เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 พฤษภาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพไปร่วมทำวัตรเช้าที่โครงการอบรมผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งในช่วงเช้านั้น พระเถระที่ลงนำทำวัตรเป็นประจำก็คือพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) โดยมีพระเดชพระคุณพระราชวชิรโมลี (สมชาย พุทฺธญาโณ ป.ธ.๗) รองเจ้าคณะภาค ๑๔ และท่านเจ้าคุณอาจารย์พระศรีวิสุทธิวงศ์ (สุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู ป.ธ.๙) ซึ่งอยู่กันให้เห็นหน้าเป็นประจำ

    โดยที่บุคคลที่เดินทางไกลที่สุดก็คือกระผม/อาตมภาพเอง ถ้าหากว่าออกจากวัดท่าขนุนมาในช่วงเช้ามืด ประมาณตี ๒ ครึ่งถึงตี ๓ ก็จะใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง แต่ถ้าออกสายกว่านั้นเมื่อไร รถเริ่มติดก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง ๔ ชั่วโมง..!

    หลังจากทำวัตรเช้าเรียบร้อยแล้วก็ได้ฉันเช้าร่วมกัน โดยที่วันนี้คณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี นำโดยพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันเป็นเจ้าภาพภัตตาหารทั้งเช้าและเพล

    หลังฉันเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชั่วโมงแรกบรรยายโดยพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี กระผม/อาตมภาพสรุปใจความสำคัญที่ท่านได้บอกกล่าวไว้ก็คือว่า

    เจ้าอาวาสใหม่นั้นต้องรู้จักการ ครองตน ครองคนและครองงาน

    การครองตนก็คือปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา คือรักษากาย วาจา ด้วยศีล รักษาใจด้วยสมาธิ และใช้ปัญญาประกอบในการปฏิบัติกิจการงานทั้งทางโลกและทางธรรมทุกอย่าง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    การครองคนนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีสรุปว่า ต้องครองด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ ก็คือมีทาน รู้จักแบ่งปันให้ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ฆราวาส เด็กวัด ตลอดจนกระทั่งญาติโยมข้างวัดทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรารู้จักแบ่งปัน เราก็จะได้จิตใจทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา และญาติโยมที่คอยให้การสนับสนุนวัด

    ปิยวาจา การพูดดีพูดไพเราะ ตามภาษาบาลีนั้น หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีท่านสรุปว่า เราพูดจาตามปกติก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่กระโชกโฮกฮากหรือไปด่าว่าผู้อื่นเขา การที่เราจะด่าว่าผู้อื่นได้นั้น ต้องมีบารมีพอ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะโดนสวนได้โดยไม่รู้ตัว..! ดังนั้น..พูดจาตามปกติก็ได้ แต่ให้มีปกติเป็นผู้ทักทายผู้อื่นก่อน คนอื่นก็จะรู้สึกดีกับเราแล้ว

    อัตถจริยา คือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาทั้งหลายเหล่านั้น และสมานัตตตา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่ชอบใจสิ่งหนึ่งประการใดก็อย่าได้ทำกับคนอื่น

    ส่วนการครองงานนั้น พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. สรุปว่า ต้องครองด้วยหลักอิทธิบาท ๔ ก็คือมีฉันทะ ยินดีและพอใจที่จะทำหน้าที่นั้น ๆ ในเมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว จะชอบหรือว่าไม่ชอบ จะต้องการหรือว่าไม่ต้องการก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ซึ่งท่านทั้งหลายต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีโทษมากกว่าบุคคลทั่วไปเป็นเท่าตัว..!

    ข้อต่อไปของการครองงานในหลักอิทธิบาท ๔ นั้น ก็คือในส่วนที่ท่านทั้งหลายต้องใช้วิริยะ ความพากเพียรที่จะทำงานทำการนั้นให้สำเร็จลงไปได้ การทำงานไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความมั่นใจว่างานนั้นต้องสำเร็จ หากแต่ว่าเราต้องเป็นคนสู้งาน ต่อให้รู้ว่างานนั้นไม่สำเร็จ ก็ต้องสู้ดูก่อนว่าเราทำได้สักเท่าไร แต่ถ้าหากว่าทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาจริง ๆ เชื่อว่าความสำเร็จย่อมปรากฏขึ้นมากกว่าอย่างแน่นอน

    ข้อต่อไปก็คือจิตตะ มีกำลังใจจดจ่อปักมั่นอยู่กับงานของตน ภาระหน้าที่ในความเป็นเจ้าอาวาสมีเท่าไร อำนาจหน้าที่ของเรามีเท่าไร ต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ๖ ด้าน หรือว่าการบริหารหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลทั้ง ๘ ด้าน ต้องกระทำให้ครบถ้วน สิ่งหนึ่งประการใดที่เรายังทำไม่ได้ ก็ศึกษาเรียนรู้จากเพื่อนฝูงที่เป็นเจ้าอาวาสซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว นำมาพัฒนา นำมาปรับปรุงการทำงานของตน

