บทความให้กำลังใจ(คำสอนสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    HappyWhenLetGo.jpg
    ปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ

    พระไพศาล วิสาโล
    คำสอนทั้งปวงในพุทธศาสนา ถึงที่สุดแล้วมุ่งไปสู่การปล่อยวาง เพราะปล่อยวางได้เมื่อไร ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการปล่อยวาง คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า หมายถึงถึงอยู่เฉย ๆ งอมืองอเท้า นี่เป็นความเข้าใจผิด ปล่อยวางแบบพุทธหมายถึงปล่อยวางที่ใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือยึดมั่นให้มันเป็นไปตามใจเราก็จริง แต่ก็ต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยความรับผิดชอบ เช่น ร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จึงควรปล่อยวาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดูแล ร่างกายไม่ใช่ของเราก็จริง แต่เราต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเราในการทำความดี เหมือนกับเรือที่จะพาเราข้ามฟาก เราก็ต้องดูแลเอาใจใส่ ถ้ารั่วก็ต้องอุด ถ้าเสียก็ต้องรู้จักซ่อมแซม เรารู้อยู่ว่าเมื่อถึงฝั่งแล้วเราจะไม่แบกเอาเรือไปด้วย แต่ในขณะที่ยังไม่ถึงฝั่งเราก็ต้องดูแล คอยซ่อมแซมเพื่อนำเราไปถึงจุดหมายให้ได้ เรามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมดูแลเรือ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่เรือของเราก็เลยปล่อยวางไม่สนใจ ถ้าเช่นนั้นเราจะถึงจุดหมายได้อย่างไร

    มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินไปตรวจตราตามกุฏิพระ เห็นพระรูปหนึ่งนั่งหลบฝน เนื่องจากหลังคารั่ว ฝนจึงหยดลงมา หลวงพ่อชาก็เลยถามว่า ทำไมไม่ซ่อมหลังคาล่ะ พระรูปนั้นบอกว่าผมปล่อยวางครับ หลวงพ่อชาก็เลยบอกว่า ปล่อยวางกับวางเฉยแบบงัวแบบควายนั้นไม่เหมือนกัน

    ผู้คนมักคิดว่าวางเฉยแบบงัวแบบควายเป็นการปล่อยวางแบบพุทธ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด ปล่อยวางเป็นเรื่องภายในใจ แต่หน้าที่การงานเราก็ต้องทำตามสมควรแก่เหตุปัจจัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตัวเราเองและต่อผู้อื่นด้วย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต)ได้สรุปสั้นๆ ว่า ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องการทำ “จิต” ส่วนการทำงานต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องการทำ “กิจ” ในเมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ ในแง่จิตใจเราจึงควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง แต่ขณะเดียวกันอะไรที่สมควรทำเราต้องรีบทำ ไม่เฉื่อยแฉะเฉื่อยเนือย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา การทำกิจนั้นบางทีท่านก็เรียกว่าความไม่ประมาท

    ความไม่ประมาทกับการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แม้อากัปกิริยาภายนอกทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แต่ภายในใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา พร้อมอยู่เสมอที่จะเผชิญกับความผันผวน พร้อมที่จะเจอความล้มเหลว เพราะรู้ว่าเหตุปัจจัยต่างๆ มีมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ เวลาทำงานก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี่มันเป็นงานของเรา ใครจะมาแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เวลาทำอะไรก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าผลต้องออกมาอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าไม่ออกมาตามที่หวัง ฉันโมโห ฉันโกรธ ฉันท้อแท้ ผิดหวัง ท่าทีเช่นนี้จะทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย

    เดี๋ยวนี้เราทำด้วยความยึดมั่นกันมาก ยึดมั่นว่าเป็นของเราก็เลยทำ ถ้าไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำ หรือว่ายึดมั่นในผล เวลาทำอะไรก็ตามก็วาดหวังหรือหมายมั่นว่าผลจะต้องออกมาอย่างนี้จึงจะมีกำลังใจทำ ถ้าทำโดยไม่ต้องพะวงถึงผลข้างหน้า แต่ทำตามเหตุตามปัจจัยหรือมุ่งประกอบเหตุให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ แบบนี้ทำไม่เป็น ต้องมีแรงจูงใจคือเอารางวัลหรือเอาผลที่สวยงามมาล่อให้มีกำลังใจ นี้ไม่ใช่วิธีการทำงานแบบพุทธ ท่าทีที่ถูกต้องแบบพุทธคือทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเอาความสำเร็จหรือรางวัลมาล่อ แต่ทำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า และน่าทำ ขณะที่ทำจิตก็อยู่กับปัจจุบัน พร้อมเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ล้มเหลวก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง แต่งานล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว เพราะว่าเราไม่ได้เอาตัวตนไปผูกติดไว้กับงาน ใครมาวิจารณ์งานก็ไม่ทุกข์ไม่เสียใจ เพราะไม่ได้ยึดติดว่างานนี้เป็นตัวกูของกู

    ทำงานอะไรก็ตาม พึงทำด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบ โดยไม่ถือว่างานนั้นเป็นตัวกูของกู ทำเสร็จแล้วก็มอบผลงานให้เป็นของธรรมชาติไป ไม่ยึดว่าเป็นเราหรือของเรา คำสรรเสริญเยินยอและชื่อเสียงเกียรติยศที่เกิดขึ้นก็มอบให้แก่ธรรมชาติ หรือมอบให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นของเรา ใครสรรเสริญก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม ใครมาตำหนินินทาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของเราตั้งแต่ต้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเวลาทำงานเรามักคาดหวังผล แถมยังไปยึดติดกับคำสรรเสริญเยินยอและคำนินทาว่ากล่าว จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข

    การปล่อยวางหมายถึงว่าเราไม่เข้าไปยึดในผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ภายนอกอาจจะไม่ได้ปฏิเสธ แต่ภายในใจนั้นไม่รับอยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสทั้งพูดทั้งเขียนมาตลอดว่าสมณศักดิ์เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีความหมายสำหรับท่าน ท่านขอเป็นทาสของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว แต่ว่าเมื่อท่านทำงานให้พระศาสนา จนเจริญในสมณศักดิ์เป็นลำดับ จากพระครู เลื่อนเป็นพระราชาคณะสามัญ แล้วก็เป็นชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม สุดที่พระธรรมโกศาจารย์ เคยมีลูกศิษย์มาแนะอาจารย์พุทธทาสว่า สมณศักดิ์เหล่านี้ท่านน่าจะคืนเขาไป ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า จะคืนได้อย่างไร ก็เรายังไม่ได้รับมาตั้งแต่แรกจะคืนได้อย่างไร คือแม้ทางราชการจะให้สมณศักดิ์และพัดยศมาแต่ใจท่านไม่ได้รับเลย จะเป็นชั้นไหนก็ไม่เคยรับมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปคืนเขา
    ถ้าเราวางใจได้อย่างนี้ เวลาทำงาน ได้รับคำสรรเสริญเราก็ไม่รับมาเป็นของเรา หรืออาจจะถือไว้แต่ไม่ได้เอามาสวมใส่ ทำได้แบบนี้จะรู้สึกสบาย โปร่งเบา เมื่อถึงเวลาที่เขาตำหนิติฉินเราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะว่าเราไม่ได้รับตั้งแต่แรก เมื่อมีคนชมก็ไม่เพลินหรือหลงตัว เมื่อถูกตำหนิก็ไม่เสียใจ สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเราทำใจด้วยใจที่ปล่อยวางแล้ว เราจะทำงานด้วยใจที่สบาย อิสระ โปร่งเบา และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่สบายแล้วเฉื่อยชาเฉื่อยแฉะ ตรงข้าม เราทำเต็มที่ เพราะความสุขคือการอยู่กับปัจจุบัน แม้ทำงานก็มีความสุข สุขอยู่ที่งานไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน ยิ่งมีสติและสมาธิด้วยแล้ว จะทำงานอย่างมีความสุขมาก แม้ผลจะยังไม่ปรากฏก็ตาม ถ้าทำงานด้วยท่าทีเช่นนี้ ผลของงานจะไม่มีอิทธิพลต่อเรามากนัก เราจะทำด้วยความสุข และด้วยสำนึกว่า มันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทำเพราะว่ามันเป็นของเรา

    การปล่อยวางและการทำงานด้วยความรับผิดชอบ หรือทำด้วยความไม่ประมาท เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมให้เป็นอันเดียวกันให้ได้ อย่าไปแยกกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการปล่อยวางตามอำนาจของกิเลสหรือความหลง มิใช่ปล่อยวางเพราะมีปัญญา
    :-
    https://visalo.org/article/bkkB000001.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    Cup of Coffee | Mr Bean Full Episodes | Mr Bean Official

    Mr Bean
    58,975,468 views Jun 30, 2019

    That looks like a nice cup of coffee Mr Bean!
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    DisappointmentGood.jpg
    ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์

    พระไพศาล วิสาโล
    ชีวกโกมารภัจจ์ หรือ “หมอชีวก” เป็นบุคคลที่แพทย์แผนไทยทุกคนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาชนิดที่หาใครเทียบได้ยากแล้ว ท่านยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า มีผลงานมากมายจารึกไว้ในพระไตรปิฎก

    เกร็ดประวัติตอนหนึ่งของท่านซึ่งเล่าขานสืบต่อกันมาก็คือ หลังจากที่ท่านได้ศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักสิลาเป็นเวลานานถึง ๗ ปี ท่านอยากรู้ว่าต้องเรียนอีกนานเท่าใดจึงจะจบการศึกษา อาจารย์จึงทดสอบความรู้ของท่านด้วยการให้ท่านถือเสียมไปตรวจดูว่าบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลามีอะไรบ้างที่ไม่ใช่ตัวยา ท่านตรวจอยู่นานก็หาไม่พบ เมื่อกลับมาบอกอาจารย์ อาจารย์จึงว่าท่านสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับกรุงราชคฤห์

    ในสายตาของผู้รู้อย่างหมอชีวก แม้กระทั่งวัชพืชที่ใคร ๆ มองเห็นว่าไร้ค่า น่ารังเกียจ หรือมีพิษ อาทิ หญ้าคา ไมยราบ อุตพิด ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น นอกจากประโยชน์ใช้สอยทั่ว ๆ ไป เช่น มุงหลังคา ทำรั้ว ยังสามารถทำเป็นยารักษาโรคได้ด้วย

    จะว่าไปแล้วสิ่งที่หมอชีวกค้นพบนั้นสะท้อนความจริงที่กว้างกว่านั้นก็คือ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไร้ประโยชน์เลย อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือรู้จักใช้มากน้อยเพียงใด อะไรก็ตามที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ หรือเป็นโทษนั้น แท้จริงเป็นเพราะเรามองไม่เป็นหรือไม่รู้จักใช้ต่างหาก

    ความจริงที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งที่เราเห็นด้วยตาสัมผัสด้วยมือเท่านั้น หากยังรวมถึงทุกอย่างที่เราประสบหรือทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งสิ่งที่เรารังเกียจหรือทำความทุกข์ให้แก่เรา ใช่หรือไม่ว่าความยากลำบากทำให้เราเข้มแข็ง ส่วนความล้มเหลวก็ให้บทเรียนที่ปูทางไปสู่ความสำเร็จในวันหน้า แม้แต่ความพิการก็ช่วยให้ศักยภาพของอวัยวะส่วนอื่นที่ปกติพัฒนาขึ้น คนตาบอดจำนวนไม่น้อยพบว่าหูและสัมผัสของตนไวขึ้นชนิดที่คนธรรมดาเทียบไม่ได้ คนปัญญาอ่อนไม่น้อยมีความจำเป็นเลิศ บางคนจำหนังสือได้ถึง ๙,๐๐๐ เล่ม!

    ยิ่งประโยชน์ในทางธรรมด้วยแล้ว กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเลยที่เอามาใช้ในการพัฒนาจิตใจไม่ได้ รอยยิ้มของหญิงสาวที่กระตุ้นราคะของใครหลายคนนั้น เมื่อมองด้วยสายตาที่ใคร่ครวญของพระลกุฏกภัททิยะ ก็ทำให้ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีได้ เช่นเดียวกับพระติสสะที่บรรลุอรหัตผลเมื่อบังเอิญได้ฟังเสียงเพลงของนางทาสี

    ในทำนองเดียวกันสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็มีประโยชน์ทางธรรมไม่น้อย คำต่อว่าด่าทอนั้นนอกจากเป็นแบบฝึกหัดสร้างขันติและฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจแล้ว ยังสอนเรื่องโลกธรรมให้แก่เราด้วยว่าสรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน คำตำหนิติฉันเป็นธรรมดาโลก ของหายแต่ละครั้งสอนใจให้เราระมัดระวัง มีสติ และตระหนักถึงความจริงว่าความพลัดพรากเป็นธรรมดาโลก เพราะไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ส่วนโรคภัยไข้เจ็บก็บอกเราว่าสังขารนี้ไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และบังคับบัญชาไม่ได้

    แม้แต่อารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเศร้า ก็ล้วนเป็นอุปกรณ์สำหรับการปฏิบัติธรรม นอกจากช่วยฝึกสติให้ว่องไวปราดเปรียว สามารถรู้ทันและปล่อยวางมันอย่างทันท่วงทีแล้ว การเห็นความเกิด-ดับและสาเหตุของความเกิด-ดับ ยังทำให้เกิดปัญญาจนเห็นสัจธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างแจ่มแจ้ง

    เจออะไรก็มีประโยชน์ทั้งนั้นหากรู้จักมอง แต่เป็นเพราะเรามองไม่เป็น เมื่อเจอสิ่งไม่พึงปรารถนา จึงปล่อยให้มันทำร้ายจิตใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือถึงกับหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต แต่ถึงจะทุกข์อย่างไร ก็ไม่สายที่จะหาประโยชน์จากมัน โดยเฉพาะการเปิดใจรับสัจธรรมจากมัน แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีสติ เห็นทุกข์ ไม่เผลอเป็นผู้ทุกข์

    หากเห็นมันอย่างแจ่มแจ้ง สัจธรรมที่มันเผยแสดงออกมาย่อมช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ในที่สุด
    :- https://visalo.org/article/secret255901_2.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    Brycecanyontop.jpg
    ปัญญาพาสุข
    พระไพศาล วิสาโล
    ----------------------------------------------------------

    เมื่อพูดถึงสุขภาวะหรือความปกติสุข คนทั่วไปมักนึกว่าเป็นเรื่องทางกายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สุขภาวะทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุขภาวะทั้งหมดของมนุษย์

    มนุษย์นั้นมีทั้งกายและใจ นอกจากนั้นเราแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลถึงสุขภาวะของเราทุกคน

    ด้วยเหตุนี้สุขภาวะจึงมีอย่างน้อย ๓ ด้านคือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางสังคม อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “ใจ”นั้นยังสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ จิต และปัญญา จิตนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ส่วนปัญญา เกี่ยวข้องกับความรู้และความคิด ดังนั้นสุขภาวะทางใจนั้น จึงสามารถจำแนกได้เป็นสุขภาวะทางจิต และสุขภาวะทางปัญญา

    สุขภาวะทางปัญญา หมายถึงความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ปัญญาในที่นี้นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อ และความเห็น ที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้านคือ คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง

    ๑. คิดดี หมายถึงการมีความคิดความเชื่อและความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือมีเหตุผล เช่น
    เห็นว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น หรือเห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การทำความดี มิใช่การสะสมวัตถุ ชื่อเสียง หรืออำนาจ

    ๒. คิดเป็น หมายถึง รู้จักคิดหรือพิจารณา ทำให้เห็นความจริง สามารถแก้ปัญหาหรือทำ
    กิจต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ เช่น คิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถสืบสาวหาสาเหตุ และมองเชื่อมโยงถึงผลที่อาจเกิดขึ้น ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ หลงตามสิ่งเย้ายวน หรือเอนเอียงตามอคติ

    ๓. เห็นตรงหมายถึง มีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้วางใจได้อย่างถูกต้อง ไม่
    ก่อหรือซ้ำเติมให้เกิดทุกข์ เช่น มองเห็นว่ามีความสุขอย่างอื่นที่ลึกซึ้งกว่าความสุขทางวัตถุ หรือเห็นว่าสุขหรือทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของตน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก และมองเห็นสิ่งทั้งหลายว่าแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเที่ยงแท้ยั่งยืน และไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา

    ในปัจจุบัน “คิดดี คิดเป็นและเห็นตรง” กำลังกลายเป็น “ต้นทุน”ที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ คอร์รัปชั่นแพร่ระบาด อาชญากรรมเกลื่อนเมือง อบายมุขทุกมุมเมือง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ครอบครัวหย่าร้าง วัยรุ่นเสียคน โรคเครียดลุกลาม

    ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายประการ รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่หากกล่าวจำเพาะปัจจัยทางด้านทัศนคติหรือความคิดความเชื่อของผู้คนแล้ว จะพบว่ามีทัศนคติสำคัญ ๔ ประการที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าว ได้แก่

    ๑.การคิดถึงแต่ตนเองเป็นสำคัญ คือถือเอาความต้องการและความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ โดยไม่เปิดใจรับฟังความเห็นที่ต่างไปจากตน และไม่สนใจว่าการกระทำของตนจะก่อผลกระทบต่อผู้อื่นหรือส่วนรวมอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท เบียนเบียน และเอารัดเอาเปรียบกันได้ง่าย นอกจากนั้นทัศนคติดังกล่าวยังถือว่า “ความถูกใจ” สำคัญกว่า “ความถูกต้อง” จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เพียงก่อปัญหาแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นโทษต่อตัวเองด้วย เช่น เอาแต่เที่ยวเตร่ จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ หรือเล่นการพนันจนเป็นหนี้สินมากมาย

    ๒.การยึดติดกับความสุขทางวัตถุ คือถือว่าความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุเท่านั้น จึงหมกมุ่นกับการแสวงหา ครอบครอง และเสพวัตถุ แม้ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่ายิ่งมีมากเสพมาก ก็ยิ่งเป็นสุขมาก ทัศนคติดังกล่าวทำให้เห็นว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต นอกจากนำไปสู่การแย่งชิงและเอาเปรียบกันแล้ว ยังก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวและความทุกข์ในตนเอง เนื่องจากไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน อีกทั้งไม่สนใจที่จะแสวงหาความสุขสงบในจิตใจ หรือความสุขที่ประณีต

