ไปเข้าเฝ้า...พระพุทธเจ้า ที่…อินเดีย ตอนที่ 1 - 3

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย navycom33, 29 มีนาคม 2014.

  1. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]

    ตอนที่ 1

    พระพุทธเมตตา...ที่พุทธคยา.

    หากครั้งหนึ่งในชีวิตของฮินดูชนคือการได้สรงสนานชำระล้างร่างกายในสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์อย่างคงคามหานทีแล้ว ครั้งหนึ่งในชีวิตของพุทธศาสนิกชน ก็น่าจะเป็นการได้เดิน ทางไป...เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ สังเวชนียสถานทั้ง 4 ในประเทศอินเดียและเนปาล ดังปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรเมื่อครั้งที่พระอานนท์ ทูลถามถึงกาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ว่าจะมีสิ่งใดเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ ได้ครั้งนั้น พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

    “ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ เป็นสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูเพื่อระลึกว่า พระตถาคตทรงประสูติ ณ ที่นี้ พระตถาคตได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้ พระตถาคตทรงประกาศพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ พระตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้…ชนเหล่าใดจาริก ไปยังเจดีย์ (ที่ซึ่งควรแก่การบูชา) ก็จะเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อชนเหล่านั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

    [​IMG]

    ทางเดินขึ้นสู่มูลคันธกุฎี..บนยอดเขาคิชฌกูฏ.

    [​IMG]

    คณะถ่ายรูปหน้า มหาเจดีย์โพธิคยา.

    แม้ยังมองไม่เห็นสวรรค์ในเบื้องหน้า แต่ ณ ขณะปัจจุบัน คณะผู้แสวงบุญโดย คุณกรองสินธุ์ กนิษฐสุต ผู้มากด้วยบารมีธรรม ก็ถือโอกาสนำคณะกัลยาณมิตรอีก 14 ท่าน รวมเป็น 15 ท่าน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เปี่ยมด้วยใจอันเป็นกุศลเดินทาง มุ่งหน้าสู่ประเทศอินเดีย เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ สังเวชนียสถาน 4

    เริ่มต้นกันในแดนตรัสรู้ที่พุทธคยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ที่ซึ่งทุกปีในเทศกาลแสวงบุญระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม จะมีพุทธศาสนิกชนจากทุกหนทุกแห่งทั่วโลกเดินทางมาที่นี่ โดยเฉพาะบรรดาลามะจากทิเบต ที่เดินทางลงจากภูเขา มาปักหลักสวดมนต์ ไหว้พระ จุดไฟบูชา มหาเจดีย์โพธิคยา และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    เราไปถึงพุทธคยาในช่วงตะวันใกล้ตกดิน คุณกรอง-สินธุ์ ผู้นำคณะ จัดเตรียมดอกบัวพร้อมกระทงใบตอง สำหรับนำไปเป็นเครื่องสักการะพระศรีมหาโพธิ์ ให้กับผู้ร่วมเดินทางทุกคน ด้วยกุศลจิต

    [​IMG]

    สวดมนต์บนยอดเขา.

    ปีนี้ เขตพุทธสถานโพธิคยา มีการตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว มีเหตุระเบิดติดต่อกันถึง 8 ครั้งในเขตพุทธคยา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ศาสนสถานแห่งนี้ตกเป็นเป้าโจมตี

    เราทุกคนต้องเข้าแถวรอรับการตรวจเช็กเพื่อความปลอดภัย โทรศัพท์ ไอแพด ไอโฟน ไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าไปในเขตพุทธสถาน ขณะที่กล้องถ่ายรูปต้องเสียค่าธรรมเนียม กล้องละ 100 รูปี หากต้องการจะนำเข้าไปถ่ายรูปด้วย

