เสาหลักเมือง เดชานุภาพจากสรวงสวรรค์มอบไว้แก่เจ้าพิภพ

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย กานโถม, 4 มีนาคม 2024.

  1. กานโถม

    กานโถม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2013
    โพสต์:
    77
    ค่าพลัง:
    +115
    3.jpg
    วัฒนธรรมหินตั้งมีมามากกว่า 3,000ปี ถือเป็นจุดศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนสมัยที่ยังนับถือพลังเหนือธรรมชาติ ก่อนการมาถึงของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดู ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันพบหลงเหลืออยู่หลายแห่ง ตั้งแต่ลำปาง สุพรรณบุรี ลพบุรี สมัยต่อมาเมื่อผู้คนในดินแดนแถบนี้รับพุทธศาสนา-พรหมณ์เข้ามาแล้ว จึงได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ พระปรางค์ หรือปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์แทนที่ก้อนหินธรรมดา และในภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน พบตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า คนลัวะเป็นคนพื้นที่ดั้งเดิมของที่นี่ พวกเค้ามีตำนานการบูชาเสาอินทขีล ครั้งเมื่อพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้สร้างเสาอินทขีลไว้กลางเมือง ที่บริเวณสะดือเมือง (วัดสะดือเมืองในปัจจุบัน) ภายหลังพระเจ้ากาวิละได้ย้ายเสาอินทขีลไปไว้ในวัดเจดีย์หลวงกลางเวียงเมืองเชียงใหม่

    ด้านเมืองปักษ์ใต้เองมี สวยัมภูลึงค์ แห่งเขาคา ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา และได้แพร่กระจายความเชื่อนี้สู่ที่ราบสูงในประเทศไทย พนมรุ้ง - ปราสาทวัดพู ในอีกฝากฝั่งแม่น้ำโขง ถือเป็นศูนย์กลางแห่งมณฑลของพราหมณ์-ฮินดู แต่ได้อิงหลักการที่ว่า หินก้อนนั้นต้องเกิดขึ้นเองและต้องมีรูปลักษณ์คล้ายศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสิ่งเคารพในลัทธิไศวนิกายเท่านั้น แต่มิใช่เสาหลักเมือง

    saointhakhin2.jpg

    1.jpg


    เชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อน พบเสาอินทขีลหลักหนึ่งสร้างขึ้นจากหินทรายสีเทา อายุการสร้างเสาอินทขีลหลักนี้ เป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เนื่องจากตารางยันต์ที่จารึกบนเสาบริเวณกลางตารางยันต์ ใส่ตัวเลข2039 สันนิษฐานว่าเป็นตัวเลขปีที่ขึ้นราชาภิเษกของพระเมืองแก้ว ล้อมรอบด้วยตัวเลข 1 - 28 หมายถึง พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ภายนอกตารางยันต์จารึกด้วยคาถาภาษาบาลี เป็นตัวธรรมล้านนา ขึ้นต้นด้วยคำว่า อินทขีล ล้อมรอบตารางยันต์ทั้งสี่ด้าน และในเสาศิลาหลักนี้ก็ยังจารึกดวงชะตาที่คำนวณการโคจรของดวงดาวตามหลักโหราศาสตร์จำนวน 9 ดวงด้วยกัน ซึ่งหากถอดตัวเลขตามหลักโหราศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นดวงชะตาแรกสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ดวงชะตาวันเดือนปีที่สถาปนาเสาหลักอินทขีล ดวงชะตาวันแรกเริ่มก่อกำแพงอิฐล้อมเมือง ดวงชะตาพระประสูติของพระเมืองแก้ว ดวงชะตาวันเดือนปีที่พระองค์ขึ้นราชาภิเษก ดวงประสูติ ดวงตรัสรู้ ดวงวันแสดงปฐมพระธรรมเทศนา และดวงวันแสดงยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า (ใช้หนุนดวงชะตาตามตำราพิชัยสงคราม นัยยะคือการเคลื่อนไปของกงล้อแห่งธรรมจักร) เนื่องจากการสร้างกำแพงก่ออิฐและเสาหลักอินทขีลได้ถูกสร้างในสมัยของพระองค์ ด้วยเจตนาที่พระองค์ต้องการปกป้องบัลลังค์เมืองเชียงใหม่ของพระองค์เอง และเพื่อป้องกันเมืองนี้ให้พ้นภัยจากสิ่งนามธรรมหรือกระสุนปืนใหญ่ (เดิมเมืองมีกำแพงเป็นคันดิน ต่อมาได้ก่ออิฐทับขึ้นไปให้สูงขึ้นอีก) ที่อริราชรอบข้างส่งมาและเพื่อแผ่เดชานุภาพของเมืองเชียงใหม่ออกไปทุกทิศ

