(๘) มรดกธรรมของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 2 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๖
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๕
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อวา สมฺปชาโน)

    วันนี้จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ช้อที่ว่า "สมฺปชาโน" สืบต่อไป

    ถ. คำว่า "สมฺปชาโน" แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. สมฺปชาโน แปลและหมายความได้ ๑๐ อย่างคือ

    ๑. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ถึงที่สุดอย่างแจ่มแจ้ง" หมายความว่า รู้ปัจจุบัน รู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล นิพพาน
    รู้ปัจจุบัน เช่น ขณะตาเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีสติกำหนด รู้อยู่เฉพาะปรมัตถธรรม คือรูปกับนามเท่านั้น ไม่ได้เลยไปถึงบัญญัติ เพราะกิเลสอาศัยบัญญัติเกิด กิเลสอาศัยอารมณ์อดีต อาศัยอารมณ์อนาคตเกิด ไม่อาศัยอารมณ์ปัจจุบันเกิด ปัจจุบันแปลว่า เกิดขึ้นเฉพาะหน้า คือ ปรากฎในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีสติรู้เท่าทันในขณะน้นเช่นกัน เช่น เวลาเห็นผ้าก็ให้รู้อยู่แค่นั้น ไม่ให้เลยไปถึงผ้า เพราะผ้าเป็นบัญญัติ สีของผ้าเป็นปรมัตถ์ ให้สติกับจิตรู้อยู่หยุดอยู่แค่ปรมัตถ์เท่าน้น เวลาได้ยิน ได้กลิ่นเป็นต้น ก็พึงเข้าใจโดยทำนองเดียวกันนี้

    รู้รูปนาม เช่น ขณะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ขันธ์๕ นั่นแหละเป็นรูปกับนาม ตัวอย่าง เวลาเห็นนาฬิกา นาฬิกาเป็นรุป ตาเป็นรูป เห็นนาฬิกางามๆ แล้วใจสบาย ความสบายนั้นเป็นเป็นเวทนา จำนาฬิกาได้ว่างาม ความจำได้นั้นเป็นสัญญา แต่ใจที่เห็นว่างามเป็นสังขาร เห็นนาฬิกา ผู้เห็นเป็นวิญญาณ คือ จักขุวิญญาณจิต เป็นจิตดวงหนึี่งเกิดทางจักขุทวาร ตาเห็นรูปครั้งหนึี่งครบขันธ์ ๕ พอดี ย่อขันธ์ ๕ ลงเป็น ๒ คือ รูปคงเป็นรูปไว้ตามเดิม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๔ ขันธ์นี้ ย่อลงเป็นหนึ่ง เรียกว่า นาม เมื่อย่อลงมาในแนวปฏิบัติจึงเหลือเพียงรูปกับนามเท่านี้

    รู้พระไตรลักษณ์ คือรู้ลักษณะทั้ง ๓ ของรูปนาม ได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การรู้พระไตรลักษณ์นั้นแบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

    ๑. รู้พระไตรลักษณ์ขั้นปริยัติ คือจำจากตำรา เช่น เวลาสวดทำวัตรเช้าว่า

    รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง
    เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง
    สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง
    สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
    วิญฺญานํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น

    การรู้พระไตรลักษณ์อย่างนี้ เ็ป็นการรู้เพียงขั้นปริยัติเท่านั้น

    ๒. รู้พระไตรลักษณ์ในขั้นปฏิบัติ แต่อยู่ในเกณฑ์จินตมยญาณ คือ ญาณที่ ๑-๒-๓ เช่น
    ๑. รูปรูปนามได้ดี คือหายความข้องใจสงสัยในคำว่า รูปนามจริงๆ เกิดขึ้นเพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เช่น พองกับยุบ เป็นคนละอัน หูกับเสียงเป็นคนละอัน จมูกกับลิ้น เป็นคนละอัน เป็นต้น

    ๒. รูปเหตุปัจจัยของรูปนาม บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผลก็มี บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผลก็มี เช่น ท้องพองขึ้นเสียก่อนแล้วสติจึงตามไปกำหนดทีหลัง หรือตั้งใจจะกำหนดก่อนแล้ว ท้องจึงพองขึ้นไปทีเหลังเป็นต้น เรียกว่าปัจจยปริคคหญาณ