    ราว 20 นาที เราทุกคนก็ได้เข้าไปถึงใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่โพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่เป็นโพธิ์ต้นที่สี่ที่เป็นหน่อเนื้อของโพธิ์ต้นแรกที่ถูกทำลายโดย พระนางมหิสุนทรี หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พระนางติษยรักษิต พระมเหสีองค์ที่ 4 ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้น้ำร้อนอาบยาพิษจากเงี่ยงปลากระเบน รดทำลายต้นโพธิ์ ซึ่งคนอินเดียเรียกว่า ต้นอัศวัตถ์ หรือ อัสสัตถ์ เนื่องจากไม่พอใจที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมากจนหลง ลืมที่จะแสวงหา ความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย

    [​IMG]

    นั่งเเสลี่ยงไม้ไผ่

    [​IMG]

    มหาเจดีย์โพธิคยา..ตระหง่าน.

    คณะเวียนเทียนรอบมหา เจดีย์โพธิคยา แล้วเลือกที่นั่งด้านทิศเหนือของต้นพระศรี-มหาโพธิ์ เพื่อสำรวมกายใจ ส่งจิตระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเกิดเหตุระทึกใจขึ้นระหว่างสักการะต้นพระ ศรีมหาโพธิ์ เมื่อกระเป๋าถือของ คุณศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา 1 ในคณะผู้แสวงบุญถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตา ในชั่วเวลาแค่พริบตาเดียวเท่านั้น

    เราต้องเสียเวลาเล็กน้อยเพื่อไปแจ้งความ เนื่องจากในกระเป๋ามีหนังสือเดินทางอยู่ด้วย มิสเตอร์ราเจนเดอร์ (Mr.R.K. Mathur) ไกด์ของคณะ ได้ช่วยนำคุณศรีเทพไปแจ้งความ ก่อนที่จะวางแผนการเดินทางเพื่อไปทำหนังสือเดินทางชั่วคราว ที่จะเดินทางต่อไปที่สังเวชนียสถานแห่งอื่นๆรวมถึงลุมพินีในประเทศเนปาลด้วย ซึ่งขั้นตอนของการเดินทางไปทำหนังสือเดิน ทางที่กรุงนิวเดลีของคุณศรีเทพนั้น มี เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมากมายแต่คงต้องขออนุญาตที่จะไม่เล่าในที่นี้

    [​IMG]

    ยอดเขาหินที่มีลักษณะคล้ายหัวแร้ง.

    วันที่สองในอินเดีย คณะเดินทางสู่เมืองราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อให้เกิดอรรถรสในการเดินทาง เราจึงแนะนำให้ผู้ร่วมเดินทางนั่งเสลี่ยงไม้ไผ่ ที่มีคนอินเดีย 2 คนหามขึ้นสู่มูลคันธกุฎี ที่ซึ่งพระพุทธองค์ เคยเสด็จประทับ

    คิชฌกูฏ หนึ่งในเบญจคีรี ซึ่งประกอบด้วย เวภาระ, ปัณฑวะ, เวปุลละ, อิสิคิริ และ คิชฌกูฏ บ้างก็ว่าชื่อคิชฌกูฏ ซึ่งแปลว่า หัวแร้งนี้ อาจจะมาจากรูปร่างของยอดเขาที่มีลักษณะเหมือนหัวนกแร้ง แต่บางตำนานก็บอกว่าเพราะเป็นที่เกาะอาศัยของฝูงแร้งที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารและทิ้งลงเหวที่นี่

    [​IMG]

    เสลี่ยงเตรียมพร้อม.

    [​IMG]

    ชาวพุทธพม่าสวดมนต์ที่ถ้ำพระโมคคัลลานะ.