    ๓.การหวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด คือความปรารถนาที่จะบรรลุความสำเร็จโดยไม่ต้องเพียรพยายาม แต่อาศัยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชควาสนา เมื่อไม่เห็นว่าความเพียรของตนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกำหนดชีวิตของตน จึงมีความคิดที่พร้อมจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ตามที่ลัดสั้น แม้เป็นวิธีการที่มิชอบ เพียงเพื่อให้บรรลุความต้องการโดยเฉพาะความมั่งคั่งร่ำรวย ผลก็คือไม่เพียงไสยศาสตร์เฟื่องฟูและการพนันแพร่ระบาด หากยังเกิดการคอร์รัปชั่นในทุกวงการ รวมไปถึงการทุจริตในการสอบ การกระทำใดที่ใช้ความเพียรหรือน้ำพักน้ำแรงของตนอย่างถูกต้องชอบธรรมถูกมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดและพึงหลีกเลี่ยง

    ๔.การคิดอย่างไม่ถูกวิธี คือการไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือวิเคราะห์วิจัยเพื่อเข้าใจความจริงทุกแง่มุม แต่มองแบบเหมารวมตีขลุม ลัดขั้นตอน หรือตัดสินไปตามความชอบความชัง จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของอารมณ์และอคติ นอกจากทำให้มองความเป็นจริงอย่างคลาดเคลื่อนแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้สำเร็จ หรือแก้ปัญหาของตนให้ลุล่วงไปได้ กลับทำให้ปัญหาลุกลามขยายตัว เพราะคิดแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปเป็นคราว ๆ เท่านั้น

    การขจัดทุกข์ และสร้างสุขจะเกิดขึ้นได้ในสังคมก็ต่อเมื่อมีทัศนคติ ๔ ประการมาแทนที่ ได้แก่

    ๑. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง
    การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้นทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยากเพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที ในทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่นช่วยให้ตัวตนเล็กลง เห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น

    ๒. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว
    วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่าง ๆ มากมาย การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่มากมาย และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่นความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น จากการทำงาน จากการทำความดี และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน

    ๓. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค
    การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม การหันมาตระหนักว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากความเพียรพยายามของตน ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง

    ๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
    แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงเหตุผล ยิ่งกว่าอารมณ์ จะช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง”ได้ ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง

    ทัศนคติทั้ง ๔ ประการเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งปลูกเร่งสร้างในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม มิใช่ด้วยการเทศนาสั่งสอนหรือรณรงค์เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้เกื้อกูลด้วย อย่างน้อยก็ต้องเร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม รวมทั้งสื่อมวลชน ให้ดีขึ้นกว่านี้
    :-https://visalo.org/article/PosttoDay255105.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    e6319.gif
    ได้ปลาผิดตัว
    ภาวัน
    เมื่อพูดถึงตัวเอง ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าไม่มีใครรู้จักตัวเองดีเท่าฉัน อย่างไรก็ตามถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น ก็อย่าเพิ่งแน่ใจ เพราะเอาเข้าจริง ๆ คุณอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณต้องการอะไรกันแน่

    จริงอยู่เวลาคุณไปร้านอาหาร คุณอาจรู้ว่าอยากกินอะไร เวลาไปเที่ยวห้าง ก็รู้ว่าอยากได้อะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญกว่านั้น เช่น คู่ครองหรือคนรัก คุณคงเหมือนกับหลาย ๆ คนที่ไม่รู้ว่าอยากได้คนแบบไหน ไม่ใช่แค่นิสัยใจคอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปร่างหน้าตาด้วยซ้ำ

    คุณอาจเถียงว่า ทำไมจะไม่รู้ว่าฉันอยากได้คนแบบไหนมาเป็นคู่รัก คุณสามารถพรรณนาได้เป็นข้อ ๆ ว่า อยากได้คนที่มีหน้าตาอย่างนี้ ส่วนสูงขนาดนี้ อายุเท่านี้ นิสัยแบบนี้ แต่สุดท้ายคนที่คุณเลือกเป็นแฟนหรือแต่งงานด้วยอาจมีลักษณะที่ไม่ตรงกับที่ระบุมาเลย จะว่าไปแล้วแนวโน้มดังกล่าวมีสูงเสียด้วย

    นี้เป็นข้อสรุปของบริการจัดหาคู่ทางอินเตอร์เน็ตหลายแห่ง ที่สรุปได้เช่นนั้นก็เพราะว่า เวลาจะใช้บริการดังกล่าว ลูกค้าจะต้องระบุลักษณะของคนที่อยากได้เป็นคู่ครอง เช่น อายุ ศาสนา สีผม เป็นต้น หน้าที่ของบริการเหล่านี้ก็คือพยายามแนะนำให้ลูกค้ารู้จักกับคนที่มีลักษณะดังกล่าว แต่ในที่สุดก็พบว่าคนที่ลูกค้าสนใจคบหาส่วนใหญ่กลับมีลักษณะไม่ตรงกับที่เขาบอกมา

    ปรากฏการณ์ดังกล่าวบอกเราว่า อย่าเพิ่งมั่นใจว่าเรารู้ว่าเราต้องการอะไร เพราะที่คิดว่าตนเองรู้นั้นมีโอกาสผิดมากทีเดียว อย่าลืมว่าการที่ใครสักคนจะบอกได้ว่าตนชอบคนแบบไหนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาครุ่นคิดพอสมควร ไม่ใช่เรื่องที่จะบอกได้ปุบปับเหมือนซื้ออาหารหรือเสื้อผ้า แม้กระนั้นทั้ง ๆ ที่คิดว่ารู้แล้ว แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับเปลี่ยนใจไปเลือกคนที่ไม่ตรงกับ “สเป็ค” ที่คิดเอาไว้ พูดอีกอย่างก็คือ จะรู้ว่าต้องการคนแบบไหนเป็นแฟนก็ต่อเมื่อเห็นคนนั้นต่อหน้าต่อตาแล้วเท่านั้น

    ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคู่รักหรือคู่ครองเท่านั้นที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น จุดมุ่งหมายของชีวิต ก็คงไม่ต่างกัน หลายคนคิดว่าชีวิตนี้ฉันต้องการความสำเร็จ ปรารถนาความร่ำรวย มีชื่อเสียงสูงเด่น พร้อมสละทุกอย่างเพื่อความสำเร็จดังกล่าว ไม่เว้นแม้กระทั่งสุขภาพ มิตรภาพ และครอบครัว แต่เขาแน่ใจหรือว่า นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง

    หลายคนตอบด้วยความมั่นใจว่าใช่ แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็ไม่รู้สึกพึงพอใจ คิดว่ายังได้น้อยไป จึงดิ้นรนหามาให้มาก ๆ ครั้นได้มาดังใจ ก็ยังไม่รู้สึกสมอยากเสียที หามาเท่าไหร่ก็ไม่พบความสุข ต่อเมื่อถึงบั้นปลายของชีวิต จึงพบว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง แต่ถึงตอนนั้นก็สายเสียแล้ว เพราะไม่มีเรี่ยวแรงและเวลาเพื่อหาคำตอบว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่

    ออรังเซ็บ กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุล หลังจากทำศึกสงครามมาทั้งชีวิต สามารถแผ่ขยายอาณาจักรจนครอบคลุมอนุทวีปอินเดีย มีทรัพย์สมบัติเต็มท้องพระคลัง ได้ทุกอย่างที่ฝันใฝ่ แต่เมื่อใกล้ตาย ได้เขียนจดหมายถึงลูกชายว่า “ฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่...ชีวิตนั้นมีคุณค่ามาก แต่ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์”

    เฮนรี เดวิด ธอโร เคยกล่าวว่า “โศกนาฏกรรมที่สุดในชีวิต คือ การใช้เวลาทั้งชีวิตตกปลา เพียงเพื่อจะพบว่ามันไม่ใช่ปลาตัวที่ต้องการ” อย่างไรก็ตามชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องลงเอยอย่างนั้นหากหันมาตั้งคำถามแต่เนิ่น ๆ ว่า ปลาที่เราตกมาได้นั้นเป็นปลาที่เราต้องการจริง ๆ หากหยุดตกปลาชั่วขณะ แล้วลองเดินไปยังแม่น้ำสายอื่นดู อาจพบปลาที่เราต้องการอย่างแท้จริงก็ได้

    หลายคนเมื่อได้ออกจากชีวิตที่จำเจ อึกทึก วุ่นวาย ได้สัมผัสกับความสงบในป่า หรือชีวิตที่สงบในชุมชนเล็ก ๆ จึงรู้ว่า นี้คือสิ่งที่ตนต้องการอย่างแท้จริง จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่ต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอาจเริ่มต้นที่จุดนี้

    ถ้ายังไม่พบกับใครบางคน ก็คงไม่รู้ว่านั่นคือคนที่ตนปรารถนาเป็นคู่ครอง ฉันใดก็ฉันนั้น ใครที่ยังไม่พบกับความสงบ ก็อาจไม่รู้เลยว่าในส่วนลึกของตนนั้นต้องการความสงบเย็นในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

    :- https://visalo.org/article/Image255810.html
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    close eyes an d ear  to behappy.jpg
    ออกจากกรงที่ขังตนเอง

    พระไพศาล วิสาโล
    “ความรู้คืออำนาจ” ข้อความดังกล่าวมีส่วนจริงไม่น้อย แต่อะไรที่มีมาก ๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป หาไม่คงไม่มีสำนวนว่า“ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” แสดงว่าถึงจะมีความรู้มากก็อาจไม่ช่วยอะไร บางครั้งกลับกลายเป็นปัญหาด้วยซ้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น การมีข่าวสารข้อมูลมาก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไป

    จะว่าไปแล้วปัญหาของคนในยุคนี้ก็คือมีข่าวสารข้อมูลมากเกินไปจนไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไรดี ทุกวันนี้ข่าวสารข้อมูลมาจากทุกทิศทุกทาง แค่จากโทรทัศน์ซึ่งมีอยู่นับร้อยช่องก็เกินพอแล้ว แต่นั่นเป็นส่วนน้อยของข่าวสารข้อมูลที่เราได้รับในแต่ละวัน นอกจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารแล้ว ยังมีเว็บไซต์นับสิบที่อยากอ่าน อีเมล์มากมายที่ต้องตอบ Facebook หลายเพจที่ต้องเปิด รวมทั้งวีดีโอ YouTube นับสิบคลิปที่ชวนดู ยังไม่นับข่าวสารทางโทรศัพท์ที่มาในรูปของเสียงและsms แล้วก็ tweeter อีกด้วย ที่ว่านี้เฉพาะข่าวสารข้อมูลที่เราอยากรับรู้ ยังมีอีกมากที่ไม่สนใจแต่ก็โผล่มาให้เห็นตามป้ายโฆษณานับร้อย ๆ ที่ผ่านตาในแต่ละวัน แล้วข้อมูลที่ต้องอ่านต้องเจอระหว่างการทำงานอีกล่ะ ไม่ผิดหากจะพูดว่าคนเมืองทุกวันนี้กำลังถูกข้อมูลท่วมทับ

    มีการสำรวจพบว่า ๒ ใน ๓ ของผู้จัดการในประเทศต่าง ๆ เชื่อว่าการมีข้อมูลล้นเหลือเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีความสุขกับการทำงานน้อยลงหรือไม่ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง ๑ ใน ๓ เชื่อว่ามันทำให้สุขภาพของเขาเสื่อมโทรมลง นอกจากนั้นยังมีการสำรวจพบว่าผู้จัดการส่วนใหญ่คิดว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ตนได้รับนั้นไร้ประโยชน์

    พูดอีกอย่าง “ความรู้คืออำนาจ”ก็จริง แต่การมีข่าวสารข้อมูลมาก ๆ กลับทำให้ผู้คนรู้สึกไร้อำนาจมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองน้อยลง ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงมีการสรรหาวิธีการต่าง ๆ มากมายเพื่อแก้ปัญหาข่าวสารข้อมูลท่วมทับ วิธีหนึ่งก็คือ การคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยกรองข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ

    เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย แต่กำลังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรามากขึ้น ทุกวันนี้มันอาจกำลังทำงานให้เราอยู่ก็ได้ หนึ่งในนั้นคือ Google มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากคุณโทรศัพท์บอกเพื่อนที่อยู่ในต่างประเทศให้ถาม Google ด้วยการพิมพ์คำใดคำหนึ่งในเวลาเดียวกันกับคุณ คำตอบที่คุณและเพื่อนได้นั้นจะแตกต่างกันกัน ทั้งนี้ก็เพราะGoogle จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับคุณ เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ พูดอีกอย่างหนึ่ง มันจะให้ผลที่สอดคล้องกับตัวคุณ

    Amazon เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า คุณจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง รวมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงกับรสนิยมของคุณ ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่คุณติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่คุณติดต่อน้อยที่สุดออกไป

    แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น แทนที่จะต้องเสียเวลาค้นหาข้อมูลที่เราสนใจ มันกลับเป็นฝ่ายคัดเลือกมาให้เราเอง ราวกับรู้ใจเรา อย่างไรก็ตามในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย นี้เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เพราะแสดงว่าข้อมูลส่วนตัวของเรานั้นไม่ได้เป็นส่วนตัวอีกต่อไป แต่ถูกเก็บสะสมไว้อย่างละเอียดในคลังข้อมูลของเทคโนโลยีเหล่านี้ จนไม่เพียงบ่งบอกหากยังทำนายได้อย่างแม่นยำว่าเราจะชอบอะไรบ้าง

    แต่สิ่งที่น่าห่วงใยมีมากกว่านั้น การที่มันสามารถนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของเรา ในด้านหนึ่งก็หมายความว่ามันกำลังตีกรอบการรับรู้ของเราให้แคบลงด้วย คือรับรู้แต่เฉพาะเรื่องที่ถูกใจเราเท่านั้น หากเราถูกแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งรู้ว่าเราชอบข่าวประเภทไหน ไม่ใช่แค่รู้ว่าชอบข่าวการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา หรือบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรู้ถึงขนาดว่าเราชอบข่าวการเมืองแบบใด แนวไหน อนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ขวาหรือซ้าย “เหลือง” หรือ “แดง” เราก็จะได้รับแต่ข่าวสารข้อมูลแนวนั้นแนวเดียว ซึ่งก็เท่ากับตอกย้ำความเข้าใจหรือความเชื่อเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้วในใจเราให้ฝังลึกแน่นแฟ้นขึ้น แทนที่จะมีโอกาสรับฟังข่าวสารข้อมูลหรือความเห็นที่ต่างออกไปบ้าง ผลก็คือเกิดความเชื่อฝังหัวยิ่งกว่าเดิม มีผู้เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “การโฆษณาฝังหัวตนเอง” (autopropaganda)

    ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่รู้ใจเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาถึงขั้นที่ห้อมล้อมตัวเราอย่างแน่นหนาก็ตาม แต่ “การโฆษณาฝังหัวตนเอง” กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังเห็นได้ว่าทุกวันนี้ผู้คนพากันเข้าหาและตามติดแหล่งข่าวสารข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อและรสนิยมของตัวมากขึ้นทุกที อันที่จริงนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ เป็นแต่ว่าในยุคนี้แหล่งข่าวสารข้อมูลที่ตรงใจตัวเองนั้นหาได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีให้เลือกอย่างล้นเหลือ รวมทั้งมีทุกแนวทุกแบบและทุกเฉดสี แม้แต่ความคิดที่สุดโต่งก็เข้าถึงได้ง่าย เพราะการเผยแพร่ข่าวสารเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เพียงแต่เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาหรือไม่ก็ใช้อีเมลเป็นสื่อก็สำเร็จประโยชน์แล้ว แหล่งข้อมูลเหล่านี้เน้นสื่อสารกับคนที่คิดเหมือนกัน คอเดียวกัน ดังนั้นจึงมักให้ข้อมูลและความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่สนใจข้อมูลหรือความคิดเห็นที่ต่างออกไป มิหนำซ้ำยังใส่อารมณ์ได้เต็มที่ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้รับสื่อนั้นมีความคิดสุดโต่งมากขึ้น โดยเชื่อมั่นเต็มร้อยว่าความรับรู้และความเห็นของตนนั้นถูกต้องที่สุด และดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะมองคนที่เห็นต่างจากตนเป็นพวกที่ “ไม่รู้จริง” “งี่เง่า” หรือ “เลวทราม”ไปเลย

    Facebook เป็นตัวอย่างหนึ่งของสื่อที่สามารถทำให้คนมีความคิดเห็นที่แคบลงหรือถึงกับสุดโต่งไปเลยได้ง่ายขึ้น เพราะผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกรับคนที่มีความคิดเห็นหรือรสนิยมคล้ายกันมาเป็นเพื่อน ใครที่แสดงความเห็นต่างจากตน หากต่างอย่างสุดขั้ว(หรือต่างเพียงแค่บางเรื่องบางประเด็นหรือบางระดับ)ก็ถูกตัดออกไปได้ง่าย ๆ คงเหลือแต่เพื่อนที่คิดเหมือนกันหรือมองในแนวเดียวกัน จึงเท่ากับตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่จนมั่นใจว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง อันที่จริงถึงแม้ไม่ตัดคนที่คิดต่างออกจากความเป็นเพื่อนใน Facebook แต่หากไม่ค่อยได้ติดต่อสื่อสารกับเขาเลย โปรแกรมในFacebookก็สามารถกันเขาออกไปได้ ดังมีนักเขียนแนวเสรีนิยมบางคนตั้งข้อสังเกตว่า จู่ ๆ เพื่อนที่มีหัวอนุรักษ์นิยมหรือเอียงขวาก็หายไปจากหน้าFacebookของเขา

