เรื่องเด่น เจาะพระไตรปิฏก(พระราชสุทธิญาณมงคล)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย alfed, 23 กันยายน 2017.

  1. alfed

    alfed สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    15
    ค่าพลัง:
    +135
    23849.jpg
    เจาะพระไตรปิฎกฉบับนี้ เวียงการณ์จะพาท่านผู้ฟังมาสัมผัสกับเรื่องราวใน อาฬวกสูตร ซึ่งมีหลักธรรมที่น่าสนใจ ในตอนท้ายจะสรุปหลักธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติในยุควิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ หลักธรรมเหล่านี้ ผู้สนใจนำไปปฏิบัติแล้ว น่าจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม ประเทศชาติต่อไป
    อาฬวกสูตรนี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑๐ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นอาฬวยักษ์ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ที่ประทับ
    ได้กราบทูลพระพุทธองค์ (เชิงขับไล่) ว่า “จงออกไปเถิดสมณะ”
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีละท่าน” แล้วก็ได้เสด็จออกไป
    อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลว่า “ขอจงเข้ามาเถิดสมณะ”
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีแล้วท่าน” แล้วก็ได้เสด็จเข้ามา
    อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลอีกว่า “จงออกไปเถิดสมณะ”
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีละท่าน” แล้วก็ได้เสด็จออกไป
    อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลว่า “ขอจงเข้ามาเถิดสมณะ”
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีละท่าน” แล้วก็ได้เสด็จเข้ามา
    อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลด้วยอาการอย่างนี้ถึง ๓-๔ ครั้ง และในครั้งที่ ๔ นี้ พระพุทธองค์กลับตรัสว่า “ดูกรท่าน เราตถาคตจักไม่ออกไปละ ท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิด”
    อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า “ดูกรสมณะ” ข้าพเจ้าจะถามปัญหากับท่าน ถ้าว่าท่านจะไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกมาโยนทิ้ง จักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าทั้งสองของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคง
    พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคต” ยังไม่มองเห็นบุคคลที่จะพึงควักดวงจิตของเราตถาคตออกโยนทิ้ง จะพึงฉีกหัวใจของเราตถาคต หรือจะพึงจับเท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้ ในโลกพร้อมทั้งมารโลก พรหมโลก ในบรรดาหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ดูกรท่าน ก็และท่านหวังจะถามปัญหา ก็จงถามเถิด
    ต่อจากนั้น อาฬวกยักษ์ถูกถามพระพุทธองค์ด้วย คาถาว่า
    “อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้
    อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
    อะไรเล่าเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย
    นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวถึงชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐสุด”
    พระพุทธองค์ตรัสตอบด้วยคาถาว่า
    “ศรัทธา เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
    ธรรมที่บุคคล ประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
    ความสัตย์นั่นแหละ เป็นรสอันประเสริฐและยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย
    นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด”
    อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า
    “คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ คนย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร คนย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร และคนย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร”
    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
    “คนข้ามโอฆะด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร และความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
    อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า
    “คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไร จึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ ไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจะไม่เศร้าโศก”
    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
    “บอกชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพาน เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ปัญญาและมีวิจาร คนผู้มีธุระทำเหมาะสม ไม่ทอดธุระ เป็นผู้มีความเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดอยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการนั้นคือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นแหละ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ปัญญา ยิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้แล้วไซร้ เชิญท่านถามสมณะพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูเถิด”
    อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า “ทำไมหนอ ข้าพระองค์จึงมีต้องถามสมณะพราหมณ์ เป็นอันมากในบัดนี้เล่า ก็วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัด ถึงประโยชน์อันเป็นไปในภพหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่เมืองอาฬวี ก็เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้ วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดถึงพระทักขิไนยบุคคลผู้เลิศ ที่บุคคลถวายทานแล้ว เป็นทานที่มีผลมาก ข้าพระองค์จักนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรม ซึ่งเป็นธรรมดี ขณะที่พระองค์เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง”
    สรุปข้อธรรมจากอาฬวกยักษ์สูตร
    หัวข้อธรรมที่จะพึงนำมาประพฤติปฏิบัติ ได้จากเรื่องนี้ แบ่งเป็น ๒ หมวด คือ
    หมวดที่ ๑ มี ๔ ประการ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
    หมวดที่ ๒ มี ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ
    อธิบายหัวข้อธรรมประการ
    คำว่า สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ซื่อต่อกัน แปลอย่างนี้เรียกว่าแปลตามศัพท์ ถ้าขยายลักษณะของสัจจะ ให้มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติกันได้จริง ๆ แล้วก็คือ สัจจะนี้มีลักษณะ ๓ อย่างคือ
    ๑. สัจจะ มีลักษณะเป็นความจริง
    ๒. สัจจะ มีลักษณะเป็นความตรง
    ๓. สัจจะ มีลักษณะเป็นความแท้
    ๑. สัจจะมีลักษณะเป็นความจริง หมายถึง ไม่ใช่เล่น ไม่หลอก ไม่ลวง เป็นของจริง ๆ
    ๒. สัจจะมีลักษณะเป็นความตรง หมายถึงว่า เป็นความตรง คือมีความประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซื่อตรง ไม่คดโกง หรือบิดพริ้ว เบียงบ่ายจากความถูกความเที่ยงธรรม
