก็ดูแลไม่ไหว ท่านถูกทิ้งให้นอนจมกองหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นที่น่าเวทนามาก พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาดูแลพระติสสะ ทรงทำความสะอาด เช็ดร่างกาย เอาจีวรมาซัก มาต้ม ด้วยพระองค์เอง ส่วนพระติสสะนั้นพอพระพุทธเจ้ามาช่วยดูแล จิตใจก็สบายขึ้นแต่ทุกขเวทนายังบีบคั้นเหมือนเดิม หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสเป็นคาถา เป็นที่มาของบังสุกุลเป็น ว่า

    อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิงอะธิเสสสะติ
    ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัดถัง วะ กะลิงคะรังฯ

    ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เมื่อปราศจากวิญญาณ ก็ล้มนอนทับแผ่นดิน เหมือนกับท่อนไม้ หาประโยชน์มิได้

    พระติสสะพิจารณาตามจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะเดียวกับที่หมดลม การที่ท่านบรรลุธรรมได้ก็เพราะเห็นแจ่มแจ้งว่าสังขารนี้เป็นทุกข์เหลือเกิน ไม่น่ายึดถือเลย เมื่อเห็นเช่นนี้ใจก็ปล่อยวางสังขารอย่างสิ้นเชิง

    ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คือความทุกข์นั้นเป็นอาจารย์ที่สามารถกระตุ้นให้เราเลิกยึดติดและหันมาปล่อยวาง ซึ่งนำเราไปสู่ความโปร่ง ความเบา ความเป็นอิสระ หรือนิโรธ ได้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรู้เท่าทันและมีปัญญาเห็นความจริงคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามลำดับ เป็นสิ่งสำคัญมากในการช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ แม้อยู่ท่ามกลางความทุกข์ ท่ามกลางความแปรปรวน ความผันผวน แต่ไม่ทุกข์ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นกับกาย เกิดขึ้นกับสิ่งนอกตัว แต่ไม่กระเทือนถึงใจ ใจไม่ทุกข์ไปด้วย

    เรื่องความจริงของชีวิตที่กล่าวมา ถ้าเราจับหลักได้และปฏิบัติให้ถูก แม้ต้องเจอกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ก็สามารถที่จะยกจิตให้เหนือความทุกข์ได้ สามารถอยู่ในโลกนี้ด้วยใจที่ปกติ เรียกว่าเจอทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์
    ............ RoseUnderline.gif
    :- https://visalo.org/article/dhammamata7_2.htm
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddhateaching (3).jpg
    ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่

    พระไพศาล วิสาโล
    เงินทอง เวลา และสุขภาพ คือสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา หากมีครบทั้งสามอย่างชีวิตย่อมมีความสุข และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มาก แต่กล่าวโดยทั่วไปใหญ่แล้ว การที่เราจะมีทั้งสามอย่างครบถ้วนในเวลาเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก

    มีผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ดีมากว่า เมื่อเรายังเด็ก เรามีเวลาและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเงิน เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เรามีเงินและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเวลา ครั้นแก่ตัว เรามีเงินทองและเวลา แต่สุขภาพไม่ค่อยดี

    ผู้ใหญ่ทุกคนคงจำได้ดีว่า ตอนเป็นเด็กนั้น เรามีเวลาวิ่งเล่นได้ทั้งวัน กำลังวังชาล้นปรี่ แต่ถ้าอยากได้ของเล่นสักอย่าง ช่างยากเย็นเหลือเกิน เพราะไม่มีเงิน ขอพ่อแม่ก็มักถูกปฏิเสธ แต่เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ มีงานทำ ชีวิตมีความสะดวกสบาย มีปัญญาหาเงินซื้อทุกอย่างที่อยากได้ แต่กลับไม่ค่อยมีเวลาใช้ของเหล่านี้ รวมทั้งเวลาพักผ่อนหรืออยู่กับครอบครัว เพราะมัวแต่ทำมาหากิน

