(๑๒) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 17 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๐
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๐๖
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ช้อว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม เป็นต้นไป)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า "อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม" เป็นต้น สืบต่อไป

    ถ. คำว่า "อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม" ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ให้มีสติกำหนดรู้ หมายความว่า เวลาจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ให้ละกรรมฐาน ให้มีกรรมฐานเป็นประจำอยู่เสมอ

    ถ. การทำกรรมฐานในเวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะไม่เป็นบาปหรือ?

    ต. บาปนั้น ความความชั่วที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เป็นต้น เมื่อจะกล่าวตามหลักอภิธรรมแล้ว บาปก็ได้แก่จิตชั่ว ซึ่งเรียกว่าอกุศลจิต คือจิตที่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้แหละเป็นตัวบาป สติเป็นคู่ปรับกันกับบาปเหล่านี้ ถ้าขณะใดมีสติ ขณะนั้นบาปเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

    วลาถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ถ้ามีสติกำหนดรู้อยู่ บาปก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสติกำหนดรู้ บาปก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีสติเจริญกรรมฐานในเวลาถ่าย ผู้นั้นได้บุญ ไม่ได้บาป ผู้ใดไม่มีสติกำหนดรู้ ผู้นั้นแหละเป็นบาป ไม่ได้บุญ

    ถ. เวลาถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่ามีกรรมฐานอยู่ทุกขณะ?

    ต. ปฏิบัติอย่างนี้ คือ
    ๑. เวลาปวดถ่ายให้มีสติกำหนดรู้ว่า "ปวดถ่ายหนอๆ"
    ๒. เวลาเดินไปห้องน้ำ ก็ให้มีสติกำหนดรู้ว่า "เดินหนอๆ"
    ๓. เวลาจะถ่ายก็ให้มีสติกำหนดรู้ว่า "อยากถ่ายหนอ"
    ๔. เวลาถ่ายก็ให้มีสติกำหนดรู้ว่า "ถ่ายหนอๆ"
    ๕. เวลาถ่ายเสร็จแล้ว จะเอาน้ำล้างหรือเอากระดาษชำระมาเช็ด ก็ให้มีสติกำหนดรู้เช่นกัน
    เท่าที่บรรยายมานี้ ก็พอเป็นตัวอย่างย่อๆ เท่านนั้น นักปฏิบัติธรรมผู้ใดปฏิบัติได้ดังนี้ นักปฏิบัติผู้นั้น ได้ชื่อว่า มีกรรมฐานอยู่ทุกขณะ

    ถ. ถ้าปวดถ่ายแต่ไม่ถ่ายตามต้องการ จะให้โทษหรือไม่อย่างไร?

    ต. ในอรรถกถาท่านแก้ไว้ว่า เมื่อปวดถ่าย ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ตามต้องการ อดกลั้นไว้่ย่อมจะได้รับโทษ ดังนี้คือ
    ๑. สกลสรีรโต เสทา มุญจนฺติ เหงื่อไหลออกมาจากสรีระทั้งสิ้น
    ๒. อกฺขีนิ ภมนฺติ ตามืดมัว มีอาการวิงเวียนหน้ามืด
    ๓. จิตฺตํ น เอกคฺคํ โหติ จิตไม่แน่วแน่ คือไม่เป็นสมาธิ
    ๔. อญฺเญ จ โรคา อุปฺปชฺชนฺติ โรคทั้งหลายอย่างอื่นๆ ก็เกิดขึ้นได้
    ถ้าได้ถ่ายตามต้องการแล้ว โทษเหล่านี้ก็จะไม่มีเลย
    อย่างนี้เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ กำหนดรู้ประโยชน์ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

    ถ. ถ้าถ่ายในที่ไม่สมควรจะให้โทษอย่างไร?

    ต. ให้โทษอย่างนี้ คือ
    ๑. อาปตฺติ โหติ ถ้าเป็นพระทำให้ต้องอาบัติ ถ้าเป็นฆราวาสอาจจะได้รับโทษต่างๆ
    ๒. อยโส วฑฺฒติ ความเสื่อมย่อมเจริญขึ้น เพราะไม่ถูกสุขลักษณะ
    ๓. ชีวิตนฺตราโย โหติ มีอันตรายแก่ชีวิต
    ถ้าถ่ายในที่สมควร คือเหมาะสม จะไม่มีโทษดังกล่าวมานี้เลย เรียกว่าสัปปายะ การกำหนดรู้อย่างนี้ จัดเป็นสัมปายะสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้น ถ้าไม่ละกรรมฐาน คือ เวลาจะถ่ายก็ทำกรรมฐานไปด้วย ดังที่บรรยายมาแล้วนั้น ชื่อว่า โคจรสัมปชัญญะ

    ถ. ใครเป็นคนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเล่า?