    และข้อสุดท้ายคือหลักวิมังสา ต้องทบทวนอยู่เสมอว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? บัดนี้เราทำไปถึงไหนแล้ว ? ยังเหลือภาระหน้าที่การงานเหล่านั้นอีกเท่าไร ? ที่เราต้องพากเพียรพยายามทำให้สำเร็จ จึงจะสมกับความไว้วางใจที่บรรดาผู้บังคับบัญชาท่านเชื่อถือ และแต่งตั้งให้เรากินตำแหน่งเจ้าอาวาสมา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    หลังจากนั้น พระเถระที่มาบรรยายในชั่วโมงต่อไปก็คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการเผยแผ่พุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งท่านเมตตาเดินทางมาบรรยายให้ทุกครั้งที่มีการอบรมเจ้าอาวาส ท่านยังถามว่ากระผม/อาตมภาพออกเดินทางมาตั้งแต่กี่โมงกี่ยาม ถึงได้มารอท่านอยู่ก่อนดังนี้ เมื่อได้ยินคำตอบท่านก็ยังตกใจ ว่าต้องออกกันตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ เลยหรือ..!?

    วันนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิตได้กล่าวถึง การบริหารงานในฐานะเจ้าอาวาสให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งท่านก็ย้ำว่า ธรรมาภิบาลคือหลัก Good governance ของฝรั่งเขา ไม่ใช่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา แต่ว่าถ้าหากว่าเรามีหลักธรรมาภิบาลเอาไว้เป็นเครื่องยึดถือ หน้าที่การงานของเจ้าอาวาสเรา ก็จะมีความผิดพลาดให้คนอื่นเขาตำหนิติเตียนหรือว่าจับผิดได้น้อยมาก

    ก็คืออันดับแรกเลย ต้องมีหลักนิติธรรม กฎเกณฑ์ระเบียบอะไรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศีลของพระก็ดี มติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับหน้าที่การงานของเจ้าอาวาสก็ตาม ตลอดจนกระทั่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และจารีตประเพณีทุกอย่าง เราต้องกระทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ถึงจะได้ชื่อว่ามีหลักนิติธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายและพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

    ข้อที่สองคือหลักคุณธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน เพราะว่าผู้บังคับบัญชาได้ไว้วางใจให้คุณเป็นเจ้าอาวาสแล้ว คุณก็ต้องทำหน้าที่เหล่านั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ในหลักคุณธรรมนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตและความเสียสละอดทน เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบายมาก ทุกคนก็รู้ว่า
    จะต้องทำอะไรบ้าง

    ข้อที่สามคือหลักความโปร่งใส จะทำอะไรในฐานะเจ้าอาวาส ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราอยู่ในสายตาของพระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัด ตลอดจนกระทั่งญาติโยม สิ่งหนึ่งประการใดที่จะกระทำ ขอให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน ยิ่งถ้าหากว่ามีมติร่วมกัน ตัวเราก็จะปลอดภัยมากเท่านั้น สิ่งหนึ่งประการใดถ้าหากว่ามีบุคคลสงสัย ต้องการจะตรวจสอบ เราต้องสามารถให้เขาตรวจสอบได้ อย่างเช่นว่าบัญชีการเงินต่าง ๆ เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ข้อต่อไปคือหลักการมีส่วนร่วม ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวบ้านที่สนับสนุนวัด มีส่วนร่วมในกิจการงานต่าง ๆ ต่อให้ไม่ได้เข้ามาลงมือทำ ก็ขอให้เขาได้ออกความเห็นด้วย เขาจะได้รู้สึกว่าวัดนี้เป็นของเขา ไม่ใช่ว่าวัดเป็นของพระ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเขาเลย

    ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมในหน้าที่การงานต่าง ๆ ยกความสำคัญให้เขา เขาก็จะนำพาเอาบุคคลที่เป็นแรงงานมาช่วยพวกเรา ตลอดจนกระทั่งถ้ามีคนใหญ่คนโตที่เขารู้จัก ก็จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้การงานในหน้าที่ของเจ้าอาวาสสำเร็จลงได้โดยง่าย

    ข้อที่ห้าคือหลักความรับผิดชอบ การเป็นเจ้าอาวาสมีภาระหน้าที่ เราจะรับแต่ความชอบอย่างเดียว โดยที่ไม่รับความผิดนั้นไม่ได้ ดังนั้น..ถ้าหากว่ามีทีมงาน ก็มอบหมายงานไปให้ชัดเจนว่าใครรับผิดชอบงานส่วนไหน ตัวเราที่เป็นเจ้าอาวาส กุมนโยบายอยู่ มีหน้าที่รับผิดชอบและตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอย่างไร เราต้องทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกเคว้งคว้าง เพราะว่าถึงเวลารับงานไปแล้วก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร มีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ต้องรับเองทั้งหมดหรือเปล่า ? ทำให้เขาขาดความมั่นใจ จนอาจจะไม่ทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานนั้น ๆ ก็ได้

