แด่สมณะ.....ผู้เพียรละกิเลส---น่าอ่านให้คนที่กำลังจะบวชได้ฟัง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rubian, 12 ธันวาคม 2008.

  1. rubian

    rubian เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    303
    ค่าพลัง:
    +483
    แด่สมณะ.....ผู้เพียรละกิเลส

    พระ พุทธองค์ท่านทรงเปรียบการเกิดของคนเราดังเต่าตาบอดที่ว่ายวนอยู่ในมหาสมุทร เพียรพยายามตะเกียกตะกายหาทางขึ้นฝั่ง แม้โอกาสที่จะโผล่ขึ้นเหนือน้ำก็แสนจะยากยิ่ง ดังนั้นการที่จะว่ายเข้าไปติดบ่วงที่ทอดลงมาเกิดขึ้นได้ยากฉันใดการเกิด เป็นมนุษย์ของคนเราก็เกิดขึ้นได้ยากฉันนั้น
    แม้ความหวังในการ เกิดดังกล่าวจะมีเพียงน้อยนิด หากเมื่อมีกรรมอันเป็นกุศลลิขิต ก็สามารถชักจูงให้ชีวิตนั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ เมื่อเกิดแล้วก็ใช่ว่าจะโชคดีเสมอไป เพราะหลาย ๆ ชีวิตที่เกิดมานั้น หาได้รู้คุณค่าของความเป็นคนที่ตนได้พกติดตัวมาไม่ ได้แต่ใช้ชีวิตให้หมดไปในวันหนึ่ง ๆ โดยไม่อาจทราบได้เลยว่า หนทางข้างหน้านั้น ชีวิตของเราจะเดินทางไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด
    ดัง นั้น มนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย จึงต้องใช้ชีวิตเผชิญอยู่กับความทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็เพราะกิเลสที่ ตามติดมาบงการ ประดุจนายที่คอยติดตามมาควบคุมบ่าวอย่างเข้มงวดทุกขณะ
    แต่ท่ามกลางคลื่นมนุษย์ที่ถูกซัดไปมาด้วยพายุอารมณ์ที่โหมกระหน่ำซ้ำด้วย กิเลส – ตัณหา อยู่นั้น ก็ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งผู้ซึ่งโชคดีสามารถพาชีวิตตนเองเล็ดลอดออกจากการ กระทบของเกลียวคลื่นเหล่านั้น “ สมณะ “ ผู้เพียรละออกจากกิเลส ด้วยรู้เหตุรู้ภัยในวัฏฏะ
    ผู้เขียนได้มีโอกาสชื่นชมกับบุรุษเพศ ที่มานั่งคุกเข่าขอขมาลาบวชกับ “ หลวงพ่อ “ ท่าที่นั่งประนมมือ พร้อมผ้าไตรจีวรที่ประคองอยู่บนแขนนั้น เป็นภาพที่น่าอนุโมทนายิ่ง และที่มีค่าพิเศษเหนือกว่านั้นคือ คำพรและคำสอนของหลวงพ่อที่มีให้ นับเป็นข้อเตือนใจอันดีเยี่ยมต่อผู้ที่กำลังจะละออกจากการยึดติดอยู่ใน โลกธรรมทั้งหลาย คำสอนของท่านล้วนมีมนต์ขลังดึงดูดใจให้พวกเราดื่มด่ำไปในอารมณ์นั้น
    บาง ครั้งผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจ เสียดาย และน้อยใจในบุญวาสนาของตนเอง ที่ไม่มีโอกาสเช่นท่านเหล่านั้นได้ แต่ก็นับว่ายังมีวิบากดีที่กุศลเก่าได้ผลักพาให้ชีวิตได้มีโอกาสมาพบเห็น และรับฟังเรื่องราวของการก้าวเข้าสู่ “ ตระกูลโคตรมะ “ อันจะเป็นกำลังใจให้เกิดการอธิษฐาน “ ขอชาติหน้าจงได้มีโอกาสเช่นนี้บ้าง “
    ทุก ครั้งที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เขียนจะนึกไปถึงผู้ที่ครองกายอยู่ในสมณะเพศ ท่านเหล่านั้นจะโชคดีได้พบพระที่ให้อารมณ์เช่นนี้หรือไม่ ภาพพระในรูปแบบต่าง ๆ ได้ปรากฏขึ้นเป็นภาพทางใจ เกิดการสะท้อนใจนึกไปถึงพุทธทำนาย เพราะขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเกินกึ่งพุทธกาลแล้ว