    ๓. สัจจะมีลักษณะเป็นความแท้ หมายถึง ความไม่เหลาะแหละเหลวไหลในกิจกรรมอันเป็นหน้าที่
    สัจจะซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนี้ ผู้ครองเรือนพึงตั้งลงหรือกำหนดใน ๕ สถานที่ คือ
    ๑. ตรงต่อหน้าที่ คือ ปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มตามหน้าที่
    ๒. ตรงต่อการงาน คือ ตั้งใจทำงานให้ดี
    ๓. ตรงต่อวาจา คือ รักษาคำมั่นสัญญา
    ๔. ตรงต่อบุคคล คือ ประพฤติดีต่อคนอื่น
    ๕. ตรงต่อความดี คือ ยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติ
    อีกประการหนึ่ง สัจจะคือ ความจริงใจ หรือแท้ ซึ่งก็หมายความว่า ความเป็นคน มีจิตใจแน่วแน่ มุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา แล้วก็ทำจนเห็นผล เช่นนักเรียน เรียนวิชาใดก็เรียนจบ ได้ความรู้จริงในวิชานั้น ผู้รักษาศีลประเภทใด ก็ตั้งใจรักษาศีลประเภทนั้นให้ได้จริง ๆ หรือผู้เป็นนักบวชก็เป็นนักบวชที่ดีจริง เป็นต้น
    คุณธรรม คือ สัจจะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตทั้งทางโลก ทางธรรม จึงกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่ขาดสัจจะในใจเสียอย่างเดียว เอาดีไม่ได้เลย จะเล่าเรียนก็ไม่จริงจัง จะรักใคร ๆ ก็รักไม่จริงจัง จะแต่งงานกับใครก็ไม่จริงจัง จะเป็นพลเมืองของประเทศใดก็ไม่จริงจัง จะปฏิบัติธรรมก็ไม่จริงจัง เป็นต้น คนประเภทนี้จะเอาดีได้อย่างไร
    ในทางตรงกันข้าม คือ คนที่มีสัจจะ คุณธรรม คือสัจจะนั่นเอง จะเป็นหลักประกันประจำตัวให้คนอื่นเชื่อถือไว้วางใจ จะทำการสิ่งใดก็เจริญ เพราะได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งหลาย
    ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จิตใจที่มีสัจจะ อันอบรมดีแล้ว คือ มีความจริงใจจนติดเป็นนิสัยมั่นคง ความจริงใจนั้นจะเป็นเหตุ ทำให้จิตใจมีพลัง ฟันฝ่าอุปสรรคเหมือนกระสุนที่ถูกยิงไปด้วยพลังอย่างสูง ย่อมแหวกว่ายเจาะไชเอาชนะสิ่งที่ขวางหน้าไปจนได้ และเพราะค่าที่สัจจะเป็นกำลังส่งจิตใจให้บรรลุเป้าหมายได้ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุพระอรหันต์สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ด้วยสัจจะนี้ ดังนั้น สัจจะท่านจึงจัดไว้เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบประการที่พระโพธิสัตว์จะขาดเสียมิได้ เรียกว่า “สัจจะบารมี”
    วิธีตั้งสัจจะไว้ในใจมี ๒ วิธีคือ
    ๑. สัจจะธิษฐาน คือ อธิษฐานด้วยใจ ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าตนมีความปรารถนาอย่างนั้น โดยทั่วไปนิยมตั้งสัจจาธิษฐาน ต่อจากได้ไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน หรือได้ทำบุญสุนทร์ทานแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำถวายทานต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีคำสัจจานิษฐานลงท้ายเสมอ เช่น “อาสวกฺขยาวหํ นิพฺพานํ โหตุ” หรือ “นิพฺพานปัจฺจโย โหตุ” ซึ่งแปลว่า ขอให้ผลบุญนี้ทำให้ตนสิ้นกิเลสาสวะ บรรลุพระนิพพานเถิด ความปรารถนาเหล่านี้ บางคนเข้าใจว่าเป็นคำอ้อนวอนแบบศาสนาอื่นอ้อนวอนพระเจ้า แต่ความจริงไม่ใช่ ที่ถูกแล้วเราปฏิบัติตามคุณธรรม คือ สัจจะนี้ นั่นเอง
    ๒. สัจจะปฏิญาณ คือ การเปล่งวาจาให้ผู้อื่นได้ยิน เป็นพยานว่าตนได้ตั้งสัจจะไว้อย่างนั้น ที่ทำอย่างนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้อื่นด้วย เพื่อให้เกิดความละอายแก่ใจของตน เมื่อจะพลั้งเผลอ ละเมิด สัจจะนั้นด้วย นั้นก็คือ สัจจะนี้คือ ความนึกคิดที่ตั้งไว้ในใจนั้นเอง
