ให้รู้เท่าทันทุกข์ตามความเป็นจริง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 6 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
    สอนให้รู้เท่าทันทุกข์ตามความเป็นจริง
    ถอดธรรมบรรยาย จาก พระธรรมเทศนา ซีดีแผ่นที่ 2

    เราจะต้องตั้งใจกันแล้ว เรามาชุมนุมกันในศาลาการเปรียญนี้ เพื่อมาตั้งใจ ตั้งสติสำรวมใจ มาฝึกใจที่กวัดแกว่งให้สงบลง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่ได้ผลอันสูงส่ง ได้แก่บุญกุศลเป็นอุปนิสัย อันเกิดจากความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยเท่านั้นแหละ แต่ที่จะให้กิเลสมันน้อยเบาบางออกไปจากจิตใจนั้นมันยาก ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆนะ เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจ การที่เราตั้งใจเข้มแข็ง อันนี้เรียกว่าเป็นการฝึกจิตให้กล้าหาญ ไม่ให้จิตอ่อนแอ

    ธรรมดาจิตอ่อนแอ เรารู้ตัวได้ทุกคนแหละ มันไม่สงบอยู่ได้หรอก กายก็สงบไม่ได้ ถ้าใจอ่อนแอเหลาะแหละแล้วนะ คอยแต่จะเคลื่อนไหวไปมา จะนิ่งอยู่โดยลำพังไม่ค่อยได้ เพราะว่าจิตนี้มันเป็นใหญ่กว่า กาย วาจา อย่างที่เคยพูดมาแล้ว พอจิตมันหวั่นไหว อาการกาย วาจาก็หวั่นไหวตาม เป็นเช่นนั้น พอจิตมันนิ่ง กายก็นิ่งด้วย เพราะฉะนั้นการฝึกตนของตนนี้ มันเป็นความดี เพราะว่า ความสุขมันจะเกิดจากความสงบนั้น

    ความสุขไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่มีอยู่ที่อื่นเลย มีอยู่ที่ความสงบ ความสงบมีอยู่ที่ไหนความสุขก็มีอยู่ที่นั่น สงบภายนอก สงบภายใน สงบภายนอก เช่น คนหมู่หนึ่งๆอยู่ด้วยกัน ปรองดองสามัคคีกัน ไม่วิวาทบาดหมางกัน แสดงกิริยาละมุนละไมต่อกัน ทางกาย ก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางจิตใจก็มีเมตตาอารีต่อกันและกัน เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน หรือว่าเป็นเพื่อนสร้างบารมีด้วยกัน ต่างคนต่างเข้าใจอย่างนี้แล้ว ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งอะไรกัน เช่นนี้ก็เรียกว่าความสงบ เรียกว่าอยู่ด้วยกันด้วยสันติสุข เมื่อมีความสงบอย่างว่านั้นแล้วก็มีความสุข อยู่ร่วมกันก็มีจิตใจเบิกบานต่อกันและกัน ทางครอบครัว ผัว เมีย ลูก หลาน พ่อแม่ อะไรอยู่ด้วยกัน ถ้าหากว่ามุ่งส่งเสริมให้ซึ่งกันและกันให้เป็นสุข อยู่อย่างนั้น ใครผู้ใดก็ดี ต่างก็มีจิตมุ่งส่งเสริมมีความสุขกายสบายใจ ครอบครัวนั้นก็อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข นี่เรียกว่าพูดถึงความสงบภายนอก มันก็ต้องมีอย่างนั้นแหละ
    การที่มันจะสงบภายในได้ ก็ต้องสงบภายนอกก่อน อย่างว่ามาแล้วนั่นแหละ จะเป็นชาววัดก็ตาม เป็น ชาวบ้านก็ช่าง เช่นชาววัด ผู้มาอยู่ในวัดถ้าปรองดองสามัคคีกันได้ดี มีศีลเสมอกัน มีความประพฤติทางกายละมุนละไมสม่ำเสมอกันอย่างนี้นะ มีความเห็นตรงกัน คือ มีความเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และเห็นว่าผลแห่งกรรมดี ย่อมอำนวยให้เป็นสุข ผลแห่งกรรมชั่ว ย่อมอำนวยให้เป็นทุกข์ มีความเห็นตรงกันอย่างนี้ท่านเรียกว่า ทิฐิสามัญตา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อยู่กันอย่างสบายๆ เพราะว่าความสงบก็หมายถึงว่า มันไม่มีการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันให้วุ่นวาย มันจึงจะอยู่เป็นสุขได้

    อันคนเราเกิดมาในโลกนี้ ผู้มีบุญเท่านั้นมีปัญญา ชอบความสุข เกลียดความทุกข์ คนมีปัญญาทั้งนั้น คนชอบความสุขนี้ เป็นคนที่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาแล้วนั้น ย่อมตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ชอบแต่ความวุ่นวาย สนุกสนาน ร่าเริงบันเทิงไปตามกระแสของโลก อันนั้นเรียกว่าคนมีกิเลสหลาย ปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า การเป็นอยู่เป็นไปแบบนั้นมันเป็นไปเพื่อความสุขอันยั่งยืนหรือเป็นไปเพื่อความสุขชั่วคราว ไม่ได้คิดไม่ได้วินิจฉัยเลย ถ้าผู้ใดวินิจฉัยด้วยปัญญาตนแล้ว ย่อมมองเห็นว่า อันความเพลิดเพลินอย่างว่านั้นเป็นไปเพื่อความสุขชั่วคราว เท่านั้นเอง แถมยังเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์อีกซ้ำ ผู้มีปัญญาพิจารณาอย่างนั้น เขาไม่เพลิน เขาไม่เมา ถ้าเป็นผู้ครองเรือนก็เรียกว่าเป็นผู้แสวงบุญกุศล มีใจร่าเริงอยู่ด้วยบุญด้วยกุศลคุณงามความดี

