(๔)มรดกธรรมของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 24 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๒
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๕
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า กตเม จตฺตาโร)

    วันนี้ จะได้บรรยายคำว่า "กตเม จตฺตาโร" เป็นต้น สืบต่อไป

    ถ. กตเม แปลและหมายความอย่างไร?
    ต. แปลว่า เป็นไฉน, เป็นอย่างไร, อะไรบ้าง, หมายความว่า เป็นคำถามคือ ถามให้ผู้ฟังสนใจถึงจำนวนว่า จะมีอยู่เท่าไร และอะไรบ้าง?

    ถ. คำถามนั้น มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มีอยู่ ๕ คือ
    ๑. อทิฏฺฐโชตนปุจฺฉา ถามเพื่อให้เนื้อความที่ตนยังไม่รู้ไม่เห็น แจ่มแจ้งขึ้น เช่นถามว่า คำว่า บริษัท ในคำว่า พุทธบริษัท นี้ แปลและหมายความว่าอย่างไร? มีอะไรเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้? ผู้ถูกถามก็จะได้ตอบว่า คำว่าบริษัทนั้น ศัพท์เดิมมาจาก ปริ บทหนึ่ง แปลว่า โดยรอบ สา บทหนึ่ง แปลว่า นอน ขยายความว่า "ปริสมนุตโต เสนฺติ อสฺสนฺติ ปริสา" ถอดใจความว่า คำว่า บริษัทแปลว่า ผู้เข้ามายืน เดิน นั่ง นอน อยู่รอบๆ ถามต่อไปว่า รอบใครหรือรอบอะไร? ตอบว่า รอบพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บริษัทนั้น มีอยู่ ๒ คือ อุตตานบริษัท ๑ คัมภีรบริษัท ๑
    อุตตานบริษัท แปลว่าอย่างไร แปลว่า บริษัทหงาย บริษัทตื้น ส่วน คัมภีรบริษัท นั้น แปลว่า บริษัทสุขุม ลึกซึ้ง

    เครื่องหมายของบริษัทตื้นนั้น มี ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. อุทฺธตา ความฟุ้งซ่าน
    ๒. อุนฺนฬา มีกิเลสฟูดุจไม้อ้อ
    ๓. จปลา หวั่นไหว
    ๔. มุขรา ปากกล้า
    ๕. วิกิณฺณวาจา มีวาจาหยาบคาย
    ๖. มุฏฺฐสฺสตี มีสติพลั้งเผลอ
    ๗. อสมฺปชานา ขาดสัมปชัญญะ
    ๘. อสมาหิตา มีใจไม่ตั้งมั่น
    ๙. วิพฺภนฺตจิตฺตา มีจิตแปรผัน
    ๑๐. ปากตินฺทริยา มีอินทรีย์ร้อนเพราะกิเลสเผา

    ส่วนเครื่องหมายของบริษัทคัมภีระนั้น มีอยู่ ๑๐ คือ
    ๑. อนุทฺธตา ไม่ฟุ้งซ่าน
    ๒. อนุนฺนฬา ไม่มีกิเลสฟูขึ้นมา
    ๓. อจปลา ไม่หวั่นไหว
    ๔. อมุขรา ไม่ปากกล้า
    ๕. อวิกิณฺณวาจา มีวาจาสุภาพเรียบร้อยดี
    ๖. อุปฏฺฐิตสตี มีสติตั้งมั่น
    ๗. สมฺปชานา มีสัมปชัญญะ
    ๘. สมาหิตา มีใจตั้งมั่นเป็นสมาธิดี
    ๙. เอกคฺคจิตฺตา มีจิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง
    ๑๐. สุวุตินฺทฺริยา มีอินทรีย์อันสำรวมดีแล้ว
    เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นแล้วถาม เพื่อให้รู้ให้เห็นเนื้อความนั้นแจ่มแจ้งิยิ่งๆ ขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ถามเพื่อส่องเนื้อความที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ให้รู้ ให้เข้าใจ

