(๑๔) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 22 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๒
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๖
    เรื่อง



    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า "วิเนยฺย" สืบต่อไป

    ถ. คำว่า "วิเนยฺย" แปลและความหมายความอะไร
    ต. แปลและหมายความได้ ๑๑ อย่าง ดังต่อไปนี้

    ๑. วิเนยฺย แปลว่า "นำไปวิเศษ" หมายความว่านำไปสู่ทางที่ดี คือนำกาย นำวาจา นำใจ ของผู้ปฏิบัติไปสูคุณธรรมขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูง ได้แก่ นำไปสู่ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวอย่างเช่น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง อยู่ในติสสมหาวิหาร ในมหาคาม ได้ทราบข่าวว่า พระมหาชากดเถระ จักกล่าวเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในทีหวาปิวิหาร จึงออกเดินทางจากที่นั้นมาสิ้นระยะทางใกล้ถึง ๙ โยชน์ สายในวันเดียวเท่านั้น พอมาถึงพระเถระก็เริ่มแสดงธรรมกถา ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจำได้แต่ตอนแรกกับตอนสุดท้าย เพราะใจไม่เป็นสมาธิ มีความกระวนกระวายในกาย เนื่องจากเดินทางมาแต่ไกล ได้ยืนร้องไห้อยู่ว่า การมาของเราเปล่าประโยชน์เสียแล้ว

    ในขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่ง ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงกราบเรียนพระเถระว่า "พระคุณเจ้าผุ้เจริญ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากติสสมหาวิหาร เพื่อฟังธรรมกถาของท่าน ท่านได้ยืนร้องไห้อยู่ว่า การมาของเราเปล่าประโยชน์เสียแล้ว เพราะร่างกายกระวนกระวาย เนื่องจากเดินทางมาแต่ไกล" ดังนี้

    พระมหาเถระจึงบอกว่า คุณจงไปกราบเรียนท่านว่า "พรุ่งนี้อาตมาจักแสดงให้ฟังอีก" พอท่านได้ยินคำพูดของอุบาสกเช่นนั้น รู้สึกเกิดปิติโสมนัสดีอกดีใจมาก พอวันรุ่งขึ้นท่านก็ได้ฟังสมใจปรารถนา ท่านได้ตั้งใจจริงๆ คือ ฟังธรรมประกอบด้วยองค์ ๔
    ๑. อฏฺฐิกตฺวา ฟังให้เกิดประโยชน์จริงๆ คือ ให้ธรรมถึงตน ให้ตนถึงธรรม เรียกว่าทำให้จดกระดูก คล้ายๆ กับเขียนติดกระดูกไว้เลย โบราณท่านสอนไว้ว่า "เรียนให้รู้ - ดูให้จำ - ทำให้ได้"

    ๒. มนสิกตฺวา ใส่ใจ สนใจ ตั้งใจ

    ๓. สพฺพเจตสา สมนฺนาหริตฺวา ประมวลมาด้วยใจทั้งหมด คือไม่ให้ใจออกหนีไปข้างนอก ไม่ให้ใจออกไปคิดถึงเรื่องอื่น ทำใจให้สงบ ให้เป็นสมาธิ ให้แน่วแน่อยู่กับเสียงแสดงธรรมเท่านั้น

    ๔. โอทหิตโสโต เงี่ยหูลงสดับน้อมรับมาปฏิบัติตาม พบพระธรรมงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดอย่างนี้ เรียกว่า ฟังธรรมประกอบด้วยองค์ ๔
    พอเทศน์จบ ท่านก็ให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
    คำว่า "นำไปวิเศษ" นั้น หมายเอาการนำไปวิเศษด้วยอำนาจแห่งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

    ๒. วิเนยฺย แปลว่า "ฝึกโดยวิเศษ" หมายความว่า ฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจให้ดีเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ดี อุปมาเหมือนกันกับทางโลก อันธรรมดาช้าง ม้า วัว ควาย นั้น ก่อนจะนำมาใช้งาน เช่น ลากซุง ขี่ ขนของ ไถนา เป็นต้น จะต้องฝึกให้ดี จนไว้ใจได้ เชื่อได้ก่อนแล้วจึงจะนำมาใช้ในกิจการที่ตนประสงค์ จึงจะไม่เกิดโทษ จึงจะได้รับประโยชน์ตามปรารถนา ข้อนี้ฉันใด บุคคลเราก็ฉันนั้น ต้องฝึกกาย ฝึกวาจา ใจ ให้ดีก่อน จึงจะไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น การฝึกนั้น โดยส่วนใหญ่มีอยู่ ๒ ประการ คือ เฝ้าด้วยบุพพภาคมรรคอย่างหนึ่ง ฝึกด้วยอริยมรรคอย่างหนึ่ง หลักเหล่านี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ ได้วางไว้เป็นแบบฉบับอย่างดีที่สุดจนไม่มีที่ติแล้ว คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

