'เฮือนหละปูน'

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 29 สิงหาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173
    [​IMG]

    เที่ยววัด...ชมพิพิธภัณฑ์ฯ...ชิมลำไย

    หันไปรอบทิศมีแต่ต้นลำไยออกผลงามสะพรั่ง ไม่ว่าในสวนริมรั้วหรือรอบบ้านเรือน ลำไยยืนต้นตระหง่านออกผลให้ได้เดินชิมและชมเมืองอันอบอุ่นในอ้อมกอดวัฒนธรรมล้านนาของคนพื้นถิ่นที่มีอายุยาวนานกว่า 1,343 ปี ตั้งแต่สมัยเมืองหริภุญไชย จนมาถึง “เมืองลำพูน” ปัจจุบัน

    ลำพูนวันนี้ยังคงรักษาโบราณสถานต่าง ๆ ไว้อย่างงดงาม เหมาะกับการมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เพียงเดินกินลมชมวิวไม่กี่อึดใจก็เจอวัดและเจดีย์สีทองเปล่งประกาย แต่ก่อนเดินดูเงาเวลาอดีตของเมืองนี้ ขอแวะเติมพลังด้วย “ก๋วยเตี๋ยวลำไย” พร้อมซดน้ำมะนาวโซดาให้คล่องคอแล้วค่อยเดินทางกันต่อ...

    เป้าหมายแรกอยู่ที่ วัดจามเทวี หรือวัดเจดีย์กู่กุด เป็นสถานที่สำคัญบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งเมืองหริภุญไชย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1298 ด้วยฝีมือช่างชาวขอม มีเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย ตามตำนานเล่าว่า ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เดิมมียอดห่อหุ้มเจดีย์ด้วยทองคำ ต่อมายอดเจดีย์หักหายไป และนอกจากนี้ยังมีเจดีย์ให้ได้ชมกันอย่างรื่นรมย์เพราะมีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ได้สูดอากาศบริสุทธิ์

    ต่อไปเป็นอีกสถานที่ซึ่งเก็บรวบรวม “เงาเวลาความทรงจำ” ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2455 เริ่มแรกเป็นคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน ตัวบ้านเป็นเรือนสะระไน ขนาดใหญ่ 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนชั้นบนประกอบด้วยไม้สัก หลังคาจั่วผสมปั้นหยา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าชาวจีนในเมืองลำพูนได้ซื้อต่อเรือนหลังนี้ในราคา 58,000 บาท โดยใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พบปะสังสรรค์

    พ.ศ. 2489 คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน พ่อค้าชาวจีน ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1-4 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนหวุ่นเจิ้ง (เจริญและเที่ยงธรรม) และยังมีการสอนภาษาสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาคำนวณ เป็นต้น แต่เปิดสอนได้ไม่นานก็ต้องปิดโรงเรียนลงด้วยรัฐบาลขณะนั้นเพ่งเล็งสมาคมชาวจีน รวมทั้งกิจการของคนจีน เพราะเป็นที่สงสัยและเกรงถึงเรื่องลัทธิคอม มิวนิสต์ และได้มีการจับกุมคนจีนในจังหวัดลำพูนไปกักขังไว้ที่เพชรบูรณ์ ทางสมาคมจีนจึงได้มีการขายที่ดินบางส่วนของคุ้มแห่งนี้เพื่อใช้เป็นค่าไถ่ตัวผู้ที่ถูกจับกุม ซึ่งต่อมาได้รับการปล่อยตัว และต่อมาก็ได้ตั้งเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง ซึ่งเมื่อโรงเรียนหมดสัญญาจึงได้ย้ายไปที่อื่น ปล่อยให้ผู้เช่ารายใหม่ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนเข้ามา

    พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ในวันนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตมากมายตั้งแต่ตัวอาคารและสิ่งของที่จัดแสดง เช่น ภาพถ่ายสาวงาม โรงหนังและโรงแรมห้างร้านในอดีตที่รุ่งเรืองของเมืองลำพูนอย่างครบครัน ฝ่ายเด็ก ๆ ก็มีของเล่นต่าง ๆ ที่นิยมในครั้งอดีตมาให้ชม

    พอแดดร่มลมตกก็ออกเดินเที่ยวชมความงามขบวนแห่ของชาวบ้านอันตระการตาใน “งานเทศกาลลำไย ผลไม้มหัศจรรย์เมืองลำพูน” ปีนี้มีขบวนแห่ยาวเหยียด ฉายให้เห็นภาพความงามของวัฒนธรรมล้านนาที่ยังคงอบอวล เพราะถนนไม่กี่เลนสองข้างทางเต็มไปด้วยชาวบ้านที่มารอดูลูกหลานแต่งตัวงดงามในขบวน ส่วนเด็ก ๆ ส่งเสียงทักทายพี่และเพื่อน ๆ ที่ร่วมขบวน เป็นภาพที่น่ารักและอบอุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบคือ เวลาขบวนเดินผ่านวัดและเจดีย์ ซึ่งเป็นภาพที่น่าชมและหาดูได้ยากเต็มที ขณะที่คืนนี้มีการแสดงบนเวทีด้วยท่วงท่าการฟ้อนรำที่น่าชม

    สุดท้ายเราแวะไป ชมชาว มอญและโบราณสถานแห่งใหม่ที่ วัดเกาะกลาง อยู่ที่บ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง เป็นวัดที่ ครั้งหนึ่งเคยมีน้ำล้อมรอบ ต่อมาเส้นทางของแม่น้ำได้เปลี่ยนสายไหลหันเหห่างไกลออกไปเป็นแม่ปิงสายปัจจุบัน

    ตามประวัติมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า วัดเกาะกลาง สร้างโดย เศรษฐีอินตา ซึ่งเป็นชาวมอญ โดยระบุว่าเป็นพระบิดาที่แท้จริงของพระนางจามเทวี ก่อนที่จะถูกพญานกคาบไปตกอยู่ในสระบัว แล้วพระฤๅษีวาสุเทพเก็บมาเลี้ยง จากนั้นจึงได้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้ในที่สุด ซึ่งเศรษฐีอินตาและพระนางจามเทวีในส่วนนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ

    ในปี พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรได้ทำการอนุรักษ์ปูนปั้นและขุดแต่งบูรณะเจดีย์ประธานวัดเกาะกลางเป็นครั้งแรก โดยกลุ่มโบราณสถานเวียงเกาะกลางที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย มณฑปบนทุ่งนา ซากฐานอุโบสถ ซากฐานพระวิหารหลวง แนวกำแพงแก้ว บ่อน้ำ ซากฐานพระนอน มณฑปโขงทิศตะวันออก ซุ้มประตูโขงทิศตะวันตก เชื่อว่าแต่เดิมทิศตะวันตกเคยมีแม่น้ำไหลผ่านและใช้เป็นทิศด้านหน้าสำหรับเข้าสู่วัด นอกจากนี้แล้วก่อนจะถึงบริเวณวัดเกาะกลาง ยังมีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมค่อนข้างกลมขนาดเขื่องตั้งอยู่ริมถนนองค์หนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์หมายท่า” กล่าวคือ เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้สัญจรทางน้ำได้ทราบว่าใกล้จะถึงวัดเกาะกลางแล้ว ให้เตรียมสัมภาระ สำหรับขึ้นฝั่งได้ แสดงว่าถนนสายเข้าวัดเกาะกลางที่เห็นในปัจจุบันแต่เดิมเคยเป็นคลองมาก่อน

    ซุ้มโขง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ด้านบนจะหักพังลงมาหมดแล้ว แต่ก็ยังเหลืออาคาร ตอนล่างเป็นทรงปราสาทย่อมุมไม้ 24 เจดีย์แห่งนี้มีลักษณะการก่ออิฐกรอบซุ้มวงโค้งคล้ายกับแบบที่ พบในพุกามสำหรับ “แก้วมณีเจียระไน” แห่งเวียงเกาะกลาง ที่มีความงามอย่างโดดเด่นได้แก่ เจดีย์ประธานกลางวัด เป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงปราสาท ยอดระฆัง มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ภายในคูหาซุ้มแต่เดิมเคยมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดจนทำให้ได้รับ ฉายาว่าเป็น “แก้วเจียระไน” เนื่องมาจากมีการประดับตกแต่งซุ้มจระนำด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงามเป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น มกร กิเลน นาค กับลายบัวเชิง ลายบัวคอเสื้อ และลายพรรณพฤกษาประเภทลายเครือเถา หรือที่เรียกกันว่า “ลายเครือล้านนา” ตามกรอบซุ้มต่าง ๆ
    จากการขุดสำรวจทางโบราณ คดีและบูรณปฏิสังขรณ์วัดเกาะกลาง โดยกรมศิลปากรได้ข้อสรุปว่า เจดีย์ประธานองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยหริภุญไชยมาแล้วเป็นอย่างน้อย เนื่องจากได้มีการพบฐานรากชั้นในซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่ายุคล้านนาตอนต้น แต่ต่อมาคงได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับองค์เดิมในสมัยล้านนา อันน่าจะตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มจระนำของที่นี่มีความใกล้เคียงกับวัดหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช อาทิ วัดโลกโมฬี วัดมหาโพธาราม ในเชียงใหม่

    สิ่งที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษคือ มณฑปบนเนิน (ชาวบ้านเรียกศาลเพียงตาหรือประภาคาร) ที่ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งนานอกกำแพงวัด มีลักษณะแปลก เนื่องจากที่แกนกลางของตัวสถาปัตยกรรมทำเป็นแท่งเสาขนาดใหญ่ใช้รองรับหลังคาตอนบน แท่งเสานี้เต็มไปด้วยเขม่าควันสีดำ ชาวบ้านจึงสันนิษฐานว่าอาจเคยใช้เป็นที่จุดไฟกลางคืนบอกทางสัญจรแก่ชาวเรือ ซึ่งการใช้เสาแท่งใหญ่เช่นนี้พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมเมืองพุกาม ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าชุมชนในเวียงเกาะกลางแห่งนี้ เคยมีความสัมพันธ์ กับชาวพุกามในลักษณะไปมาหา สู่กัน

    สำหรับการ “เฮือนหละปูน” ในครั้งนี้ถือว่าไม่ผิดหวังเพราะนอกจากมีโบราณสถานที่สวยงามแล้ว วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านอันอบอุ่นยังเป็นอีกแรงดึงดูดให้เราอยากกลับไปเยือนอีกครั้ง.

    สีสันรายทาง

    การเดินทาง โดยรถยนต์จาก กรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านดอนเมือง รังสิต แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 32 ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท เข้าจังหวัดนครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 เข้าจังหวัดลำพูน รวมระยะทาง 670 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง

    รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถประจำทางปรับอากาศบริการทุกวันจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง

    ของฝาก ปีนี้ราคาลำไยตกต่ำ ชาวบ้านจึงเกิดแนวคิดทำเค้กลำไย ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนห้วยกานเบเกอรี่ โทร. 08-4985-9296 คุณสมพร รับรองความอร่อยกันถ้วนหน้า หรือใครที่ชื่นชอบเซรามิกแวะไปซื้อได้ที่ “ชวนหลง”

    ศราวุธ ดีหมื่นไว



    Daily News Online > หน้าวาไรตี้ > 'เฮือนหละปูน'
     

แชร์หน้านี้

Loading...