    แต่เมื่อเข้าสู่เข้าวัยชรา เกษียณจากการงาน เราก็จะมีเวลาเหลือเฟือ เงินที่เก็บไว้ก็มีไม่น้อย แต่ถึงตอนนี้สุขภาพไม่อำนวยให้ทำอย่างที่อยากทำได้ จะไปเที่ยวไหนก็ไม่สะดวกเหมือนก่อน จะกินตามใจปากก็ไม่ได้เพราะถูกโรคร้ายคุกคาม

    ใช่หรือไม่ว่า ชีวิตนี้หาความสมบูรณ์พร้อมได้ยาก มักจะมีบางอย่างขาดหายไปเสมอ เมื่อดิ้นรนจนได้สิ่งใหม่มา สิ่งเก่าก็พลันสูญหายไป จะเรียกว่าชีวิตนี้มีความพร่องเป็นนิจก็ได้ ใครที่ต้องการความสมบูรณ์พร้อมจากชีวิต ก็เตรียมใจพบกับความผิดหวังได้เลย

    แทนที่จะมัวไขว่คว้าหาสิ่งที่ยังไม่มี ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามีอยู่กับตัว อย่าลืมว่าสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ สักวันหนึ่งก็จะสูญหายไป หรือกลายเป็นของหายากขึ้นมา ถ้าปล่อยปละละเลยสิ่งนั้น วันหน้าก็จะเสียใจเมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากไปจากเรา

    ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักว่าสิ่งที่ตนมีอยู่ตอนนี้ วันหน้าจะกลายเป็นอดีต เรามักทึกทักเอาเองว่าอะไรที่เรามีนั้นจะอยู่กับเราไปตลอด ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่า หาไม่ก็ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย เช่น เด็กและวัยรุ่น มักจะใช้เวลาที่มีอยู่มากมายไปอย่างเปล่าประโยชน์ พอโตเป็นผู้ใหญ่ถึงค่อยมานึกเสียดายเวลาที่ผลาญไปในวัยเด็ก แต่แล้วผู้ใหญ่เองกลับไม่ค่อยถนอมสุขภาพ ใช้ร่างกายอย่างไม่บันยะบันยัง เอาแต่ทำมาหากินจนไม่ได้พักผ่อน ยิ่งเครียดก็ยิ่งหันเข้าหาอบายมุข กินเหล้า สูบบุหรี่ หรือเที่ยวกลางคืน กว่าจะรู้ตัวว่าทำอะไรกับร่างกายของตนเองก็ต่อเมื่อถูกโรคนานาชนิดเล่นงาน

    เมื่อถึงวัยชราหลายคนย่อมนึกเสียใจที่ก่อนหน้านั้นไม่รู้จักถนอมรักษาสุขภาพ ถึงตอนนี้มีเวลามากมายแต่ไม่มีแรงจะทำอะไรแล้ว จึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ นั่งเหม่อลอยหวนคิดถึงแต่อดีต หรือปล่อยใจไปกับความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่เขาอาจจะลืมไปว่าเวลาที่มีอยู่มากมายในวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่เหลือแม้แต่นาทีเดียว เพราะความตายมาพราก ถึงตอนนั้นอาจนึกเสียดายที่ไม่ได้ทำหลายอย่างที่ควรทำ โดยเฉพาะการเตรียมใจรับมือกับความตาย
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สิ่งที่เรามีมากมายจนล้นเหลือ เรามักไม่เห็นคุณค่า ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป เราจึงจะซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด พึงระลึกไว้เสมอว่า ทั้งหมดที่คุณมีอยู่ตอนนี้ จะไม่อยู่กับคุณไปตลอด ดังนั้นจึงควรรู้จักชื่นชมสิ่งเหล่านี้ และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้จะมีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม แต่หากใช้ให้เป็น ก็สามารถสร้างสุขแก่เราได้