    ข้อสุดท้ายคือหลักความคุ้มค่า ฝรั่งเขาบอกว่าทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการของบุคคลนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ราต้องคิดถึงเสมอว่าเงินบริจาคมาทุกบาททุกสตางค์นั้น เกิดจากศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อพระพุทธศาสนา จะต้องทำประโยชน์ตามที่ได้บอกกล่าวสัญญาแก่ญาติโยมเขาเอาไว้ ไม่ใช่ไปฝังดินเอาไว้จนกระทั่งตำรวจไปขุดเจอ..! ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่แล้ว

    และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องหรูหราแข่งขันกัน แต่ให้อยู่ในลักษณะของความสะอาด สว่าง สงบ เข้าไปในวัดแล้วรู้สึกว่าร่มรื่น น่าอยู่น่าอาศัย ต่อให้คนร้อนกายร้อนใจมาขนาดไหนก็ตาม เมื่อเข้าถึงวัดแล้ว ต้องให้เขารู้สึกเย็นกายเย็นใจ แล้วยิ่งถ้าหากว่าได้พบเจอเจ้าอาวาส ได้รับหลักธรรมต่าง ๆ ไปประพฤติปฏิบัติ ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่ตัวเขาและคนรอบข้าง ก็จะทำให้คนทั้งหลายเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา และเข้ามาสนับสนุนวัดมากขึ้น

    ดังนั้น..เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์ ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน คือ

    ด้านการปกครอง เราต้องดูแลพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ตลอดจนกระทั่งโยมในวัด มีส่วนไหนที่เราจะต้องใช้จ่าย ให้กันออกมาเพื่องานนี้
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ในด้านของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เราต้องทำกิจการงานตรงไหนบ้าง ที่จะต้องใช้เงิน ให้เตรียมเอาไว้ หรือว่าหาเพิ่มเติมทันที ถ้าหากว่าขาดลง

    ในด้านการศาสนศึกษา เราต้องสนับสนุนพระภิกษุสามเณร แม่ชี และฆราวาส ให้ได้รับการศึกษาตามกำลังความสามารถของแต่ละคน

    ในด้านการสาธารณูปการ คือการซ่อม การสร้าง การบูรณปฏิสังขรณ์ บางอย่างเราก็สามารถที่จะขอให้ญาติโยมช่วยกันบริจาคได้ บางอย่างก็มีงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาสนับสนุน บางอย่างก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือว่าเอกชนก็ตาม แต่ว่าในส่วนที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ต้องทำบัญชีอย่างโปร่งใส ชี้แจงได้ว่าทุกบาททุกสตางค์เราใช้ไปในงานอะไร ให้เขาสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

    ในด้านการศึกษาสงเคราะห์ ก็คือช่วยเหลือในเรื่องของโรงเรียน เรื่องของนักเรียน เรื่องของทุนการศึกษาต่าง ๆ มีน้อยก็ช่วยน้อย มีมากก็ช่วยมากตามกำลังของตน ไม่มีอะไรเลย อย่างน้อยเราก็ไปบอกกล่าวสั่งสอนให้เขาครองตนอยู่ในด้านที่ดี อยู่ในศีลในธรรม ไม่ละเมิดไปกระทำสิ่งที่ผิดศีลและกฎหมายบ้านเมือง ก็ถือว่าเราให้การสงเคราะห์เขาตามสมควรแล้ว

    ในเรื่องของการสาธารณสงเคราห์ ไม่ว่าจะน้ำท่วม ไฟไหม้ ญาติโยมเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเราสามารถสงเคราะห์เขาได้ ก็เข้าไปสงเคราะห์ สงเคราะห์ไม่ได้ ก็ให้ติดต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสงเคราะห์ ให้รับรู้และเข้าไปรับผิดชอบในส่วนนั้น ๆ แทนเรา

    ถ้าหากว่าเจ้าอาวาสทุกคนทำตามหลักธรรมาภิบาลนี้ โดยมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา คือมีความ เมตตา กรุณา ต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา ตลอดจนกระทั่งต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหลักอยู่แล้ว เราก็สามารถที่จะบริหารงานในหน้าที่เจ้าอาวาสได้เป็นอย่างดียิ่ง

    เมื่อสรุปจบตอนประมาณ ๑๑ โมง ท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ขอตัว บอกว่ามีการประชุมเรื่องการศึกษาต่อ จึงไม่ได้อยู่ฉันเพลด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะว่า
    วันนี้คณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี รับเป็นภาระในการถวายภัตตาหาร โดยที่พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านบอกว่า "งานนี้ไม่ต้องบริจาคสนับสนุนอะไร ให้เจ้าคณะจังหวัดแต่ละจังหวัด นำลูกน้องมาร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารผู้เข้ารับการอบรมกันคนละวันก็พอแล้ว" หลังจากที่ถวายภัตตาหารเพลเสร็จเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็กราบลาผู้บังคับบัญชา เดินทางกลับยังที่อยู่ของตน

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...