    ข่าวคราวทั้ง หลายที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ ดูเหมือนจะเป็นแผนทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพวกเรา หลาย ๆ ฝ่ายน่าจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันพยุง และผดุงให้คงไว้ โดยเฉพาะบุคคลที่ควรจะเป็นผู้นำคอยค้ำยันพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ได้นานที่ สุด ก็คือ ผู้ที่ได้ปวารณาตัวออกบวช จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระ “ ควรจะสอดส่องดูแล และหาหนทางกำจัดคนบาปที่แอบแฝงในผ้าเหลืองให้ออกไปจากตระกูลสงฆ์ให้จงได้
    ผู้ เขียนได้เคยพูดคุยกับหลาย ๆ ท่านที่ได้บวชเรียน และสึกออกมา บางรายก็เป็นเพื่อน บางรายก็เป็นศิษย์ ได้ทราบความเป็นไปในหลายสิ่งหลายอย่าง บางคนบวชไปตามประเพณี บางคนบวชเพื่อหนีภาระ บางคนบวชเพื่อละกิเลส แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะบวชอย่างมีเป้าหมายเช่นที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้
    ผู้ เขียนได้รับฟังแล้วนึกเสียดายเวลาอันเป็นนาทีทองที่ท่านได้ปล่อยให้ผ่านไป จะพูดว่าเปล่าประโยชน์ก็ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยท่านก็ได้กระทำกิจที่เป็นกุศล อันเป็นบุญมากมายกว่าพวกเราหลาย ๆ เท่า แต่ที่น่าเสียดายคือ ความนึกคิดในการวางชีวิตอยู่กับการปฏิบัติในขณะที่ท่านครองผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่นั้น หากท่านได้พบกับพระพี่เลี้ยง หรือพระอุปัชฌาย์ ที่สามารถให้อารมณ์และข้อแนะนำ ดังที่พวกเราได้รับฟังจากหลวงพ่อ ย่อมเป็นการดีสำหรับท่านที่จะกระทำตนให้มีค่าสูงขึ้น ดังนั้นการได้รับฟังคำสอนของหลวงพ่อที่ให้กับผู้ที่มาขอบวชแต่ละครั้ง ทำให้ผู้เขียนอดใจไม่ได้ที่จะคิดถึงพระที่ปฏิบัติดีทั้งหลาย
    “ พ่อเพียรพยายามใช้ชีวิตทั้งชีวิต ทำสมาธิ เพื่อมองเห็นอดีต เพื่อมีอิทธิวิธี ไต่เต้าไปจากปฐมฌาน ผลมันก็เกิดขึ้นมาเอง ไต่เต้าไปจนถึงปัญจมฌาน ปฐวี เตโช วาโย ทำมาทุกอย่างเพื่อจะรู้ว่าเบื้องแรกนั้นเป็นอย่างไร ต้องการรู้ภาพพจน์อันเป็นพุทธลักษณะ ที่ได้ทิ้งชีวิตลงเพื่อเวไนยสัตว์
    ทำ สมาธิโดยใช้ชีวิตทั้งหมดอดทน อดกลั้น กลั้นแม้กระทั่งลมหายใจ ให้หายใจเข้า ๕ นาที และค่อยหายใจออก ๕ นาที ทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้สิ่งที่มองกลับไปดูอดีต แล้วนำมาขีดตนเอง และอธิษฐานทันทีว่า สิ่งที่เห็นนั้นงาม สิ่งที่ทรามนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่ให้แท้ ๆ คือ พระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ และ พระบริสุทธิคุณ ขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยนั้นลึกซึ้งแค่ไหน
    ข้าพเจ้า ขอมีชีวิต บวช เรียน เพียร แล้วนำอันนี้แหละมาพูดด้วยวาจา เมื่อจะรับใครเข้ามาในศาสนาพุทธ.... เสร็จแล้วก็อายุมากขึ้น จะสอนใครก็แก่ไป สอนไปแล้วก็สึกออกไป ก็ไม่ได้ตกทอดไปถึงไหน สัญญากันไว้กับเพื่อนสหธรรมิกทั้งเจ็ดว่า จะต้องทำให้ได้ เราเป็นเพื่อนร่วมสาบานกัน “
    นี่คือความในใจของหลวงพ่อ พระผู้พลีชีวิตเพื่อพุทธศาสนา ท่านเคยเล่าให้พวกเราฟังว่า สมัยเมื่อท่านกลับมาจากพม่าท่านได้นำ “บัญชีใจ” พกกลับติดตัวมา มีทั้งรายรับ และรายจ่ายรายรับคือชีวิตของท่านทั้งชีวิต ส่วนรายจ่ายคือสิ่งที่ท่านจะต้องทำ อันเป็นหัวข้อธรรมทั้งหลายที่ท่านตั้งใจจะแจกจ่ายให้แก่เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคน ดังนั้นท่านจึงใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่มีทุ่มเทให้กับการสอนธรรมะ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีทุกข์มาทุกรูปแบบ
