เมตตา....และวิธีเจริญเมตตา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย tst, 29 กรกฎาคม 2009.

  1. tst

    tst เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    107
    ค่าพลัง:
    +508
    โปรดอ่านสบายๆตามสไตล์เด็กวัดนะครับ
    แต่...ยาวๆมากๆ...ต้องอดทนอีกนั่นแหละ

    ต่อไปนี้เป็นบางส่วนจาก ปัญญาสาร ฉบับที่ ๖
    เรื่อง เมตตา
    โดย ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์
    (เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค มาเรียบเรียงอธิบาย)
    อภินันทนาการ จาก มูลนิธิ แนบ มหานีรานนท์
    ***************************************

    เมตตาเป็นพรหมวิหารหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ซึ่ง
    ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
    คำว่าพรหมวิหารนั้น แปลว่า ธรรมอันเป็น
    เครื่องอยู่อันประเสริฐ หรือไม่มีโทษ ก็ธรรม
    เหล่านี้มีเมตตาเป็นต้น จัดว่าเป็นเครื่องอยู่อัน
    ประเสริฐ ก็เพราะความที่เป็นการปฏิบัติชอบ
    ในสัตว์ทั้งหลาย โดยเหตุที่จะนำความสุข
    ความสวัสดีมาสู่สัตว์เหล่านั้น.................

    คุณชาติชื่อว่า "เมตตา" ด้วยอรรถว่า "รัก" ความว่า เยื่อใย
    หรือ ชื่อว่า "เมตตา" ด้วยอรรถว่า "ความเป็นไปซึ่งมีในมิตร
    หรือมีต่อมิตร" ความหมายของคำว่า "รัก" ของเมตตานี้
    แตกต่างไปจากความรักของตัณหา ด้วยความรักมีสอง
    อย่างคือ รักด้วยเมตตา และ รักด้วยตัณหา

    รักด้วยเมตตาเป็นอย่างไร ?
    รักด้วยตัณหาเป็นอย่างไร ?


    ความรักด้วยเมตตา เป็นความเยื่อใยในคนอื่น ใคร่
    จะให้เขาได้ดีมีสุข โดยไม่ได้คำนึงว่า การได้ดีมีสุขของ
    คนเหล่านั้น ตนเองจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

    ส่วนความรักด้วยตัณหา เป็นเพียงความอยากได้
    เป็นเพียงความเพลิดเพลินว่า ถ้าบุคคลนั้นมีอยู่เป็นไป
    อยู่ก็เป็นความสุขแก่เรา แม้ว่าบางครั้งจะเป็นการกระทำ
    ที่คิดว่าจะให้ผู้อื่นได้ดีมีสุขก็ตาม ตนเองต้องมีส่วน
    เกี่ยวข้องในความได้ดีมีสุขนั้นด้วย จึงจะกระทำ

    ความรักด้วยเมตตา ไม่มีการหวังผลตอบแทน แม้
    เพียงให้ผู้อื่นเห็นความดีของตน จึงไม่เป็นเหตุแงความ
    ทุกข์ ความเสียใจเนื่องจากความผิดหวังในภายหลัง

    ส่วนความรักด้วยตัณหา มีการหวังตอบแทน ต้องการ
    ให้เขารักตอบ โดยที่สุด แม้เพียงให้เขาเห็นความดี
    ของตน เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นเหตุแห่งความ
    ทุกข์ความเสียใจ อันเนื่องมาแต่ความผิดหวังในภาย
    หลังได้ สมตามพระดำรัสที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

    นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง เมตตา กับ ตัณหา
    ความจริง คนเรายังละตัณหาไม่ได้อย่างพระอรหันต์
    ก็มีทั้งความรักด้วยเมตตา และตัณหา เพียงแต่ว่า ใน
    ทั้งสองอย่างนั้น อย่างไหนจะเป็นประธานออกหน้ากว่า
    กันเท่านั้น

    เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับธรรมชาติ ที่ชื่อว่า "เมตตา" นี้
    ดียิ่งขึ้น จึงควรทราบลักษณะเป็นต้นแห่งความเมตตานี้ก่อน
    ดังต่อไปนี้