    ทางเดินขึ้นสู่คิชฌกูฏมีความลาดชันเป็นช่วงๆ บางช่วงเป็นชะง่อนผามองเห็นเหวลึกอยู่เบื้องล่าง ระหว่างทางมีถ้ำเล็กๆลักษณะเป็นโพรงลึกเข้าไปในช่องหิน ว่ากันว่าเป็นสถานที่สัปปายะของเหล่าอริยสาวก แม้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวไว้ชัดว่า พระอรหันต์หลายรูปเคยมาจำพรรษาที่นี่ ถ้ำเด่นๆที่เราควรเข้าไปกราบไหว้สักการะ ก็คือ ถ้ำพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย และถ้ำพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งมีบันทึกเขียนไว้ว่าเป็นถ้ำที่พักของพระอรหันต์ทั้งสองรูปเพื่อถวายงานพระพุทธองค์ ขณะประทับที่มูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏ

    คณะได้มีโอกาสสวดมนต์ และปฏิบัติภาวนาบนยอดเขาคิชฌกูฏ ลมเย็นพัดผ่านต้องผิวกาย ราวกับสัมผัสแห่งพระพุทธองค์ ที่ทรงรับจิตอันเป็นกุศลของพวกเราที่เดินทางดั้นด้นมาด้วยศรัทธา วิริยะ อุตสาหะ เพื่อเข้าเฝ้าพระองค์ ณ แดนพุทธภูมิแห่งนี้.

    บทความจากไทยรัฐออนไลน์
    ไปเข้าเฝ้า...พระพุทธเจ้า ที่...อินเดีย(๑) - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     
  2. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]


    ตอนที่ 2
    ฐานกำแพงและซากตึกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของมหาวิทยาลัยนาลันทา.แดดยามใกล้เที่ยงบริเวณเขาคิชฌกูฏเริ่มแผดรัศมีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คณะธรรมะหรรษา ของ คุณกรองสิญจน์ กนิษฐสุต นั่งเสลี่ยงทยอยกันลงมาจากยอดเขาด้วยใบหน้าอันอิ่มเอิบด้วยบุญ และเพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง เราจึงแวะรับประทานอาหารกลางวันกันที่โรงแรมฮ้อกเก้ (Hokke )เพื่อเอาแรงไว้สำหรับเดินหน้าไปแสวงบุญกันต่อโปรแกรมในช่วงบ่าย เราแวะชม วัดเวฬุวนารามมหาสังฆยิกาวาส หรือ วัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาตามพุทธประวัติ บอกว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ พระองค์ได้เสด็จไปยังเวฬุวัน เพื่อทรงแสดงธรรมในที่ประชุมสงฆ์ ตรงกับวันมาฆปุรณมี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ธรรมที่ทรงแสดงมีชื่อว่า โอวาทปาฏิโมกข์

    [​IMG]

    หลวงพ่อองค์ดำ...นาลันทา.ปัจจุบัน เวฬุวันหรือเวฬุวนาราม ซึ่งเดิมเป็นป่า ไผ่ ได้รับการปรับปรุงให้มีความสวยงาม แต่ยังคงความเข้มขลังเหมือนครั้งพุทธกาล ทั้งสระน้ำกลันทกนิวาปะ และลานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งในช่วงที่ พวกเราไปถึงนั้น ก็ได้พบกับคณะผู้แสวงบุญกว่า 150 คน จากวัดป่าดอนหายโศก จ.อุดรธานี กำลังนั่งสาธยายธรรมและสวดมนต์ ณ ลานแห่งพุทธกาลนั้นนอกจากนี้ ภายในวัดเวฬุวันยังมีที่ตั้งสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย และพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์แรกในพระพุทธศาสนาด้วยจากเวฬุวันมหาวิหาร เรามุ่งหน้าสู่ “นาลันทา” มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก และถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาในสมัยพุทธกาล แม้แต่ศาสดาของศาสนาเชน อย่าง ท่านมหาวีระ ซึ่งเชื่อมั่นในเรื่องของการเปลือยกายเพื่อบรรลุธรรม ก็เคยมาเผยแผ่คำสอนที่นี่ด้วยคำว่านาลันทา มีผู้สันนิษฐานว่า อาจจะมาจากคำว่า นาลัน ที่แปลว่า ดอกบัว ซึ่งในอดีตมีอยู่มากในเมืองนี้ ส่วนคำว่า ทา แปลว่า ให้ นาลันทา จึงหมายถึง ผู้ให้ดอกบัว

    [​IMG]

    ฐานพระที่ขุดพบภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา...

    มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนาลันทา ไม่ว่าจะในแง่ของความยิ่งใหญ่ในอดีต ในฐานะศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ว่ากันว่า ในยุคพุทธกาลนั้น มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็น 1 ใน 4 ของศูนย์กลางด้านการศึกษา ที่ประกอบด้วย อุชเชนี ตักสิลา มถุราและ นาลันทาบันทึกของพระถังซัมจั๋ง หนึ่งในศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนาลันทา เขียนถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ว่า การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยนาลันทานั้นเป็นไปอย่างลึกซึ้ง ใช้เวลาตลอดวันยังไม่พอ ต่างอภิปรายถกเถียงกันด้วยหลักวิชา ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน......

    [​IMG]

    รถม้ามุ่งหน้าสู่วิหารหลวงพ่อองค์ดำ.นอกจากนี้ ยังมีบันทึกในที่อื่นๆเขียนไว้อีกว่า การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนาลันทา มีการสอนวิชาทุกอย่างที่อินเดียมีในสมัยนั้น ทั้งพุทธ พราหมณ์ หินยาน มหายาน พระเวท มีภาควิชาให้เลือกเรียน ทั้งพุทธปรัชญา วรรณคดี ตรรกวิทยา แพทยศาสตร์ คัมภีร์พราหมณ์ มีนักศึกษาถึงประมาณ 10,000 คน ครูและเจ้าหน้าที่ราว 1,000 คน สอนกันอย่างเข้มข้น อาจารย์ 1 คน ต่อนักศึกษา 4 คน ถือเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของศิลปวิทยาการแต่ภาพของนาลันทาในวันนี้ที่เราเห็น คือฐาน รากของตึกที่เป็นอิฐแดงนับหมื่นนับแสนก้อนเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ ซากอาคารเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารเรียน ห้องสมุด หอพักนักศึกษา ห้องประชุม อาคารโรงครัว ไปจนถึงมหาวิหาร ฯลฯ เช่นเดียวกับซากของแนวกำแพงยาวนับพันๆเมตรโอบล้อมพื้นที่ ที่เป็นอนุสรณ์ของโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่มีต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนายุคล่มสลายของนาลันทา เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.1742 เมื่อพวกมุสลิมเข้ามารุกรานแผ่นดินอินเดีย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนาลันทานั้น ราวปี พ.ศ.1766 แม่ทัพมุสลิมชื่อ ภัขติยาร์ ขิลจี ให้ลูกชายชื่อ อิคเทีย ขิลจี คุมทหารม้า 200 นาย เดินทัพมาถึงนาลันทา ซึ่งมีพระภิกษุ สามเณร พักอยู่เต็ม เมื่อกองทัพมุสลิมมาถึง ก็ประกาศไล่บรรดาพระ เณร ให้ออกนอกสถานที่ ใครไม่ยอมออกก็จะถูกฆ่าตายอย่างทารุณ

    [​IMG]

    สถูปที่เชื่อว่าเป็นที่ฌาปนกิจสรีระของพระสารีบุตร.บางบันทึกเขียนไว้ว่า พวกมุสลิมใช้ขวานฟันพระจนร่างกายขาดสะพายแล่ง บางรูปก็ถูกฟันคอมีพระ เณร จำนวนมากไม่ยอมออกนอกสถานที่ จึงถูกพวก มุสลิมเอาไฟสุมที่ตรงประตูทางเข้า แล้วเผากุฏิทั้งหลังกล่าวกันว่า ไฟที่ลุกโชนเผามหาวิทยาลัยนาลันทานั้นคุกรุ่นอยู่นานถึง 6 เดือน มีพระสงฆ์ถูกไฟคลอกมรณภาพไปหลายร้อยรูป เทวรูป พระพุทธรูป และตำราหลายพันเล่มถูกเผา หลังจากนั้น นาลันทาก็ถูกฝังอยู่ใต้ดินนานถึง 624 ปี กว่าที่จะมีการขุดค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียเรายืนมองความยิ่งใหญ่ในอดีตของมหาวิทยาลัย นาลันทา พลางคิดว่า

