แนวทางการเร่งรัดกำลังใจสำหรับผู้ต้องการออกบวชไม่สึก (แจกไฟล์ pdf)

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Jarutham, 14 สิงหาคม 2022.

  1. Jarutham

    Jarutham สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 สิงหาคม 2022
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +0
    jXUNeH5P_9IfxHofG-JVGsTX_sGLRVECiH&_nc_ohc=D4iie8dxSzcAX9g3t02&_nc_zt=23&_nc_ht=scontent.fbkk4-3.jpg
    กดที่นี่เพื่อดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบไฟล์ .pdf



    แนวทางการเร่งรัดกำลังใจสำหรับผู้ต้องการออกบวชไม่สึก

    (เผยแผ่เป็นธรรมทาน ไม่สงวนลิขสิทธิ์)


    จารุธรรม

    คำปรารภ

    ผู้เขียนได้ดำริจะจัดทำหนังสือเกี่ยวกับการเร่งรัดกำลังใจสำหรับผู้ต้องการออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนผ่านมาได้ด้วยความยากลำบากและเสียเวลานานในการเร่งรัดกำลังใจของตนเอง ผู้เขียนได้ลองผิดลองถูกเพื่อแสวงหาวิธีที่จะทำให้ออกบวชได้ และต้องประสบพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวางการออกบวช จนกระทั่งผู้เขียนสามารถออกบวชได้จริง ทั้งนี้เพราะผู้เขียนขาดครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถ ผู้ที่คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง โดยการจัดทำหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กุลบุตรผู้มีความศรัทธาและกำลังแสวงหาหนทางในการออกบวชที่มีโอกาสได้ผ่านมาอ่านหนังสือเล่มนี้ จะได้นำไปใช้ในการสร้างกำลังใจของตนเองให้เข้มแข็งในเวลาอันสั้นจนสามารถออกบวชเป็นนักบวชที่ดีได้โดยง่ายตามความปรารถนา และจะได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป


    ขอทุกท่านเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อุบายใดที่พอจะทำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ให้ท่านได้พิจารณาด้วยตนเอง อุบายใดที่ไม่ถูกกับนิสัย ขอให้ท่านทิ้งไปเสีย อย่าเอามาคิดวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นที่เสียเวลา


    สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายมีความเจริญทางสติปัญญา พิจารณาในสัจธรรมใด ขอให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมนั้น หากท่านมีบารมีได้บำเพ็ญมาแล้วในอดีตชาติ พร้อมแล้วที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าในชาตินี้ ขอท่านจงสมปรารถนาด้วยเทอญ


    บุญกุศลใดที่จะพึงบังเกิดขึ้นจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมถวายบุญกุศลนี้ เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาคุณความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมวินัย และพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย มีพระเดชพระคุณพระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน) วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ผู้ซึ่งผู้เขียนนับถือเป็นบุรพาจารย์เป็นที่สุด

    จารุธรรม
    4 สิงหาคม 2565


    คำนิยม

    มองย้อนกลับไปสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นฆราวาส ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความปรารถนาอยากจะบวชเพื่อความพ้นทุกข์ แต่แล้วก็มีความลังเลสงสัยนานัปการพรั่งพรูเข้ามาในหัว ว่าการใช้ชีวิตหลังม่านกำแพงวัดเป็นเช่นไร บวชไปแล้วจะอยู่ได้หรือ ไม่สึกหรือ

    ถือเป็นความโชคดีของข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้พบท่านอาจารย์จารุธรรมก่อนบวช ทำให้ทราบความเป็นไปในชีวิตของสมณเพศ รวมถึงวิธีเร่งรัดกำลังใจ และนำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้กำลังใจเข้มแข็งพอ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองได้ใช้เวลาเร่งรัดรวบรวมกำลังใจอยู่นานเพียง 6 เดือน ก็สามารถก้าวเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์แห่งนี้ได้ และหนังสือเล่มนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสดี ที่อาจารย์จารุธรรมท่านได้เมตตารวบรวมการเร่งรัดกำลังใจ และอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ก่อนบวชจากประสบการณ์จริง เผยแผ่สู่สาธารณะไว้สำหรับผู้ที่อยากจะบวช ประดุจดั่งแผนที่ที่ทำให้เข้าใจถึงเส้นทางที่กำลังจะดำเนินไป จะได้ไม่พลัดตกนอกลู่นอกทางเสียก่อน

    สุดท้ายนี้ท่านจะบวชได้หรือไม่นั้น ก็สุดแท้แต่กำลังใจของท่านเอง

    จิณณธรรมภิกขุ


    การออกบวชคืออะไร

    การออกบวช คือ การออกจากความเป็นอยู่แบบเก่าอย่างฆราวาส เข้าสู่ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตแบบใหม่อย่างนักบวช และมีหน้าที่ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของการเป็นนักบวช การออกบวชเป็นการสละเครื่องพันธนาการอันร้อยรัดใจของบุคคล เป็นการปลดภาระความรับผิดชอบของความเป็นฆราวาสลง อันได้แก่ ความสนุกสนานเพลิดเพลินในการละเล่นและทำตนให้มีจิตลุ่มหลงในกามคุณ การศึกษาเล่าเรียนวิชาชีพ การทำมาหากินเลี้ยงชีพ การสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น และการเลี้ยงดูบุตรและภรรยา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความปลอดโปร่งของใจ ทำให้ใจไม่มีความเดือดร้อนรำคาญ เป็นการเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติสมณธรรมเป็นไปได้โดยสะดวกและราบรื่น


    มูลเหตุของการออกบวช

    คุณสมบัติที่สำคัญในการที่จะทำให้ใครสักคนอยากออกบวชและสามารถบวชอยู่ได้อย่างยาวนาน นั่นคือ ความเป็นผู้มีบุญบวช การที่บุคคลใดสั่งสมเนกขัมมบารมีมาอย่างยาวนาน เคยออกบวชมาแต่อดีตชาติ ในบางชาติที่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเสด็จอุบัติขึ้นเพื่อทรงประกาศพระศาสนา บุคคลนั้นก็จะออกบวชเป็นภิกษุหรือสามเณรในพระศาสนานั้น ๆ

    ในบางชาติที่เป็นช่วงว่างเว้นจากพระศาสนา กล่าวคือ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างพุทธันดรแห่งพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนหน้ากับพุทธันดรแห่งพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดไป บุคคลนั้นก็จะออกบวชเป็นดาบส ฤๅษี โยคี ชีไพร แสวงหาความสงบวิเวกอยู่ด้วยการบรรพชา

    จนทำให้ในชาติปัจจุบันผู้ที่มีบุญบวช จะมีใจน้อมไปในความเป็นนักบวช ไม่ค่อยชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะที่มีกำลังใจไม่เสมอกัน เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดใจ แต่จะรู้สึกสบายใจมากกว่าเมื่อได้อยู่เพียงลำพังคนเดียว รู้สึกเบื่อหน่ายในการครองเรือน มีความเห็นว่าความเป็นอยู่ของฆราวาสเป็นภาระอันหนักที่น่าอิดหนาระอาใจ จะมีเสียงเพรียกร้องจากภายในใจอยู่เนือง ๆ ว่า “พึงออกบวชเถิด”

    ยกตัวอย่างเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์ก็ได้เคยละเพศฆราวาสออกบวชเป็นนักบวชมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ตลอดการสร้างบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ในบางชาติพระมหาบุรุษเกิดเป็นพระราชา เช่น ในชาติที่พระองค์เสวยชาติเป็นพระมหาชนกแห่งเมืองมิถิลา เป็นต้น พระองค์ก็ทรงเบื่อหน่ายต่อราชสมบัติ ทรงสละราชบัลลังก์ออกผนวชเป็นสมณะ

    ในบางชาติพระมหาบุรุษเกิดเป็นมหาเศรษฐี เช่น ในชาติที่พระองค์เสวยชาติเป็นบุตรเศรษฐีพระนครพาราณสี ชื่อว่า มหาธนกุมาร เป็นพระสหายของพระเจ้าพรหมทัต เป็นต้น พระองค์ก็เห็นโทษของมาตุคาม สละทรัพย์สมบัติออกบวชเป็นฤๅษี

    ในบางชาติพระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลคหบดียากจน ทำการรับจ้างเลี้ยงดูมารดา เมื่อมารดาถึงแก่กรรม ท่านก็ได้ละทิ้งบุตรและภรรยา ออกจากกามบวชเป็นฤๅษี หรือในบางชาติพระมหาบุรุษ เกิดในกำเนิดคนจัณฑาลต่ำต้อย เช่น ในชาติที่พระองค์เสวยชาติเป็น คนจัณฑาล ชื่อว่า มาตังคะ เป็นต้น ท่านก็ได้ออกบวชเป็นดาบส ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น เสวยสุขอยู่ด้วยอำนาจแห่งความสงบนั้น มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    ประเภทของการออกบวช

    ในบรรดาผู้ที่สละความเป็นฆราวาสออกบวชเป็นภิกษุสามเณรในเขตพระพุทธศาสนา จะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นออกบวชด้วยเจตนารมณ์เดียวกัน หรือมีปฏิปทาการปฏิบัติตนเหมือนกันก็หาไม่ มีทั้งท่านที่บวชเล่น บวชลอง บวชครองประเพณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน ด้วยเหตุนี้เองทำให้ภิกษุสามเณรทั้งหลายมีจริยาไม่เสมอกัน มีทั้งที่ดีมากบ้าง ดีน้อยบ้าง ชั่วน้อยบ้าง ชั่วมากบ้าง ซึ่งพอจะแบ่งประเภทของผู้ที่ออกบวชในเขตพระพุทธศาสนาได้พอสังเขปได้ 5 ประเภท ดังนี้

    1. ผู้ที่บวชเพื่ออาศัยพระศาสนาเลี้ยงชีวิต

    ภิกษุสามเณรประเภทนี้ เมื่อตอนเป็นฆราวาสก็มีความเกียจคร้านในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ บ้างก็เป็นเด็กจากครอบครัวที่ยากจน ผู้ปกครองไม่มีกำลังทรัพย์พอจะส่งเสียให้ได้รับการศึกษาทางโลกได้ เมื่อเห็นว่าการบวชเข้ามาเป็นภิกษุสามเณรแล้วมีแต่ความสุขสบาย กินฟรี อยู่ฟรี เรียนฟรี มีสตางค์ใช้ จึงได้บวชเข้ามา ทำตนเป็นคนอนาถาหาที่พึ่งไม่ได้

    2. ผู้ที่บวชเพื่อเล่นสนุก

    ภิกษุสามเณรประเภทนี้ บวชเข้ามาเพื่อหาความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับการละเล่นต่าง ๆ เหมือนคฤหัสถ์ เช่น การเล่นหมากรุก หมากฮอส ดูทีวี ดูกีฬา เล่นเกมส์ เล่นมือถือ อ่านหนังสือทางโลก สนทนาเรื่องทางโลก ชอบคุยเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองกับญาติโยม เป็นต้น ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยการละเล่นเหล่านี้ไม่ได้เจริญสมณธรรม

    3. ผู้ที่บวชเพื่อสร้างความชั่วเสียหาย

    ภิกษุสามเณรประเภทนี้ บวชเข้ามาแล้วก็ทำความชั่วเสียหาย สร้างความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา เช่น เสพเมถุน ฉ้อโกงชาวบ้าน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด ทำตนเป็นนักเลงหัวไม้ก่อความทะเลาะวิวาท เป็นต้น หรือทำตนเป็นผู้ประจบคฤหัสถ์ ให้สิ่งของเขาเพื่อเอาใจ ทำตนเป็นทูตรับใช้คฤหัสถ์ ช่วยทำธุระการงานของเขาบ้าง เพื่อหวังลาภสักการะเป็นสิ่งตอบแทน

    4. ผู้ที่บวชเข้ามาอย่างคนหลงงมงาย

    ภิกษุสามเณรประเภทนี้ เมื่อบวชเข้ามาแล้วทำตนเป็นคนโง่งมงาย บ้างก็งมงายในการศึกษาปริยัติธรรม บ้างก็แสวงหาลาภด้วยลาภ ลงทุนค้าขาย ปล่อยเงินกู้ มุ่งสร้างฐานะ ไม่ได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง บ้างก็สนใจในการปลุกเสกเลขยันต์ ทำตนเป็นคนทรงเจ้าเข้าผี ออกวัตถุมงคล แสวงหาลาภสักการะในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเอง มิใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาคนใกล้ชิดกลายเป็นคนหลงงมงาย ไม่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะไปตาม ๆ กัน

    5. ผู้ที่บวชเพื่อหาทางออกจากทุกข์

    ภิกษุสามเณรประเภทนี้ เมื่อยังไม่ได้บวชก็มีปัญญาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อความเป็นฆราวาส เมื่อได้บวชเข้ามาแล้วก็ตั้งใจศึกษาในเรื่องของพระธรรมวินัยที่จำเป็นต้องใช้ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามด้วยความตั้งใจ พากเพียรพยายามในการรักษาสิกขาบทของตนให้บริสุทธิ์ ฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่น และเจริญปัญญาขัดเกลาจิตใจของตนเองให้ยอมรับนับถือความเป็นจริงตามพระสัทธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จะหมายเอาเฉพาะการสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งเพื่อการออกบวชของบุคคลประเภทสุดท้ายนี้เท่านั้น


    ปัญหาที่ผู้ต้องการออกบวชต้องประสบ

    ผู้ที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการออกบวชนั้น จะมีความฝันอันยิ่งใหญ่อยู่ในใจ มักชอบคิดไปว่าถ้าเราได้บวชแล้วเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติตนให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จะไม่ทำตัวเหลวไหล ไม่ย่อหย่อนในพระวินัย เหมือนบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่มีข่าวฉาวโฉ่ เสีย ๆ หาย ๆ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาเป็นประจำ เราจะปฏิบัติสมณธรรมให้เต็มที่เต็มความสามารถ คิดจะออกธุดงค์บ้าง อยากไปอยู่ในป่าหรือในที่วิเวกห่างไกลบ้างจากแสงสีและความเจริญในเมืองใหญ่ทั้งหลายบ้าง หรืออยากจะเทศนาว่าการ สั่งสอนญาติโยมให้มีความรู้ความเห็นที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา ไม่ให้เป็นผู้หลงงมงายบ้าง

    แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมักจะตรงกันข้ามกับความคิดเสมอ การสร้างวิมานในอากาศเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่นึกเอาก็สำเร็จได้ หากแต่การลงมือกระทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงตามที่คาดหวังไว้ กลับเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา

    เมื่อถึงเวลาที่ผู้อยากบวชต้องตัดสินใจละทิ้งความเป็นฆราวาส ความเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน และละทิ้งพ่อแม่ญาติสนิทมิตรสหายคนที่ตนรักไว้เบื้องหลังเพื่อไปบวชขึ้นมาจริง ๆ ในใจของผู้อยากบวชก็จะมีแต่ความอาลัยอาวรณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของฆราวาส ความสนุกสนานอันเพลิดเพลินไปด้วยกามคุณ และเพ้อรำพันถึงบรรดาคนที่ตนรักที่จำจะต้องทอดทิ้งไปบวช

    ผู้อยากบวชจะมีความกลัวอยู่ในใจว่าเมื่อบวชเป็นพระจริง ๆ แล้วเราจะอยู่เป็นสุขหรือไม่ เราจะอยู่ได้หรือไม่ เราจะมีวิหารธรรมใดเป็นเครื่องอยู่ เราจะมีวิธีประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรให้บวชอยู่ได้อย่างเป็นสุข ถ้าเราบวชอยู่ไม่ได้ หรือบวชอยู่ได้ไม่นานแล้วต้องสึกหาลาเพศจากความเป็นภิกษุ เราจะทำอย่างไรกับอนาคต เราจะกลับมาสานต่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านการงานอาชีพที่เราละทิ้งไปแล้วได้อย่างไร และถ้าเราบวชอยู่ไม่ได้แล้วต้องสึกขึ้นมาจริง ๆ เราจะทำอย่างไรกับพ่อแม่ครอบครัว จะทำอย่างไรกับผู้ที่เขารู้ปฏิปทาและความแน่วแน่ของเราในการที่อยากจะออกบวชไม่สึก เขาคงจะต้องเย้ยหยัน ดูหมิ่นดูแคลนเราเป็นแน่ ที่เราเคยบอกว่า เราจะละทุกสิ่งทุกอย่างไปบวช แต่พอเอาเข้าจริงเรากลับบวชอยู่ได้ไม่กี่เดือนไม่กี่ปีก็ทนไม่ไหวต้องสึกออกมาเป็นฆราวาสอีก จนเราคงไม่รู้ว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

    เมื่อผู้อยากบวชคิดปรุงแต่งในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้มากเข้า ๆ จะทำให้จิตใจห่อเหี่ยว เกิดความลังเลสงสัยในการที่จะบวช ทำให้ไม่กล้าหาญเหมือนอย่างเก่า จนท้ายที่สุดก็จะไม่สามารถตัดสินใจออกบวชได้จริง ต้องจำใจใช้ชีวิตฆราวาสต่อไปอย่างไม่มีกำหนด


    การตั้งเจตนาในการบวชไว้ผิด

    ผู้ที่เคยบวชตลอดชีวิตมาหลายภพหลายชาติ หรือผู้ที่เคยตั้งอธิษฐานมาในอดีตว่าขอให้เราเป็นผู้ได้บวชในเขตพระพุทธศาสนาได้อย่างยาวนาน อย่าให้มีอุปสรรคขัดข้องมาทำให้เราต้องสึก มักมีความพึงพอใจกับความเป็นอยู่ของนักบวช และมีความคิดอยู่ว่าเราอยากจะบวชไม่สึก มักจะเที่ยวไปบอกพ่อแม่ญาติพี่น้องและใครต่อใครที่ตนรู้จักมักคุ้นว่าตนจะบวชไม่สึก รู้สึกว่าการที่ตนเองคิดและทำอยู่แบบนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ใคร ๆ ก็ควรจะร่วมอนุโมทนาในกุศลเจตนาและคอยเอาใจช่วยให้ออกบวชได้สำเร็จตามที่ตั้งใจ

    อย่างไรก็ตาม ผู้อยากบวชต้องทำความเข้าใจถึงจิตใจของพ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งหลายเหล่านั้นก่อนว่า เมื่อท่านเหล่านั้นได้รับรู้ถึงเจตนาในการที่จะออกบวชไม่สึกของเราแล้ว ท่านจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร

    จะยกตัวอย่างเรื่องการออกบวชของพระมหาบุรุษในชาติปัจจุบัน

    เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะทรงโปรดให้เชิญพราหมณ์ผู้จบไตรเพท 108 คน เพื่อมาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร พราหมณ์เหล่านั้นได้คัดเลือกกันเองเฉพาะผู้ที่ทรงวิทยาคุณประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดได้ 8 คน เพื่อทำนายลักษณะของพระราชกุมาร พราหมณ์ 7 คนแรก ต่างก็ทำนายไว้ 2 ประการ คือ ถ้าพระราชกุมารทรงอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม แต่ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตก็จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ผู้มีอายุน้อยที่สุดในพราหมณ์เหล่านั้น ได้ทำนายไว้เป็นอย่างเดียวว่าพระราชกุมารจะเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก

    พระราชบิดาทรงมีความหวั่นพระทัยเป็นอย่างยิ่งว่าพระราชกุมารจะออกผนวช ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชกุมารทรงเพศฆราวาสและได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม พระองค์จึงได้พระราชทานความสุขเกษมสำราญอันเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณอันเลิศแก่ พระราชโอรสเพื่อผูกพระทัยไว้กับทางโลก

    เราจะสังเกตเห็นว่าพระเจ้าสุทโธทนะที่ทรงเป็นพุทธบิดา ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพุทธบิดา และได้เกิดเป็นบิดาของพระมหาโพธิสัตว์มานับภพนับชาติไม่ถ้วน จนมาถึงชาติสุดท้ายนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชประสงค์ไม่อยากให้พระราชโอรสทรงออกผนวช แล้วนับประสาอะไรกับพ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกเราที่ยังมีบารมีย่อหย่อน จะให้ท่านเหล่านั้นมีความปรารถนาจะให้ลูกชายอันเป็นที่รักออกบวชตลอดชีวิต ก็คงจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อท่านเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับการออกบวชไม่สึก ก็จะพยายามพูดคัดค้านทัดทานเราผู้อยากออกบวช เมื่อเราได้ฟังคำพูดท้วงติงก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาอีก จนทำให้ความกล้าหาญที่จะออกบวชลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

    แท้จริงแล้วผู้จะบวชต้องเข้าใจก่อนว่า การออกบวช กับระยะเวลาที่บวชได้จริงนั้นเป็นคนละประเด็นกัน ให้ผู้ออกบวชใส่ใจกับการออกบวชให้ได้แต่เพียงเท่านั้นก็พอแล้ว เมื่อเราออกบวชได้แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว พระธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกลงสู่ที่ชั่ว เพศฆราวาสนั้นจัดเป็นหีนเพศ หรือเพศอันเลว การลาสิกขาจากความเป็นภิกษุสามเณรกลับมาเป็นฆราวาส ในบาลีท่านใช้สำนวนว่า หวนกลับมาเป็นคนเลว ซึ่งหากเราบวชแล้วปฏิบัติธรรมได้ถูกจุดและปฏิบัติถึงขั้น คำว่าลาสิกขาย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว และจะทำให้เราไม่เกิดความกดดันเรื่องระยะเวลาในการออกบวชให้ได้นาน ๆ คิดว่าถ้าบวชอยู่ได้อย่างเป็นสุข ก็บวชอยู่ไปวันต่อวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี อยู่อย่างมีความสุขเยือกเย็น ก็เป็นการบวชได้ตลอดชีวิตนั่นเอง

    แต่หากเมื่อใดใจของเรากลับกลอก มีความโลเล ไม่เชื่อฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่พึงพอใจในการปฏิบัติธรรมอีกต่อไป เราก็สึกไปเป็นฆราวาส การตั้งเจตนาในการบวชไว้แบบนี้เพื่อให้ไม่เกิดแรงกดดันทำให้ตนเองเกิดความวิตกกังวลหาความสุขไม่ได้ และหากว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องเข้าใจว่าเราต้องการบวชเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ท่านเหล่านั้นก็จะไม่กล่าวคำคัดค้านต่อการออกบวชของเราอย่างแน่นอน

    เพราะฉะนั้นการตั้งความปรารถนาไว้ว่าจะบวชไม่สึกและยังเที่ยวไปบอกคนนั้นคนนี้ว่า ตนจะบวชไม่สึกก็จัดเป็นความโง่อย่างหนึ่ง เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบวช เป็นทิฐิมานะกิเลส คอยแต่จะโอ้อวดความสามารถเก่งกล้าของตนเอง ซึ่งผู้อยากบวชต้องละความเห็นผิดซึ่งเป็นภัยร้ายแรงนี้ให้ได้โดยเร็ว

    วิธีการสร้างกำลังใจเพื่อการออกบวช ตามแนวทางศีล สมาธิ ปัญญา

    เมื่อผู้อยากบวชอ่านมาถึงบทนี้ ย่อมมีความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินใจออกบวชขึ้นบ้างแล้ว ว่าการแท้จริงแล้วความคิดที่อยากจะออกบวชก็ดี และการที่ผู้อยากบวชจะตัดสินใจออกบวชได้จริงก็ดีหรือจะท้อใจจนไม่สามารถออกบวชได้ก็ดี มันเป็นผลมาจากความเข้มแข็งของจิตทั้งนั้น จิตมีความเห็นไปในทิศทางใด ก็จะมีความคิด คำพูด และการกระทำไปในทิศทางนั้น จิตมีกำลังความเข้มแข็งเท่าใด ก็จะส่งผลให้การตัดสินใจที่จะออกบวชง่ายขึ้นเท่านั้น

    หากจิตใจอ่อนแอเสียอย่างเดียว ก็จะมีแต่ความคิดที่อยากจะบวชไม่สึกอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต ไม่สามารถทำได้จริง แต่หากแต่จิตใจเข้มแข็งและมีบุญบวชอยู่ ต่อให้ไม่อยากบวช ก็จะมีเหตุให้เราออกบวชได้และสามารถปฏิบัติสมณธรรมอยู่ในเพศบรรพชิตได้ตลอดชีวิต


    เพราะฉะนั้นในบทนี้ จึงเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ หรือสร้างกำลังใจ หรือเร่งรัดบารมี ก็สุดแท้แต่ใครจะให้คำจำกัดความว่าอย่างไร ซึ่งตรงจุดนี้จำเป็นอาศัยท่านผู้รู้คอยบอกกล่าวแนะนำชี้แนวทางที่ถูกให้ เพื่อเร่งรัดกำลังใจให้เข้มแข็งจนสามารถตัดสินใจออกบวชได้เป็นการเฉพาะ มิฉะนั้นแล้วผู้อยากบวชก็จะสร้างกำลังใจแบบสะเปะสะปะไปตามความเข้าใจของตนเอง ไม่สามารถยกระดับจิตให้มีความเข้มแข็งขึ้นได้ตามที่คาดหวัง ซึ่งอาวุธที่พระศาสดาทรงประทานไว้ให้เหล่าพุทธบริษัทในการทำกำลังใจของตนเองให้เข้มแข็ง คือ ไตรสิกขา อันได้แก่ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

    อธิสีลสิกขา คือ คือการศึกษาเรื่องศีล

    สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน หมายเอาการรักษาศีล 5 เป็นเกณฑ์ หากเราเป็นผู้ทุศีล ยังฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์อื่น ยังยื้อแย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาด้วยอาการแห่งขโมย ยังประพฤติผิดในกามต่อบุคคลที่มีเจ้าของหวงแหน ไม่ว่าผู้หวงแหนนั้นจะเป็นคู่ครองหรือพ่อแม่ผู้ปกครองของเขาก็ตาม ยังพูดโกหกพกลม หาความน่าเชื่อถือไม่ได้ ยังดื่มเหล้าเมายาอันเป็นการบั่นทอนสติสัมปชัญญะของตนเอง จะทำให้จิตหนัก ไม่มีกำลัง จิตมีความกังวลกับบาปกรรมที่ตนได้ทำไว้

    การที่จะมาเร่งรัดกำลังใจให้เข้มแข็งขึ้นในขั้นต่อไป ก็ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ เพราะแม้แต่กฎเกณฑ์หยาบ ๆ ที่ให้รู้จักสำรวมกายและวาจาให้เรียบร้อย ใจยังไม่มีความเข้มแข็งที่จะทำได้ ป่วยการจะมาพูดถึงการปฏิบัติสมาธิอันเป็นสิ่งที่ละเอียด และต้องใช้กำลังความเข้มแข็งของใจที่มากกว่านั้นในการทำให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นผู้อยากบวชพึงรักษาศีล 5 ของตนให้บริสุทธิ์ ถ้าประมาทพลาดพลั้งล่วงละเมิดศีล ก็ให้สำรวมระวังตั้งใจรักษาศีลใหม่ ทำให้ได้อย่างนี้เป็นปกติ

    อธิจิตตสิกขา คือ การศึกษาเรื่องจิต

    ตามปกติแล้วจิตของผู้ยังไม่เคยฝึกสมาธิหรือสมถกรรมฐานมาเลยหรือฝึกแล้วแต่ยังไม่ได้ผล จะมีความเบา ไม่มีความหนักแน่น มักไหวเอนไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบ เมื่อมีสิ่งที่น่ารักน่าใคร่เข้ามากระทบ จิตก็จะเกิดความชอบใจ เมื่อมีสิ่งที่ไม่น่าพอใจเข้ามากระทบ จิตก็จะขุ่นข้องหมองใจ จิตมีความหดหู่เซื่องซึม เกียจคร้าน เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดเป็นตุเป็นตะ ไม่สามารถหยุดความคิดได้ และเกิดความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ทำให้จิตมีสภาพวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้