    คุณ - โทษ
    คุณของความมีสัจจะ เช่น
    ๑. เป็นคนหนักแน่นมั่นคง
    ๒. มีความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจ
    ๓. การงานที่ปฏิบัติ หรือกิจที่ทำนั้นได้ผลดีพิเศษ
    ๔. มีคนเชื่อถือ และยำเกรง
    ๕. ทำความมั่นคงให้เกิดแก่ครอบครัว
    ๖. ทำดีไม่ท้อถอย
    โทษของการขาดสัจจะ เช่น
    ๑. เหลาะแหละ เหลวไหล
    ๒. ตกต่ำ หายนะ
    ๓. ล้มเหลว
    ๔. คนเหยียดหยาม ไม่เชื่อหน้า
    ๕. ความเจริญใจบรรดามีตั้งอยู่ไม่ได้
    ๖. หาความสุขในครอบครัวไม่ได้
    คำว่า ทมะ แปลได้หลายอย่าง แปลว่า ฝึก ก็ได้ แปลว่า ข่ม ก็ได้ ซึ่งรวมความแล้วก็คือ การปรับปรุงตัวเองให้ก้าวหน้าเหมาะสมกับการงาน และสังคม นั่นเอง ในทางปฏิบัติ ทมะมีลักษณะ ๓ อย่างคือ
    ๑. ทมะ มีลักษณะเป็นความฝึก
    ๒. ทมะ มีลักษณะเป็นความหยุด
    ๓. ทมะ มีลักษณะเป็นความข่ม
    ๑. ทมะ มีลักษณะเป็นความฝึก หมายความว่า ฝึกทำงานให้เป็น เพราะในสังคมนั้นมีงานมากมายหลายอย่างต่าง ๆ กัน เช่น งานทำนา งานทำสวน งานช่างไม้ งานช่างเหล็ก งานช่างปูน เป็นต้น ถ้าเราเองเกิดมาในลักษณะเป็นคนทำงานไม่เป็น และเราก็มีชีวิตอยู่ในสังคมทั้ง ๆ ที่เราทำงานไม่เป็นอย่างนี้ ย่อมเป็นอันตรายแก่ตัวเอง และเป็นภาระแก่สังคมอย่างยิ่ง เพราะคนที่ทำอะไรไม่เป็นเลยนั้น จะทำได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ทำความลำบากแก่คนอื่น เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มี ทมะ คือ ฝึกหัดอบรมตนเองให้เป็นงาน นำมาหาเลี้ยงชีพเป็น จะฝึกตนได้อย่างนี้ ก็ต้องข่มใจ ฝึกใจตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
    ๒. ทมะ มีลักษณะเป็นความหยุด หมายความว่า การยับยั้งตัวเองไม่ให้ถลำไปสู่ความชั่ว ความผิด ถ้าไม่มีการยับยั้งไว้เสียเลย ในคราวที่ตนมีความหันเหไปทางผิดหนักเข้าก็จะนำความลำบากเดือดร้อนกลับมาสู่ตัว และครอบครัว ตลอดจนสังคม เช่น ถ้าตัวเราจะกลายเป็นคนติดสุรา เป็นนักเลงการพนัน เป็นนักเลงเจ้าชู้ เป็นต้น เป็นสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าเราไม่รู้จักยับยั้งตัวเอง
    ๓. ทมะ มีลักษณะเป็นความหยุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในคราวที่เราจะถลำไปสู่ความชั่วความผิดพลาด เช่น ในคราวจะทะเลาะวิวาทกัน จะคิดทำทุจริต จะตกไปสู่อบายมุข และจะหันไปสู่ความเป็นคนเลว เมื่อถึงคราวอย่างนั้นก็จะต้องรู้จักหยุดข่มใจตัวเอง ฝึกใจตัวเองให้กลับมาสู่ทางที่ดีที่ถูกที่ควรหรือเหมาะสมตามฐานะของตนเอง
    ๔. ทมะ มีลักษณะเป็นความข่ม หมายความว่า การข่มใจข่มตัว อย่าให้กำเริบเสิบสานจนเกินไป ตามปกติตัวของเรา ถ้าปล่อยไปตามอำเภอใจ ย่อมจะมีความจองหองพองขนขึ้นไปมาก ทั้งในการกินอยู่ การเที่ยวเตร่ และอื่น ๆ หนักเข้าตัวเองก็จะไม่สามารถปรนปรือให้แก่ตัวเองได้ กลายเป็นคนมีความเป็นอยู่สูงเกินฐานะ ผู้ที่เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นคนอยู่ในอุปการะของคนอื่นก็นำความเดือดร้อน อิดหนาระอาใจแก่อุปการะเลี้ยงดู ก็แม้ว่าเป็นผู้หาเลี้ยงตัวเอง ก็ไม่วายเดือดร้อน รายจ่ายเกินรายได้ หนักเข้าก็กู้หนี้ยืมสินรุงรังตั้งตัวไม่ติด ยิ่งถ้าเป็นคนมีครอบครัว ก็จะพากันระส่ำระส่ายไปทั้งครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญทมะ คือรู้จักข่มตัว ข่มใจไว้มิให้เห่อเหิมเกินฐานะของตัว
    คุณ - โทษ