    ๓. วิเนยฺย แปลว่า "ถึงโดยวิเศษ" หมายความว่า ยังกาย ยังวาจา ยังใจของผู้ปฏิบัติตาม ให้เข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์หมดจด ๗ ประการคือ
    ๑. สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจดเพราะอำนาจแห่งศีล

    ๒. จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจดเพราะอำนาจแห่งสมาธิ

    ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจดเพราะอำนาจแห่งปัญญา ได้แก่ญาณที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ เห็นรูปเห็นนาม

    ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจด เพราะข้าพ้นความสงสัยเสียได้ ได้แก่ ญาณที่ ๒ คือ ปัจจัยปริคคหญาณ เห็นเหตุผลของรูปนาม

    ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจด เพราะอำนาจแห่งปัญญา ที่รู้ทางถูก ทางผิด แล้วละทางผิด ยึดทางถูกต่อไป ได้แก่ ญาณที่ ๓ อย่างแก่เข้าเขตญาณที่ ๔ อ่อนๆ อยู่ในเขตของสมถกรรมฐาน

    ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจด เพราะอำนาจแห่งปัญญา ที่ก้าวหน้าไปโดยลำดับๆ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ ถึงญาณที่ ๑๒ คือ เห็นความเกิดดับของรูปนาม ๑ เห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม ๑ เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว ๑ เห็นทุกข์โทษของรูปนาม ๑ เบื่อหน่ายรูปนาม ๑ อยากหลุดพ้นจากรูปนาม๑ กำลังเกิดดับอยู่ ๑ เห็นโลก เห็นความเกิดดับของโลก เห็นความดับไปของโลก และเห็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับไปของโลกนั้น ๑

    ๗. ญานทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิหมดจดด้วยอำนาจแห่งปัญญา เป็นเครื่องรูปเครื่องเห็น ได้แก่มรรคญาณทั้ง ๔ คือโสดาปัตติมรรคญาณ ๑ สกิทาคามิมรรคญาณ ๑ อนาคามิมรรคญาณ ๑ อรหัตตมรรญาณ ๑

    วิเนยฺย แปลว่า ถึงโดยวิเศษ คือถึงอย่างที่ได้บรรยายมาฉะนัี้

    ๔. วิเนยฺย แปลว่า "ข้าศึกตามไม่ทัน" หมายความว่า ถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้แล้ว ข้าศึกทั้งหลายจะตามไม่ทันผู้นั้นเลย ข้าศึกนั้นโดยองค์ธรรม ได้แก่ กิเลส ๑,๕๐๐ กับตัณหา ๑๐๘ นั่นเอง
    กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น คือ
    จิตทั้งหมดนับเป็น ๑
    เจตสิก ๕๒
    นิปผันนรูป ๑๘
    ลักษณรูป ๔
    รวมเป็น ๗๕
    คูณด้วยกิเลส ๑๐ เป็น ๗๕๐
    เป็นพหิทธะอีก ๗๕๐ รวมเป็น ๑,๕๐๐
    นิปผันนรูป ๑๘ นั้นคือ
    มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
    ปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท
    วิสัยรูป ๔ คือ รูป เสียง กลิ่น รส
    ภาวรูป ๒ คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง ๑ ปุริสภาวะ ความเป็นบุรุษ ๑
    หทัยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ รวมเป็น ๑๘ พอดี
    ลักษณะรูป ๔ นั้นคือ
    อุปัจจยรูป ๑ สันตติรูป ๑ ชรตารูป ๑ อนิจจตารูป ๑
    กิเลส ๑๐ นั้นคือ
    โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปะ
    ตัณหา ๑๐๘ นั้น คือ
    กามตัณหาในอดีต ๑๒ กามตัณหาในอนาคต ๑๒ กามตัณหาในปัจจุบัน ๑๒ รวมเป็น ๓๖
    ภวตัณหาในอดีต ๑๒ ภวตัณหาในอนาคต ๑๒ ภวตัณหาในปัจจุบัน ๑๒ รวมเป็น ๓๖
    วิภวตัณหาในอดีต ๑๒ วิภวตัณหาในอนาคต ๑๒ วิภวตัณหาในปัจจุบัน ๑๒ รวมเป็น ๓๖
    ข้าศึกทั้งหลายเหล่านี้ คือกิเลส ๑,๕๐๐ กับตัณหา ๑๐๘ นั้น เมื่อจะย่อลงมาให้สั้นๆ แล้วก็มี ๓ เท่านั้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง ๓ นี้ เป็นข้าศึกดุร้ายและหยาบคายมาก ผู้ประสงค์จะไม่ให้ข้าศึกเหล่านี้ตามทัน มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือเจริญสติปัฏฐาน ๔ นอกจากนี้ไม่มีทางใดอีกเลยที่จะหนีจากเงื้อมมือของข้าศึกเหล่านี้ได้ และไม่มีทางใดอีกเลยที่จะชนะได้ มีอยู่ทางเดียวเท่านี้ ดังนั้น ทางนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นเอกายนมรรค แปลว่าเป็นทางสายเอก
    วิเนยฺย แปลว่า ข้าศึกตามไม่ทัน ได้แก่ กิเลสตามไม่ทัน ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