    ดังนั้นหากผู้จะบวชต้องการให้จิตมีกำลังมากพอจะใช้งานได้ ต้องมีการฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตอยู่กับอารมณ์กรรมฐานจนมีความหนักแน่นเป็นอารมณ์เดียว มีความสุขสงบจากการเข้าสมาธิ ทำให้จิตมีกำลัง เหมือนกับคนผู้บ่มเพาะกำลังกายจนแข็งแรงดีแล้ว จะเดิน จะนั่ง จะลุก จะวิ่งก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เหนื่อยง่าย ซึ่งในที่นี้จะใช้อานาปานสติเป็นพื้นฐานในการฝึกจิตตภาวนา เมื่อจิตมีกำลังสมาธิแน่วแน่ เป็นอารมณ์เดียว สติสัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้และความรู้ตัว ก็จะมีความคล่องแคล่วว่องไวขึ้นมา จนจิตมีสภาพที่เหมาะสมในการเจริญปัญญาในขั้นต่อไป

    อธิปัญญาสิกขา คือ การศึกษาเรื่องปัญญา

    บุคคลที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมในเรื่องของปัญญาจะมีอารมณ์คัดค้านความเป็นจริงอยู่เป็นปกติ เมื่อได้เห็น ได้ยินข่าวสารเรื่องความตายของบุคคลอื่น ซึ่งก็มีนำเสนออยู่ทุกวันว่าวันนี้มีผู้ประสบอุบัติเสียชีวิตบนท้องถนนบ้าง มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมบ้าง มีผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติและภัยสงครามบ้าง และผู้เสียชีวิตเหล่านั้นก็มีทั้งเพศชาย เพศหญิง ทั้งเชื้อชาติไทย และเชื้อชาติอื่น ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาอื่น มีทั้งที่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาบ้าง เสียชีวิตเมื่อตอนเป็นเด็กเล็กบ้าง เสียชีวิตเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นบ้าง เสียชีวิตเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่บ้าง เสียชีวิตเมื่อตอนเป็นวัยกลางคนบ้าง หรือเสียชีวิตเมื่อตอนวัยชราบ้าง

    ทั้ง ๆ เราที่ได้รับรู้เรื่องความตายของบุคคลอื่นอยู่ทุกวันแบบนี้ ก็ไม่เคยมีความคิดน้อมสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเข้ามาหาตนเองว่า ตนเองก็ต้องตายเหมือนกับเขาเหล่านั้น ยังคงมีความเห็นผิดอยู่ร่ำไปว่า ความตายจะเกิดขึ้นกับผู้อื่นเท่านั้น ความตายจะยังมาไม่ถึงเราก่อน ชีวิตเรายังมีวันพรุ่งนี้เสมอ ยังมีปีนี้ มีปีหน้า และยังมีเวลาอีกหลายปี เมื่อนึกถึงความตายของตนเองขึ้นมาแล้วก็มีแต่ความสะดุ้งหวาดเสียว จิตเป็นทุกข์จากการที่ต้องพลัดพรากจากคนรักคนชอบใจ ของรักของชอบใจ ทั้ง ๆ ที่ความตายเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นตามธรรมดา จิตก็มีอาการคัดค้านดิ้นรน ไม่อาจยอมรับนับถือความจริงข้อนี้ได้

    ดังนั้น เมื่อจิตมีความหนักแน่นเยือกเย็นจากการเจริญสมาธิแล้ว ก็น้อมนำเอากำลังแห่งจิตนั้นมาเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดปัญญาแจ่มแจ้ง ยอมรับนับถือความเป็นจริงตามพระสัทธรรม จิตเป็นสุขอยู่กับการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอาการคัดค้านดิ้นรน ต่อสภาวธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอยู่อย่างนั้น

    ผู้เขียนได้อธิบายเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นเครื่องมือที่ผู้ต้องการออกบวชจะต้องใช้ในการเร่งรัดกำลังใจของตนเองให้มีความเข้มแข็งมาพอสังเขป ซึ่งก็เป็นแต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นของการปฏิบัติจริง และผู้เขียนก็มีความเข้าใจในความยากลำบากของผู้ใหม่ในการปฏิบัติเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา ให้เกิดผลลัพธ์เป็นจนที่น่าพอใจ

    ผู้ฝึกจำเป็นต้องมีวิริยะอุตสาหะอย่างมากในการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากไม่มีท่านผู้รู้คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง รวมไปถึงคอยกระตุ้นความขยันหมั่นเพียรของผู้ฝึกแล้ว ยิ่งจะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จิตจะมีกำลังเข้มแข็งมากพอที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น กำหนดรู้ลมหายใจได้เป็นปกติ มีปัญญาแจ่มใส และสามารถตัดสินใจออกบวชได้ ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นในข้อนี้จึงได้จัดให้มีการเจริญจิตตภาวนาร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้เขียนคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการเร่งรัดกำลังใจลงได้หลายเท่าตัว โดยผู้เขียนจะได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกจิตตภาวนาร่วมกันไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้


    เร่งรัดกำลังใจอย่างต่อเนื่อง

    อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่าบุญบวชที่สั่งสมมาในอดีตชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ใครสักคนสามารถออกบวชได้ในชาตินี้ การที่ผู้ต้องการจะบวชยังตัดใจออกบวชไม่ได้ ก็เพราะยังไม่ถึงวาระที่วิบากแห่งบุญบวชจะให้ผลนั่นเอง ผู้ต้องการออกบวชจึงต้องมีการเร่งรัดกำลังใจในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาใน ปัจจุบันให้มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสมาธิและปัญญานั้น จัดเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล คือ กรรมหนักที่ให้ผลก่อน หากบุคคลใดมีสมาธิทรงตัวถึงขั้นอัปปนาสมาธิ และมีวิปัสสนาญาณแจ่มใสแล้ว บุคคลนั้นจะได้รับผลแห่งบุญบวชก่อนกำหนดเดิม เพราะผลแห่งครุกรรมฝ่ายกุศลนั้น จะช่วยเหนี่ยวนำให้วิบากแห่งบุญบวชให้ผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

    แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุญบวชที่เราสั่งสมมาในอดีตชาติ และการเร่งรัดกำลังใจในด้านศีล สมาธิ และปัญญาในปัจจุบันด้วยว่ามากหรือน้อยเพียงใด หากบุญบวชในอดีตชาติของเรามีอยู่มาก และในปัจจุบันเราขยันเจริญจิตตภาวนา ก็อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนในการออกบวชได้สำเร็จ แต่หากบุญบวชในอดีตชาติมีอยู่ไม่มาก และในปัจจุบันเรายังขาดความขยันหมั่นเพียรในการเจริญจิตตภาวนาเพื่อเร่งรัดกำลังใจอีก ก็อาจใช้เวลานานหลายสิบปีทีเดียวกว่าจะตัดสินใจออกบวชได้ หรืออาจจะไม่สามารถตัดสินใจที่จะออกบวชได้ตลอดช่วงชีวิตนี้เลยก็เป็นได้

    สำหรับผู้อยากออกบวชบางคนที่ไม่ได้เร่งรัดกำลังใจของตนให้เข้มแข็งเพียงพอแล้ว บางทีชาตินี้ทั้งชาติ บุญบวชก็ไม่มาส่งผล เหมือนอย่างที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอมากับตนเองสมัยที่ผู้เขียนยังไม่ได้บวช ในขณะนั้นได้ทราบว่ามีผู้ตั้งความปรารถนาในการออกบวชไม่สึกกันหลายท่าน จนถึงตอนนี้ท่านเหล่านั้นก็ยังคงปรารถนาที่จะออกบวชอยู่เช่นนั้น ไม่มีความเข้มแข็งของจิตใจที่จะสามารถออกบวชได้จริงแต่อย่างใด




    สิ่งที่ผู้ต้องการออกบวชต้องประสบ เมื่อบุญบวชใกล้เต็ม


    เมื่อผู้อยากออกบวชฝึกฝนตนเองในศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ พยายามรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ฝึกสมาธิให้จิตมีความมั่นคง มีความแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว และเจริญปัญญาให้ยอมรับนับถือความเป็นจริงตามพระสัทธรรมตามควร ผู้ฝึกจะสังเกตเห็นได้ว่าจิตจะมีกำลังมากขึ้น มีความสุขอยู่กับความสงบ ทำให้เพลิดเพลินอยู่กับการฝึกจิต เมื่อถึงขั้นนี้ผู้ฝึกจะสามารถเจริญจิตตภาวนาได้โดยไม่รู้จักอิ่มจักเบื่อ ผู้ที่อยากบวชจะสิ้นข้อสงสัยว่าเมื่อเราบวชเข้าไปแล้วเราจะปฏิบัติตนอย่างไร เราจะมีวิหารธรรมใดเป็นเครื่องอยู่ เราจะฝึกจิตอย่างไรให้อยู่ในสมณเพศได้อย่างเป็นสุข เพราะความสุขสงบเยือกเย็นนี้เองเป็นวิหารธรรม หรือซึ่งก็คือ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของพระนักปฏิบัติทั้งหลาย


    ในขั้นนี้ผู้ปรารถนาการออกบวชยังไม่สามารถที่ตัดใจออกบวชได้ เมื่อคิดว่าจะละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไปบวชคราใด ก็พลันเกิดความอาลัยอาวรณ์ในการใช้ชีวิตอย่างฆราวาส อาลัยในพ่อแม่ญาติพี่น้องและคนรัก ทำให้ความเข้มแข็งของใจลดลงทุกครั้งไป


    ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีแบบทดสอบเข้ามาช่วยเร่งรัดกำลังใจของผู้ต้องการออกบวช เพื่อช่วยให้สามารถข้ามผ่านขั้นนี้ไปได้ โดยทุกคนจะได้ประสบกับความขัดข้อง ความเครียด ในเรื่องการหน้าที่การงาน การเลี้ยงดูคนรักและครอบครัว จนหาทางออกจากปัญหานั้นไม่ได้ ยิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ยิ่งพยายามแก้ไข ยิ่งติดขัด ยิ่งเจอกับความทุกข์ใจ ทำให้จิตใจเกิดความเบื่อหน่าย คลายความทะยานอยากในเรื่องโลกลงมาบ้าง


    ในขั้นนี้เองที่ผู้อยากออกบวชจะเห็นคุณของการออกบวชขึ้นมา เพราะการออกบวชเป็นการพ้นจากภาวะความทุกข์ทั้งปวงแห่งความเป็นฆราวาสที่กล่าวมาแล้ว และพยายามเร่งรัดการเจริญจิตตภาวนาของตนเอง โดยเฉพาะการใช้ปัญญามองให้เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยจากการอยู่ทางโลก และใช้ปัญญาให้จิตยอมรับนับถือความเป็นจริงที่ว่าการบรรพชาเป็นหนทางแห่งความสุข


    ตรงจุดนี้ผู้ปรารถนาจะออกบวชต้องใช้ความเข้มแข็งของจิตใจและใช้ปัญญาที่เฉียบแหลมตัดใจละทิ้งความเป็นฆราวาสออกบวชให้ได้ เมื่อจิตใจมีความเข้มแข็งแล้วให้ตัดสินใจออกบวชทันที การที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและฉับพลันทันทีทันใดนั้น เป็นการแสดงออกของผู้มีบารมีเต็ม มีกำลังใจเข้มแข็ง อย่าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านเพ้อรำพันถึงความเป็นฆราวาส มัวอาลัยอาวรณ์ถึงคนรัก ของรัก ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน เพราะยิ่งตัดสินใจช้าเท่าไหร่ ความเข้มแข็งของจิตจะคลายตัวลง และจะตัดสินใจออกบวชได้ยากขึ้นเท่านั้น


    จงจำไว้ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราในปัจจุบัน หากว่าชาตินี้เราตัดสินใจไม่ได้ เมื่อต้องเกิดมาใหม่ในชาติหน้า เราก็ตัดสินใจไม่ได้อย่างนี้แหละ แต่หากว่าชาตินี้เรามีความเข้มแข็งของใจตัดสินใจออกบวชได้ หากเรายังมีอาสวกิเลสเหลืออยู่ทำให้ต้องมาเกิดใหม่ในชาติหน้า เราก็จะสามารถตัดสินใจออกบวชแบบนี้ได้อีก เพราะเป็นสิ่งที่เราเคยกระทำได้แล้วในอดีต กฎแห่งกรรมมีลักษณะการทำงานเช่นนี้ เมื่อบุคคลใดเคยทำกรรมอะไรลงไปแล้วในอดีต ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้บุคคลนั้นต้องทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ ในอนาคตกาล


    จะว่าไปเรื่องแบบทดสอบที่เข้ามาสร้างภาวะบีบคั้นแก่จิตใจนี้ก็ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าวิบากแห่งบุญบวชกำลังจะให้ผลแล้ว ถึงตอนนี้เมื่อกำลังใจถูกเร่งรัดมาจนถึงขีดสุดชีวิตของผู้ปรารถนาออกบวชจะมีอยู่แค่สองทางเลือก คือ

    1. อยู่อย่างทุกข์ยากลำบากต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดในเพศฆราวาส

    2. ตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อความหลุดพ้น

    ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้นั้นเองนั่นแหละ ว่าจะตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเลือกเดินไปบนเส้นทางแห่งความสุขหรือไม่



    ผู้ต้องการออกบวชจำเป็นต้องเรียนทางโลกสูงแค่ไหน


    คำถามนี้อาจไม่มีความสำคัญอะไรกับผู้ที่พ้นจากวัยศึกษาเล่าเรียน และเข้าสู่ชีวิตการทำงานแล้ว หากแต่เป็นคำถามที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กหนุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจเพื่อเลือกทางเดินชีวิต เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด ก็อาจทำให้ผู้อยากบวชต้องทนทุกข์อยู่กับเรื่องทางโลก และออกบวชเนิ่นช้าไปหลายปี หรืออาจไม่สามารถออกบวชได้เลย ก็เป็นได้ในช่วงชีวิตนี้ เนื่องจากมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบเข้ามาติดพัน ทำให้ตัดสินใจออกบวชไม่ได้ตามที่ปรารถนา


    ผู้เขียนเองปรารถนาอยากจะออกบวชตั้งแต่ตอนอายุ 18 ปี สมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และตั้งใจว่าจะออกบวชทันทีเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่อีกใจหนึ่งผู้เขียนก็กลัวว่าถ้าบวชแล้วอยู่ไม่ได้ ต้องลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสอีกครั้ง เราจะทำอย่างไรต่อไปดีกับอนาคต การที่เราจะกลับมาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ก็คงจะทำให้เราเรียนจบช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันไปอีกหลายปี


    อีกทั้งทางผู้ปกครองเมื่อทราบว่าผู้เขียนอยากจะบวชไม่สึก ก็ได้ยื่นคำขาดห้ามบวช โดยได้ยื่นข้อเสนอมาว่าถ้าอยากบวชก็ต้องเรียนให้จบปริญญาตรีก่อน ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ปกครองจะเป็นห่วงเป็นใย กลัวว่าลูกชายจะเสียอนาคตไปหากบวชอยู่ไม่ได้ จึงได้ใช้การเรียนในระดับปริญญาตรีเพื่อประวิงเวลา เผื่อว่าผู้เขียนได้เข้าสู่โลกของวัยทำงานรู้จักสร้างครอบครัวแล้วอาจเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากบวชเสียเอง ผู้เขียนจึงได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอีก 4 ปี เมื่อเรียนจบแล้วก็ทำงานสร้างฐานะ จนทำให้ใจของผู้เขียนรวนเรไป พักเรื่องการออกบวชเอาไว้ก่อน มีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับการใช้ชีวิตทางโลกไปหลายปี

    แต่ด้วยบุญกุศลที่ได้สร้างไว้ดีแล้วในชาติปางก่อน ก็เข้ามาทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาได้ หาทางเร่งรัดกำลังใจเพื่อออกบวชอีกครั้ง และได้ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกบวชได้สำเร็จตามที่ตั้งใจเมื่ออายุได้ 25 ปี


    จากเรื่องที่เล่ามานี้พอจะสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


    หากผู้เขียนออกบวชเป็นสามเณรตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็คงบวชอยู่ได้ไม่นานและต้องลาสิกขา ทั้งนี้เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการเป็นอยู่อย่างนักบวช ว่านักบวชจะอยู่เป็นสุขได้ด้วยเหตุอะไร ต้องทำอย่างไรจึงจะรักษาใจให้เป็นสุขได้ ไม่รู้จักการเจริญสมณธรรม อาศัยออกบวชด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียว และขาดครูบาอาจารย์ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องในเรื่องจิตตภาวนา ซึ่งหากบวชแล้วลาสิกขาในตอนนั้นก็จะสร้างความทุกข์ใจให้แก่ตนเองและครอบครัว ถือเป็นการเลือกทางเดินที่ผิด ทางโลกก็ไม่ได้ดี ทางธรรมก็ไม่ได้ดี


    การที่ผู้เขียนเรียนจบในระดับอุดมศึกษาและได้ลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความหลงใหลใฝ่ฝันในเรื่องของกามคุณ สนใจอยู่กับการสร้างฐานะและครอบครัว ส่งผลให้ความปรารถนาที่อยากจะออกบวชไม่สึกก็รวนเรไป ไม่มีใจที่อยากจะออกบวช เดชะบุญที่ผู้เขียนกลับตัวกลับใจทัน หากรอให้มีลูกก่อน หรือสร้างภาระหนี้สินทางโลกจนยากจะชำระคืนให้หมดได้ในระยะเวลาอันสั้น ผู้เขียนก็คงจะหมดโอกาสออกบวชจริง ๆ ในชาตินี้ นี่ก็เป็นโทษของการออกบวชช้าอยู่เหมือนกัน


    โปรดจำไว้ว่าใครออกบวชก่อนสบายก่อน ใครออกบวชทีหลังต้องทนทุกข์อีกมากโข อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ก็คือ ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความเข้มแข็งและกล้าหาญของจิตใจที่อยากจะออกบวชก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ายิ่งอายุมากขึ้น เราได้รู้จักกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามายั่วยุให้จิตลุ่มหลงได้มากขึ้น การที่จะถอนตัวออกมาจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อออกบวชก็จะทำได้ยากขึ้นนั่นเอง


    สำหรับผู้อยากออกบวชเพื่อปฏิบัติที่มีอายุยังน้อยยังอยู่ในวัยเรียน หากว่าท่านขาดครูบาอาจารย์ที่จะคอยแนะนำการสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถออกบวชได้และอยู่เป็นบรรพชิตอย่างเป็นสุขได้อย่างยาวนานแล้วไซร้ ก็ขอให้ผู้อยากบวชอดทนเรียนทางโลกให้ถึงระดับชั้นสูงสุดที่สามารถจะเรียนได้ไปก่อน แล้วค่อยคิดหาวิธีออกบวชในภายหลัง


    แต่หากท่านผู้อยากออกบวชมีครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญในการรักษาจิตให้เป็นสุขคอยให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างใกล้ชิด สามารถถ่ายทอดวิธีการรักษาจิตแก่เราให้เราเข้าใจและปฏิบัติตามได้โดยง่าย และผู้อยากบวชสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา จนจิตใจเกิดความเข้มแข็ง สติคล่องแคล่วขึ้น สมาธิมั่นคงขึ้น ปัญญามองเห็นทุกข์และยอมรับในทุกข์นั้นได้มากขึ้น สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเป็นสุขได้โดยมี จิตตภาวนาเป็นวิหารธรรมแล้วไซร้ ก็ขอให้ผู้อยากบวชออกบวชได้ทันทีที่เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการศึกษาต่อชั้นสูงขึ้นไป เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร แค่ขออนุญาตพ่อแม่ว่าตั้งใจจะบวชสามเณรภาคฤดูร้อน แค่ 2 เดือน รับรองว่าท่านอนุญาตให้บวชแน่นอน เมื่อบวชจริงแล้วอยู่ได้อย่างมีความสุข ก็ให้ตั้งใจบวชต่อไปวันต่อวัน หากเราไม่เต็มใจสึกก็จะไม่มีใครในโลกจะสามารถบังคับให้ภิกษุสามเณรพ้นจากความเป็นบรรพชิตได้ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมที่จะคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกลงสู่ที่ชั่ว หมายความว่า ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติด้วยความจริงจังและจริงใจ เราจะไม่มีความคิดที่จะลาสิกขาแน่นอนอยู่แล้ว


    แต่หากเราเป็นคนโลเล กลับกลอก เมื่อบวชได้ไม่นานนักก็เปลี่ยนใจอยากจะลาสิกขาออกมาอยู่ทางโลก เราก็สามารถมาเริ่มศึกษาต่อได้ใหม่อีก จึงไม่จำเป็นต้องคิดฟุ้งซ่านเรื่องอนาคตมากจนเกินควร เพราะไม่ใช่จะมีแต่เราคนเดียวในโลกที่ละสิ่งชีวิตฆราวาสออกบวช มีท่านที่ละทิ้งความเป็นอยู่ของฆราวาสอันสมบูรณ์พูนสุขมากกว่าเรา ออกบวชถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้ามาแล้วนับไม่ถ้วน ถ้าเราเตรียมตัวบวชได้ดี ก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยงแล้ว เพราะโอกาสที่เราจะชนะเดิมพันครั้งนี้มีมากกว่าโอกาสที่จะแพ้


    จากประสบการณ์ของผู้เขียน วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีได้หมดความหมายไปตั้งแต่บวชได้ 3 พรรษา ทั้งนี้เพราะทิ้งวิชาการเหล่านั้นมานานจนเกินไปจนลืมเลือน ถึงจะลาสิกขาออกไปแล้วก็ไม่อยากจะไปรื้อฟื้นความรู้เดิมขึ้นมาใหม่ ขอไปทำมาหากินอย่างอื่นดีกว่า


    อย่างไรก็ตาม หลวงปู่ หลวงพ่อ และหลวงตาที่ท่านเป็นนักปฏิบัติ สามารถรักษาจิตของตนให้เป็นสุขได้ก็จริงอยู่ แต่หลายท่านก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะถ่ายทอดการรักษาจิตให้เป็นสุขให้เราปฏิบัติตามได้โดยง่าย ส่วนมากแล้วท่านจะขาดอุบายที่แยบคายในการช่วยให้เราเร่งรัดกำลังใจ เวลาสอนก็สอนอย่างยาก ๆ เราตั้งใจปฏิบัติตามก็เข้าไม่ถึง จะทรงฌานบ้าง ก็ทำได้ยาก จะเจริญปัญญาให้มีความเฉียบแหลม ให้จิตยอมรับตามสภาพแห่งความเป็นจริง ก็ทำยาก ทำให้ไม่มีผลในการเร่งรัดกำลังใจให้ดีขึ้นแต่อย่างใด


    ดังนั้นผู้อยากออกบวชต้องรู้จักขวนขวายหาครูบาอาจารย์ที่มีความฉลาดในอุบายเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา ที่จะทำเราสามารถฝึกตามและเกิดผลได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเราจะหาครูบาอาจารย์แบบนั้นเจอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่เราเคยสร้างร่วมกับท่านมาในกาลก่อนเป็นสำคัญ




    ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบทางโลกที่ทำให้ออกบวชได้ยาก




    ที่นี้มาพูดกันถึงข้ออ้างที่บรรดาผู้อยากบวชทั้งหลายมักใช้อ้างกับบุคคลอื่น ว่าถ้าหมดภาระจะบวชไม่สึกบ้าง ถ้าหมดหนี้สินจะบวชบ้าง ถ้าลูกโตแล้วจะบวชบ้าง พออ้างอย่างนี้แล้วก็เป็นการปลอบตนเองไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่เอาไหนได้ในระดับหนึ่ง แต่เชื่อเถอะว่าถึงไม่มีภาระต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้ว ท่านก็ตัดสินใจออกบวชไม่ได้อยู่ดี


    อันที่จริงแล้วผู้ที่รู้ว่าตนเองมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะบวชไม่สึกนั้น ต้องรู้จักวางแผนชีวิตของตนเองอย่างชาญฉลาดเพื่อไม่ให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรคคอยขัดขวางการออกบวชของตนได้ แต่ก็เหมือนอย่างที่ว่ามาความคิดกับความเป็นจริงมันเป็นคนละส่วนกัน ชีวิตที่เราคาดหวังอาจจะเลิศเลอสวยงาม

    แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งตามแต่กฎแห่งกรรมที่เราทำไว้ในอดีตจะเข้ามาดลบันดาล คือ เราอาจมีภาระต้องส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่อาจทอดทิ้งท่านไปบวชได้บ้าง หรือเมื่อเราทำงานใช้ชีวิตทางโลกไป เกิดความอยากได้อยากมีในเรื่องของวัตถุต่าง ๆ ให้ทัดเทียมหน้าตาคนอื่น ทำให้เราต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนประกอบอาชีพบ้าง ซื้อที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์บ้าง เราก็ต้องตกอยู่ในภาวะความเป็นลูกหนี้ที่ต้องชำระหนี้สิน จะหนีไปบวชก็ทำไม่ได้ หรือกฎแห่งกรรมจะดลบันดาลให้เราได้เจอกับเนื้อคู่เก่า ๆ ที่เคยทำบุญทำบาป และเคยใช้ชีวิตร่วมกันมาในอดีตชาติบ้าง ทำให้เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ เกิดความหลงใหลใฝ่ฝัน ที่จะใช้ชีวิตที่เหลือร่วมกับหญิงคนนั้น จนทำให้เราไม่สามารถตัดใจออกบวชได้บ้าง ยิ่งมีลูกชาย ลูกสาวร่วมกันแล้ว จิตใจของเรายิ่งอ่อนยวบยาบ ความเข้มแข็งที่จะละทางโลกออกบวชแทบจะหายไปโดยสิ้นเชิง


    เกี่ยวกับเรื่องภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทางโลกนี้ ผู้เขียนสามารถสรุปได้ดังนี้


    1. ภาระหน้าที่การส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง

    ผู้อยากบวชบางคนมีภาระต้องส่งเงินให้ที่บ้านใช้ทุกเดือน ถึงจะอยากบวชใจแทบขาด ก็ไม่อาจทิ้งภาระความรับผิดชอบนั้นออกบวชได้ตามที่ปรารถนา แต่ถ้าผู้อยากบวชลองใช้ปัญญาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้วลองตั้งคำถามกับตนเองดูว่า วันนี้เราอาจจะตายได้หรือไม่ พรุ่งนี้เราอาจจะตายได้หรือไม่ ปีนี้ ปีหน้า หรือปีถัดไปเรามีโอกาสที่จะตายจากโลกนี้ไปโดยที่ยังไม่ทันได้ร่ำลาบุคคลอันเป็นที่รักได้หรือไม่

    จิตใจของเรายอมรับในสัจธรรมความจริงที่ว่าทุกคนเกิดมาแล้วล้วนต้องตายได้หรือไม่ และความตายก็ไม่ได้มีนิมิตเครื่องหมาย เราไม่ได้เลือกความตาย หากแต่เป็นความตายที่เลือกเรา หากว่าเราเป็นผู้ที่ถูกความตายเลือกให้ตายลงในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ เราจะขอผัดผ่อนต่อความตายนั้นเพื่อไปร่ำลาบุคคลอันเป็นที่รัก หรือไปสะสางการงานที่คั่งค้างอยู่ได้หรือไม่ แน่นอนว่าย่อมไม่ได้ และหากว่าเราตายไปในตอนนี้ บุคคลอันเป็นที่รักของเรา ได้แก่ พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เราส่งเสียอยู่ เป็นต้น เขาเหล่านั้นจะตายตามเราไปด้วยหรือไม่ หรือเขาเหล่านั้นก็จำเป็นที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้แม้ไม่มีเราคอยส่งเสียเลี้ยงดู

    หากเรามีปัญญาเห็นได้ตามความเป็นจริงอย่างนี้จิตจะค่อย ๆ คลายความยึดมั่นถือมั่นลงบ้าง สามารถเร่งรัดกำลังใจเพื่อออกบวชได้


    ขึ้นชื่อว่าชีวิตย่อมมีทางแยกให้เลือกเดินเสมอ เมื่อเราเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็ย่อมหมดโอกาสที่จะเลือกอีกทางหนึ่ง หากว่าเราเลือกที่จะตัดใจออกบวชเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ แน่นอนว่าย่อมสูญเสียโอกาสที่เราจะได้ส่งเสียเลี้ยงดูท่านได้อย่างเต็มที่ แต่หากไม่มีเราท่านก็พอจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ถึงจะสบายน้อยกว่าตอนเราอยู่ดูแลไปบ้าง ก็ขอให้เราเลือกออกบวชจะดีกว่า หากบวชแล้วปฏิบัติสมณธรรมได้ดีพอและต่อเนื่องยาวนานพอ จะเกิดกระแสบุญดึงดูดพ่อแม่เข้าสู่ทางธรรม ทำให้ท่านเกิดความพึงพอใจในเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 3 ได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา อันเป็นเหตุให้ท่านมีบุญบารมีมากขึ้นตามลำดับ ภพชาติของท่านจะสั้นลง ทุกข์ก็จะน้อยลง สามารถพ้นทุกข์ออกจากวัฎสงสารนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่อย่างแท้จริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้