    เมตตา - มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ
    - มีความนำเข้าไป ซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (กิจ)
    - มีการกำจัดความอาฆาตเป็นอาการปรากฏ
    - มีการเล็งเห็นภาวะ ที่สัตว์ทั้งหลายน่าพอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ก็สมบัติ คือ คุณของเมตตานี้ ได้แก่ความเข้าไปสงบความ
    พยาบาทได้นั่นเอง เพราะธรรมชาติของเมตตา เป็นไปเพื่อ
    กำจัดโทสะ ความเกิดขึ้นแห่งความใคร่ จัดว่าเป็นความวิบัติ
    ของเมตตา เพราะเหตุที่จะกลับกลายเป็นความรักด้วย
    ตัณหาไป ดังนี้

    เพื่อเป็นการปลูกอุตสาหะ จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ หรือ
    ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการเจริญเมตตา ผู้เจริญ
    เมตตา พึงได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

    ๑. หลับเป็นสุข
    ๒. ตื่นเป็นสุข
    ๓. ไม่ฝันร้าย
    ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
    ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
    ๖. เทวดารักษา
    ๗. ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี อาวุธก็ดี ย่อมล่วงเกินเขาไม่ได้
    ๘. จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว
    ๙. มีสีหน้าผ่องใส
    ๑๐. ไม่หลงตาย
    ๑๑. เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงไปกว่านี้ไม่ได้ ก็จักเข้าถึงพรหมโลก

    ซึ่งมีคำอธิบายตามลำดับดังนี้.....................
    .........(ข้อเว้นคัดลอกข้อข้างต้น)................

    - ข้อว่า ไม่หลงตาย ความว่า..........ส่วนผู้มีใจ
    มากด้วยเมตตา เมื่อถึงวาระนั้น (เวลาใกล้ตาย) ใจที่
    อบรมดีแล้วด้วยเมตตา ย่อมไม่ตกเป็นทาสของทุกขเวทนา
    มีสติเอาชนะความโกรธไม่พอใจได้ เมื่อตายไประหว่างนั้น
    เชื่อว่าไม่หลงตาย

    - ข้อว่า เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงยิ่งไปกว่านี้ไม่ได้
    ก็จะเข้าถึงพรหมโลก
    ความว่า ข้อนี้สำหรับผู้เจริญ
    สมถ กรรมฐาน ข้อเมตตา จนบรรลุถึงอัปนาสมาธิ หรือ
    เรียกว่า ฌาน เมื่อมิได้แทงตลอดคุณวิเศษอื่นๆ ที่ยิ่งไป
    กว่านี้ คือความเป็นอรหันต์ เมื่อฌานที่ได้นั้นไม่เสื่อมไป
    เสียก่อน เขาย่อมเข้าถึงพรหมโลกต่อไป...................

    วิธีเจริญเมตตา

    อันดับแรก ก่อนที่จะเจริญเมตตา ควรพิจารณาคุณของขันติ
    คือความอดกลั้น และโทษของความโกรธก่อน ถามว่า เพราะเหตุใด
    เพราะว่าการเจริญเมตตานี้เป็นไปเพื่อละโทสะ และเพื่อบรรลุธรรม
    คือ ขันติ ถ้าเราไม่รู้จักโทษของความโกรธ เราก็จะละความโกรธไม่ได้
    และถ้าไม่รู้จักคุณของขันติ ก็จะบรรลุขันติไม่ได้