    แม้กระทั่ง ทุกวันนี้ ท่านก็ยังคงนำชีวิตของท่านมาสอนความจริง อันเป็นสัจธรรมให้กับทุก ๆ คน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ยามใดที่มีบรรพชิตก้าวเข้ามาเป็นศิษย์ ท่านจะเข้มงวดกว่าพวกเราฆารวาสหลายร้อยเท่า เพราะหลวงพ่อถือว่า ท่านเหล่านั้นต้องวิรัติตัวเองอยู่ในวินัย จะมาทำตนเป็นคนนอกโอวาทไม่ได้ ท่านได้ดำเนินชีวิตตามคำสาบานที่มีไว้กับพระที่เป็นสหธรรมิกทั้ง ๗ รูป ซึ่งล้วนเป็นหลวงพ่อที่มีปฏิปทาน่าเคารพบูชาทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อมีผู้ก้าวเข้ามาขอบวช ท่านจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้อารมณ์ อารมณ์ที่นับวันจะสูญสิ้นไปจากความรู้สึกของคนทั้งปวง

    ท่าน ทราบหรือไม่ว่า จีวรที่พระนุ่งห่มอยู่นั้น ทำไมไม่ใช้ผ้าผืนเดียว ทำไมจะต้องเป็นผ้าเหลืองที่นำมาเย็บต่อกันเป็นตารางสี่เหลี่ยม
    คำว่า “ พระ “ เป็นคำยกย่องคุณค่าแห่งความดี ความงาม ออกบวช ซึ่งมาจากคำว่า ปวช (ปะ – วะ – ชะ) ซึ่งหมายถึง การออกจากการครองเรือน มาเป็นผู้ไม่มีเหย้าไม่มีเรือน ที่เรียกว่า “ อนาคาริยะ “
    ผู้ มีเหย้า มีเรือน ย่อมเป็นผู้ที่ขลุกอยู่กับกิเลส อันมีทั้งกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างละเอียด การดำเนินชีวิตมีแต่ความวุ่นวายอยู่กับโลกธรรมทั้ง ๘ ถ้าเปรียบเสมือนน้ำจะเป็นน้ำที่ถูกกวนอยู่ตลอดเวลา ตะกอนที่นอนอยู่เบื้องล่างจะถูกตีขึ้นสู่เบื้องบน น้ำที่มองเห็นจึงเป็นน้ำที่ขุ่น ดังเช่นคนเราที่เกิดการกระทบกระทั่งกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานอันเป็นกิเลสอย่างละเอียด จะถูกผลักดันให้ออกมาเป็นกิเลสอย่างกลาง เกิดนิวรณ์ทั้งห้าผลักพาให้เกิดกิเลสอย่างหยาบ ควบคุมให้ชีวิตกระทำกรรมออกไป
    สำหรับ พระ ผู้ออกบวชเป็นผู้ไม่มีเหย้า ไม่มีเรือน ละออกจากความวุ่นวาย ไปสู่ความสันโดษ โอกาสแห่งการกระทบกระทั่งย่อมมีน้อยกว่าโลกียบุคคล ถ้าเปรียบเป็นน้ำ ก็เป็นน้ำที่ถูกกักไว้ในท้องนา ไม่มีโอกาสที่จะไหลไปมาได้ จะสงบนิ่งอยู่ในคันนาที่กั้นไว้ นาน ๆ เข้าน้ำนั้นก็จะใสเพราะตะกอนที่ลอยอยู่ในน้ำนั้น เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ตะกอนนั้นก็จะค่อย ๆ ตกลงสู่พื้นล่าง เช่นเดียวกับพระที่พยายามละกิเลสอันเปรียบได้กับตะกอน ที่ต้องกำจัดออกไปเพียงเพื่อให้จิตใจใสสะอาดดังน้ำที่ถูกกักขังอยู่ในคันนา
    พระพุทธองค์ท่านทรงชี้ให้พระอานนท์ดูคันนา....นี่คือที่มาของ จีวรพระ
    เช่น เดียวกัน นิสัย ๔ ของพระ โดยเฉพาะในหมวดที่ว่าด้วยเครื่องนุ่งห่ม พระจะต้องมีผ้าไตรจีวร ทำไมพระจะต้องมีผ้าเพียงแค่ ๓ ผืน เป็นเครื่องนุ่งห่ม
    พระสงฆ์ คือ ผู้ที่กำลังเดินทาง เดินทางเพื่อละกิเลส พระจะต้อง ละ ออกจากความอาย หน่าย จากความมี
    ละ ออกจากความอาย เช่น โกนหัว โกนคิ้ว ( สังเกตได้จากทิดที่สึกใหม่ ต้องใส่หมวก ก็เพราะความอาย แต่ผู้ที่เป็นพระต้องละจากความอาย )
    หน่าย จากความมี คือ เป็นพระจะต้องไม่มีสมบัติพัสถาน แม้แต่เสื้อผ้า เมื่อเป็นฆารวาสมีมากมายหลายชิ้น แต่เมื่อเป็นพระก็ต้องละให้หมด จะมีไว้ใช้เพียงแค่ ๓ ชิ้นเท่านั้น คือ สบง จีวร และสังฆาฏิ
