เรื่องเด่น ๒๐ กันยายน “วันเยาวชนแห่งชาติ”! เนื่องจากวันประสูติ ๒ ยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี!

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 20 กันยายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b8a2e0b8b2e0b8a2e0b899-e0b8a7e0b8b1e0b899e0b980e0b8a2e0b8b2e0b8a7e0b88ae0b899e0b981e0b8abe0b988.jpg
    ในปี ๒๕๒๘ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปีนั้นเป็น “ปีเยาวชนสากล” ดังนั้นในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๘ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” โดยถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งตรงกัน และทั้ง ๒ พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงเป็นยุวกษัตริย์

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๓๙๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์แรกในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ และประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ ขณะพระชนมายุ ๑๕ พรรษา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษาจึงทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๑๖

    ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่ลัทธิล่าอาณานิคมได้แผ่เข้ามาทั่วเอเซีย แต่พระองค์ก็ทรงพาประเทศชาติให้รอดพ้นวิกฤติที่ร้ายแรงนั้นมาได้ ทรงปฏิรูปการปกครองให้ทันยุคทันสมัย และใช้พระราโชบายเข้าต่อสู้กับอาวุธทันสมัยของนักล่าอาณานิคม ทรงเสด็จไปยุโรปเพื่อประกาศตัวให้โลกรู้ว่าสยามไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างที่นักล่าอาณานิคมอ้างเพื่อ “ช่วยปกครอง” ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการล่าอาณานิคมขึ้นในหมู่ประชาชนของประเทศในตะวันตก อีกทั้งทรงเสด็จประพาสต้นเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่แท้จริง จึงทรงขจัดปัญหาความทุกข์ต่างๆของประชาชนได้ ทรงริเริ่มสิ่งใหม่ๆให้ประเทศ เช่น รถไฟ ไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โรงพยาบาล โรงเรียน ในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๓๑ กรุงเทพฯก็ได้เปิดบริการรถโดยสารด้วยรถรางเป็นประเทศแรกในเอเชีย แม้ในระยะแรกจะใช้ม้า ๘ ตัวลาก แต่ต่อมาในปี ๒๔๓๗ ก็ได้เปลี่ยนมาใช้รถรางไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชียอีกเหมือนกันที่ใช้รถไฟฟ้า ขณะนั้นหลายประเทศในยุโรปก็ยังไม่มี ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการออกไปศึกษาในยุโรป ขณะเดียวกันก็ทรงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศมาวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศไว้ก่อน เพื่อให้คนหนุ่มที่ส่งไปเรียนยุโรปกลับมาดำเนินงานต่อ ส่งผลให้ประเทศชาติก้าวหน้าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยะมหาราช” อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

    ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ เป็นวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งของราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประสูติที่เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน ขณะพระราชบิดาทรงศึกษาวิชาการทหารเรืออยู่ที่นั่น มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าอานันท มหิดล เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อพระชนมายุได้ ๓ พรรษา ประทับที่วังสระปทุม เมื่อพระราชบิดาทรงประชวรและเสด็จทิวงคต พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนี ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ พระราชชนนีทรงนำพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภานายกรัฐมนตรีจึงกราบบังคมทูลพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี ขณะมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา และได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ จึงไม่ได้ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลเท่านั้น แต่ขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการเห็นชอบจากการลงมติของรัฐสภา ตามระบอบประชาธิปไตย และรัชกาลต่อมาคือรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ ก็ขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

    จากนั้นพระองค์ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนี้ทรงเสด็จกลับมาประเทศไทย ๒ ครั้ง จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงจึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ ทรงเริ่มปฏิบัติภาระกิจครั้งแรกด้วยการเสด็จประพาสสำเพ็งพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวไทย จากนั้นก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้าย ด้วยการเยี่ยมเกษตรกรที่บางเขน ก่อนที่จะเตรียมกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ แต่ในวันที่ ๙ มิถุนายน ก็เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในห้องบรรทม ที่พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ขณะพระชนมายุ ๒๑ พรรษา รวมเวลาครองราชย์ ๑๒ ปี

    สาเหตุที่มีการกำหนด “วันเยาวชนแห่งชาติ” ขึ้น เป็นคนละวันกับ “วันเด็กแห่งชาติ” เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า บุคคลทั้ง ๒ กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันทั้งในทางร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะ ปัญหาความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังที่สังคมมีต่อคนบุคคลทั้ง ๒ กลุ่ม วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติและวันเด็กแห่งชาติจึงแตกต่างกัน คือ

    วันเยาวชนแห่งชาติจะมุ่งเน้นให้คนหนุ่มสาววัย ๑๕-๒๕ ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในอันที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและตนเองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม มีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งกระตุ้นให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก คือผู้มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีตามความหมายปีเด็กสากล ๒๕๒๒ ขององค์การสหประชาชาติ โดยให้มีการคุ้มครอง เลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และช่วยเหลือสงเคราะห์เป็นพิเศษ

    คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติมีคำขวัญเดียวใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ คือ “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” มุ่งหมายให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติและสร้างสันติสุขให้แก่โลก ไม่ได้เปลี่ยนทุกปีเหมือนคำขวัญวันเด็ก

    นี่ก็เป็นความรู้เล็กๆน้อยๆสำหรับวันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี

    ขอขอบคุณที่มา

    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000093065
     

แชร์หน้านี้

Loading...