    [​IMG]

    พระพุทธรูปจำลององค์พระพุทธเจ้าวัดเวฬุวันมหาวิหาร.นี่ละ! คือกฎของธรรมชาติ ทุกอย่างมีความเสื่อม ในความเสื่อมย่อมมีความเจริญ ขณะที่ในความเจริญก็มีความเสื่อมอยู่ด้วยจากอาคารต่างๆของมหาวิทยาลัยนาลันทา คณะของเราเดินไปหยุดอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของสถูปใหญ่ที่ว่ากันว่า ที่แห่งนี้เป็นที่ฌาปนกิจสรีระของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองนาลันทาแห่งนี้คณะถ่ายรูปทั้งแบบศิลป์และ
    ไม่ศิลป์จนเป็นที่พอใจแล้ว จึงออกเดินทางต่อไปยังวิหารหลวงพ่อองค์ดำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนาลันทา เราต้องลงจากรถบัสแล้วนั่งรถม้าต่อเข้าไปถึงตัววิหาร หลวงพ่อองค์ดำเป็นพระเกตุทรงบัวตูม ปางนั่งขัดสมาธิ เป็นพระพุทธรูปที่ถูกฝังไว้ในดินนานกว่า 700 ปี หลังการล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา

    [​IMG]

    คณะ "ธรรมะหรรษา"ถ่ายรูปที่กำแพงมหาวิทยาลัยนาลันทา.หลวงพ่อองค์ดำ ได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ในทาง “เยียวยา” โดยความเชื่อที่ว่า เมื่อนำน้ำมันไปลูบที่องค์พระแล้ว นำน้ำมันนั้นอธิษฐานจิตมาใช้กับคนป่วยก็หายเป็นปลิดทิ้ง รัฐบาลอินเดียเคยมีความพยายามที่จะอัญเชิญหลวงพ่อองค์ดำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ยอมเพราะท่านได้กลายเป็นหมอศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพเจ้าของที่นี่ไปเสียแล้วสัปดาห์หน้าไปต่อกันที่ “พาราณสี” ที่ตั้งของ ธัมเมกขะสถูป และการเกิดขึ้นของสังฆะเป็นครั้งแรกในโลก.

    บทความจากไทยรัฐออนไลน์
    ไปเข้าเฝ้า...พระพุทธเจ้า ที่...อินเดีย (๒) - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 29 มีนาคม 2014
  3. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]

    ตอนที่ 3

    คงคายามอาทิตย์อุทัยจากนาลันทา เรากลับเข้ามาพักค้างคืนที่พุทธคยา เพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไปยังพาราณสีและสารนาถในวันรุ่งขึ้นเที่ยวบินที่ TG 328 ใช้เวลาเพียง 50 นาที ก็นำคณะร่อนลงสู่สนามบินเมืองพาราณสี เพื่อเดินทางต่อไปยังสารนาถ เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานอีกแห่งหนึ่ง ที่ในสมัยพุทธกาล เรียกว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตรสถูปใหญ่เบื้องหน้าตระหง่าน รอการเดินทางมาสักการะของผู้คนจากทั่วสารทิศ คณะธรรมะหรรษา ปูผ้าด้านทิศเหนือ เพื่อสวดมนต์สรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ที่ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่กำเนิดแห่ง “สังฆะ” องค์แรกของโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกที่นี่ ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทำให้มีพระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ และหลังจากนั้นก็มีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ที่แห่งนี้ สำเร็จเป็นพระอริยสงฆ์อีกถึง 60 องค์

