(๑๐) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 14 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๘
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๕
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า สมฺปชาโน ต่อ)​


    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า "สมฺปชาโน" สืบต่อไป

    ถ. สัมปชัญญะข้อที่ ๔ ได้แก่อะไร?
    ต. ได้แก่ อสัมโมหสัมปชัญญะ

    ถ. อสัมโมหสัมปขัญญะ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า มีความรู้อยู่ทุกขณะไม่หลงลืม

    ถ. เมื่อจะกล่าวโดยละเอียดตามหลักฐานในพระไตรปิฎกแล้ว มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มีอยู่ ๒๒ อย่าง จะได้อธิบายข้อที่ ๑ กับข้อที่ ๒ ก่อน ดังนี้คือ
    ๑. อภิกฺกนฺเต เวลาจะก้าวไปก็มีสติกำหนดรู้
    ๒. ปฏิกฺกนฺเต เวลาจะถอยกลับก็มีสติกำหนดรู้
    ทั้ง ๒ ข้อนี้ มีอธิบายว่า ธรรมดาอันธพาลปุถุชน คือบุคคลที่ยังบอด ยังโง่ ยังเขลาอยู่ เวลาก้าวไปหรือถอยกลับไป ย่อมมีความลุ่มหลงสำคัญผิดคิดไปว่า "ตนก้าวไป" การก้าวไปตนให้เกิดขึ้นดังนี้บ้าง ย่อมมีความสำคัญผิดคิดไปว่า "เรากำลังก้าวไป" การก้าวไปเราให้เกิดขึ้นเองดังนี้บ้าง ส่วนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารไม่มีความลุ่มหลงและไม่มีความสำคัญผิดคิดไปเช่นนั้น ย่อมมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ว่า เมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น วาโยธาตุ มีจิตเป็นสมุฏฐานพร้อมกับจิตนั้นนั่นเอง ทำให้อาการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น อันที่จริงนั้น ร่างกระดูกอันชาวโลกสมมติบัญญัติกันว่า กายนี้เท่านั้นก้าวไป ก้าวไปเพราะอำนาจแห่งการกระทำของจิตกับความแผ่ไป กระพือไปของวาโยธาตุ เมื่อร่างกระดูกนั้นกำลังก้าวไปอยู่อย่างนี้ ในขณะที่ยกส้นเท้าขึ้นครั้งหนึ่งๆ ธาตุดินกับธาตุน้ำมีประมาณน้อย มีกำลังอ่อน ส่วนธาตุไผกับธาตุลมมีกำลังมาก มีกำลังกล้า ธาตุไฟกับธาตุลม มีประมาณน้อย มีกำลังอ่อน ธาตุดินกับธาตุน้ำมีกำลังมาก มีกำลังกล้า สภาวะคือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมมีอยู่ทุกขณะดังนี้คือ

    ๑. อุทฺธรเณ ปวตฺตา รูปารูปธมฺมา ในขณะที่ยกส้นเท้าขึ้นนั้น รูปนามที่เกิดขึ้นขณะนั้นก็ดับลงไปแล้วยังไม่ทันถึงตอนยกปลายเท้าขึ้นเลย

    ๒. อติหรเณ ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเกิดขึ้นในขณะยกปลายเท้าก็ดับลงไปที่นั่นเอง ยังไม่ทันเสือกเท้าไปเลย

    ๓. วิติหรเณ ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเสือกเท้าไปก็ดับลงไปขณะนั้น ยังไม่ทันถึงตอนเอาเท้าลงเลย

    ๔. โวสฺสชฺชเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเกิดในขณะเอาเท้าลง ก็ดับไปที่ตรงนั้น ในขณะนั้นยังไม่ทันถึงตอนส้นเท้ากระทบกับพื้นเลย

    ๕. สนฺนิกฺเขปเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังกระทบกับพื้นก็ดับลงไปนั่นเอง ยังไม่ทันถึงตอนส้นเท้ากดกับพื้นเลย

    ๖. สนฺนิรุมฺภเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังกดกับพื้นก็ดับลงไปตรงนั้น ยังไม่ทันถึงตอนยกส้นเท้าขึ้นเลย

    เป็นอันว่า ในขณะที่ก้าวไปครั้งหนึ่ง นั้น แบ่งเป็น ๖ ระยะ มีรูปนามเกิดดับติดต่อกันไปทุกขณะดุจงาที่ใส่ลงไปในกะทะร้อนๆ หรือดุจเกลือที่ใส่ลงไปในกะทะร้อนๆ แล้วแตกไปๆ หรือ ดุจฟองน้ำ ดุจพยับแดด ฉะนั้น