    2. ภาระจากการต้องชำระหนี้สินที่ตนเองสร้างไว้

    เรื่องใช้หนี้ให้หมดเป็นภาระอันหนัก ยิ่งยอดหนี้มีอยู่มาก ยิ่งใช้เวลานานในการผ่อนจ่าย บางคนอาจใช้เวลานานนับสิบปีหรือนานกว่านั้นในการใช้หนี้ให้หมด กว่าจะหมดหนี้ก็มีภาระต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเพิ่มขึ้นมาอีก ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็อ่อนกำลังลง ต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน ทำให้การออกบวชยิ่งยากขึ้นไปอีก

    การออกบวชเพื่อเจริญสมณธรรมนั้นควรจะทำเมื่อยังเป็นหนุ่มมีกำลังวังชาดี อย่ารอจนแก่ตัวแล้วค่อยคิดจะออกบวช เพราะร่างกายจะทำกิจของสงฆ์ได้ลำบาก จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ทำได้ไม่นาน อีกทั้งทิฐิมานะของบุคคลที่บวชเมื่อแก่นั้นจะมาก เพราะถือตัวว่าผ่านโลกมาก่อน เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องธรรมะมามาก มักจะเอาแต่ใจตนเอง ทำตัวดื้อรั้นไม่อยู่ในโอวาทของครูบาอาจารย์ ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะมีความก้าวหน้าในการเจริญสมณธรรมเพื่อคลายทิฐิมานะ และลดอัตตาตัวตนลง


    สิ่งที่ผู้เขียนพอจะแนะนำได้ก็คือ หากผู้จะบวชมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะออกบวชปฏิบัติให้ได้ในชาตินี้ ก็ขอให้เร่งสะสางภาระหนี้สินให้หมดไปโดยเร็วที่สุด พยายามอยู่อย่างประหยัดอดออม อย่าไปสร้างหนี้สินเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็จะทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น ได้บวชเร็วขึ้น ในระหว่างที่ยังมีภาระเรื่องหนี้สิน ก็ให้ผู้ต้องการบวชฝึกฝนจิตตภาวนา หมั่นสร้างสติ สมาธิ และปัญญาของตนให้เจริญไปด้วย เพราะถึงหมดหนี้สินแล้วแต่หากกำลังใจยังอ่อนแอ ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจออกบวชได้เช่นกัน

    3. ภาระจากการดูแลบุตรและภรรยา

    หน้าที่ ๆ สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยา คือ การให้ความรักและแสดงความรัก และเลี้ยงดูภรรยา ช่วยกันทำมาหากิน และหน้าที่ ๆ บิดาพึงปฏิบัติต่อบุตร คือ การให้ความรักความเมตตาต่อบุตร อบรมสั่งสอนให้บุตรเป็นผู้มีศีลธรรม เลี้ยงดูบุตรไม่ให้ลำบาก และส่งเสียบุตรนั้นให้ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุด ผู้ปรารถนาอยากออกบวชหลายคนจึงยังไม่สามารถตัดใจออกบวชได้เพราะมีภรรยาเป็นบ่วงรัดมือ และมีบุตรเป็นบ่วงรัดคอนี่แหละ การที่ผู้มีบุตรและภรรยาจะละทิ้งครอบครัวไปออกบวชได้ง่ายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย


    1). ฐานะทางเศรษฐกิจ


    หากผู้ปรารถนาออกบวชมีทรัพย์สินอย่างมากพอที่ภรรยาและบุตรจะใช้สอยได้อย่างสบายภายหลังจากที่ตนออกบวชไปแล้ว หรือภรรยามีฐานะดีและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูตนเองและบุตรได้อย่างเป็นสุข การที่เราออกบวชก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวสักเท่าไหร่ แบบนี้ก็สามารถออกบวชได้ไม่ยากนัก ขอแค่มีใจเข้มแข็งเสียอย่างเดียว แต่หากผู้ต้องการออกบวชเป็นผู้ขัดสนในทรัพย์สิน มิหนำซ้ำยังมีหนี้สินที่ต้องชำระคืนอีก หรือผู้ต้องการออกบวชเองเป็นเสาหลักของครอบครัว หากขาดตนไปครอบครัวจะอยู่กันอย่างลำบากขัดสน แบบนี้ก็จะทำได้ออกบวชได้ยาก เราไม่สามารถจะละทิ้งภรรยาและบุตรไปบวชได้ง่าย ๆ เพราะการละทิ้งไปก็เท่ากับว่าสร้างความยากลำบากให้แก่บุตรและภรรยา บวชเข้าไปแล้วก็มีแต่ความวิตกกังวลถึงความเป็นอยู่ของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แล้วจะบวชเจริญจิตตภาวนาให้จิตใจสงบแน่วแน่ มีความสุขได้อย่างไร บวชอยู่ได้ไม่นานนักก็เกิดความอาลัยอาวรณ์จิตตก คิดจะสึกออกไปเท่านั้น


    2). ประเภทของภรรยา/คนรัก


    การที่เราจะตัดสินใจออกบวชได้ง่ายหรือยากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคู่ครองของเราเป็นประเภทคู่ประเภทไหน

    หากว่าคนรักของเราเป็นคู่บารมี คือ ผู้ที่มีจิตเสมอกัน เคยทำบุญสร้างบารมีมาร่วมกันอย่างยาวนั้นจนนับภพนับชาติไม่ได้ เราให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนาได้มากเท่าไหร่ คนรักของเราก็สามารถให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนาได้อย่างนั้น มีแต่คอยสนับสนุนการสร้างบุญบารมีของเรา ไม่เคยขัดคอ

    ถ้าเป็นคู่ประเภทนี้ถึงเธอจะยินดีให้เราบวช อนุโมทนาในการออกบวชของเรา และเธอก็ยินดีรับผิดชอบภาระการเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเอง แต่ก็เป็นการยากนักที่ผู้อยากบวชจะตัดใจทิ้งเธอมาบวชได้ ทั้งนี้เพราะแพ้ความดี และเป็นการยากที่จะเอาชนะกระแสแห่งบุญกุศลที่เคยบำเพ็ญร่วมกันมาที่เป็นตัวกำหนดให้ต้องอยู่เป็นคนรักร่วมกันกับเธอ

    แต่โดยทั่วไปแล้วเทวบุตรและพรหมทั้งหลายผู้จุติมาจากเทวโลกและพรหมโลกเพื่อแสวงหาการออกบวชสร้างเนกขัมมบารมีจะหลีกเลี่ยงการมาเจอคู่บารมีประเภทนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ เทวบุตรและพรหมเหล่านั้นจะเลือกเกิดไม่ให้ตรงกับคู่บารมีประเภทนี้ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการออกบวชของตนในชาตินี้ เพราะฉะนั้น ผู้อยากออกบวชก็อย่าสำคัญมั่นหมายไปมากนัก จนคิดทึกทักไปเองว่าคนรักที่มีอยู่นี้เป็นคู่บารมี เพราะความจริงอาจจะไม่ใช่คู่บารมีก็ได้ เป็นเพียงแต่คู่ผ่าน ๆ เท่านั้นเอง


    หากว่าคนรักของเราเป็นคู่บุญ คู่กรรม หรือคู่เวร คู่บุญ คือ ผู้ที่ทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในกาลก่อนไว้มาก รองจากคู่บารมี คู่ประเภทนี้สังเกตได้ว่า จะชอบทำบุญให้ทานร่วมกับเรา แต่บุญกุศลที่สูงไปกว่านั้น ได้แก่ การรักษาศีล หรือการเจริญ สมถวิปัสสนากรรมฐาน เธอจะทำตามไม่ไหว แต่ก็ยังไม่ขัดคอเราในเรื่องการบำเพ็ญบุญ คู่กรรม คือ ผู้ที่บุญสร้างกุศลร่วมกันในกาลก่อนไว้น้อย แต่ทำกรรมสร้างความทุกข์แก่กันมากกว่า ต้องเกิดมาเป็นคู่กันเพื่อชดใช้กรรมรับความทุกข์ใจร่วมกัน สำหรับคู่ประเภทนี้ ถ้าเราจะทำบุญ เธอก็ไม่ค่อยอยากทำบุญตามสักเท่าไหร่ และคู่เวร คือ ผู้ที่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่กันมาในอดีตชาติ เมื่อมาเกิดใหม่ในชาตินี้ก็มีใจผูกพยาบาท ปรารถนาจะมาสร้างความทุกข์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เรื่องทำบุญสร้างกุศลร่วมกันนั้นไม่ต้องพูดถึง


    หากว่าคนรักของเราในปัจจุบันเป็นคู่บุญ คู่กรรม หรือคู่เวร ก็ยังมีโอกาสที่ผู้อยากบวชจะละทิ้งเธอออกบวชได้ตามปรารถนา โดยให้ผู้ต้องการออกบวชเร่งรัดกำลังใจของตนเองในเรื่องของศีล คือ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ การฝึกสมาธิสร้างความเข้มแข็งให้แก่จิตใจ และเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันสภาวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

    หากว่ากำลังใจในไตรสิกขาของเรามีกำลังมากพอ การที่เราเร่งรัดกำลังใจให้มีความเข้มแข็งนี้เอง จะเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล คือ กรรมหนักที่ให้ผลก่อน เพื่อเข้าบั่นทอนกรรมเก่าที่ลิขิตไว้ให้เราต้องอยู่ร่วมกับคนรักคนนี้ให้สิ้นสุดเร็วขึ้น แทนที่ในชาตินี้จะต้องอยู่ร่วมกันตลอดชีวิตหรือหลายสิบปี ก็จะถูกกรรมใหม่เข้ามาบั่นทอนให้ระยะเวลาของการอยู่ร่วมกันสั้นลงเหลือเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีเป็นการสร้างกุศลกรรมใหม่ขึ้นมาแทรกแซงผลแห่งกรรมเก่า

    ถ้ากำลังใจของเรามากจนกำลังใจของคนรักตามไม่ทันจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังรักกันดีอยู่ก็จะเกิดอาการคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้เพราะความต้องการในการ ใช้ชีวิตไม่ตรงกัน เมื่อเริ่มขัดคอกันและทะเลาะกันมากขึ้น จะทำให้ผู้อยากบวชเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์จากการมีคนรัก และพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อออกบวชให้ได้ในที่สุด ส่วนจะออกบวชได้ช้าหรือเร็วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจที่เราเร่งรัดได้ว่าจะมากหรือน้อย


    ในเรื่องของการละทิ้งคนรักเพื่อออกบวชนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ผู้ที่มั่นใจว่าชาตินี้ตนต้องการจะออกบวชไม่สึก รีบบอกให้เธอทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ และรีบเร่งรัดกำลังใจออกบวชให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าเธอจะได้เตรียมใจและวางแผนใช้ชีวิตได้อย่างไม่ผิดพลาด โปรดจำไว้ว่าอันนารีทั้งหลายมีรูปเป็นทรัพย์ อย่ารอให้เวลากาลผ่านไปปีแล้วปีเล่า จนอายุอานามของเธอมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีได้ยากภายหลังจากที่เราออกบวชไปแล้ว


    เลือกวัดบวช


    ในปัจจุบันคณะสงฆ์ไทยแบ่งการลักษณะการบริหารออกเป็น 2 ฝ่าย คือ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยภิกษุทั้งสองนิกายทั้งแม้จะต้องปฏิบัติตนภายใต้พระวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกันก็จริง แต่ก็มีข้อแตกต่างกันในเรื่องของข้อวัตรปฏิบัติที่ภิกษุทั้งสองนิกายได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรม


    ทั้งคณะสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ล้วนแล้วแต่มีทั้งวัดที่เป็นแนวปริยัติ แนวปฏิบัติ มีทั้งที่เป็นวัดป่าและวัดบ้าน มีทั้งวัดประจำหมู่บ้านที่ไม่เน้นทั้งปริยัติและปฏิบัติ มีวัดทั้งที่ถือการฉันมื้อเดียว และฉันสองมื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเพล เหมือน ๆ กัน ซึ่งผู้ต้องการออกบวชควรจะศึกษาให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้เลือกออกบวชในสังกัดนิกายที่ถูกจริตกับตนเอง โดยผู้เขียนจะเน้นเฉพาะวัดที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมเท่านั้น


    ผู้อยากออกบวชที่หวังปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ควรเลือกวัดสายปฏิบัติ เพราะปฏิปทาการปฏิบัติธรรมที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนได้พาดำเนินมา จะช่วยป้องกันตัวเราจากการ ถูกติฉินนินทา พูดจาค่อนแคะ เมื่อเราปฏิบัติสมณธรรม อันเป็นกิจที่พระเณรบางส่วนละทิ้งไปแล้ว เมื่อเขาไม่ปฏิบัติธรรม มาเห็นเรานั่งสมาธิ เดินจงกรม เขาก็จะหมั่นไส้เอาได้

    ส่วนจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคลที่จะมีความชอบไม่เหมือนกัน พระบางรูปชอบอยู่ในเขตเมือง พระบางรูปชอบอยู่ในเขตป่าทึบ พระบางรูปชอบอยู่ในที่โปร่งมองไปสุดลูกหูลูกตามีแต่ป่าเขา พระบางรูปชอบอยู่ในถ้ำ

    โดยให้เลือกวัดที่มีกุฏิส่วนตัวให้พระเณรหลังละรูป จะเป็นการสะดวกต่อการปฏิบัติธรรมมากกว่าการอยู่ในวัดที่พระเณรต้องมาอาศัยรวมกันในกุฏิใหญ่ที่มีหลายห้อง เพราะบางครั้งเราอยากนั่งสมาธิ พระห้องข้าง ๆ อยากจะสวดมนต์ บางครั้งเราอยากจะสวดมนต์ พระห้องข้าง ๆ อยากจะนั่งสมาธิ บางครั้งเราอยากจะอยู่เงียบ ๆ อย่างสงบ พระห้องข้าง ๆ ก็อยากเปิดเสียงเทศน์ครูบาอาจารย์ เป็นที่รบกวนกัน