    เช่นอย่างทุกวันนี้ก็ตั้งชมรมแสวงบุญกันขึ้น เขาก็นัดแนะกันวันนั้นวันนี้ ร่วมกันไปบำเพ็ญบุญกุศลที่โน้นที่นี้ เขาไปกันแล้วเขาก็ได้ไหว้พระ สวดมนตร์ ได้ฟังธรรม ได้กราบ ได้ไหว้ ได้สมาคมกับพระสงฆ์องค์เจ้าผู้มีศีลมีธรรม ก็ทำให้จิตใจเบิกบานใจผ่องใส เรียกว่าเป็นผู้รื่นเริงอยู่ด้วยบุญด้วยกุศล ไม่ได้รื่นเริงอยู่ด้วยกิเลสตัณหา ความรื่นเริงอยู่ด้วยบุญกุศลแบบนี้ นับว่าผู้มีปัญญาทั้งหลายได้กระทำบำเพ็ญมาทุกยุคทุกสมัย และพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่อุบัติบังเกิดมาในโลก ก็ทรงสั่งสอนให้คนทั้งหลายนั้นรื่นเริงบันเทิงอยู่ด้วยกุศลคุณงามความดีที่ตนกระทำบำเพ็ญมา อย่าปล่อยใจให้เพลินไปในอำนาจของกิเลสตัณหาบาปอธรรมต่างๆ

    นี่มันมีสิ่งที่ให้เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ มันก็มีอยู่ ในพุทธศาสนานี้ พระองค์ก็ไม่บังคับให้ใครนั้นละกิเลสขาดไปทั้งหมด ให้ได้ถึงความสงบอันยอดเยี่ยมทั้งหมดทีเดียว อันเช่นนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างสร้างบุญบารมีมามากและน้อยต่างกัน ไม่เท่าเทียมกัน อันผู้ที่ ได้สั่งสมบุญบารมีมามากแล้วหรือเต็มแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ต้องแสวงหาแต่ความสงบนั้นแหละมาก มากกว่าจะไปแสวงหาความร่าเริงบันเทิงใจ ก็ด้วยอำนาจบุญบารมีที่มันแก่มันมากแล้วนั่นเอง ทำให้คนเหล่านั้นชอบแต่ความสงบไป ลักษณะของบุญกุศลเมื่อมันมีกำลังมากขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างนั้นแหละ ให้พากันเข้าใจ แต่ถ้ามันยังมีกำลังอ่อนอยู่นี่ มันก็มีการรื่นเริงบันเทิงไปบ้าง ที่ท่านเรียกว่ากุศลกามาพจร นั่นแหละ เช่น เป็นผู้มีความยินดีเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแรงกล้า
    เมื่อมีความเลื่อมใสแรงกล้า ทำให้จิตร่าเริงบันเทิงอยู่ในพระคุณอันนี้ มีการขวนขวายหาเครื่องสักการบูชา เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมนานาประการ ๆ ตกแต่งให้สวยสดงดงาม บูชา พระพุทธรูป หรือบูชาพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยมีพระพุทธรูปเป็นสักขีพยาน มีพระสงฆ์เป็นผู้รับรู้ เรียกว่ากุศลกามาพจรทั้งนั้นแหละ หรือการได้ให้ข้าวน้ำ โภชนะอาหารเป็นทาน การได้ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บังสุกุล ได้สมัครสมานสามัคคีกันรวมกันเป็นหมู่เป็นพวกไป แล้วจัดทำกันขึ้น ทำให้จิตใจร่าเริงบันเทิงในกองการกุศลนั้นๆ เรียกว่า กุศลกามาพจร คือการบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมานี้ได้ปรารภ แสดงความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสที่ก่อให้เกิดบุญเกิดกุศล ไม่ใช่ก่อให้เกิดกิเลส ตัณหา เช่น เราเห็นรูปพระพุทธเจ้าที่สวยๆงามๆ นั่งสงบ เงียบอยู่อย่างนี้ ทำให้เราได้มีความเลื่อมใสอยู่ในใจ หวนนึกถึงความเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้าองค์จริงโน้น พระพุทธเจ้านั้นทรงละกิเลส หมดสิ้นไปแล้ว พร้อมทั้งวาสนา กิริยากายวาจาอันใดก็เรียบร้อยไปหมด พระองค์มีความสงบเสงี่ยมอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับองค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้านี้ เมื่อเราหวนนึกถึงความเป็นมาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลกทำให้เราเกิดปีติ เกิดความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า แถมได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเนื้อในใจความแห่งคำสอนนั้นก็ชี้ให้คนเรานั้นได้เห็นหนทางออกจากทุกข์ และชี้ ให้รู้จักว่าทางนี้ไปสู่ทุกข์อย่าดำเนิน ทางนี้เป็นไปด้วยความสุขความเจริญ ให้พึงดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท ผู้ใดได้ฟังแล้วก็มองเห็นหนทางดำเนินออกจากทุกข์ ก็ร่าเริงบันเทิงใจ