    ๓. รู้ความเป็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของรูปนาม เช่น

    ก. พิจารณารูปนาม คือร่างกายและใจนี้ว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เ็ป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครๆ ทั้งสิ้น

    ข. พิจารณากาลไกลๆ เช่น เมื่อก่อนเป็นเด็กๆ แต่เดี๋ยวนี้รูปนามนั้นแก่เฒ่าชราลงไปมากแล้ว เพราะรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นไปอย่างนี้

    ค. พิจารณาว่า รูปนาม อดีตก็ดับไปในอดีต รูปนามอนาคตก็ดับไปในอนาคต รูปนามปัจจุบันก็ดับไปในปัจจุบัน รูปนามอดีตจะกลับเป็นไปรูปนามอนาคตไม่ได้ รูปนามอนาคตจะกลับไปเป็นรูปนามอดีต หรือเป็นอรูปนามอนาคตไม่ได้ เช่น ขณะที่เราเอาไม้เคาะกระดาน เสียงดังขึ้น เมื่อหยุดเคาะเสียงก็ดับไป เสียงกับหูเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม รูปกับนามนี้เกิดชั่วขณะนิดหน่อยแล้ว ก็ดับไปตามธรรมชาติของเขาใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เป็นธรรมนิยาม ธรรมฐิติอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว พระพุทธเ้จ้าจะอุบัติขึ้นมาตรัสในโลกหรือไม่ก็ตาม รูปนามย่อมเป็นไปอย่างนี้ตลอดกัลปาวสานต์ ทั้งนี้ก็เพราะรุปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง

    ฆ. พิจารณาทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นว่า ลมเข้าและลมออกก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้รูปนามทางตา หู จมูกลิ้น กายก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำนองเดียวกันอยู่อย่างนี้
    การพิจารณารูปนามเห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า

    สัมมสนญาณ
    ญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่ ๒ คือปัจจยปริคคหญาณ ญานที่ ๓ คือสัมมสนญาณ ทั้ง ๓ ญาณนี้อยู่ในเขตของจินตามยปัญญาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การรู้พระไตรลักษณ์โดยอาการดังกล่าวมานี้ จึงจัดเป็นเพียงจินตามยญาณเท่านั้น
    ๓. รู้พระไตรลักษณ์ขั้นภาวนามยญาณ ได้แก่ เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดเจนแจ่มแจ้ง ปราศจากการจำตามตำรา ปราศจากการนึกคิดค้นเดาใดๆ ทั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันเท่านั้น เช่น ขณะที่เรากำหนดรูปนามทางตา โดยภาวนาว่า "เห็นหนอๆ" ติดต่อกันไปประมาณสัก ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง สันตติ คือความสืบต่อของรูปนามจะขาดลง เมื่อสติ สมาธิ ปัญญา ของผู้นั้นแก่กล้าสามารถจะรู้ความเิกิดขึ้นและดับไป ของรูปนามได้ดีทีเดียว และรู้ได้เฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติเท่านั้น แม้คนอื่นตั้งหมื่นแสนซึ่งนั่งดูอยู่ที่นั้น ก็ไม่สามารถจะรู้ตามผู้นั้นได้เลย ญาณนี้ท่านเรียกว่าอุทยัพพยญาณ จัดเป็นภาวนามยปัญญาแท้ แม้ญาณที่ ๕-๖-๗-๘ เป็นต้นไป ก็จัดเป็นภาวนามยปัญญาเช่นกัน
    รู้มรรค ได้แก่ญาณที่ ๑๔ คือมรรคญาณ
    รู้ผล ได้แก่ญาณที่ ๑๕ คือผลญาณ
    รู้นิพพาน ได้แก่ ญาณที่ ๑๓-๑๔-๑๕
    การรู้ถึงที่สุดอย่างแจ่มแจ้งของปัจจุบัน รูปนาม พระไตรลักษณ์ มรรค ผล นิพพานอย่างนี้เรียกว่า สมฺปชาโน
    ๒. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้โดยรอบอย่างชัดเจน" หมายความว่า ผู้ปฏิบัติรู้รูปนามตามอิริยาบทน้อยใหญ่ เช่น รู้ในขณะคู้ เหยียด ก้ม เงย ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น จนเกิดวิปัสสนาญาณต่างๆ ขึ้นมาโดยลำดับ ๆ นับตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๖ เป็นปริโยสาน