    ผู้อยากบวชควรเลือกวัดที่ฉันเอกา ( ฉันมื้อเดียว ) ซึ่งส่วนมากจะเป็นวัดป่าสายปฏิบัติ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่สืบทอดปฏิปทามาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน การที่วัน ๆ หนึ่ง เราฉันแค่มื้อเดียวพอให้ร่างกายมีกำลังปฏิบัติสมณธรรม ก็จะทำให้ร่างกายปลอดโปร่ง ไม่อึดอัดไปด้วยอาหารในท้อง และยังเป็นการช่วยให้ไม่เสียเวลาในเรื่องของการขบฉันไปมากนัก

    ช่วง 10 โมงเศษ ๆ ถึง 11 โมง หลังเสร็จการทำข้อวัตรที่โรงฉันแล้ว ก็เป็นเวลาส่วนตัวที่พระแต่ละรูปจะใช้ในการปฏิบัติธรรม จนกว่าจะถึงเวลาทำข้อวัตร ทำความสะอาดสถานที่ในช่วงบ่าย แต่การที่ฉันเพียงแค่มื้อเดียว ก็จำเป็นต้องฉันมาก และใช้เวลาในการฉันนานกว่าฉันสองมื้อ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ระบบย่อยอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารต้องหลั่งกรดออกมามากขึ้นในการจะย่อยอาหารให้หมด และจะทำให้การทำงานของระบบย่อยอาหารเสื่อมประสิทธิภาพลงในที่สุด


    พฤติกรรมการขบฉันที่ผิดธรรมชาติดังกล่าวจะส่งผลให้พระที่ฉันมื้อเดียวมาเป็นเวลา นานหลายปี มักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารกันแทบทุกรูป เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคกรดไหลย้อน โรคท้องอืด เป็นต้น ส่วนจะมีอาการหนักจะเบาก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และกรรมปาณาติบาตที่เคยได้สร้างไว้ในอดีตที่ตามมาให้ผล



    ความสำคัญของพระอุปัชฌาย์ต่อพระนวกะ


    อุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง คือ ผู้ที่คอยดูแลเอาใจใส่และแนะนำพร่ำสอนสัทธิวิหาริก และเมื่อบวชเข้ามาแล้ว สัทธิวิหาริกจะต้องอยู่ในการอบรมดูแลของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 พรรษา จึงจะเป็นผู้พ้นนิสสัย สามารถแยกมาอยู่ตามลำพังผู้เดียวได้


    ดังนั้นการเลือกอุปัชฌาย์ที่มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความแตกฉานทางด้านพระวินัย และมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างดี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องการออกบวช อย่าไปเลือกบวชกับอุปัชฌาย์เป็ด คือ ไข่แล้วทิ้งเหมือนกับเป็ด ไม่ถือธุระในการอบรมแนะนำสัทธิวิหาริกเป็นสำคัญ หรืออุปัชฌาย์ที่ขาดความสำรวมในพระวินัย ไม่ได้ปฏิบัติสมณธรรม

    เพราะเมื่อเราบวชแล้วอาศัยอยู่กับอุปัชฌาย์เหล่านั้น ก็จะทำให้เราสำคัญผิดไปว่าสิ่งที่อุปัชฌาย์ของเราประพฤติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่มีโทษอะไร เราเองก็สมควรที่จะประพฤติตามท่านบ้าง ซึ่งจะทำให้เรามีความเห็นที่ผิดและประพฤติตนขัดต่อพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไปตลอดชีวิตนักบวช



    บวชมาแล้วจำเป็นต้องเรียนนักธรรมหรือไม่

    ศีลของพระมี 2 ประการ ได้แก่ ศีลที่มาในพระปาติโมกข์ 227 ข้อ และศีลที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ คือ มารยาทที่ดีงามที่ต้องปฏิบัติ ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วมีหน้าที่ต้องศึกษาพระศีลและวินัยทั้ง 2 ประการนี้เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง


    หากแต่การจะศึกษาพระวินัยเหล่านี้ให้มีความเข้าใจและละเอียดถี่ถ้วน อาจต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วจึงควรศึกษานักธรรมชั้นตรี ซึ่งเกี่ยวกับศีล 227 ที่พึงปฏิบัติ นักธรรมชั้นโท ซึ่งเกี่ยวกับมารยาทของภิกษุ และนักธรรมชั้นเอกเกี่ยวกับพระวินัยในการทำ สังฆกรรม ซึ่งผู้บวชจะพอเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ โดยย่อได้บ้าง นอกจากนี้แล้วผู้ที่บวชเข้ามาแล้วยังจำเป็นต้องไปศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาด้วยตนเองอีก เพื่อให้เกิดความแตกฉานด้านพระวินัย จะได้เป็นที่พึ่งของตนเองและหมู่คณะในภายภาคหน้า


    ผู้ที่บวชมานานหากไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสังฆกรรม ตีความพระวินัยผิด ๆ ตามความเห็นของตนเอง ก็จะทำให้เกิดโทษทั้งแก่ตนเองผู้อื่น

    ยกตัวอย่างเช่น พระที่ออกไปสร้างวัดหรือสำนักของตนเอง สั่งให้สร้างกุฏิเป็นที่อยู่เพื่อตนเอง คิดจะทำก็ทำเลย ไม่ได้ให้สงฆ์สวดแสดงที่ให้ก่อนด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ซึ่งต้องกระทำในเขตสีมา หรือให้สงฆ์แสดงที่สำหรับสร้างกุฏิในที่หนึ่ง แต่ไปสร้างกุฏิไว้ในอีกที่หนึ่ง หรือบางวัดที่ผู้เขียนเคยเห็นมา เมื่อพระจะสร้างกุฏิเพื่อตนเอง ก็ไม่รู้ว่าจะต้องให้สงฆ์สวดแสดงที่ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาอย่างไร ก็ทำไปตามที่ตนเองคิดว่าทำได้ คือ ให้พระในวัดไปยืนล้อมสถานที่ ๆ จะทำการก่อสร้าง ขอฉันทามติจากหมู่สงฆ์ตรงนั้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ ย่อมจะทำให้มีโทษต้องอาบัติสังฆาทิเสสในภายหลัง เป็นต้น


    โดยเฉพาะอย่างยิ่งครุกาบัติอันได้แก่ ปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13 ผู้อยากบวชจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องอาบัติหนักทั้ง 17 ข้อนี้ ให้มีความเข้าใจเป็นอย่างดีก่อนที่จะบวช เมื่อบวชเข้ามาแล้วให้ระวังอย่าให้ต้องอาบัติเหล่านี้อย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อพลาดต้องอาบัติปาราชิกเข้าแล้ว ก็ถือว่าขาดจากความเป็นภิกษุ หรือพลาดต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งมีทางที่จะพ้นจากอาบัติด้วยการประพฤติวุฏฐานวิธีก็จริงอยู่ แต่จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมสมาธิตกอย่างรุนแรง เป็นจุดด่างพร้อย เป็นมลทินของชีวิตบรรพชิต จนอาจทำให้ผู้บวชหมดกำลังใจที่จะบวชปฏิบัติต่อไป



    กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์


    เมื่อเราบวชเข้ามาแล้วจะประพฤติตนแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เราเลือกคบค้าสมาคมเป็นมิตร ให้เราเลือกคบมิตรที่มีศีลบริสุทธิ์ ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน อย่าไปคบมิตรชั่วผู้ทุศีล เป็นอลัชชีผู้หาความละอายไม่ได้ เป็นผู้มีความลามก มีที่ลับมีที่แจ้งในการทำบาป เมื่ออยู่ต่อหน้าคนก็ประพฤติตนอย่างหนึ่ง มีท่าทีเรียบร้อยราวกับผู้ทรงศีล แต่พอลับหลังคนก็กลับประพฤติตนอีกอย่างหนึ่ง ทำตนให้เป็นผู้ทุศีล ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอายต่อบาปและความเกรงกลัวต่อผลของบาป

    เพราะจะทำให้เรากลายเป็นคนชั่วตาม เช่น พระเณรบางวัด เขาฉันมื้อเย็นกันได้เป็นปกติ เราไปอยู่ร่วมกับเขา นานเข้า เราก็จะฉันมื้อเย็นตามเขา หรือพระเณรวัดไหนดูมวย ดูฟุตบอล ดูหนัง ฟังเพลงเป็นปกติ เป็นต้น เมื่อเราอยู่ร่วมกับเขา ไปสนิทสนมคลุกคลีกับเขา นับเขาเป็นเพื่อน แสดงว่าเรารับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ไม่นานนักเราก็จะทำตัวเหมือนกับเขา


    เหมือนกับบุรุษคนหนึ่งยืนอยู่บนปากหลุมคูถ ปล่อยให้อสรพิษตัวตกหลุมคูถ เปื้อนคูถทั้งตัวมาเลื้อยปีนป่ายบนร่างกายของตัวเอง ถึงบุรุษนั้นจะยังไม่ถูกอสรพิษฉกกัด แต่ก็ย่อมเหมือนโชยไปด้วยกลิ่นคูถ เป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การคบพระเณรทุศีลเป็นมิตร โดยที่เรายังไม่ได้ทำผิดตามเขา ยังไม่เกิดโทษจากการละเมิดพระวินัยเหมือนเขา ก็ย่อมทำให้จิตใจของเราหดหู่เศร้าหมอง และเมื่อคนทั่วไปได้รู้ข่าวว่าเราคบพระทุศีลเป็นมิตร หรือพักอาศัยอยู่ในวัดของพวกพระทุศีล ย่อมติเตียนนินทาเราว่าเป็นพระทุศีลไปด้วยฉันนั้น


    พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใด ย่อมเป็นเช่นคนนั้น” หากเราบวชมาแล้วแต่หาผู้ที่ประเสริฐกว่าตนไม่ได้ ก็พึงอยู่คนเดียว ไม่คลุกคลีกับผู้ใดนั่นแหละ จะเป็นการประเสริฐกว่าการคบนักบวชชั่วเป็นมิตร


    เคร่งครัดได้แต่อย่าเอามาเป็นทิฐิมานะ


    เมื่อเราบวชเข้ามาเป็นภิกษุแล้ว มีความสำรวมในศีล พยายามที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ทุกสิกขาบท มีความเคร่งครัดในการฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน ทำให้จิตมีความหนักแน่น เยือกเย็น เป็นสุขด้วยอำนาจของสมาธิ และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนจิตค่อย ๆ ยอมรับนับถือความเป็นจริงตามพระสัทธรรมได้ตามลำดับ จิตไม่มีอาการคัดค้าน ดิ้นรนเมื่อสิ่งใดเกิดขึ้น แปรปรวน และสลายตัวไปตามธรรมชาติ

    หรือเราไปบวชในวัดป่าสายปฏิบัติ ที่หมู่คณะเขาถือธุดงควัตรเป็นปกติ ซึ่งก็คือ ข้อปฏิบัติที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อฝึกฝนจิตใจตนเองให้มีความมักน้อยสันโดษ เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เช่น เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในที่นั่งเดียวเป็นวัตร (ลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วจะไม่ฉันอีก) ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายทีหลังเป็นวัตร (รับเฉพาะอาหารที่ได้จากการบิณฑบาต) พอใจในเสนาสนะที่เขาจัดให้เป็นวัตร เป็นต้น ทำให้เราต้องประพฤติในธุดงควัตรตามเขา


    ถ้าเรารู้จักตั้งสติสังเกตจิตใจของเรานั้นจะพบว่ามีความเห็นอย่างหนึ่งอันนับเนื่องเข้าในกิเลสค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมา นั่นคือ ความเห็นที่ว่าตัวเองดีกว่าเขา คนอื่นดีสู้เราไม่ได้ ตัวเองเคร่งครัดกว่าเขา เคร่งครัดกว่าพระทุศีล เคร่งครัดกว่าพระที่ไม่เจริญสมถะและวิปัสสนา เคร่งครัดกว่าพระวัดอื่นที่ไม่ถือธุดงควัตร หรือที่เรียกว่า ทิฐิมานะกิเลส การถือตัวถือตน เมื่อเห็นว่าตนดี มองไม่เห็นความบกพร่องของตนเอง จิตก็จะชอบไปเพ่งโทษและติเตียนคนอื่น มีความถือตัวถือตนจัด ใครจะว่ากล่าว ตักเตือน แนะนำสั่งสอนเราไม่ได้ เป็นคนหัวดื้อ เมื่อโดนผู้อื่นขัดใจ หรือพูดคัดค้านความเห็นของตน ก็จะหัวร้อนโมโหง่าย ทำให้หาความเจริญก้าวหน้าในการเจริญสมณธรรมไม่ได้


    เมื่อเราบวชเข้ามาแล้ว เราต้องตั้งใจละความถือตัวถือตนอันเป็นเหตุทำจิตให้เศร้าหมองและตกต่ำ เราต้องตั้งใจรักษาศีล เจริญสมาธิ และปัญญา เพื่อความขัดเกลาตนเอง พยายามหาข้อบกพร่องของตนเองโจทก์ความผิดของตนเองอยู่เสมอ ให้สมกับพระพุทธพจน์ที่ว่า “อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง”


    ลองถามตัวเองดูสิว่าตอนนี้สังโยชน์ 10 ยังมีครบถ้วนอยู่ในใจหรือไม่ มรรคผลนิพพาน เกิดขึ้นแก่จิตใจของเราแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นแล้วว่าตัวเองยังมีกิเลสท่วมหัวอยู่ ยังไม่อาจพ้นจากกองทุกข์นี้ได้เลย ก็พยายามคลายความยึดมั่นถือมั่นในศีลและการเจริญจิตตภาวนาที่กำลังประพฤติอยู่ อย่าทำตัวเป็นอีแร้งที่เหม็นสาบอีแร้งด้วยกัน จงจำไว้ว่าถ้าเราดีจริง เราคงไม่มาเกิดในชาตินี้ เราคงนิพพานไปนานแล้ว หรือในชาตินี้เราคงสำเร็จอรหัตผลไปแล้ว แต่ที่เรายังเป็นปุถุชน บุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสอยู่ ก็เพราะเราดีไม่จริงนี่แหละ