    เหมือนอย่างบุคคลที่ทีแรกก็ไม่รู้จักการดำเนินจากเมืองนี้ไปสู่เมืองโน้น จากบ้านนี้ไปสู่บ้านโน้น เมื่อมีผู้รู้ ผู้ชำนาญในทาง มาชี้บอกให้ว่าถ้าจะไปจากบ้านนั้นไปสู่บ้านโน้น ต้องเดินตามทางเส้นนี้ เมื่อเดินตามไปแล้วมันจะมีทางแยก ตรงโน้น ตรงนี้ แล้วให้ไปทางขวาหรือว่าให้ไปทางซ้าย จึงจะถูกกับบ้านนั้นเมืองนั้นได้ดี อย่างนี้นะ เมื่อมีผู้ชี้บอกหนทางที่ถูกต้องอย่างนั้น ผู้เดินทางไปสู่บ้านนั้นเมืองนั้น มันก็ร่าเริงบันเทิงใจ ไม่ระแวงใจว่าตนจะหลงทาง ฉันใดก็อย่างนั้น บุคคลผู้ได้ฟังธรรม รู้ธรรม รู้แนวทางปฏิบัติ โดยถูกต้องแล้ว แถมยังได้ลงมือประพฤติปฏิบัติตาม ได้ความสงบเย็นใจตามกำลังตามความสามารถของตนของตน ได้ความร่าเริงบันเทิงใจ เป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นมีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งๆขึ้นไป สนใจยินดีที่จะสดับตรับฟังคำสอนนั้นบ่อยๆ เรียกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นก็ย่อมสอนไปเรื่อยๆ
    สำหรับบุคคลที่เป็น เสขะ ผู้ยังต้องศึกษา จำเป็นต้องฟังไปเรื่อยๆ ต้องปฏิบัติไปเรื่อย เพราะยังต้องศึกษา ยังพ้นทุกข์ไปโดยเด็ดขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องศึกษาไป ค้นคว้าไป เมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็หาทางแก้ไขไป ไม่ย่อท้อถอยหลังเพราะว่าได้อุบายปัญญาจากพระธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงเลื่อมใสยินดียิ่งในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เบื่อ ไม่หน่ายเลย

    ยิ่งเป็นพระอรหันต์ ท่านยิ่งเลื่อมใสใหญ่ พระอรหันต์ท่านไม่เบื่อไม่เหนื่อย ต่อพระธรรมคำสอนแล้ว เพราะเหตุว่าการที่ท่านจะทำอาสวะให้หมดสิ้นไปได้นั้นก็โดยอาศัยที่ท่านได้มาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระองค์แนะไว้นั้น โดยความไม่ประมาท จึงสามารถละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปได้ เมื่อท่านละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปได้ไปได้ด้วยคุณธรรมอะไร ท่านก็เคารพต่อคุณธรรมอันนั้น ไม่มีประมาทเลย เคารพหมายความว่า หมั่นกำหนด หมั่นพิจารณา ให้เห็นแจ้งในพระธรรมนั้นเสมอๆ

    เช่นว่า ท่านบรรลุมรรคผลธรรมวิเศษได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 เมื่อเวลาท่านทำความเพียร เข้าสมาธิภาวนา ท่านก็เจริญสติปัฏฐานสี่นั้น ท่านก็ตรวจดูสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ให้แจ่มแจ้งในใจด้วยดี แล้วท่านได้เข้าไปสงบเสวยวิมุติสุขอยู่ในพระนิพพาน ก่อนที่จะไปเสวยวิมุติสุขในนิพพาน ท่านต้องเพ่งพิจารณาตรวจตราสติปัฏฐานธรรมทั้ง4 ให้แจ่มแจ้งไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นปฏิปทาของพระอรหันต์ทั้งหลาย หรือว่าพระอนาคาก็เหมือนกันแหละ ท่านผู้ได้ความสงบใจด้วยกรรมฐานอันใด ก็ไม่ลืมกรรมฐานอันนั้น ย่อมเพ่งกรรมฐานอันนั้นให้แจ่มแจ้งในใจเสมอ เช่นนี้แล้ว การเข้าสมาธิก็ไม่ลำบากเพราะว่าเคยชินกับกรรมฐานนั้นแล้ว พอกำหนดนึกเพ่งกรรมฐานอันนั้นเวลาใด กรรมฐานนั้นก็แจ่มแจ้งในใจ เมื่อใจเห็นแจ่มแจ้ง ก็ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญไปทางอื่น มีแต่ไหลเข้าสู่ความสงบอย่างเดียว อุปมาเหมือนบุคคลที่ชำนิชำนาญทางเข้าไปสู่ห้องนอน ไปสู่เตียงนอน ตนเคยเข้าไปอยู่ทุกคืน มันก็ไม่ลังเล พอเปิดประตูเข้าไป เดินเข้าไปก็ถึงเตียงนอน ห้องนอนได้ สบายไปเลย เพราะมันชินพอแรง