    ถ. ในการไปเป็นต้นนั้น ใครไป หรือเป็นการไปของใคร?
    ต. ว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีใครไป เป็นการไปของธาตุทั้งหลาย เป็นการยืนของธาตุทั้งหลาย เป็นนั่งของธาตุทั้งหลาย เป็นการนอนของธาตุทั้งหลาย เท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อะไรๆ เลย

    ถ. ในการไปเป็นต้นนั้น ท่านเปรียบอุปมาไว้อย้่างไรบ้าง?
    ต. ท่านเปรียบไว้ว่า มีการเกิดดับดุจความสัมพันธ์กันของคลื่นทะเล และดุจกระแสน้ำ ฉะนั้น ดังหลักฐานว่า
    อญฺญํ อุปฺปชฺชติ จิตฺตํ อนฺญํ จิตฺตํ นิรุชฺฌติ
    อวีจิมนุสมฺพนฺโธ นทีโสโตว ปวตฺตติ.
    จิตอื่นเกิดขึ้น จิตอื่นดับไปพร้อมกับรูปทั้งหลาย ในส่วนนั้นๆ มีความสัมพันธ์กันดุจคลื่นทะล เป็นไปติดต่อกันดุจกระแสน้ำ ดังนี้
    ถ. อสัมโมหสัมปชัญญะ ข้อต่อไป คือคู่ที่ ๒ ได้แก่อะไร หมายความว่าอะไร?
    ต. ได้แก่ "อาโลกิเต วีโลกิเต" หมายความดังต่อไปนี้ คือ
    ๑. อาโลกิเต แปลว่า การเพ่ง คือแลดูข้างหน้า

    ๒. วีโลกีติ แปลว่า การเพ่งไปตามทิศน้อย คือแลดูข้างหน้า

    แลดูต้องมีสติ มีกรรมฐานกำกับไปด้วย เมื่อจิตคิดอยากจะแลดูเกิดขึ้น ให้มีสติกำหนดรู้ต้นจิตนั้นเสียก่อนแล้่วจึงแลดู ในขณะแลดูก็ต้องกำหนดกรรมฐานไปด้วย ข้อนี้พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ยกเอาพระนันทะมาเป็นตัวอย่างดังนี้ว่า
    "สเจ ภิกฺขเว นนฺทสฺส ปุรตฺถิมา ทิสา อาโลเกตพฺพา โหติ. สพฺพํ เจตโส สมนฺนาหริตฺวา นนฺโท ปุรตฺถิมํ ทิสํ อาโลเกติ เอวํ เม ปุรตฺถิมํ ทิสํ อาโลกยโต น อภิชฺฌาโทมนสฺสา ปาปกา อกุสลา ธมฺมา อนุวาสุสวิสฺสนุติ"

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่านันทะจะพึ่งแลดูทิศเบื้องหน้าไซร้ นันทะจะต้องสำรวมใจทั้งหมด แล้วจึงแลดูทิศเบื้องหน้า และแลดูด้วยความเป็นผู้มีสติว่า เมื่อเราแลดูทิศเบื้องหน้าอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือโลภะ โทสะ โมหะ จะไม่ตามมายำยีเราได้" ดังนี้
    หมายความว่า วิสัยของนักปฏิบัติธรรมนั้น จะเหลียวหน้าไปทางทิศใดๆ ก็ตาม ให้มีสติกำหนดรู้ไปด้วยเสมอ แม้จะไปไหว้พระเจดีย์ ไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือไปหาพระมหาเถระก็ตาม ให้มีกรรมฐานได้ด้วย คือให้มีสติกำหนดรู้อยู่เป็นนิตย์ อย่าให้จิตฟุ้งซ่านไปทางอื่น เพราะบาปอกุศลจะไหลเข้ามา

    การไม่ละกรรมฐาน ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ เป็นอารมณ์ ท่านผู้นั้นเวลาจะเหลียวซ้ายแลขวา ให้มีกรรมฐานเป็นใหญ่เสมอด คือให้มีกรรมฐานเป็นเรือนใจ อยู่เป็นนิตย์ เพื่อกันจิตไม่ให้ออกไปหาอารมณ์อื่น อันจะทำให้ขาดสมาธิ แม้ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐาน เช่นเพ่งกสิณเป็นต้น ก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือจะเหลียวแลไปข้างไหนๆ ก็ตาม ต้องให้มีกรรมฐานของตนเป็นประจำ

