(๑๑) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 15 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๙
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ)​


    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า "สงฺฆาฏิปตฺติจีวรธารเณ" สืบต่อไป​



    ถ. สงฺฆาฏิปตฺตจีรราธารเณ หมายความว่าอย่างไร?



    ต. หมายความว่า ในการพาดสังฆาฏิ อุ้มบาตร ห่มจีวร ก็ให้มีสติกำหนดรู้คือ ให้ทำกรรมฐานเป็นประจำมิให้ขาด​



    ถ. ขอให้อธิบาย ขยายความ ในตอนนี้ ให้ชัดกว่านี้จะได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์แก่นักปฏิบัติธรรมสืบต่อไป



    ต. ได้ อธิบายขยายความดังต่อไปนี้คือ​



    ๑. เวลาพาดสังฆาฏิ ก็ให้กำหนดตั้งแต่เริ่มเห็น อยากได้ ไป ถูก พาดบ่า เป็นต้น เช่น


    ขณะเห็นสังฆาฏิ ภาวนาว่า "เห็นหนอๆ" ใจคิดอยากได้ ภาวนาว่า "อยากได้หนอๆ" เวลาเอื้อมมือไปหยิบเอาผ้า ภาวนาว่า "ไปหนอๆ" เวลามือถูกผ้าภาวนาว่า "ถูกหนอๆ" เวลาจะพาดบ่า ภาวนาว่า "อยากพาดหนอๆ" เวลาพาดบ่า ภาวนาว่า "พาดหนอๆ" ดังนี้เป็นตัวอย่าง



    ๒. เวลานุ่งสบง ห่มจีวร ก็พึงปฏิบัติโดยทำนองเดียวกัน



    ๓. การใช้บาตรรับภัตตาหาร เช่น ไปบิณฑบาตก็พึงปฏิบัติให้ละเอียด คือตาเห็นบาตรใจอยากได้, เอื้อมมือไป, ถูกบาตร, เดินไปเพื่อรับบาตร, ยืนคอยรับบาตร เป็นต้น ก็ต้องกำหนดให้ดี



    ถ. เท่าที่บรรยายมานี้เห็นมีแต่เรื่องขอพระ หากว่าญาติโยมอยากจะปฏิบัติ จะทำอย่างไรเล่า?



    ต. ญาติโยมก็ปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เลือกชั้น วรรณะ ไม่เลือกบุคคล ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้สนใจใคร่ต่อธรรม จะเป็นใครๆ ก็ได้ ญาติโยมทายกทายิกา อุบาสกอุบาสิกา ก็ต้องมีของใช้สอยเช่นเดียวกัน เช่น มีผ้า มีซิ่น เป็นต้น เวลาใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของอื่นๆ อีก ก็กำหนดได้ ลงมือปฏิบัติได้ไม่ขัดข้องแต่ประการใดๆ เลย​



    ถ. ภิกษุผู้มีปกติร้อน และภิกษุผู้มีปกติหนาว ภิกษุแก่ ควรจะใช้จีวรอย่างไร จึงจะเป็นที่สบาย?



    ต. ตามนัยแห่งอรรถกถาท่านแสดงไว้ว่า
    ก. ภิกษุผู้มีปกติร้อน กับภิกษุแก่ ควรใช้ผ้าวีจรบางๆ เป็นที่สบาย เพราะเบาดีด้วยและไม่ร้อน



    ข. ภิกษุผู้มีปกติเย็นหรือหนาว ควรใช้จีวรหนาๆ จีวร ๒ ชั้นเป็นที่สบาย​

    ถ. ใครเป็นผู้พาดสังฆาฏิ ห่มจีวร ไปบิณฑบาตร?



    ต. เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีใครเลย คือไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาทั้งสิ้น มีแต่รูปกับนามเท่านั้น การห่มจีวรจะมีได้ก็เพราะการกระทำของจิต ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นอย่างหนึ่ง เพราะความกระพือไป แผ่ไปของวาโยธาตุอย่างหนึ่ง จิตเป็นนาม วาโยธาตุเป็นรูป เพราะฉะนั้น จึงมีเพียงรูปกับนามเท่านั้น​



    ถ. จีวรก็ดี กายก็ดี มีเจตนาไหม รู้ไหมว่าตนห่มจีวร?