    ๔. วิเนยฺย แปลว่า "ยังข้าศึกให้พินาศ" หมายความว่า เมื่อผู้ใดลงมือปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างบริบูรณ์ดีแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ได้ขับไล่ข้าศึกให้พ้นไป ชื่อว่าได้จับไล่ข้าศึกให้ออกหนีไปให้ห่างไกล ชื่อว่าได้ยังข้าศึกให้พินาศไป เพราะได้ทำลายกิเลสหยาบๆ กิเลสกลางๆ และกิเลสละเอียดที่นอนดองอยู่ในขันธสันดานให้เด็ดขาดไปให้หมดสิ้นแล้ว

    ๕. วิเนยฺย แปลว่า "ระเบียบแบบแผน" หมายความว่า พระพุทธองค์ได้ทรงวางระเบียบแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมไว้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าท่านผู้ใดได้ประพฤติปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงพร่ำสอนไว้แล้วนี้ ท่านผู้นั้นชื่อว่า เป็นคนเจ้าระเบียบ เพราะได้ถ่ายทอดระเบียบแบบแผนอันวิเศษสุดของพระอริยเจ้าไว้ มหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทุกๆ องค์ไม่เคยละเลย พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวกในอดีตกาลก็เดินตามทางสายนี้ ในอนาคตก็จักเดินตามทางสายนี้ ในปัจจุบันก็ต้องเดินตามทางสายนี้ดุจเดียวกัน

    วิเนยฺย แปลว่า ระเบียบแบบแผน ดังที่ได้บรรยายมา ฉะนี้

    ๖. วิเนยฺย แปลว่า "ข้อบังคับ" หมายความว่า บังคับกาย บังคับวาจา และบังคับใจ ของผู้ปฏิบัติให้เห็นเดินตรงไปสู่มรรค ผล นิพพาน โดยส่วนเดียว และไปสู่ที่แห่งเดียวเท่านั้น

    ๗. วิเนยฺย แปลว่า "ข้อปฏิบัติ" หมายความว่า ผู้ที่จะกำจัดความชั่วร้ายต่างๆ ออกไปจากใจของตนเองได้ ต้องลงมือปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หลักธรรมนั้น พระองค์ทรงจำแนกแจกไว้เป็นขั้นๆ ตามสมควรแก่เวไนยนิกร เพราะบางคนมีอินทรีย์แก่กล้า มีกิเลสน้อยก็มี บางคนมีกิเลสหนา มีอินทรีย์อ่อนก็มี บางคนมีอาการดีก็มี บางคนมีอาการไม่ดีก็มี บางคนสอนง่ายก็มี บางคนสอนยากก็มี บางคนเห็นทุกข์โทษภัยในปรโลกก็มี ซึ่งอุปมาเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า เพราะฉะนั้น เมื่อมีข้อบังคับกาย วาจา ใจ แล้วก็ได้ใช้ข้อบังคับนี้ต้อนฝูงสรรพสัตว์ให้พากันเดินตรงไปสูจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน คือ สันติสุข

    คำว่า วิเนยฺย แปลว่า ข้อปฏิบัติ หมายความดังที่บรรยายมาฉะนี้

    ๘. วิเนยฺย แปลว่า "บรรเทา" หมายความว่า ข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามได้ในขั้นต้นๆ พระธรรมนี้ก็จะบรรเทากิเลสหยาบๆ ของผู้นั้นให้ลดน้อยถอยลงไป ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตน ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ในชั้นกลาง พระธรรมนี้ก็จะบรรเทากิเลสขนาดกลางๆ ออกไปจากขันธสันดานของผู้นั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ในขั้นสูงสุด พระธรรมนี้ก็จะบรรเทากิเลสขั้นละเอียดๆ นั้นให้หลุดออกไปได้โดยเด็ดขาดเลย

    คำว่าวิเนยฺฺย แปลว่า บรรเทา หมายความดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