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (cont.)
    การนำเสนอข้อมูลและความเห็นไปในแง่ใดแง่หนึ่งเป็นหลักนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับสื่อสมัยใหม่หรือสื่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้แต่สื่อดั้งเดิมเช่น หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ก็มีแนวโน้มไปในทางนั้นด้วยเช่นกัน ในอดีตสื่อเหล่านี้มักเสนอข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย มีทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา บันเทิง วัฒนธรรมในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ส่วนความเห็นก็มีแทบทุกแนว (ยกเว้นความเห็นที่สุดโต่ง) ยิ่งสื่อขนาดใหญ่ที่มีผู้อ่านหรือผู้ชมทั่วประเทศ ก็จะยิ่งมีเนื้อหาที่หลากหลาย โดยที่ความเห็นนั้นมักจะแสดงออกมาแบบกลาง ๆ ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน ทั้งนี้เพราะต้องการดึงผู้คนซึ่งมีความต้องการและความเห็นที่หลากหลายให้มาเป็นลูกค้าของตน หากสื่อฝักใฝ่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมส่วนหนึ่งหันหลังให้ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อยอดขายแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือรายได้จากโฆษณาก็จะลดลง จะว่าไปแล้วบริษัทโฆษณานั้นมีอิทธิพลไม่น้อยในการทำให้สื่อขนาดยักษ์มีจุดยืนแบบกลาง ๆ เพื่อดึงดูดคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทเหล่านี้สามารถโฆษณาสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง มองในแง่นี้ความเป็นกลางของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าของสื่อ คนทำงานสื่อ และบริษัทโฆษณา แต่ผลพลอยได้ก็ตกมาถึงผู้อ่านผู้ชมด้วย ตรงที่ได้รับข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย ไม่เอนเอียงทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามข้อเสียก็คือสื่อแบบนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แก่ความเห็นที่ทวนกระแสหรือท้าทายความเชื่อพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ (radical) ต้องอาศัยสื่อขนาดเล็กซึ่งมีผู้อ่านผู้ชมเฉพาะกลุ่ม

    อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะทุกวันนี้สื่อดั้งเดิมนอกจากจะเน้นเนื้อหาข่าวสารเฉพาะด้านมากขึ้นแล้ว ยังมีความเป็นกลางน้อยลง แต่ “เอียงข้าง”ชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อแข่งกับสื่อชนิดใหม่ที่นับวันจะดึงลูกค้าของสื่อดั้งเดิมออกไป การเอียงข้างในที่นี้หมายถึงการแสดงความเห็นหรือจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แทนที่จะเสนอข้อมูลล้วน ๆ ให้ผู้อ่านผู้ชมตัดสินเอาเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การนำเสนอข้อมูลแต่เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นตามมามากขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการเสพสื่อที่มีความเห็นและจุดยืนสอดคล้องกับตน

    ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนนับวันจะอยู่ในโลกแห่งข่าวสารข้อมูลที่ตนเลือกเฟ้นขึ้นเอง และเหินห่างจากความเป็นจริงมากขึ้น เพราะมองเห็นและยึดติดอยู่แต่ความจริงด้านเดียว (หรือแย่กว่านั้นก็คือยึดติดกับความเท็จความลวง) ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นตัวเองจากข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่ไม่ถูกใจตน ผลเสียที่ตามมาอีกประการหนึ่งก็คือ เกิดช่องว่างทางความคิดกับคนอื่น ๆ มากขึ้น เหมือนกับคนตาบอดที่คลำช้างคนละส่วนแล้วหลงคิดว่าแต่ละส่วนนั้นเป็นความจริงทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้นก็คือการทะเลาะเบาะแว้งเพราะต่างยึดมั่นใน “ความจริง”ของตน จนถึงกับเห็นซึ่งกันและกันเป็นศัตรู ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดถือมั่นกับความเชื่อของตน โดยสนใจรับฟังความเห็นที่ต่างจากตนเลย

    น่าแปลกที่ว่าในยุคข่าวสารข้อมูล ผู้คนแทนที่จะมีความรู้และมุมมองกว้างขวางขึ้น กลับมีทัศนะที่แคบลง ไม่ใช่เพียงเพราะสื่อเลือกข้างกันมากขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นเพราะผู้คนเลือกที่จะโฆษณาฝังหัวตนเองด้วย ในแง่นี้จึงไม่ต่างกับการสร้างกรงขังทางด้านสติปัญญาให้แก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว วิธีหนึ่งที่จะช่วยทลายกรงขังดังกล่าวก็คือ การพยายามเปิดใจรับรู้ข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย ด้วยการเข้าหาแหล่งข้อมูลที่มีจุดยืนหรือความเห็นไม่ตรงกับตนเองบ้าง ไม่ใช่เพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไรเท่านั้น แต่เพื่อรับฟัง ไตร่ตรอง และเทียบเคียงกับข้อมูลที่ตนมี รวมทั้งเพื่อตรวจทานความเห็นของตนด้วย ในเวลาเดียวกันก็ควรขยายแวดวงผู้ที่ตนติดต่อสื่อสารให้กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่แค่รับคนที่คิดเหมือนกันเป็นเพื่อนใน Facebook เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงคนที่คิดต่างจากเราด้วย

    จริงอยู่การเปิดใจรับฟังคนที่คิดต่างจากเราไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในบรรยากาศที่การเมืองแยกขั้วอย่างชัดเจน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอความเห็นที่สุดโต่งและการด่าทอซึ่งกำลังแพร่ระบาดโดยเฉพาะในสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อประเภท social media แต่นั่นเป็นผลข้างเคียง หากเราพยายามอดทนและรู้จักทำใจ ก็ย่อมได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่ไม่ถูกใจตน อย่าลืมว่าหากเรารับรู้แต่สิ่งเดิม ๆ ที่ตรงกับความคิดความเชื่อของเราอยู่แล้ว สติปัญญาของเราจะงอกเงยได้อย่างไร มีอะไรอีกหรือที่เราจะเรียนรู้เพิ่มเติมหากเราอ่านและฟังแต่สิ่งที่ตรงใจเราหรือยืนยันความเชื่อเดิม ๆ ของเรา

    ยุคข่าวสารข้อมูลไม่ได้ช่วยให้เราเข้าถึงความจริงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น หากยังช่วยให้ความเท็จและข่าวลือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเท่า ๆ กับความเร็วแสง ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าข้อมูลที่เรามีนั้นเป็นความจริงจนกว่าจะได้สอบทานเทียบเคียงกับหลาย ๆ แหล่ง การเปิดหูเปิดตาและเปิดใจรับฟังข้อมูลที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็จำต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ แม้จะถูกใจเราหรือตรงกับความเห็นของเราก็ตาม ในข้อนี้พระพุทธองค์ได้ให้ข้อคิดที่เตือนใจเราได้ดีมาก นั่นคือ หลักกาลามสูตร ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา หรือเพราะเข้าได้กับความเชื่อความเห็นของตน หรือเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้” แต่ควรเชื่อต่อเมื่อได้ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและด้วยสติปัญญาของตน

    แม้กระนั้นตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดหรือเห็นกับตา ก็ควรตระหนักว่านั่นยังเป็นแค่ความเชื่อ ยังสรุปว่าเป็นความจริงไม่ได้ ดังนั้นใครที่เชื่อต่างจากเราหรือมีความเห็นต่างจากเรา ก็อย่าเพิ่งสรุปว่าเขาผิด เราถูก ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ให้หลักอีกข้อหนึ่งคือ “สัจจานุรักษ์” หรือการคุ้มครองความจริง หมายถึงการที่บุคคลมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แม้คิดตรองด้วยเหตุผลอย่างดีแล้ว ก็ไม่ลงความเห็นเด็ดขาดหรือ “ฟันธง”ว่า ความเชื่อของตนเท่านั้นที่จริงหรือถูกต้อง อย่างอื่นนั้นเหลวไหล ไม่ถูกต้อง หากจะกล่าวก็กล่าวเพียงว่า ฉันมีความเชื่ออย่างนี้ ๆ ไม่ก้าวล่วงไปสู่การตัดสินหรือปรามาสความเชื่อของคนอื่น

    ยุคข่าวสารข้อมูลให้เสรีภาพมากมายแก่เราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้รวมถึงเสรีภาพและสมรรถภาพในการสร้างกรงขังปิดล้อมสติปัญญาของเราเองด้วย หากเราไม่มีสติรู้เท่าทันความยึดติดถือมั่นในความคิดความเชื่อของตน เราก็จะติดอยู่ในกรงขังดังกล่าวอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งแม้จะทำให้เราสบายใจเพราะหลงเพลินในความถูกต้องของตน แต่แท้จริงใจหาได้เป็นอิสระไม่ ต่อเมื่อเราตระหนักถึงข้อจำกัดของความคิดความเชื่อของตน และกล้าเปิดใจรับข่าวสารข้อมูลที่แม้จะไม่ถูกใจเรา เราก็จะสามารถเป็นนายเหนือความคิดความเชื่อของตนได้ แทนที่จะปล่อยให้มันครอบงำเรา เราก็ปรับปรุงแปรเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับความจริง หรือใช้มันเป็นพาหะพาเราเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีนี้เท่านั้นเราจึงจะเป็นอิสระจากกรงขังดังกล่าวได้ หากปราศจากอิสรภาพดังกล่าวแล้วไซร้ ข้อมูลข่าวสารที่ได้มามากมายก็หาเป็นประโยชน์ไม่
    :-
    https://visalo.org/article/sarakadee255411.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddha word good human.jpg
    ทำบุญแต่ห่างธรรม

    พระไพศาล วิสาโล
    เคยเข้าใจกันว่าการทำบุญเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อคนเหล่านี้แก่ตัวหรือล้มหายตายจากไป การทำบุญก็จะลดน้อยถอยลง แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้การทำบุญไม่ได้ลดน้อยลงเลย หรือถึงลดน้อยลงก็ไม่มากนัก คนรุ่นลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นพ่อคนแม่คนก็ยังนิยมทำบุญกันอยู่ สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือปัจจุบันเครื่องสังฆทานหาได้ง่ายตามห้างใหญ่ ๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ในร้านสังฆทานหรือเสาชิงช้าดังแต่ก่อน

    การนิยมทำบุญตามวัดวาอารามนั้นเป็นเรื่องดี หากเป็นการต่อยอดจากความดีที่เคยทำกันเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แต่หากการทำบุญดังกล่าวกลับทำให้ความดีที่เคยทำหรือพึงกระทำลดน้อยถอยลง ก็คงจะถือว่าเป็นเรื่องดีไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นี้คือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

    ครอบครัวหนึ่งมีแม่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลแม่ตกเป็นหน้าที่ของลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งทิ้งอาชีพการงานมาพยาบาลแม่นานนับสิบปี โดยที่พี่ ๆ แทบจะไม่ได้มาช่วยเหลือเลยนอกจากให้เงินค่าดูแล วันหนึ่งน้องสาวมีธุระนอกบ้าน จึงขอให้พี่สาวมาช่วยดูแลแม่แทนเธอสักวัน คำตอบที่ได้รับจากพี่สาวคือ ไม่ว่างเพราะจะไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งชานเมือง

    การที่พี่สาวอยากทำบุญที่วัดนั้นเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ไม่ถูกต้องแน่หากเข้าใจว่าการทำบุญต้องทำที่วัดหรือทำกับพระเท่านั้น การดูแลแม่ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน คำตอบดังกล่าวของพี่สาวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบุญที่คับแคบและคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จะว่าไปแล้วก่อนที่จะทำบุญกับพระที่วัด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการทำบุญกับพ่อแม่ที่บ้าน การไปทำบุญกับพระ โดยไม่สนใจพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม

    บางรายพ่อแม่ไม่ถึงกับเจ็บป่วย แต่ก็ชรามาก แม้กระนั้นลูกก็ปล่อยให้พ่อแม่ทำงานบ้านตามลำพัง ทั้งกวาดบ้าน ทำครัว ล้างจาน ซักผ้า ส่วนลูกแค่ไปทำงานหาเงิน กลับมาบ้านก็ขลุกอยู่ในห้องของตัว เสาร์อาทิตย์ก็เข้าวัดทำบุญหรือไปปฏิบัติธรรม ไม่สนใจช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่บ้านเลย จนบางคราวพ่อแม่เหนื่อยถึงกับเป็นลม เพื่อนบ้านอดสงสัยไม่ได้ว่าความใฝ่บุญกับความกตัญญูนั้นเป็นคนละเรื่องกันหรือ

    มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้อยู่ว่าการดูแลพ่อแม่นั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังนิยมทำบุญกับพระมากกว่าที่จะทำบุญกับพ่อแม่ เหตุผลก็เพราะว่า การทำบุญกับพระนั้น ทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือเพียงแต่ถวายเงินเท่านั้น และใช้เวลาไม่นาน ขณะที่การทำบุญกับพ่อแม่ นั้น ต้องใช้ทั้งแรงและเวลา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน ทำอาหารให้กิน หากท่านเจ็บป่วย ก็ต้องเช็ดตัว ป้อนข้าว บางครั้งก็ต้องอุ้มขึ้นและลงเตียง คนทุกวันนี้ชอบอะไรที่สะดวก ง่าย และเร็ว การทำบุญกับพระจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการทำบุญกับพ่อแม่

    ที่สำคัญคือความเชื่อว่าถ้าทำบุญกับพระ โดยเฉพาะพระที่มีคุณวิเศษหรือเกจิอาจารย์ ก็จะทำให้เกิดอานิสงส์มาก เช่น มั่งมี ประสบโชค ซึ่งบางสำนักสรุปเป็นคำขวัญว่า “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง” ขณะที่มีความเข้าใจกันว่าการดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนธรรมดานั้นไม่ทำให้เกิดอานิสงส์ดังกล่าว พูดอีกอย่างคือ การทำบุญกับพระนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่า (ไม่ต่างจากการซื้อหุ้นตัวสวย ๆ ) อีกทั้งยังสามารถถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊คให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญได้ ขณะที่การดูแลพ่อแม่นั้นไม่ใช่โอกาสที่จะทำอย่างนั้นได้ง่าย ๆ หรือบ่อย ๆ

    มีหลายคนให้เหตุผลว่า การไปทำบุญที่วัด หรือการไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการช่วยพ่อแม่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่งบุญไปให้ท่าน บางรายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเจ็บป่วย แทนที่จะช่วยพยาบาลท่าน กลับเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน แล้วใช้วิธีแผ่เมตตาหรือส่งบุญมาให้ท่านเพื่อให้หายป่วยไว ๆ เขาคงลืมไปว่า พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง “การทำจิต”เท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง “การทำกิจ” ด้วย กล่าวคือ นอกจากน้อมจิตแผ่เมตตาตามหลักพรหมวิหาร ๔ แล้ว ควรบำเพ็ญธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ด้วย ซึ่งข้อหนึ่งได้แก่ อัตถจริยา นั่นคือ การลงมือช่วยเหลือ เช่น ดูแลหรือพยาบาลท่าน แม้จะดูแลทางกายได้ไม่ดีเท่าหมอหรือพยาบาล แต่ก็สามารถให้ความช่วยเหลือทางจิตใจได้ ยิ่งมีประสบการณ์ทางธรรมมามาก ก็ยิ่งอยู่ในวิสัยที่จะให้คำแนะนำทางจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งช่วยให้ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย หรือรักษาใจให้เป็นปกติได้ นี้เป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์หรืออานิสงส์มากกว่าการส่งบุญมาให้หลายเท่า

    อันที่จริงจริยวัตรของพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างให้แก่เราได้ในเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบว่ามีผู้ประสบทุกข์ เช่น เจ็บป่วย ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะส่งบุญไปให้เขาเหล่านั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทำคือ เสด็จไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เช่น พยาบาล (ดังกรณีพระติสสะ) หรือให้คำแนะนำทางธรรม (ดังกรณีนกุลบิดาและทีฆาวุอุบาสก) พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกัน

    การทำบุญนั้นมีความหมายกว้างขวางกว่าการให้ทาน และการช่วยเหลือผู้คนนั้นเราสามารถทำได้มากกว่าการส่งบุญไปให้เขา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากกำลังใช้การทำบุญเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการทำความดีขั้นพื้นฐาน มิใช่แค่ละเลยการทำดีต่อผู้ประสบทุกข์ที่เป็นคนแปลกหน้าเท่านั้น หากยังละเลยที่จะกตัญญูต่อบุพการีหรือผู้มีพระคุณ

    ใช่หรือไม่ว่าการทำบุญของผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ แรงผลักดันสำคัญคือ ประโยชน์ส่วนตน เช่น หวังความมั่งมี ร่ำรวย โชคลาภ หาใช่ความมีน้ำใจ หรือความตั้งใจที่จะลดละกิเลสไม่ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวเป็นแรงจูงใจในการทำบุญ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงละเลยได้แม้กระทั่งการช่วยเหลือบุพาการี

    เป็นเพราะไม่รู้เท่าทันแรงจูงใจดังกล่าว ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ การทำบุญของคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นการเดินห่างจากธรรม สวนทางกับบุญที่แท้จริง และสร้างปัญหาให้แก่สังคม
    :-
    https://visalo.org/article/jitvivat255904.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    Firepa.jpg
    ดับไฟในป่า ดับไฟในใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    ไฟไหม้ป่าครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นธรรมชาติของไฟชัดเจนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าไฟเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะไฟที่ใช้หุงหาอาหารในครัว แต่ว่าไฟในครัวนั้นแตกต่างจากไฟที่เผาผลาญทำลายป่ามาก เพราะไฟในครัวเป็นไฟที่เราสามารถควบคุมได้ เมื่อไรจะให้ติด เมื่อไรจะให้ดับ ส่วนไฟป่านั้นอยู่เหนือการควบคุมของคน และดูเหมือนมันจะมีวิธีการ มีกลอุบายต่างๆ นานา ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ

    ไฟป่ามีลักษณะหลายอย่างเหมือนสิ่งมีชีวิต สัตว์และต้นไม้ทั้งหลายมีวิธีการนานาชนิดในการเอาตัวรอด มีวิธีแพร่กระจายขยายตัว มีวิธีป้องกันตนเอง รวมทั้งสู้กับภัยที่มาคุกคาม ไม่ต่างจากต้นไม้บางชนิดที่มียาพิษอยู่ในใบ ดอก หรือผล หรือบางชนิดก็มีหนามแหลม ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มากัดกินใบของมัน บางชนิดก็ล่อให้มดเข้าไปทำรัง เพื่อช่วยคุ้มภัย คอยไล่สัตว์ต่างๆไม่ให้เข้ามากันกินใบหรือผล