    ให้เราตั้งใจว่าเราจะใช้ไตรสิกขาเป็นเครื่องขัดเกลาตนเองให้จิตใจสูงขึ้นและประเสริฐขึ้น เพื่อความหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อย่านำศีล สมาธิ ปัญญา ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประหัตประหารกิเลส มาสร้างเป็นกิเลสให้พอกพูนอยู่ในใจของตนเอง จนบางครั้งรู้สึกว่ากิเลสของผู้บวชมาปฏิบัติจะมากกว่าฆราวาสญาติโยมไปเสียอีก



    การตอบแทนพระคุณของบิดามารดา


    ผู้ที่ออกบวชมาเป็นภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นเป็นบุคคลผู้เดียว เป็นผู้ไม่มีญาติพี่น้องให้เป็นภาระเครื่องกังวลใจ ละขาดจากประกอบกิจการงานอันเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ แต่ในบทบาทหนึ่งของความเป็นลูก เราก็ชื่อว่ายังมีพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดที่เราจะต้องคอยให้ความสนใจและดูแลอยู่บ้างตามสมควร เพราะพ่อแม่ก็แก่ชราลงเรื่อย ๆ โรคภัยไข้เจ็บก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

    ผู้เขียนเคยได้ยินว่าในสมัยก่อน มีพระหลายรูปเมื่อบวชแล้วก็ไปอยู่ต่างภาค ย้ายวัดปฏิบัติธรรมไปเรื่อย เมื่อพ่อแม่ป่วยไข้ไม่สบาย หรือตายลง ก็เป็นการยากที่ญาติพี่น้องจะแจ้งข่าวสารให้ทราบ บางครั้งมาทราบอีกทีก็หลังจากที่ญาติพี่น้องได้เผาศพ พ่อแม่ไปแล้วหลายปีก็มี


    ดังนั้นผู้ที่บวชเข้ามาแล้วต้องดูความเหมาะสมและความจำเป็นของครอบครัวตนเองเป็นสำคัญ ว่าพ่อแม่มีลูกหลานอีกหลายคนที่คอยดูแลและคอยส่งเสียเลี้ยงดูท่านหรือไม่ หรือเราเป็นเพียงแค่ลูกชายคนเดียวที่ละทิ้งท่านมาบวช ถ้าเป็นอย่างหลังก็อย่าไปอยู่ไกลจากท่านนัก แต่ก็ต้องระวังไว้เรื่องหนึ่งว่าหากบวชอยู่ในวัดที่ใกล้พ่อแม่ญาติพี่น้องจนเกินไป และจิตใจเรายังไม่แข็งแกร่งพอ ก็จะทำให้เกิดความอาลัยอาวรณ์ หดหู่เศร้าหมองขึ้นมาได้เวลานึกถึงท่านทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเหตุทำให้เกิดความหน่ายในการเจริญสมณธรรม จนอาจอยากจะสึกออกไปอยู่บ้านเสียอีก


    สำหรับเรื่องการดูแลพ่อแม่นี้ ในสมัยพุทธกาลแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงสรรเสริญภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ทรงประทานอนุญาตให้ภิกษุสามารถแบ่งปัจจัย 4 ที่ได้มาโดยชอบให้แก่พ่อแม่ได้ใช้ดำรงชีวิตได้ตามสมควรไม่ให้ลำบากจนเกินไปนัก เพราะถ้าผู้ที่บวชปฏิบัติอยู่ได้รู้ข่าวว่าพ่อแม่กำลังลำบาก ไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีที่จะอยู่ หรือกำลังเจ็บป่วย ไม่มีค่ายาค่ารักษา จะทำให้จิตใจของลูกซึ่งบวชพระอยู่เกิดความห่วงหา กังวลกระวาย ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นอันภาวนาด้วยความรักในพ่อแม่

    ที่ผ่านมาก็มีหลวงปู่ หลวงพ่อ หลายรูปที่ท่านนำพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่มีคนดูแล เข้ามาอยู่ด้วยในเขตวัดเพื่อความสะดวกในการที่ท่านจะปรนนิบัติพ่อแม่ตามฐานะที่จะทำได้ เป็นที่เลื่องลือในความกตัญญูกตเวทีของท่านทั้งหลายเหล่านั้น




    เริ่มต้นชีวิตนักบวช

    เมื่อบวชเข้ามาใหม่ ๆ สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังไม่แก่กล้า เมื่อเกิดอาการอาพาธบ้าง หรือเมื่อเกิดการกระทบกับสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ทำให้สติตามไม่ทัน ขาดการกำหนดรู้ สมาธิตก เผลอคิดปรุงแต่งเป็นการใส่เชื้อเพลิงให้กองไฟแห่งกิเลส จนทำให้จิตใจร้อนรุ่มทุรนทุรายเหมือนโดนไฟแผดเผา สิ่งที่ผู้บวชใหม่พึงกระทำ คือ การเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นให้เป็นปกติ ได้แก่ ความอดทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนาและความอดทนอดกลั้นต่อโทมนัส


    1. ความอดทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนา ความไม่สำราญของร่างกายอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดอาการเจ็บป่วย เมื่อยขบ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของการมีร่างกาย ที่ผ่านมามีพระหลายรูปที่ท่านตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานเป็นอย่างดี พอเจอแบบทดสอบเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ป่วยเสาะแสะด้วยโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ก็ขาดความอดทนอดกลั้น เกิดความลังเลสงสัยว่า เราบวชเข้ามาตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแท้ ๆ แต่ทำไมถึงต้องมาป่วย รักษาก็ไม่หาย ยิ่งคิดปรุงแต่ง ก็ยิ่งเกิดวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลแห่งการปฏิบัติธรรมและในคุณความดีของพระรัตนตรัย จนจิตตก เกิดความเบื่อหน่ายที่จะปฏิบัติสมณธรรมต่อไป สึกออกไปเป็นฆราวาส พอสึกไปแล้วโรคเหล่านั้นก็หายไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ


    2. ความอดทนอดกลั้นต่อโทมนัส ความไม่สำราญใจ ความหดหู่เศร้าหมอง ความ ขุ่นข้องหมองใจ ความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์อันเกิดแต่ใจปรุงแต่ง เนื่องจากเราเป็นผู้บวชใหม่ จิตยังไม่แข็งแกร่งพอ บางครั้งโดนพระรุ่นพี่ หรือครูบาอาจารย์ ว่ากล่าวตักเตือน แนะนำสั่งสอนด้วยวาจาที่ไม่ค่อยน่าฟังนัก ทำให้จิตปรุงแต่งไปในทางปฏิฆะ เกิดความขัดใจ ร้อนรุ่มใจขึ้นมาจนอยู่ไม่สุข จนอาจทำให้เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติสมณธรรมต่อไป และสึกออกไปเป็นฆราวาสในที่สุด

    ดังนั้นการเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้น ข่มจิตใจได้ พยายามตั้งสติ ระลึกถึงการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บวชใหม่จำเป็นต้องมีความมุมานะบากบั่นที่จะทำให้สำเร็จ จงกระทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ อย่าปล่อยให้ตนตกอยู่ใต้อำนาจของจิต ให้สมกับพระพุทธพจน์ที่ว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติ คือ ตบะ เป็นไฟเผาบาปอย่างยิ่ง”


    หากเรามีความวิริยะอุตสาหะและความอดทนอดกลั้นมากเพียงพอแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะคลี่คลายไปเองในทางที่ดี เพราะสิ่งใดหรือภาวะใดในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยงแม้แต่ความทุกข์ ทางร่างกายและจิตใจก็เช่นกัน เกิดขึ้นมาในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด เมื่อฝึกฝนจิตใจตนเองนานเข้า ๆ จะทำให้สติ สมาธิ และปัญญาแก่กล้าขึ้นมา ทำให้จิตตั้งมั่นขึ้น รู้ทันการปรุงแต่งของความคิดได้มากขึ้น ทำให้ความทุกข์ใจน้อยลง สามารถปล่อยวางได้เร็วขึ้น ใจก็อยู่เป็นสุข



    ลาภสักการะฆ่าคนโง่


    ในระยะแรกของการเป็นนักบวชปฏิบัตินั้น เรายังอยู่ในช่วงสะสมกำลังแห่งจิตตภาวนาให้เข้มแข็ง มักไม่เป็นที่สนใจของฆราวาสญาติโยมเท่าใดนัก เมื่ออุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย มาวัด ก็จะเข้าหาเจ้าอาวาสที่ตนนับถือ มาปรึกษาปัญหาชีวิต เล่าเรื่องสารทุกข์สุกดิบให้ฟัง เพราะเห็นท่านเหล่านั้นเป็นที่พึ่งทางใจ

    แต่เมื่อเราเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติในศีล สมาธิ และปัญญา ให้มากและต่อเนื่องยาวนานพอเป็นเวลายาวนานนับสิบปี คุณความดีในตัวเราจะเริ่มฉายแสงออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ ญาติโยมจะค่อย ๆ เริ่มเห็นเราเป็นที่พึ่ง และเข้ามาให้คำยกย่องสรรเสริญและสงเคราะห์เราด้วยปัจจัย 4


    คำโบราณท่านว่าสตรีกับสตางค์เป็นภัยของนักบวช ก็จริงอย่างท่านว่า เมื่อพระบวชเข้ามาใหม่ ๆ ยังมีปณิธานแน่วแน่ในการเป็นพระที่ดี มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อปฏิบัติธรรมไปจนถึงขั้นที่คนทั่วไปเห็นความดี ได้รับ ลาภสักการะมากขึ้น ๆ จิตใจของนักบวชเองก็มักจะเริ่มรวนเรและแปรปรวนไป จนติดอกติดใจอยู่กับสุขอันเป็นโลกธรรมนั้น


    นักบวชหลายท่านที่ท่านไม่ได้ทำชั่วเสียหายจากการติดในลาภสักการะ และยังไม่ได้ละทิ้งการปฏิบัติธรรม เป็นเพียงแต่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในหัวโขนและลาภสักการะเหล่านั้น ก็จะทำให้การปฏิบัติจิตตภาวนาไม่ก้าวหน้าไปกว่าเดิม แต่ก็มีนักบวชอีกหลายท่านเมื่อได้รับลาภสักการะมากเข้า ๆ ก็ไม่สามารถหักห้ามใจตนเองได้ เกิดความประมาท เริ่มที่จะคลายความเคร่งครัดและความขยันหมั่นเพียรในการเจริญจิตตภาวนาลง ปล่อยจิตให้เป็นไปในอำนาจของกิเลส เป็นเหตุให้กิเลสที่เคยโดนกำลังของสมาธิกดข่มไว้มาเป็นเวลานาน กลับมีกำลังกล้าแข็งขึ้นมาและแผ่พังพานออกมาครอบงำจิตได้


    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอผู้หญิงที่เป็นคู่กรรมคู่เวรกันมาแต่อดีตชาติ ก็ทำให้ร้อนใจ อดรนทนไม่ได้ สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส บ้างก็สึกออกมาอย่างสง่างามไม่ผิดพระวินัย แต่ก็มีหลายท่านที่มิอาจยับยั้งชั่งใจได้ ประพฤติชั่วต้องอาบัติหนักตั้งแต่เป็นบรรพชิต และขึ้นชื่อว่าที่ลับในการกระทำความชั่วย่อมไม่มี เมื่อเรื่องราวการทำความชั่วดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาสู่ภายนอกเป็นวงกว้าง ก็เป็นเหตุทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาหนักขึ้นไปอีก เป็นกรรมหนักที่จะติดตัวผู้กระทำไปหลายภพหลายชาติ


    วิธีที่จะทำให้นักบวชไม่ติดอยู่ในลาภสักการะ คือ การสำรวมอินทรีย์ คือ การคุ้มครองตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่าให้กิเลสแทรกเข้ามาสู่ใจง่าย ๆ มีสติระลึกได้อยู่เสมอว่าตนเป็นนักบวช ตั้งใจบวชมาเพื่ออะไร แล้วตอนนี้ยังทำได้อย่างที่ได้ตั้งใจไว้หรือไม่ ไม่ว่างเว้นจากสมถะและวิปัสสนา

    และพยายามมองให้เห็นภาวะความเป็นจริงของโลกธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า ลาภสักการะ คำยกย่องสรรเสริญ รวมไปถึงสุขจากกามคุณ ล้วนแล้วแต่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะยึดถือเป็นสรณะได้ การที่เราติดใจอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยของความทุกข์และทำให้เราเสื่อมจากการเจริญสมณธรรม


    เมื่อมีลาภสักการะเข้ามาก็อย่าไปคิดว่าเป็นสมบัติของตัว ให้รู้จักบำเพ็ญทาน สละทรัพย์ที่ได้มาออกเป็นทานบารมีเพื่อประโยชน์แก่หมู่สงฆ์ หรือสร้างวิหารทานให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา พากเพียรในกรรมฐาน รักษาใจให้เป็นสุขทุกเมื่อ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนเมื่อลาภสักการะและคำยกย่องสรรเสริญหายไป จึงจะสมกับพุทธพจน์บทพระบาลีที่ว่า “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่มีโศก ปราศจากธุลี เกษม ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด”


    สาวกภูมิหรือพุทธภูมิ ทางแยกที่ต้องตัดสินใจ


    ผู้ที่ได้ตั้งคำอธิษฐานในลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อเร่งรัดบารมีของตนให้เต็มนั้น แต่ละคนก็จะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป ตามแต่สิ่งที่ได้กระทำสะสมสืบเนื่องมาแต่อดีตชาติอันไกลโพ้น บางคนก็มีความปรารถนาที่จะเร่งรัดตัดตอนการเวียนว่ายตายเกิดให้สั้นลง ต้องการที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานอันเกษมโดยเร็วที่สุด แต่ในบางคนอาจมีความเห็นว่าการตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานแล้วเข้าพระนิพพานแต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการไม่สมควรและไม่สมศักดิ์ศรีของตน จึงได้ตั้งความปรารถนาจะสร้างบารมีเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล แล้วจึงค่อยนำพาเหล่า เวไนยสัตว์ทั้งหลายเข้าพระนิพพานไปพร้อม ๆ กัน จึงจะชื่อว่าสมควรแก่ตน