    ๓. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้พร้อมอย่างดี" หมายความว่า ผู้ปฏิบัติมีสติ มีความเพียร ตั้งใจทำจริงๆ มีความรู้รูปนามอยู่ทุกขณะ มีสติจดจ่อต่อรูปนาม มีสติกำหนดได้ดีถี่ถ้วนตามสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ ไม่บกพร่อง

    ๔. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ดีอย่างไม่หลง" คือรู้อาการเคลื่อนไหวไปมาต่างๆ ของกาย ตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในรูปนาม ไม่เห็นผิด ไม่รู้ผิด ไม่จำผิด ไม่ลุ่มหลง และไม่เพลิดเพลินอยู่ในอิฏฐารมณ์ ทั้งไม่หวั่นไหวเอนเอียงในอนิฏฐารมณ์ เห็นรูปนามเป็นแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเป็นอสุภะ คือเป็นของไม่สวยงาม

    ๕. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ชัดขจัดกิเลส" หมายความว่า เมื่อผู้ปฏิบัติได้รู้รูปนาม รู้เหตุปัจจัยของรูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้ความเกิดดับของรูปนาม รู้เฉพาะความดับไปของรูปนาม รู้ทุกข์โทษของรูปนาม เบื่อหน่ายในรูปนาม อยากหลุดพ้นไป ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่วางเฉยต่อรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์อย่างชัดเจนที่สุด จิตเข้าไปสู่ความสงบ กิเลสก็เด็ดขาดไปจากขันธ์สันดาน ใจมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
    ถ้ารู้อย่างนี้ ครั้งที่ ๑ โลภะ ๘ จะถูกขจัดไปได้เป็นสมุจเฉทประหาน โทสะ ๒ จะเบาบางลงไปมาก โมหะ ๒ จะถูกขจัดไปได้เป็นสมุจเฉทประหาน ๑ คือวิจิกิจฉา

    ถ้ารู้อย่างนี้ ครั้งที่ ๒ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เหลืออยู่ ก็จะเบาบางลงไปอีกมาก แต่ยังไม่ได้เด็ดขาด

    ถ้ารู้อย่างนี้ ครั้งที่ ๓ โทสะ ๒ จะละได้โดยเด็ดขาด คือ ละได้เป็นสมุจเฉทประหาน

    ถ้ารู้อย่างนี้ ครั้งที่ ๔ โลภะ ๔ โมหะ ๑ ที่เหลืออยู่ก็ละได้โดยเด็ดขาด คือ ละได้เป็นสมุจเฉทประหาน

    สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ชัดขจัดกิเลส" คือ รู้อย่างที่ได้บรรยายมานี้

    ๖. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้วิเศษในธรรม" หมายความว่า ธรรมนั้นมีอยู่มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อให้สั้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงมาในแนวปฏิบัติเหลือ ๑ คือ อัปปมาทะ แปลว่า ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ความเป็นผู้มีสติ ผู้ใดได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้นั้นย่อมรู้ ย่อมเข้าใจธรรมะ คือ ความไม่ประมาทได้ดีมาก เรียกว่า "ธรรมถึงคน คนถึงธรรม" ผู้ใดไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ดังหลักฐานรับรองไว้ว่า

    "สกลํปิ หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ อาหริตฺวา กถิยมานํ อปฺปมาทํง เอว โอตรติ
    จริงอยู่ พระพุทธพจน์จบทั้งพระไตรปิฎก แม้ทั้งสิ้นอันพระนักเทศน์นำมาแสดงอยู่นั้น ย่อมรวมลงสูที่แห่งเดียว คือความไม่ประมาท"
    ดังนี้