    [​IMG]

    อาทิตย์อัสดง....ที่สารนาถตามข้อมูล บอกว่า สารนาถ น่าจะมาจากคำว่า สารังคนาถ ที่แปลว่า เป็นที่พึ่งของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะกวาง ซึ่งมีอยู่ มากในบริเวณนี้ แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมที่นี่ สารนาถ จึงหมายถึง การเป็นสถานที่อันเป็นที่พึงอันประเสริฐของมนุษย์

    [​IMG]

    ธัมเมกขสถูป..สถานที่แสดงปฐมเทศนาหลังสวดมนต์เสร็จเรียบร้อย คณะจึงเวียนเทียนรอบธัมเมกขสถูป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ตามประวัติระบุว่า สถูปแห่งนี้สร้างขึ้นภายหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วถึง 295 ปี โดยพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนี้ และเห็นว่า เป็นสถานที่ซึ่งเคยเป็นสังฆารามอันใหญ่โต จึงโปรดให้สร้างสถูปเจดีย์ ทรงบาตรคว่ำ ก่อด้วยหินทรายสูง 80 ฟุต ขึ้น เพื่อรำลึกถึงความเป็นสถานที่สำคัญ โดยโปรดให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและศิลาจารึกไว้เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญในยุคนั้นๆด้วย

    [​IMG]

    เสาหินพระเจ้าอโศก...ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนอกจากองค์ธัมเมกขสถูปแล้ว ในบริเวณเดียว กันยังมีมูลคันธกุฎีอีกแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาในช่วงพรรษาแรกและพรรษาที่ 12 รวมทั้งเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงบันทึกเรื่องราวการค้นพบถึงความสำคัญของป่าอิสิปตน-มฤคทายวันแห่งนี้ด้วย

    [​IMG]

    มูลคันธกุฎี...ว่ากันว่า หลังจากที่บริเวณนี้ถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นซากปรักหักพัง เป็นกองอิฐทับถมกันนานกว่า 700 ปี ในช่วงที่มุสลิมเติร์กเข้ามาทำลายล้าง ได้มีการขุดพบโบราณวัตถุมากมาย ทั้งพระพุทธรูป เทวรูป เครื่องใช้สอยในยุคนั้น รวมถึงพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาขัดสมาธิ ทรงกระทำวงที่นิ้วที่เรียกว่าธรรมจักร และมีรูปปัญจวัคคีย์นั่งพนมมือ ถือเป็น แบบฉบับทางศิลปะที่งดงามที่สุดของอินเดีย ทำให้เชื่อว่า บริเวณดังกล่าวเคยรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต น่าเสียดายที่คณะของเราไม่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาของเหล่านี้ไว้ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ปิดในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน ขณะที่บริเวณสถูปเปิดให้สักการะและเข้าชมได้ถึง 6 โมงเย็น
    เราพักค้างคืนที่พาราณสี เมืองที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของความเป็นอินเดียโดยแท้ เมืองที่มีอายุยาวนานถึง 4,000 ปี โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฮินดูไว้อย่างเหนียวแน่น จนมีคำกล่าวว่า อยากเห็นอินเดียของแท้ต้องไปที่พาราณสี

    [​IMG]