    อย่างไรก็ตามก็มีหลายคนที่ไม่สามารถจะระลึกถึงคำอธิษฐานของตนได้ตั้งแต่แรก เช่น แรก ๆ ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม เห็นเพื่อนเขาปรารถนาพระนิพพานในชาตินี้ ก็ปรารถนาพระนิพพานในชาตินี้กับเขาบ้าง พอปฏิบัติไปนานเข้า ๆ วาระกรรมมาสนองทำให้เกิดระลึกได้ถึงความปรารถนาในพระโพธิญาณของตน

    บางคนเห็นเพื่อนเขาปรารถนาพระโพธิญาณก็รู้สึกชอบใจ ตั้งความปรารถนาโพธิญาณกับเขาบ้าง เมื่อปฏิบัติธรรมไปนาน ๆ อาจเกิดความเบื่อหน่าย คลายความปรารถนาพระโพธิญาณลง มุ่งเร่งตัดกิเลสเพื่อเข้าพระนิพพานในชาตินี้อย่างนี้ก็มี


    สำหรับผู้ที่บวชเข้ามาเป็นภิกษุในเขตพระพุทธศาสนานี้แล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะปรารถนาพระนิพพานหรือปรารถนาพระโพธิญาณก็ตามที ต่างก็มีหน้าที่เหมือนกัน คือ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เจริญสมาธิในจิตตั้งมั่น เจริญปัญญาให้จิตยอมรับนับถือพระสัทธรรม ไม่คัดค้านดิ้นรนต่อภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง


    ดังนั้น จงจำไว้ว่าอย่าเอาความปรารถนาพระนิพพานหรือพระโพธิญาณมาเป็นข้ออ้างในการทำกำลังใจของตนให้ย่อหย่อน มีความเกียจคร้านในการเจริญสมณธรรม เหมือนที่นักบวชหลาย ๆ ท่านได้กระทำอยู่ บางก็ท่านอ้างว่าไม่มีความสนใจเรื่องการฝึกสมาธิหรือการเจริญปัญญาตัดกิเลส เพราะตนเองปรารถนาพุทธภูมิบ้าง หรือบางท่านเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็เร่งสร้างบุญใหญ่ ทำงานก่อสร้างวิหารทานในเขตพระพุทธศาสนา หรือมุ่งทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ จนลืมไปว่าหน้าที่หลักของตนเอง คือ การศึกษาเรื่องไตรสิกขา


    แต่สิ่งสำคัญที่ผู้บวชเข้ามาแล้วพึงระลึกไว้เสมอก็คือ แม้ว่าในชาติปัจจุบันเราจะเป็นผู้มีบุญบารมีมากพอที่จะเร่งรัดตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเพื่อเข้าสู่พระนิพพานได้ก็ตาม

    แต่การที่บุคคลใดตั้งความปรารถนาพระโพธิญาณอันนับเข้าในปปัญจธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า อันประกอบด้วย ตัณหา มานะ และทิฐิ ก็จะทำให้บุคคลนั้นจะต้องประสบทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปอีกนานแสนนาน และบุคคลนั้นจะไม่สามารถสำเร็จมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลได้จนกว่าจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยตนเอง หรือจนกว่าจะคลายความปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณลงแล้วมุ่งหน้าเข้าสู่พระนิพพาน




    การลาสิกขาเกิดได้ในกรณีใดบ้าง วิธีป้องกันและแก้ไข


    การลาสิกขา คือ การยุติความเป็นบรรพชิต กลับเข้าสู่ความเป็นฆราวาส ซึ่งเป็นหีนเพศ หรือเพศอันเลว โดยในพระบาลีท่านเรียกการลาสิกขากลับไปเป็นฆราวาสของภิกษุสามเณร ว่าเป็นการหวนกลับไปเป็นคนเลว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ภิกษุต้องลาสิกขานั้น เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในสองประการนี้ คือ 1. บุญบวชของภิกษุรูปนั้นได้หมดลง 2. ภิกษุรูปนั้นถูกอุปฆาตกกรรมเข้ามาตัดรอนบุญบวชให้สิ้นสุดลง


    1. การลาสิกขาเพราะหมดบุญบวช

    อย่างที่ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วว่าเหตุปัจจัยที่จะทำให้บุคคลอยากบวชและออกบวชได้อย่างยาวนาน คือ การมีบุญบวชที่สะสมมาแต่อดีตชาติอย่างมากพอ ซึ่งหากบุญบวชยังส่งผลอยู่ การดำรงอยู่ในสมณเพศก็เป็นของไม่หนัก สามารถบวชต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่หากหมดวาระที่บุญบวชจะให้ผลแล้ว จะทำให้เกิดความปั่นป่วนและแปรปรวนขึ้นในจิตใจของนักบวช เกิดความไม่พึงพอใจในความเป็นนักบวช มีความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของนักบวช จิตมีความ พึงพอใจในการกลับไปเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน เห็นว่าการใช้ชีวิตอย่างฆราวาสนั่นแหละเป็นสุขที่น่าปรารถนา สำหรับการลาสิกขาเพราะหมดบุญบวชนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและแก้ไขไม่ได้


    2. การลาสิกขาเพราะมีอุปฆาตกกรรมเข้ามาตัดรอน


    บุคคลใดสั่งสมบุญจากการเคยเป็นนักบวชมามากในอดีตชาติ เคยเกิดมาเป็นนักบวชมากมายนับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชในเขตพระพุทธศาสนาหรือนอกเขตพระศาสนาก็ดี ทุกครั้งที่ได้เป็นนักบวชก็จะตั้งความปรารถนา ขอให้ชาติหน้าต่อไปตนได้เป็นนักบวชอีกและขอให้เป็นนักบวชได้อย่างยาวนาน


    เมื่อมาถึงชาติปัจจุบันบุคคลนั้นก็จะบวชอยู่ได้อย่างยาวนาน ไม่มีความเบื่อหน่ายต่อการเป็นนักบวช แต่ทั้ง ๆ ที่มีความพึงพอใจในความเป็นนักบวชอยู่นั่นแหละ ถ้าหากมีอุปฆาตกกรรมฝ่ายอกุศลเข้ามาให้ผลตัดรอนกรรมฝ่ายกุศลที่ส่งผลให้ตนเองเป็นนักบวชอยู่ได้ ก็จะมีเหตุให้บุคคลนั้นต้องหมดสภาพจากความเป็นนักบวชได้เหมือนกัน เช่น พระบางรูปละเมิดต้องอาบัติหนัก คือ อาบัติปาราชิก หมดจากความเป็นนักบวช หรือต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นเหตุให้อกุศลกรรมเข้าแทรก ทำให้สมาธิตก จิตตกอย่างรุนแรง ไม่สามารถดึงจิตเข้าสู่ภาวะปกติของตนได้ ก็อาจเกิดท้อใจหรือละอายแก่ใจจนต้อง ลาสิกขาออกมาบ้าง พระบางรูปทำผิดกฎหมายจนต้องถูกจับสึก หรือพระบางรูปเป็นพระสังฆาธิการ คือ เป็นพระปกครองในระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป แต่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากทางราชการ นำเงินหลวงไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็อาจถูกจับสึกดำเนินคดีได้เช่นกัน

    นอกจากนี้พระบางรูปอาจเกิดอาพาธด้วยโรคเรื้อรังจนเป็นเหตุให้ทำกิจสงฆ์ไม่ได้ ขาดผู้ปรนนิบัติดูแล ทั้ง ๆ ที่ยังไม่อยากสึก แต่ก็จำเป็นต้องสึกกลับมาอยู่บ้านเพื่อให้ญาติพี่น้องช่วยรักษาตัวอย่างนี้ก็มี หรือพระบางรูปเจอผู้หญิงที่เป็นคู่กรรมคู่เวร เมื่อได้รู้จักสนิทสนมกันแล้วก็เกิดความรู้สึกรักใคร่ชอบพอกันอย่างรวดเร็วด้วยอำนาจบุพพกรรมที่เคยอยู่ร่วมกันมาในชาติปางก่อน ทำให้สมาธิตก จิตตก จนตัดสินใจสึกออกไปใช้ชีวิตร่วมกัน


    แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรรมที่เข้ามาทำสร้างความปั่นป่วนในจิตใจของนักบวชโดยมีสาเหตุมาจากผู้หญิง จะให้ผลอยู่แค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น หากตัวนักบวชเองรู้จักรักษาใจของตนให้เป็นสุขอยู่กับกองกรรมฐาน มีความอดทนอดกลั้นต่อความร้อนรุ่มทุรนทุรายใจที่เกิดขึ้นเพราะความปรารถนาเนื่องด้วยกามารมณ์แล้ว เมื่อผ่านช่วงเวลาที่กรรมให้ผลไปแล้ว ความรู้สึกรักใคร่ชอบพอในตัวผู้หญิงคนนั้นจะค่อย ๆ หายไปเอง


    อย่างไรก็ตาม ยังพอจะมีหนทางป้องกันและแก้ไขภัยจากอุปฆาตกกรรมที่จะเข้ามาตัดรอนบุญบวชได้อยู่บ้าง โดยผู้บวชเองจะต้องมีความไม่ประมาท รักษาสิกขาบทให้บริสุทธิ์ ทุกสิกขาบท ไม่ว่าจะเป็นสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ (ศีล 227 ข้อ) และสิกขาบทที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ (อภิสมาจาร)


    จงอย่าคิดว่าการที่เราล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติ แล้วจะไม่ก่อให้เกิดโทษตามมา เพราะเมื่อเราล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยนั้นบ่อย ๆ ด้วยคิดว่าปลงอาบัติตก จะทำให้กิเลสมีกำลังกล้าแข็งขึ้น สามารถดลจิตใจให้เราสามารถทำอาบัติชั่วหยาบมากขึ้นได้ตามลำดับ

    ผู้บวชอยู่จะต้องเคารพกฎหมายและจารีตประเพณี อย่าทำอะไร ที่ขัดต่อกฎหมายอันเป็นเหตุให้ถูกจับสึก บางการกระทำ เช่น การดื่มสุราเมรัย ไม่ผิดกฎหมายก็จริง ซ้ำยังเป็นอาบัติเบาที่สามารถปลงอาบัติได้ แต่ย่อมขัดต่อจารีตประเพณีอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ชาวบ้านเขาเสื่อมศรัทธา พลอยทำให้พระที่ไม่ได้ทำผิดต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะฉะนั้นหากภิกษุดื่มสุราจนชาวบ้านได้รับรู้การกระทำนั้นในวงกว้างแล้ว ก็ต้องสึกออกไปจากความเป็นพระอยู่ดี


    ผู้บวชเข้ามาแล้วพึงเจริญสมถะและวิปัสสนา เพื่อสร้างกำลังสมาธิให้กล้าแข็ง จิตตั้งมั่น และมีปัญญายอมรับนับถือความเป็นจริงตามพระสัทธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าเวลาที่เกิดอาการป่วยไข้ไม่สบายขึ้นมา หรือมีแรงกดดันบีบคั้นจากภายนอกที่จะทำให้จิตตก ผู้บวชก็ยังสามารถใช้กำลังจิตที่เข้มแข็งในการต้านทานภาวะทั้งหลายเหล่านั้นที่เข้ามาบีบคั้นจิตใจ และสามารถข้ามผ่านความยากลำบากเหล่านั้นไปได้ รักษาใจให้เป็นสุขอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่


    บทส่งท้าย ภาคปฏิบัติ


    หากผู้มีความปรารถนาในการออกบวชได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาถึงบทนี้ จะรู้สึกเหมือนถูกจุดไฟในใจให้ลุกโชนขึ้นมา และตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะต้องออกบวชให้จงได้ แต่การที่ท่านได้อ่านมาทั้งหมดนั้นเป็นแต่เพียงภาคทฤษฎี ช่วยทำให้พอจะเกิดความรู้ความเข้าใจและความเลื่อมใสขึ้นมาได้บ้างเท่านั้น ยังไม่ใช่การฝึกจิตตภาวนาที่จะทำให้จิตใจเข้มแข็งได้จริง และผู้เขียนก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ถึงความยากลำบากในการที่ใครสักคนจะพยายามเร่งรัดกำลังใจ และฝึกฝนตนเองในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้มีกำลังใจที่เข้มแข็งเพียงพอ ที่จะสามารถตัดสินใจละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลังและออกบวชได้


    ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้มีการจัดให้มีการเจริญจิตตภาวนาร่วมกัน ผ่านระบบวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์เป็นประจำทุกคืน เวลา 21.00 – 22.00 น. เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ต้องการออกบวชสามารถเร่งรัดกำลังใจของตนเองได้อย่างถูกจุดและเข้มแข็งในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ไว้ให้สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจริงที่ออกบวชให้ได้ในชาตินี้เท่านั้น
    โดยท่านสามารถเข้าร่วมกลุ่มไลน์โอเพนแชท ชื่อ “กลุ่มเร่งรัดกำลังใจเตรียมตัวบวช” หรือสแกนคิวอาร์โค้ดข้างล่างนี้ เพื่อเข้าร่วมกลุ่ม

    FHogwouHClCqSRLHPEPt-zpqn1tLBYqvJU&_nc_ohc=OIsuQsv0fC4AX-2ja8Y&_nc_zt=23&_nc_ht=scontent.fbkk3-3.jpg
    อย่างไรก็ตามหากผู้อยากบวชท่านใดได้มีโอกาสเข้ามาอ่านหนังสือเล่มนี้ เมื่อเวลากาลผ่านไปนานหลายปีจนผู้เขียนมิอาจอยู่รอเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ท่านได้แล้ว ก็ขอให้ท่านตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ หมั่นฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่น และพากเพียรเจริญปัญญาให้มีความเฉียบแหลม

    หากท่านเป็นผู้มีความตั้งใจจริงในการที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองให้ได้ตามพระธรรมวินัยนี้ โดยไม่ลดละความพยายาม ท่านก็อาจมีโอกาสได้ออกบวชได้สมความปรารถนาในที่สุด

    ติดต่อผู้เขียนได้ตามที่อยู่อีเมล jarutham@outlook.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...