เทวธรรม พระธรรมเทศนา หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย หลับอยู่, 29 พฤษภาคม 2015.

  1. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ หน)
    …………………………………………
    หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
    สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร ติ

    ณ บัดนี้อาตมาภาพ จะได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยธรรมสำคัญในบวรพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงรับสั่ง หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา ให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นพร้อมด้วยดีในหิริโอตตัปปะ มีความละอายมีความสะดุ้งกลัว มั่นคงในความละอาย ในความสะดุ้งกลัว หิตา สันโต เป็นผู้มีใจสงบระงับ วุจฺจเร อันนักปราชญ์ทั้งหลายย่อมกล่าว เทวธมฺมา ว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ โลเก ในโลกด้วยประการ ดังนี้
    หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา ถึงพร้อมแล้วด้วยความละอาย ความสะดุ้งกลัว
    สุกฺกธมฺมสมาหิตา ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันขาว
    สนฺโต เป็นธรรมเครื่องสงบระงับ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่าเป็นธรรมอันประเสริฐในโลก

    นี่เป็นหลักสำคัญ เมื่อเราเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคฤหัสถ์ บรรพชิต มาประสบพบพระพุทธศาสนาพุทธนิกายเพียงเท่านี้ ก็เป็นบุญลาภประเสริฐยิ่งเป็นอันนักหนา พระองค์ทรงรับสั่ง ให้มีความละอาย ความสะดุ้งกลัวนี่เป็นหลักสำคัญ เมื่อดำเนินตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์
    เมื่อตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ มั่นอยู่ในพระพุทธเจ้า มั่นอยู่ในพระธรรม มั่นอยู่ในพระสงฆ์ หรือว่าเข้าถึงซึ่งพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ มีธรรมกายแล้ว มีธรรมกายทั้งหยาบทั้งละเอียดได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์
    เมื่อตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์อย่างชนิดนี้แล้วละก็ ให้มีความละอาย มีความสะดุ้งกลัว รักษาพระไตรสรณาคมน์ที่ตั้งอยู่นั้น ให้สะอาดผ่องใสอยู่ร่ำไป คือธรรมกาย คือพุทธรัตนะก็สะอาดยิ่ง สะอาดในสะอาดอยู่เสมอไป
    ถ้าว่าเศร้าหมอง ขุ่นหมอง ขุ่นมัวด้วยประการใดแล้วละก็ ให้มีความละอายตัวเอง ว่าจะได้รับความทุกข์ล่ะ มีความอาย รีบแก้ให้ใสสะอาด ให้ธรรมกายนั้นใสสะอาด ไม่ให้เศร้าหมอง ขุ่นมัวได้ ไม่ให้เศร้าหมองได้
    แม้ธรรมกายที่ละเอียดก็แบบเดียวกัน ไม่ให้ขุ่นมัวเศร้าหมองได้ ให้ผ่องใสอยู่ร่ำไป ผ่องใสอยู่กระไรก็ให้ผ่องใสอยู่อย่างนั้น ผ่องใสในผ่องใสหนักขึ้นไป นี้ได้ชื่อว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ใน หิริโอตฺตปฺป มีความละอาย มีความสะดุ้งกลัว เห็นที่จะได้รับชั่วที่เกิดจากการเศร้าหมองพระรัตนตรัย ไม่ให้เศร้าหมองได้ ได้ชื่อว่าบุคคลนั้นมี โอตฺตปฺปสมฺปนฺนา ถึงพร้อมแล้วได้ความละอาย ความสะดุ้งกลัว
    สุกฺกธมฺมสมาหิตา เกื้อกูลแล้วในธรรมอันขาว ธรรมอันใส ไม่มีเศร้าหมองขุ่นมัวตลอดไป