    ๗. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้นำออกจากกองทุกข์" หมายความว่า ความรู้ต่างๆ ในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อยังสรรพสัตว์ให้เบียดเบียนกันบ้าง เป็นไปเพื่อทำลายกันและกันบ้าง เป็นไปเพื่อให้ลุ่มหลงติดอยู่บ้าง รวมความว่า ถึงจะรู้มากมายสักปานใด ก็ไม่เ็ป็นหนทางให้หลุดพ้นไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้เลย มีแต่จะเพิ่มพูนให้กิเลสและกองทุกข์ทวีขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป

    ตรงกันข้าม ความรู้อันเกิดจากการปฏิบัติธรรม ย่อมสามารถนำสรรพสัตว์ให้ถึงวิมุติ คือ หลุดพ้นไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้จริง เช่น สัตติมหาอำมาตย์ และนางปฏาจาราเป็นต้วอย่าง

    ถ้าปฏิบัติขั้นต่ำ คือ มีสัมปชัญญะขั้นต่ำๆ ก็จะเป็นเหตุให้ผู้นั้นได้หลุดพ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ จะได้ไปสู่สคติภูมิ คือ มนุษย์ กับเทวดา

    ถ้าปฏิบัติขั้นกลาง คือมีสัมปชัญญาขั้นกลาง เช่น เจริญสมถกรรมฐาน ได้บรรลุปฐมฌาณเป็นต้น จะได้หลุดพ้นจากทุกข์ในกามภูมิ ๑๑ ขั้นจะได้ไปบังเกิดในพรหมภูมิ

    ถ้าปฏิบัติขั้นสูงสุด คือมีสัมปชัญญะขั้นสูงสุด ตามหลักที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ก็จะได้หลุดพ้นจากสงสารวัฏฏ์ทั้งมวล จะได้ไปสู่พระอมตมหานฤพานเป็นแน่แท้

    ๘. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้สุขอันสูงเลิศ" หมายความว่า ถ้าผู้ใดมีสัมปชัญญะ ทั้ง ๓ ขั้น ผู้นั้นจะได้รับความสุขไปตามลำดับๆ ดังนี้คือ
    ๑. มนฺสสสุขํ สุขในเมืองมนุษย์
    ๒.ทิพฺพสุขํ สุขทิพย์ คือสุขของเทวดา
    ๓. ญานสุขํ สุขในญาณ
    ๔. วิปสฺสนาสขํ สุขในวิปัสสนา
    ๕. มคฺคสุขํ สุขสัมปยุิตด้วยมรรค
    ๖. ผลสุขํ สุขคือผล
    ๗. นิพฺพานสุขํ สุขคือพระนิพพาน
    ๙. สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ธรรมอันประเสริฐคืออริิยธรรม" หมายความว่า ผู้ใดได้ลงมือปฏิบัติธรรม คือได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้นั้น ชื่อว่าได้บำรุงอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างเต็มที่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เป็นต้นนี้ เป็นธรรมอันประเสริฐวิเศษจริงๆ เพราะเ็ป็นมัชเิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง นำผู้ปฏิบัติตามให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขเป็นยอดปรารถนาของนักปราชญ์ทั้งมวล

    ๑๐.สมฺปชาโน แปลว่า "รู้ประจักษ์ด้วยการละ" หมายความว่า การละนั้นมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
    ๑. ละด้วยองค์นั้นๆ ได้แก่ ละด้วยเจริญกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งตามอัธยาศัย
    ๒. ละด้วยการข่มไว้ ได้แก่ ละปริยุฏฐานกิเลส คือนิวรณ์ ๕ ด้วยอำนาจฌาน
    ๓. ละโดยเด็ดขาด ได้แก่ ละกิเลสด้วยอำนาจอริยมรรค
    ๔. ละโดยสงบ ได้แก่ ผลญาณ
    ๕. ละโดยสลัดออกไปไม่มีเหลือ ได้แก่ถึงพระอมตมหานฤพาน
    เมื่อท่านผู้ใดได้ปฏิบัติมาโดยถูกต้องแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ได้โดยประจักษ์ คือปรากฎในใจของตนเองอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่มีความสงบสัยแคลงใจในการปฏิบัติในข้อปฏิบัติ และในผลแห่งการปฏิบัตินั้นแต่ประการใดๆ เลย