    ๒. ทิฏฺฐสํสนฺทนปฺจฉา ถามเพื่อหารือ เพื่อสนทนาปราศรัยกันในธรรมที่ตนได้รู้ได้เห็นแล้ว เช่น พระสารีบุตร กับ พระปุณณมันตาณีบุตร ถามกันในเรื่องวิสุทธิ ๗ ประการ ถ้าจะเทียบในสมัยนี้ ก็ได้แก่ การสนทนาธรรมกัน หรือเทศน์ปุจฉาวิสัชนากัน ก็อนุโลมได้ เพราะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

    ๓. วิมติจฺเฉทนปุจฉา ถามเพื่อแก้ข้อข้องใจสงสัยจริงๆ เช่น มงคลสูตร เป็นตัวอย่าง มีใจความเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เทพดาตนหนึ่งมีวรรณงดงาม ยังพระเชตวันให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระจอมไตรถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเรื่องมงคลว่า "พหู เทวา มนุสฺสา จ มงฺคลานิ อจินฺตยุํ ํ" เป็นต้น ความว่า
    เทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมาก ปรารถนาความสวัสดี ได้คิดมงคลทั้งหลาย แต่ไม่มีใครทราบว่า อะไรเป็นมงคลกันแน่ ขอพระพุทธองค์ได้ทรงโปรดบอกมงคลอันสูงสุุดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า" ดังนี้

    อง
    ค์สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้ตรัสว่า

    อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
    การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ควรบูชา ๑ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้แก่ชาติก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ ความเป็นพหูสูตร ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดี ๑ การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรและภรรยา ๑ การงานที่ไม่อากูล ๑ การให้ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ การงานที่ไม่มีโทษ ๑ การงดเว้นจากบาป ๑ การไม่ดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ การเคารพ ๑ การเลี้ยงตัว ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ตบะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การทำให้แจ้งนิพพาน ๑ จิตไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากธุลี คือกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ เหล่านี้แหละเป็นมงคลอยู่สูงสุด

    สัตว์ทั้งหลายปฏิบัติตามมงคลดังกล่าวนี้ ย่อมชนะข้าศึกทั้งปวง ถึงความสวัสดี ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ นั้นเป็นบุคคลอย่างสูงสุดของสัตว์เหล่านั้น การถามอย่างนี้เรียกว่า "วิมติจุเฉทปุจฺฉา"

    ๔. อนุมติปุจฺฉา ถามเอง ตอบเอง เช่นในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เป็นตัวอย่าง พระพุทธองค์ทรงถามเองว่า "กตเม จตฺตาโร" สติปัฏฐาน ๔ คือ อะไรบ้างๆ? และ้พระพุทธองค์ทรงตอบเองว่า "อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ" ดังนี้เป็นต้น ใจความว่า

    ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ท่านผู้เห็นภัยในพระศาสนานี้ มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงละความโลภ ความโกรธ ความหลงเสียได้ แม้ในเวทนา ในจิืต และในธรรม ก็ทำนองเดียวกันนี้ อย่างนี้จัดเป็น กเถตุกัมยตา ปุจฉา แปลว่า ถามเอง ตอบเอง

    นอกจากนี้ ยังมีอยู่อีกมาก จะยกมาพอเป็นตัวอย่าง เช่น คำว่า "เพชรในดวงใจ"
    ถ. เพชร แปลว่าและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. เพชร แปลว่า แก้วที่แข็งที่สุด หมายความว่า เป็นรัตนะอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมกันว่า เป็นของมีราคาแพงได้ทำเครื่องประดับ เช่น แหวนเพชรเป็นตัวอย่าง
    เพชร แปลว่า สายฟ้า หมายความว่า สายฟ้านั้นกล้าแข็งมาก ผ่าคนก็ตาม ผ่าต้นไม้ก็แตกหักได้ ถ้าจะเปรียบพระธรรมก็ได้แก่มรรค ๔ มรรคนี้ กล้าแข็งมาก เพราะตัดกิเลสให้เด็ดขาดดุจสายฟ้า ฉะนั้น