    ควรพิจารณาเสมอว่า คนเราถ้าขาดความอดกลั้นเสียอย่างเดียว
    จะทำการงานอะไรๆ ให้สำเร็จมิได้เลยเพราะมีปัญหาอะไรนิดๆหน่อยๆ
    เขาก็ทนไม่ได้ คืองานหนักหน่อยก็บ่น ไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชา หรือ
    เพื่อนร่วมงาน แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆก็บ่น ก็ทนไม่ได้ จะหยุดงาน
    จะลาออก อย่างนี้แล้วจะไปประสบความสำเร็จในการงานอาชีพอะไรได้
    เพราะมัวแต่ตั้งต้นกันใหม่ เริ่มกันใหม่อยู่ร่ำไป ทางโลกซึ่งเป็นเรื่องหยาบ
    ยังเป็นอย่างนี้ ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในส่วนเบื้องสูง
    จะป่วยกล่าวไปใยถึงความสำเร็จ ขันติจึงเป็นธรรมที่ต้องการอย่างยิ่ง
    ในเบื้องต้น ขาดขันติแล้ว การเจริญกุศลทุกอย่าง ย่อมสำเร็จไปไม่ได้
    แม้แต่กุศลขั้นต่ำสุด คือทาน ได้แก่การให้ก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอ
    รู้สึกว่ายากลำบากหน่อยก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอรู้สึกว่ายากลำบาก
    หน่อยก็จะไม่ทำ เมื่อกุศลขั้นต่ำสุด ยังทำไม่ได้ กุศลที่สูงยิ่งไปกว่านี้
    จึงมิจำเป็นต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องฝืนกิเลสมากกว่า จึงต้อง
    ใช้ความอดกลั้นมากกว่า

    ก็เป็นอันว่า ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมที่จำเป็นต้องมีกำกับใน
    การกระทำกุศลทุกอย่าง เพราะเหตุนั้นนั่นเอง จึงทรงตรัสสรรเสริญธรรม
    คือ ขันตินี้ไว้ในฑีฆะนิกาย มหาวรรค ว่า

    ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

    ซึ่งแปลว่า "ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็น ตบะ (ธรรมเครื่องแผดเผา
    กิเลสให้ไหม้ไป) อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวนิพพานว่า
    เป็นธรรมที่ยอดเยี่ยม" ดังนี้
    หรือใน ขุทกนิกาย ธรรมบท ๒๕/๖๙ ว่า

    ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมฺหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

    ซึ่งแปลว่า "เรากล่าว บุคคลผู้มีขันติเป็นกำลังเป็นกองทัพนั้นว่า
    เป็นพราหมณ์" ดังนี้
    หรือใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๓๒๕ ว่า

    ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

    ซึ่งแปลว่า "ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ หามีไม่" ดังนี้เป็นต้น
    นี้เป็นคุณของขันติที่พึงพิจารณาเนืองๆ

    ส่วนสำหรับโทษของความโกรธนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่นว่า
    - คนเราจะประสบความสำเร็จในงานอาชีพ เพราะความโกรธ
    ก็หาไม่ ที่แท้แล้วมันจะล้มเหลวพินาศไปก็เพราะความโกรธนั่นแหละ

    - คนมักโกรธ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้อยากคบเพราะเขากลัวจะ
    มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งขัดเคืองใจกัน

    - คนเราเมื่อความโกรธครอบงำ โอกาสที่จะขาดสติสัมปชัญญะ
    กระทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา และด้วยใจ ย่อมมีได้ ทั้งๆที่ไม่คิด
    ว่าจะทำได้มาก่อน ซึ่งอย่างน้อยมันก็จะเป็นเหตุให้ต้องเสียใจ
    เสวยทุกข์โทมนัสในการกระทำของตนในภายหลังได้ ในเมื่อได้สำนึก

    - หลายคนต้องเสวยทุกข์ เสวยความลำบากเพราะการถูกลงโทษ
    ลงอาญาจากทางบ้านเมือง รวมทั้งต้องเสวยทุกข์ด้วยความเดือดร้อน
    ในอบาย เพราะกรรมชั่วที่ทำด้วยความโกรธ
    ฯลฯ

    อนึ่ง โทษของความโกรธ พึงทราบโดยนัยตรงข้ามกับอานิสงส์
    ของเมตตา ประการที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว
    นี้เป็นโทษของความโกรธที่พึงพิจารณาเนืองๆ

