(๒) ว่าด้วยสิ่งที่เลิศ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 8 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    อัคคัญญสูตร (ต่อ)


    ความปรากฎแห่งข้าวสาลี

    [๕๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นสูญหายไปแล้ว ข้าวสาลีก็เกิดในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ก็ปรากฎขึ้นมา. สัตว์ทั้งหลายเก็บเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็นอาหารเย็นในเวลาเย็น ในตอนเช้า ข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทน และตอนเช้าสัตว์ทั้งหลายเก็บเอาข้าสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็ฯอาหารเช้าในตอนเช้า ในตอนเย็น ข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทนที่ ความพร่องไปหาได้ปรากฏไม่. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล เหล่าสัตว์ทั้งหลายบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีเป็นภักษา มีข้าสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่มาตลอดกาลยาวนาน

    ความปรากฎแห่งเพศหญิงเพศชายเป็นต้น

    วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่มาตลอดกาลยาวนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป. และเพศหญิงก็ปรากฏแก่หญิง เพศชายก็ปรากฏแก่ชาย. ก็ได้ยินว่า หญิงย่อมเพ่งดูชายอยู่ตลอดเวลา และชายก็เพ่งดูหญิงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อชนเหล่านั้นต่างเพ่งดูกันและกันอยู่ตลอดเวลา ความกำหนัดก็เกิดขึ้น ความเร่าร้อนก็ปรากฏขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย ชนเหล่านั้นจึงได้เสพเมถุนธรรม

    วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้น สัตว์พวกที่เห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกัน ก็โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โปรยมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับกล่าวว่า คนถ่อยเจ้าจงฉิบหาย คนถ่อยเจ้าจงฉิบหาย ดังนี้ แล้วกล่าวต่อไปว่า ก็ทำไม สัตว์จึงทำแก่สัตว์เช่นนี้เล่า แม้ในทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อนำสัตว์ถูกฆ่าไปสู่ที่ประหาร มนุษย์เหล่าอื่นก็ซัดฝุ่นใส่บ้าง ซัดเถ้าใส่บ้าง ซัดมูลโคใส่บ้าง พวกพราหมณ์นึกได้แต่อักขระที่รู้กันว่าเป็นของเลิศ เป็นของเก่าเท่านั้น แต่หาได้รู้ถึงความหมายของอักขระนั้นไม่

    [๖๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้น การโปรยฝุ่นเป็นต้นนั้นแล ถือกันว่าไม่เป็นธรรม แต่มาในบัดนี้ ถือกันว่าเป็นธรรม. วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดแลเสพเมถุนกัน สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคม ตลอดสามเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ในกาลใดแล สัตว์ทั้งหลายถึงความต้องการเสพในอสัทธธรรมนั้นตลอดเวลา ในกาลนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงได้พยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อปกปิดอสัทธรรมนั้น. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์บางคนซึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น ได้มีความคิดนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เรานี้ต้องนำเอาข้าวสาลีมาเพื่อเป็นอาหารเย็น ในเวลาเย็นและเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ทำให้ลำบากเสียจริง อย่ากระนั้นเลย เราควรนำข้าวสาลีมาครั้งเดียว ให้พอเพื่อบริโภคทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์นั้นก็นำเอาข้าวสาลีเพียงคราวเดียว เพื่อเป็นอาหารทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้า. วาเสฏฐะและภารทวชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งจึงเข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกะสัตว์นั้นว่า มาเถิด ท่านผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด. สัตว์นั้นจึงกล่าวว่า อย่าเลยท่านผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีมาครั้งเดียวเพื่อบริโภคทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้าแล้ว. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์นั้นก็ถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้นไปเก็บข้าวสาลีมาครั้งเดียวเพื่ออาหารทั้งสองเวลา ด้วยกล่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะผู้เจริญ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแลสัตว์อีกผู้หนึ่งก็เข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะสัตว์นั้นว่ามาเถิดท่านผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด. สัตว์นั้นจึงตอบว่า อย่าเลยท่านผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีมาครั้งเดียวเืพื่อเป็นอาหารทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้าแล้ว

    วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้ถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บข้าวสาลีมาพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน ด้วยกล่าวว่าได้ิยินว่า อย่างนี้ก็ดีเหมือนนะผู้เจริญ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์อีกผู้หนึ่งจึงเข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่ แ้ล้วได้กล่าวคำนี้กะสัตว์นั้นว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด. สัตว์นั้นจึงกล่าวว่า อย่าเลย ผู้เจริญ เราไปเก็บข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารได้ ๔ วันแล้ว. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้ถือตามแบบอย่างของสัตว์น้น จึงไปเก็บข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๘ วัน ด้วยกล่าวว่าได้ยินว่า อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะผู้เจริญ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์เหล่าสนั้นพยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้เพื่อบริโภคกันขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก การขาดตอนก็ปรากฏขึ้น ข้าวสาลีจึงได้มีเป็นหย่อมๆ ขึ้นมา

    [๖๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมพร้อมกัน ครั้นแล้วก็มาปรับทุกข์กันว่า ผู้เจริญ ธรรมอันเลวทรามได้ปรากฎในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า เมื่อก่อนพวกเรามีความสำเร็จได้โดยทางใจ มีปีีติเป็นภักษา มีรัศมีเอง ท่องเที่ยวไปได้ในอากาศ อำรงอยู่ในวิมานอันงดงาม ดำรงอยู่มาตลอดกาลยาวนาน ในกาลบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลยาวนาน ง้วนดินเกิดลอยขึ้นบนน้ำแก่พวกเรา ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเรานั้นได้พยายามเอามือปั้นง้วนดินเป็นคำๆ เพื่อที่จะบริโภค เมื่อพวกเราพากันพยายามเอามือปั้นง้วนดินทำเป็นคำๆ เพื่อที่จะบริโภคอยู่ รัศมีในตัวก็หายไป เมื่อรัศมีในตัวหายไป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฎขึ้นแล้ว หมู่ดาวนักษัตรก็ปรากฎ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรปรากฎแล้ว เดือนหนึ่งและกึี่งเดือนก็ปรากฎ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏแล้ว ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเราเหล่านั้นบริโภคง้วนดินเป็นภักษา มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงมาได้ตลอดกาลยาวนาน เพราะความปรากฎแห่งอกุศลธรรรมอันลามก ง้วนดินของพวกเรานั้นจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว กระบิดินก็ปรากฎกระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กสิ่น รส พวกเรานั้นจึงพากันบริโภคง้วนดินนั้น เมื่อพวกเรานั้นบริโภคง้วนดินนั้น มีเครือดินเป็นภักษา มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่มาตลอดกาลยาวนาน เพราะความปรากฎแห่งแห่งอกุศลธรรมอันลามกของพวกเรานั้น เครือดินจึงได้หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว ข้าวสาลีจึงเกิดในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ก็ได้ปรากฎขึ้น พวกเราเก็บเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็นอาหารเย็น ในเวลาเย็น ในตอนเช้าข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทน พวกเราไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็นอาหารเช้า ในเวลาเช้า ในตอนเย็น ข้าสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทนที่ ความพร่องไปหาได้ปรากฎไม่่ พวกเรานันบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดในที่ที่ไม่ได้ไถ มีข้าวสาลีเป็นภักษา มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่มาตลอดกาลยาวนาน เพราะความปรากฎแห่งอกุศลธรรมอันลามกของพวกเรานั้นแล ข้าวสาลีจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นข้าวที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก การตอนก็ปรากฎขึ้น ข้าวสาลีจึงได้มีเป็นหย่อมๆ ขึ้นมา อย่ากระนั้นเลย เราควรแบ่งข้าวสาลีกันและกั้นเขตคันกันเถิด. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลีและกั้นเขตคันกัน