    เพชร แปลว่า อาวุธพระอินทร์ ก็ได้ หมายความว่า พระอินทร์นั้น จะเป็นผู้วิเศษ มีอาวุธเพชรได้ ก็ต้องบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการให้บริบูรณ์ก่อน คือ
    ๑. มาตาเปติภรํ ชนฺตุํ ํ เลี้ยงพ่อแม่
    ๒. กุเล เชฏฺฐาปจายินํ ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญในตระกูล
    ๓. สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน
    ๔. เปสุเณยฺยปฺปหายินํ ไม่ส่อเสียดยุยงคนให้แตกสามัคคีกัน
    ๕. มจฺเฉรวินเย ยิตฺตํ ไม่ตระหนี่เหนียวแน่น
    ๖. สจฺจํ มีสัจจะ
    ๗. โกธาภิกุํํ ํ ครอบงำความโกรธเสียได้ คือไม่โกรธ

    ผู้ใดบำเพ็ญวัตตบททั้ง ๗ นี้ ให้บริบูรณ์ ผู้นั้น ชื่อว่ามีอาวุธพระอินทร์แล้ว คือมีเพชรในดวงใจแล้ว
    ถ. เพชรมีกี่อย่าง อะไรบ้าง?
    ต. เพชรมีอยู่ ๒ อย่าง คือ เพชรนอก ๑ เพชรใน ๑
    ๑. เพชรนอก ได้แก่ เพชรตามธรรมดาสามัญในโลกนี้
    ๒. เพชรใน ได้แก่ พระธรรมของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่นให้สั้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงมาให้สั้นที่สุด ได้แก่ ความไม่ประมาท ท่านผู้ใดได้บำเพ็ญคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ให้บริบูรณ์แล้ว ท่านผู้นั้น ชื่อว่า มีเพชรในดวงใจ เมื่อจะกล่าวโดยส่วนสูงที่สุดแล้ว เพชรในดวงใจ ได้แก่มรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกิทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑
    การตั้งปัญหาถามแล้วตอบเป็นข้อๆ ไป เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายอย่างนี้ ก็เรียกว่า กเถตุกัมยตาปุจจฉา เช่นกัน

    เพราะฉะนั้น คำว่า "กตเม" นั้น เป็นคำถาม มีอยู่ ๕ ประการ ดังบรรยายมาแล้วข้างต้นนั้น

    ส่วนคำว่า "จตฺตาโร" เป็นสังขยา แปลว่า เครื่องนับ เครื่องบอกจำนวนให้รู้ สติปัฏฐานนั้นมีอยู่เพียง ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน ไม่มากไม่น้อย พอดีกันกับตัณหาจริต ทิฏฐิจริต สมถยานิก วิปัสสนายานิก พอดีกับวิปัลลาส ๔ คือ สุภะ สุขะ นิจจะ อัตตะ เป็นต้น

    ถ. สังขยานั้น มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. สังขยานั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือปกติสังขยา นับตามปกติ เช่น ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ เป็นต้น อย่างหนึ่ง ปูรณสังขยา นับจำนวนที่เต็มในที่นั้นๆ เช่น พรหมปัญหาข้อที่ ๗ ถามว่า เครื่องขุดจอมปลวกได้แก่อะไร? ได้แก่วิริยะ คือความเพียร ซึ่งมีความอุตสาหะเป็นลักษณะ มีการอุดหนุนสหชาตธรรมชาตธรรมมิให้ถอยหลังเป็นนิจ มีการไม่จมอืดเป็นผลปรากฎ มีสังเวควัตถุ ๘ และวิริยารัมภวัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้ชิด ที่จะให้ความเพียรเกิดขึ้น ดังนี้ เป็นตัวอย่าง คำว่า ๗ เป็นปูรณสังขยา ในที่นี้เพราะนับเอา หมายเอาเฉพาะปัญหาข้อที่ ๗ เท่านั้น ข้อที่ ๑-๒-๓-๔-๕-๖ ก็ไม่ได้นับเอามารวมกัน มุ่งเอาเฉพาะข้อที่ ๗ เท่านั้น ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ปูรณสังขยา

    ถ. คำว่า อธิ ในที่นี้ แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. คำว่า อธิ นี้ ศัพท์เดิมเป็นสัพพนาม มาจาก อิม ศัพท์ ลง ธ ปัจจัยแปลว่า ในพระศาสนานี้ ดังหลักฐานว่า "อิธาติ อิมสฺมิ สาสเน" ศํพท์ว่า อิธ แปลว่า ในพระศาสนานี้ ศาสนาเซน เป็นต้น แต่ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงมุ่งเอาเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงได้ใช้ศัพท์ว่า อิธ ซึ่งแปลว่านี้