    เมื่อจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ตน" คือผู้ที่เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ในภายในไม่มี เมื่อจิตคิดว่า จักแลดูเกิดขึ้น วาโยธาตุ มีจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อยังการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นพร้อมกันกับจิตดวงนั้นเท่านั้น เพราะการกระทำของจิตและเพราะความแผ่ไปของวาโยธาตุเป็นต้นเหตุ จึงทำให้นัยตาเหลียวลงข้างล่าง เหลียวขึ้นข้างบนสำเร็จได้ ไม่มีผู้ใดผู้หนึี่งมาเปิดออกด้วยเครื่องยนต์กลไกเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้น จักขุวิญญาณ คือจิตทางตา ทำหน้าที่เห็นให้สำเร็จเกิดขึ้น การรู้อย่างนี้ ชื่อว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ

    เมื่อจะกล่าวตามวิถีจิตแล้ว ขณะที่ตาเห็นรูปนั้น ถ้าเป็นอติมหันตารมณ์ก็จะเป็นอย่างนี้คือ

    ๑ อตีตภวังค์ ภวังค์อดีต คือภวังค์ที่ล่วงเลยมาแล้ว
    ๒. ภวังคจลนะ ภวังค์ไหวในเมื่อมีอารมณ์มาปรากฎที่ภวังค์อดีตแล้ว
    ๓. ภวังคุปัจเฉทะ การตัดขาดของกระแสภวังคจิต
    ๔. ปัญจทวาราวัชชนะ รำพึงต่ออารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ เป็นกิริยาจิตดวงหนึ่ง ในอเหตุกกิริยาจิต เกิดขึ้นทำหน้าที่ทางทวาร ๕
    ๕. จักขุวิญญาณ จิตทางตาทำหน้าที่เห็น
    ๖. สัมปฏิจฉันนะ รับอารมณ์ทางตา
    ๗. สันตีรณะ พิจารณาอารมณ์
    ๘. โวฏฐัพพนะ ตัดสินอารมณ์
    ๙. ชวนะดวงที่ ๑ เสพอารมณ์
    ๑๐.ชวนะดวงที่ ๒ เสพอารมณ์
    ๑๑. ชวนะดวงที่ ๓ เสพอารมณ์
    ๑๒. ชวนะดวงที่ ๔ เสพอารมณ์
    ๑๓. ชวนะดวงที่ ๕ เสพอารมณ์
    ๑๔. ชวนะดวงที่ ๖ เสพอารมณ์
    ๑๕. ชวนะดวงที่ ๗ เสพอารมณ์
    ๑๖. ตฑาลัมพนะ รับอารมณ์ต่อเนื่องมาจากชวนะ
    ๑๗. ตฑลัมพนะ รับอารมณ์ต่อเนื่องมาจากชวนะ

    เมื่อพิจารณาตามนี้แล้ว การเหลียวซ้ายแลขวาหรือเหลียวไปตามทิศทั้ง ๔ ทิศทั้ง ๘ ก็มีแต่รูปกับนามเท่านั้น เกิดขึ้นเพียงครู่เดียวแล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดา อยู่อย่างนี้ตลอดไป การรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ กำหนดรู้มูลเดิมคือที่เกิดของรูปและนาม เมื่อเห็นรูปนามเกิดดับอย่างนี้ ความยินดีด้วยความสามารถแห่งการกำหนด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ก็ไม่สมควรแล้วแก่ชวนะ ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา อยู่ทุกๆ ขณะในขณะนั้นๆ เพราะชวนะทั้งหลายที่เกิดขึ้นในทวารหนึ่งๆ ก็ตายไปในที่นั้นๆ เอง อุปมาเหมือนกันกับในเรือนหลังหนึ่งมีคนตายไป ศพก็ยังอยู่บ้าน คนที่เหลืออยู่จะมีความยินดีในการฟ้อนรำขับร้องในขณะนั้นเป็นอันไม่มีเลย อย่างนี้ก็เป็นอสัมโมหสัมปขัญญะ กำหนดรู้ว่าเป็นของเป็นไปชั่วขณะเป็นของขอยืมมาชั่วครู่เท่านั้น ไม่จีรังยั่งยืนอะไรเลย

    ในขณะที่ตาเห็นรูปครั้งหนึ่งๆ นั้น ขันธ์ ๕ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น ก็เกิดขึ้นมา หาใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา อะไรเกิดขึ้นไป ตัวอย่างเช่น

    ก. ขันธ์

    ตากับรูปจัดเป็นรูปขันธ์ เห็นเป็นวิญญาณขันธ์ สุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้ เป็นสัญญาขันธ์ ปรุงแต่ให้ดีไม่ดีมีผัสสะเป็นต้น เป็นสังขารขันธ์ เมื่อขันธ์ ๕ เหล่านี้ประชุมกันเข้า การเหลียวซ้ายแลขวาจึงปรากฎขึ้น ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ใครเหลียวซ้ายแลขวาเล่า? ก็ต้องตอบว่า การเหลียวซ้ายแลขวาเกิดขึ้น เพราะความประชุมแห่งขันธ์ ๕ ถ้าจะตอบย่อๆ ก็ว่า เพราะรูปนาม