    หลักเสาอินทขีลหลักนี้ยังพบจารึกตารางยันต์จารึกเลขโสฬสมงคลและคาถาบาลีตัวธรรมล้านนาที่ลงในตารางด้วยกลม้าย่อง เมื่อถอดออกและปะติดปะต่อแปลได้ประมาณว่า ตาวตึงสาล้านนา (อักขระชำรุดเสียหายไปบางส่วนจึงแปลได้ไม่ครบทั้งหมด) แต่เดิมจารึกเหล่านี้ไม่มีผู้ใดอ่านจารึกได้ เนื่องจากผู้สลักจารจารึกมีจุดประสงค์ปกปิดความหมายในจารึก เพราะจารึกตัวอักขระและตัวเลขกลับหัวและกลับด้านอีกด้วย ทั้งยังเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์รู้กันดีว่าการอ่านพระคาถาออก แปลความหมายได้ก็เท่ากับ สามารถรู้วิธีการถอนอาถรรพ์วิทยาคุณที่ลงไว้ในวัตถุนั้นได้เช่นกัน เป็นไปได้ว่าพระเมืองแก้ว มีความเชื่อสืบเนื่องจากในรัชสมัยของพญาติโลกราช ที่ทรงหาทุกวิถีทางเพื่อเสริมบารมีของพระองค์และเสริมสร้างให้เมืองเชียงใหม่ มีเดชานุภาพ (ในสมัยนี้ใช้หลักทักษา เพื่อเสริมกำลังเมืองโดยมีต้นนิโครธ ที่มีมาก่อนตั้งเมืองเขียงใหม่เป็นที่สถิตของเทพยดาประจำเมือง ต้นนิโครธต้นนี้อยู่ทางด้านทิศอิสาน บริเวณแจ่งศรีภูมิ) เมื่อครั้งล้านนาเปิดศึกกับอยุธยา ต้นนิโครธต้นนี้ถูกทำลายด้วยอุบายจากอุปนิกขิตที่ถูกอยุธยาจ้างมา ฉะนั้นเมื่อมาถึงรัชสมัยพระเมืองแก้ว พระองค์จึงต้องเสริมกำลังชะตาเมืองแทนที่ของเดิม ความเชื่อนี้จึงตกทอดมาสู่กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ทุกพระองค์ ในตำนานของชาวลัวะสรรเสริญว่า เสาอินทขีล เป็นเสาหลักศิลามงคลที่พระอินทร์ประทานมาให้เป็นเดชานุภาพแก่เมืองในพิภพโลก ในคัมภีร์ครุฑปุราณะ ทศาวตาร ได้กล่าวไว้ว่า “ในกาลครั้งหนึ่งมีอสูรชื่อตรีบูรัม กระทำบำเพ็ญบูชาพระอิศวรเป็นเวลานานถึง 7 ปี พระอิศวรจึงมาประทานพรให้ อสูรจึงขอพรให้พระนารายณ์ฆ่าตนไม่ตาย จากนั้นอสูรจึงได้นำศิวลึงค์มาทูลไว้บนศีรษะ อสูรเมื่อได้รับพรมาก็ไม่เกรงกลัวสิ่งใด จึงเที่ยวระรานไปทั่วทั้งสามโลก พระอิศวรจึงเสด็จมาปราบ โดยทรงยิงธนูที่มีกำลังของพระนารายณ์ใส่ แต่ด้วยฤทธิ์ของพรทำให้อสูรไม่ตาย พระนารายณ์จึงอวตารลงไปเป็นสมณะขอศิวลึงค์จากอสูร ตรีบูรัมจึงถวายศิวะลึงค์ให้ เมื่อไม่มีศิวะลึงค์คุ้มครองแล้วพระอิศวรจึงใช้เนตรที่สามเผาอสูรจนสิ้นชีพในที่สุด” เสาอินทขีลในความเชื่อของลัวะและศิวลึงค์ ในความเชื่อของพราหมณ์ - ฮินดู จึงน่าจะมีที่มาจากความเชื่อเดียวกัน นี่จึงน่าจะเป็นที่มาของการสร้างเสาอินทขีลขึ้นมาเป็นหลักชัยเหมือนครั้งพญามังรายนั่นเอง

