ให้รู้แจ้งแทงตลอด ท่าน ก. เขาสวนหลวง

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 23 มีนาคม 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ให้รู้แจ้งแทงตลอด

    ก. เขาสวนหลวง


    วันนี้เปิดโอกาสให้มีการปรารภข้อปฏิบัติ ตามที่ได้พิจารณาตัวเองอยู่เป็นประจำ จะเห็นว่า การฝึกให้มีสติปัญญา พร้อมทั้งมีการพิจารณาประกอบอยู่ด้วย ถ้ายิ่งกระทำได้ทุกอิริยาบถแล้ว จิตนี้จะไม่เร่ร่อนไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย ที่มันคุ้นเคยมา มันจะหยุดได้ สงบได้ภายใน ตัวของมันเองทั้งนั้น แต่ถ้าไม่มีการกระทำไว้ในใจ และไม่ได้พิจารณาอยู่เป็นประจำแล้ว ความจำผิด คิดผิด เห็นผิด ในเรื่อง เที่ยง สุข ตัวตนนี้ มันจะก่อเกิดขึ้นมา แล้วก็เป็นการจำผิดคิดผิดเรื่อยไป ตกอยู่ในฝ่ายที่ปรุงไปในแง่กามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง หรือวิหิงสาวิตกบ้าง


    เรื่องจิตนี้ จะต้องมีแนวของการพิจารณาอยู่เป็นประจำ มันจะได้ไม่ตกไปกับพวกอกุศลวิตก แล้วก็ควรพยายามที่จะเพ่งพิจารณาให้เห็นแจ้ง การพิจารณาที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ทำให้จิตมีการปรุง การคิดอะไรขึ้นมา ซึ่งเป็นไปในทางฟุ้งซ่านทั้งนั้น แล้วก็จะตกไปในฝ่ายอกุศลวิตก ฉะนั้นการ ควบคุมจิตโดยมีการพิจารณาอยู่เป็นประจำ มันช่วยกำจัดความรู้สึกนึกคิดที่เป็นความจำผิดคิดผิด ออกไปได้ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นความจำถูกคิดถูกและเห็นถูก ถ้าจิตมีลักษณะอยู่อย่างนี้ก็เป็นอันว่า พวกอกุศลวิตกก็เข้ามาปรุงไม่ได้ การพิจารณาอยู่เป็นประจำอย่างนี้ ทำให้จิตมีความรู้ความฉลาด ขึ้นเรื่อยๆ


    และอีกประการหนึ่งก็คือ การกระทบผัสสะมันก่อกวนให้เกิดความพอใจไม่พอใจได้อย่างง่าย ดายที่สุด ถ้าไม่มีการกระทำในใจให้แยบคายเอาไว้ก่อนแล้ว มันจะมีการยื้อแย่ง คือจิตนี้จะตกไป ในฝ่ายโทมนัส และโสมนัสสลับกันอยู่ ส่วนที่จะวางเฉยเป็นกลางหรือเป็นปกติได้นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะว่าหลักของสติยังไม่มั่นคงนั่นเอง เราจะต้องสังเกตดูว่า การที่เราไม่ค่อยเอาใจใส่ในการควบ คุมจิต ด้วยการฝึกให้มีสติสัมปชัญญะทุกอิริยาบถ มันก็ทำให้มีการเผลอเพลินออกไปทางอายตนะ ในขณะที่กระทบผัสสะ แล้วก็ทำให้เกิดความจำผิดคิดผิด เห็นผิดอะไรขึ้นมาปรุงจิตให้สับสนวุ่นวาย จึงทำให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงบระงับได้ ส่วนมากก็แส่เข้าไปหาเรื่องจำเรื่องคิดโดยไม่มี สาระประโยชน์ทั้งนั้น


    การควบคุมสติให้ดำรงอยู่เป็นพื้นเอาไว้ แล้วพิจารณาให้เห็นแจ้งนี่เป็นของสำคัญที่สุด
    เพราะถ้ายังไม่เห็นแจ้งประจักษ์ชัดตามความเป็นจริงแล้ว มันจะหลั่งไหลไปสู่อารมณ์ทั้งนั้นเลย เพราะว่าความจำนี้เป็นของสำคัญ มันชอบจำเรื่องราวดีชั่วตัวตนอะไรก็สารพัดที่จะจำมา แล้วก็คิด ไปตามเรื่องตามราว เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนการจำให้มันจำเฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์ แล้วนำเอา มาขบคิดเอามาพินิจพิจารณา นั่นแหละจิตนี้จึงจะไม่ไปจำผิดคิดผิดได้


    ถ้าปล่อยให้จิตนี้ว่างๆ เพลินๆ อยู่ มันจะตกไปในความปรุงความคิดที่นอกเรื่องนอกราวได้ง่าย ที่สุด ฉะนั้นการควบคุมจิตที่จะให้มีการเห็นแจ้งตลอดเข้ามาหาตัวเอง จึงไม่ใช่ของง่ายนัก เพราะว่า มันเป็นการทวนกระแส แต่ถึงอย่างไรก็ดี จะต้องพยายามพิจารณา ในขณะที่จิตนี้หลงใหลเพลิด เพลินไปยึดถืออารมณ์อะไรขึ้นมา เกิดทุกข์เกิดโทษเพราะความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาในลักษณะ อย่างไร จะต้องพิจารณาให้เห็นโทษของมันอยู่เนืองนิจทีเดียวว่า นี่เป็นความฉิบหายอย่าง ใหญ่หลวงแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตขณะไหน ก็ทำให้จิตนี้ร้อนรนหม่นหมองไปด้วยโมหะ อกุศลทั้งนั้น