    ฉันใดก็ฉันนั้น การทำสมาธินี้ เมื่อผู้ใดไม่ลืมเลือนกรรมฐานที่ตนเห็นแจ้งมามาแต่ทีแรกนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นเรื่องลำบาก เพราะมันชำนิชำนาญมามาก แต่บางคนไม่ยืนตัวอยู่ในกรรมฐาน เป็นผู้ มีใจโลเลอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทำอะไร ต้องให้มันมีสัจ มีจริง เมื่อตนเจริญกรรมฐานอย่างนี้ใจจึงสงบลง ก็ต้องจำให้แม่นไว้ แล้วคราวต่อไปก็เจริญกรรมฐานอันเก่านั้นแหละ ก็เพ่งเอาให้กรรมฐานมันแจ่มแจ้งขึ้นมาแล้ว มันก็สงบลงได้เท่านั้นเอง ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงสอน สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทำให้มาก เจริญให้มาก จำเอาไว้คำนี้นะ ถ้าเราไม่เจริญไม่ทำให้มากแล้ว มันจะไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความเห็นจริงเลย จะมีใครแนะนำในทางที่ถูกที่ต้องอย่างไรก็ตาม แต่หากว่าตนไม่ทำให้มากไม่เจริญให้มากจนชำนิชำนาญแล้ว ก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควรเลย
    เพราะฉะนั้นพยายามสังเกตให้ได้ เมื่อตนชำนาญกรรมฐานอะไรใจจึงสงบก็ เคารพต่อกรรมฐานอันนั้น เรื่อยไป แม้ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจาอะไร ก็อย่าไปลืมกรรมฐานอันนั้น ต้องตรวจตราอยู่เสมอ เช่น บางคนนะ เมื่อมานึกถึงความตายเป็นอารมณ์เลยอย่างนี้ เกิดความสังเวชสลดจิตขึ้นมา มีสติ ประคองจิตอันนั้นลงไป จิตก็คลายอารมณ์ภายนอกทั้งหมด เข้าไปถึงความสงบได้ เพราะว่ามองเห็นว่า เมื่อความตายมาถึงแล้ว ต้องทอดทิ้งทุกอย่างหมด ไม่มีอะไรเป็นของตัว ไม่มีอะไรติดตาม แม้แต่น้อยเดียว เมื่อมองเห็นแบบนี้ จิตก็คลายอารมณ์ต่างๆไปได้ จิตถึงสงบลงไปได้ ที่ไม่สงบเพราะมันไม่คลายอารมณ์ต่างๆในอดีต อนาคต ที่มันยึดมันถือเอามานั้น เอามาหมักดองไว้ในจิตใจ ใจก็เลยค้างอยู่ มันลงไปไม่ได้ เพราะมันคาอารมณ์เหล่านั้น ทำอย่างไรให้จิตมันคลายอารมณ์เหล่านั้น ก็หาอุบาย เพ่งเข้าไป อย่างเช่นว่านี้แหละ ถ้าหากใจมันแข็งกระด้างกระเดื่องมันไม่อยากลง เราก็นึกถึงความตายบ่อยๆเข้า ทำไมล่ะจึงยังเกาะอยู่จึงข้องอยู่ ยังคาอยู่ เมื่อความตายมาถึงแล้ว ตนจะได้เอาสิ่งเหล่านี้ติดตามไปหรือ เตือนตนเข้าไปอย่างนั้น เมื่อมันรู้ตัวได้มันก็จริง เมื่อความตายมาถึงไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปแม้แต่ชิ้นเดียว สมบัติในโลกนี้ เมื่อเห็นอย่างนี้ ใจมันก็ลงไปได้ เป็นสมาธิไปได้

    เวลาไม่ได้เข้าสมาธิอันนั้น เวลาปกติ อยู่ตามธรรมดา ป้องปัน ก็หมั่นทบทวนนึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันความประมาท ความพลั้งเผลอ ความมัวเมา เมื่อนึกถึงความตาย ไม่เพลิดเพลินไปในกามคุณ การระลึกถึงความตายนี้ก็นับว่าเป็นกรรมฐานที่เหมาะสมต่อคนหมู่มาก ส่วนมากเลยแหละ เพราะคนส่วนมากชอบเพลิดเพลินในกามคุณ เมถุน สังโยชน์ นั่นแหละมากต่อมากเลยทีเดียว ทีนี้ บางคนจะมาเพ่งตั้งแต่อสุภะอสุภังเป็นอารมณ์ มันก็ไม่ลงก็มี จิตนั่นแหละ บางทีมาเพ่งให้มันเห็นเป็นของโสโครกปฏิกูลแต่มันกลับเห็นเป็นของสวยงามก็มี เพราะราคะ ตัณหา มันย้อมใจ เป็นเช่นนี้ให้นึกถึงความตายมาประกอบเข้าด้วย เมื่อมันเห็นแจ้งในความตายชัดเจนแล้ว มันอาจจะคลายอารมณ์นั้นออกไปก็ได้