    คุณแห่งความมีทมะ เช่น
    ๑. ทำให้มีความสามารถในการทำงาน
    ๒. ไม่เป็นที่รังเกียจของคนอื่น
    ๓. ไม่มีเวรภัยกับใคร
    ๔. มิตรภาพมั่นคง
    ๕. ยั้งตัวไว้ได้ เมื่อจะทำผิด
    ๖. ตั้งตัวได้
    โทษแห่งความไม่มีทมะ เช่น
    ๑ จะตกเป็นกาฝากสังคม
    ๒. จะตกเป็นอาชญากร
    ๓. จะจมลงสู่อบายมุข
    ๔. เต็มไปด้วยการทะเลาะวิวาท
    ๕. เพื่อนฝูงรังเกียจ
    ๖. ตั้งตัวได้ยาก
    ๗. ครอบครัวเดือดร้อน
    คำว่า ขันติ แปลว่า ความอดทน เป็นลักษณะความเข้มแข็งของจิตใจในการพยายามทำความดี และถอนตัวออกจากความชั่ว
    ที่ว่า อดทน ก็ความอดทนนั้น ขอให้เข้าใจว่า มีความอดทนต่อฝ่ายที่ไม่ดี เพื่อยืนหยัดอยู่ในทางที่ดีให้ได้ ไม่ใช่หมายความว่า ใครตกอยู่ในสภาพเดิมนั้น เสมอไปหามิได้ เช่น เป็นคนยากจนแล้วก็ทนอยู่ในความยากจน ไม่พยายามขวนขวายหาทรัพย์ หรือตัวเองเป็นคนขี้เกียจคร้านงานการไม่ทำ แม้จะถูกคนอื่นสับโขกอย่างไรก็ทนเอา อย่างนี้ไม่ใช่ขันติ ไม่ใช่ความอดทน ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นลักษณะความ “ตายด้าน” หรือ “หน้าด้าน” เท่านั้น
    ขันติ ๔ สถาน ขันติจำเป็นสำหรับคราวที่เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เราหันเหไปจากทางที่ดี เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีอยู่ ๔ ประเภท เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดไว้ว่า พึงบำเพ็ญขันติในที่ ๔ สถาน คือ
    ๑. อดทนต่อความลำบาก
    ๒. อดทนต่อความทุกขเวทนา
    ๓. อดทนต่อความเจ็บใจ
    ๔. อดทนต่ออำนาจกิเลส
    ๑. ความอดทนต่อความลำบาก หมายความว่า คนทำงานมาก ๆ แล้วได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย หรือ ถูกแดด ลมฝนกระทบ ย่อมได้รับความลำบากนานับประการ คนที่ไม่มีขันติ เมื่อเผชิญกับความลำบากตรากตรำ มักจะทอดทิ้งการงานเสีย เป็นคนมือบาง เท้าบาง ทำอะไรทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แต่ผู้มีขันติย่อมอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ กัดฟันทนทำงานของตนให้สำเร็จ
    ๒. ความอดทนต่อทุกขเวทนา หมายความว่า ทนต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่ขาดขันติ เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วย มักจะแสดงมารยาทอันไม่สมควรออกมา เช่น เจ็บปวดไม่พอจะร้องก็ร้อง ไม่พอจะครางก็คราง มีอาการกระบิดกระบอน เป็นคนเจ้ามายา โทโสโมโหง่าย บางคนอ้างความเจ็บป่วยเป็นเลิศ กระทำความชั่วต่าง ๆ ก็มี แต่ผู้มีขันติย่อมรู้จักอดกลั้นทนทานไม่ปล่อยตัวให้เสีย หรือตกไปในทางชั่วดังกล่าวนั้น
    ๓. ความอดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า เมื่อถูกผู้อื่นกระทำล่วงเกินให้เป็นที่ขัดใจ เช่น ถูกด่าว่า หรือสบประมาท ผู้ขาดขันติ ย่อมเดือดดาลแล้วทำร้ายตอบ ด้วยการกระทำอันร้ายแรงเกินเหตุ เช่นว่า เหน็บแนมด้วยวาจาหยาบคายหรือก่อความวิวาท ตีรันฟันแทง สร้างเวรกรรมไม่สิ้นสุด เป็นทางนำมาซึ่งความหายนะแก่ตัวและครอบครัว แต่ผู้มีขันติ ย่อมรู้จักอดทนสอนใจตัวเอง หาวิธีแก้ไขให้เรียบร้อย เป็นผลดีด้วยความสงบ
    ๔. ความอดทนต่ออำนาจกิเลส หมายความว่า ความอดทนต่อความเจ็บใจในข้อ ๓ นั้น เป็นความอดทนต่ออารมณ์ ข้างฝ่ายเพลิดเพลิน เช่น ความสนุก การเที่ยวเตร่ การได้ผลประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นต้น