    ผ้าทั้งสามผืน ที่พระพุทธองค์ทรงหยิบยื่นให้ไปไว้ในปฐพี เป็นผ้าที่พาชีวิตหนีไปจากภัยมืดทั้ง ๓ คือ ภัยอันเกิดจาก อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ฉะนั้น พระจะต้องครองผ้าเพียง ๓ ผืนเท่านั้นเพื่อจะได้ระลึกถึงว่า “ ใครผู้ใดไม่ประจักษ์ไตรลักษณ์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นทุกข์ “ และการที่จะประจักษ์แจ้งในสิ่งเหล่านั้นได้ ก็ต่อเมื่อมีจุดเริ่มต้นจากการสอนใจตนเองโดยที่ทุกครั้งที่จะมีการครองผ้า ไตรจีวรนี้ ให้ระลึกนึกเพื่อเตือนสติตนเองว่า
    “ หยุดนะ....เราจะหยุดกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด....เราจะมีแต่ศีล สมาธิ และปัญญา “
    ความ รู้ทั้งหมดนี้ หลวงพ่อท่านเพียรพยายามปลูกฝังให้กับพระที่มาบวช โดยเฉพาะพระที่จะเป็น “พระพี่เลี้ยง “ หรือ “ พระคู่สวด “ ควรมีความรู้เหล่านี้เพื่อถ่ายทอดให้แก่พระที่มาบวชใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระที่ท่านบวชไปนั้นก็มีอันต้องสึกออกไป ส่วนพระที่มีอยู่นั้น เวลาของการบวชก็ไม่เอื้ออำนวยให้ เพราะในเทศกาลก่อนการเข้าพรรษาจะมีผู้ที่มาบวชมากมาย
    หลวงพ่อ เล่าว่า สมัยก่อนวันหนึ่งท่านจะบวชให้เพียงรูปเดียวเพื่อที่จะมีเวลาให้อารมณ์แก่ พระใหม่ได้อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่การมาขอบวช ท่านจะพูดคุยทั้งพ่อแม่ และผู้ที่จะบวชว่า
    “ ท่านไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านสิ้นสุดจากการมีตระกูล ยกตระกูลของตนเองออกจากความรู้สึก “
    และเมื่อผู้ที่มาขอบวชยกผ้าไตรจีวรที่อยู่บนพานขึ้นมา ท่านจะบอกให้เขาทำความรู้สึกว่า
    “ ขณะนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ตระกูลโคตรมะ “
    เพราะ ท่านถือหลักว่า การเป็นพระ ต้องเป็นผู้ไม่มีเหย้าไม่มีเรือน ขณะที่เป็นพระ ต้องไม่มีบ้าน ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีสมบัติพัสถานใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะ.....
    พระจะต้องมี พระพุทธเจ้า เป็นพ่อ
    พระจะต้องมี พระธรรม เป็นนาย
    พระจะต้องมี พระวินัย เป็นกรอบ
    และพระจะต้องมี กิจเพื่อเดินทางสู่ความพ้นทุกข์....เท่านั้น
    เมื่อ ท่านรับผ้าไตรจีวรนั้นและนำออกมา ท่านจะอธิบายให้แก่ผู้ที่มาบวชใหม่ทราบถึงความหมาย ที่มา และการใช้ผ้าสามผืน ตลอดจนความนึกคิดที่ควรจะกระทำ
    ในวันบวช ....พระพี่เลี้ยงจะต้องเป็นผู้ให้อารมณ์ โดยเริ่มจากพาพ่อนาคไปหลังพระประธานเพราะ “ คนหลังพระ “ คือคนที่ไม่รู้ธรรมะ เพื่อเป็นเคล็ดว่า ไปเพื่อทิ้งชีวิตที่ไม่รู้เรื่อง อันเป็นชีวิตทางโลกออกไป
    จากนั้นพระพี่เลี้ยงจะถามว่า “ ท่านพร้อมที่จะออกจากตระกูลเก่าหรือไม่ “
    เมื่อ พ่อนาคตอบรับ พระพี่เลี้ยงทั้งสองก็จะนำผ้าเหลือง (สบง) มากางออก โดยจับไว้คนละมุมและยืนหันหลังชนกับพ่อนาค พร้อมกล่าวว่า
    “ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
    ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
    สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
    ขอถึงซึ่ง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในการช่วยดำรงจากคน ให้เป็นพระ ทางเพื่อละกิเลส “

    แล้วแยกออกจากกันอ้อมมายืนหน้าพ่อนาค โดยที่มือยังจับชายผ้าเหลืองอยู่ มองดูพ่อนาคพร้อมบอกว่า