    เนื่องจากความเชื่อในวัฒนธรรมหินตั้งได้ถูกพุทธศาสนา-พราหมณ์เข้ามาแทนที่ สมัยต่อมาบริเวณภาคกลางของไทยในสมัยอยุธยา ก็ไม่เคยปรากฏในพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองได้มีการสร้างหลักเมืองแต่อย่างใด หรือการฝังอาถรรพ์ประตูเมือง จนเมื่อเสียกรุงครั้งที่2 พระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์จะตั้งเสาหลักเมืองแต่อย่างใด การสร้างเสาหลักเมืองจึงน่าจะมีที่มาจากความเชื่อเรื่องเสาอินทขีลของล้านนา ซึ่งพระเจ้าตากสินมหาราช - พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจคล้ายๆกันคือ ทรงชำระและเรียบเรียงพงศาวดาร รวมถึงพระไตรปิฎกเสียใหม่ หลังจากที่เอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สูญหายไปสิ้น ( ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าถูกพม่าขนไปพร้อมกับเชลยหมดแล้วหรือถูกเผาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่2 ) ฉะนั้นตำรับตำราโบราณต่างๆ จึงเป็นไปได้ว่ามาจากล้านนา-ล้านช้างเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นได้จากพระคาถาสำคัญต่างๆล้วนมีอยู่ในล้านนามาแต่เดิมและมีประวัติว่าแต่งขึ้นในล้านนาทั้งสิ้น เพียงแต่ได้มีการแต่งตำนานอ้างไปถึงลังกาหรือครั้งพุทธกาล เนื่องจากพระสงฆ์เชียงใหม่ได้เคยไปเรียนมาจากลังกาในสมัยพระเจ้าติโลกราชนั่นเอง ซึ่งรัชกาลนี้เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช - พระเมืองแก้ว พระคาถาสำคัญที่รู้จักกันดีนั้น อาทิ พระคาถาชินบัญชร ล้านนาเรียก ไชยเบงจร คาถานี้ได้ถูกผูกเป็นตารางยันต์ไว้สำหรับฝังอาถรรพ์ที่ประตูเมืองเชียงใหม่ทุกประตู จนถึงมีตำราให้ลงในแผ่นโลหะ ผ้า ไว้สำหรับปิดที่เสาเรือน ลงใส่แผ่นอิฐ ฝังไว้มุมบ้านและประตู เพื่อกันภัยต่างๆ ใช้ลงยันต์ไส้เทียนไว้จุดบรรเทาทุกข์ภัย พระคาถาปถมัง 4 ด้าน ยันต์จตุโร ยันต์โสฬส ล้านนาเรียก คาถาพระสิงห์หลวงหรือยันต์พระสิงห์หลวง ซึ่งใช้จารึกที่ฐานพระพุทธรูปโบราณพบมากในเมืองเชียงใหม่ ใช้สำหรับสร้างพระพุทธรูปสำคัญ พระคาถาพญาไก่เถื่อน ที่พระสังฆราชสุก วัดท่าหอย พบที่ฐานพระพุทธรูปล้านนา แม้แต่พระตำรับข้างที่ประจำพระองค์ของพระเจ้าตากสินมหาราช (ทรงบันทึกด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง)หรือที่เรียกว่า พระตำรับลงเครื่องพิชัยยุทธ ซึ่งก็คือคาถาปโชตา 14 บทและคาถานวภา ที่พระเจ้าติโลกราชและขุนพลคนสำคัญหลายคนของพระองค์ ได้เรียนไว้ คนล้านนาเรียกว่า ถือหรือตือ ในตำราล้านนาล้วนบอกไว้ว่าใครเป็นผู้ใช้คาถาบทนั้นมาก่อนและมีอุปเท่ห์ช่วยเฉพาะในด้านใดอีกด้วย แต่ในพระตำรับไม่ได้บอกฝอยไว้แต่อย่างใด