    สนฺโต สงบระงับ สงบเป็นสุขอีก ทุกเหลี่ยมทุกท่า ในเบญจกามคุณทั้ง ๕ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ สำหรับจะยั่วยวนกวนใจให้กำเริบเสิบสาน กวนใจให้รำคาญ
    เมื่อธรรมกายผ่องใสอยู่เช่นนั้นแล้ว กำเริบเสิบสาน ไม่รำคาญ สงบๆ หมด คำที่เรียกว่าสงบหมด นั่นเราเรียกว่า สนฺโต สงบระงับ สะอาด สะอ้านเป็นอันดี
    เมื่อเป็นได้ขณะนี้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า เยวธมฺมา ว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ โลเกในโลกดังนี้ นี่นัยหนึ่ง
    อีกนัยหนึ่งหย่อนกว่านั้นลงมา ไม่เข้าถึงไตรสรณาคมน์ ตั้งอยู่เพียงแค่ศีล ๕ ศีล ๕ ก็ให้พินิจพิจารณาทีเดียว ตั้งต้นแต่ปาณาติบาตมีขาดตกบกพร่องหรือไม่
    ถ้าไม่มีขาดตกบกพร่องพิจารณาสิกขาบทข้อที่ ๒ ไปอีกอทินนาทาน มีขาดตกบกพร่องหรือไม่
    ถ้าไม่มีขาดตกบกพร่องพิจารณาข้อที่ ๓ ไปอีก กาเมสุมิจฉาจารา ขาดตกบกพร่องหรือไม่
    ถ้าไม่มีพิจารณาข้อที่ ๔ มุสาวาทกล่าวคำเท็จไม่จริงหลอกลวงต่างๆ มีอยู่หรือไม่
    ถ้าไม่มีพิจารณาสิกขาบทข้อที่ ๕ สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี เว้นจากดื่มน้ำที่ทำให้มึนเมาจากสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งของความประมาท บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ เห็นว่าบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ให้รักษาศีล ๕ นั่นแหละ ในบริสุทธิ์ในบริสุทธิ์ หนักขึ้นไป ในบริสุทธิ์ในบริสุทธิ์หนักขึ้นไป บริสุทธิ์ในบริสุทธิ์ ในบริสุทธิ์หนักขึ้นไป ไม่มีราคี
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    ถ้าว่าประพฤติเว้นข้อใดข้อหนึ่ง นี่กระวนกระวาย แก้ไขให้บริสุทธิ์ เมื่อแก้ไขบริสุทธิ์แล้วให้รักษาความบริสุทธิ์นั้นไว้
    ถ้าความบริสุทธิ์ไม่มีแล้วละก็อายนัก เป็นคนสุ่มสี่สุ่มห้า โกงตัวเองอายนัก ไม่กล้าจะทำได้ ให้บริสุทธิ์ไว้ ไม่โกงตัวเอง
    พิจารณาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ไม่มีบริสุทธิ์แล้วก็อาย อายด้วย สะดุ้งกลัวด้วย จะได้รับผลชั่วแล้ว เพราะไม่บริสุทธิ์
    รักษาความบริสุทธิ์นั้นอยู่เนืองนิตย์อัตรา ศีลก็ต้องบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีราคีอันหนึ่งอันใด
    เมื่อเห็นว่าศีลไม่มีราคี อันหนึ่งแล้วก็ นั่นแหละได้ชื่อว่า สุกฺกธมฺมสมาหิตา ตั้งอยู่ในธรรมขาวส่วนศีล
    สนฺโต สงบระงับตามส่วนของศีล ๕ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวยืนยันว่า เป็นธรรมอันประเสริฐในโลก จำเพาะตัวของตัว ศีล ๕ ไตรสรณาคมน์ศีล ๕ เมื่อสูงขึ้นไปกว่านั้น ให้มีหิริโอตตัปปะคืออันเดียวกัน แล้วก็ตั้งอยู่ในธรรมอันขาวแบบเดียวกัน คือใจสงบระงับแบบเดียวกัน เป็นธรรมอันประเสริฐในโลกแท้ๆ
    เมื่อครั้งพระองค์ได้ตรัสรู้พระบรมภิเษกสัมโพธิญาณ ยังไม่ตรัสเทศนาโปรดผู้หนึ่งผู้ใดเลย เริ่มต้นตรัสเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ภิกษุทั้ง ๕ พระองค์ได้ทรงพิจารณา จะตรัสเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น จะตรัสเป็นไฉน? จึงจะเกิดเรื่องเกิดสายของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้มรรคผลโดยฉับพลัน ในมรรคทั้ง ๘ นั่นเป็นตัวยืนละ มรรคทั้ง ๘ นั้น