    ถึงจะมีแต่เวลาและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเงิน เราก็ยังสามารถใช้เวลาและกำลังวังชาให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตัวเองและผู้อื่นได้ เช่นศึกษาหาความรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีเงินมีสุขภาพ แต่ไม่มีเวลา ก็ยังมีความสุขได้หากรู้จักใช้เงินและสุขภาพอย่างถูกต้อง เช่น ใช้เลี้ยงตนและดูแลผู้อื่นให้ผาสุก ในทำนองเดียวกัน ถึงจะมีเวลาและเงิน แต่สุขภาพไม่ค่อยดี ก็ใช่ว่าชีวิตจะไม่มีความสุข หากรู้จักใช้เวลาที่มีนั้นในการฝึกฝนจิตจนเกิดสติและปัญญา

    ความสุขและความดีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำต้องมีเวลา สุขภาพ และเงินทองครบทั้งสามประการ แม้มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากรู้จักใช้ ก็บันดาลให้เกิดความสุขและความดีได้ จะว่าไปแล้วมีชีวิตจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามประการนี้ แต่หากมีความสุขและความดีแล้ว ชีวิตก็ย่อมเต็มอิ่ม จิตใจจะไม่รู้สึกพร่องเลย

    ใช้ชีวิตโดยตระหนักว่าทุกอย่างที่มีนั้นจะต้องจากเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิตแล้ว ยังช่วยให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเพียงแค่รู้จักชื่นชมสิ่งที่มี จิตใจก็เป็นสุขทันที
    :- https://visalo.org/article/secret255303.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เสียของ – ของเสีย
    พระไพศาล วิสาโล
    เมืองไทยสมัยก่อน วัดวาอารามมีให้เห็นทุกมุมเมือง แต่เวลานี้ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของเมืองสิ่งที่เห็นจนเจนตา ย่อมได้แก่ศูนย์การค้าอย่างไม่ต้องสงสัย มิใช่แต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ศูนย์การค้าได้กลายเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ของเมืองไปแล้ว แม้เมืองใหญ่น้อยทั้งหลายในอีก ๗๕ จังหวัดก็เห็นจะขาดสิ่งนี้เสียไม่ได้แล้ว แม้บางเมืองจะไม่มีกำลังสร้างอาคารทันสมัยหรือตึกสูงหลายชั้นติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ก็ต้องหาทางเนรมิตตึกแถวในตลาดให้กลายเป็นศูนย์การค้าให้ได้ โดยเรียกอย่างโก้หรูว่า “อาเขต” เพื่อไม่ให้น้อยหน้าที่อื่น

    พร้อมๆ กับศูนย์การค้า ร้านค้าอย่างใหม่ก็กำลังไล่ตามมาในรูปร้านมินิมาร์ท เชนสโตร์ แม้แต่ร้านชำก็เปลี่ยนรูปแปลงโฉมให้เป็นคอนวีเนียนท์สโตร์ เสียจนทั่วกรุง แต่นอกจากร้านค้าแล้ว มีใครเคยนึกไหมว่าร้านอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เกลื่อนเมือง จนกระทั่งเวลานี้แม้แต่ในหมู่บ้านหลายแห่งก็เปิดร้านอาหารกันแล้วทั้งๆ ที่มีคนอยู่ไม่ถึงร้อยครัวเรือน กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตลาดโต้รุ่งมีไม่กี่แห่ง แต่ปัจจุบันอย่าว่าแต่กรุงเทพฯ เลย มีมุมไหนของหัวเมืองใดบ้างที่ปลอดร้านอาหารโต้รุ่ง