    ต. เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีใครเลย คือ ไม่มีตัวตน บุคคล เรา เขา อะไรทั้งสิ้น มีแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น

    ถ. เมื่อเป็นเช่นนั่น ถ่ายออกมาได้เพราะอะไร?

    ต. เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะการกระทำของจิต ๑ เพราะความกระพือไป แผ่ไปของวาโยธาตุ ๑ เมื่อพร้อมด้วยเหตุ ๒ อย่างนี้ การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะก็ย่อมสำเร็จได้

    ถ. ในข้อนี้ มีอุปมาอุปมัยเป็นอย่างไรบ้าง?

    ต. มีอุปมาอุปมัยเป็นอย่างนี้ คือ

    เหมือนอย่างว่า เมื่อฝีสุกเต็มที่แล้ว ฝีก็ต้องแตก เมื่อฝีแตกแล้ว หนองและเลือดก็ต้องไหลออกมา ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการให้ออก ฉันใด อุจจาระ ปัสสาวะที่สั่งสมไว้ภายใน ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้ออกก็ต้องไหลออกมา เพราะกำลังของลม ฉันนั้นเหมือนกัน

    อีกอุปมาหนึี่ง เหมือนอย่างว่า ภาชนะน้ำที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้ล้นไหลออกมา ก็ต้องล้นไหลออกมาให้ได้ ฉันใด อุจจาระ ปัสสาวะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ถ. อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ไหลออกมาอย่างนี้ เป็นของใคร?

    ต. ไม่เป็นของใครๆ ทั้งสิ้น คือไม่เป็นของตนและไม่เป็นของใครทั้งนั้น แต่ว่าเป็นของที่ไหลออกมาจากสรีระอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างน้ำเก่าที่เขาเทออกจากหม้อน้ำนั้นไม่เป็นของตน และไม่เป็นของคนอื่น เป็นเพียงอาโปธาตุเท่านั้น

    ถ. ในการไป การยืน การนั่ง การนอน จะพึงปฏิบัติอย่างไร?

    ต. พึงปฎิบัติตามนัยที่ได้บรรยายมาแล้ว ในครั้งที่ ๑๑๗ วันจันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๕ ตอนที่ว่าด้วยการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมา ก็มีสติกำหนดรู้นั้นเถิด

    ถ. ในการยืน เดิน นั่ง นอน จะพึงปฏิบัติอย่างไร จึงจะเหมาะสมสำหรับนักปฏิบัติธรรม?

    ต. ต้องปฏิบัติอย่างนี้ คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่ละกรรมฐาน ให้มีกรรมฐานเป็นเรือนใจอยู่เสมอมิให้ขาด จึงจะเหมาะสมแก่นักปฏิบัติธรรม

    ถ. ถ้าปฏิบัติตามนี้ จะได้ประโยชน์อะไร?

    ต. ได้ประโยชน์มาก คือ ทันปัจจุบัน รู้รูปนาม รู้ไตรลักษณ์ เป็นดังตัวอย่างเช่น

    ถ้าผู้ใดก้าวลงสู่ที่จงกรม เดินจงกรม พอถึงที่สุดก็หยุดยืนกำหนดให้ดีเสียก่อน แล้วกลับหลังเดินจงกรมต่อไปอีก ให้กลับไปกลับมาอยู่อยู่อย่างนี้หลายๆ เที่ยว เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้น ผู้นั้นก็สามารถจะรู้ได้ อย่างนี้ว่า
    . รูปนามที่เป็นไปในที่สุดที่จงกรม ทางด้านทิศปราจีน ไม่ถึงที่สุดที่จงกรมทางด้านทิศปัจฉิม คือดับลงไปที่ตรงนั้นเอง
    ๒. รูปนามที่เป็นไปในที่สุดที่จงกรมทางด้านทิศปัจฉิม ก็ไม่ถึงที่สุดที่จงกรมทางด้านปัจฉิม คือดับลงไปที่ตรงนั้นเอง