    มรรคทั้ง ๘ นั้นแหละจบพระไตรปิฎก
    สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นปัญญา
    สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวเป็นศีล
    สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ ๓ นับแตกแยกออกเป็น ๓ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป แยกออกไปเสียนั่นเป็นตัวปัญญา
    สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว แยกออกไปเสียนี่เป็นศีล
    สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่แยกออกไปเสียเป็นสาม
    นี่เป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าหากว่าเราจะตรัสเทศนาในเรื่องศีลตามลำดับของมรรคไป ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็จะไม่เป็นอันฟัง จะยิ้มเยาะและเย้ยหยันเราตถาคตเสียด้วยซ้ำไปอีก ก็เขาชำนาญอยู่แล้วในเรื่องศีลในเรื่องสมาธิเขาเล่นจนชำนาญแล้ว
    พระองค์ถึงได้ยกเอาสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปขึ้นแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ส่วนศีลกับสมาธิไม่ต้องกล่าวแล้วจะทวนมาทีหลัง
    กล่าวถึงสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นเป็นตัวสำคัญ
    สัมมาสังกัปโป ความดำริ ดำริก็สำคัญเหมือนกัน
    ความเห็น ความดำรินี่ก็คล้ายกัน ความเห็นเห็นอะไร? ลึกซึ้ง
    เห็นทุกข์
    เหตุเกิดทุกข์
    ความดับทุกข์
    ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์

    ไม่ใช่เห็นพอดีพอร้าย เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติความดับทุกข์ ความเห็น
    ความดำริก็สำคัญเหมือนกัน
    เนกขัมมสังกัปโป ดำริจะออกจากกาม
    อพยาปาสังกัปโป ดำริในการไม่พยาบาท
    วิหิงสาสังกัปโป ดำริในการไม่เบียดเบียน
    เนกขัมมสังกัปโป ดำริจะออกจากกาม เป็นของลึกซึ้งอยู่ หมดทั้งสากลโลก ไม่ว่าทั้งหญิงว่าชายดำริเข้าไปหากามทั้งนั้น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ชอบใจดำริเข้าไปหากามทั้งนั้น ดำริจะออกจากกามนะมันน้อยนักน้อยหนาทีเดียว แทบจะไม่มีเลย

    อพยาปาสังกัปโป ความดำริก็เป็นไปในพยาบาท เพราะระวัง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านั้น ไม่ให้ใครมาคล่องแคล้วของตัวได้ ใครมาคล่องแคล้วเข้าหรือกระทบกระเทือนเข้าพยาบาทใส่เข้าให้ หาวิธีจะไขเจ้า นี่ดำริไปในพยาบาท
    เมื่อมากระทบด้วยประการใดก็ดำริในความเบียดเบียนทีเดียว เบียดเบียนในการกระทบ กระเทือนนั้น
    ดำริในความไม่พยาบาทเป็นดำริที่ลับอยู่
    ดำริที่จะออกจากกามนี่ความดำริก็ลับอยู่
    ดำริในความไม่เบียดเบียนนี่ก็เป็นดำริลับอยู่
    ดำริในความไม่พยาบาทนี่ก็ดำริลับอยู่เหมือนกัน
    นี่แหละจำเอาไว้ความดำริ ดำริจะออกจากกาม ทำไฉนหนอเราจะออกจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ชอบใจได้?
    ตั้งแต่เกิดมาแล้ว เดินไปไหนทางไหน ก็มองดู รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ชอบใจอยู่ท่าเดียว มันไม่ไปทางอื่นเลย อ้ายใจมันก็ปรวนแปรอยู่ในนั้นแหละ อยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นแหละ ไม่ออกดำริจะเข้าไปในกามท่าเดียว ดำริอย่างนี้ มันดำริเข้าไปในกามท่าเดียว ดำริออกจากกามนี่มันไม่ค่อยมี มันน้อยนัก
    เมื่อดำริเข้าไปในกามแล้ว ดำริก็เป็นไปในความพยาบาทเต็มที่ ระวังกาม หวงกาม หึงกามเอาล่ะคราวนี้ ระวังกาม หวงกาม หึงกาม เอาล่ะ ความพยาบาทก็มาเต็มที่ ความพยาบาทมาเต็มที่แล้ว
    ความเบียดเบียนก็มาเต็มที่ ไม่ให้ใครมาข้องแคล้วในกามได้ เกิดเรื่องราวกันยกใหญ่
    นี้พระพุทธเจ้าเห็นนัยนี้ ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เธอชำนาญในสมาธิแล้ว แล้วควรจะปรับในเรื่องปัญญา สัมมาทิฏฐิทีเดียว สัมมาทิฏฐิ พระองค์ทรงยกขึ้น สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่ได้ตรัสว่ากระไร?