    ต. วีวรมฺปิ อเจตนํ กาเยปิ อเจตโน ท่านกล่าวไว้ว่า วีจรก็ไม่มีเจตนา กายก็ไม่มีเจตนา วีจรก็ไม่ทราบว่า "กายถูกเราห่ม" แม้กายก็ไม่ทราบว่า "เราถูกวีจรห่ม" อันที่แท้ก็มีแต่ธาตุเท่านั้นปกปิดความประชุมของธาตุไว้ ท่านอุปมาไว้ว่าเหมือนกันกับเอาผ้าห่อคัมภีร์ไว้ คัมภีร์ก็ไม่รู้ว่าถูกห่อ ผ้าก็ไม่รู้ว่าตนห่อคัมภีร์ ฉะนั้น​



    ถ. เวลาได้จีวร ได้เสื้อผ้าดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เราจะควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูก?



    ต. เวลาได้จีวรดี ได้เสื้อผ้าก็ดี ก็ไม่ควรดีใจ ถ้าได้จีวร ได้ผ้าไม่ดี ก็ไม่ควรเสียใจ ​



    ถ.ขอให้ยกอุปมาเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างในข้อนี้ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจดีขึ้นกว่านี้?



    ต. ตัวอย่างมีมาก เช่น


    ท่านแสดงไว้ว่า คนบางพวกทำสักการะด้วยระเบียบของหอม ธูป เทียน ผ้าเป็นต้น ที่จอมปลวก เจดีย์ ต้นไม้ เป็นอาทิ คนบางพวกไม่ทำสักการะเลย มีแต่พากันถ่ายคูถ ถ่ายมูตร ย่ำยี ประหารด้วยท่อนไม้ ศัตราวุธต่างๆ ที่จอมปลวก เป็นต้นนั้น จอมปลวก ต้นไม้เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วนั้น จะไม่ทำความดีใจ หรือเสียใจเลยแม้แต่น้อย ฉันใด เมื่อได้จีวร ได้เสื้อผ้า ได้ของใช้สอยต่างๆ มา ถ้าดีก็ไม่ควรดีใจ ถ้าไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ อย่างนี้ เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ​



    ถ. เวลาจะไปบิณฑบาตจะพึงปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกสัมปชัญญะ ถูกสัปปายะ?



    ต. ต้องปฏิบัติอย่างนี้ คือ
    ๑. อย่ารับบาตรโดยรวดเร็วเกินไป ค่อยๆ รับและพิจารณาถึงประโยชน์ ที่จะพึงได้รับให้รอบคอบก่อน เช่นพิจาณาว่า "เรารับบาตรนี้แล้วเที่ยวไปเพื่อบิณฑะเจริญกรรมฐานไปด้วย ใจก็เป็นกุศล ผลที่เกิดก็คือได้ทั้งกรรมฐานและภิกษาหารควบคู่กันไป" ครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงไป เวลาไปก็มีสติทำกรรมฐานไปทุกๆ ก้าว อย่างนี้เรียกว่า สาตถาสัมปชัญญะ



    ๒. ถ้าภิกษุมีร่างผม มีกำลังอ่อน ทุพพยภาพ อย่าใช้บาตรหนัก ให้ใช้บาตรเบาๆ ใช้บาตรที่ล้างง่ายๆ อย่างนี้ เป็นสัปปายะ



    ๓. อย่าใช้บาตรงามเกินไป เช่นบาตรมีสีดุจแก้วมณี เป็นต้น เพราะเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ จัดเป็นสัปปายะ



    ๔. ถ้าใช้บาตรใบใด อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง บาตรใบนี้เป็นอสัปปายะ โดยส่วนเดียวแท้ ให้ใช้บาตรที่ตรงกันข้ามจึงจะเป็นสัปปายะ

    อย่างนี้เรียกว่า สัปปายะสัมปชัญญะ กำหนดรู้ปัจจัย ๔ ที่สบายและไม่สบาย


    ส่วนโคจรสัมปชัญญะ ได้แก่ การไม่ละพระกรรมฐานดังที่บรรยายมาแล้วนั้น​



    ถ. ใครเป็นผู้รับบาตร?