    ๓. รูปนามที่เป็นไปในท่ามกลางที่จงกรม ก็ไม่ถึงที่สุดทั้ง ๒ ข้าง คือดับลงไปที่ตรงกลางนั้นเอง

    ๔. รูปนามในขณะจงกรม ก็ยังไม่ถึงรูปนามยืน คือดับลงไปในขณะที่จงกรมนั่นเอง

    ๕. รุปนามยืน ก็ไม่ถึงรูปนามนั่ง คือดับลงไปในที่ยืนนั่นเอง

    ๖. รูปนามนั่งก็ไม่ถึงรูปนามนอน คือดับลงไปในที่นั่งนั่นเอง

    ๗. รูปนามนอนก็ไม่ถึงรูปนามลุกขึ้น คือดับลงไปในที่นอนนั่นเอง

    เมื่อกำหนดได้ละเอียดถ้วนอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น ย่อมจะมีปัญญารู้ชัดถึงรูปนาม รู้ชัดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ยังอยู่ในขั้นจินตมยปัญญา ต้องเพียรพยายามให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก จึงจะพบความเกิดดับของรูปนาม อันเป็นชั้นภาวนามยปัญญาสืบต่อไป

    ถ. เพียงเท่าที่บรรยายมานี้ กรรมฐานชื่อว่าแจ่มแจ้งดีหรือยัง?

    ต. ยังก่อน เพราะเพิ่งเริ่มบำเพ็ญ แต่รู้จักหนทางเดินบ้างแล้ว ตั้งเข็มทิศไว้ถูกทางแล้ว จะต้องพยายามปฏิบัติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะได้ผลเต็มที่

    ถ. ก่อนจะนอนเราควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกกับหลักของพระกรรมฐานที่ท่านวางไว้?

    ต. ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ควรจะเดินจงกรมนั่งกรรมฐานก่อนแล้วจึงนอน เวลานอนก็กำหนดให้ดีอย่างนี้ว่า "กายไม่มีเจตนา เตียงไม่มีเจตนา กายก็ไม่รู้ว่าเรานอนบนเตียง เตียงก็ไม่รู้ว่ากายนอนบนเรา กายไม่มีเจตนานอนบนเตียง ซึ่งไม่มีเจตนาเช่นกัน" ครั้นกำหนดรู้อย่างนี้แล้ว จึงภาวนาว่า " ยุบหนอ พองหนอ" ต่อไป จนจิตลงสู่ภวังค์หลับไปอย่างมีสติ ต้องพยายามกำหนดให้ดี จนสามารถรู้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ อย่างนี้เรียกว่า สุตฺเต สมฺปชานการี มีสติกำหนดรู้รูปนามในเวลาหลับ จัดเป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ

    ถ. ข้อว่า "ชาคริเต" ซึ่งแปลว่า เวลาตื่นก็ให้มีสติกำหนดรู้นั้น หมายความว่าอย่างไร?

    ต. หมายความอย่างนี้ คือ เวลาตื่นขึ้นมาอย่าละทิ้งพระกรรมฐาน ให้พยายามทำกรรมฐานติดต่อกันไปมิให้ขาด เช่น เวลาตื่นให้ภาวนาว่า "ตื่นหนอๆ" เวลาจะลุกก็ภาวนา "อยากลุกหนอๆ" เวลาลุกก็ภาวนาว่า "ลุกหนอๆ" ดังนี้เป็นต้น

    ถ. วันหนึ่ง คืนหนึ่ง นักปฏิบัติธรรมผู้มุ่งหวังตั้งใจจะลงมือทำอย่างจริงจังนั้น ควรจะใช้เวลาประมาณกี่ชั่วโมงจึงจะพอดี?