    ตรัสว่าสำคัญทีเดียวว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา
    ดูก่อน ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา บรรพชิตไม่ควรเสพ บรรพชิตไม่ควร เทฺวเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดทั้ง ๒ ข้างบรรพชิตไม่ควรเสพ ที่สุดทั้ง ๒ ข้างบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
    กามสุขลฺลิกานุโยค ประกอบด้วยกามสุข
    อตฺตกิลมถานุโยค ประกอบด้วยความลำบากเปล่า

    นี่ที่สุดทั้ง ๒ นี้ กามสุขลฺลิกานุโยค อตฺตกิลมถานุโยค ในโลกความประพฤติเป็นไป ๒ อย่างนี้
    กามสุขลฺลิกานุโยค ประพฤติอยู่ทั่วแหล่งหล้า ไม่มีว่างเว้นเลย ตั้งบ้านตั้งเรือนอยู่ที่ไหน ก็บริโภคกาม ประพฤติกามทั้งนั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเต็มไปหมด แก้ไม่ตกๆ เรียกว่า กามสุขลฺลิกานุโยค

    อตฺตกิลมถานุโยค ท่านฤาษีชีไพรไปกระทำความเพียรในป่า ละกามบริโภคกาม การครองเรือนไปแล้ว ไปประพฤติตบะ เพื่อต้องการความวิเศษของตนอีก จะต้องแสวงหากามให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่เขาบริโภคใช้สอยกันอีก ให้ล้นพ้นไปกว่าที่เขาบริโภคใช้สอยอยู่ หนักขึ้นไปกว่านั้นอีก
    อตฺตกิลมถานุโยค จะเอาเลิศเอาประเสริฐหนักขึ้นไป เหมือนภิกษุสามเณรในบัดนี้ เป็นภิกษุสามเณรพออยู่แล้ว ยังจะหาอะไรต่อมิอะไรให้เลิศประเสริฐขึ้นไปอีก ให้เลิศล้นพ้นประมาณไปกว่าพระภิกษุสามเณรปกติธรรมดาไปอีก คือต้องการให้เลิศหนักขึ้นไป คือประพฤติการงานต่างๆ ทั้ง อตฺตกิลมถานุโยคเหล่านั้น ประกอบตนให้หนักขึ้น จะได้บรรลุความวิเศษหนักขึ้นไปอีก

    เหมือนท่านชฏิลทั้ง ๑,๐๐๓ รูป คือ ปุราณกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ท่านเหล่านั้นแหละ รับเครื่องสังเวยในเมืองมคธราช พระเจ้าพิมพิสารนับถือนักทีเดียว เครื่องสังเวยของพระเจ้าพิมพิสาร ไปรับเครื่องสังเวยยอดกาล ถ้าใครจะมีลูกมีผัวมีเมียกันที่ไหนละก็ต้องให้สุรา กัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ต้องชฎิลเหล่านั้นๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องไปปรองดอง มอบให้ชฎิลเหล่านั้นปกครองเสียก่อน ให้เป็นคนวิเศษ นี่แหละ อตฺตกิลมถานุโยค ลึกซึ้งอย่างนี้แหละ ถึงกระนั้นก็ไม่พ้น เขาก็รู้ จะประพฤติว่างเว้นอย่างไรเขาก็รู้ ก็ความประพฤติอย่างนั้นก็ไปแสวงหากามนั้นเอง