    ไฟป่าก็เช่นกัน เมื่อเกิดเปลวไฟขึ้น มันจะพยายามเอาตัวรอด พยายามแพร่กระจายออกไปให้ได้มากที่สุด กระจายทุกทิศทุกทาง มันไม่ได้กระจายไปตามพื้นดินเท่านั้น แต่ขึ้นฟ้าและลงดิน เช่น ลามขึ้นไปบนยอดไม้ เราพยายามดับไฟตามพื้นดิน มันก็หนีขึ้นไปข้างบน ขึ้นไปติดบนยอดไม้ แล้วก็ปล่อยลูกไฟข้ามหัวเรา ปลิวไปติดต้นไม้อื่น กระจายจากยอดหนึ่งสู่อีกยอดหนึ่ง ต้นแล้วต้นเล่า บ่อยครั้งก็ปลิวไปไกลถึงอีกมุมหนึ่งของป่า เหมือนต้นยางที่ขยายพันธุ์ด้วยการปล่อยลูกยางให้ร่อนไปกับสายลม พวกเราที่พยายามดับไฟ ได้แต่ยืนมองตาปริบๆ บางครั้งก็ต้องปีนขึ้นไปดับ แต่ก็ทำได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่จะปีนขึ้นไปดับไม่ได้ เพราะต้นไม้สูงมาก

    นอกจากลามพื้น และปลิวไปตามแรงลมแล้ว ไฟยังดำดินได้ด้วย บางครั้งเราดับไฟที่สุมขอนหรือสุมโคนจนหมดแล้ว ไม่มีเปลวไฟหลงเหลือให้เห็น แต่ทำไมดินยังร้อนระอุอยู่ ลองขุดลงไปก็เจอถ่านแดงๆ อยู่ใต้ดิน แถมกำลังแผ่ออกไปไกล

    ไฟมันรู้จักซุกซ่อน พรางตัวเก่งมาก ไม่ใช่แค่ลอยไปตามอากาศ แต่ยังซอกซอนอยู่ใต้ดินด้วย มันกระจายไปตามราก โดยเฉพาะรากแขนง มันคุไหม้เป็นถ่านโดยไม่มีเปลวให้เห็น เป็นการพรางตัวที่ได้ผล ทำให้เราตายใจว่าดับไฟหมดแล้ว ขณะที่เราสอดส่องมองหาเปลวไฟในขอนไม้หรือโคนไม้ มันก็ดำดินลอดใต้เท้าเราไป พอได้จังหวะ มันก็ลุกเป็นเปลวขึ้นใหม่ข้างหลังเรา แล้วก็ไหม้ต่อไปอีกหลายสิบเมตร หรือไกลกว่านั้น บางครั้งเราคิดว่าดับสนิทแล้ว พอถอนตัวออกไป ตกดึก มันก็โผล่พ้นดินแล้วก็ลามไหม้ต่อไป แล้วลุกเป็นเปลวสูง นี่เป็นความฉลาดของไฟ

    ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ติดไฟยาก เช่นต้นตะเคียน ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง มันก็ยังโค่นลงได้ อย่างที่เราเห็นเมื่อวาน ตะเคียนต้นใหญ่ยังสดอยู่ มันก็โค่นลงมา โดยการไหม้ที่โคนต้น เล่นงานตรงจุดสำคัญของต้นไม้ ไม่ว่าต้นไม้จะสูงใหญ่แค่ไหน ถ้าโคนถูกทำลาย ก็ต้องล้มครืนลงมา นอกจากเผาโคนต้นแล้ว ไฟยังกระจายไปตามราก เล่นงานตรงนั้นเป็นหลัก เพราะต้นไม้เนื้อแข็งมีจุดอ่อนอยู่ที่ราก ถ้าไฟเผาลำต้นได้ยาก มันก็เผารากแทน ไหม้รากจนกลายเป็นถ่าน พอโคนทรุดต้นไม้ทั้งต้นก็พังครืนลงมา แล้วไฟก็ค่อยๆ ไหม้จนหมดทั้งต้น

    ถ้าเราศึกษาดูก็พบว่าไฟมีอุบาย มีความฉลาด ไม่ต่างกับกิเลสในใจเรา กิเลสนั้นสามารถเข้าครองจิตครองใจของเรา เล่นงานเราได้ แม้แต่ในเวลาที่เรากำลังพยายามเล่นงานมันอยู่ เช่น ขณะที่กำลังปฏิบัติธรรม เจริญสติ สร้างความรู้สึกตัว แต่แทนที่จะเกิดความรู้สึกตัวมากขึ้น กลับเกิดความหลงตัวลืมตน เกิดความโลภ เกิดทิฐิมานะมากขึ้น หลายคนตั้งใจมาปฏิบัติธรรม ขยันยกมือสร้างจังหวะ แต่แทนที่ความรู้ตัวจะพิ่มขึ้น ความหลงกลับมาแทน แทนที่เราจะสร้างจังหวะเพื่อขับไล่ความหลง แต่กลับเปิดช่องให้ความหลงมาเล่นงานเราแทน ยกแต่มือ แต่ใจฟุ้งซ่านฝันกลางวัน บ่อยครั้งกิเลสก็หลอกให้เราทำชั่วโดยคิดว่าเป็นความดี หรืออ้างเหตุผลสวยงามเพื่อให้เราทำชั่ว

    แต่ถ้าเราใช้ไฟเป็น เราก็สามารถเอาไฟมาเล่นงานไฟได้เหมือนกัน อย่างเช่นวันแรกๆ ที่ไฟไหม้ป่าทางด้านไทเลย เปลวไฟสูงมากและไหม้เร็วมากๆ ไม่สามารถใช้น้ำดับไฟได้ แต่ชาวบ้านสามารถสยบมันได้ด้วยการจุดไฟดัก เพื่อให้ไปปะทะกับไฟที่กำลังโหมกระพืออย่างบ้าคลั่ง วิธีการของชาวบ้านคือจุดหญ้าแห้งริมทางเดินให้ลุกเป็นไฟ ไฟจะลุกเป็นแนวเป็นแผงแล้วค่อยๆ เคลื่อนเข้าหาไฟป่า ไฟที่ชาวบ้านจุดนั้นเปลวสูงแค่เมตรครึ่ง ส่วนไฟที่กำลังโหมเข้ามานั้นสูงถึง ๖-๗ เมตร บางช่วงก็ ๑๐ เมตร ขนาดเราอยู่ห่างออกมา ๒๐๐-๓๐๐ เมตร ยังรู้สึกร้อนเลย แต่ว่าพอไฟกองเล็กเคลื่อนเข้าไปปะทะกับไฟป่า มันก็ดับไฟกองใหญ่ได้ ที่ดับได้เพราะว่าไม่มีเชื้อให้มันลุกไหม้แล้ว ที่เชื้อหมดก็เพราะโดนไฟที่ชาวบ้านจุดเผาผลาญไปก่อนแล้ว

    ตอนที่เห็นภาพนั้นรู้สึกทึ่งมาก ที่เปลวไฟเล็กๆ สามารถสยบเปลวไฟสูงใหญ่ได้ เหมือนเดวิดสู้กับโกไลแอธเลย เดวิดเป็นแค่คนเลี้ยงแกะตัวเล็กๆ แต่สามารถฆ่ายักษ์ใหญ่อย่างโกไลแอธได้อย่างรวดเร็ว ไฟที่ชาวบ้านจุดไล่ไฟป่านี่ก็เหมือนกัน ไม่ถึง ๕ นาที ก็สามารถสยบไฟป่าที่โหมมาเป็นกองทัพได้อย่างราบคาบ

    นี่เป็นวิธีใช้ไฟดับไฟ ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่า เป็นวิธีการแบบเกลือจิ้มเกลือ หนามยอกเอาหนามบ่ง นี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ต้องรู้เอาไว้เวลาจะดับไฟป่า ไฟไม่ใช่เลวร้ายอย่างเดียว มันมีประโยชน์ด้วย ถ้าเรารู้จักใช้และควบคุมมันให้เป็น

    การสู้กับกิเลสตัณหาก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็ต้องใช้ตัณหาละตัณหา ใช้มานะละมานะ สมัยพุทธกาลมีพระหลายรูปที่บรรลุธรรมโดยมีกิเลสเป็นจุดเริ่มต้น เช่น พระรูปหนึ่ง มาบวชเพราะว่าอยากสบาย เดิมเป็นขอทาน อดอยากแร้นแค้น เมื่อบวชแล้วก็มีอาหารฉัน มีปัจจัยสี่ครบถ้วน แต่พออยู่ไปนานๆ ก็เบื่อคิดอยากสึก เวลาเบื่ออยากสึกก็เข้าไปในป่า ไปดูเสื้อผ้าสมัยเป็นขอทานที่แขวนไว้กับต้นไม้ พอเห็นเสื้อผ้าที่ขาดกระรุ่งกระริ่ง ก็ระลึกได้ถึงความลำบากตอนเป็นขอทานได้ ได้คิดว่าสึกไปก็ลำบากอีก อย่ากระนั้นเลย อย่าสึกดีกว่า

    ทุกครั้งที่คิดอยากสึก ท่านจะก็กลับไปดูเสื้อผ้าในป่า เห็นเสื้อผ้าขาดกระรุ่งกระริ่ง ความกระสันจะสึกก็ฝ่อไปอีก เวลาที่เข้าป่า เพื่อนพระเห็นก็ถามว่าไปไหน ท่านก็ตอบไปว่าไปหาอาจารย์ ไปหาอาจารย์อยู่หลายครั้ง ภายหลังความอยากสึกก็ลดลง ท่านหันมาสนใจปฏิบัติธรรมมากขึ้น ในที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

    หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าป่าอีก เพื่อนพระถามว่า เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปหาอาจารย์แล้วเหรอ ท่านตอบว่าข้าพเจ้าไม่ต้องพึ่งพาอาจารย์แล้ว เพื่อนพระก็กล่าวหาว่าท่านอวดอุตริมนุสธรรม ไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมาสอบถาม ก็ทราบว่าพระรูปนั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างนี้เรียกว่า ละตัณหาด้วยตัณหา การกลัวความยากลำบาก เป็นตัณหาแบบหนึ่ง เพราะเป็นอีกด้านของความความอยากสบาย

    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ลูกชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะพ่อจ้างให้ไปฟัง ลูกชายอยากได้เงินจึงไปฟังธรรม ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง แค่ได้ชื่อว่าไปฟังก็พอแล้ว จะได้กลับมาเอาเงินจากพ่อ แต่ตอนหลังพ่อบอกว่าไปฟังธรรมแล้วก็ให้จำมาบอกด้วยว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรบ้าง ลูกชายจึงต้องตั้งใจฟังมากขึ้น กะว่าจะจำให้ได้แค่ไม่กี่ประโยคก็พอแล้ว แต่พระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้เขาจำเท่าไรก็จำไม่ได้สักที จึงต้องตั้งใจมากยิ่งขึ้น พอตั้งใจฟังมากขึ้น ก็เข้าใจเนื้อหา ปัญญาก็เกิด บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในที่สุด ครั้นกลับมาถึงบ้าน พ่อจะให้เงิน ลูกชายก็ปฏิเสธ บอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะได้สิ่งที่มีค่ามากกว่า นี้เป็นตัวอย่างของการใช้ตัณหาละตัณหา

    อย่างไรก็ตามจะใช้ตัณหาละตัณหา หรือใช้กิเลสละกิเลส ก็ต้องระวัง หาไม่มันจะกลับมาทำร้ายเราได้ เช่นเดียวกับการใช้ไฟดับไฟ ต้องใช้ให้เป็น เพราะถ้าใช้ไม่เป็น ไฟก็อาจกลับเล่นงานเราได้ เช่น เวลาจะจุดไฟต้านต้องดูทางลมด้วย เพราะหากลมเปลี่ยนทิศ ไฟที่จุดก็อาจกลับมาเผาป่าให้วอดวายมากขึ้นก็ได้

    เมื่อเราเรียนรู้จากไฟแล้ว ก็ให้กลับมาดูตัวเองด้วย เมื่อรู้จักธรรมชาติของไฟแล้ว ก็ให้กลับมาเห็นธรรมชาติของกิเลสในใจของเราด้วย เวลาเราดับไฟ ก็อย่าดับแต่ไฟภายนอกอย่างเดียว ใช้โอกาสนี้ดับไฟในใจเราด้วย เหมือนกับเวลาที่ปลูกป่า อาตมาพูดอยู่เสมอว่า เวลาเราปลูกป่า อย่าเพียงแค่ปลูกต้นไม้ที่อยู่ในมือเท่านั้น แต่ให้ปลูกต้นไม้ในใจเราด้วย ดังเช่นคำขวัญที่ติดไว้ที่กุฏิ ๑๑ ว่า "ฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูใจ" ให้การปลูกป่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

    เวลาเราดับไฟในป่าก็เช่นเดียวกัน เราควรดับไฟในใจไปด้วย บางคนดับไฟป่าแล้ว แต่ไฟในใจกลับโหมแรง คือ เกิดความโกรธ ความหงุดหงิดมากขึ้น บางคนดับไปก็บ่นไป หรือโกรธที่มันไม่ยอมดับเสียที บางทีก็โกรธเพื่อนที่ไม่ขยันเหมือนเรา หรือโกรธเพื่อนที่ดับไม่ทันใจ ถ้าปล่อยใจแบบนี้ก็เท่ากับปล่อยให้ไฟลุกในใจ ถ้าเราฉลาดเราควรดับไฟในใจด้วย โดยหมั่นดูใจของตนเสมอ ขณะที่ดับไฟ ก็ทำด้วยความมีสติ ด้วยความรู้สึกตัว ให้การดับไฟเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง

    ถึงแม้ว่า ๕ วันที่ผ่านมา เราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมในรูปแบบ ก็ขอให้การดับไฟเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ถือเป็นโอกาสที่จะได้ดับกิเลสในใจเราด้วย ถ้าเราดับไฟป่าแล้วกิเลสในใจเราเพิ่มมากขึ้น มีความโกรธ ความหงุดหงิด ท้อถอยมากขึ้น อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ดับไฟในใจเลย เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ นักปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องรู้จักฉวยโอกาส ใช้ทุกเหตุการณ์ให้เกิดประโยชน์ทางธรรม จึงควรรู้จักฉวยโอกาสขณะดับไฟในป่า ก็ให้ไฟในใจเราเบาบางลงด้วย ในเมื่อทำประโยชน์ให้ป่าแล้ว ก็ควรทำประโยชน์ให้ตัวเองด้วย ด้วยการทำควบคู่กันไป ทั้งดับไฟป่า และดับไฟในใจเรา
    :- https://visalo.org/article/firePa.html

     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    e5367.jpg
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    สิ่งที่ประเสริฐกว่าโชค

    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อหลายปีก่อนมีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้รางวัลที่หนึ่งสลากกินรวบ ได้เงินประมาณร้อยล้านเหรียญ ประมาณสามพันกว่าล้านบาท ลองนึกดูซิว่าถ้าเราได้ลาภขนาดนี้ ชีวิตจะมีความสุขมากแค่ไหน ใครๆก็นึกว่าผัวเมียคู่นี้จะมีชีวิตผาสุกไปจนตาย ๕ ปีผ่านไป นักข่าวคนหนึ่งได้ติดตามชีวิตของสามีคู่นี้เพราะอยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปรากฏว่าทั้งสองแยกทางกัน สามีกลายเป็นคนติดเหล้าและตายเพราะโรคที่เกี่ยวกับเหล้า ส่วนภรรยาก็แยกไปอยู่ในคฤหาสน์ที่ใหญ่โตแต่ก็ตายเหมือนกัน ตายคนเดียวโดยไม่มีเพื่อน

    เพียงแค่ ๕ ปีเท่านั้น ชีวิตแทนที่จะมีความสุขกลับตกต่ำยิ่งกว่าเดิม ตกต่ำตอนกว่าตอนที่ยังไม่ถูกสลากกินรวบนี้ด้วยซ้ำ สองคนนี้มีเงินมากมายมหาศาล แต่กลับอายุสั้น และกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน ชีวิตแบบนี้มีความสุขหรือเปล่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเจอลาภก้อนใหญ่ใช่ไหม คนเราเวลาเจอลาภก้อนใหญ่ อย่าคิดว่าจะมีความสุขเสมอไป อาจจะทุกข์ก็ได้ เหมือนสามล้อถูกหวย หรือชาวนาที่ขายที่ดินได้เงินเป็นสิบล้าน ผ่านไปไม่กี่ปีกลายเป็นคนจน เพราะพอได้เงินมาก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งเที่ยวทั้งเล่น เที่ยวก็คือเที่ยวกลางคืน เที่ยวผู้หญิง เล่นก็คือเล่นการพนัน ใช้จ่ายกันทีละล้านสองล้านกันก็มี พอเงินหมดก็ไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอะไรเพราะว่าที่ดินก็ขายไปแล้ว กลายเป็นกรรมกร ขายแรงงาน ชีวิตตกต่ำย่ำแย่ากว่าเดิม เพ

    ที่อเมริกามีคนหนึ่งถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เขาจึงเลยเลิกงานเก่า มาเปิดร้านเช่าวีดีโอ ทำงานแบบสบาย ๆ วันๆก็เอาแต่กิน กินอย่างเดียวไม่ทำอะไรมาก ใครจะมาเช่าหรือไม่มาเช่าก็ไม่สนใจเพราะมีเงินเยอะ พอกินมาก ๆ ไม่เขยื้อนขยับ ก็กลายเป็นคนอ้วน น้ำหนักนับร้อยกิโล จนต้องเข้าโรงพยาบาล ไปไหนมาไหนลำบาก เงินที่สะสมไว้ในที่สุดก็หมด เพราะไม่ได้ตั้งใจทำมาหากิน สุดท้ายนี้กลายเป็นคนยากจน ต้องพึ่งเงินสงเคราะห์ของรัฐ เพราะว่าเจ็บป่วยมากทำมาหากินไม่ได้ แล้วก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพง

    มีตัวอย่างมากมาย คนที่ได้โชคมาแล้ว ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น กลับตกต่ำลำบากกว่าเดิม ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตของคนเราจะดีหรือสุข ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีโชคลาภหรือสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ได้โชคแต่ประมาทหลงระเริงใช้เงินไม่เป็น ชีวิตก็ตกต่ำเหมือนกับนักมวยโอลิมปิกเหรียญทอง เหรียญเงิน หลายคนของไทย ชีวิตตกต่ำไม่นานหลังจากได้เงินรางวัล๒o ล้าน หลายคนเป็นหนี้เป็นสิน บางคนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง บางคนครอบครัวแตกแยก