    บางคนก็ว่านึกถึงความตายบ่อยๆเข้า กลัวอายุมันจะสั้น มันจะตายเร็ว ผู้ที่ยุยงส่งเสริมอย่างนั้นก็มี คนหูเบา คนปัญญาอ่อน ก็ไปเชื่อเอาเลย ไม่อยากนึกถึงความตาย กลัวจะอายุสั้น แท้ที่จริงหาเป็นอย่างนั้นไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระศาสดาไม่ได้ทรงสอนให้เราไปนึกถึงความตายหรอก ความจริงน่ะ เพราะว่าชีวิตนี้ อัตภาพร่างกายอันนี้มันมีบุญและบาปเป็นเครื่องรักษาอยู่ บุญบาปที่บุคคลทำมาแต่ชาติก่อนหนหลัง มันตามมารักษาไว้อยู่ ถ้าบุญกรรมนั้นยังไม่หมด ตราบใดแล้ว ต่อเมื่อผู้นั้นจะนึกความตาย วันละร้อยวันละพันครั้ง มันก็ไม่ตาย อายุมันก็ไม่สั้นหรอก ด้วยเหตุผลกลใดเล่า เพราะว่ามันมีหลักฐานอยู่ มันมีหลักฐานยืนยันอยู่แล้ว
    เพราะฉะนั้นคนเราต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้เห็นตามเป็นจริง อย่าไปเชื่อปรัมปรา คนที่เห็นผิดมีอยู่มากในโลกนี้ ตนเห็นผิดแล้วยังไปหลอกลวงคนอื่นให้ตามไปด้วย อย่างนี้มีอยู่ถมไป บางคนตนเห็นผิดก็ไม่รู้ หรอกว่าตนเห็นผิด ยังเข้าใจว่าตนเห็นถูกอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ บุคคลไม่ควรเชื่อในอาการ 10 อย่าง ที่ท่านแสดงไว้ในกาลามสูตร ข้อหนึ่งนั้นว่า ไม่ควรเชื่อโดยสำคัญว่า ผู้นี้เคยเป็นครูเป็นอาจารย์ของตนมา พระศาสดาทรงสอนถึงขั้นนั้น ถึงแม้ผู้นั้นเป็นครูอาจารย์เคยสอนตนมาอยู่บ่อยๆก็ช่างนะ ถ้าหากว่าตนยังวินิจฉัยคำสอนที่ท่านแนะนำนั้น ยังไม่เห็นแจ่มแจ้งขึ้นมา ก็ไม่ควรที่จะไปเชื่อไปเลยทีเดียว พระองค์เจ้าหมายเอาอย่างนั้น ต้องค้นคว้า ต้องพิจารณาคำสอนที่ท่านแนะนำมานั้น มันเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าตนคิดไม่ออกก็นำไปถามท่านผู้รู้ทั้งหลายดู ถ้าท่านผู้รู้ท่านรู้จริง ท่านจะได้แสดง ท่านจะได้ชี้แจงให้ฟังพร้อมด้วยเหตุด้วยผล จนเจ้าของปัญหาหายสงสัย นั่นแหละจึงค่อยเชื่อ หายสงสัยว่า ครูอาจารย์ที่ท่านแนะนำสั่งสอนมานี้ท่านสอนถูกทางจริงๆ เป็นทางพ้นทุกข์จริงไม่ผิด เพราะว่าตนก็พิจารณาเห็นแจ้งด้วยตนเองขึ้นมาแล้ว

    ไม่ว่าเรื่องใดๆ เมื่อเราได้ยินได้ฟังมา ก็ควรที่จะน้อมเข้าไปวินิจฉัยให้มันเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยตนเองทุกอย่าง ถ้าไม่สามารถเห็นแจ้งด้วยตนเองก็ไปเรียนถามท่านผู้รู้ทั้งหลาย อย่างว่านั้นแหละ ให้ท่านชี้แจงแนะนำให้เข้าใจ อันนี้ได้ชื่อว่าเป็น บ่อเกิดแห่งปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่มีเขาไม่มีเราอยู่ในขันธ์ห้านี้เลย เมื่อมันเห็นว่างจากสัตว์จากบุคคล ตัวตน เรา เขา ไปอย่างนี้ การที่มันจะไปสร้างกรรมดีกรรมชั่ว พาตัวให้ไปเกิดอีกนั้นไม่เอาแล้ว ทำความดีก็ทำเพื่อขจัดกิเลสตัณหาออกจากจิตใจเท่านั้น ไม่ได้ทำความดีเพื่ออะไร สำหรับท่านผู้รู้ทั้งหลายนะ ท่านย่อมน้อมใจลงอย่างนี้