    3.jpg

    ด้วยมูลเหตุนี้สามารถตั้งเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า การสร้างเสาหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะรับความเชื่อในเรื่องการเสริมดวงชะตาพระนคร มาจากเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นอน เนื่องจากหลักเมืองในสยามประเทศ มีเพียงหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่เก่าแก่มีหลักฐานชัดเจน แม้สืบค้นไปไกลกว่านั้นก็ไม่พบว่ามีเสาหลักเมืองในสยามมาก่อน พบแต่ศิลาจารึกเมืองศรีเทพ มีลักษณะเป็นเสากลมรูปคล้ายตะปูหัวเห็ดหรือคล้ายดอกบัวตูม ทำจากหินทรายเนื้อละเอียด จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน ๑ ด้าน มี ๖ บรรทัด มีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” มีการอ่านชำระใหม่ เป็นคำว่า “ขิลํ” จากถ้อยความว่า “เวตฺตย ขิลํ สโจทฺยม” แปลว่า เขาเป็นผู้รู้ความรุ่งเรืองทั้งสิ้น เนื่องจากเนื้อหินด้านหนึ่งของจารึกแตกหาย ข้อความจารึกแต่ละบรรทัดจึงเหลืออยู่เฉพาะช่วงกลาง เนื้อหาที่เหลือโดยสรุปกล่าวถึงการสรรเสริญบุคคลว่าเป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้และยังเป็นผู้มีธรรม ซึ่งอาจเป็นพระราชาหรือเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑

    2.jpg

    31131720_2017127421874741_7160608203611308032_n.jpg

    จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ถือเป็นเมืองราชธานีกลับไม่พบศาลหลักเมืองหรือเสาหลักเมืองแต่อย่างใด นอกจากผอบศิลาหินทรายที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พบในกรุของพระปรางค์ วัดมหาธาตุหรือวัดราชบูรณะ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีสัณฐานคล้ายหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหรือเสาอินทขีล เมืองเชียงใหม่ เท่านั้น แต่ไม่มีจารึกด้วยอักขระใดๆบนผอบหินทรายนั้นเลย ซึ่งก็ตรงกับทฤษฎีที่เมืองในภาคกลางยุคหนึ่งได้เปลี่ยนการตั้งหิน เป็นการสร้างพระเจดีย์หรือพระปรางค์แทนที่หินตั้งในอดีต แต่ยังคงให้เป็นสิ่งแทนความศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการะหรืออุทิศบุญ มากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องเสริมพลังป้องกันหรือแผ่บารมีเหมือนอีกกลุ่มวัฒนธรรมที่อยู่บนพื้นที่ภาคเหนือ หรือคนภาคกลางในพื้นที่เมืองหลวงในรุ่นต่อมา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 มีนาคม 2024

แชร์หน้านี้

Loading...