    นี่พระพุทธเจ้าเห็นแล้ว กามสุขลฺลิกานุโยค อตฺตกิลมถานุโยค ทั้ง ๒อย่างนี้ แสวงหากามแบบเดียวกัน แต่ว่าตรงกับทางอ้อม แสวงหาทางตรงหรือทางอ้อม
    พระองค์ก็ได้ชี้เสียทีเดียว กามสุขลฺลิกานุโยค อตฺตกิลมถานุโยค ทั้ง ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่ควรเสพให้เลิกทีเดียว
    พระองค์ทรงรับสั่งให้เลิกเด็ดขาดทีเดียว เลิก กามสุขลฺลิกานุโยค อตฺตกิลมถานุโยค ทีเดียว ให้เลิกแล้วจะทำอย่างไร?
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  3. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    พระองค์ก็ทรงรับสั่ง กตมา จ สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ อย่างนั่น นั้นๆ ข้อปฏิบัติเป็นกลางนะ
    กายก็เป็นกลาง
    วาจาก็เป็นกลาง
    ใจก็เป็นกลาง เป็นกลางหมด
    ถ้าว่ากาย หรือวาจา หรือใจไปเอียงข้างเข้า ก็ไม่ถูกมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ อย่างนั่น นั้นคือ กามสุขลฺลิกา-นุโยค อตฺตกิลมถานุโยค ไม่เข้าไปใกล้ทีเดียว ที่พระตถาคตตรัสรู้ด้วยแล้วด้วยปัญญาอันชอบ บอกทีเดียว

    ข้อปฏิบัติเป็นกลางเป็นไฉนเล่า?
    อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
    บอกทางทีเดียว ข้อปฏิบัติเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ อย่างนั่นนั้น เห็นชอบ ดำริชอบ กล่าวชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ตั้งจิตชอบ
    ประกอบด้วยมรรค ๘ ประการ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ แต่ว่ายก สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ขึ้นหน้าไว้ก่อน นี่แหละที่พระตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ
    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นสัจจธรรมทั้ง ๔ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์
    สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ดำริจะออกจากกาม ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน นี่เป็นสัมมาสังกัปโป
    สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ เว้นจากวจีทุจริต วาจาชอบคือเว้นจากวจีทุจริต สัมมาวาจา เว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง เรียกว่าสัมมาวาจา วาจาชอบ
    สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ การงานชอบเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ๓ อย่างนี้การงานชอบ
    สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ
    มิจฉาอาชีโว ชีวิตตํ กัปโปติ มิจฉาอาชีวันปหายะ ละมิจฉาชีพเสีย
    สัมมาอาชีโว ชีวิตตํ กัปโปติ สำเร็จเป็นอยู่ ในการเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพดีเสมอ
    ทุกวันที่จะบริโภคอะไรเข้าไปของบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์? ถ้าบริสุทธิ์ก็บริโภคไป ไม่บริสุทธิ์ก็ไม่บริโภคทีเดียว กลัวจะเป็นพิษเป็นภัย ไปเป็นร้ายในร่างกายเรา
    เมื่อของไม่บริสุทธิ์ บริโภคเข้าไป มันก็ไปเป็นเนื้อเป็นเลือดอยู่ข้างใน ไปเป็นเชื้ออยู่ แก้ไม่ตก แก้ลำบากนัก ของไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่บริโภคทีเดียว บริโภคแต่ของบริสุทธิ์
    นี่เรียกว่า สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพในการที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต
    สัมมาวายาโม เพียรชอบ เพียรในที่ ๔ สถาน
    สัมมาสติ สติชอบ ระลึกในสติปัฏฐาน ๔
    สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ตั้งใจใน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ในรูปฌาน อรูปฌานทั้ง ๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นสัมมาสมาธิทั้งนั้น
    นี่เป็นความจริงแบบจริงนี่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังกล่าวแล้วนี้
    สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปน่ะ เป็นตัวปลาย คือ ตัวปัญญา
    สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวเป็นตัวต้น คือ ศีล
    สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิเป็นตัวกลางสมาธิ
    สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปน่ะ เป็นตัวปลายเป็นตัวปัญญา
    ศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง ไม่ใช่อื่น พระองค์ทรงตรัสเทศนาว่า
    จกฺขุกรณี กระทำความเห็นให้เป็นปกติ
    ญาณกรณี กระทำความรู้ให้เป็นปกติ
    อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ
    ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ
    เพื่อความรู้ยิ่งรู้พร้อม
    เพื่อนิพพาน
    กระทำความเห็นให้เป็นปกติ กระทำความรู้ให้เป็นปกติ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อนิพพาน นี่หลักสำคัญมีเท่านี้
    กระทำความเห็นให้เป็นปกติ ความเห็นของตา ความเห็นของตากายมนุษย์ ไม่ปกติ ความเห็นของตากายมนุษย์ละเอียดก็ไม่ปกติ ความเห็นเป็นไม่ไปใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเห็นความจริงไม่มี
    ของกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด ก็ไม่มี
    ของกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด ก็ไม่มี
    ความเห็นของกายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ก็ไม่มี ไม่ปกติ
    ความเห็นเหล่านี้เห็นอยู่ในวัฏฏะ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ความเห็นไม่ออกนอกวัฏฏะไปได้
    เมื่อความเห็นไม่ออกจากนอกวัฏฏะไปได้ ความเห็นอันนั้นเอาเป็นจริงไม่ได้
    ความเห็นที่เอาเป็นจริงเป็นจังได้ ต้องความเห็นของตาธรรมกาย รู้ด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกาย ทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายหยาบ ตาธรรมกายหยาบ ญาณของธรรมกายหยาบ ตาของธรรมกายละเอียด ญาณของธรรมกายละเอียด ความเห็นอันนี้
    จักขุกรณี เห็นเป็นปกติ
    ญาณะ กรณีรู้ด้วยญาณ ก็ได้ชื่อว่ารู้เป็นปกติ
    สังวัตติ ย่อมเป็นไปพร้อม ความสงบ เพื่อรู้ยิ่ง
    อุปสมายะ เพื่อเข้าไปสงบ
    อภิญญายะ เพื่อรู้ยิ่ง
    สัมโพธายะ ความรู้พร้อม
    นิพพานายะ เพื่อนิพพาน