    คำว่า "สมฺปชาโน" แปลและหมายความได้ ๑๐ อย่าง ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนี้

    ถ. สัมปชัญญะ โดยองค์ธรรมได้แก่อะไร?
    ต. ได้แก่ปํญญา

    ถ. ปัญญาเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก จัดเข้าในขันธ์ไหน?
    ต. เป็นเจตสิก จัดเข้าในสังขารขันธ์

    ถ. ปัญญา มีลักษณะ มีหน้าที่ มีผลปรากฎ และมีเหตุใกล้ชิดที่จะให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
    ต. ปัญญามีลักษณะ หน้าที่ เป็นต้น ดังนี้ คือ
    ๑. ธมฺมสภาวะปฏิเวธลกฺขณา มีการรู้แจ้งสภาวธรรมเป็นลักษณะ หมายความว่า มีลักษณะรู้แจ้งแทงตลอดธรรมะต่างๆ ตามความเป็นจริง เช่นรู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล นิพพาน และมีความรู้ถูกเป็นลักษณะ คือเป็นเครื่องหมาย

    ๒. ธมฺมานํ สภาวปฏิจฺฏาทกโมหนฺธการ วิทฺธํสนรสา มีหน้าที่กำจัดความมืดมนอนธการ คือ โมหะอันปกปิดมิให้เห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง
    ตกปฺปกาสนรสา มีหน้าที่ประกาศความจริง คือชี้บอกให้ทราบถึงความที่ขันธ์ ๕ นี้มีเพียงรูปนาม และรูปนามนี้จะเกิดอยู่ในภพใดภูมิใดก็ตาม ย่อมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภพนั้น ในภูมินั้นๆ เสมอไปมิได้ขาด และมิได้ยกเว้นใครๆ เลยแม้แต่น้อย

    ปรมตฺถปฺปกาสนรสา มีหน้าที่ประกาศปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    จตฺสจฺจวภาวนกิจฺจา คือมีหน้าที่ยังอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้แจ่มแจ้ง
    ๓. อลมฺดมหปทฏฺฐานา มีผลปรากฎ คือ ไม่หลง เช่น ไม่หลงว่า รูปนามนี้ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นตัวตนเราเขา เป็นต้น

    ๔. สมาธิปทฏฺฐานา มีสมาธิเป็นเหตุใกล้ชิด ที่จะให้ปัญญาเกิด หมายความว่า ปัญญาจะเกิดได้ต้องมีสมาะิ คือ ความตั้งใจแน่วแน่ต่ออารมณ์นั้นๆ เช่นเวลาดูหนังสือ ถ้าใจจดจ่ออยู่กับหนังสือนั้น ไม่วอกแวกไปทางอื่นๆ ก็จำได้ง่าย จำได้ดี การจำได้ง่าย จำได้ดีนั้นแหละเป็นเหตุให้เรื่องปัญญา เป็นเหตุให้เกิดปัญญา แม้ในปัญญาขั้นสูง เช่น ภาวนามยปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง เวลาเจริญวิปัสสนา ต้องมีสติ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับรูปนามให้เป็นไปติดต่อกันเสมอ เพ่งรูปนามนั้นไม่ให้เผลอ ยิ่งไม่เผลอมากเท่าไร ก็ยังได้ผลดีและได้ผลเร็วเท่านั้น
    ถ. เหตุให้เกิดปัญญามีเพียงเท่านี้หรือ หรือยังมีอยู่อีก?
    ต. ยังมีอยู่อีกมากมายหลายประการ เช่น เกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานบ้าง เกิดจากความเป็นพหูสูตร คือได้ยินได้ฟังมามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามากบ้าง เกิดจากความเป็นผู้ฉลาดในภาษาต่างๆ เช่น ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ เป็นต้นบ้าง ดังที่ได้เคยบรรยายมาแล้วในครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น