    ต. เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีใครเลย คือไม่มีสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาอะไรเลย มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น การรับบาตรจะมีได้ก็เพราะการกระทำของจิต กับความแผ่ไป ความกระพือไปของวาโยธาตุเท่านั้น​



    ถ. บาตรและมือ มีเจตนาหรือไม่?



    ต. เมื่อกล่าวตามความจริงแล้ว บาตรก็ไม่มีเจตนา มือก็ไม่มีเจตนาเพราะไม่รู้ว่า ตนถูกมือจับและมือทั้ง ๒ ก็ไม่รู้ว่าตนอุ้มบาตร​



    ถ. เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้อุ้มบาตรไป?



    ต. ไม่มีใครเลย มีแต่ธาตุท้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาประชุมกันเข้า เรียกย่อๆ ว่า รูปกับนาม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ตน เรา เขา อะไรทั้งสิ้น มีลักษณะคล้ายๆ กับคีมสำหรับจับสิ่งของต่างๆ เช่น จับเหล็กร้อน เป็นต้น​



    ถ. ขอให้นำอุปมาอุปมัยมาเปรียบเทียบให้ละเอียดกว่านี้?



    ต. ในข้อนั้นมีอุปมาอุปมัยไว้ดังนี้ คือ​



    บุคคลผู้มีใจเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น สัตว์อื่น เมื่อได้เห็นคนอนาถา มีมือเท้าขาด มีเลือด หนอง หนองไหลออกมาจากปากแผล มีแมลงวันหัวเขียวไต่ตอมอยู่ รอบๆ นอนอยู่ในศาลา จึงเอาผ้าพันแผลให้ เอาถาดกระเบื้องใส่ยาให้ ผ้าพันแผลก็ดี ถาดกระเบื้องก็ดี จะหยาบ จะละเอียด งาม ไม่งามอย่างไรก็ตาม เขาเหล่านั้นจะไม่ดีใจ จะไม่เสียใจในของนั้นเลย เขาจะมีความต้องการเพียงให้ได้ผ้าปิดแผล เพียงให้ได้ถาดกระเบื้องใส่ยาเท่านั้น ข้อนี้ฉันใด ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ย่อมกำหนดเห็นบาตร ราวกะว่าถาดกระเบื้องใส่ยา กำหนดพิจารณาเห็นภิกษาที่ตนได้ในบาตร หรือในถาด ราวกะว่ายาอยู่ในถาดกระเบื้อง ฉันนั้นเหมือนกัน​



    ถ้าพิจารณาเห็นอย่างนี้ รู้อย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะชั้นสูงมาก เพราะเป็นผู้มีความรู้อยู่เสมอไม่ลุ่มหลงในการพาดสังฆาฏิ อุ้มบาตร ห่มจีวร หรือเป็นผู้มีสติไม่ลุ่มหลงในการนุ่งห่ม เป็นต้น ขอนักปฏิบัติธรรม เพื่อนำตนออกจากกิเลสและกองทุกข์​



    ถ. อสัมโมหสัมปชัญญา ข้อต่อไป ได้แก่อะไร?



    ต. ได้แก่ อสิเต ปิเต ขาปิเต สายิเต
    ๑. อสิเต แปลว่า ฉัน กิน บริโภค รับประทาน


    คำว่า ฉัน บริโภค ใช้สำหรับพระภิกษุ สามเณร เช่น ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นต้น


    คำว่า กิน รับประทาน ใช้สำหรับคฤหัสถ์ ตามสมควรแก่ฐานะ



    ๒. ปิเต แปลว่า ดื่ม เช่น ดื่มข้าวยาคู เป็นต้น



    ๓. ขายิเต แปลว่า ลิ้มเลีย เช่นล้ิมเลียน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น

    ถ. การฉันอาหารหรือรับประทานอาหารนั้น สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมมีความประสงค์กี่ประการ อะไรบ้าง?