    มักพูดกันว่าคนไทยนั้นไม่ค่อยจริงจังกับอะไรเท่าไร ข้อนี้เห็นจะต้องเถียง เพราะอย่างน้อยก็มีอย่างหนึ่งที่คนไทยเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง นั่นคือการกินและจับจ่ายใช้สอย แม้จะดึกดื่นเพียงใดเราก็ยังแบกสังขารไปร้านอาหารหรือเสพสุรากันได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนต่างชาติเวลามาเมืองไทยย่อมอดสะดุดใจไม่ได้ที่คนไทยช่างมีความสุขกับการกินและการช็อปปิ้งเหลือเกิน

    ไม่ว่าคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทยจะมีทัศนะอย่างไร แต่ถึงวันนี้เห็นจะต้องยอมรับว่าการใฝ่เสพใฝ่บริโภคได้กลายเป็นลักษณะประจำชาติไทยไปแล้ว กระนั้นก็ตามเอกลักษณ์ดังกล่าวหาใช่นิสัยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ เมื่อนิโคลาส์แชรแวสมาเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์เขาประทับใจอย่างมากกับความสมถะของคนไทย ดังได้บันทึกว่า “ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแค่น้ำเท่านั้น แล้วก็กินข้าวหุง ผลไม้ ปลาแห้งเล็กน้อย แล้วยังกินไม่ค่อยจะอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งที่สามารถจะซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา”

    ชาวตะวันตกคนอื่นๆ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน การที่คนไทยมัธยัสถ์เช่นนั้นมิใช่เพราะอาหารมีน้อย แท้ที่จริงกลับตรงข้าม แชรแวสบรรยายว่า “ปลานั้นชุกชุมมากเหลือเกิน จับชั่วโมงหนึ่งพอกินได้ไปหลายวัน” แต่แล้วคนไทยกลับพอใจที่จะกินปลาแห้งและปลาร้ายิ่งกว่าปลาสดทั้งๆ ที่หาได้ง่ายมาก ความข้อนี้สอดคล้องกับบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับแชรแวส “แม่น้ำลำคลองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงามๆ แต่ชาวสยามไม่สู้จะนิยมบริโภคปลาสดกันนัก” บาทหลวงเดอชัวซีย์ ซึ่งมาเจริญทางพระราชไมตรีสมัยพระนายราณ์ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “(ปลา)มีอยู่เป็นอันมากในแม่น้ำ เวลาลงอาบน้ำมักว่ายมาชนแข้งชนขาเรา นี่เป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียว”

    นอกจากปลาแล้ว สัตว์ชนิดอื่นก็มีอยู่มาก แต่คนไทยก็หาได้ไล่ล่ามาเป็นอาหารไม่ ดัง ลาลูแบร์บันทึกว่า “ในกรุงสยาม มีสัตว์ป่าที่จะเป็นอาหารอยู่เป็นอันมากและสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหารได้ก็มีอยู่มาก เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่และนก แต่ชาวสยามไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์อื่นใดนอกจากปลา” แม้หลังจากนั้นถึง ๒๐๐ ปี ในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คาร์ล ซิมเมอร์แมนก็ประสบพบเห็นสิ่งเดียวกัน ภายหลังการสำรวจสภาพชนบทกว่า ๓๐ จังหวัดในเวลา ๑ ปี เขาตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ในที่ต่างๆ มีอาหารหลายอย่างบริบูรณ์ หรือในที่ซึ่งชาวจีนฆ่าสัตว์ขาย ราษฎรก็ไม่สู้นิยมอาหารเนื้อนัก และยังคงใช้ข้าวเป็นอาหารประจำวันตามเคย โดยมากเป็ดไก่และเนื้อสดบริโภคกันเฉพาะวันหยุดงานและในเวลาทำบุญเท่านั้น”