    ในทางตรงข้าม บางคนมีชีวิตที่ลำบาก ยากจน อับโชค แต่เขาอาจมีความสุขใจก็ได้ สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ เมื่อยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตระหนักว่าป่วยการที่จะบ่นตีโพยตีพาย หากป่วยกายแล้วยังตีโพยตีพายอีก ใจก็ป่วยตามไปด้วย แต่ถ้ากายป่วย แต่รักษาใจให้ดี ก็เป็นสุขได้

    มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ ฌอง โดมินิค โบบี้ เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผลก็คือร่างกายกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ขยับเนื้อขยับตัวไม่ได้เลย สื่อสารด้วยการกระพริบตา ว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ แต่ปรากฏว่าเขาใช้วิธีนี้เขียนหนังสือได้ ๑ เล่ม หนังสือนั้นชื่อว่า “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” เป็นหนังสือที่ขายดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมาก มีการแปลเป็นไทยและก็มีการทำเป็นหนัง ใครที่ได้อ่านก็รู้สึกประทับใจและมีกำลังใจมาก ขนาดพิการอย่างนี้ยังมีความหวัง และมีอารมณ์ขัน เขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ เพราะว่ามันแทนตัวเขาได้ดี คือ ร่างกายของเขามีสภาพเหมือนคนที่ถูกขังอยู่ในชุดประดาน้ำ ชุดประดาน้ำทำด้วยเหล็กทั้งชุด หนักมาก เพื่อให้จมลงไปในน้ำได้ ใครที่อยู่ในชุดประดาน้ำ จะขยับเขยื้อนได้ลำบากมาก

    ส่วนผีเสื้อหมายถึงจิตใจของเขา คือ แม้ร่างกายจะถูกพันธนาการ แต่จิตใจมีอิสระ เหมือนผีเสื้อที่สามารถบินไปดูดน้ำหวาน จากดอกไม้สวยๆ หรือจะบินไปตามทุ่งหญ้าที่งดงาม อันนี้ก็คือความรู้สึกนึกคิดของคน ๆ นี้ ถ้าเราเป็นอยางนั้นบ้าง คงทุกข์ทรมานมาก อยากตายมากกว่า เพราะทำอะไรไม่ได้เลย พูดก็ไม่ได้ ไม่สามารถจะบอกความเจ็บความปวดได้ ทำได้แต่เพียงกระพริบตากับอยู่ไปวันๆ แต่เขาไม่คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่ามีความหมาย และเขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาได้อย่างดี ทำให้คนอ่านมีกำลังใจได้

    อาตมาจึงอยากจะเน้นว่าสุขและทุกข์ของคนเราไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราวางใจหรือเกี่ยวข้องกับมันอย่างไรต่างหาก ทุกวันนี้คนเรามักอยากให้มีแต่สิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิตเรา เวลาเราทำบุญก็อยากให้มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อยากให้มีเงินอยากให้อายุยืน เราปรารถนาหรือหวังให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แต่เราไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่ว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เราจะรับมือกับมันไหวหรือเปล่า ผู้คนไม่ค่อยได้คิดตรงนี้ หากเกิดลาภ เกิดโชคกับเราจริงๆ ประเภทราชรถมาเกย หรือเกิดส้มหล่น เราแน่ใจหรือเปล่าว่าเราจะรับมือกับมันได้ ผู้คนเป็นอันมากรับมือกับมันไม่ได้เพราะไม่ได้เตรียมใจ ไม่ได้ฝึกใจที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย

    คนเราถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆไม่เป็นแม้จะเป็นสิ่งดีๆก็เป็นทุกข์หรือเกิดโทษได้ ในทางตรงข้าม แม้เจอสิ่งแย่ ๆ แต่รู้จักเกี่ยวข้องกับมัน ก็เป็นสุขหรือเกิดประโยชน์ได้ นี้คือความจริงที่พึงตระหนักในการดำเนินชีวิต

    แม้เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่หากวางใจเป็น เพราะฝึกมาดีแล้ว ใจก็ไม่ทุกข์ สุขหรือทุกข์จึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงอย่ามัวแต่ตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้มีสิ่งที่ดีๆเกิดขึ้นกับฉัน แต่ควรสนใจว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมองหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง จะดีกว่า หรือตั้งจิตปรารถนาว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในใจเรา อันนี้สำคัญกว่า

    ถ้าเราสามารถสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในใจได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าอริยทรัพย์ มีศรัทธา มีปัญญา มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีเมตตา มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเกื้อกูล สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจเรามีคุณภาพใหม่ เรียกว่าเป็นจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยบุญด้วยกุศล บุญเป็นชื่อของความสุข บุญเป็นชื่อของความดี ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ ก็เท่ากับว่าเราพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เราจะไม่กลัวว่าจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เพราะว่าเราเตรียมตัวไว้แล้ว ไม่ว่าความเจ็บความป่วย ความล้มเหลวในการทำงาน คำต่อว่าด่าทอ เจอสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่ทุกข์เพราะว่าเรามีใจที่ฝึกไว้ดีแล้ว

    สิ่งนี้สำคัญกว่าโชค สำคัญกว่าลาภ สำคัญกว่าชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นหลักประกันว่าเราจะมีชีวิตที่ดีกว่า และนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราปรารถนาจะให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา อย่าหวังเพียงแค่ว่า ขอให้รวย ขอให้มีชื่อเสียง แต่ว่าควรจะหวังมากกว่านั้น และลงมือทำด้วย

    ระยะหลังอาตมาสังเกตว่า เวลารับบาตรหรือรับสังฆทาน นับวันผู้คนจะอธิษฐานนานขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอธิษฐานนานเป็นนาทีก่อนจะถวาย เช่น ขอให้รวย ขอให้หายป่วย ขอให้ถูกหวย ขอให้ขายที่ได้ ขอให้ได้บ้านหลังใหญ่ ขอให้ประสบความสำเร็จ ขอให้สมัครงานได้ ขอให้ลูกสอบติดมหาวิทยาลัย ขอให้สอบเข้าได้ ฯลฯ อธิษฐานยาวเหยียดเลย ผิดกับชาวบ้านสมัยก่อน เวลาทำบุญใส่บาตรเขาอธิฐานสั้นมาก คืออธิษฐานว่า นิพพาน ปัจจโย โหตุ ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน อย่างอื่นเขาไม่สนใจ ไม่ว่า เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ เพราะเขารู้ว่า มันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ถึงได้มาก็ยังมีความทุกข์อยู่ มันไม่ใช่ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่เข้าถึงนิพพาน จึงอธิษฐานสั้นๆตรงประเด็น ถ้าเราฉลาด เราก็จะมุ่งที่ตรงนี้ คือชีวิตที่ดีที่สุด ไม่ใช่ชีวิตที่แค่ดีเฉยๆ

    :- https://visalo.org/article/KomChadLuek580104.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เปลี่ยนศัตรูเป็นอาจารย์
    พระไพศาล วิสาโล
    ทุกเช้าหลังจากการออกกำลังกาย อาจารย์จะชวนผู้ปฏิบัติธรรมออกไปเดินจงกรมรอบที่พัก โดยให้มีสติอยู่กับการเดิน คือรู้กายเมื่อเคลื่อนไหว และรู้ใจหากเผลอคิดฟุ้งซ่าน อาจารย์จะให้สัญญาณหยุดเดินเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่ยืนนิ่งก็ให้ผู้ปฏิบัติหันมารับรู้ลมหายใจเข้าและออก และรู้ทุกอาการที่เกิดกับใจ ส่วนอะไรที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ

    วันที่สองของการเดิน อาจารย์ชวนทุกคนถอดรองเท้า หลายคนรู้รสชาติของความเจ็บปวดเมื่อหินและกรวดน้อยใหญ่ทิ่มฝ่าเท้าเกือบตลอดทาง ยังไม่นับยุงที่รุมกัดทุกครั้งที่เดินผ่านสวน ตลอด ๔๕ นาทีของการเดินจงกรมจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของผู้ปฏิบัติ


    แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ในวันต่อ ๆ มาที่มีฝนตกพรำ ๆ ตั้งแต่เช้ามืด ตามทางจะมีมดนับพัน ๆ เดินขวักไขว่เป็นแถวขวางทางเดินของผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าตั้งใจเดินเพียงใด ก็จะมีมดไต่ตอมขึ้นมาตามขาและกัดตามอำเภอใจ บางคนหนักกว่านั้นเพราะมีสัญญาณให้หยุดเดินขณะที่เดินเฉียดรังมดพอดี ดังนั้นเดิน ๆ ไปก็จะได้ยินเสียงคนกระทืบเท้าหลายครั้งติด ๆ กันเพื่อสะบัดมดให้หลุดจากขา หรือมีเสียงปัดมดตามขากางเกงดังถนัดถนี่ ยากที่จะรักษาความสงบสำรวมไปได้ตลอดทาง

    ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนขยาดการเดินจงกรมตอนเช้า อาจารย์จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตดูกายของตนว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมดไต่ยุงตอม และให้ดูใจของตัวเองด้วย ว่ารู้สึกอย่างไร มีความกลัว ตื่นตระหนก โวยวาย ตีโพยตีพายอยู่ข้างในหรือไม่ โดยเฉพาะตอนที่ถูกกัด ใจมีอาการอย่างไร ดูเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับอาการเหล่านั้น อาจารย์ย้ำกับผู้ปฏิบัติว่า จริง ๆ แล้วกายของเราทนมดกัดได้ แต่ที่ทนไม่ได้คือใจต่างหาก และที่เจ็บปวดจนอยู่เฉยไม่ได้นั้น เป็นเพราะใจไม่มีสติ จึงเผลอไปทุกข์กับกาย หรือเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของใจไปด้วย

    ทุกข์กายนั้นแค่ ๑ ส่วน แต่อีก ๒-๓ ส่วนนั้นเป็นเพราะทุกข์ใจต่างหาก แต่ถ้ามีสติ เห็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจ อารมณ์นั้นก็จะหลุดไปจากใจ ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ ความทุกข์จะเบาบางลง คงมีแต่ความเจ็บปวดที่กายเท่านั้น พูดอีกอย่างคือมีแต่ทุกขเวทนา(ทางกาย) แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน(ทางใจ) อาจารย์ยังแนะอีกว่าหากจะมีสติดูความเจ็บปวดเลยก็ได้ แต่ถ้าสติไม่ฉับไวพอก็จะเผลอพลัดเข้าไปจมอยู่กับความเจ็บปวดได้ง่าย กลายเป็นปวดมากขึ้น

    หลังจากเดินจงกรม(วิบาก)ไปได้ ๕ วัน ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งได้ทดลองทำตามที่อาจารย์แนะนำ และได้เขียนเล่าประสบการณ์การปฏิบัติของตนไว้อย่างน่าสนใจ ว่า “เดินจงกรมตอนเช้า วางใจว่าจะดูความเจ็บ ได้หยุดบนรังมดสมใจ สภาวะเกิดดังนี้-มองเห็นว่ามดทั้งรังไต่ขึ้นมา-จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป-จิตบอกว่าให้วางใจสบาย ๆ เป็นไงเป็นกัน”

    จากนั้นเธอก็มาดูความรู้สึกและอาการของกาย “รู้สึกถึงลักษณะความเจ็บ,แสบ,ร้อน,จี๊ด ๆ เหมือนโดนธูปจี้เป็นจุด ๆ บางจุดก็ตื้นลึกไม่เท่ากัน กว้างแคบ,เป็นระลอก รู้สึกกล้ามเนื้อเกร็ง,หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น-กัดฟันเม้มปาก,กะพริบตา,ยืนนิ่ง” ระหว่างนั้นเธอกลับมาดูจิต และพบว่า “เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง สติเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารมด เขาคงโกรธ เขาจึงกัดเอา
    ตอนนี้ใจสบายตั้งมั่น เรียกเขาว่าอาจารย์มด จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

    แล้วเธอก็สรุปตอนท้ายว่า “การเห็นความเจ็บ,ลมหายใจ,จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ แปลกดี”

    ผู้ปฏิบัติท่านนี้ได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า แม้กายปวด แต่ใจสบายและสงบนิ่งได้ เมื่อกายทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าใจจะต้องทุกข์ตามไปด้วย คนส่วนใหญ่นั้นทันทีที่กายทุกข์ใจก็ทุกข์ไปด้วย อันที่จริงทั้ง ๆ ที่กายยังไม่ทุกข์เลย แต่ใจก็ทุกข์ไปก่อนแล้ว เช่น พอรู้ว่ามดไต่ขา ยังไม่ทันจะถูกกัด ใจก็กระสับกระส่าย ทุรนทุรายไปเสียแล้ว ความทุกข์ใจนี้เองที่ทำให้ความเจ็บปวดเวลาถูกมดกัดเพิ่มเป็นทวีตรีคูณ

    หลายคนเมื่อรู้ว่าความทุกข์ใจเป็นตัวปัญหา วิธีการที่นิยมทำคือพยายามกดข่มหรือขจัดมันให้หมดไป แต่ยิ่งทำเช่นนั้นมันก็ยิ่งผุดโผล่ ไม่ยอมหายไปง่าย ๆ ตรงข้ามกับผู้ปฏิบัติท่านนี้ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรกับอารมณ์ดังกล่าว นอกจากรู้หรือดูมันเฉย ๆ แล้วเธอก็พบว่า “จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป.....เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง” รู้หรือดูในที่นี้หมายถึงมีสติ เมื่อมีสติ การปรุงแต่งก็ดับใจ ใจก็สงบ นิ่ง สบาย แม้ความปวดหรือทุกขเวทนายังอยู่ แต่ก็เป็นส่วนกาย ไม่กระเทือนไปถึงใจได้ เรียกว่าอยู่กับทุกขเวทนาได้โดยไม่ทุกข์

    ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ สิ่งที่ทุกคนพยายามทำคือหนีทุกข์ หรือไม่ก็ขจัดทุกข์ให้หมดไปถ้าน้ำท่วม ก็หนีไปอยู่ที่ดอน หรือไม่ก็ปั้นฝายสร้างเขื่อน ถ้าถูกคนกลั่นแกล้ง ก็พยายามอยู่ห่างเขาให้ไกลที่สุด หรือไม่ก็หาทางทำให้เขายุติพฤติกรรมดังกล่าว แต่มีทุกข์หลายอย่างที่เราหนีไม่พ้นและขจัดไม่ได้ (หรือขจัดออกไปไม่ได้ทันที) เช่น ตกงาน ล้มละลาย สูญเสียคนรัก รวมทั้งความ เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งไม่มียารักษาหรือแม้แต่จะบรรเทาความเจ็บปวด

    ในสภาวะเช่นนี้เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะหนีทุกข์มาตลอด หรือไม่ก็คิดแต่จะจัดการกับสิ่งนอกตัว โดยไม่คิดที่จะจัดการกับตัวเองโดยเฉพาะการทำใจ เจ็บปวดก็กินยาระงับปวด แต่ถ้ายาหมดหรือไม่มียาใกล้ตัว ก็เหมือนตกนรก ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าตีโพยตีพาย บ่นโวยวายมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น หากไม่มีวิธีอื่นจะบรรเทาทุกข์ได้ ก็คงไม่มีอะไรดีกว่าการทำใจยอมรับมัน

    คำถามคือจะทำใจยอมรับมันได้อย่างไร หลายคนนึกไปถึงการอดทน นั่นคือกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับมันให้ได้ บางคนนึกไปถึงการ “ก้มหน้ารับกรรม” ถือเสียว่าเป็นการใช้หนี้กรรมที่เคยทำไว้แต่ปางก่อน มีชาวพุทธเป็นอันมากที่คิดแบบนี้ เมื่อมีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เช่น เจ็บป่วยเป็นมะเร็ง หรือเงินหาย ก็ถือว่าเป็นการใช้กรรม โดยโยงไปถึง “เจ้ากรรมนายเวร” ซึ่งนับวันจะมีความหมายครอบจักรวาล คือเป็นสาเหตุของทุกเรื่องที่ไม่พึงประสงค์

    เชื่อแน่ว่าตอนที่เจ็บปวดเพราะถูกมดกัดขณะที่เดินจงกรม ผู้ปฏิบัติธรรมหลายคนพยายามทำใจแบบนี้ คือถือว่าเป็นการใช้กรรมที่เคยทำกับมดเหล่านี้ วิธีคิดแบบนี้นอกจากช่วยให้อดทนและยอมรับความเจ็บปวดได้แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อมดเหล่านี้ แทนที่จะเห็นเป็นศัตรูก็เห็นเป็นเจ้ากรรมนายเวรไปเสีย จึงช่วยลดความโกรธเกลียดหรือพยาบาทไปได้มาก

    การมองแบบนี้แม้ช่วยให้ความทุกข์ลดลง แต่ก็ยังรู้สึกต้องฝืนทนอยู่ไม่น้อย เฝ้าแต่คอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด หรือใช้หนี้เสร็จเสียที แต่ยังมีวิธีที่ดีกว่านั้น แทนที่จะใช้ความอดทน(ขันติ) หรือการใช้เหตุผลโน้มน้าวใจให้ยอมรับความทุกข์ ก็หันมาใช้สติ การมีสติตามรู้กายและใจ (ความคิด อารมณ์ปรุงแต่ง) สามารถยกจิตให้อยู่เหนือทุกขเวทนาได้ คือเห็นว่ามันเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ยึดติดถือมั่นว่าความเจ็บนั้นเป็นเราเป็นของเรา พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เห็นความเจ็บ แต่ไม่มี “กูผู้เจ็บ”

    เมื่อใดที่เรามีสติตามรู้กายและใจขณะที่ถูกมดกัด ก็จะเห็นเช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมที่เขียนเล่าว่า “ ความเจ็บ,ลมหายใจ,จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วน ๆ” ดังนั้นใจจึงสบายตั้งมั่น ไม่มีความจำเป็นต้องอดทน หรือคอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด “จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

    มดยิ่งกัดนานเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะได้เห็นธรรมปรากฏชัด เห็นทั้งศักยภาพของจิตที่สามารถเป็นอิสระจากทุกขเวทนา รวมทั้งเห็นอานุภาพของสติที่ทำให้จิตเป็นอิสระได้ ถึงตอนนี้มดที่ดุดันน่ากลัวได้กลายเป็น “อาจารย์มด”ไปแล้ว หาได้เป็นศัตรูหรือเจ้ากรรมนายเวรอีกต่อไปไม่ ความรู้สึกที่ตามมาคือ ขอบคุณและเมตตาสงสารมด

    ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติธรรมท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถพบธรรมได้จากความทุกข์ จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหวาดกลัวความทุกข์ แต่ควรพร้อมต้อนรับความทุกข์เสมอ การต้อนรับความทุกข์ด้วยสติ นอกจากจะทำให้ใจไม่ทุกข์แล้ว ยังเพิ่มพูนปัญญา นั่นคือเกิด “กำไร” ซึ่งดีกว่าการอดทน กล้ำกลืนฝืนทน หรือก้มหน้ารับกรรม ซึ่งอย่างมากก็ทำให้แค่เสมอตัว คือไม่ทุกข์ แต่ปัญญาอาจไม่เกิด

    เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็เช่นกัน มันสามารถกลายเป็นดี หรือมีคุณแก่เราได้หากเปิดใจพร้อมรับด้วยสติ แม้แต่คนที่ทำไม่ดีกับเรา แทนที่จะเป็นศัตรู หรือเจ้ากรรมนายเวร ก็กลับกลายเป็นอาจารย์ของเราได้ จากความโกรธ เกลียด พยาบาท ก็จะกลายเป็นความเมตตาสงสารและรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำไป

    เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา ไม่ควรมองว่าเรากำลังใช้กรรม ที่จริงนั่นคือโอกาสที่เราจะได้สร้างกรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิม ขอให้ตั้งสติและรู้จักใช้วิบากกรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าลืมว่าเคราะห์สามารถเปลี่ยนเป็นโชคได้เสมอ เช่นเดียวกับทุกข์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นธรรมให้เราประจักษ์ได้ทุกขณะ
    :- https://visalo.org/article/matichon255301.htm

     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    เปลี่ยนศัตรูเป็นอาจารย์
    พระไพศาล วิสาโล
    ทุกเช้าหลังจากการออกกำลังกาย อาจารย์จะชวนผู้ปฏิบัติธรรมออกไปเดินจงกรมรอบที่พัก โดยให้มีสติอยู่กับการเดิน คือรู้กายเมื่อเคลื่อนไหว และรู้ใจหากเผลอคิดฟุ้งซ่าน อาจารย์จะให้สัญญาณหยุดเดินเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่ยืนนิ่งก็ให้ผู้ปฏิบัติหันมารับรู้ลมหายใจเข้าและออก และรู้ทุกอาการที่เกิดกับใจ ส่วนอะไรที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ

    วันที่สองของการเดิน อาจารย์ชวนทุกคนถอดรองเท้า หลายคนรู้รสชาติของความเจ็บปวดเมื่อหินและกรวดน้อยใหญ่ทิ่มฝ่าเท้าเกือบตลอดทาง ยังไม่นับยุงที่รุมกัดทุกครั้งที่เดินผ่านสวน ตลอด ๔๕ นาทีของการเดินจงกรมจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของผู้ปฏิบัติ


    แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ในวันต่อ ๆ มาที่มีฝนตกพรำ ๆ ตั้งแต่เช้ามืด ตามทางจะมีมดนับพัน ๆ เดินขวักไขว่เป็นแถวขวางทางเดินของผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าตั้งใจเดินเพียงใด ก็จะมีมดไต่ตอมขึ้นมาตามขาและกัดตามอำเภอใจ บางคนหนักกว่านั้นเพราะมีสัญญาณให้หยุดเดินขณะที่เดินเฉียดรังมดพอดี ดังนั้นเดิน ๆ ไปก็จะได้ยินเสียงคนกระทืบเท้าหลายครั้งติด ๆ กันเพื่อสะบัดมดให้หลุดจากขา หรือมีเสียงปัดมดตามขากางเกงดังถนัดถนี่ ยากที่จะรักษาความสงบสำรวมไปได้ตลอดทาง

    ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนขยาดการเดินจงกรมตอนเช้า อาจารย์จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตดูกายของตนว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมดไต่ยุงตอม และให้ดูใจของตัวเองด้วย ว่ารู้สึกอย่างไร มีความกลัว ตื่นตระหนก โวยวาย ตีโพยตีพายอยู่ข้างในหรือไม่ โดยเฉพาะตอนที่ถูกกัด ใจมีอาการอย่างไร ดูเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับอาการเหล่านั้น อาจารย์ย้ำกับผู้ปฏิบัติว่า จริง ๆ แล้วกายของเราทนมดกัดได้ แต่ที่ทนไม่ได้คือใจต่างหาก และที่เจ็บปวดจนอยู่เฉยไม่ได้นั้น เป็นเพราะใจไม่มีสติ จึงเผลอไปทุกข์กับกาย หรือเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของใจไปด้วย

    ทุกข์กายนั้นแค่ ๑ ส่วน แต่อีก ๒-๓ ส่วนนั้นเป็นเพราะทุกข์ใจต่างหาก แต่ถ้ามีสติ เห็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจ อารมณ์นั้นก็จะหลุดไปจากใจ ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ ความทุกข์จะเบาบางลง คงมีแต่ความเจ็บปวดที่กายเท่านั้น พูดอีกอย่างคือมีแต่ทุกขเวทนา(ทางกาย) แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน(ทางใจ) อาจารย์ยังแนะอีกว่าหากจะมีสติดูความเจ็บปวดเลยก็ได้ แต่ถ้าสติไม่ฉับไวพอก็จะเผลอพลัดเข้าไปจมอยู่กับความเจ็บปวดได้ง่าย กลายเป็นปวดมากขึ้น

    หลังจากเดินจงกรม(วิบาก)ไปได้ ๕ วัน ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งได้ทดลองทำตามที่อาจารย์แนะนำ และได้เขียนเล่าประสบการณ์การปฏิบัติของตนไว้อย่างน่าสนใจ ว่า “เดินจงกรมตอนเช้า วางใจว่าจะดูความเจ็บ ได้หยุดบนรังมดสมใจ สภาวะเกิดดังนี้-มองเห็นว่ามดทั้งรังไต่ขึ้นมา-จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป-จิตบอกว่าให้วางใจสบาย ๆ เป็นไงเป็นกัน”

    จากนั้นเธอก็มาดูความรู้สึกและอาการของกาย “รู้สึกถึงลักษณะความเจ็บ,แสบ,ร้อน,จี๊ด ๆ เหมือนโดนธูปจี้เป็นจุด ๆ บางจุดก็ตื้นลึกไม่เท่ากัน กว้างแคบ,เป็นระลอก รู้สึกกล้ามเนื้อเกร็ง,หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น-กัดฟันเม้มปาก,กะพริบตา,ยืนนิ่ง” ระหว่างนั้นเธอกลับมาดูจิต และพบว่า “เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง สติเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารมด เขาคงโกรธ เขาจึงกัดเอา
    ตอนนี้ใจสบายตั้งมั่น เรียกเขาว่าอาจารย์มด จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

    แล้วเธอก็สรุปตอนท้ายว่า “การเห็นความเจ็บ,ลมหายใจ,จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ แปลกดี”

    ผู้ปฏิบัติท่านนี้ได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า แม้กายปวด แต่ใจสบายและสงบนิ่งได้ เมื่อกายทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าใจจะต้องทุกข์ตามไปด้วย คนส่วนใหญ่นั้นทันทีที่กายทุกข์ใจก็ทุกข์ไปด้วย อันที่จริงทั้ง ๆ ที่กายยังไม่ทุกข์เลย แต่ใจก็ทุกข์ไปก่อนแล้ว เช่น พอรู้ว่ามดไต่ขา ยังไม่ทันจะถูกกัด ใจก็กระสับกระส่าย ทุรนทุรายไปเสียแล้ว ความทุกข์ใจนี้เองที่ทำให้ความเจ็บปวดเวลาถูกมดกัดเพิ่มเป็นทวีตรีคูณ

    หลายคนเมื่อรู้ว่าความทุกข์ใจเป็นตัวปัญหา วิธีการที่นิยมทำคือพยายามกดข่มหรือขจัดมันให้หมดไป แต่ยิ่งทำเช่นนั้นมันก็ยิ่งผุดโผล่ ไม่ยอมหายไปง่าย ๆ ตรงข้ามกับผู้ปฏิบัติท่านนี้ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรกับอารมณ์ดังกล่าว นอกจากรู้หรือดูมันเฉย ๆ แล้วเธอก็พบว่า “จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป.....เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง” รู้หรือดูในที่นี้หมายถึงมีสติ เมื่อมีสติ การปรุงแต่งก็ดับใจ ใจก็สงบ นิ่ง สบาย แม้ความปวดหรือทุกขเวทนายังอยู่ แต่ก็เป็นส่วนกาย ไม่กระเทือนไปถึงใจได้ เรียกว่าอยู่กับทุกขเวทนาได้โดยไม่ทุกข์

    ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ สิ่งที่ทุกคนพยายามทำคือหนีทุกข์ หรือไม่ก็ขจัดทุกข์ให้หมดไปถ้าน้ำท่วม ก็หนีไปอยู่ที่ดอน หรือไม่ก็ปั้นฝายสร้างเขื่อน ถ้าถูกคนกลั่นแกล้ง ก็พยายามอยู่ห่างเขาให้ไกลที่สุด หรือไม่ก็หาทางทำให้เขายุติพฤติกรรมดังกล่าว แต่มีทุกข์หลายอย่างที่เราหนีไม่พ้นและขจัดไม่ได้ (หรือขจัดออกไปไม่ได้ทันที) เช่น ตกงาน ล้มละลาย สูญเสียคนรัก รวมทั้งความ เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งไม่มียารักษาหรือแม้แต่จะบรรเทาความเจ็บปวด

    ในสภาวะเช่นนี้เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะหนีทุกข์มาตลอด หรือไม่ก็คิดแต่จะจัดการกับสิ่งนอกตัว โดยไม่คิดที่จะจัดการกับตัวเองโดยเฉพาะการทำใจ เจ็บปวดก็กินยาระงับปวด แต่ถ้ายาหมดหรือไม่มียาใกล้ตัว ก็เหมือนตกนรก ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าตีโพยตีพาย บ่นโวยวายมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น หากไม่มีวิธีอื่นจะบรรเทาทุกข์ได้ ก็คงไม่มีอะไรดีกว่าการทำใจยอมรับมัน

    คำถามคือจะทำใจยอมรับมันได้อย่างไร หลายคนนึกไปถึงการอดทน นั่นคือกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับมันให้ได้ บางคนนึกไปถึงการ “ก้มหน้ารับกรรม” ถือเสียว่าเป็นการใช้หนี้กรรมที่เคยทำไว้แต่ปางก่อน มีชาวพุทธเป็นอันมากที่คิดแบบนี้ เมื่อมีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เช่น เจ็บป่วยเป็นมะเร็ง หรือเงินหาย ก็ถือว่าเป็นการใช้กรรม โดยโยงไปถึง “เจ้ากรรมนายเวร” ซึ่งนับวันจะมีความหมายครอบจักรวาล คือเป็นสาเหตุของทุกเรื่องที่ไม่พึงประสงค์

    เชื่อแน่ว่าตอนที่เจ็บปวดเพราะถูกมดกัดขณะที่เดินจงกรม ผู้ปฏิบัติธรรมหลายคนพยายามทำใจแบบนี้ คือถือว่าเป็นการใช้กรรมที่เคยทำกับมดเหล่านี้ วิธีคิดแบบนี้นอกจากช่วยให้อดทนและยอมรับความเจ็บปวดได้แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อมดเหล่านี้ แทนที่จะเห็นเป็นศัตรูก็เห็นเป็นเจ้ากรรมนายเวรไปเสีย จึงช่วยลดความโกรธเกลียดหรือพยาบาทไปได้มาก

    การมองแบบนี้แม้ช่วยให้ความทุกข์ลดลง แต่ก็ยังรู้สึกต้องฝืนทนอยู่ไม่น้อย เฝ้าแต่คอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด หรือใช้หนี้เสร็จเสียที แต่ยังมีวิธีที่ดีกว่านั้น แทนที่จะใช้ความอดทน(ขันติ) หรือการใช้เหตุผลโน้มน้าวใจให้ยอมรับความทุกข์ ก็หันมาใช้สติ การมีสติตามรู้กายและใจ (ความคิด อารมณ์ปรุงแต่ง) สามารถยกจิตให้อยู่เหนือทุกขเวทนาได้ คือเห็นว่ามันเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ยึดติดถือมั่นว่าความเจ็บนั้นเป็นเราเป็นของเรา พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เห็นความเจ็บ แต่ไม่มี “กูผู้เจ็บ”

    เมื่อใดที่เรามีสติตามรู้กายและใจขณะที่ถูกมดกัด ก็จะเห็นเช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมที่เขียนเล่าว่า “ ความเจ็บ,ลมหายใจ,จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วน ๆ” ดังนั้นใจจึงสบายตั้งมั่น ไม่มีความจำเป็นต้องอดทน หรือคอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด “จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

    มดยิ่งกัดนานเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะได้เห็นธรรมปรากฏชัด เห็นทั้งศักยภาพของจิตที่สามารถเป็นอิสระจากทุกขเวทนา รวมทั้งเห็นอานุภาพของสติที่ทำให้จิตเป็นอิสระได้ ถึงตอนนี้มดที่ดุดันน่ากลัวได้กลายเป็น “อาจารย์มด”ไปแล้ว หาได้เป็นศัตรูหรือเจ้ากรรมนายเวรอีกต่อไปไม่ ความรู้สึกที่ตามมาคือ ขอบคุณและเมตตาสงสารมด

    ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติธรรมท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถพบธรรมได้จากความทุกข์ จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหวาดกลัวความทุกข์ แต่ควรพร้อมต้อนรับความทุกข์เสมอ การต้อนรับความทุกข์ด้วยสติ นอกจากจะทำให้ใจไม่ทุกข์แล้ว ยังเพิ่มพูนปัญญา นั่นคือเกิด “กำไร” ซึ่งดีกว่าการอดทน กล้ำกลืนฝืนทน หรือก้มหน้ารับกรรม ซึ่งอย่างมากก็ทำให้แค่เสมอตัว คือไม่ทุกข์ แต่ปัญญาอาจไม่เกิด

    เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็เช่นกัน มันสามารถกลายเป็นดี หรือมีคุณแก่เราได้หากเปิดใจพร้อมรับด้วยสติ แม้แต่คนที่ทำไม่ดีกับเรา แทนที่จะเป็นศัตรู หรือเจ้ากรรมนายเวร ก็กลับกลายเป็นอาจารย์ของเราได้ จากความโกรธ เกลียด พยาบาท ก็จะกลายเป็นความเมตตาสงสารและรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำไป

    เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา ไม่ควรมองว่าเรากำลังใช้กรรม ที่จริงนั่นคือโอกาสที่เราจะได้สร้างกรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิม ขอให้ตั้งสติและรู้จักใช้วิบากกรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าลืมว่าเคราะห์สามารถเปลี่ยนเป็นโชคได้เสมอ เช่นเดียวกับทุกข์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นธรรมให้เราประจักษ์ได้ทุกขณะ
    :- https://visalo.org/article/matichon255301.htm

     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    52 เกิดเหตุที่ร้านก๋วยเตี๋ยว.mp4

    Aom Dauble
    Jul 17, 2011

     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    ไม่รักไม่เกลียด
    พระไพศาล วิสาโล
    ใครๆ ก็รักสุขเกลียดทุกข์กันทั้งนั้น ที่เรามุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือเข้าวัดปฏิบัติธรรม ก็เพราะรักสุข ขณะเดียวกันการที่เรามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายอยู่รอบตัว ก็เพราะเกลียดทุกข์ กล่าวได้ว่าความรักสุขเกลียดทุกข์เป็นตัวผลักดันให้มนุษย์สร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

    แต่ความรักสุขเกลียดทุกข์บ่อยครั้งก็สร้างปัญหาให้แก่เราอยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่เรามีความสุขสบายทางกายมากขึ้น แต่เหตุใดความสุขใจหาได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยไม่ กลับลดลงไปด้วยซ้ำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าขณะที่ความทุกข์กายของคนสมัยนี้ลดลงแต่ความทุกข์ใจกลับเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะความรักสุขเกลียดทุกข์ที่ฝังแน่นในใจนั่นเอง


    ความรักสุขจะไม่ก่อปัญหาแก่เราเลยหากว่าเมื่อดิ้นรนพากเพียรได้ความสุขมาครอบครองแล้ว ความสุขนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป แต่ความจริงมีอยู่ว่า ความสุขหรือสิ่งที่ให้ความสุขแก่เรานั้นล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องจากเราไป ยิ่งรักสุข รักทรัพย์ รักชื่อเสียง มากเท่าใด ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้นเมื่อมันหลุดลอยไปจากเรา คุณยายวัย ๘๐ รักพลอยเม็ดงาม แต่เมื่อพบว่าพลอยหายไปเพราะหลานสาวเผลอกวาดลงถังขยะ ก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับจนล้มป่วย นักการเมืองท้องถิ่นมีความสุขมากเมื่อได้รับเลือกเป็นนายกอบจ.สมใจ ไปไหนมาไหนก็มีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง อยากเป็นสมัยที่สอง แต่เมื่อแพ้เลือกตั้งก็เป็นทุกข์จนเสียศูนย์ ไม่กล้าปรากฏตัวในที่สาธารณะเพราะรู้สึกอับอาย ยิ่งได้ไปเยือนสถานที่ที่ตัวเองผลักดันก่อตั้ง แล้วพบว่าไม่มีใครมาห้อมล้อมเหมือนเคย ก็เสียใจร่ำไห้และเครียดจัดจนนอนไม่หลับ

    จะว่าไปแล้วทันทีที่รักสุข อยากได้อะไรมาครอบครองให้สุขสบาย ความทุกข์ก็เกิดขึ้นโดยพลัน เพราะเมื่ออยากได้อะไร ก็ย่อมมีความกลัวหรือวิตกกังวลว่าจะไม่ได้สิ่งนั้น และตลอดเวลาที่ยังไม่ได้มันมา ก็เป็นทุกข์เพราะรู้สึกพร่องหรือไม่สมหวัง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทันทีที่รักสุขซึ่งอยู่ข้างหน้า สุขที่มีอยู่เดิมก็หายไป มีความทุกข์มาแทนที่