    ต. สำหรับการฉัน การบริโภค การกิน การรับประทาน การเคี้ยว การดื่ม และการลิ้มเลียของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น มีความประสงค์อยู่ ๑๓ ประการ คือ
    ๑. เนว ทวาย ไม่เพื่อเล่น
    ๒. น มทาย ไม่เพื่อเมา
    ๓. น มณฺฑนาย ไม่เพื่อสดใส
    ๔. น วิภูสนาย ไม่เพื่อเปล่งปลั่ง
    ๕. ยาวเทว อิเมสฺส กายสฺส จิติยา เพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้
    ๖. ยาปนาย เพื่อให้ชีวิตเป็นไป
    ๗. วิหึสุปรติยา เพื่อระงับความลำบาก
    ๘. พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
    ๙. ปุราณญฺจ เวทนํ ปฏิหงขามิ เพื่อบำบัดเวทนาเก่า
    ๑๐. นวญฺจ เวทนํ น อุปฺปาเทสฺสามิ เพื่อไม่ให้เวทนาใหมเกิดขึ้น
    ๑๑. ยาตฺรา จ เม ภวิสฺสติ เพื่อให้ร่างกายเป็นไปได้
    ๑๒. อนวชฺชตา เพื่อไม่ให้มีโทษ
    ๑๓. ผาสุวิหาโร เพื่อให้มีความเป็นอยู่สบาย


    ถ. ถ้านักปฏิบัติฉัน หรือบริโภคได้ถูกต้องตามนี้ จะเรียกว่าอย่างไร?



    ต. การฉันภัตตาหาร หรือการรับประทานอาหารของนักปฏิบัติธรรมมีความประสงค์ตามที่ปรากฎในพระบาลีอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ​



    ถ. โภชนะเช่นไรจัดเป็นสัปปายะ เช่นไรไม่เป็นสัปปายะ?



    ต. โภชนะ คืออาหารนั้น มีมากมายหลายประการ เช่นเศร้าหมอง ประณีต ขม หวาน เป็นต้น ถ้าโภชนะใดไม่เป็นที่ผาสุก โภชนะนั้นจัดเป็นสัปปายะ​



    ถ. ถ้านักปฏิบัติกำหนดพิจารณาได้อย่างนี้ จะเรียกว่าอย่างไร?



    ต. การที่นักปฏิบัติพิจารณารู้ถึงโภชนะเป็นที่สบาย และไม่สบายอย่างนี้ เรียกว่าสัปปายะสัมปชัญญะ​



    ถ. จะพิจารณาอย่างไร จึงจะจัดเป็นโคจรสัมปชัญญะได้?



    ต. ถ้านักปฏิบัติพิจารณาทุกขณะที่ฉัน บริโภครับประทาน เคี้ยว ดื่ม ลิ้มเลียโดยไม่ละพระกรรมฐานเลย เช่น ขณะตาเห็น ใจนึกอยากได้ มือเคลื่อนที่ไป ถูกอาหาร ยกอาหารมา อ้าปากเคี้ยว รสปรากฎ กลืนลงไปในท้อง จะเอาอาหารเข้าปาก เป็นต้น ก็ีมีสติกำหนดรู้ไปทุกขณะ ทุกระยะอย่างนี้จัดเป็นโจรสัมปชัญญะ​



    ถ. ใครเป็นคนบริโภค?