    ต. ข้อนี้สุดแ้ล้วแต่ความสะดวกของผู้ปฏิบัติ จะทดลองดูตั้งแต่วันละ ๕ นาที ๑๐ นาที เป็นต้นไปก็ได้ ถ้ามีเวลามากก็ควรทำมาก เพราะการทำมากก็ย่อมได้ผลมากกว่าการทำน้อยเป็นธรรมดาอยู่เอง เช่น คนทำนาเป็นตัวอย่าง ใครทำนาน้อยก็ได้ข้าวน้อย ใครทำนามากก็ได้ข้าวมาก เป็นธรรมดาอยู่ แต่ในพระบาลีท่านวางหลักไว้อย่างสูงว่า "รตฺตินฺทิวํ ฉ โกฎฺฐาเส กตฺวา ปญฺจ โกฏฺฐาเส ชคฺคนฺโตปิ ชาคริเต สมุปชานการี นาม โหติ"

    ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง แบ่งออกเป็น ๖ ส่วน ปฏิบัติ ๕ ส่วน หลับส่วนเดียวได้ชื่อว่า มีสัมปชัญญะในการตื่น

    หมายความว่า วันหนึ่ง คืนหนึ่ง มี ๒๔ ชั่วโมง แบ่งเป็น ๖ ส่วน เอา ๖ หารได้อย่างละ ๔ ชั่วโมง ก็เป็นอันได้ความว่า ให้ปฏิบัติถึง ๒๐ ชั่วโมง นอนเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น ๒๐ ชั่วโมงกำลังปฏิบัติอยู่นั้น ท่านเรียกว่า เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ

    ถ. คำว่า "ภาสิเต" หมายความว่าอย่างไร?

    ต. หมายความว่า เวลาพูด ก็ให้มีสติกำหนดรู้ เพราะในการพูดคำหนึ่งๆ นั้น ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้ว ขันธ์ ๕ นั้น เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน

    ถ. เวลาพูดจะกำหนดที่ตรงไหน?

    ต. กำหนดการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก หรือลูกคาง ตรงขากรรไกรข้างล่าง ให้สติกำหนดรู้อยู่ที่ตรงนั้น

    ถ. เมื่อกำหนดแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร?

    ต. ได้ประโยชน์มาก เพราะกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อกิเลสไม่เกิดบุญก็เกิดขึ้น

    ถ. บุญในที่นี้ ได้แก่อะไร?

    ต. ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

    ถ. ศีล สมาธิ ปัญญา กับมรรค ๘ ต่างกันหรือเหมือนกัน?

    ต. ต่างกันแต่พยัญชนะ ส่วนความหมายในแนวปฏิบัติเหมือนกัน

    ถ. ถ้าอย่างนั้นเวลาพูด ถ้าเราใช้สติกำหนดตามไป ก็ชื่อว่าได้เจริญมรรค ๘ ไปด้วยใช่หรือไม่?

    ต. ใช่แล้ว, เพราะมรรค ๘ นั้น ย่อลงมา คือศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ได้ปรมัตถ์คือรูปกับนามเป็นอารมณ์

    ถ. ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะในการพูดใช่หรือไม่?

    ต. ใช่

    ถ. เวลาแสดงธรรมเราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในการแสดง?

    ต. เวลาแสดงธรรมนั้น ถ้าเว้นจากดิรัจฉานกถา ๓๒ ประการเสียแล้ว แสดงถ้อยคำที่อาศัยกถาวัตถุ ๑๐ มีความปรารถนาน้อย รู้จักประหยัด เป็นต้น ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในการแสดงธรรมแท้

    ถ. คำว่า "ตุณฺหีภาเว" แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า ความเป็นผู้นิ่ง หมายความว่า ไม่พูด คือไม่ให้มีเสียงออกมา แต่มีสติกำหนดรู้รูปนามอยู่ เช่น ขณะนั่ง ก็มีสติเพ่งอยู่ที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ตัวอย่าง เพ่งอาการของท้องที่พองขึ้นและยุบลงก็ได้ โดยภาวนาในใจว่า "พองหนอ ยุบหนอ" อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้นิ่ง เพราะกายก็นิ่ง วาจาก็นิ่ง ใจก็นิ่ง คือมีกาย วาจา ใจ สงบนั่นเอง แม้ในเวลาเรากำหนดท้องพองยุบไปนานๆ อาการพองยุบนิ่งเฉยอยู่ ผู้ปฏิบัติภาวนาว่า "นิ่งหนอๆ" ก็ชื่อว่า ตุณฺหีภาเว สมุปชานการี แปลว่ามีปกติกำหนดรู้ ความเป็นผู้นิ่ง

    ถ. การกำหนดตามสัปชัญญะทั้ง ๔ ดังที่ได้บรรยายมาแต่ต้นจนบัดนี้ จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง?