    ๙. วิเนยฺย แปลว่า "นำออกจากทุจริต" ทุจริตแปลว่า ความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เป็นต้น ทุจริตเหล่านี้จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งได้ผลสมบูรณ์แบบตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพร่ำสอนไว้เลย ตรงกันข้าม ผู้นั้นจะตั้งอยู่แต่ในสุจริตธรรมอย่างเดียวเท่านั้น จะมีใจหวั่นไหวอยู่กับพระรัตนตรัยเป็นนิตย์

    วิเนยฺย แปลว่า นำออกจากทุจริต หมายความดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

    ๑๐. วิเนยฺย แปลว่า "สั่งสอน ทรมาน ฝึกฝนอบรม" หมายความดังนี้ คือ
    ๑. ข้อปฏิบัติ คือมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ใดปฏิบัติตามนี้ ผู้นั้นชื่อว่า ปฏิบัติถูกต้องทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เช่น ในขณะที่กำลังนั่งกำหนดพิจารณาอยู่ว่า "พองหนอ ยุบหนอ" นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ บริสุทธิ์ดี เมื่อ กาย วาจา ใจ ของผู้ใดบริสุทธิ์ดี ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นคนเรียบร้อย ความเรียบร้อยของผู้นั้น จัดเป็นศีล ศีลนี้แหละเป็นพระวินัย ผู้มีกำลังที่นั่งทำกรรมฐานอยู่นั้นมีสมาธิดี คบกับสมาธินั่นแหละเป็นพระสูตร ที่นั่งอยู่นั้นไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาอะไรเลย มีแต่จิต เจตสิก รูป จิต เป็นต้น นั่นแหละเป็นพระอภิธรรม

    ๒. ข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นธรรมที่ทรมานคนให้หายพยศ ทรมานคนให้หายดื้อ ทรมานคนให้ละมานะ ทิฏฐิ ทรมานคนให้หายความสงสัย แคลงใจในพระรัตนตรัย บุญ บาป นรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน

    ๓. ข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่ฝึกสัตว์โลก ผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหาซึ่งได้นามว่า ปุถุชนนั้นให้ดีที่สุด และเป็นธรรมที่ฝน คือ กัดกิเลสของสรรพสัตว์ให้เบาบางลงไปทุกที จนกระทั่งฝนให้ขาดกระเด็นหลุดพ้นออกไปจากวัฏสงสารได้เลย

    ๔. ข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่อบกาย อบวาจา อบใจของสัตว์ให้หอมให้งาม ให้เลิศ ให้ประเสริฐ ให้เป็นพระ สมตามคำของโบราณสอนไว้ว่า "งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ เป็นพระอยู่ที่จริง" ดังนี้

    งามอยู่ที่ผี หมายความว่า ร่างกายของบุคคลทุกๆ คน เวลาตายแล้วเขานิยมเรียกว่า "ผี" หรือ "ศพ" นี้ เป็นของอันไม่พึงปรารถนา ไม่ชอบทั้งเกลียดทั้งกลัว เสียด้วยซ้ำไป แต่ฝีนั้นจะงามได้ ต้องมีเครื่องประดับตกแต่งให้งาม คือ ศีล สมาธิ ปัญยา ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่าได้บำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญาไปพร้อมกัน

    ดีอยู่ที่ละ หมายความว่า กิเลสต่างๆ ถ้าใครละได้แล้ว เป็นดีแท้
    วิเศษ แท้


    เป็นพระอยู่ที่จริง หมายความว่า ถ้าผู้ใด ได้เจริญวิปัสสนาจนเห็นของจิรง คืออริยสัจ ๔ แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า เป็นพระ เรียกว่า พระอริยเจ้า นับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป

    ข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ยังเป็นธรรมรมสรรพกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายให้เหือดแห้งไป และรมกาย วาจา ใจ ของผู้ปฏิบัตินั้นให้เข้าไปจับให้เข้าไปติดแน่นอยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา อีกด้วย มีอุปมาเหมือนกันกับเราเอาดอกไม้หอม หรือน้ำอบ น้ำหอม มาอบผ้าเพื่อให้ติดแน่น ฉะนั้น

    วิเนยฺย แปลว่า สั่งสอน ทรมาน ฝึกฝน อบรม หมายความดังที่ได้บรรยายมา ฉะนี้

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐาน เฉพาะคำว่า"วิเนยฺย" มา ก็ยังไม่จบดี เหลืออยู่อีกข้อหนึ่ง แต่เห็นสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


    ;41



    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)
    คำบรรยาย: วิปัสสนากรรมฐาน เ่ล่ม ๗
    หน้า ๑๒๔-๑๓๑



     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...