    เพราะฉะนั้นจิตที่ตกไปในฝ่ายอกุศลวิตก หรือตกไปในฝ่ายโมหะประเภทที่เป็นนิวรณ์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีทุกข์ภัยใหญ่หลวงอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น แต่ว่ามันไม่รู้ก็เลยเพลินๆ ไป แล้วก็แส่ส่ายไป ตามที่คุ้นเคยมา โดยไม่มีความรู้สึกตัวเองได้ว่า จิตที่มีลักษณะอย่างนี้มันตกอยู่ในวัฏฏสงสาร คือมันปรุงแต่งไปกับกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งนั้น แล้วก็ไม่รู้สึกตัวเองได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีการเพ่ง พิจารณาให้รู้ มันจะตกหล่นจมไฟจมทุกข์อยู่นี่เอง แล้วก็ซ้ำซากอยู่อย่างนี้เรื่อยไป


    ความเพลินหรือความยึดมั่นถือมั่น ที่มีประจำอยู่ทุกครั้งทุกคราว ไม่ว่าจะเป็นการทำ การพูด การคิดทั้งหลายแหล่ ล้วนแต่ออกไปนอกลู่นอกทางโดยไม่รู้สึกตัว ส่วนมากจะต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการพูดเพ้อเจ้ออะไรต่างๆ ก็เป็นการแสดงออกของคนที่ปล่อยสติ บางทีก็พูดจนฟังไม่ได้ศัพท์ เพราะมันถนัดมาแต่เรื่องสัพเพเหระ เราจะสังเกตตัวเองได้ว่า ในขณะไหนที่พูดเพ้อเจ้อออกมา โดยไม่มีสติเป็นเครื่องรู้ตัวแล้ว ก็เป็นคนบ้าคนหลงนั่นเอง แล้วก็หลงพูดหลงคิดอะไรต่ออะไร เรื่อยเปื่อยไปทุกที นี่ถ้าเป็นความคุ้นเคยเข้ามากๆ มันก็ตกนรกทั้งเป็น เพราะชอบเต้นชอบรำ ชอบเอาอะไรต่ออะไรของมันเรื่อยไปอย่างนั้นแหละ มันว่าเพลินดี ฉะนั้นการที่จะอยู่นิ่งๆ ไม่เอาอะไร ไม่ต้องพูดอะไรมาก ให้หุบปากมากๆ มันหุบไม่ค่อยจะได้ คอยแต่จะหาเรื่องพูด เรื่องคิด เรื่องทำ อะไรต่ออะไรเรื่อยเปื่อยไป มันเป็นการยื้อแย่งของพวกกิเลสตัณหาทั้งนั้น เพราะตัณหานี้สำคัญนัก มันช่างจาระไนดีนัก มันชอบทำ ชอบคิด ชอบหาเรื่องวุ่น ชอบหาเรื่องวิ่ง เมื่อมันวิ่งไปวิ่งมา ผลที่สุดก็จนเข้ากับทุกข์นั่นเอง แล้วก็ตกน้ำแล้วตกน้ำอีก สำลักน้ำแล้วสำลักอีก แต่ว่าก็ไม่รู้จัก เข็ดหลาบ ที่ไม่เข็ดหลาบนั้นก็เพราะเหตุว่า มันโง่มันหลงโดยไม่รู้สึกตัวเสียเลย แล้วก็ปล่อยให้ ชีวิตนี้ตกไปตามกระแสของความปรุงความคิดผิดเห็นผิด มันก็ซ้ำซากอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิต หรือมีลมหายใจอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะถามตัวเองว่า "ทุกวันนี้ ที่ยังมีลมหายใจอยู่นี้ อยู่เพื่อเอาอะไร?" ถามตัวเองบ่อยๆ แล้วมันจะได้รับคำตอบออกมาด้วยน้ำใสใจจริง ในขณะที่มีสติ มันก็ตอบ ตามเรื่องของการมีสติ แต่ขณะที่มันขาดสติ เป็นคนบ้า มันก็ตอบออกมาตามประสาของคนบ้า


    แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทั้งคนบ้าและคนที่รู้สึกตัวแล้ว ก็ควรจะรู้สึกตัวให้ถูกต้องด้วยว่า ตัวตน อะไรที่ขวางหน้าอยู่นี่ จะต้องเพ่งพิจารณาให้ทะลุออกไปได้อย่างไรบ้าง เพราะตัวตนนี้เป็นเรื่อง สำคัญ เป็นเรื่องที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่นดีชั่วสารพัด หรือสุขทุกข์อะไรก็แล้วแต่ ที่จะเข้ามาทับถมตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวมันเองก็ไม่มี แต่ก็รับสมอ้างว่ามันมีตัวกูของกูอยู่อย่างนี้ นี่ถ้าว่าไม่รู้ไม่ชี้อะไร ไปหลง เลี้ยงตัวกูงูพิษเอาไว้ มันก็ยังตกหล่มจมไฟจมเหวอยู่นี่เอง เพราะไม่ได้พิจารณาให้เห็นแจ้งแทง ตลอดว่า ตัวนี้มันไม่มี มีแต่ตัวโง่ๆ หลงๆ และตัวโง่ตัวหลงนี้ก็ไม่มีอีก หรือว่าตัวเฉลียวฉลาด ที่เป็นตัวรู้ถูกรู้ดีก็ไม่มี ตกลงว่าตัวดีก็ไม่มี ตัวชั่วก็ไม่มี ตัวถูกก็ไม่มี ตัวผิดก็ไม่มี แต่ว่า หลงยึดถือให้ทุกข์ไปเปล่าๆ เพราะเหตุว่ายังมองไม่ทะลุนั่นเอง ก็เลยไปติดไปตันอยู่ที่ตัวนี้ ที่ตัวกูหรือตัวเรานี่ที่มันมาเป็นยักษ์ขวางหน้าอยู่นี่ แล้วจะมองให้ทะลุออกไปได้อย่างไร? ถ้าว่า ยังแยกธาตุไม่ออก ตัวนี้มันก็ยังเป็นยักษ์ขวางหน้าอยู่เรื่อยไป