    ข. อายตนะ

    จักขุคือตา เป็นจักขายตนะ รูป เป็นรูปายตนะ เห็นเป็นธรรมายตนะ ธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น ที่เกิดขึ้นพร้อมกับใจนั้น เป็นธัมมายตนะ เมื่ออายตนะเหล่านี้ประชุมกันเข้า การเหลียวซ้ายแลขวาจึงเกิดขึ้น ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า "ใครเหลียวซ้ายแลขวาเล่า?" ก็ต้องตอบว่า เพราะอายตนะประชุมกัน การเหลียวซ้ายแลขวาจึงเกิดขึ้น ถ้าจะตอบให้สั้นๆ ก็ว่า การเหลียวซ้ายแลขวาเกิดขึ้นเพราะรูปกับนาม

    ค.ธาตุ

    จักขุ คือตา เป็นจักขุธาตุ รูปเป็นรูปธาตุ เห็นเป็นจักขุวิญญาณธาตุ ธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น ที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น เป็นธรรมธาตุ เมื่อธาตุเหล่านี้มาประชุมกันเข้า การเหลียวซ้ายแลขวาจึงเกิดขึ้น ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า "ใครเหลียวซ้ายแลขวาเล่า?" ก็ต้องต้อบว่า เพราะธาตุทั้งหลายมาประชุมกัน การเหลียวซ้ายแลขวาจึงเกิดขึ้น ถ้าจะต้องให้สั้นๆ ก็ว่า การเหลียวซ้ายแลขวาเกิดขึ้นเพราะรูปกับนาม

    ฆ. ปัจจัย

    ในขณะตาเห็นรูปนั้น ถ้าจะจัดเข้าในปัจจัยต่างๆ เป็นดังนี้ คือ
    จักขุ คือตาเป็นนิสสัยปัจจัย รูปเป็นอารัมณปัจจัย อาวัชชนะ เป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อาโลกะแสงสว่างเป็นอุปนิสสยปัจจัย เหล่านี้เป็นต้น เป็นสหชาตนปัจจัย เพราะความประชุมกันแห่งปัจจัยนี้ การเหลียวซ้ายแลขวาจึงปรากฎขึ้น ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า "ใครเหลียวซ้ายแลขวาเล่า?" ก็ต้องตอบว่า เพราะความประชุมกันแห่งปัจจัยทั้งหลาย การเหลียวซ้ายแลขวาจึงเกิดขึ้น ถ้าจะตอบย่อๆ ก็ตอบว่า การเหลียวซ้ายแลขวาเกิดขึ้นได้เพราะรูปกับนาม

    การพิจารณาโดยอุบายอย่างนี้ เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ กำหนดรู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจัย

    ถ. อสัมโมหสัมปชัญญะ ข้อต่อไปคือ คู่ที่ ๑ ได้แก่อะไร?
    ต. ได้แก่ สมฺมิญชิเต ปสาริเต หมายความดังนี้ คือ
    ๑. สมฺมิญฺชิเต เวลาคู้แขน คู้ขาหรือคู้มือคู้เท้าเข้ามาก็ให้มีสติกำหนดรู้

    ๒. ปสาริเต เวลาเหยียดแขน เหยียดขา หรือเหยียดมือ เหยียดเท้าออกไปก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ถ. ทั้ง ๒ ข้อนี้ มีอรรถธิบายเป็นประการใดบ้าง?
    ต. มีอรรถาธิบาย เป็นดังนี้คือ

    เวลาจะคู้มือ เหยียดมือ เวลาจะคู้เท้า เหยียดเท้า แต่ละครั้งนั้น อย่าคู้อย่าเหยียดไปตามอำนาจของจิตเท่านั้น ต้องกำหนดรู้ประโยชน์และมิใช่่ประโยชน์เพราะการคู้ การเหยียดซึ่งมือและเท้านั้นเป็นปัจจัยให้ดี ตัวอย่าง เช่น เวลาคู้หรือเหยียดมือ เท้าเร็วเกินไป เวทนาย่อมเกิดขึ้นทุกๆ ขณะ จิตไม่เป็นสมาธิ กรรมฐานตกไป ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ แต่เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นกำหนดได้ดี คือมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ทั้งในเวลาคู้ เวลาเหยียด เวทนาจะไม่รบกวน จิตเป็นสมาธิได้ง่าย กรรมฐานถึงความสำเร็จ ได้บรรลุคณวิเศษเร็วขึ้น อย่างนี้เรียกว่า กำหนดรู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ผู้ที่ไม่มีสติระมัดระวังในการคู้ เหยียดดังกล่าวมานี้ อาจจะได้รับโทษภัยต่างๆ เช่น ต้องอาบัติบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกอสรพิษกัดบ้าง สมาธิไม่ดีบ้าง ไม่ได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงบ้าง ดังตัวอย่างที่ท่านเล่าไว้ในอรรถกถาว่า