    ต. ขึ้นชื่อตนในภายใน เป็นผู้บริโภคไม่มีเลย การกระทำอะไร ๆ ทุกๆ อย่างจะมีได้ก็เพราะการกระทำของจิตอย่างหนึ่ง เพราะความแผ่ไป คือกระพือไปของธาตุลมอย่างหนึ่ง เช่น การรับบาตรหย่อนมือลงไปในบาตร การทำให้เป็นคำ, การเอาช้อนตัก การยกขึ้นมา การอ้าปาก เป็นต้น สำเร็จได้เพราะเหตุ ๒ ประการ เท่านั้น คือ การทำของจิต ๑ ความแผ่ไปของวาโยธาตุ ๑​



    ถ. คงจะมีใครเอากุญแจ หรือเอาเครื่องยนต์มาฉุดมาเปิดกระดูกคางขึ้นให้อ้าปาก ให้เคี้ยว ให้ดื่ม ให้ลิ้มเลียกระมัง?



    ต. หามิได้ ไม่มีใครเลยที่จะมาทำเช่นนั้น การที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเหตุ ๒ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนั้นเอง ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ คือ
    การวางคำข้าวไว้ในปากก็ดี
    การเอาฟันบนเป็นสากก็ดี
    การเอาฟันล่างเป็นครกก็ดี
    การเอาลิ้นเป็นมือก็ดี
    การเอาน้ำลายเป็นน้ำผสมก็ดี
    การเอาฟันล่างเป็นกรกรองรับแล้ว เอาฟันบนเป็นสากบิดให้แหลกเป็นจุณไปก็ดี
    สำเร็จได้เพราะการกระทำของจิต กับการแผ่ไปของวาโยธาตุเท่านั้น จะมีใครเอาทัพพีหรือเอาช้อนสอดเข้าไปภายในก็ไม่มี เข้าไปเพราะธาตุลม ตั้งอยู่ก็เพราะธาตุลม


    ถ. ถ้าอย่างนั้น ใครเป็นคนหุงต้มอีกต่อหนึ่ง อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นจึงละเอียดมากในเวลากลับออกมาอีก?



    ต. ไม่มีใครตั้งเตาก่อไฟหุงต้มเลย อันที่แท้สำเร็จได้เพราะธาตุไฟทั้งนั้น​



    ถ. ถ้าอย่างนั้น ใครเล่าเป็นผู้นำอาหารที่ย่อยแล้ว สุกแล้วออกไป?



    ต. อาหารที่สุกแล้ว ย่อยแล้วนั้น ไม่มีใครนำออกไปข้างนอก ด้วยท่อนไม้ หรือไม้เท้าเลย
    ธาตุลมเท่านั้นเป็นผู้นำออกไป ยกขึ้น ทรงไว้ให้เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นจุณให้ิวิเศษ และนำออกไป


    ส่วนธาตุดินก็ทรงไว้ ให้เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นจุณ ให้วิเศษแล้วนำออกไป


    ธาตุน้ำ ประสานให้ติดกัน ให้เปียกชุ่มอยู่เสมอ


    ธาตุไฟ เผาอาหารที่เข้าไปภายในให้ย่อยให้สุก


    อากาศธาตุ แหวกทางให้


    วิญญาณธาตุ อาศัยความพยายามของต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้นเป็นผู้รับรู้


    อย่างนี้ จักเป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ ว่าด้วยการพิจารณาอาหารที่เป็นไปแล้ว​

    แม้การพิจารณาอาหารโดยความเป็นของปฏิกูลโดย อาการ ๑๐ อย่าง ก็จัดเป็นอสัมโมหะสัมปชัญญะ ปฏิกูลโดยการไป การแสวงหา การบริโภค ที่อยู่อาศัย ที่เกิบไว้ ยังไม่สุก สุกดีแล้ว ผล ไหลออก และเป็นของปฏิกูลโดยเปรอะเปื้อนมือ ปาก เป็นต้น​



    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า สงฺฆฏิปตฺติ จีวรธารเณ เป็นต้น มาก็นับว่า สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้​







    thaxx​



    พระธรรมธีราชมหามุนี (โชดก ญานสิทฺธิ ป.ธ. ๙)



    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗


    หน้า ๑๐๑-๑๐๕


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...