    ถ้าเป็นการแยกธาตุออกได้ ทั้งรูปธาตุ นามธาตุแล้ว ตัวยักษ์นี่จะหายไปในขณะที่เห็นความ เป็นธาตุ แต่ถ้าไม่เห็นแล้ว ก็มีตัวเราหรือตัวกูให้เป็นยักษ์ขวางหน้าขึ้นมาอีก มันก็มีสลับซับซ้อน หลอกลวงอยู่ในตัวของตัวเอง ไม่รู้จักจบสิ้น แล้วก็หลงอยู่นั่นเอง เพราะมันหลงชนิดที่ไม่รู้จริงๆ ถึงแม้จะรู้อะไรบ้างก็รู้นิดๆ หน่อยๆ เพียงรู้แค่พูดได้ จำได้ ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ถ้ารู้แจ้ง แทงตลอดตัวนี้ได้แล้ว มันจะยกเลิกหมด ไม่มีเป็นตัวเรา ไม่มีเป็นของเรา ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้งหมด มันจะทำชนิดที่ไม่มีตัวทำ แล้วก็ไม่ต้องการจะเป็นเจ้าของ จะทำทิ้ง ทำปล่อย ทำวาง ทำว่างไปทั้งหมด เป็นการกระทำที่เป็นธรรมะไปทั้งหมด เพราะว่าตัวตนที่เป็นเจ้าของมันหายไป ดับไป สลายตัวไปหมด ก็เลยทำประโยชน์ด้วยความว่าง ไม่มีการยึดถือดีชั่วถูกผิดอะไรขึ้นมา จิตก็ไม่มีความทุกข์ แต่ว่ายังดับทุกข์ไม่เด็ดขาด เพราะว่าอาสวะมันยังอยู่ ก็จะต้องมองให้ทั่วถึง อยู่เรื่อยไป แต่ถ้ายังมองอยู่ในวงภายนอกนี่แล้ว แม้ว่าจะพูดรับสมอ้างว่ารู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ ที่แท้ยังไม่รู้อะไรจริงใจเลย ถ้ารู้จริงแล้วจะไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา จะมี ความว่างความสงบได้เป็นอย่างมากทีเดียว


    เพราะฉะนั้นเรื่องปากกับใจที่มันไม่ตรงกันนี้ ก็เป็นความลวงโลกอยู่ในตัวเองแล้ว ใครจะมา จัดการให้ได้ ถ้าไม่ได้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเอามาสอนแล้ว ก็ไม่รู้เรื่องอะไร จะไปสอบกับใคร ก็สอบไม่ได้ เพราะต่างคนต่างยึดมั่นถือมั่นอยู่ในตัวของตัวเองทั้งนั้น ถ้ามาสอบกับตัวเองเข้า มันก็ออกรับว่า มันเป็นคนรู้ เป็นคนฉลาดเสียแล้ว ฉะนั้นจะไปสอบกับใครก็ไม่ได้ ทีนี้ก็เลยสอบ เข้ากับ "ธรรมะ" ตกลงจะเอาตนเป็นใหญ่ก็ไม่ได้ จะเอาโลกเป็นใหญ่ หรือเอาคนอื่นเป็นใหญ่ ก็ไม่ได้ จะต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ จะต้องสอบเข้าที่ธรรมะ ถ้ายังมีความยึดมั่นถือมั่นใน ผิดถูก ดีชั่วตัวตนอยู่ ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์


    ถ้าหากเราตรวจเรื่องมิจฉาทิฏฐิให้ละเอียดได้มากเท่าไร นั่นแหละจะเป็นเครื่อง
    ทำลายในตัวของมัน ที่ยังมีความรู้ผิดเห็นผิด ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ และเข้าใจว่า ตนเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่สิ! มันยิ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิละ ยิ่งมืดมิดไปใหญ่ทีเดียว เพราะว่า ยังมีความ สำคัญตัวอยู่ เพราะ "ตัว" นี้ เป็นตัวการสำคัญที่คอยขวางหน้าอยู่ แต่ก็ไม่เห็นทุกข์โทษของ"ตัว" นี้ หรือตัว "ทิฏฐิมานะ" นั่นเอง มันกลับไปหล่อเลี้ยงเอาไว้เสียอีกด้วย แล้วอย่างนี้มันก็ ยิ่งซ้ำร้ายหนักเข้า แม้ว่าจะเสียสละเข้าของเงินทองหรือทรัพย์สมบัติที่เป็นวัตถุก็ตาม แต่ก็เสียสละ เพื่อเป็นการหล่อเลี้ยงตัวกูนี่เอง


    การเลี้ยงตัวกูงูพิษเอาไว้นี้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วการปฏิบัติอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไป
    เพื่อโลกุตรสุญญตา ยังเป็นการปฏิบัติอยู่ในโลกียะนี่เอง เพราะยังมีตัวตนสำหรับทำ สำหรับเพ่งเล็งอะไรสารพัด ถ้ายังมีตัวตนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอยู่แล้ว พึงรู้เสียเถิดว่า การปฏิบัติ นั้นยังอยู่โลกียปฏิปทา ยังไม่ใช่โลกุตรปฏิปทาเลย ดังนั้นจะต้องพิจารณาคัดเลือกว่าอะไรเป็น เปลือก อะไรเป็นแก่น ถ้าใครต้องการหลุดพ้นจริงๆ แล้ว จะต้องไม่นิ่งนอนใจเลยในเรื่องนี้ แล้วการกระทำด้วยกายวาจาใจทุกอย่าง จะได้เอียงเทไปสู่โลกุตรสุญญตาได้ แต่ถ้าไม่มีการ ซักฟอกอะไรของตัวเอง ยังทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมดแล้ว มันก็ตกหล่นจมเหวอยู่ในวัฏฏสงสาร อยู่ในความเวียนว่ายไม่รู้จักจบสิ้น แล้วก็มีการกระทำกรรมดีบ้างกรรมชั่วบ้าง กิเลสมันก็ยังมี ฤทธิ์เดชอยู่ ถึงแม้ว่าจะเสียสละอะไรออกมา ก็เสียสละเพื่อหล่อเลี้ยงตัวตนนั่นเอง ไม่ได้เป็นการ ทำลายตัวตนหรือของตนออกไปได้


    ฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจให้ถูก อย่าได้มีความสำคัญว่า การเสียสละเข้าของอะไรทั้งหมด นี้เพื่อมรรคผลนิพพาน มันยังเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันยังเป็นเจ้าของ ยังเป็นความรู้สึกยึดถืออยู่ แล้วก็อยู่ในวงล้อมของวัฏฏสงสาร อยู่ในอำนาจของตัณหา คือตัณหามันเป็นนายช่างก่อภพก่อชาติ ที่เป็นเครื่องกระทบกรรมดีกรรมชั่วต่อไป


    พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ได้ทรงสร้างบารมีมามากมาย ก็เพราะนายช่างตัณหานี่เอง มันให้ทำดีทั้งดีและชั่ว จึงได้มีการสร้างสรรค์ทำอะไรกันเหลือประมาณ ในปฐมพุทธภาษิตว่า "รู้จักนายช่างแล้ว ยอดเรือนก็หักแล้ว" ที่นี้เราหล่อเลี้ยงตัวนายช่าง คือตัณหาไว้อย่างไรบ้าง มันช่างจัดแจงปรุงแต่งอะไรสารพัด แล้วก็มีเรี่ยวแรงที่จะทำไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งนั้น การที่จะหลุดออกไปจากวัฏฏสงสาร ไปสู่นิพพานได้นั้น จะต้องดับตัณหา จะต้องไม่ เป็นทาสของตัณหา แต่นี่มันยังตกเป็นทาสของตัณหาอยู่ แล้วจะทำอย่างไรดี ควรจะปรึกษา หารือกัน หรือตรวจดูในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าก็ได้ว่า ที่จะให้ละตัณหา ทั้งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้น จะละอย่างไร? และจะทำอย่างไรจึงจะไม่ตกไปเป็นทาสของตัณหาได้ ไม่ว่าการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าว่าเป็นการพิจารณาให้รู้ด้วยสติปัญญาของตนได้ นั่นแหละจะ เป็นแนวสำหรับทำลายตัณหาได้ แล้วการที่จะออกไปสู่ความเป็นอิสระ หรือความว่างจากตัวตน จะปรากฏรุ้งแววขึ้นมาได้


    การพิจารณาจนกระทั่งได้เห็นความเป็นธาตุด้วยใจจริง ด้วยสติปัญญาของตนได้เมื่อไร
    นั้นแหละจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้ การที่จะเห็นแจ้งเห็นจริงที่เป็นสัมมาทิฏฐินี้ จะต้อง พิจารณาอย่างไร? จะต้องมีการเจริญวิปัสสนาอย่างไร? เพราะว่าวิปัสสนานี้มีหลายแบบ ทั้งมีคำ อธิบายไว้ในหนังสือต่างๆ ก็มากมาย แต่ว่าการเจริญวิปัสสนาของนักปฏิบัติประจำวันก็มีหลัก อยู่ในตัวเอง ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ของ รูปนามขันธ์ห้าอยู่เป็นประจำ


    ตามหลักที่ให้พิจารณาปัจจัยสี่ ก็เป็นเครื่องรู้อยู่แล้ว แต่ว่ามันยังรู้ด้วยสัญญา ยังไม่ใช่รู้ด้วย ปัญญา ถ้าได้พิจารณาปัจจัยสี่ให้รู้ด้วยสติปัญญาแท้แล้ว ก็เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ไม่ใช่คนละอย่าง ฉะนั้นคนที่พิจารณาแยกธาตุได้ จนกระทั่งเห็นความว่างจากตัวตนได้ถูกต้องแล้ว ทีนี้ไม่ต้องไปตื่นกับวิปัสสนาของใครอีก ไม่ต้องไปเอาเรื่องราวของวิปัสสนาเปลือกๆ เพราะว่าได้ เข้าถึงแก่นแล้ว วิปัสสนานอกๆ นั้นใครๆ ก็ทำได้ เช่น การใช้กะลา หรือหม้อปัสสาวะอุจจาระ ที่ล้างสะอาดดีแล้ว มาตักน้ำรดศีรษะหรือนำมาใส่อาหารกิน นี่! แม้คนธรรมดาก็ทำได้ ไม่แปลกอะไร


    วิปัสสนาที่แท้นั้นต้องโค่น "ตัวกู ของกู" ออกไป นี่ต้องจัดการกับข้างใน แยกธาตุออกให้หมด เมื่อแยกออกหมดแล้ว ก็ไม่ต้องไปห่วงเปลือก จัดการตัวนี้ตัวเดียว คือให้เห็นความเป็นธาตุ ว่างเปล่าจากตัวตนออกไป แล้วก็หมดเรื่องไปเลย ไม่ต้องไปตื่นผู้สำเร็จ ไม่ต้องไปตื่นของ ศักดิ์สิทธิ์ขลังอะไร และไม่ต้องไปตื่นหมอยา หมอดู เพราะว่านั่นมันเรื่องเปลือกๆ