    พระภิกษุหนุ่มเป็นจำนวนมาก พากันเรียนพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมอยู่ พวกนางภิกษุณีมาฟังธรรมอยู่ข้างหลัง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งในจำนวนนั้น เหยียดมือไปถูกนางภิกษุณี ต้องกายสังคคะ จำเป็นต้องสึกเพราะเหตุนั้น ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะขาดสติไม่ระมัดระวังตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนไว้

    ยังมีภิกษุอีกรูปหนึ่ง เวลาเหยียดเท้าไปไม่มีสติกำหนดก่อน ขาดความระมัดระวังไป จึงเหยียดไปถูกไฟ ไฟไหม้เท้าจนถึงกระดูก ทำให้ท่านได้รับความลำบากมากทั้งนี้ก็เพราะขาดสตินั่นเอง

    ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เหยียดเท้าไปที่จอมปลวกโดยมิได้ระมัดระวัง ลืมกำหนด ถูกงูกัด ทำให้ท่านได้รับความลำบากมา ทั้งนี้ก็เพราะขาดสำรวม ขาดสติเช่นกันอีก

    ส่วนท่านผู้ใดมีสติ มีความไม่ประมาท มีกรรมฐานอยู่เป็นนิตย์ จิตเป็นสุข ทุกข์เหล่านั้นจะไม่รบกวน ดังต่ออย่างต่อไปนี้

    พระมหาเถระรูปหนึ่ง นั่งพักทำกรรมฐานอยู่ในตอนกลางวัน ขณะนั้นอันเตวาสิกมาหาท่าน ท่านกำลังพูดกับอันเตวาสิกอยู่ คู้มือเข้ามาเร็วเกินไป ท่านต้องเอากลับไปไว้ที่เดิม แล้วจึงค่อยๆ คู้เข้ามา อันเตวาสิก เรียนถามว่า "เพราะเหตุไรท่านอาจารย์จึงได้คู้เข้ามาเร็ว แล้วเอากลับไปไว้ที่เดิม คู้เข้ามาอีกช้าๆ ขอรับ" ท่านตอบว่า คุณตั้งแต่ผมเริ่มทำกรรมฐานมา ผมไม่เคยละกรรมฐานเลย จะคู้จะเหยียดก็ต้องกำหนดเสมอ แต่เมื่อกี้นี้ขณะที่ผมพูดกับคุณ เวลาคู้มือเข้ามาผมลืมกำหนด เพราะฉะนั้น ผมจึงเอาไปวางไว้ที่เดิมแล้วคู้เข้ามาใหม่อีก ภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกตอบอนุโมทนาสาธุการต่อท่านว่า

    "สาธุ ภนฺเต ภิกฺขุนา นาม เอวรูเปน ภวิตพฺพํ"


    ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ การที่ท่านอาจารย์ทำอย่างนั้นเป็นการดีแท้ ธรรมดาท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ควรปฏิบัติอย่างนี้

    อย่างนี้เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ กำหนดรู้การไม่ละกรรมฐาน

    ตามสภาวะ คือ ความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างการคู้เหยียดนั้นจะไม่มีตัวตน บุคคล เรา เขา ผู้คู้ ผู้เหยียดอะไรเลย จะมีอยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ มีการกระทำของจิตกับความกระพือไป ความแ่ผ่ไปในวาโยธาตุ เพราะเหตุ ๒ อย่างนี้ประชุมกัน การคู้ เหยียดจึงมีได้ ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกันกับการเคลื่อนไหวมือและเท้าของเครื่องยนต์ที่ทำด้วยไม้ จะมีได้ก็เพราะการดึงเส้นด้ายไปๆ มาๆ เท่านั้น

    การกำหนดรู้ดังที่ได้บรรยายมากทั้งหมดนี้ เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ

    วันนี้ ได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน "สมฺปชาโน" มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

    ;41​

    พระธรรมธีราราชมหามุนี (โชดก ญาณฺสิทธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๙๒-๑๐๐


    เกิด แก่ เจ็บ ตาย.jpg
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...