    อุปมาเหมือนบุคคลต้องการจะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น ก็ขวนขวายหาไม้มาต่อเรือเข้า พอต่อเรือเสร็จแล้วก็พายกันจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น เมื่อไปถึงฝั่งโน้นแล้ว มันเป็นอิสรเสรีภาพ ไม่มีทุกข์ไม่มีมีร้อน ไม่มีอยากมีหิว เรื่องอะไรจะไปห่วงเรืออยู่ มันก็ต้องสละเรือทิ้งไปเลย เพราะว่าได้รับอิสรภาพเต็มที่แล้วนี่ คำว่าฝั่งโน้น ท่านหมายเอาพระนิพพานนั้นเองแหละ แต่เวลาที่ยังไม่ถึงพระนิพพาน ไม่ได้บรรลุพระนิพพาน ก็อาศัยเรือนั่นไปก่อน เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพาน ก็อุปมาเหมือนคนที่ยังอยู่ในเรือนั้น ยังต้องอาศัยบุญอาศัยกุศลไปก่อน บุญกุศลพาให้ไปเกิดสวรรค์ชั้นฟ้า พาให้มาเกิดในโลกนี้ เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์ อะไรต่ออะไร ความสุขกายสบายใจ มีอายุยืนยาวยาวนาน อาศัยบุญกุศลที่กำลังสร้างสั่งสมมาเป็นลำดับ เหมือนบุคคลที่กำลังนั่งอยู่ในเรือกำลังแล่นข้ามน้ำไปอยู่ ไม่ได้รับอันตรายอะไร น้ำไม่ได้ท่วม ไม่ได้จมน้ำตาย เพราะเรือนั้นต่อดีแล้ว เรือก็ไม่รั่ว เปรียบได้กับชีวิตจิตใจของคนเรา เมื่อสั่งสมบุญกุศลให้มากเต็มความสามารถแล้ว ส่วนใดเป็นบาปก็เพียรละเพียรถอนให้หมดให้สิ้นไปเสีย อาศัยแต่บุญกุศลอย่างเดียว แม้จะไปเกิดในภพใดชาติใด ก็ไม่ทุกข์ไม่ยากลำบากเดือดร้อนอะไรเท่าใดนัก แต่ว่าจะไม่ทุกข์เสียเลยก็ไม่ได้ เพราะถึงจะมีบุญมากเพียงใด มันก็ไม่พ้นจากแก่ เจ็บ ตาย แต่ทุกข์ที่เกิดจากบาป อกุศล อำนวยผลให้ทนทุกข์ทรมานยิ่งกว่าแก่ เจ็บ ตายนี้ นี่ไม่ได้รับ เพราะเหตุว่าละบาปหมดแล้ว
    อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า อันบาปนั้นนำจิตวิญญาณให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก ตกลงไปในนรกน้ำร้อนลวกไฟเผา ร้องครวญคราง ความทุกข์เช่นนี้บุคคลผู้มีบุญจะไม่ได้พบเลย หมายความว่าอย่างนั้น จะได้พบแต่ความร่าเริงบันเทิงใจ เพราะด้วยอำนาจบุญกุศลนั้น หากประคับประคองจิตใจให้เยือกเย็นสบายดี แล้วบุญกุศลก็ตกแต่งร่างกายนี้ให้เป็นปกติ ไม่ค่อยจะมีโรคภัยอันร้ายแรงเบียดเบียน เพราะฉะนั้นบางยุคบางสมัยคนจึงมีอายุยืนตั้งหมื่นปี สองหมื่นปีก็มี แสนปีก็มี ล้านปีก็มี อย่าว่าคนจะไม่มีอายุยืนนะ ก็ด้วยอำนาจบุญนั่นแหละ เมื่อสั่งสมไว้แล้ว เป็นอย่างนั้น แล้วอายุยืนเช่นนั้น คงไม่มีโรคภัยร้ายแรงเบียดเบียน เหมือนอย่างคนที่มีอายุสั้นในสมัยนี้ ถ้าหากว่ามีแต่โรคภัยเบียดเบียนอยู่อย่างยุคสมัยนี้ คนจะไม่มีอายุยืนอย่างนั้นเลย เหตุที่มีอายุยืนไปได้ คงจะมีแต่โรคหิวข้าว กระหายน้ำ หิวหลับ หิวนอน ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เท่านั้นล่ะมัง โรคอันประจำสังขารนี้ มีเท่านั้นจะไปเดือดร้อนอะไรนักหนาเล่า เพราะฉะนั้นคนเราถึงมีอายุยืนนะ

    คนที่มีอายุสั้นเพราะเหตุว่ามีทั้งบุญทั้งบาปติดตัวมา คราวใดบุญให้ผล ก็รู้สึกเป็นสุขสบายไปชั่วระยะหนึ่ง คราวใดบาปให้ผล เอาแล้ว ร่างกายนี้เกิดความวิบัติขึ้นมาแล้ว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สมัยทุกวันนี้ นอกจากเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งหมอรักษาเยียวยาให้ไม่ได้แล้ว ก็ยังมี รถคว่ำ แขนหัก ขาหัก ตาบอด อะไรสารพัด ร่างกายจะวิบัติลงไป เสียองคะกันไปจนตลอดวันตายก็มี ถูกมันโจรจี้ มันปล้น มันทำร้ายร่างกาย ให้เจ็บให้ป่วย รอดล้มรอดตาย ล้วนตั้งแต่ผลจากบาปกรรมที่ผู้นั้นทำเอามาแต่ชาติก่อน มันตามมาให้ผลทั้งนั้นแหละ แต่คนส่วนมากไม่ค่อยเชื่อหรอก นึกว่ามัน อืม ก็อุบัติเหตุเกิดขึ้นปัจจุบันนี้ จะว่ากรรมเวรอะไร ว่ากันไปอย่างนั้นแหละ แต่ทีนี้ คนที่เขาไม่มีกรรมมีเวรเขายังไม่มีอุบัติเหตุมันก็มีถมไปไม่ใช่เหรอ ก็เฉพาะมามีตนนี่ เป็นอย่างนั้นไป ถ้าหากพูดตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แน่นอน คนเราถึงความวิบัติ ไม่สามารถเยียวยาได้อย่างนั้น มันต้องกรรมเวรจริงๆเลยทีเดียว ตนได้เคยเบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นให้เป็นทุกข์ ไปทุบไปตีเขา เสียองคะอะไรต่ออะไรไป หมู่นั้นแหละ เกิดมาชาตินี้ กรรมนั้นก็ติดสอยห้อยตามมา เมื่อได้โอกาสมันก็ให้ผล เป็นอย่างนั้น