    ถ้าหากการรักษาโรคชนิดที่ต้องเข้าผี เข้าเจ้าเข้าทรงอะไร หรือไปเชิญเทวดามารักษาโรค หรือว่านั่งวิปัสสนารักษาโรคแล้ว นั่นแหละมันเป็นสีลพัตตปรามาสหมด ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรมใน ศาสนานี้ ออกไปนอกธรรมวินัย เป็นพวกนอกบัญชีไปแล้ว


    ทีนี้ต้องเข้าใจเรื่องคิลานเภสัช ที่มีอยู่ในปัจจัยสี่นั่น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไร? ให้พิจารณาอย่างไร? แล้วได้ทำการพิจารณาหรือเปล่า? ถ้าได้พิจารณาปัจจัยสี่โดยความเป็นธาตุ โดยความว่างจากตัวตนแล้ว จะไม่เชื่อของศักดิ์สิทธิ์ หรือของขลังอะไรที่จะมาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทางกายได้เลย เพราะว่าถ้าหายจากโรคใจโรคกิเลสแล้ว มันก็นิพพาน ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด อีกต่อไป เพราะได้รักษาต้นขั้ว ไม่ใช่มารักษาเฉพาะที่กายเท่านั้น และก็ไม่หมายพึ่งเทวดาผีสางอะไร ทั้งหมด นั่นคนยังโง่ยังหลงเขาเชื่อกัน เพราะไม่ได้พิจารณาความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เลย เที่ยวเชื่องมงายไป เนื่องจากกลัวเจ็บกลัวตาย ความจริงมันจะอยู่ค้ำฟ้าไปไม่ได้ จะรักษาความ เจ็บไข้ก็รักษาไปตามสมควร อย่าไปยึดมั่นถือมั่นก็แล้วกัน ทั้งยาวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ หรือยาผีสางเจ้านายที่ไหนก็สุดแท้ มันไม่ถาวรอะไรทั้งนั้น


    ถ้าไปยึดถือเอาจริงเอาจังแล้ว นั่นแหละเป็นสีลพัตตปรามาส ซึ่งเป็นการรู้ผิดเห็นผิด แล้วก็ ไม่รู้สึกตัว ยิ่งปฏิบัตินานๆ เข้า มันก็ยิ่งเถลไถลไปยึดถือสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น แม้จะพูดแนะนำให้รู้ ก็หูหนวก ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าใครพูดโกหกให้ฟัง หรือว่ามาหลอกลวงแล้วก็หูไว ฟังจำได้ เชื่อทันที ทีเดียว ส่วนมากเป็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะไปเชื่อผิดๆ นั่นแหละ พอเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปหา หมอเสกหมอเป่าก็มีเหมือนกัน


    ส่วนธรรมโอสถนี่มันกลืนไม่เข้า คอหอยตีบตันเสียหมด เพราะว่าไปเชื่อสิ่งเหล่านั้นเข้ามาฝัง อยู่ในจิตใจเสียแล้ว นี่ต้องคิดดูว่า การเชื่อถือของขลังของศักดิ์สิทธิ์นี้ พอเป็นอะไรนิดหน่อยก็ใจเสาะ เหมือนปลาซิว กลัวตายกลัวเจ็บ แล้วนี้จะมาปฏิบัติทำไมกัน ความจริงต้องพิจารณาทุกข์ เพราะ มันทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่หัวเราะอยู่นี่มันก็ทุกข์ ร้องไห้ก็ทุกข์ เฉยๆ ก็ทุกข์ เพราะ เหตุที่ไม่ได้พิจารณานั่นเอง จึงจะเอาแต่ความสุขแล้วก็เที่ยวแส่ส่ายไป ถ้าไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาแล้ว ให้อยู่วัดไปจนตาย ก็ยังงมงายอยู่อย่างเดิม แล้วก็กลัวตาย ที่ถูกแล้วก่อนเจ็บก่อนตาย ควรพิจารณา ปลงตกปล่อยวาง อย่ายึดมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา เรื่องมันต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเราเจ็บเราตาย ให้พิจารณาให้เห็นสภาวทุกข์ คือมันเป็นเรื่องของอายตนะ ธาตุ ขันธ์ ถ้าพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุ แล้ว มันไม่มีคนเจ็บคนตาย มีแต่รูปนามนี้เสื่อมไป สิ้นไป ดับไป สลายไป ฉะนั้นเรื่องที่จะ ถอนอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นตัวเราของเราจึงเป็นของละเอียดมาก จะต้องพิจารณา ถ่ายถอนเรื่อยไป


    ถ้ามีการมองเห็นถูกในแง่นี้แล้ว ก็ยังไม่ถึงที่สุด ต้องตรวจสอบต่อไปอีก ต้องพิจารณาให้รู้ต่อไปอีก เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นนี้มันเหนียวแน่นนัก ถึงแม้จะคลายออกไปได้ก็เฉพาะเรื่องภายนอก หรือเป็นเรื่องง่ายๆ บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น แต่ว่าเนื้อแท้นั้นยังตีเกลียวแน่น เป็นตัวเราของเราอย่าง เหนียวแน่น เพราะฉะนั้นทิฏฐิมานะที่มีอยู่ในสันดานจึงคอยก่อเกิดขึ้นปรุงจิต "ทิฏฐ" ก็คือความเห็นผิด เมื่อเห็นผิดแล้วมันก็ต้องมีตัวตนและยึดถือตัวตนขึ้นมา ความเห็นผิดนี่มันเป็นตัวร้ายกาจ ถ้าไม่พิจารณาให้เห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะปฏิบัติไม่ถูกทาง มันหลงอยู่ในโลกอยู่ใน ทุกข์ ที่จะทะลุออกไปสู่มรรคผลนิพพานนั้นยังมืดมัว แม้จะรู้หรือจะเห็นอะไรก็รู้แต่เรื่องข้างนอก