    “ ท่านกำลังจะเปลี่ยนไป มีสตินะ ต่อไปนี้ปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการออก สิ่งที่มีอยู่ในตัวล้วนเป็นของฆารวาส เราประกาศแล้วว่า จะออกจากความมีเรือน มีญาติ มีความคิดสิ่งที่ใกล้ชิดกับตนเอง เอาออก ปลดเปลื้องออกไปให้หมด “
    “ ข้าพเจ้าพร้อมทำ “ พ่อนาคตอบรับ พร้อมผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายที่มีอยู่เดิมจะถูกปลดลง สิ่งที่รัดตัวแนบมา อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอุปาทาน พระต้องละออกหมด จากนั้นก็ก้าวออกจากกองผ้าที่ได้ถอดไว้
    ขณะที่ก้าวขาแรกออกมาพระพี่เลี้ยงจะบอกให้คิดว่า “ เราจะต้องยกชีวิตออกจากความมีเรา “
    และเมื่อก้าวอีกขาตามมาให้ระลึกว่า “ เราจะยกชีวิตออกจากความมีขของของเรา “
    จากนั้นก็ก้าวมายืนในวงกลมของผ้าเหลืองที่พระพี่เลี้ยงถือไว้พร้อมกับคำพูดที่ว่า
    “ ขณะนี้ ท่านมิใช่บุคคลที่หลงเพลิดเพลินอยาในวัฏฏสงสารแล้ว ชีวิตของท่านจะต้องมีวินัยของพระ “
    จากนั้นพระพี่เลี้ยงจะถือปลายมุมผ้าทั้งสองจับพับทบไปมาแบบจีบหน้านาง พร้อมกล่าวว่า
    “ ชีวิตของท่านนับจากนี้ไปจะต้องเพียบพร้อมย้อมใจไปกับการกระทำ ตามคำสั่งของวินัย “
    พอดีกับที่ผ้านั้นพับทบถึงหน้าท้อง พระพี่เลี้ยงก็จะนำเอารัดประคดมาผูกให้ พร้องพูดว่า
    “ ท่านจะต้องผูกชีวิตไว้ด้วยสายใยแห่งศรัทธา “
    จากนั้นให้ก้มหัว คล้องอังสะพร้อมบอกว่า
    “ จงระลึกนึกเสมอว่า ท่านมาคนเดียว และจะต้องไปคนเดียว ขณะนี้ท่านมีกิจอยู่เพียงอย่างเดียวแล้วนะ ทางเดียวเท่านั้น “ ทางพระ “ คือ ทางละกิเลส เท่านั้นเอง “
    ขณะที่ห่มจีวรให้ พระพี่เลี้ยงจะให้อารมณ์ว่า
    “ ผ้าเหลืองจะครอบคลุมชีวิตที่อุทิศแล้ว เพื่อหลีก ละ ลด และเลิก ชีวิตขิงท่านจะเดินตามพระพุทธองค์ มาเพื่อบวชนี้ มาเพื่ออยู่ในปฏิปทาอันสูงสุด ( จากนั้นจับมุมผ้าเหลืองด้านบนยกขึ้นสูงสุด ) คือ พระนิพพาน พระนิพพานเท่านั้นที่จะทำชีวิตเราให้สูงสุด “
    จากนั้นจับริมผ้าเหลือง พร้อมกับม้วนผ้าเหลืองเข้ามาจนครบ ๘ ครั้ง พร้อมกับพูดว่า
    “ ท่านจะต้องครองกายด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ที่ประกอบกันทำให้ชีวิตเรานี้ตรงต่อทาง มรรค ผล นิพพาน ได้ เราจะรับไว้เป็นภาระแบกไว้กับชีวิตของเรา ( พร้อมกับที่จับผ้าที่ม้วนขึ้นพาดบ่า ) ด้วยตัวของเราเอง (เมื่อพาดเสร็จก็ดึงชายผ้าที่พาดนั้นออกมาทางใต้รักแร้ ดึงไปด้านหน้า พร้อมบอกว่า) เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยเส้นทางนี้ เส้นทางเดียวเท่านั้น คือทางมรรค ผล นิพพาน “
    อารมณ์เหล่านี้ทั้งหมด พระที่บวชจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการงานของท่านเองในแต่ละวัน เพื่อเป็นการส่งเสริมบุญอุดหนุนกุศลให้สูงส่งยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การตื่นนอนในตอนเช้ามืด ทำความรู้สึกตัว ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้กระทำมาแต่อดีต อันเป็นผลส่งให้เราได้มีโอกาสมาครองกายอยู่ในเพศของบรรพชิต พร้อมนึกถึงคุณงามความดีที่ตนเองได้กระทำมาขอจงได้เป็นพลวปัจจัยส่งผลมา อนุเคราะห์เกื้อกูลให้ชีวิตที่จะมีต่อไปในวันนี้ สามารถรักษาพรหมจรรย์ (อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ) ได้อย่างมั่นคง
    การสวดมนต์ ไหว้พระ เป็นกิจที่พระควรทำ เพราะเป็นการกระทำเพื่อระลึกถึง.....