    คนสมัยนี้มักเข้าใจว่าความประหยัดมัธยัสถ์นั้นเป็นคุณค่าที่เกิดจากความจำเป็นบีบบังคับ เช่นอาหารมีน้อย ทรัพยากรขาดแคลน เป็นเพราะทุกวันนี้ฝนฟ้าแปรปรวน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขยะกำลังจะล้นเมือง เราจึงหันมาเรียกร้องให้ช่วยกันประหยัดน้ำไม่ใช้ไฟอย่างฟุ่มเฟือย และลดการใช้ถุงพลาสติก แต่สำหรับคนสมัยก่อนความประหยัดมัธยัสถ์เป็นคุณธรรมโดยตัวมันเอง แม้ปลาจะมีอยู่มากมาย ลงไปหว่านแหเมื่อไร ก็ได้ปลามากินเมื่อนั้น แต่เขาก็กินเท่าที่จำเป็นและใช้ประโยชน์จากทุกอย่างที่หามาได้ ด้วยเหตุนี้ปลาที่จับมาได้ ถ้ากินไม่หมดก็ไม่ทิ้งให้เสียของ หากเอามาหมักหรือตากแห้งไว้กินต่อ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนแต่ก่อนจะกินปลาแห้งหมักมากกว่าปลาสด
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,216
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สมัยก่อนไม้ในป่ามีอยู่มากมายมหาศาล แต่บ้านของคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เรือนฝากระดาน หรือเรือนขัดแตะมุงหลังคาจาก มิได้สร้างอย่างใหญ่โตด้วยได้แผ่นหนาและเสาต้นอวบ โดยที่ไม้แต่ละต้นที่ตัดมาก็ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน เช่นเดียวกับสัตว์ป่าหากล่ามาได้ แม้แต่กระดูกก็ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า ทั้งๆ ที่ป่าเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์นานาชนิด เวลาเข้าป่าหาหน่อไม้และสมุนไพร ก็ตัดแต่พอกินพอใช้เท่านั้น

    นิสัยการบริโภคของคนไทยแต่ก่อนนับว่าผิดจากสมัยนี้แทบจะสิ้นเชิง อะไรที่มีมากหาได้ง่ายก็ตักตวงมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายแทบจะล้างผลาญกันเลยทีเดียว ป่าจึงหมดอย่างรวดเร็ว สัตว์นานาชนิดจึงสูญพันธุ์ ปลาที่ถูกทิ้งลงทะเลเพราะเอาไปขายไม่ได้ ใครรู้ว่าบ้างว่าปีหนึ่งๆ รวมกันแล้วมีกี่พันกี่หมื่นตัน ขณะเดียวกันน้ำก็เน่าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกระดาษและถุงพลาสติกก็กลายเป็นขยะเกลื่อนเมือง แม้แต่ในชนบทการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยก็กำลังระบาดเข้าไปอย่างรวดเร็ว เศษไม้ตามหัวไร่ปลายนาและในป่าถูกทิ้งเกลื่อนกลาด เพราะสนใจแต่ตัวเสาและขื่อคาไม้กระดานเท่านั้น

    น่าศึกษาว่าคนไทยเริ่มตีตัวหนีห่างจากความประหยัดมัธยัสถ์ตั้งแต่เมื่อไร ในหนังสือเรื่อง เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต ฉัตรทิพย์ นาถสุภาชี้ว่า ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หรือเมื่อร้อยปีที่แล้ว ก็เริ่มพบแล้วว่าคนไทยในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาใช้เงินมือเติมขึ้น เงินที่หาได้จากการขายข้าวนอกจากจะหมดไปการกับซื้อเสื้อผ้าและอาหาร เช่น ปลาทูเค็ม ปูเค็ม หมากพลู ยาสูบ พริก หอม กระเทียมแล้ว ยังใช้ไปกับการจัดงานบวชอย่างใหญ่โต รวมทั้งงานแต่งงาน ขนาดต้องล้มวัวล้มควาย(ผลที่ตามมาคือสูญเสียที่ดินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นหนี้สิน) โดยที่เราต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นขึ้นไป ชาวบ้านล้วนทอผ้าหรือจับปลากินเองรวมถึงการปลูกพืชสวนครัวเองด้วย เช่นเดียวกับที่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่กันเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะสำนึกในเรื่องบาปบุญยังมีอิทธิพลอยู่มาก