    วิปัสสนาแท้นั้นต้องเข้ามาข้างใน เข้ามาให้รู้แจ้งแทงตลอดตัวเอง ที่เป็นตัวกูของกูนี่
    แหละ ถ้ายังเห็นความสำคัญในเรื่องข้างนอกอยู่ นั่นมันเป็นวิปัสสนาโลกๆ ภายนอกเท่านั้น แม้ว่า จะทำไปเท่าไรๆ มันก็อยู่ในโลกียปฏิปทานั่นเอง ถ้าหากเข้ามาทำลายตัวตนหรือตัวกูได้แล้ว นั่นแหละ จึงจะเป็นโลกุตรปฏิปทา อย่างนี้ต้องสอบเอาเอง ถ้าสอบตัวเองไม่เป็นไม่ถูก ก็ไปเพาะไปปลูกตัวกู นี้ขึ้นมาอีก มันก็อยากจะได้บุญ จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไปอีก หรือว่าเอาเงินไปซื้อสวรรค์วิมาน ซื้อมรรคผลนิพพาน นี่เฉพาะพวกโง่ๆ จึงเที่ยวคิดไปอย่างนั้น แท้จริงแล้ว สวรรค์ก็ต้องทำด้วย กายวาจาใจ มรรคผลนิพพานก็ต้องปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ ส่วนการเสียสละเงินทองนั้น มันเป็นเรื่องข้างนอก


    การกระทำความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นเนื้อแท้ เป็นแก่นแท้ เป็นการเข้าถึง
    ธรรมะแท้ แต่ว่ายังอ่านกันไม่ใคร่จะออก การสละ "ของกู" หรือ "ของเรา" ออกไปนี้ มันต้องเป็นการ เสียสละความเหนียวแน่น คือตัวโลภะหรือมัจฉริยะ แต่นี่กลับจะโลภเอาเข้ามาอีก หวังจะไปได้ กำไรอยู่ข้างหน้าโน่นตั้งร้อยเท่าพันทวี นั่น! มันก็ยิ่งโลภมากขึ้นไปอีก สำหรับทานที่แท้นั้น ท่าน ให้เป็นการเสียสละกิเลส สละการเห็นแก่ตัว สละความโลภ สละความตระหนี่ เป็นการ ทำเพื่อธรรมะ ทำด้วยความรู้ความฉลาด ที่มีการเสียสละออกไปแล้วก็ได้จิตว่าง จิต สะอาด จิตสงบขึ้นมาเดี๋ยวนี้


    ความหลงงมงายนี้มันหลายขั้นหลายชั้นนัก ที่จะรู้ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นของ พูดกันไม่ใคร่จะรู้เรื่องได้ มันคอยจ้องจะเอาผลข้างหน้าอยู่ทั้งนั้น แล้วนี่จะหลงกันไปถึงไหน? จะ ยึดถือไปถึงไหน? ทำไมจึงไม่รู้จักตื่นขึ้นมาสักที? มันจะหลับใหลไปถึงไหนกัน? ถ้าทำจิตว่างๆ อยู่เดี๋ยวนี้จะดีไหม? จะไปเอาอะไรที่ไหน? จะพอกขี้ไครขึ้นมาทำไม? ควรให้มันเกลี้ยงเกลาไป เสียเดี๋ยวนี้ไม่ดีหรือ เดี๋ยวนี้มองเห็นจิตที่ว่างที่สะอาดแล้วหรือยัง? ถ้ารู้อยู่ในลักษณะนี้แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมด ทำแล้วไม่หวังก่อภพก่อชาติต่อไปข้างหน้าเลย ตัดวัฏฏสงสาร ให้สั้นลงไปที่สุด จนกระทั่งจะต้องปล่อยวางไปเมื่อไรก็ได้ ตายเดี๋ยวนี้ก็จะต้องปล่อยวาง ให้ได้ แม้ว่าจะทุกข์กาย ทุกข์ใจจนน้ำตานองหน้า ก็จะต้องปล่อยวางไปให้ได้ เพื่อความดับสนิท บรรลุนิพพาน ไม่มีการเวียนเกิดอีกต่อไป


    นี่! ถ้าเป็นการรู้ถูกต้องมันต้องเป็นทำนองนี้ แล้วก็ต้องมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ เพื่อให้ทันแก่เวลา ของชีวิตหรือรูปนาม ไม่รู้ว่ามันจะแตกดับไปในอาการอย่างไร เหมือนกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า "เหมือน กับที่เขาจุดประทีปไว้กลางแจ้ง ไม่รู้ว่าลมพายุมันจะพัดมาทางทิศไหน มันก็จะดับสลายไปหมด" แล้วทีนี้ถ้าหลงละเมอเพ้อพกอยู่ มันก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก หรือตัวอะไรสารพัด ตามกรรมดี กรรมชั่วที่ตัวทำไว้ มันก็วนเวียนอยู่นั่นเอง ถ้าว่ามันดับไปโดยไม่มีเชื้อเหลืออยู่เลย นิพพานเลย จะดีไหม?