    ๑. พระพุทธะ ขอถึงซึ่งพระปัญญาธิคุณ ใน “ สัมมาสัมพุทโธ “ หมายถึง การขอถึงพระปัญญา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้เอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค อันจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งการตรัสรู้นั้น
    สัมมา คือ ความจริง ๔ ประการ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
    สัม คือ มาเอง หรือได้เอง
    ส่วน พุทโธ คือ ปัญญา
    ๒. พระธรรมะ ขอถึงซึ่งพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม ล้วนเป็นการกล่าวถึงชีวิต อันประกอบด้วยจิต เจตสิก และรูป ข้าพเจ้าขอนำธรรมที่มีอยู่เพื่อถึงซึ่ง “ ธรรมนอกโลก “ อันได้แก่ พระนิพพาน ให้จงได้
    ๓. พระสังฆะ ขอถึงซึ่งพระสงฆ์ อันได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เป็น “ พระสุปฏิปันโน “ พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง เพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า โอวาทปาฏิโมกข์นั้นศักดิ์สิทธิ์เพียงใด เพราะท่านล้วนเป็นผู้หมดจดจากกิเลส เราขอเพียรเจริญรอยตามท่าน
    เมื่อ อาบน้ำเสร็จ จะครองจีวร ก็นำความรู้ที่ได้จากการบวชมาทำความระลึกรู้สึกตัว นับตั้งแต่มองผ้า ๓ ชิ้น และระลึกว่า “ เราจะมี ศีล สมาธิ และ ปัญญา เพื่อพาชีวิตหนีไปจากวัฏฏะทั้งสาม อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้จงได้ “
    ยาม นุ่งห่มสบง ก็ระลึกว่า “ ขอผ้าเหลืองที่นำมาห่อหุ้มนี้ จงครอบคลุมจิตใจของข้าพเจ้า ให้อยู่ในวินัยสงฆ์ได้ตลอดเวลา “
    และเมื่อพับทบสบงนั้นเข้ามาหาตัว ในแต่ละครั้งให้นึกไปพร้อม ๆ กับการพับทบสบงนั้น
    พับทบครั้งที่ ๑ แทน “ ศรัทธา “ ให้ระลึกนึกว่า เราจะเชื่อเรื่องกรรม วิบาก สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของของตน และจะเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
    พับทบครั้งที่ ๒ แทน “ วิริยะ “ ให้ระลึกว่า เราจะมีความเพียรเพียงอย่างเดียว เพียรเพื่อละกิเลสเพียรเพื่อจุดมุ่งหมายของความเป็นพระ คือ ตรงต่อทาง มรรคผล นิพพาน เท่านั้น
    พับทบครั้งที่ ๓ แทน “ สติ “ ให้ระลึกนึกว่า เรามิใช่ผู้หวัง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เราจะเป็นผู้มีสติปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการออกจากชีวิต เราจะต้องมีสติสันโดษอย่างเดียวและหาทางไปให้พ้นจากสังสารวัฏให้ได้
    พับทบครั้งที่ ๔ แทน “ สมาธิ “ ให้ระลึกว่า เราจะพาชีวิตออกจากความฟุ้งซ่าน มาเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในวินัย ข้อวิรัติที่จะปฏิบัติตนถึงความพ้นทุกข์
    พับทบครั้งที่ ๕ แทน “ ปัญญา “ ให้ระลึกว่า เราจะต้องเป็นผู้มีปัญญา ไม่เป็นคนบ้าใบ้อีกต่อไป ด้วยการเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต และนำความรู้นั้นมาปฏิบัติเพื่อละคลายออกจากความวิปลาสทั้งหลาย อันเป็นที่พาให้ชีวิตติดอยู่ในสังสารวัฏ ข้าพเจ้าจะต้องมีปัญญานำพาชีวิตให้หลุดพ้นไปจากวัฏฏะให้จงได้
    เมื่อ สบงนั้นพับทบมาแนบตัวให้ระลึกว่า “ ขอชีวิตข้าพเจ้าจงแนบแน่นอยู่กับอินทรีย์ ๕ และขออินทรีย์นั้นจงแก่กล้าเพื่อจะดับขันธ์ ๕ ให้จบลง “
    ( หรือจะพับทบ ๗ ครั้ง พร้อมกับระลึกถึง “ โพชฌงค์ ๗ “ ซึ่งเป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ก็ได้ แล้วแต่อารมณ์และเจตนาในกุศลของพระรูปนั้น ๆ )