    ถ. สัมปชัญญะ มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๔ อย่างคือ
    ๑. สาตถกสัมปชัญญะ
    ๒. สัปปายสัมปชัญญะ
    ๓.โคจรสัมปชัญญะ
    ๔. อสัมโมหะสัมปชัญญะ
    ถ. สาตถกสัมปชัญญะ แปลและหมายความว่าอย่างไร อธิบาย?
    ต. แปลว่า กำหนดรู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ หมายความว่า จะยืน เดิน นั่ง นออน หรือไปที่ไหนๆ ก็ตาม หรือจะทำ จะพูด จะคิดก็ตาม ต้องมีสติพจารณาให้รอบคอบเสียก่อนว่า จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ จึงไป จึงทำ จึงพูด จึงคิด เช่น เมื่อจิตคิดจะไป อย่างไปตามอำนาจจิต อย่าไปตามอำเภอใจ คิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ คิดถึงผลได้ผลเสีย คิดถึงความเสื่อมความเจริญโดยรอบคอบเสียก่อน

    คำว่า " ประโยชน์" ในที่ พระอรรถกถาจารย์ แสดงตัวอย่างไว้ ปรากฎอยู่ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา หน้า ๔๕๑ ว่า

    "อตฺโถติ เจติยทสฺสนโพธิทสฺสนสํสทสฺสน เถรทสฺสนอสุภทสฺสนาทิวเสน ธมฺมโต วุฑฺฒิ"
    คำว่า "ประโยชน์" ในที่นี้ ได้แก่ความเจริญโดยธรรม จำแนกไว้เป็น ๕ ประการคือ
    ๑. เจติยทสฺสนํ การเห็นพระเจดีย์ เช่นไปไหว้พระเจดีย์
    ๒. โพธิทสฺสนํ การเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ เช่น ไปไหว้พระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าได้อาศัยตรัสรู้
    ๓. สํฑทสฺสนํ การเห็นพระสงฆ์
    ๔. เถรทสฺสนํ การเห็นพระเถระ
    ๕. อสุภทสฺสนํ การเห็นอสุภะ คือซากศพ

    อธิบายขยายความต่อไป ดังนี้

    ก. ถ้าเราเห็นพระเจดีย์ก็ดี เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ดี เกิดปิติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ หรือเป็นพระสงฆ์แล้วเิกิดปิติ เพราะมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ก็ดี ครั้นปิติเกิดแล้ว ยกปิตินั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ คือเอาปิติเป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนสามารถเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์โทษของรูปนาม เบื่อหน่าย คลายกำหนด จิตหลุดพ้นจนได้สำเร็จอรหัตตมรรค อรหัตตผล ถ้าเป็นอย่างนี้มีประโยชน์มากแท้ ถึงแม้ว่าจะำไกลแสนไกลก็ควรไปให้ได้ คือไปเห็น ไปไหว้ ไปเคารพสักการบูชาด้วยอามิสและด้วยการปฏิบัติธรรม

    ข. ถ้าเห็นพระเถระ ได้กราบไหว้สักการบูชา ฟังโอวาทคำสั่งสอนของท่าน ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน เช่นท่านสอนให้เจริญสมถกรรมฐาน สอนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็ตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านจริงๆ คือเรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่ามีประโยชน์มากแท้สมควรไปหาท่านพระมหาเถระนั้นเป็นอย่างยิ่ง

    ค.ถ้าเห็นอสุภะ คือซากศพ แล้วเจริญสมถกรรมฐาน โดยเอาอสุภะนั้นเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุปฐมฌานแล้ว เอาฌานนั้นเป็นบาทเจริญวิปสสนาต่อจนได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่ามีประโยชน์มากแท้ ถึงแม้จะอยู่ไกลสักปานใดก็ควรไปให้ได้ เพราะไปแล้วไม่ขาดทุน มีแต่ได้กำไรฝ่ายเดียว

    การกำหนดประโยชน์ให้รอบคอบอย่างนี้เสียก่อนแล้วจึงไป จึงทำ จึงพูด จึงคิด ไม่ไปตามอำนาจของกิเลสไม่ไปตามอำนาจของจิตฝ่ายต่ำไปตามอำนาจแห่งพระธรรม ขื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ

    วันนี้ ได้บรรยาย มหาสติปัฏฐาน เฉพาะข้อที่ว่า "สมฺปชาโน" มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


    thx1

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย: วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๗๒-๘๒



    เกิด แก่ เจ็บ ตาย.jpg


     

แชร์หน้านี้

Loading...