    แต่นี่มันยังไว้อาลัยอยู่ เพราะว่าตัณหามันชูรส ยังอยากเกิดใหม่อยู่ ยังอยากจะเอาอะไรต่ออะไร เป็นของกูให้มากๆ เข้า จนกระทั่งจะไปนอนตกนรกอยู่บนสวรรค์วิมานที่ไหนมันก็เอา เพราะว่ามันยัง ไม่พบเข้ากับความว่าง ความสะอาดของจิต ทุกขณะปัจจุบันนี้ ที่มองเห็นความเป็นธาตุอยู่เนืองนิตย์ มันไม่มีเป็นตัวเราของเรา บอกกับตัวเองอยู่อย่างนี้ อย่าให้มันปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมา เป็น "ตัวกู ของกู" ชอบนั่น ไม่ชอบนี่ โสมนัสโทมนัส แล้วคำสอนท่านก็บอกว่า "ให้ทำลายอภิชฌาโทมนัสในโลกออก เสียให้พินาศ" นี่ฟังไปจนหูอื้อ ก็ยังไม่รู้เรื่องเลยว่า "จะทำลายอภิชฌาโทมนัสในโลกออกเสียให้พินาศ นั้นอย่างไร" มีแต่ว่าอภิชฌาโทมนัสจะเผาใจให้พินาศฉิบหายไปหมดทุกขณะทีเดียว ที่จะรู้สึกดับ อภิชฌาโทมนัสในโลกออกเสียให้พินาศ มันยังไม่รู้ไม่เห็นด้วยใจจริงเลย ทั้งๆ ที่จะต้องเห็นได้อยู่ เฉพาะหน้าปัจจุบันนี้ แต่ก็ไม่ศึกษา ไม่พิจารณา จะยึดมั่นถือมั่นไปตามประสาโง่ๆ หลงๆ นั่นเอง


    เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงพูดได้เฉพาะกับคนที่มีสติปัญญาที่จะรับฟัง แล้วก็ต้องนำเอามาสอบ แล้วสอบอีก ตรวจแล้วตรวจอีก จึงจะได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความจำเหมือนกัน ไม่ว่าจะจำอะไร จะต้องนำเอามาคิดให้เป็นประโยชน์ โดยให้เห็นเป็นความว่างหรือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ ตัวตน เหล่านี้ มันจะได้เกิดสติปัญญาขึ้นมา ให้เป็นการรู้จริง ไม่ใช่ไปจำมาคิดให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว


    ถ้าว่าจำมาคิดนึกในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้ว มันจะคลายออกหมด
    ทีเดียว ไม่รู้จะไปหลงรักหลงชังเอาอะไรกัน จะมีแต่ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเรื่อยไป แม้จะมีทุกข์โทษของกิเลสเกิดขึ้นในจิตใจ ก็มองเห็นโทษความพอใจไม่พอใจที่ไปยึดถือเข้ามา เป็นตัวเราตัวเขา มาสอพลอล่อลวงหลอกหลอนอยู่นี้ จะต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นแหละจึงจะ เกิดสติปัญญารู้เห็นความจริง แล้วก็จะน่าเบื่อหน่ายแท้ๆ ทีเดียว ไม่น่าจะมาหล่อเลี้ยงตัวโง่ ตัวกู ของกูนี้ไว้เลย


    ถ้าเกิดสติปัญญา พิจารณารู้ความเป็นธาตุแล้ว มันจะน่าเบื่อหน่าย น่าเอือมระอาเป็นที่สุด แล้วก็น่าเข็ดหลาบ เพราะว่าตัวโง่นี่ มันเที่ยวยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจมามาก แล้ว ถ้ารู้สึกตัวได้จริงมันต้องเข็ดหลาบ ในเรื่องความรักความชังที่ไปยึดถือเข้ามาเป็นเจ้าของ เป็นพ่อแม่พี่น้อง ความจริงมันก็ไม่ได้เป็นจริงจังอะไรสักอย่างเดียว มันจะแตกดับกระจัดกระจาย ไปเมื่อไรก็ไม่รู้ ถ้าหมดลมหายใจไปเดี๋ยวนี้ ก็หมดสิ้นไปทุกอย่าง


    ฉะนั้นจึงต้องให้เห็น "ความว่างจากตัวตน" อยู่เนืองนิตย์ ทุกลมหายใจเข้าออก หมั่นพิจารณา แยกธาตุให้เห็นทุกขณะ มันจะก่อรูปก่อเรื่องเป็นตัวตนอะไรก็ว่าง "ว่างจากตัวตนๆ" เป็นสักแต่ว่า ธาตุขันธ์ ไม่ได้เป็นอะไรจริงจัง ขณะยังมีลมหายใจ ก็ทำหน้าที่ดับทุกข์ในชีวิตประจำวันเรื่อยไป ไม่ให้กิเลสมันก่อเรื่องปรุงเป็นตัวเราของเราขึ้นมา ท่องเป็นคาถาไว้ว่า "ว่างจากตัวตน" แล้วก็เพ่ง พิจารณาให้เห็นแจ้งว่า มันว่างจากตัวตนไปได้อย่างไร นี่ต้องมองให้เห็นแจ้งแทงตลอดให้ได้


    การเพ่งพิจารณาต้องมีอยู่เป็นประจำ ทำให้มากอยู่ในเรื่องนี้ แล้วจะได้ดับความโลภ ความโกรธ ความหลงไปได้ ถ้าไม่ได้เพียรเพ่งพิจารณาแล้ว กิเลสมันคอยปรุงอยู่เรื่อย ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเข้ามาเผาได้ง่าย เพราะว่า การพิจารณานี้เป็นเครื่องมือทำลายกิเลสได้ และยัง เป็นการลับสติปัญญาให้คมเฉียบอยู่เสมอ


    ถ้าทำการเพียรเพ่งพิจารณา ให้เห็นความเป็นธาตุอย่างซ้ำซากแล้ว ก็จะเป็นการ
    เห็นแจ้งแทงตลอดเข้าภายใน ด้วยดวงตาของสติปัญญาแท้ เรียกว่า "มีธรรมจักษุ" มองเห็นความจริงอย่างประจักษ์ชัดใจ แล้วมันจะทำลายโมหะที่ยังปิดมืดมิดอยู่ มันเพิกออกไป ให้เห็นแจ้งสว่างไสวขึ้นมาได้


    ดังนั้นเรื่องข้อปฏิบัตินี้ต้องอบรมทำให้มาก พยายามแล้วพยายามอีกคือต้องปรารภความเพียรอยู่เนืองนิตย์ จึงจะมีกำลังของสติปัญญา ที่จะพิจารณาให้เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามพิจารณาอยู่ทุกขณะให้เห็นลักษณะของ "ความว่างจากตัวตน" ให้เป็นการเห็นแจ้งประจักษ์ชัดด้วยใจจริงอยู่ทุกๆ ขณะเถิด.