    จากนั้นก็ผูกผ้ารัดประคดพร้อมระลึกว่า “ เราจะผูกชีวิตไว้กับพระรัตนตรัยให้จงได้ “
    เมื่อ สวมอังสะ ควรระลึกว่า “ ชีวิตของเรามาคนเดียว อยู่คนเดียว และจะต้องเดินทางต่อไปเพียงคนเดียว ขอการเดินทางจงเดินทางสู่ทางสายเดียว คือ ทางของ มรรค ผล นิพาน เท่านั้น “
    เมื่อ ห่มจีวร ขณะที่ยกผ้าจีวรขึ้นสูงให้ระลึกว่า “ ชีวิตเราจะมีจุดหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อันเป็นจุดหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน “
    และเมื่อม้วนผ้าจีวรเข้าแต่ละครั้ง ให้ระลึกนึกไปดังนี้
    ม้วนครั้งที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ เราจะอยู่กับปัญญา
    ม้วนครั้งที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ชีวิตเราจะละออกจากการติดอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสต่าง ๆ
    ม้วนครั้งที่ ๓ สัมมาวาจา ปากเราจะพูดแต่สิ่งที่เป็นมงคลละเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔
    ม้วนครั้งที่ ๔ สัมมากัมมันตะ การงานของเรามีเพียงอย่างเดียว คือ กิจที่ตรงต่อ มรรค ผล นิพพาน โดยจะตั้งตนอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา ตลอดเวลา
    ม้วนครั้งที่ ๕ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตของเรา เราจะบิณฑบาต โดยการขออย่างปกติ และจะมีสติสัมปชัญญะ เลี้ยงใจให้ไปไกลจากกิเลส
    ม้วนครั้งที่ ๖ สัมมาวายามะ เราจะมีความเพียรเพียงอย่างเดียว คือ เพียรเพื่อละกิเลส เพียรเพื่อไปให้ถึง มรรค ผล นิพพาน
    ม้วนครั้งที่ ๗ สัมมาสติ เรา จะมีสติ ระลึกรู้สึกตัวเสมอว่าเรามาคนเดียว อยู่คนเดียว และต้องไปคนเดียว และเรามีทางเดินทางเดียวเท่านั้น คือ ทางที่ตรงต่อ มรรค ผล นิพพาน
    ม้วนครั้งที่ ๘ สัมมาสมาธิ เราจะมีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อทางที่เราได้เลือกแล้ว คือ ทาง มรรค ผล นิพพาน
    และเมื่อนำผ้านั้นขึ้นพาดบ่า ให้ระลึกว่า “ เราจะถือทางมรรค เป็น สรณะ ตลอดไป “
    ยาม เมื่อออกบิณฑบาต มีสติเดิน ถ้าพระรูปใดมีภูมิวิปัสสนาก็ปฏิบัติไป แต่เมื่อเห็นคนนิมนต์ก็มีสติหยุดเปิดฝาบาตรและร่วมอนุโมทนาในใจกับมือที่ กำลังตักอาหารใส่ พอรู้ว่าเขากำลังทำความเคารพ ก็มีสติระลึกรู้สึกตัวว่า เขากำลังอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นมงคลกับชีวิตของเขา เราขออนุโมทนา และจะขอทำให้ได้เช่นนี้ ไม่ว่าจะเกิดชาติใด จากนั้นมีสติปิดฝาบาตร
    ฉะนั้น การเป็นพระ จะมีญาติโยมมาเคารพกราบไหว้ยามใดที่พระพบเห็น โยมพ่อ โยมแม่กราบไหว้ ให้ระลึกว่า “ เราจะต้องทำชีวิตให้สูงขึ้นให้จงได้ “
    เมื่อ มีกิจของสงฆ์ เช่น การกระทำสังฆทาน การลงโบสถ์และสวดปาฏิโมกข์ พระจะต้องมี “ สังฆาฏิ “ ซึ่งเมื่อกระทำกิจเสร็จพระควรถอดสังฆาฏิวางไว้ในที่ที่ควรวาง กราบพร้อมเอามือขวาแตะ และระลึกถึงวันมาฆบูชา เพื่อบูชาวันที่ก่อกำเนิด “ เอหิภิกขุ “ ระลึกว่า “ บัดนี้ข้าพเจ้าได้มีชีวิตอยู่ทางนี้ ขอกุศลจงรักษาข้าพเจ้าให้ดำรงความเป็นสงฆ์ได้ตลอดไป “

    เรื่อง ราวทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นหัวข้อธรรมอันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ที่หลวงพ่อได้เมตตานำมาสอน ทำให้พวกเราทราบไปถึงเหตุการณ์ในอดีตอันไกลแสนไกลที่มีผ่านมา และเรื่องราวที่ท่านได้กระทำในอดีต