    ความเกลียดทุกข์ก็เช่นกัน แม้มันจะผลักดันให้เราหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครเลยที่จะหนีความทุกข์พ้น ใช่หรือไม่ว่าสักวันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ แต่เป็นเพราะเกลียดความแก่ความเจ็บ ดังนั้นเมื่อพบว่าผมหงอกผิวย่นหน้าตกกระ จึงทุกข์ใจเป็นอย่างมาก และเมื่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง จึงไม่เพียงแต่ป่วยกายเท่านั้น ใจก็ป่วยด้วย กลายเป็นการซ้ำเติมตัวเอง ทำให้ทุกข์สองชั้น มิหนำซ้ำความทุกข์ใจนั้นยังฉุดกายให้ทรุดหนักกว่าเดิมด้วย บางคนพอรู้ว่าเป็นมะเร็ง อยู่ได้แค่สองสัปดาห์ก็ตายทั้ง ๆ ที่หมอบอกว่ามีชีวิตอยู่ได้อีกสามเดือน

    บางคนรักความสงบ เวลาทำสมาธิจนจิตสงบ ก็เป็นสุขอย่างมาก แต่พอความสงบหายไป ทำเท่าไรความสงบก็ไม่กลับมา จึงเป็นทุกข์อย่างมาก บางครั้งกลับกลุ้มใจยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำ ในทำนองเดียวกันบางคนเกลียดเสียงรบกวน พอได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง หรือเสียงคนคุยกันขณะนั่งสมาธิ จะรู้สึกหงุดหงิดมาก เพ่งโทษและพุ่งความโกรธไปที่เสียงเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ดังอะไรเลย แท้จริงแล้วเสียงไม่เป็นปัญหา ความรู้สึกเกลียดเสียงต่างหากที่เป็นปัญหา นี้ก็ไม่ต่างจากลิงที่เกลียดกะปิ หากกะปิเปื้อนมือมัน มันจะถูมือกับหินหรือเปลือกไม้จนเป็นแผลเลือดไหลซิบ ถามว่าอะไรทำให้ลิงมีแผล กะปิใช่ไหม เปล่าเลย ความเกลียดกะปิในใจลิงต่างหาก

    นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยมีความทุกข์เวลาเกิดความฟุ้งซ่านหรือความเครียด แท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความฟุ้งซ่านหรือความเครียด แต่อยู่ที่ความรู้สึกเกลียดที่มีต่ออาการเหล่านั้นต่างหาก ถ้าหากมองว่ามันเป็นธรรมดาของใจ หรือวางใจเป็นกลางต่ออาการเหล่านั้น ความทุกข์จะลดลงมาก ยิ่งผลักไสไล่ส่งมัน มันก็ยิ่งเป็นศัตรูกับเรา หาทางก่อกวนเราไม่เลิก แต่ทันทีที่ยอมรับมันหรือยิ้มรับมัน อย่างที่เราทำกับแขกผู้มาเยือน มันก็จะกลายมาเป็นมิตรกับเรา รบกวนเราน้อยลง และพร้อมจะจากไปในเวลาไม่นาน เหมือนอาคันตุกะที่รู้เวลาของตัวเอง

    แม้เราจะรักความสุขมากมายเพียงใด ความสุขก็หาได้รักเราไม่ วันดีคืนดีความสุขก็จากเราไป ถึงจะกลับมาใหม่ ก็อยู่กับเราประเดี๋ยวประด๋าว ส่วนความทุกข์นั้นแม้เราจะเกลียดเพียงใด แต่มันก็มักจะมาหาเราอยู่เสมอ ยิ่งพยายามหนีมัน มันก็ยิ่งเข้ามาพัวพัน เคยสังเกตไหมว่า ยิ่งเกลียดอะไร ก็ยิ่งเจอสิ่งนั้น ในทางตรงข้ามยิ่งรักอะไร ก็มักสูญเสียสิ่งนั้น หรือเหนื่อยกับการไล่ล่ามากขึ้นเพราะมันเอาแต่หนีห่างออกไป

    ลองวางใจเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ดูบ้าง สุขมาก็ไม่ยินดี ทุกข์มาก็ไม่ยินร้าย เมื่อได้รับคำชมก็ไม่ระเริง เมื่อถูกตำหนิก็ไม่ห่อเหี่ยว ยามสำเร็จก็ไม่ลิงโลด ยามล้มเหลวก็ไม่ซึมเซา แต่ถ้าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ ก็แค่รับรู้เฉย ๆ ด้วยใจเป็นกลาง ดีใจก็รู้ว่าดีใจ ไม่ไขว่คว้าคลอเคลีย เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ ไม่ปฏิเสธผลักไส ถือว่าต่างคนต่างอยู่ ไม่นานก็จะพบว่าพอไม่รักสุข สุขกลับมา พอไม่เกลียดทุกข์ ทุกข์กลับลาจาก แม้ทุกข์กายยังต้องเจออยู่ แต่ใจไม่ทุกข์ แม้เสียทรัพย์ แต่ใจไม่เสียไปด้วย

    มาถึงตรงนี้ก็อยากจะบอกว่า รักสุขไปเถิดถ้าคิดว่าสุขนั้นเที่ยง เกลียดทุกข์ไปเถิดถ้าคิดว่าหนีทุกข์พ้น แต่ถ้าหนีทุกข์ไม่พ้น ก็ควรเกลียดมันให้น้อยลง ยอมรับมันให้มากขึ้น และถ้าไม่แน่ใจว่าสุขที่มีนั้นเที่ยงแท้แน่นอน ก็ควรรักหรือหวงแหนมันให้น้อยลง
    :- https://visalo.org/article/secret255509.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    GirlToLookFor.jpg
    พิษจากผลแห่งความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    สมัยหนึ่งพระองคุลิมาล ซึ่งเพิ่งบวชใหม่ ได้สนทนาธรรมกับพระนันทิยะ พระนันทิยะได้เล่าให้ฟังว่าพระพุทธองค์ได้สอนอะไรแก่ท่านบ้าง ตอนหนึ่งมีความว่า “เมื่อผู้ใดสรรเสริญเยินยอหรือบูชาเราด้วยลาภสักการะ จงนึกว่าลาภสักการะหรือชื่อเสียงนั้นเป็นผลแห่งความดี หรือเป็นเพราะผู้อื่นสำคัญว่าเราดี” แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลยึดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา”

    เวลาทำความดีแล้วมีคนยกย่อง มีลาภสักการะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักเผลอคิดไปว่าเป็นเพราะเรา หรือเป็นเพราะกู แต่พุทธภาษิตดังกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า ลาภสักการะนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะเรา แต่เป็นเพราะความดีที่เราทำต่างหาก ความดีที่ทำนั้นเรียกว่าธรรมะ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ดี หาไม่จะเกิดความหลงตัวว่าเป็นเพราะเรา สุดท้ายก็ทำให้ลืมตน

    ความหลงตัวกับความลืมตนเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อหลงตัวลืมตนแล้ว ในเวลาต่อมาผู้คนไม่ชมเรา ไม่เอาลาภสักการะมาให้ ก็จะเกิดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจว่า เกิดอะไรขึ้น หลายคนมักจะพูดว่าทำไมฉันทำดีแล้วไม่ได้ดี คือนึกว่า ชื่อเสียง หรือรางวัลจะต้องเกิดขึ้นกับฉันเพราะฉันดีฉันเก่ง แต่ถ้าเราไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะเรา เป็นของเรา แต่เป็นเพราะความดีที่ได้ทำ ก็จะมีความหลงตัวลืมตนน้อยลง พูดง่าย ๆ ก็คือยกสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นผลของความดีไป ไม่ใช่เป็นเพราะเรา และหากคนอื่นจะนำสักการะมาให้เรา ยกย่องชื่นชมเรา เพราะเห็นว่าเราดี ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

    พุทธภาษิตอีกตอนที่สำคัญก็คือข้อความว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลติดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา” สักการะ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติเงินทองที่เกิดจากความเพียรของตน แม้จะมาจากน้ำพักน้ำแรงที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ถ้าเราไปยึดติดมันเมื่อใด ก็เป็นอันตรายเมื่อนั้น ท่านใช้คำว่า “เป็นพิษ”

    สิ่งดี ๆ ที่ทุกคนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความสำเร็จทางโลก กลายเป็นพิษได้เสมอถ้าเรายึดติดมัน ที่ยึดติดก็เพราะไม่พิจารณาว่ามันมีโทษอย่างไรบ้าง ผู้คนมักจะมองว่าลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ เงินทองเป็นของดี นั่นเป็นเพราะมองไม่เห็นโทษของมันว่าถ้ายึดติดมันเมื่อใด มันก็กลายเป็นของร้อนหรือเป็นยาพิษขึ้นมาทันที

    ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าพูดถึงการปล่อยวาง ท่านไม่ได้สอนให้ปล่อยวางเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นลบ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเกลียดแค้น ความเศร้า ความเสียใจ หรือคำตำหนิติเตียน แม้กระทั่งสิ่งที่ดีหรือเป็นบวก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุข เราก็ต้องรู้จักวางเช่นกัน อย่ายึดติด

    ทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดติด ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการมองหรือพิจารณาว่า ว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะเราดีเราเก่ง แต่เป็นเพราะผลแห่งความเพียรที่ได้ทำ หรือเป็นเพราะธรรมะ อย่าไปเหมาว่ามันเป็นของเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือถูกต่อว่าด่าทอ ใจก็ไม่เป็นทุกข์

    มีคนหนึ่งพูดไว้น่าคิดว่า “คำชมเหมือนกับหมากฝรั่ง เคี้ยวได้ แต่อย่ากลืน ” ต้องคายทิ้งเพราะถ้ากลืนลงไปแล้วมันจะเป็นโทษกับเรา ไม่มีใครกลืนหมากฝรั่งฉันใด ก็ไม่ควรกลืนคำชมคำสรรเสริญฉันนั้น ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นโทษต่อจิตใจ

    ของเลว หากยึดก็เป็นทุกข์ ของดี ถ้ายึด ทุกข์ก็ตามมาเช่นกัน เพราะล้วนไม่เที่ยง ไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนได้เสมอ วันดีคืนดีก็เสื่อมไปหรือหายไป ถ้าวางใจถูก เมื่อใดที่สูญเสียมันไป ก็จะเสียอย่างเดียว เช่น หากเงินหาย ก็เสียแต่เงิน แต่ว่าใจไม่เสีย แต่หากติดยึดมันเมื่อใด ก็จะไม่เสียแค่เงินเท่านั้น แต่ใจยังเสียด้วย เมื่อใจเสียไปแล้ว ต่อไปสุขภาพก็จะเสียตามไปด้วย เพราะว่ากลุ้มใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ นั่งเจ่าจุก สุขภาพเสื่อมโทรม ต่อมาความสัมพันธ์กับคนอื่นก็เสียด้วย เพราะเมื่อเสียใจกลุ้มใจแล้วแล้วก็จะหงุดหงิด ไม่อยากพูดคุยกับใคร ใครมาพูดคุยด้วยก็รำคาญ เผลอไปด่าว่าเขา จนเสียความสัมพันธ์กันไป ใช่แต่เท่านั้น งานการก็เสียด้วย เพราะไม่มีสมาธิทำงาน ก่อผลเสียเป็นลูกโซ่ เสียทั้งใจ เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งความสัมพันธ์ และเสียงานเสียการ ล้มระเนนระนาด อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาด

    คนไม่ฉลาดนั้น แทนที่จะเสียอย่างเดียวก็เสียหลายอย่าง เพราะความยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แม้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีน่าครอบครองก็ตาม ลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ แม้ให้ความสุขแก่เรา แต่มันก็พร้อมจะกลายเป็นถ่านก้อนแดง ๆ ที่เผาลนใจให้เป็นทุกข์ได้ทันทีเมื่อมันแปรปรวนไป คนฉลาดจะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งเหล่านี้ ใครให้มาก็ไม่ยึดติดว่าเป็นเรา เป็นของเรา

    สมัยหนึ่งหลวงพ่อโต ได้รับนิมนต์ไปร่วมงานบุญย่านราษฎร์บูรณะ ท่านนั่งเรือสำปั้นไปกับลูกศิษย์ ตอนนั้นท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว จึงนำพัดยศไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำลง เรือเกิดเกยตื้น ลูกศิษย์จึงลงไปเข็นเรือ แต่ไม่ขยับเลย หลวงพ่อจึงลงไปช่วยเข็นด้วย ชาวบ้านบนฝั่งเห็นหลวงพ่อโตเข็นเรือจำท่านได้ จึงตะโกนบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย ”

    ชาวบ้านเห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่เคยเห็นพระระดับสมเด็จเข็นเรือ ครั้นหลวงพ่อโตได้ยินชาวบ้านตะโกนเช่นนั้น จึงเงยหน้าพูดกับชาวบ้านว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จหรอกจ๊ะ ฉันชื่อขรัวโตจ๊ะ สมเด็จอยู่บนเรือ” ว่าแล้วท่านก็ชี้ไปที่พัดยศบนเรือ

    หลวงพ่อโตได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จก็จริง แต่ท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าท่านคือสมเด็จ ท่านยังเห็นว่าท่านเป็นเพียงขรัวโต พอชาวบ้านพูดถึงสมเด็จ ท่านจึงชี้ไปที่พัดยศทันที พูดอีกอย่างหนึ่งท่านตระหนักอยู่เสมอว่า ตำแหน่งสมเด็จ เป็นแค่หัวโขนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวท่าน

    นี้เป็นวิสัยของผู้ที่มีปัญญา ที่รู้ว่าลาภสักการะไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นแม้โลกจะผันผวนปรวนแปรไม่จีรังยั่งยืน ก็ยังอยู่ได้ด้วยใจที่สงบเย็นและเป็นสุข
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255711.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    buddha-03.jpg
    พุทธศาสนาเป็นมากกว่าสิ่งปลอบประโลมใจ

    พระไพศาล วิสาโล
    ผู้คนเข้าวัดหรือนับถือพุทธศาสนาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหลักย่อมได้แก่การแสวงหาสิ่งปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่ชีวิต หลายคนเข้าวัดเพื่อหวังว่าบุญกุศลจะช่วยเสริมสร้างสิริมงคลหรือปัดเป่าอันตราย บ้างก็มาสะเดาะเคราะห์เพราะหวังว่าโรคร้าย หนี้สิน และเคราะห์กรรมทั้งปวงจะมลายไป ประสบแต่ความมั่งมีศรีสุข ได้รับความสำเร็จ ส่วนคนที่สูญเสียคนรัก ก็หวังว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์จะช่วยให้ผู้ล่วงลับไปสู่สุคติ ไม่เพียงการมาวัดจะช่วยคลายความเศร้าโศกเท่านั้น หากยังช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับคนรัก ด้วยการทำบุญอุทิศให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก หรือลูกในท้อง

    คนจำนวนไม่น้อยมาวัดเพราะปรารถนาน้ำมนต์และวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความเชื่อว่าได้มาแล้วจะแคล้วคลาดจากอันตราย ประสบความสุขความเจริญ มีหลายคนที่ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่แค่มาวัด ได้กราบพระพุทธรูป เห็นพระพักตร์อันสงบอิ่มเอบ ความร้อนใจก็บรรเทาลง เกิดกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไป

    กล่าวได้ว่าหน้าที่หลักประการหนึ่งของพุทธศาสนาในสังคมไทยก็คือ การให้ความหวังและกำลังใจ รวมทั้งช่วยให้สบายใจ นี้คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าหาวัดและนับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพุทธศาสนายังมีบทบาทหลักอีกประการหนึ่ง ที่มิอาจมองข้ามได้เลย นั่นคือ การกระตุก เขย่า และกระทุ้งจิตใจของผู้คน เพื่อให้พ้นจากความหลงและความประมาทด้วย

    ในขณะที่พุทธศาสนาให้ความหวังแก่เราว่า เมื่อทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศล ก็จะประสบความสุขความเจริญ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็เตือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความสุขความเจริญนั้นไม่เที่ยง ลาภและยศนั้นมีแล้วก็หมด มาแล้วก็ไป ความมั่งมี อำนาจ และความสำเร็จ แม้ให้ความสุขแก่เราก็จริง แต่ก็เจือไปด้วยทุกข์ ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจหากยึดติดถือมั่น เราจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ

    ในขณะที่น้ำมนต์และวัตถุมงคลที่ได้จากวัดให้ความหวังว่าเราจะหายป่วยหายไข้ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็ย้ำว่า เราทุกคนหนีความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่พ้น ชีวิตที่ผาสุก ร่ำรวย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ ในที่สุดก็จะต้องจบสิ้น มีมากมายเท่าไรก็เอาไปไม่ได้เลยแม้แต่สลึงเดียว ใช่แต่เท่านั้นขณะที่ชีวิตยังไม่สิ้น เรายังต้องพบกับความพลัดพรากสูญเสีย ไม่ว่าคนรักของรัก ล้วนอยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น

    พุทธศาสนาไม่เพียงแต่บอกเราว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง หากยังย้ำอีกว่า ทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ คือนอกจากจะไม่คงทน ต้องเสื่อมดับไปแล้ว ยังบีบคั้นแก่ผู้ยึดถือ เป็นเสมือนของร้อนหรือคบไฟที่กำไว้ได้ไม่นานก็ต้องรีบปล่อย ใช่แต่เท่านั้นความทุกข์ยังอยู่กับเราตลอดเวลาและรอเราอยู่ข้างหน้าด้วย “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว” คือข้อความตอนหนึ่งในบทสวดทำวัตรเช้าที่ชาวพุทธจำนวนมากคุ้นเคย

    นี้คือคำสอนของพุทธศาสนาที่ตีแผ่ความจริงให้เราตระหนัก แต่เป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากฟัง เพราะสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คนที่ปรารถนาจะให้ชีวิตนี้ยั่งยืน เต็มไปด้วยความสุข อยากให้ของรักคนรักอยู่กับเราไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย ความจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่เสียดแทงหรือสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คน จนไม่อยากได้ยิน

    ยิ่งกว่านั้นพุทธศาสนายังย้ำเตือนว่า ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นเป็นตัวเราของเราได้เลย แม้แต่ตัวเราหรือ “ตัวกู” ก็ไม่มีจริง เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่ว่าใครก็ตามเพียงแค่ได้ยินว่า ตัวกู ไม่เที่ยง ต้องตาย ก็ไม่สบายใจแล้ว ยิ่งพระมาบอกว่า ตัวกู ไม่มีจริง เป็นแค่มายาภาพ ก็ยิ่งรับไม่ได้