    ต. ได้ประโยชน์มากมายหลายประการ เช่น
    ๑. เป็นมหากุศล

    ๒. ได้บำเพ็ญสิกขา ๓

    ๓. ได้บำเพ็ญมรรค ๘

    ๔. ได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยปฏิบัติบูชา

    ๕. ได้ทำที่พึี่งให้แก่ตัวเอง

    ๖. ได้พิสูจน์หลักความจริงแห่งพระพุทธศาสนา

    ๗. ชื่อว่าป้องกันภัยในอบายภูมิ

    ๘. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

    ๙. ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ๑๐. ชื่อว่าเป็นผู้เดินทางถูก

    ๑๑. ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ

    ๑๒. ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ ๓ ให้ควบคู่กันไป

    ๑๓. ชื่อว่าได้บำเพ็ญวิเวกทั้ง ๓ ให้ควบคู่กันไป

    ๑๔. ชื่อว่าธำรงไว้ซึ่งสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ๑๕. ชื่อว่าได้สร้างเหตุแห่งปัญญา

    ๑๖. ชื่อว่าได้ยกตนขึ้นจากหล่ม คือกิเลส

    ๑๗. ชื่อว่าเป็นผู้เจ้าถึงแก่นพระศาสนาอย่างแท้จริง

    ๑๘. ชื่อว่าชีวิตไม่เป็นหมัน ชีวิตไม่เปล่าจากประโยชน์อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา

    ๑๙. ชื่อว่ามีอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐเป็นเรือนใจ

    ๒๐. ชื่อว่าเป็นผู้มาดี ไปดี อยู่ดี กินดีแท้


    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า อุจฺจรปสฺสาวกมฺเม เป็นต้นมา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


    ;aa40


    พระธรรมะีราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรม เล่ม ๗
    หน้า ๑๐๙-๑๑๖


    สัพพปัตติทานคาถา

    หันทะ มะยัง สัพพะปัตติทานะคาถาโย ภาณามะ เสฯ

    ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม
    เตสัญญะ ภาคิโน โหนตุ สัตตานันตาปปะมาณะกา

    สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
    จงมีส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และแห่งบุญอื่นที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว

    เย ปิยา คุณะวันตา จะ มัยหัง มาตาปิตาทะโย
    ทิฏฐา เม จาปยะทิฏฐา วา อัญโญ มัชฌัตตะเวริโน

    คือจะเป็นสัตว์เหล่าใด ซึ่งเป็นที่รักใครและมีบุญคุณ
    เช่นมารดา บิดาของข้าพเจ้าเป็นต้น ก็ดี
    ที่ข้าพเจ้าเห็นแล้ว หรือไม่ได้เห็น ก็ดี
    สัตว์เหล่าอื่นที่เป็นกลางๆ หรือเป็นคู่เวรกัน ก็ดี


    สัตตา ติฏฐันติ โลกัสมิง เต ภุมมา จะตุโยนิกา
    ปัญเจกะจะตุโวการา สังสะรันตา ภะวาภะเว

    สัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ในโลก อยู่ในภูมิทั้งสาม อยู่ในกำเนิดทั้งสี่
    มีขันธ์ห้าขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว มีขันธ์สี่ขันธ์
    กำลังทองเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ก็ดี


    ญาตัง เย ปัตติทานัมเม อะนุโมทันตุ เต สะยัง
    เย จิมัง นัปปะชานันติ เทวา เตสัง นิเวทะยัง

    สัตว์เหล่าใด รู้ส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้ว
    สัตว์เหล่านั้น จงอนุโมทนาเองเถิด
    ส่วนสัตว์เหล่าใด ยังไม่รู้ส่วนบุญนี้
    ขอเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้น ให้รู้

    ะยา ทินนานะ ปุญญานัง อะนุโมทะนะเหตุนา
    สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน
    เขมัปปะทัญจะ ปัปโปนตุ เตสาสา สิชฌะตัง สุภา


    เพราะเหตุที่ได้อนุโมทนาส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้ว
    สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
    จงถึงบทอันเกษม กล่าวคือพระนิพพาน
    ความปรารถนาที่ดีงามของสัตว์เหล่านั้น จงสำเร็จเถิด.




    เกิด แก่ เจ็บ ตาย.jpg

     

แชร์หน้านี้

Loading...