    ปัจจุบันความรู้ เหล่านี้นับวันจะเลือนหายไปเกือบหมด ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อ และพระอีกหลาย ๆ รูปได้พยายามฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อจรรโลง “ สิ่งที่งาม “ เหล่านั้นเอาไว้ แม้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะฝืนพุทธทำนายได้ หลวงพ่อและพระผู้เป็นสหธรรมมิกก็ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลัง เพื่อรวมพลังช่วยกันค้ำยัน ให้พระพุทธศาสนาของเราคงอยู่ได้นานที่สุด และด้วยความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้นิเมื่อได้ฟังหลวงพ่อท่านพูดว่า
    “ ....พ่อเสียดาย ไม่ได้เสียดายชีวิต แต่เสียดายความรู้ที่ยังถ่ายทอดออกไปไม่หมด “
    ผู้ เขียนในฐานะลูกศิษย์ ที่ได้ตั้งเจตนาอุทิศชีวิต เพื่อช่วยเหลือกิจการงานกุศลของท่าน จึงคิดว่าควรจะเป็นหน้าที่ของตนเอง ที่พอจะช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านนี้ของท่านได้ ด้วยการช่วยเผยแพร่ความรู้ที่นับวันจะหมดไปเหล่านี้ให้กว้างไกลออกไป ประกอบกับผู้เขียนเคยคิดอุปมาตนเองเอาไว้ว่า รูปชีวิตของเราก็ไม่ต่างไปจากดินเท่าใดนัก ยามเมื่อหลวงพ่อสอนธรรมะให้กับเรา ก็เหมือนท่านถ่ายเทปุ๋ยลงสู่ดิน ต่างกันอยู่เพียงว่า ดินไม่สามารถนำปุ๋ยนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับมันได้ ส่วนเราเมื่อมีชีวิตได้ฟังธรรมย่อมนำธรรมนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์กับตนได้
    หากผู้เขียนเป็นดิน ก็ขอเป็น “ ดินโคลนบัว “ ดินซึ่งเมื่อได้รับปุ๋ย ก็จะนำปุ๋ยนั้นถ่ายทอดไปยังบัวที่กำลังเจริญ เพื่อบัวนั้นจะได้ชูดอกขึ้นอย่างสวยงาม และสมบูรณ์
    มา บัดนี้ เมื่อผู้เขียนได้รับฟังธรรมะ อันเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีจิตใจใฝ่ทางมรรคผล จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนรวบรวมเรื่องราวทั้งหมด ออกมาเป็น “ แด่สมณะ.....ผู้เพียรละกิเลส “ จึงหลังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อความทุกตัวอักษร ที่นำมากลั่นกรองด้วยใจ คงจะทำประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่ครองกายอยู่ในสมณเพศ ด้วยความปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจที่มี ขอให้ท่านสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ จนสามารถละออกจากกิเลสได้สำเร็จ ก้าวไปเป็นหนึ่งในบัวสี่เหล่า คือ “ บัวบาน “ ตามที่ต้องการได้โดยเร็วไว
    ขอ กุศลทั้งหลายที่พึงมี นับตั้งแต่กุศลเจตนาที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับฟังคำสอนจากหลวงพ่อ และตั้งใจว่าจะต้องนำเรื่องราวทั้งหมดมาเรียงร้อย จวบจนกระทั่งได้กระทำกุศลกรรมนั้นมาจนถึงบรรทัดนี้ ขออานิสงส์ที่พึงบังเกิดจากการที่ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับรู้และอนูโมทนา หรือนำไปปฏิบัติ กุศลทุกหยาดหยด ขอกราบรินรดถวาย เป็นปฏิบัติบูชาแด่ “ หลวงพ่อเสือ “ และพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทุก ๆ รูป ที่ดำรงตนอยู่ในเนื้อนาบุญ เนื่องในวันสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ นี้ด้วยเทอญ



    น้ำคำของหลวงพ่อเสือ

    ปล.ขอบคุณหลวงพ่อเสือ และคุณเฉลิมศักดิ์ด้วยครับ อ่านแล้วทราบซึ้งดีมาก เสียดายที่ตอนผมบวชไม่ได้อ่านอันนี้ก่อนแต่ก็ปฏิบัติดี และอยากให้ผู้ที่จะบวชได้่อ่านนะครับ มีลูกมีหลานก็ลองอ่านให้ฟัง จะได้เข้าใจความหมายของการบวช
     

แชร์หน้านี้

Loading...