    นี่ตรงนี้ ตรงนี้หลักอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อ พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาดังนั้น ได้เข้าใจชัด รู้ชัดแล้วมีธรรมกายขึ้น มีธรรมกายขึ้น ถ้าไม่มีธรรมกายก็จักขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ ก็ไม่มี
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    ที่มีขึ้นก็เพราะ เพราะความเห็นความรู้นั้น เข้าหลักเข้าส่วนแล้ว ถูกเป้าหมายใจดำทางพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อเห็นเช่นนั้นพระองค์ก็ทรงยก สัจจธรรมทั้ง ๔ ขึ้นทีเดียว
    ประสงค์สัมมาทิฏฐิ ยกทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ จะต้องมีตาธรรมกายเกิด
    เห็นทุกข์ในกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด
    กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียดมีเกิด มีเกิดมีแก่แปรไปตามหน้าที่ ก็เห็นความเกิด เห็นความเกิด
    เห็นเหตุให้เกิดก็รู้เหมือนกัน กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาก็เห็นเหตุให้เกิดอีก
    เมื่อเห็นเหตุให้เกิดแล้ว ก็มองไปในความดับ เห็นความดับ
    เมื่อมองดูความดับ เห็นเหตุให้ดับอีก เห็นทีเดียว ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเหตุให้ดับ เป็นเหตุให้ดับแท้ๆ จะเข้าถึงเหตุให้ดับไปได้ ก็เพราะอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะเกิดรุ่งเรืองไปได้
    ไม่มีเวลาดับก็เพราะกามตัณหา ภวตัญหา วิภวตัณหา เห็น ๒ อย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นฝ่ายให้ดับ
    กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิด เหตุให้เกิดเหตุให้ดับ ๒ อย่างนี้ รู้ชัดทีเดียว
    พระองค์ก็ทรงแสดงพระสัจธรรมทั้ง ๔ จบลงไป และทรงแสดงพระสัจจธรรมทั้ง ๔ ให้พระปัญจวัคคีย์ให้เข้าใจอีก ให้เข้าใจอีก โดยสัจจญาณ ตติยญาณ มรรคสัจ
    โดยแสดง ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว
    เห็นว่าทุกขสัจควรกำหนดรู้
    สมุทัยสัจควรละ
    นิโรธสัจควรทำให้เกิด
    มรรคสัจนะควรทำให้เจริญขึ้น ก็ได้รู้แล้วเห็นแล้ว
    ส่วนทุกขสัจนะได้กำหนดรู้แล้ว ส่วนสมุทัยสัจได้ละแล้ว ส่วนนิโรธสัจได้กระทำให้แจ้งแล้ว ส่วนมรรคสัจได้เจริญแล้ว
    เมื่อเห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจปรากฏชัดแล้ว พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พระปัญจวัคคีย์ อัญญาโกณฑัญญะก็รู้ก็เข้าใจ พระองค์ทรงแสดงเป็นลำดับไป พอจบเทศนาของพระองค์ลงเท่านั้น
    อายสฺมโต โกญฺฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุง อุทปาทิ
    ธรรมจักขุก็บังเกิดขึ้นแก่พระอัญญาโกณฑัญญะอันสะอาดผ่องใส ธรรมจักขุก็เกิดขึ้นแก่พระอัญญาโกณฑัญญะ
    ธมฺมจกฺขุง อุทปาทิ ธรรมจักขุง อุทปาทิ ธรรมจักขุง
    เห็นธรรม ความเห็นธรรม ธรรมจักขุแปลว่าเห็นธรรมได้เกิดขึ้น ความเห็นธรรมได้เกิดขึ้น
    วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุง ความเห็นธรรมไม่มีธุลีและมลทิน ความเห็นธรรมปราศจากธุลีและมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ผู้มีอายุพระอัญญาโกณฑัญญะ
    ยงฺกิญฺจ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
    สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นดับไปเป็นธรรมดา
    สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเสมอ สิ่งทั้งปวงนั้นดับเสมอ
    มีเกิดดับ เห็นเกิดดับหมดทั้งสากลโลก
    เมื่อรู้เมื่อเห็นเกิดดับเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุธรรมะผ่องใส