    ถ. นี้ คือที่ไหน?
    ต. คือ ใกล้ๆ นี้ ได้แก่พระศาสนานี้

    ถ. ศาสนานี้ คือศาสนาไหน?
    ต. คือ พุทธศาสนานี้เอง

    ถ. ศาสนา แปลว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไร?
    ต. ศาสนา แปลและหมายความดังนี้ คือ
    ๑. ศาสนา แปลว่า วาจาเป็นเครื่องพร่ำสอน หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนบริษัทมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ พระพรรษา นับเป็นพระธรรมขันธ์ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นับเป็นปิฎกได้ ๓ ปิฎก คือพระวินัยปิฎก ๑ พระสุตตันตปิฎก ๑ พระอภิธรรมปิฎำ ๑

    ๒. ศาสนา แปลว่า เครื่องเบียดเบียน ดังหลักฐานว่า
    สาสติ หึสติ เอเตนาติ สาสนํ ซึ่งว่า ศาสนา เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องเบียดเบียนกิเลส หมายความว่ากิเลส คือ สภาพที่ทำใจให้เศร้าหมองนั้น มีมากมายเหลือประมาณ แต่เมื่อกล่าวจะหมดไปได้ ก็เพราะอาศัยการปฏิับัติตามศาสนา คือ ปฏิบัติตามคำสอนที่มีอยู่ในพระศาสนา เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา

    ศีล เบียดเบียนกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา
    สมาธิ เบียดเบียนกิเลสอย่างกลาง คือปริยุฏฐานกิเลส ที่จะล่วงออกมาทางใจ
    ปัญญา เบียนเบียนกิเลสอย่างละเอียด เรียกว่า อนุสัยที่นอนดองอยู่ในขันธสันดาน

    ๓. ศาสนา แปลว่า อาคม หมายความว่า นิกายเป็นที่มาแห่งคุณงามความดีต่างๆ นับตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด เช่นความดีชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร ชั้นอรูปาวจร และชั้นโลกุตตระ

    ๔. ศาสนา แปลว่า พุทธพจน์ หมายความว่า เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือผู้ที่ได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย โดยใจความก็ได้แก่พระไตรปิฎกนั้นเอง เรียกว่า พุทธพจน์

    ๕. ศาสนา แปลว่า เลข หมายความว่า เป็นเครื่องหมาย เป็นป้ายบอกทางเดินให้แก่พุทธบริษัทไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นบอกไว้ว่า ทางนี้ไปอบาย ทางนี้ไปสวรรค์ ทางนี้ไปนิพพาน เป็นตัวอย่าง

    ๖. ศาสนา แปลว่า รอยเขียนจากพระวาจาของพระพุทธองค์ หมายความว่าเมื่อพระพุทธองค์เทศน์จบแล้ว เสียงธรรมก็หายไปดับไป แต่เมื่อมีเหล่าสาวกท่องจำไว้ได้แล้ว จดจานเขียนจารึกบันทึกพระวาจาของพระพุทธองค์ลงไว้ในคัมภีร์เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง ดังที่เราท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ดู ได้รู้ ได้อ่าน ได้เขียนกันอยู่ทุกวันนี้ พระศาสนาก็ยังกึกก้องอยู่ในโลกตลอดกัลปาวสานต์

    ๗. ศาสนา แปลว่า เครื่องสั่งสอน ดังหลักฐานว่า
    สาสิสฺติ เอเตนาติ สาสนํ ชื่อว่า ศาสนาเพราะอรรถว่าเป็นเครื่องสั่งสอน หมายความว่า ผู้ที่จะสั่งสอนคนอื่น ต้องมีเครื่องมือ เครื่องมือนั้น คือ ศาสนา ศาสนานั้นก็คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เป็นเครื่องสั่งคือเป็นข้อห้าม เป็นตัวบทกฎหมาย วางโทษปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงเกินได้ และเป็นคำสอน คือ สนอให้คนทำความดีต่างๆ เช่นเจริญสมถะ และวิปัสนาเป็นตัวอย่าง
    ถ. ศาสนา เป็นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำสืบๆ กันมา?
    ต. เป็นมาได้ เพราะอาศัยบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้นำสืบๆ กันมา ศาสนาจะเสื่อมก็เพราะบริษัท ๔ จำพวกนี้แหละ ทำให้เสื่อม ศาสนาจะเจริญก็เพราะบริษัท ๔ จำพวกนี้แหละทำให้เจริญ