    ก็เมื่อจะอบรมจิต เจริญเมตตา ควรแยกบุคคลที่เป็นอารมณ์ของ
    เมตตาออกก่อน ไม่ควรเจริญในบุคคล ๔ ประเภทก่อน คือ
    คนที่เกลียด ๑ คนกลางๆ ๑
    คนที่รักมาก ๑ คนมีเวร หรือเป็นศัตรูกัน ๑
    เพราะจิตใจที่ยังไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกของเมตตา เมื่อพยายามจะ
    แผ่ความรักไปยังคนที่เกลียด โดยทำให้เป็นที่รัก ย่อมลำบาก ทำได้ยาก
    ถ้าพยายามแผ่ไปในคนที่รักมาก เช่น บุตร ภรรยา หรือสหายรัก โอกาสที่
    จะเกินเลยกลายเป็นตัณหาไปก็มีมาก สำหรับบุคคลที่เป็นกลางๆ ไม่ได้รัก
    แต่ไม่ถึงกับเกลียด การที่จะทำให้ความรู้สึกพอใจ อิ่มเอิบใจเป็นไปใน
    บุคคลนั้นได้นานๆ ย่อมเป็นการลำบาก ส่วนผู้ที่มีเวรเป็นศัตรูกันมาก่อน
    นั้นเล่าก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลย เพราะปกติเพียงแต่นึกถึงเขาใน
    แง่ดีบ้าง ก็ยังยากอยู่แล้ว จะป่วยการกล่าวไปใยถึงการที่จะแผ่เมตตาไปในเขา
    เพราะฉะนั้น แรกเริ่มเดิมที ควรเว้นบุคคลเหล่านี้เอาไว้ก่อน

    เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้เริ่มที่ใครก่อนเล่า ?

    ตอบว่าในตนเองก่อน ควรสงสัยว่า ทำไมจะต้องให้แผ่เมตตาไป
    ในตนก่อน เพราะตามปกติ คนเราก็มีความรักในตนเองอยู่แล้ว?
    ตอบว่า ความรักที่มีในตนนั้น สำหรับผู้ที่มิได้มีจิตอบรมมาทางเมตตา
    จนเกิดความคุ้นเคยแล้ว มักจะเป็นไปด้วยอำนาจตัณหาไม่ใช่เมตตา
    เพราะมันเกิดขึ้นโดยสักแต่เห็นว่า "เป็นเรา" เมื่อเป็นเช่นนี้อะไรๆ
    ที่เกี่ยวกับตัวเรามันก็เป็นไปได้ในด้านดีไปเสียทั้งนั้น

    ก็แต่ว่า ความเมตตาที่เป็นไปในตนที่ประสงค์เอาในที่นี้ ได้แก่ที่ทำให้
    เกิดขึ้นในฐานะว่า เราก็เป็นสัตว์โลกผู้หนึ่งเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่รักสุข
    เกลียดทุกข์เท่านั้นเอง พูดง่ายๆว่า การเจริญเมตตาในตนก็คือการทำ
    ความใคร่ต่อประโยชน์สุข และประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นให้เกิดขึ้นโดย
    ตั้งตนไว้ในฐานะแห่งพยานนั่นเอง โดยนัยว่า "เราเป็นผู้ใคร่สุขเกลียดทุกข์
    รักชีวิตและไม่อยากตายฉันใด แม้บุคคลอื่น สัตว์อื่นทั้งหลายก็ฉันนั้น"
    ดังนี้เป็นต้น ซึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย
    สคาถวรรค ๑๕/๑๐๙ ว่า

    สพฺ พา ทิสา อนุปริคคมฺม เจตสา
    เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ
    เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ
    ตสฺมา น หึเส ปรมตฺตกาโม


    ซึ่งแปลว่า
    " เราเที่ยวตามค้นหาด้วยใจตลอดทิศทั้งปวง ก็ไม่ได้พบพานบุคคล
    ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่า ตน ในที่ไหนไหนถึงตนของคนเหล่าอื่น ก็เป็นที่รัก
    มากมายอย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รักตน ไม่ควรเบียด
    เบียนผู้อื่น" ดังนี้

