เรื่องเด่น ในหลวง ร.๙ สอนฝึก"สติ" ความดีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ทันที

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 24 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    ในหลวง ร.๙ สอนฝึก"สติ" ความดีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ทันที

    63519_5790.jpg

    สติคือธรรมะแห่งปัจจุบันขณะ

    การทำดีนั้นมีหลายอย่าง อย่างที่ท่านทำดีโดยที่ได้ร่วมกุศลเป็นเงินเพื่อที่จะแผ่ไปช่วยผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นก็เป็นการกระทำที่ดีอย่างหนึ่ง การกระทำที่ดีอีกอย่างที่ได้กล่าวก็คือ มีความปรองดองสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุดหนุนกัน แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน โดยเฉพาะอย่างหมู่คณะที่ตั้งขึ้นมาอย่างนี้ก็ช่วยกันในทางวัตถุและในทางจิตใจ ความสามัคคีนี้ก็เป็นการทำดีอย่างหนึ่ง

    การทำดีอีกอย่างซึ่งจะดูลึกซึ้งกว่า คือปฏิบัติด้วยตนเอง ปฏิบัติให้ตัวเองไม่มีความเดือดร้อน คือพยายามหันเข้าไปในทางปัจจุบันให้มาก

    อย่างง่ายๆ ก่อน คือพิจารณาดูว่า ตัวเองกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร ให้รู้ตลอดเวลา แล้วรู้ว่าทำอะไร อย่างนี้เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีภัย ถ้าเราคอยระมัดระวังตลอดเวลา ให้รู้ว่าตัวทำอะไร ให้รู้ว่าการทำนี้เราทำอะไรตลอดเวลา ก็จะไม่ผิดพลาด เพราะว่าโดยมาก ความผิดพลาดมาจากความไม่รู้ในปัจจุบัน บางทีเราก็เผลอ

    สมมติว่า มีใครมาพูดอะไรไม่ดี เราก็โกรธ ถ้าโกรธแล้ว มันก็เป็นผลที่ไม่ดีต่อไป เพราะว่าคนที่มาพูดไม่ดีนั้นก็อาจจะไม่ตั้งใจมาพูดไม่ดี เขาเผลอไปเหมือนกัน เราเผลอไปอีกทีก็ทำให้โกรธ อาจทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงไปได้โดยใช่เหตุ

    ถ้าสมมติว่า เรายืนฟัง เราฟังเขาแล้วเวลานี้ก็ไม่พอใจ แต่ว่าเราดูว่าเขาไม่พอใจ รู้ว่าไม่พอใจแล้วก็นิ่งเสียครู่หนึ่ง นึกว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น ในเวลานั้น เขาอาจจะอธิบายให้เราฟังได้แล้วว่า การทำนั้นหรือการที่เขาพูดนั้น เขาพูดทำไม ซึ่งเขาไม่ได้มาพูดในทางที่จะรุกรานเรา

    เช่น เวลาเราทำอะไรอย่างหนึ่ง มีคนมาพูดว่าไม่ดี เราก็เคือง เราเคืองนั้นก็เรียกว่าโกรธ แต่ว่าเขาอาจจะพูดอย่างนั้นเพราะหวังดี เห็นว่าอันตรายที่ทำอย่างนั้น อย่างเราจะก้าวลงข้ามถนน แล้วมีคนมาดึงแขนเราอย่างกระชากแขน เขาทำร้ายเรา แต่ความจริง เขากระชากแขนนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้าย เขาดึงเราเพราะกลัวว่าจะถูกรถชน ถ้าเราเห็นอย่างนั้น เรารู้ เราไม่โกรธ แต่ถ้าใครเขาจับแขนเรา เราเคืองแล้วกระชากแขน ล้มลงไปให้รถชน ดีไหม

    ฉะนั้น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ คือรู้ว่าทำอะไร รู้ว่าเป็นอะไร รู้ตัวว่าจะทำอะไร มีสติสัมปชัญญะ ถ้าปฏิบัติเฉพาะสติสัมปชัญญะ แล้วเข้าใจคำว่า “สติสัมปชัญญะ” นี้ อย่างอื่นของธรรมะ ปฏิบัติธรรมะนี้ ก็เป็นการปฏิบัติซึ่งเริ่มต้น แล้วต่อไปจะไปนั่งสมาธิ ...


    สติคือความดีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ทันที


    ท่านทั้งหลายสนใจในการอยู่ดีกินดี และสนใจในความดีในจิตใจ สามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข คืออยู่ดีกินดี ก็หมายความว่าทำหน้าที่อาชีพอย่างสุจริต

    และจิตใจที่มีความสุขนั้นทำด้วยการฝึกจิตใจแต่ละบุคคลให้เห็นความดีด้วยสติสัมปชัญญะ ถือว่าเป็นขั้นที่จะไปสู่ความสงบ ไม่ใช่ว่าไปนั่งวิปัสสนาในวัดเท่านั้นเอง นั่นนะ ส่วนหนึ่งนั่งวิปัสสนา นั่งกรรมฐาน

    แต่การปฏิบัติทุกวันทุกเวลาที่ตื่นมีสติสัมปชัญญะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ อันนี้เป็นความดี ความอดทน และก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา ...


    [1] พระราชดำรัส ในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก (ถานุตฺตโร) และคณะ เฝ้าถวายเงินและต้นเทียนพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕.

    [2] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.




    มีสติแค่ไหน กิเลสก็หมดไปแค่นั้น


    แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เราปล่อยตัว ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติสัมปชัญญะ ปล่อยให้ทำไม่ดี เดี๋ยวก็เห็นอะไรของเขาวางไว้ หยิบฉวยไปแล้วใช้เป็นของธรรมดา ของที่วางไว้ไม่มีเจ้าของ

    อย่างที่เขาพูด เวลามีเงินงบประมาณแผ่นดิน เฮ้ย... นี่เงินกองกลางยังอยู่ ไม่ใช่เงินของเรา จ่ายไป เขาจ่ายไป อันนั้นนะเคยชินไป ไม่มีความสุจริต จนกระทั่งทำไปทำมาไปหยิบฉวยเขา ไปทำการขโมย วันหนึ่งถูกจับเข้าคุก มันก็ทุกข์ใหญ่

    แต่ว่าไม่เข้าใจ บางคนนี่แปลกจริงๆ ของมันวางเอาไว้ ไม่มีเจ้าของ หยิบเอาไป แต่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ มันต้องมีเจ้าของ สิ่งที่มีค่าจะต้องมีเจ้าของ พานที่วางอยู่นี่ มันวางอยู่ก็หยิบไป ก็ไม่ถูก เป็นเรื่องของการทุจริต แต่ว่าตอนแรก ถ้าเรารู้ว่าอะไรสุจริต อะไรทุจริต เราก็ไม่ทำ

    บางทีเรียกว่ามันอยาก แล้วมันยั่วใจ มันล่อใจ มันก็ต้องพิจารณา แต่ทีหลัง มันก็เป็นความเคยชินได้ว่าไม่ทำ แต่ว่าถ้าทำไปเรื่อยก็เป็นความเคยชินว่า ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันนั้นนะ

    รวมทั้งทำในทางที่โกรธอะไรมาต้องโกรธเลย ไม่ละ ไม่คิด ไม่พิจารณา ทีหลังก็จะเป็นคนโกรธ อะไรมากระทบนิดเดียวก็โกรธ เพราะว่ามันสะสมเอาไว้ในจิตของเรา นั่นคืออาสวะและอนุสัย

    จนกระทั่งปฏิบัติถึงขั้นสูงแล้ว จะเป็นพระ จะเป็นผู้ที่ออกไปปฏิบัติธรรมะชั้นสูงแล้ว ความเคยชินนี้ยังอยู่ในตัว ต้องขัด เรียกว่าขัดเกลาด้วยการพิจารณา ต้องใช้อะไร ก็ต้องใช้สติสัมปชัญญะนั่นเอง ต้องพยายามที่จะรู้อยู่เสมอว่า อันนี้คืออะไร ตัวกำลังทำอะไร สติก็ระลึกรู้ว่าอันนี้อะไร แล้วก็สัมปชัญญะก็รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่สติสัมปชัญญะ

    อันนี้พูดในระดับสูงกว่าที่พูดถึงว่า นำดอกไม้ไปบูชาเป็นทางไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา สติสัมปชัญญะนี้เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อนำไปสู่ความชอบ ความสุข ความอดทน

    [3] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.


    สติคือปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับการบรรลุนิพพาน


    แม้จะเรื่องอื่นที่ท่านห้ามไม่ให้มี เพราะเป็นเรื่องต้นเหตุแห่งความประมาท คือความไม่รู้สติ ไม่รู้สติแล้วคือไม่รู้อะไรเป็นอะไร และนั่นคือความเสียหายอย่างหนึ่ง ความทุกข์อย่างหนึ่งก็มา อันนั้นไม่ใช่ท่านทั้งหลายเมาเหล้า ไม่ใช่ แต่ว่าพูดถึงว่าทำไมถูกห้าม ก็เพราะว่าทำให้เกิดเสียหายโดยตรงทีเดียว ... แล้วก็เสียหายในทางที่เรียกว่า เกิดขึ้นมาจริงๆ

    แต่ว่ามีเสียหายอีกอย่างก็คือ ถ้าเราอยากที่จะได้ผลในการปฏิบัติทางศาสนา คือหลุดพ้น วิมุตติ มันไม่มีทางพ้นวิมุตติ เพราะหลุดพ้นวิมุตตินี้ การปฏิบัติตัวสำคัญคือต้องมีสติ

    ท่านว่ามีหลายทาง แต่ว่าตัวกลางตัวสำคัญคือสติ คือระลึกได้ หมายความว่า เห็นอะไรก็รู้ว่าเป็นอันนั้นๆ ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ถ้าไปครั้งหนึ่ง ถ้ารู้จริงๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็หมายความว่าเห็นอะไรปับรู้ อีตานี่มีหูทิพย์ อันนี้ถ้ารู้เรียกว่า รู้ถึงได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าได้ประโยชน์

    แต่ว่าคนเราต้องมีเผลอบ้าง แต่ว่าถ้าสติอยู่กับตัว มีสติสัมปชัญญะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว อะไรๆ ก็รู้หมด รู้ได้ทันที แล้วก็เมื่อมีอะไรที่มาโจมตี เราก็ปรับได้ทันทีด้วยสติสัมปชัญญะ

    นี่เป็นการปฏิบัติสูงขึ้นมาจากการบูชาด้วยดอกไม้ คือมีสติสัมปชัญญะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้น มาได้ด้วยอาศัยฐานรากที่ดีของศีล แล้วก็ต่อมาก็ด้วยมีขั้นสมาธิ ซึ่งสตินี้เป็นสัมมาสติ อยู่ในจำพวกสมาธิจิตอธิษฐาน

    ฉะนั้น ก็เมื่อมาถึงเดี๋ยวนี้แล้วก็รู้ ก็เป็นปัญญา คือว่าเรารู้ได้แน่นอนว่าอะไรเป็นอะไร เรารู้อะไรที่ทำให้คนพ้นวิมุตติ เรารู้ได้ว่าอะไรทำให้เจริญรุ่งเรือง เราก็ปฏิบัติได้ เพราะมีสติ แล้วก็สติและสมาธิอันเป็นตัวกลาง เริ่มด้วยศีลแล้วก็ไปสมาธิเลย

    ปัญญาก็ทำให้เราเลือกอะไรๆ ได้ ก็เลือกในทางที่ถูกต้อง กลับมาสามารถที่จะปฏิบัติได้ทั้งในโลกทั้งในธรรม สามารถที่จะปฏิบัติงานของตัว ทั้งงานของฆราวาส ทั้งงานของในทางจิตใจ ทั้งจะเป็นฆราวาสหรือภิกษุได้ ทั้งนี้เริ่มด้วยศีล แล้วก็มาเสริมด้วยสมาธิ จึงได้ปัญญา

    [4] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.



    ------------------
    ที่มา
    http://www.tnews.co.th/contents/198331


     

แชร์หน้านี้

Loading...