    ที่ชาวบ้านใช้เงินมือเติบนี้ เข้าใจว่าเป็นเพราะเพิ่งมีเงินเป็นกอบเป็นกำนั่นเอง และที่เงินสะพัดเข้าไปในหมู่บ้านได้ก็เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจระบบตลาด ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ชาวนาในภาคกลางก็เปลี่ยนจากการปลูกข้าวไว้กินเอง มาเป็นการปลูกข้าวเพื่อขาย การทอผ้าเริ่มลดลงเช่นเดียวกับการปลูกพืชรอง ชาวบ้านต้องพึ่งตลาดมากขึ้นสำหรับสิ่งของที่จำเป็นแก่การยังชีพ จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติสาสตร์ที่ชาวบ้านได้กลายเป็น “ผู้บริโภค”

    ในเศรษฐกิจระบบตลาด เงินตราคืออำนาจ แต่ก็ดังที่ลอร์ดแอกตัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ “อำนาจมักทำให้เสื่อมถอย” เงินตราที่ได้มา ได้กัดกร่อนนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ในหมู่คนไทยลงไปเรื่อยๆ อำนาจในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่รู้ประมาณ ความสุขจากการบริโภคได้กลายเป็นสิ่งเสพติด มิหนำซ้ำคุณค่าแห่งความสันโดษยังถูกทำลายอย่างเป็นระบบในสมัยจอมพลสฤษดิ์(พระทั่วประเทศถึงกับถูกกำชับไม่ให้สอนคุณธรรมข้อนี้ ด้วยถือว่าขัดขวางการพัฒนา) ผลก็คือคนไทยในยุคนี้ได้กลายเป็นนักช็อปปิ้งหรือ“เซียมตือ” (หมูสยาม) ซึ่งลือชื่อไปทั่วโลก

    จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมมาระบาดอย่างจริงจังในเมืองไทยก็ระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้เองเห็นจะได้ คนที่มีอายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไปเมื่อตอนเด็กๆ อาจจะคุ้นกับคำสอนของพ่อแม่ว่าให้กินข้าวเกลี้ยงจาน หาไม่จะ ”เสียของ” สิ่งของต่างๆ แม้แต่น้ำประปา เราถูกสอนให้ใช่เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เสียของ คำว่า “เสียของ” ได้กลายเป็นคำที่เด็กแต่ก่อนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่เดี๋ยวนี้คำๆ นี้แทบจะเลือนหายไปแล้วจากชีวิตสมัยใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน “ของเสีย” จึงเกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นปัญหาไปทั่ว

    ปัญหาของเสียและมลภาวะทั้งหลายไม่อาจจะแก้ได้เลย หากเราไม่สำนึกเรื่อง “เสียของ” ในด้านหนึ่งสำนึกดังกล่าวหมายถึงการบริโภคอย่างประหยัดมัธยัสถ์รู้จักประมาณเพื่อไม่ให้มีส่วนเกินส่วนเหลือโดยใช่เหตุ แต่อีกด้านหนึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่า สิ่งที่หมดประโยชน์ใช้สอยในด้านหนึ่งมักมีประโยชน์ในอีกด้านหนึ่งเสมอ กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองด้านแม้จะเอามาขีดเขียนไม่ได้อีก ก็ยังสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้และเครื่องประดับได้มากมาย น้ำล้างจานมิใช่ของไร้ค่า เพราะสามารถรดน้ำต้นไม้ได้ ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอานนท์ได้รับจีวรผืนใหม่มา จีวรผืนเดิมที่เก่าคร่ำคร่า ก็มิได้ทิ้ง หากทำเป็นผ้าห่มส่วนผ้าห่มผืนเดิมก็เปลี่ยนเป็นผ้านุ่ง ขณะที่ผ้านุ่งผืนเก่าแปรสภาพเป็นผ้าปูนอน เช่นเดียวกับผ้าปูนอนผืนเดิม ทำเป็นผ้าปูพื้นและผ้าปูพื้นผืนเดิมถูกใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า และแม้แต่ผ้าเช็ดเท้าผืนเดิมที่ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว ก็ยังมีประโยชน์โดยเอามาสับแล้วผสมกับดินเหนียวทาเป็นผนังกุฏิได้อีก โดยนัยนี้จึงไม่มีของเสียแม้แต่น้อย เพราะทุกอย่างถูกใช้อย่างไม่ให้เสียของ ไม่เกินไปเลยที่จะกล่าวว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าของเสียในสังคมที่รู้จักมัธยัสถ์ใฝ่สันโดษ