    เมื่อได้อบรมเมตตา โดยตั้งต้นไว้ในฐานะพยานอย่างนี้ จนคุ้นเคย
    คล่องแคล่วดีแล้ว ต่อไปก็ให้แผ่ไปในบุคคลอื่นๆ คือในบุคคลผู้เป็น
    ที่รักอย่างกลางๆ ไม่ถึงกับเป็นที่รักมากค่อนไปในทางเคารพบูชา เช่น
    ผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นต้น จนคุ้นเคยคล่องแคล่วดีแล้ว
    ต่อจากนั้นก็แผ่ไปในบุคคลที่รักมาก ที่มีเวร หรือเป็นศัตรูกันถ้าหากว่า
    มีตามลำดับ

    ก็แต่ว่าเวลานึกถึงบุคคลผู้มีเวรกันนั้น ความขัดเคืองย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้
    เพราะได้ระลึกถึงโทษที่เขาได้ทำไว้แก่เรา ก็เป็นเหตุขัดขวางการเจริญเมตตา
    เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ความขัดเคืองอันนั้นสงบลงไปโดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้ก่อน

    - ลำดับแรกตักเตือนตนเองว่า พระพุทธเจ้าทรงติเตียนผู้ที่โกรธตอบผู้อื่นว่า
    เลวกว่าเขา เพราะเหตุที่รู้อยู่แล้วว่า ความโกรธนั้นเป็นของไม่ดี ก็ยังทำให้มัน
    เกิดขึ้นในใจของตนอีก เท่ากับช่วยขยายความโกรธนั้นให้แผ่กว้างออกไป

    - คนที่เป็นศัตรูย่อมปรารถนาไม่ดีต่อศัตรูของตนว่า "ขอให้ผิวพรรณทราม"
    บ้าง "ขอให้อัตคัด ยากจน" บ้าง "ขอให้ทรัพย์สมบัติพินาสวอดวาย" บ้าง
    ตลอดจน "ขอให้ตกนรก" บ้าง ก็แต่ว่าการที่เราโกรธเขาแล้วปรารถนาอย่าง
    นี้นั้น ผู้ที่มีโอกาสประสบความไม่สวัสดีก่อนเป็นคนแรกคือ เรานี้เอง
    เพราะความโกรธที่เกิดขึ้นขณะนี้ กำลังทำให้เรามีหน้าตาขมึงทึง ผิวพรรณทราม
    และถ้าหากว่าลุแก่อำนาจของความโกรธแล้ว เราก็ต้องทำกรรมชั่ว มีหวังว่า
    จะต้องประสบกับความอัตคัด ยากจน เป็นต้น ตลอดแม้จน ตกนรกก็ได้
    พราะฉะนั้น การโกรธเขาก็คือการให้ทุกข์แก่ตน เหมือนซัดทรายทวนลม
    ไปฉะนั้น

    ถ้าได้ตักเตือนตนอย่างนี้แล้วยังมิได้ผล ก็ลองใช้วิธีอื่นดู คือ
    ความประพฤติของคนเรามี 3 แบบ คือ ความประพฤติทางกาย
    ความประพฤติทางวาจา และความประพฤติทางใจ

    บางคนความประพฤติทางกายไม่ดี เช่น เป็นคนหยาบคายทางกริยา
    ลุกลี้ลุกลน ไม่สำรวม แต่ ความประพฤติทางวาจาของเขาดี คือ
    พูดจาอ่อนหวาน พูดจาชัดถ้อยชัดคำ พูดง่ายๆ ว่าดีทางเจรจาให้คน
    ฟังชอบใจ กรณีนี้ให้เรานึกถึงแต่ความประพฤติทางวาจาของเขา
    โดยอย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางกายของเขา ความขัดเคือง
    ก็มีโอกาสสงบลงได้

    หรือบางคนความประพฤติทางวาจาไม่ดี มีพูดจาสามหาว มากไปด้วย
    คำหยาบเป็นต้น แต่มีความประพฤติทางใจดี เช่นเป็นผู้มากในการทำกุศล
    เช่นชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น อย่างที่เราเรียกว่า ปากร้ายใจดีนั่นแหละ
    เราก็อย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางวาจาของเขาให้พยายามนึกถึง
    ความประพฤติทางใจของเขาเท่านั้น
    ความขัดเคืองก็มีโอกาสสงบลงได้