    แล้วพระองค์มาโปรดพระยสราชกุมารทั้งหลายเหล่านี้อีก มาโปรดราชกุมารทั้งหลายเหล่านี้ ต่อแต่นี้พระปัจจวัคคีย์ก็ได้ฟังบ้าง พระปัจจวัคคีย์หรือพระพุทธเจ้าได้เทศนาบ้าง นี่แสดงถึงอนัตตลักขณสูตรทีเดียว ที่ยังสงสัยในร่างกายอยู่บ้างในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พระองค์ทรงแสดง ให้เห็นชัดทีเดียวในอนัตตลักขณสูตร ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวน่ะ นี่ทรงวางตำรับตำราเป็นแบบแผนไว้

    รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตัว
    รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส รูปจักไม่เป็นตัวแล้ว
    นยิทํ รูปํ อาพาธาย สํวตฺเตยฺย ไม่ได้ดังรูปตามใจหวังได้ รูปอันนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความป่วยไข้ ไม่ได้ในรูปตามใจหวังได้ ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าเป็นอย่างนั้นเลย
    ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว รูปํ อนตฺตา ตสฺมา รูปํ อาพาธาย สํวตฺตติ รูปไม่ใช่ตัว เพราะเหตุใดรูปไม่ใช่ตัว เพราะฉะนั้นรูปถึงเป็นไปเพื่อความอาพาธ ป่วยไข้ ไม่ได้ในรูปตามใจหวังได้ ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นเช่นนี้เลย เวทนา สัญญา สังขาร แบบเดียวกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวแบบเดียวกัน ถ้าไม่ใช่ตัว ถึงได้เป็นไป เพื่ออาพาธป่วยไข้ ไม่ได้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามใจหวังได้ ขอเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเหตุใดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะเหตุนั้นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไปเพื่อความอาพาธป่วยไข้ ไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามใจหวังได้ ขอรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนี้เลย ไม่ได้สมความปรารถนา ความจริงเป็นอย่างนี้เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ๆ เข้าใจชัดแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสย้อนถามภิกษุที่สดับตรับฟังทั้ง ๑๐๕๕ ถามทบอีกทีหนึ่ง

    ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วา ถามพระปัญจวัคคีย์ ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
    ท่านสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเป็นไฉน?
    สำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยงล่ะ
    อนิจฺจํ ภนฺเต ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
    สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขล่ะ
    ทุกฺขํ ภนฺเต เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
    สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้น ควรหรือ? สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ควรหรือ ตามเห็นสิ่งนั้นว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ควรหรือตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นตัวของเรา
    โน เหตํ ภนฺเต หาเป็นอย่างนั้นไม่ พระเจ้าข้า
    พระองค์ทรงถามไปทีละข้อ ทีละข้อ ๕ ขันธ์ พอจบ ๕ ขันธ์แล้วทรงรับสั่งอีก
    ตสฺมาติห ภิกฺขเว ยงฺกิญฺจิ รูปํ อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
    ยงฺกิญฺจิ รูปํ รูป อันใดอันหนึ่ง
    อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต
    อชฺฌตฺตํ วา รูปภายในหรือ
    พหิทฺธา วา รูปภายนอก
    โอฬาริกํ วา หยาบหรือ
    ปณีตํ วา ประณีต หยาบหรือประณีต?
    ยนฺทูเร สนฺติเก วา ไกลหรือใกล้
    สพฺพํ รูปํ รูปก็สักแต่ว่ารูป
    เนตํ มม นั่นไม่ใช่ของเรา
    เนโสหมสฺมิ นั่นไม่เป็นเรา
    น เมโส อตฺตาติ นั่นไม่ใช่ตัวของเรา
    เอวเมตํ ยถาภูติ สมฺมปฺปญฺญาย ควรเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ เข้าใจในอนัตตลักขณสูตรนี้ ทราบชัดขันธ์ทั้ง ๕ แบบเดียวกันอย่างนี้แหละ
    เมื่อปรากฏจบๆ ในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่พระองค์ทรงถามมาแล้วอย่างนี้ พอจบลงเท่านั้น พระองค์ทรงรับสั่งว่า
    เอวํ ปสฺสํ ภิกขเว สุตวา อริยสาวโก
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อได้เห็นอยู่อย่างนี้
    รูปสฺสึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูปบ้าง
    เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาบ้าง
    สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญาบ้าง
    สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขารบ้าง
    วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณบ้าง
    นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
    (วิราคา วิมุจฺจติ) เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็หลุดพ้น
    (วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ) เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่า เราพ้นแล้วดังนี้ ว่าเราพ้นแล้วดังนี้ อริยสาวกอันนั้นก็ทราบชัดว่า ชาติของเราสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำเราได้ทำเสร็จแล้ว กิจเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
    จิตของภิกษุพระปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยไม่ถือมั่นอะไร อะไรในโลก ด้วยประการดังนี้
    นี่พระองค์ทรงตรัสเทศนาเป็นใจความ กับท่านผู้มีธรรมโมพิสัยแก่กล้า แบบชัดๆ แบบตรงๆ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ท่านผู้ฟังก็เห็นจริง ตามจริง ไม่เห็นว่าเพี้ยนไปอย่างหนึ่งอย่างใด ก็รู้ชัดเห็นชัด
    เมื่อรู้ชัด เห็นชัด ปฏิบัติถูกส่วนเข้า ดำเนินกลางถูกส่วน ก็พ้นจาก อาสวะได้สมความปรารถนา
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีเพื่อเป็นปฏิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า
    อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแด่เวลา ด้วยอำนาจสัจจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้
    สทาโสตถี ภวนฺตุเต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า
    สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ
    อิทํ ผลํ เอตสฺมึ รตฺนตยสฺมึ สมฺปสฺสาทนเจตโส
    ขอจิตอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของท่านทั้งหลายบรรดา ที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า จงเป็นไปให้สำเร็จสมความปรารถนาทุกสิ่งทุกประการ ดังอาตมภาพประทานวิสัชนามาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมสมควรเพียงเท่านี้
    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...