    เหมือนอย่างพระภิกษุองค์หนึ่งที่มีนามว่า ท่านปูติคัตตะกายเถระ แปลว่าพระเถระผู้มีกายอันเน่า ตั้งแต่ครั้งศาสนาพระพุทธเจ้าที่ทรงพระนามว่ากัสสัปปะ เมื่อพระองค์ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่พระสงฆ์ มีครอบครัวหนึ่ง พ่อบ้านเป็นพรานนก ไปเที่ยวดักเอานกมาขายเลี้ยงชีวิต อยู่อย่างนั้น ทีนี้พอจับนกมาได้หลายๆแล้ว กลัวมันจะบินหนีก็ไปหักปีกหักขามัน เอาวางไว้ให้คนมาซื้อเอาไป ทำอาหารกินกัน อยู่มาวันหนึ่ง แม่ครัวทำอาหารปิ้งนกใส่ภาชนะมาต่อหน้าพ่อบ้านนั้น พอดีมีพระอรหันต์องค์หนึ่งท่านมายืนบิณฑบาตหน้าบ้าน พ่อบ้านเห็นพระมายืนอยู่ก็เลื่อมใสยินดี เอาอาหารที่แม่ครัวยกมาให้ตนกินนั้น ไปใส่บาตรให้พระเถระองค์นั้นเสีย ตั้งปติภาณปรารถนาลงว่า ด้วยอำนาจผลบุญกุศลที่กระทำในครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีส่วนในธรรมที่ท่านรู้แล้วด้วยเถิด พระท่านให้พรแล้วท่านก็ผ่านไป ทีนี้พอหมดอายุสังขารในชาตินั้นแล้ว ไม่ทราบว่าจะไปตกนรกอย่างไรตำราท่านไม่ได้กล่าวไว้ พอมาถึงศาสนาพระพุทธเจ้าของเรา ชายคนนั้นก็มาเกิดในเมืองสาวัตถีนั้น

    พอเกิด เจริญวัยใหญ่โตเป็นหนุ่มขึ้นมา พอดีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา บังเกิดในโลก ได้ไปสร้างวัดอยู่ที่เมืองสาวัตถีชื่อ วัดเชตวันนาราม กุลบุตรผู้นี้ก็ศรัทธาออกบวชกับบรรดาหนุ่มทั้งหลายเช่นเดียวกัน เมื่อบวชมาแล้วท่านก็ตั้งใจศึกษาธรรมวินัย เจริญสมถะวิปัสสนามามาโดยลำดับ แต่ตอนนั้นยังไม่บรรลุมรรคผลอะไร พออยู่มา กรรมเวรแต่ก่อนได้หักปีกนก ได้หักขานก มันได้โอกาสให้ผลแล้ว ก็ทำให้เกิดเป็นตุ่มพุพองขึ้นทั่วร่างกาย น้ำเหลืองไหลเยิ้ม ส่งกลิ่นเหม็น จนลูกศิษย์ลูกหาไม่กล้าเข้าใกล้ได้ ท่านก็นอนแช่น้ำเน่าน้ำเหม็นตัวเองอยู่อย่างนั้น ไปไหนก็ไม่ได้