    หากว่าบางคนมีความประพฤติไม่ดีเลยทั้งสามทาง ก็ไม่มีอุบายวิธีอื่นใด
    นอกจากตั้งความกรุณาให้เกิดขึ้น ว่า "บุคคลผู้นี้ อุตส่าห์ได้อัตตภาพมา
    เป็นมนุษย์แล้ว ก็ปล่อยโอกาสให้เสียไป จะประพฤติอะไรให้สมกับ
    อัตตภาพไม่มีเลย เขามีโอกาสท่องเที่ยวไปในโลกมนุษย์ก็แต่อัตตภาพนี้
    เท่านั้น อัตตภาพต่อไปก็เห็นทีว่าจะท่องเที่ยวอยู่แต่ในอบายมีนรกเป็นต้น
    เป็นแน่แท้" ดังนี้ ความขัดเคืองก็พอจะสงบระงับไปได้เหมือนกัน

    ถ้าหากว่า โดยอุบายวิธีนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่
    นั้นเอง ก็ลองให้โอวาทตนเองดังต่อไปนี้ดู

    คือ ให้พิจารณาถึงภาวะ ที่บุคคลมีกรรมของตน ว่า "ทุกคนมีกรรมเป็นของตนจะ
    ประสบสุข ประสบทุกข์ ก็ด้วยกรรมของตนที่ได้กระทำไว้เท่านั้น ไม่มีใครทำให้
    บัดนี้ตัวเจ้าอาศัยความโกรธ คิดจะกระทำตอบแทนต่อเขา ก็กรรมที่คิดจะกระทำ
    ต่อเขานั้น มันจะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ความไม่สวัสดีแก่เขาก็หาไม่ ที่แท้ตัวเจ้า
    ผู้กระทำนั่นแหละ จะเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เปรียบเหมือนการจับก้อนอาจม
    หรือ ก้อนถ่านลุกแดง ใคร่จะปาให้โดนผู้อื่น คนจับปานั่นแหละเป็นคนเปื้อนอาจม
    ก่อน ถึงฝ่ายเขาก็เช่นเดียวกัน การที่เขามุ่งร้ายต่อเรา ทำกรรมไม่ดีต่อเขา เขานั่นแหละ
    จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมชั่วที่เขาก่อไว้ มิใช่เราทำให้" ดังนี้ ก็อาจจะยังความโกรธ
    ความไม่พอใจให้สงบระงับได้

    ถ้าหากว่า โดยอุบายนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่นั่นเอง
    ก็ลองใช้อุบายอื่นอีก คือ สำหรับบุคคลผู้มากด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็พึง
    พิจารณาความประพฤติของพระศาสดาในครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญ
    ปารมีอยู่ โดยอาศัยเรื่องราวในชาดก
    อันกว่าด้วยการบำเพ็ญขันติบารมีว่า
    ในครั้งนั้นๆ พระโพธิสัตว์ทรงอดกลั้นต่อความโกรธ ไม่ลุแก่อำนาจของความโกรธ
    แม้ต่อผู้ที่มาปลงชีวิตของพระองค์ดังนี้ เป็นต้น สำหรับเราเรื่องก็เพียงเล็กๆน้อยๆ
    ไม่ถึงขนาดว่าจะเอาชีวิตอะไรกันยังอดกลั้นไม่ได้ ป่วยการที่จะนับถือพระพุทธองค์
    ว่าเป็นศาสดา ด้วยว่าโอวาทจากพระองค์เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ยังปฏิบัติตามไม่ได้

    หากว่าความโกรธยังไม่สงบอีก แม้ด้วยอุบายวิธีนี้ เพราะเหตุที่เป็นผู้มีกิเลสสะสม
    มาหนาแน่น อย่างยากที่จะสะสาง ก็พึงพิจารณาความที่ตนมีความเกี่ยวข้องในด้านดี
    กับคนอื่น มาแล้วในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน
    โดยนัยแห่งพระดำรัส ที่ตรัสไว้ใน
    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๗/๒๒๓-๒๒๔ ว่า