    จริงอยู่สมัยก่อนจีวรเป็นของหายาก จึงต้องใช้อย่างมัธยัสถ์ที่สุด แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเมื่อคนยุคนี้สามารถผลิตผ้าได้มากมาย เราจึงสมควรใช้อย่างฟุ่มเฟือย ถ้าเห็นด้วยกับตรรกะนี้ ก็สมควรส่งเสริมให้พระฉันอาหารได้หลายมื้อเหมือนกับโยมเพราะสมัยนี้เราสามารถผลิตอาหารได้มากมายก่ายกองอย่างที่ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล แท้ที่จริงความสันโดษเรียบง่ายนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะนอกจากจะเอื้อให้มนุษย์ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อความเจริญงอกงามในทางจิตใจแล้ว ยังอำนวยให้บุคคลได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มกำลังความสามารถอีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ยิ่งกว่าที่จะเบียดเบียนเพื่อปรนเปรอความสุขทางกายอย่างหาความพอดีไม่ได้

    ความก้าวหน้าของยุคสมัยไม่น่าจะวัดกันที่สมรรถนะในการผลิตสินค้าอาหารและบริการเท่านั้น หากควรดูที่ความสามารถในการเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งต่างๆ มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ต่อเมื่อคนยุคนี้สามารถแปรสารพิษจากควันโรงงานต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยทิ้งให้กลายเป็นมลพิษในอากาศ เราจึงจะบอกได้ว่ายุคนี้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนในทางเทคโนโลยี นิมิตดีก็ตรงที่เวลานี้สิ่งที่เคยเป็นของเสียจากโรงงาน สามารถหมุนเวียนมาเป็นประโยชน์ได้ใหม่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากพัฒนาการในทางเทคโนโลยีนานาประเภท อย่างไนก็ตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและแรงกดดันจากรัฐรวมทั้งผู้บริโภค พัฒนาการขั้นต่อไปก็คือการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยสำนึกในความประหยัด มัธยัสถ์และสันโดษ

    แต่สำนึกดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อระบบการผลิตได้ ก็ต่อเมื่อสังคมยอมให้สำนึกเช่นนี้หยั่งรากลึก จุดเริ่มจึงอยู่ที่ประชาชน แม้จะปฏิเสธความเป็นผู้บริโภคได้ยาก แต่การเป็นผู้บริโภคที่ดี ก็มิได้หมายความว่า นิยมซื้อหาแต่สินค้าปลอดสารพิษ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลองเท่านั้น หากน่าจะไปถึงขั้นที่รู้จักประมาณ คือบริโภคเท่าที่จำเป็น รู้จักสันโดษคือพึงพอใจในสิ่งที่ตนมี มิใช่คอยแสวงหาความสุขจากการซื้อและการเสพเท่านั้น บ่อยครั้งการไม่ซื้ออะไรเลยนั้นสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าการเลือกซื้อสินค้าสีเขียวเสียอีก ใช่แต่เท่านั้นการรู้จักใช้สิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่าไม่ให้เสียของ ยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วยโดยไม่สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

    :- https://visalo.org/article/chaladsue_4.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...