    ในคืนหนึ่งพระศาสดาเล็งญาณส่องสัตว์โลก ท่านปูติคัตตะกายเถระก็ไปต้องข่ายพระญาณของพระองค์ รุ่งเช้ามา พระองค์เสด็จเลียบวัดไป ไปสู่ที่อยู่ของเถระองค์นี้ ไปเห็นท่านนอนแช่น้ำเน่าน้ำเหลือง พระเณรทั้งหลายไม่ใกล้แล้ว พระองค์ก็ไปทำท่าติดไฟขึ้น เอาน้ำใส่หม้อตั้งขึ้น พระทั้งหลายเห็นอย่างนั้น ก็รีบกุลีกุจอมารับอาสาทำแทนพระองค์ เมื่อน้ำเดือดแล้ว พระเหล่านั้นก็เอาผ้าท่านไปลวกน้ำร้อน ไปซัก เอาผืนหนึ่งไปซัก พระสมัยนั้นเพิ่นมีผ้าสามตัวจริงๆนะ ในเรื่องไม่ปรากฏว่าเอาได้ผ้าผืนอื่นมาผลัดเปลี่ยน เช่น เอาผ้าสบงออกไปซัก ลวกน้ำร้อน เอาจีวรห่มไว้ เมื่อตากผ้าสบงแห้งแล้ว ก็เอาผ้าสบงมานุ่งให้ เอาจีวรไปลวกน้ำร้อน ไปซักให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วในขณะนั้นก็เอาผ้าชุบน้ำอุ่นไปถู ไปพยายามถูตามตัวของท่านให้น้ำเหลืองน้ำเน่าออกไป ให้ร่างกายสะอาดไปด้วยดี หมดจดดีแล้ว ผ้าจีวรแห้งแล้วก็เอาจีวรห่มให้
    เมื่อนุ่งสบงทรงจีวรเรียบร้อยแล้ว พระศาสดาก็จึงไป ประทับยืนอยู่บนศีรษะท่านปูติคัตตะกายเถระนั้น แล้วกล่าวภาษิตนี้ขึ้นว่า
    (บาลี)
    โอ้ ร่างกายของคนเรานี้ ไม่นานหนอบังเกิดก่อแล้วกลับกลาย
    ดุจฟองแห่งน้ำ หมายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
    เมื่อจิตวิญญาณนี้ละจากร่างนี้ออกไปแล้ว
    ร่างกายนี้ก็นอนทอดอยู่บนพื้นแผ่นดิน
    อุปมาเหมือนท่อนกล้วยที่เขาตัดทิ้งไว้บนดิน
    ก็มีแต่เน่าเปื่อยผุพังไป ฉันนั้น

    เมื่อพระองค์ตรัสภาษิตนี้จบลง ท่านปูติคัตตะกายเถระก็ได้บรรลุอรหันต์
    เมื่อท่านบรรลุอรหันต์ ท่านก็นิพพานไปเลย เรียกว่าหมดอายุสังขารพอดีเลย

    ที่ยกเรื่องราวของท่านผู้ทำทั้งบุญทำทั้งบาปมาอธิบายสู่กันฟังนะ เพื่อให้รู้ว่าคนเรานั้นทำทั้งบุญทั้งบาป มันก็ได้เสวยทั้งสุขทั้งทุกข์ ดังกล่าวมานี้แหละ ใครชอบหรือแบบนี้ ถามตัวเองดูซิ ถ้าชอบก็ทำไป ไม่มีใครว่าอะไรหรอก ถ้าไม่ชอบบาป ไม่ชอบความทุกข์ ดังกล่าวมานั้น ก็ต้องเว้นบาป อย่าไปเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น ต้องเว้นให้เด็ดขาดไปเลย เมื่อเว้นให้เด็ดขาดไปแล้วนั้น ถ้าบุญกุศลยังไม่เต็ม เกิดไปชาติใดภพใด จะมีร่างกายอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีโรคภัยอันร้ายแรงมาเบียดเบียน มีกำลังวังชาดี มีอายุยืนยาวนาน ถ้าหากว่าได้เกิดในสมัย ได้พบพุทธศาสนา หรือได้พบพระพุทธเจ้า จะมีโอกาสสั่งสมบุญได้เต็มที่

    คนเราจะทำความดีได้เพราะร่างกายดี แข็งแรง ทั้งจิตใจก็เข้มแข็ง จิตใจไม่อ่อนแอท้อแท้ต่ออำนาจกิเลสตัณหา ร่างกายก็มีกำลังเรี่ยวแรงพอทำกุศลคุณงามความดีต่างๆได้ นี่นะมันต้องพร้อม ทั้งวาจาก็ดี ไม่เป็นคนปากกืก(ใบ้) เป็นผู้มีเสียงไพเราะเพราะพริ้ง เรียกว่าพร้อมด้วยไตรทวาร เมื่อผู้ใดพร้อมด้วยไตรทวารดังกล่าวมานี้ ก็สามารถประกอบกุศลคุณงามความดีได้เต็มที่เลย สามารถประกอบทานการกุศลได้ ขวนขวายในวัตถุทานได้ สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ สามารถเจริญภาวนาสมาธิ เพื่อบรรลุธรรมขั้นสูงโดยลำดับได้อยู่ โดยอาศัยกำลังกายนี้แหละช่วย

    เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรานั่นแหละ ในเมื่อพระองค์อดอาหารจนซูบจนผอม ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะสู้กับมารทั้งหลายได้ ไม่สามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้ ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงบิณฑบาต บำรุงอัตภาพร่างกายนี้ให้มีกำลังเป็นให้ปกติแล้ว จึงเสด็จประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต่อสู้พญามารและเสนามารเหล่านั้นให้พ่ายแพ้ไปได้อย่างราบคาบ เพราะอาศัยพระองค์ทรงเพียบพร้อมไปด้วยทั้งกำลัง พระกาย กำลังพระมนัสคือดวงใจ กำลังปัญญา ประกอบพร้อมไปหมดเลย

    เมื่อพวกเราเหล่าพุทธบริษัท ได้สดับตรับฟังแล้ว พึงพากันมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาให้เห็นอำนาจแห่งการละบาปบำเพ็ญบุญ ให้เกิดให้มีขึ้นในตน ดังแสดงให้ฟังมาโดยลำดับ ก็นับว่าสมควรแก่เวลาขอยุติลงเพียงเท่านี้.
     

แชร์หน้านี้

Loading...