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/ubasika/kee/kee-59.htm
     
  2. โชแปง

    โชแปง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    851
    ค่าพลัง:
    +63
    ฉะนั้นจึงต้องให้เห็น "ความว่างจากตัวตน" อยู่เนืองนิตย์ ทุกลมหายใจเข้าออก หมั่นพิจารณา แยกธาตุให้เห็นทุกขณะ มันจะก่อรูปก่อเรื่องเป็นตัวตนอะไรก็ว่าง "ว่างจากตัวตนๆ" เป็นสักแต่ว่า ธาตุขันธ์ ไม่ได้เป็นอะไรจริงจัง ขณะยังมีลมหายใจ ก็ทำหน้าที่ดับทุกข์ในชีวิตประจำวันเรื่อยไป ไม่ให้กิเลสมันก่อเรื่องปรุงเป็นตัวเราของเราขึ้นมา ท่องเป็นคาถาไว้ว่า "ว่างจากตัวตน" แล้วก็เพ่ง พิจารณาให้เห็นแจ้งว่า มันว่างจากตัวตนไปได้อย่างไร นี่ต้องมองให้เห็นแจ้งแทงตลอดให้ได้


    การเพ่งพิจารณาต้องมีอยู่เป็นประจำ ทำให้มากอยู่ในเรื่องนี้ แล้วจะได้ดับความโลภ ความโกรธ ความหลงไปได้ ถ้าไม่ได้เพียรเพ่งพิจารณาแล้ว กิเลสมันคอยปรุงอยู่เรื่อย ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเข้ามาเผาได้ง่าย เพราะว่า การพิจารณานี้เป็นเครื่องมือทำลายกิเลสได้ และยัง เป็นการลับสติปัญญาให้คมเฉียบอยู่เสมอ


    ถ้าทำการเพียรเพ่งพิจารณา ให้เห็นความเป็นธาตุอย่างซ้ำซากแล้ว ก็จะเป็นการ
    เห็นแจ้งแทงตลอดเข้าภายใน ด้วยดวงตาของสติปัญญาแท้ เรียกว่า "มีธรรมจักษุ" มองเห็นความจริงอย่างประจักษ์ชัดใจ แล้วมันจะทำลายโมหะที่ยังปิดมืดมิดอยู่ มันเพิกออกไป ให้เห็นแจ้งสว่างไสวขึ้นมาได้



    อนุโมทนา สาธุ

    ขอบคุณบทธรรมดีๆ จขกท.
     
  3. vitcho

    vitcho เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    360
    ค่าพลัง:
    +748
    ของดี..ที่ ตก กระดานไป...

    พิจารณา กันดีๆ..ท่านนี้ ก็ พระอรหันต์ หญิง เหมือนกัน
     
  4. ธรรมภูต

    ธรรมภูต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,621
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,192
    การกระทำความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นเนื้อแท้ เป็นแก่นแท้ เป็นการเข้าถึง ธรรมะแท้ แต่ว่ายังอ่านกันไม่ใคร่จะออก การสละ "ของกู" หรือ "ของเรา" ออกไปนี้ มันต้องเป็นการ เสียสละความเหนียวแน่น คือตัวโลภะหรือมัจฉริยะ แต่นี่กลับจะโลภเอาเข้ามาอีก หวังจะไปได้ กำไรอยู่ข้างหน้าโน่นตั้งร้อยเท่าพันทวี นั่น! มันก็ยิ่งโลภมากขึ้นไปอีก สำหรับทานที่แท้นั้น ท่าน ให้เป็นการเสียสละกิเลส สละการเห็นแก่ตัว สละความโลภ สละความตระหนี่ เป็นการ ทำเพื่อธรรมะ ทำด้วยความรู้ความฉลาด ที่มีการเสียสละออกไปแล้วก็ได้จิตว่าง จิต สะอาด จิตสงบขึ้นมาเดี๋ยวนี้


    ความหลงงมงายนี้มันหลายขั้นหลายชั้นนัก ที่จะรู้ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นของ พูดกันไม่ใคร่จะรู้เรื่องได้ มันคอยจ้องจะเอาผลข้างหน้าอยู่ทั้งนั้น แล้วนี่จะหลงกันไปถึงไหน? จะ ยึดถือไปถึงไหน? ทำไมจึงไม่รู้จักตื่นขึ้นมาสักที? มันจะหลับใหลไปถึงไหนกัน? ถ้าทำจิตว่างๆ อยู่เดี๋ยวนี้จะดีไหม? จะไปเอาอะไรที่ไหน? จะพอกขี้ไครขึ้นมาทำไม? ควรให้มันเกลี้ยงเกลาไป เสียเดี๋ยวนี้ไม่ดีหรือ เดี๋ยวนี้มองเห็นจิตที่ว่างที่สะอาดแล้วหรือยัง? ถ้ารู้อยู่ในลักษณะนี้แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมด ทำแล้วไม่หวังก่อภพก่อชาติต่อไปข้างหน้าเลย ตัดวัฏฏสงสาร ให้สั้นลงไปที่สุด จนกระทั่งจะต้องปล่อยวางไปเมื่อไรก็ได้ ตายเดี๋ยวนี้ก็จะต้องปล่อยวาง ให้ได้ แม้ว่าจะทุกข์กาย ทุกข์ใจจนน้ำตานองหน้า ก็จะต้องปล่อยวางไปให้ได้ เพื่อความดับสนิท บรรลุนิพพาน ไม่มีการเวียนเกิดอีกต่อไป
    *
    *
    สาธุฯ...จิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

     

แชร์หน้านี้

Loading...