    [๖๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภ รักษาส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค. สัตว์เหล่าอื่นจับสัตว์นั้นได้ จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทำกรรมชั่วช้าที่รักษาส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านผู้เจริญท่านอย่าได้กระทำชั่วช้าอย่างนี้อีกเลย. สัตว์นั้นก็รับคำของสัตว์เหล่านั้นว่าเราจะไม่ทำอย่างนี้อีกท่านผู้เจริญ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ในครั้งที่ ๒ สัตว์นั้น ฯลฯ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ แม้ในครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นก็รับอย่างนั้น และสัตว์นั้นก็ยังรักษาส่วนของตน ไปเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค. สัตว์ทั้งหลายได้พากันจับสัตว์นั้น แล้วกล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทำกรรมชั่วช้าที่รักษาส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้อีกเลย. สัตว์เหล่าอื่นเอามือทุบ เอาก้อนดินขว้าง เอาท่อนไม้ตี. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ในเพราะเรื่องนั้นเป็นสำคัญแล อทินนาทานจึงปรากฎ การครหาจึงปรากฎ มุสาวาทจึงปรากฎ การจับท่อนไม้จึงปรากฎ

    ครั้งนั้นแล สัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงได้ประชุมพร้อมกัน ครั้นแล้วก็ปรับทุกข์กันว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมอันลามกเลวทรามปรากฎในหมู่สัตว์แล้ว คือ อทินนทานจักปรากฎ การครหาจักปรากฎ มุสาวาทจักปรากฎ การจับท่อนไม้จักปรากฎ อย่ากระนั้นเลย เราควรสมมติสัตว์ผู้หนึ่ง ซึ่งจะกล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาสัตว์ที่ีมีรูปงามกว่าน่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า มีศักดิ์ใหญ่กว่า แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยขอบ ส่วนพวกเราจักปบ่งส่วนข้าวสาลีแก่ท่าน. สัตว์นั้นได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ จับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์นั้น

    ต้นเหตุเกิดอักขระว่ามหาสมมต กษัตริย์ ราชา

    [๖๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะชนผู้เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติแล้ว อักขระว่า มหาสมมต มหาสมมต จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก. วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะผู้เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่แห่งนาทั้งหลาย ฉะนั้น อักขระว่า กษัตริย์ กษัตริย์ จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๒. วาเสฏฐะและภาระทวาชะ เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้ยินดีโดยชอบธรรม ฉะนั้น อักขระว่า ราชา ราชา จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓. วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้แล การเกิดขึ้นของหมู่กษัตริย์นั้นจึงเกิดมีแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์ที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่ไม่เหมือนกัน มีโดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยอธรรมไม่ ด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของเก่า. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่่สุดในหมู่ชน ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า.

    [๖๔] ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ผู้เจริญ อทินนาทานจักปรากฏ การครหาจักปรากฏ มุสาวาทจักปรากฎ การจับท่อนไม้จักปรากฏ การขับไล่จักปรากฎ ในเพราะบาปธรรมใด บาปธรรมเหล่านั้นได้ปรากฎในหมู่สัตว์ทั้งหลายแล้ว อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรลอยอกุศลธรรมอันลามกทิ้งเสีย. สัตว์เหล่านั้นได้พากันลอยอกุศลธรรมอันลามกนั้นทิ้งไป วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันลอยอกุศลธรรมทิ้งไป อักขระว่า พราหมณ์ พราหมณ์ จึงได้เกิดขึ้นครั้งแรก. พราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ขึ้นในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้นั้น พวกพราหมณ์เหล่านั้นไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว ในเวลาเย็น ในเวลาเช้า พวกเขาก็พากันเที่ยวแสวงหาอาหารไปตามหมู่บ้าน ตำบลและเมือง เพื่อบริโภคในเวลาเย็น ในเวลาเช้า. พวกเขาได้อาหารแล้วมาเพ่งอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่านั้นอีก. หมู่มนุษย์พบเขาเข้า ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้สร้างกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้ขึ้นในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการดำข้าว ในเวลาเย็น ในเวลาเช้า. พวกเขาพากันเที่ยวแสวงหาอาหารไปตามหมู่บ้าน ตำบลและเมือง เพื่อบริโภคในเวลาเย็น ในเวลาเช้า. เขาได้อาหารแล้ว มาเพ่งอยู่ในกระท่อมวึ่งมุงด้วยใบไม้ในราวป่าอีก. วาเสฏฐะและภารทวาชะ อักขระว่า ฌายิกา ฌายิกา (ผู้เพ่ง) จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๒. วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกเมื่อไม่ได้สำเร็จฌานในกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงมาอยู่ข้างหมู่บ้านและตำบล ทำคัมภีร์กันอยู่. มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาเข้า จึงกล่าวอย่างนี้ ผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้แล ไม่ได้บรรลุฌานในกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปรอบหมู่บ้าน รอบตำบล ทำคัมภีร์กันอยู่. วาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้ชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้ชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ ฉะนั้นอีกอักขระว่า อัชฌยิกา อัชฌายิกา ( ผู้ไม่เพ่ง) (หมายความว่าพวกแต่งและสอนคัมภีร์)จึงเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คำนั้น ในสมัยนั้น สมมติกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้คำนั้นสมมติกันว่าประเสริฐ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังพรรณนามานี้ การเกิดขึ้นของหมู่พราหมณ์นั้น จึงเกิดมีแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์ที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่ไม่เหมือนกัน มีโดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยอธรรมไม่ ด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของเก่า. วาเสฏฐะและภารทวาชะก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