    แม่น้ำคงคาในมุมกว้างหลายคนที่ไปเยือนพาราณสี มักคิดว่า ไฮไลต์ของการเดินทางมาที่เมืองนี้ ก็เพื่อล่องเรือชมแม่น้ำคงคา ดูการเผาศพที่ท่า มณิกรรณิกาฆาต ที่ว่ากันว่า เป็นท่าที่ใช้สำหรับเผาศพของชาวฮินดู ที่ซึ่งกองฟอนและไฟไม่เคยดับมอดมาตลอด 4,000 ปีแต่จริงๆแล้ว พาราณสี มีไฮไลต์ที่น่าสนใจอยู่ มาก โดยเฉพาะความเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรมอย่างสูงสุดแห่งหนึ่งของอินเดียกลิ่นหอมและควันกรุ่นของ การัมจัย ชารสเข้มแต่กลมกล่อมของแดนภารตะ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ทุกคนในคณะแสวงบุญ ธรรมะหรรษาครั้งนี้ ชื่นชอบเมื่อเทียบกับประดาอาหารแขกทั้งหลาย<br /><br />กลิ่นชากรุ่นโชยแตะจมูก ผสานกลิ่นขี้วัว พาหนะแห่งพระศิวะที่ไม่มีผู้ใดจะไปขัดขวางการเดิน กิน อยู่ หลับนอนได้ แม้ในถนนที่มีรถราวิ่งกันขวักไขว่ แถมยังต้องกราบไหว้บูชาเสียอีกต่างหาก สร้างสีสันและบรรยากาศได้ดีทีเดียว ระหว่างการเดินลงสู่ท่าเรือเพื่อล่องเรือชมแม่น้ำคงคาในช่วงรุ่งอรุณของวันใหม่

    [​IMG]

    ศรัทธาและความเชื่ออาบ ดื่ม ล้างหน้าในสายน้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์เสน่ห์แห่งคงคาและพาราณสี ที่ไม่เคย เปลี่ยน แม้คนที่เคยเดินทางมาก่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังคงรู้สึกตื่นเต้นกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยศรัทธาของชาวพาราณสี ที่พร้อมใจกันออกมาล้างหน้า อาบ ดื่ม กิน น้ำในสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ริมฝั่งแม่น้ำคงคาส่วนใหญ่เป็นวังเก่าของเจ้าผู้ครองนครและแคว้นต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันดัดแปลงเป็นโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร เกสต์เฮาส์สำหรับนักท่องเที่ยว

    [​IMG]

    ดอกไม้-และฟืน สินค้าประกอบพิธีศพขายกันที่แม่น้ำคงคาเรือแล่นไปเรื่อยๆ นักศึกษาของสถาบันโยคะศาสตร์ แห่งพาราณสี เริ่มต้นกระทำสุริยนมัสการริมฝั่งแม่น้ำคงคา เสียงจ้อกแจ้กจอแจรวมไปถึงเสียงสวดมนต์ภาวนาของทั้งชาวพุทธและฮินดูดังขึ้นพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้าเราปล่อยใจให้ว่าง ปล่อยความทุกข์ให้ล่องลอยไปกับสายน้ำ ขณะที่ผู้ร่วมคณะส่วนใหญ่สาละวนอยู่กับการถ่ายรูปในมุมสวยๆ และตื่นเต้นเมื่อเรือแล่นผ่าน ท่ามณิกรรณิกาฆาต ที่กองไฟยังคงคุกรุ่น

    [​IMG]

    ท่ามณิกรรณิกาฆาต...ท่าน้ำริมคงคาที่ไฟไม่เคยดับมอดตลอด 24 ชั่วโมงศพแล้วศพเล่ากว่า 200 ศพที่ถูกเผาที่นี่ในแต่ละวัน การจากไปของชีวิตๆหนึ่ง สอนให้เรารู้ว่าไม่ควรประมาทต่อชีวิต และควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทแม้ไม่มีสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งนี้ แต่ภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าทั้งความทุกข์ ความสุข ความจน ความรวย ความศรัทธา และการสักการะทั้งหลายของมวลมนุษย์ที่มองเห็น คือ บทเรียนแห่งชีวิตและธรรมะที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไมสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และประกาศธรรมนั้น ยังคงเป็นความจริงอันประเสริฐที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 2600 ปี.

    [​IMG]

    นอนได้แม้คนเดินขวักไขว่...ริมแม่น้ำคงคา

    บทความจากไทยรัฐออนไลน์
    ไปเข้าเฝ้า...พระพุทธเจ้า ที่...อินเดีย (3) - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     

แชร์หน้านี้

Loading...