    "น โส ภิกฺขเว สตฺโต สุลภรูโป โย น มาตา ภูตปุพฺโพ ฯเปฯ" ดังนี้ เป็นต้น

    ซึ่งแปลว่า
    "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ที่ไม่เคยเป็นบิดา ที่ไม่เคยเป็นพี่ชาย
    น้องชาย ที่ไม่เคยเป็นพี่สาว น้องสาว ที่ไม่เคยเป็นบุตร ที่ไม่เคยเป็นธิดาหาได้ไม่ง่ายเลย"
    ดังนี้ เพราะฉะนั้น ความคิดอย่างนี้ว่า "ในสังสารวัฏที่เราเกิดๆ ตายๆ อยู่นาน
    หนักหนานี้ ผู้นี้อาจเคยเป็นบิดา เป็นมารดา ผู้เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรามา
    ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ด้วยความรัก แม้ชีวิตก็ยินดีสละให้ได้ ในเวลานี้โทษที่เขาทำ
    กับเราแม้ว่ามีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับบุญคุณในอดีตก็เป็นของเล็กน้อยนัก ไม่น่าถือ
    โกรธเลย" อะไรทำนองนี้ ความโกรธก็อาจสงบระงับได้

    หรือไม่เช่นนั้น ก็โดยอุบายแยกธาตุ โดยนัยว่า "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
    ไม่ใช่ตัวตน ความจริงแล้ว สัตว์บุคคลหามีไม่ ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงความเป็นไป
    ของนาม และรูป ซึ่งนามนั้นก็ยังประกอบด้วยขันธ์ต่างๆ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์
    สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ถึงรูปแม้ว่าจะเป็นรูปขันธ์อย่างเดียว แต่รูปขันธ์นั้น
    ก็ยังประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป"

    ก็ที่เราสำคัญว่า "โกรธเขานั้น โกรธใคร โกรธอะไร โกรธเวทนาหรือโกรธสัญญา
    โกรธธาตุดิน หรือโกรธธาตุน้ำ -- - - - " ก็จะหาบุคคลผู้ที่เราจะโกรธไม่ได้
    ความโกรธย่อมมีโอกาสสงบระงับได้เหมือนกัน

    ถ้าหากว่าไม่สงบระงับอีก ก็ลองใช้วิธีจำแนกทาน คือให้ตัดอกตัดใจสละของ
    อะไรๆที่มีค่าพอที่จะรู้สึกว่าเป็นการบริจาคให้แก่ผู้ที่เราผูกโกรธ ไม่พอใจคนนั้นไป
    วิธีนี้อาจจะสงบระงับความโกรธ ความไม่พอใจแต่ดั้งเดิมได้ เพราะการให้เป็นการ
    สร้างความรู้สึกที่เป็นมิตรอย่างหนึ่ง

    อุบายวิธีต่างๆ เพื่อสงบระงับความโกรธความไม่พอใจเท่าที่กล่าวมานี้
    ก็สามารถนำไปใช้ได้ในกาลทุกเมื่อความโกรธสงบระงับเป็นอย่างดีแล้ว
    ก็อบรมเมตตา ทำให้เป็นธรรมชาติที่คุ้นเคย ต่อไป

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเนื้อหาสาระบางประการที่ควรทราบเกี่ยวกับ
    เมตตาพรหมวิหาร ส่วนเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับการเจริญเมตตา จนจิตสงบ
    ระงับไปตามลำดับจนกระทั่งบรรลุถึงอัปปนา หรือ ฌาน จะไม่ขอกล่าวในที่นี้
    ความละเอียดในเรื่องนี้ ผู้สนใจจะหาดูได้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเถิด.

    จบ.
    (คัดลอกจากหน้า ๓๕-๕๖)


     

แชร์หน้านี้

Loading...