    [๖๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์นั้น บางพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แยกประกอบการงานที่ต่างกัน วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะสัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรมแล้วแยกประกอบการงาน ฉะนั้น อักขระว่า เวสสา เวสสา (แพศย์) จะเกิดขึ้น. วาเสฏฐะและภารทวชะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ การเกิดของพวกแพศย์จึงมีได้อย่างนี้. ฯลฯ วาเสฏฐะและภาทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวนี้ การเกิดขึ้นของหมู่แพศย์นั้น จึงเกิดมีแก่สัตว์เหล่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์ที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่ไม่เหมือนกัน มีโดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยอธรรมไม่ ด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของเก่า. วาเสฏฐะและภารทวาชะก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

    [๖๖] วาเสฏฐะและภาระทวาชะ มีสมัยที่กษัตริย์ติเตียนธรรมของตน จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราจะเป็นสมณะ. วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่พราหมณ์ ฯลฯ แพศย์ ฯลฯ ศูทร (ตรงนี้ละข้อความดังบรรทัดที่ว่า "..ติเตียนธรรมของตน จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราจะเป็นสมณะ" ) ติเตียนธรรมของตนจึงออกจาเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราจักเป็นสมณะ วาเสฏฐะและภารทวาชะ การเกิดขึ้นแห่งหมู่สมณะจากหมู่ทั้ง ๔ เหล่านี้ จึงมีแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์ที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่ไม่เหมือนกัน มีโดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยธรรมไม่ วาเสฏฐะและภารทวาชะ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

    การประพฤติทุจริตเป็นต้น

    [๖๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เพราะการยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    [๖๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เพราะการยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

    [๖๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี มีปกติทำกรรมทั้ง ๒ อย่าง (กรรมทั้ง ๒ อย่าง คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม) ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ มีความเห็นเจือปนกัน ยึดถึอกรรมด้วยอำนาจความเห็นอันเจือปนกัน เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นอันเจือปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมได้เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

    การเจริญโพธิปักขิยธรรม

    [๗๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี สำรวมทางกาย สำรวมทางวาจา สำรวมทางใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในโลกนี้โดยแท้

    [๗๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ตามบรรลุประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฎว่าเิลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะเหล่านั้น โดยธรรม หาใช่โดยอธรรมไม่. วาเสฏฐะและภารทวาชะ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า. วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้กล่่าวคาถาไว้ว่า
    [๗๒] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้ถือโคตร (ตระกูล) เป็นใหญ่ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์
    ดังนี้
    วาเสฏฐะและภาระทวาชะ ก็คาถานี้่สนังกุมารพรหมขับไว้ถูกต้องไม่มีผิด ภาษิตไว้ถูกไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้เราเองก็กล่าวอย่างนี้ว่า
    กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้ถือโคตร (ตระกูล) เป็นใหญ่ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้
    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรมีความยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.
    อัคคัญญสูตรที่ ๔ จบ

    พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล
    พระสุตตันตปิฎก
    ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
    ภาค ๓ แล่ม ๑
    อัคคัญญสูตร
    หน้า ๑๕๒-๑๖๑

    ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย
    เล่มที่ ๑๕
     

แชร์หน้านี้

Loading...