    อารมณ์ที่น่ารัก น่าพอใจ ดูก็ไม่น่าจะต้องใช้ความอดทนอะไร เพราะไม่ทำให้เราลำบาก แต่ที่ต้องใช้ความอดทน เพราะทำให้เราเสียหายได้ คนที่ไม่มีขันติ มักจะทำกรรมอันน่าบัดสีต่าง ๆ ได้ เพราะอยากได้สิ่งที่ตนรัก เช่น รับสินบน ผิดลูกเมียเขา เห็นเงินตาโต รู้มาก เห่อเหิม เมาอำนาจ ขี้โอ่โอ้อวด เป็นต้น ก็การอดทนต่ออำนาจกิเลสเหล่านี้ ว่าโดยย่อ ๆ คือ อดทนต่ออำนาจความอยาก นั่นเอง
    คุณ - โทษ
    คุณแห่งความมีขันติ เช่น
    ๑. ทำงานได้ผลดี
    ๒. บำเพ็ญตนเป็นหลักแห่งบริวารชน
    ๓. ไม่มีการทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน
    ๔. ไม่ทำผิด เพราะเห็นแก่ความอยาก
    โทษแห่งความขาดขันติ เช่น
    ๑. ทำงานคั่งค้าง จับจด
    ๒. เสียความไว้วางใจของผู้อื่น
    ๓. เต็มไปด้วยศัตรู
    ๔. จะกลายเป็นอาชญากร
    คำว่า จาคะ แปลว่า ความเสียสละ หมายถึง ความตัดใจ หรือตัดกรรมสิทธิ์ของตน ตัดความยึดถือเสีย ความเสียสละในคำว่า จาคะนี้มี ๒ นัย คือ สละวัตถุและสละอารมณ์
    สละวัตถุ หมายความว่า สละทรัพย์สิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น เช่น สละเงินสมทบทำสะพาน สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ซื้อรถดับเพลิง บำรุงการทหารของชาติ บำรุงศาสนา บำรุงการศึกษา ตลอดจนบริจาคสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ตกทุกข์ได้ยากต่าง ๆ ผู้ครองเรือนย่อมเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสังคม นับตั้งแต่การทำมาหากิน ตลอดการดำรงชีพในแง่ต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ผู้ครองเรือนจึงจำเป็นต้องถือเป็นหน้าที่ ในการบริจาคช่วยเหลือสังคมตามกำลังความสามารถ กล่าวคือ เมื่อสังคมเป็นฝ่ายให้แล้ว เราจะให้อะไรบ้างแก่สังคม คนที่อยู่ในสังคมได้รับประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่อุดหนุนบำรุงสังคม ก็ย่อมเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ในฐานะเป็นคนรู้มากและเป็นกาฝากของสังคม สังคมใดมีคนประเภทกาฝากมาก สังคมนั้นย่อมจะมีความมั่นคงน้อย ฉะนั้นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้มีจาคะทั่วกัน
    สละอารมณ์ หมายความว่า เป็นคนรู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อความสงบใจ เช่น ความโกรธเคืองขัดใจกับคนอื่น จะเป็นกับภรรยาสามี กับเพื่อนฝูง หรือกับเพื่อนบ้านก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนชาวบ้านจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้ แต่การเก็บอารมณ์เหล่านี้ หมักหมมไว้ในใจย่อมนำมาซึ่งความร้าวรานไม่สิ้นสุด และทำให้ตนเองเป็นทุกข์เดือดร้อน เมื่อสั่งสมไว้นาน ๆ หรือมาก ๆ ก็จะเป็นสาเหตุของโรคประสาทได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มีจาคะ คือให้เสียสละ ปล่อยวางอารมณ์ประเภทนี้เสีย การปล่อยวางอารมณ์อย่างนี้ ก็เป็นจาคะอย่างหนึ่ง

    คุณ - โทษ
    คุณของความมีจาคะ เช่น
    ๑. ทำความปลอดภัยแก่ตนเอง
    ๒. ทำความมั่นคงแก่สังคม ประเทศชาติ
    ๓. เป็นที่นับหน้าถือตาของคนอื่น
    ๔. ทำความสงบสุขแก่ครอบครัว สังคม
    ๕. จิตใจเป็นสุข
    โทษของการขาดจาคะ เช่น
    ๑. บั่นทอนความมั่นคงของตน และของประเทศชาติ
    ๒. ได้รับความครหาติเตียน
    ๓. ทุกข์ใจ




    โดย พระเทพสิงห์บุราจารย์
     
  2. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,101
    sa172.jpg
     
  3. evonaga

    evonaga เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    176
    ค่าพลัง:
    +702

แชร์หน้านี้

Loading...