    ถ. ศาสนา มีกี่อย่าง อะไรบ้าง?
    ต. ศาสนา กล่าวโดยย่อมี ๓ อย่าง คือ
    ๑. ปริยัติศาสนา
    ๒. ปฏิบัติศาสนา
    ๓. ปฏิเวธศาสนา
    ถ. ปริยัติศาสนาโดยย่อมีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๙ คือ
    ๑. อาณาศาสนา ว่าด้วยข้อห้าม ได้แก่ พระวินัย

    ๒. ยถาปราธศาสนา ว่าด้วยความผิด เช่น ประพฤติผิดศีล ผิดวินัย

    ๓. สังวราสังวรศาสนา ว่าด้วยความสำรวม และไม่สำรวม
    ๓ ข้อนี้รวมเรียกว่า พระวินัย

    ๔. โวหารศาสนา ว่าด้วยพรรณาโวหาร เช่น แต่งกระทู้ อธิบายธรรม มีเหตุ มีผล มีนิทานประกอบ

    ๕. ยถานุโลมศาสนา ว่าด้วยการแสดงธรรมอนุโลมตามอัธยาศัยของผู้ฟัง อนุโลมตามงานที่ทำ เช่น งานกฐินก็เทศน์เรื่องกฐิน งานผ้าป่าก็เทศน์เรื่องงานผ้าป่า เป็นต้น

    ๖. ทิฏฐิวินิเวฐนศาสนา ว่าด้วยการแก้ความสงสัย ข้องใจของคนผู็ฟัง เช่น สงสัยว่าคนตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ อะไรไปเกิด เป็นต้น
    ๓ ข้อนี้ เรียกว่า พระสูตร

    ๗. ปรมัตถศาสนา ว่าด้วย จิต เจตสิก รูปนิพพาน

    ๘. ยถาธัมมศาสนา ว่าด้วยธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ปฏิจจสมุปบาท

    ๙ นามรูปปริจเฉทศาสนา ว่าด้วย รูปนาม คือแยกรูป แยกนามให้เห็นเด่นชัด
    ๓ ข้อนี้ เรียกว่า อภิธรรม

    การเรียนรู้พระวินัย พระอภิธรรม เรียกว่า ปริยัติศาสนา โดยย่อ
    ถ. ปฏิบัติศาสนา แปลว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. แปลว่า คำสั่งสอนที่จะยังกาย วาจา ใจ ของผู้ทำตามให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งคุณงามความดีต่างๆ ทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน
    ปฏิบัติศาสนานั้น เมื่อจะกล่าวโดยส่วนใหญ่ๆ ย่อๆ แล้วมีอยู่ ๓ อย่าง คือ อธิศีลศาสนา อธิจิตตศาสนา อธิปัญญาศาสนา
    ถ. ปฏิเวธศาสนา แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า แทงตลอด หมายความว่า เมื่อผู้ใดบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาได้ดีแล้ว ผู้นั้นสามารถจะรู้ปัจจุบัน รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ และแทงตลอดอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    การแทงตลอดอริยสัจ์ ๔ นี้แหละ เป็นตัวปฏิเวธแท้ ปฏิเวธนี้เป็นผลของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้ง ๓ นี้ จะแยกกันมิได้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะเจริญรุ่งเรืองได้

    ถ. ปฏิเวธมีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. ถ้าจะกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว มีอยู่ ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ซึ่งนิยมเรียกว่า โลกุตตรธรรม ๙ฯ

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐานข้อที่ว่า "กฺตเม จตฺตาโร" เป็นต้น มาก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.
    thx1
    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย: วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๓๑-๔๐





     

แชร์หน้านี้

Loading...