    อย่างไรก็ตามการบอกและย้ำเตือนความจริงเหล่านี้คือหน้าที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะช่วยเตือนใจไม่ให้เพลิดเพลินในความสุขอันเป็นของชั่วคราว หรือติดยึดในยศ ทรัพย์ อำนาจ จนกลายเป็นทาสของมัน และพร้อมที่จะทำชั่วเพื่อมัน จนแม้ยอมตายเพื่อมัน ใช่หรือไม่ว่าท่าทีเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของความทุกข์ที่รุมเร้าผู้คน ไม่เพียงทำให้ทุกข์ใจเท่านั้น หากยังนำไปสู่การเบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์แก่ผู้อื่น ตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงกลุ่มคน และทั่วทั้งสังคม

    การปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่คนที่ถูกทุกข์รุมเร้านั้น เป็นบทบาทที่สำคัญ อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยให้เขาจมอยู่ในความทุกข์ ไร้ทางออก สิ้นหวัง จนต้องหันไปทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น แต่พุทธศาสนาหรือบุคลากรทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ ไม่ควรหยุดเพียงแค่นั้น เพราะการปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่ผู้คนนั้น เป็นการช่วยเขาเพียงชั่วคราวเท่านั้น แม้เขาจะมีเรี่ยวแรงกลับมาตั้งหลักสู้ชีวิตจนปัญหาผ่านพ้นไป อาจจะหายป่วย พ้นจากหนี้สิน หรือทำงานลุล่วง แต่ในที่สุดเขาก็ต้องประสบกับความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายในที่สุด หากเขาไม่ตระหนักถึงความจริงดังกล่าว หรือไม่เตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับความจริงเหล่านี้ ก็จะทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งเมื่อมันมาอยู่ต่อหน้า การปลอบประโลมใจจึงเป็นเสมือน "ยาระงับปวด" ที่ช่วยบรรเทาทุกข์เพียงชั่วคราวเท่านั้น

    อย่างไรก็ตามทุกวันนี้วัดและพระสงฆ์ส่วนใหญ่มุ่งปลอบประโลมใจญาติโยม พูดให้เขาสบายใจสถานเดียว นอกจากไม่ยอมบอกความจริงอันระคายหู(แต่จำเป็น)แล้ว ยังถึงขั้นตามใจหรือพะเน้าพะนอญาติโยม เช่น อวยพรให้เขา "รวย ๆๆ" อย่างเดียว กลายเป็นการพะเน้าพะนอกิเลส ส่งเสริมตัณหา ซึ่งมีมากอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้น

    ในฝ่ายญาติโยมก็เช่นกัน พากันมาวัดเพียงเพื่อหาความสบายใจ ไม่ใช่เพื่อคลายทุกข์เท่านั้น แต่ยังอยากได้ยินคำพูดที่ถูกใจถูกกิเลสจากพระ ครั้นพระพูดถึงความจริงของชีวิตที่กระตุกใจให้ไม่ประมาท กระทุ้งใจไม่ให้เพลิดเพลินหลงใหลในสิ่งที่เป็นมายา หรือกระแทกกิเลสไม่ให้กำเริบ กลับไม่อยากได้ยิน อุดหูสถานเดียว จำนวนไม่น้อยมาวัดเพื่อทำบุญ ครั้นได้เวลาพระแสดงธรรม ก็รีบกลับบ้านทันที

    ท่าทีดังกล่าวไม่ได้เกิดกับญาติโยมที่มาวัดเพื่อทำบุญ ขอน้ำมนต์ เช่าวัตถุมงคล เท่านั้น แม้กระทั่งผู้ที่เรียกตนว่านักปฏิบัติธรรม จำนวนไม่น้อยก็เข้าวัดเพียงเพื่อความสบายใจชั่วคราว มาภาวนาเพียงเพื่อให้ใจสงบ ไม่มีเรื่องว้าวุ่นใจ แต่ไม่คิดที่จะขูดกิเลส ลดความเห็นแก่ตัว หรือขัดเกลาตนเอง ลึก ๆ ก็ยังยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข แม้ครูบาอาจารย์จะพูดถึงโทษของกิเลสและความยึดติดถือมั่น ก็ไม่สนใจที่จะนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง หลายคนอยากไปหาครูบาอาจารย์ที่พูดนุ่ม ๆ ไปอยู่สำนักที่สบาย เลี่ยงไปหาครูบาอาจารย์ที่มุ่งขนาบลูกศิษย์

    พระพุทธองค์แม้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ปรารถนาจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ อีกทั้งให้ความหวังแก่เราว่าการพ้นทุกข์นั้นเป็นไปได้ ดังที่เคยตรัสว่า ผู้ใดอาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ และความทุกข์ แต่ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่งของพระองค์ก็คือการเคี่ยวเข็นไม่อ่อนข้อกับกิเลสของผู้คน ดังตรัสกับพระอานนท์ว่า "เราจะไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม .....เราจะขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด”

    คำสอนของพระองค์ก็เช่นกัน นอกจากด้านที่ให้ความหวังแก่ผู้คนแล้ว ยังมีอีกด้านที่คอย "ขนาบ" ผู้คน เพื่อขูดเกลากิเลส และรื้อถอนอวิชชา ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาไทยนอกจากจะมีหลวงพ่อคูณ แล้วจำเป็นต้องมีพระอย่างหลวงตามหาบัวด้วย

    เป็นชาวพุทธทั้งทีควรได้ประโยชน์สูงสุดจากพุทธศาสนา จึงไม่ควรหวังความสบายใจจากพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่ต้องพร้อมที่จะฟังความจริงที่ไม่หวานหู ไม่พะนอกิเลส แต่เขย่าใจให้ตื่น รวมทั้งกล้าที่จะเคี่ยวเข็นตนเอง เข้าหาการปฏิบัติที่ขูดเกลากิเลส สั่นคลอนความหลง ท้าทาย(ความยึดติดใน)อัตตา พร้อมให้ครูบาอาจารย์ขนาบแล้วขนาบอีก ด้วยวิธีอย่างนี้เท่านั้นที่ความทุกข์จะลดลงจนไม่เหลืออีกต่อไป
    :-
    https://visalo.org/article/jitvivat255901.html
     
  21. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,308
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    BuddhaLastLyingDown.jpg
    ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

    พระไพศาล วิสาโล
    ชาวพุทธส่วนใหญ่คงทราบดีว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้ให้โอวาทครั้งสุดท้าย เรียกว่า ปัจฉิมโอวาท ถ้าพูดในแง่ปริมาณ บทนี้จะตรงข้ามกับปฐมเทศนา ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๐ หน้า แต่ปัจฉิมโอวาทมีแค่ ๒ ประโยค คือ "วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท" สั้น ๆ จำง่าย แต่มีความหมายเตือนใจได้ดี

    ปัจฉิมโอวาท ถือว่าเป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า คนเราเมื่อจะตาย คำพูดท้าย ๆ จะมีประโยชน์มาก เป็นคำพูดที่ต้องกลั่นออกมาอย่างดี เพราะไม่มีโอกาสจะพูดอีกแล้ว ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความไม่ประมาทเป็นโอวาทสุดท้าย แสดงว่าในทัศนะของพระองค์ถือว่าเรื่องนี้สำคัญมากทีเดียว

    ก่อนหน้านั้นพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด...ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย อย่างใด ๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด...ฉันนั้น” เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความไม่ประมาทเป็นสิ่งสำคัญก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ประมาทในชีวิต ตระหนักว่าชีวิตของเราเข้าใกล้ความแตกดับไปทุกขณะ เวลาเหลือน้อยลงทุกที มันก็จะกระตุ้นให้เราหมั่นทำความเพียร หันมาใคร่ครวญว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และลงมือทำสิ่งสำคัญที่สุดก่อน

    ข้อความที่ว่า "ท่านทั้งหลาย จงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท" ความไม่ประมาทจะกระตุ้นให้เราเร่งทำประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์มากก็ทำก่อน สิ่งที่เป็นประโยชน์รองลงมาก็ทำถัดไป ประโยชน์สูงสุดคือการพ้นทุกข์ ซึ่งเมื่อพ้นทุกข์แล้วก็นำไปสู่การเกื้อกูลประโยชน์แก่ผู้อื่น สงบเย็นและเป็นประโยชน์เป็นของคู่กัน เมื่อสงบเย็นเพราะไม่มีกิเลสเผา ไม่มีความเห็นแก่ตัวครอบงำ จิตใจก็แผ่กว้าง พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลผู้อื่นต่อไป เพราะฉะนั้นเราจึงควรทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ

    วันไหนก็ตามที่เราตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่ประมาทกับชีวิต วันนั้นจะกลายเป็นวันแรกของชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่เริ่มต้นได้เสมอไม่ต้องรอวันเกิด ไม่ต้องรอวันปีใหม่ แต่ละวันสามารถเป็นวันใหม่ได้ ชีวิตใหม่เกิดขึ้นได้เมื่อเราตระหนักถึงความไม่ประมาท ความตระหนักแบบนี้มักจะเกิดหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ป่วยหนัก เจออุบัติเหตุแต่ไม่ตาย หรือเจอคนทำร้ายแต่รอดมาได้ พอคิดถึงความตายก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อจิตพลิกชีวิตก็เปลี่ยน คนส่วนใหญ่มักต้องมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองก่อน จึงจะเกิดความตื่นตัวขึ้นมา

    บางคนมีชีวิตที่ราบรื่นมาตลอด แต่วันดีคืนดีเกิดเหตุร้ายขึ้นมา ทำให้ชีวิตหักเหตกต่ำย่ำแย่ เพราะฉะนั้นเราจะประมาทกับชีวิตไม่ได้เลย จะประมาทกับหนทางข้างหน้าไม่ได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างจะดูเลิศเลอเพอร์เฟค ก็ไม่ได้แปลว่าว่าวันข้างหน้าจะสดใสเหมือนวันนี้ วันนี้สุขภาพดีก็ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้สุขภาพจะยังดีอยู่ อาจจะล้มป่วยก็ได้ วันนี้เดินเหินไปไหนมาไหนได้ แต่ใช่ว่าพรุ่งนี้จะยังเป็นเช่นเดิม อาจจะเกิดเหตุเส้นเลือดในสมองแตกกลายเป็นอัมพาตก็ได้

    เราต้องรู้จักเตรียมตัวเตรียมใจ สิ่งที่จะทำให้เรารับมือกับเหตุไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าเบาหรือหนักได้ คือสติ เพราะถ้าเรามีสติ ก็จะทำให้เราตัดสินใจไม่ผิดพลาด หรือสามารถทำได้ดีกว่านั้นคือ "เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค" คือนอกจากจะไม่เผลอเป็นทุกข์ และไม่เผลอทำสิ่งที่ย่ำแย่แล้ว เรายังจะได้ประโยชน์จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นด้วย

    เวลามีอนิฏฐารมณ์หรือเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา มันไม่ได้แปลว่า เราจะต้องแย่เสมอไป ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เราสามารถเลือกได้ว่าจะรับมืออย่างไร จะไปทางไหน จะไปทางต่ำหรือทางสูง จะไปทางแย่หรือไปทางดี เราเลือกได้ทั้งนั้น แต่คนส่วนใหญ่มักปล่อยให้ไถลไปในทางต่ำหรือย่ำแย่ เพราะไม่มีสติ ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ แล้วเหตุร้ายก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ บางทีอาจจะเริ่มต้นจากเหตุเล็ก ๆ แต่ผลกระทบที่ตามมากลับบานปลาย เหมือนปรากฏการณ์สโนว์บอล ตอนแรกก็เป็นแค่หิมะลูกเล็ก ๆ ตกลงมาจากเขา แต่พอกลิ้งไปเรื่อย ๆ ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ จนอาจเท่าปราสาททั้งหลัง ทำให้เกิดความฉิบหายตามมามากมาย

    มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจให้ข้อคิดที่ดี ผู้ชายคนหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมา กินอาหารเช้ากับภรรยาและลูกสาวตัวเล็ก ๆ อายุประมาณ ๑๐ ขวบ ก่อนที่จะไปทำงานและส่งลูกไปโรงเรียน เช้านั้นลูกสาวบังเอิญทำแก้วน้ำตกแตก พ่อไม่พอใจมากจึงต่อว่าลูกอย่างรุนแรง ลูกร้องไห้ ภรรยาจึงต่อว่าสามี ทำไมพูดกับลูกแรงอย่างนั้น สามีก็สวนกลับ จึงเกิดการทะเลาะกัน พักใหญ่สามีก็นึกขึ้นได้ว่าเลยเวลาไปมากแล้ว ต้องรีบออกจากบ้าน เพื่อพาลูกไปส่งโรงเรียน แต่พอออกจากบ้านช้า ก็เจอรถติดอย่างหนัก ผลคือไปส่งลูกสาวสาย ลูกถูกครูลงโทษ ส่วนตัวเองไปถึงที่ทำงานช้า ถูกเจ้านายต่อว่าเพราะมีประชุมใหญ่ พอเข้าประชุมก็นึกได้ว่าลืมเอาเอกสารสำคัญมา เนื่องจากเมื่อเช้ารีบออกจากบ้าน การประชุมไม่ประสบความสำเร็จ ถูกเจ้านายต่อว่าหนักเข้าไปอีก จึงไม่มีอารมณ์ทำงาน ตอนบ่าย ๆ เพื่อนมาหยอกล้อ แต่เนื่องจากอารมณ์ไม่ดีจึงด่าเพื่อน มีการทะเลาะกัน เป็นอันว่าบ่ายนั้นทั้งบ่ายทำงานไม่ได้

    เมื่อเลิกงานก็ขับรถกลับบ้านด้วยอารมณ์หงุดหงิด ขับไม่ระวังจึงเกิดเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนต้องรอบริษัทประกันภัยมา กว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำ พอเจอหน้าเมียก็ต่อว่าเมียที่ทำให้เมื่อเช้าออกจากบ้านสาย เลยเสียงาน ผลก็คือทะเลาะกันอีกรอบ ครั้นลูกเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันก็ร้องไห้ เป็นอันว่าคืนนั้นทั้งคืนไม่มีใครนอนหลับอย่างมีความสุข

    ถ้าเรากรอเรื่องนี้กลับไปใหม่ ตอนที่ลูกทำแก้วน้ำแตก ถ้าพ่อมีสติ พอเกิดความไม่พอใจขึ้นมาก็สะกดกลั้นความไม่พอใจเอาไว้ แล้วคุยกับลูกดี ๆ ลูกก็ไม่ร้องไห้ เมียก็ไม่ทะเลาะด้วย ถึงเวลาจะไปทำงาน ก็ไม่ลืมเก็บเอกสารใส่กระเป๋า ออกจากบ้านตรงเวลา ไปส่งลูกที่โรงเรียนก่อน ๘ โมง ลูกก็ไม่ถูกครูลงโทษ ส่วนตัวเองก็ไปถึงที่ทำงานตามกำหนด ถึงเวลาประชุมก็เตรียมเอกสารมาพร้อม การประชุมจบลงด้วยดี เจ้านายก็ชม เพื่อนมาหยอกล้อก็แซวกลับไปอย่างอารมณ์ดี ตกเย็นก็ขับรถกลับบ้านอย่างสบายใจ ไม่มีการเฉี่ยวชน กลับถึงบ้านเจอลูกเมียก็พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใส กินข้าวอร่อย ทุกคนเข้านอนอย่างมีความสุข

    เรื่องนี้จุดเริ่มต้นอยู่ตรงที่ลูกทำแก้วน้ำตกแตก แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ว่าที่พ่อโกรธหรือไม่โกรธ ถ้าพ่อโกรธก็ไปทางหนึ่ง ถ้าพ่อมีสติไม่โกรธก็ไปอีกทางหนึ่ง การตัดสินใจผิดพลาดเพียงเรื่องเดียวสามารถส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ยังดีที่เขาแค่เฉี่ยวชน ไม่ถึงกับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องอนาถไปเลย ทั้งหมดนี้เริ่มต้นเพียงแค่ว่าพ่อไม่มีสติ ใช้อารมณ์กับลูก

    เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเรา มันสามารถแยกเป็นสองทางได้เสมอ คือดีหรือร้าย บวกหรือลบ มันจะแยกไปทางดีหรือบวกได้ ก็เพราะมีสติ แต่ถ้าไม่มีสติก็อาจจะแยกไปทางเลวร้ายได้ กรณีหมอวิสุทธิ์นั้นเขาไม่มีสติตอนเกิดเหตุบางอย่าง จึงตัดสินใจผิดพลาด พอผิดพลาดครั้งที่หนึ่ง ก็ปล่อยให้ผิดพลาดครั้งที่สอง แล้วก็ทำสิ่งที่ผิดพลาดตามมาเป็นครั้งที่สามและครั้งที่สี่

    ทำไมเขาไม่มีสติ เพราะว่าเขาไม่ได้ฝึกสติ ที่ไม่ได้ฝึกสติก็เพราะไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ใครจะคิดว่าชีวิตต้องมาลงเอยด้วยการเป็นนักโทษประหารเพราะฆ่าเมีย คำให้สัมภาษณ์ของหมอวิสุทธิ์เตือนใจว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอนเลย อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าเรามีสติ รู้จักครองสติก็ช่วยให้เหตุร้ายต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี

    ถ้าเรามีความไม่ประมาทในชีวิต เราจะตระหนักว่าการเจริญสติเป็นเรื่องสำคัญมาก มันช่วยให้เราสามารถรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่ามันจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม นอกจากการมีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรามีปัญญาเห็นความจริงในชีวิต ก็จะทำให้เราสามารถวางใจได้ถูกต้อง เมื่อมีเหตุร้ายผ่านเข้ามาในชีวิต เราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มันจะไม่ใช่แค่ผ่าน แต่มันจะติดหนึบ แล้วอาจจะผลักเราให้เข้าคุก หรือจมปลักอยู่ในความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสได้ แต่ถ้าเรามีสติ รู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี มีธรรมะเห็นความจริงของชีวิต ปัญหาหนักแค่ไหนใจก็เป็นสุขได้
    :- https://visalo.org/article/5000s12.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...