"อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา" บูชาพระรัตนตรัย

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 6 กรกฎาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    [​IMG]


    ประเทศไทยมีวันหยุดหลายวัน ทั้งวันนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมถึงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ที่ปีนี้ ตรงกับวันที่ 7 และ 8 ก.ค.อย่างไรก็ตาม วันเหล่านี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงวันหยุดงานเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

    อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นเดือนที่สี่ ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ครั้งแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ และปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์

    การแสดงธรรมครั้งนั้น ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใส จนบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ระดับโสดาบัน จึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ได้บรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก ทำให้ในวันนั้น มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ เป็นครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จึงทำให้วันนี้ ถูกเรียกว่า วันพระธรรม หรือ วันพระธรรมจักร หมายถึงวันที่ล้อแห่งพระธรรม ของพระพุทธเจ้า ได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และวันพระสงฆ์ คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

    ในปี พ.ศ. 2501 มีการบูชาในเดือน 8 หรือ วันอาสาฬหบูชา ในประเทศไทย เป็นครั้งแรก ตามที่คณะสังฆมนตรีกำหนดให้วันนี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก เมื่อวันที่ 14 ก.ค.พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น อย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติ เทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

    [​IMG]

    สำหรับวันเข้าพรรษานั้น จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากทั่วไปว่า จำพรรษา ซึ่งพิธีเข้าพรรษานี้ ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม

    สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษา อยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่หนึ่ง ตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเผยแพร่ศาสนา ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในช่วงฤดูฝน และป้องกันความเสียหาย จากการเดินที่อาจเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้าน ที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษา ตลอด 3 เดือน เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปี ที่พระสงฆ์จะได้อยู่จำพรรษารวมกัน ภายในอาวาส หรือสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคี ในหมู่คณะสงฆ์

    วันเข้าพรรษาถือเป็นวัน และช่วงเทศกาลที่สำคัญ ในประเทศไทย ต่อเนื่องจากวันอาสาฬหบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญ ในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นโอกาสดี ที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา และยังมีสิ่งพิเศษจากวันสำคัญอื่นๆ คือ มีการถวายหลอดไฟ หรือ เทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน แก่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้ ในการอยู่จำพรรษา อีกทั้งในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน เมื่ออายุครบบวช คือ 20 ปี มักนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เพื่ออยู่จำพรรษา ตลอด 3 เดือน หรือเรียกว่า บวชเอาพรรษา

    [​IMG]

    พระมหาวินัย วินยธโร พระธรรมทูต สายต่างประเทศ กล่าวว่า ในวันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนควรระลึกถึงพระคุณ ของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมอันสำคัญ เช่น อริยสัจ 4 (ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ) ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (การดับทุกข์) มรรค (แนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่การดับทุกข์) นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนควรทำบุญตักบาตร ในตอนเช้า เข้าวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา รับศีล และงดเว้นจากการทำบาปทั้งปวง รวมถึงการร่วมพิธีเวียนเทียน ในตอนเย็น ส่วนในเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนใดที่ผิดศีล หรือต้องการรักษาศีลให้ครบ หากสามารถปฏิบัติได้ ในช่วง 3 เดือนนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดี

    แต่ในเรื่องการบวชเอาพรรษานั้น พระมหาวินัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการบวชในช่วงเข้าพรรษาน้อยลง เนื่องจากวิถีชีวิตของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในวัยทำงาน ที่ไม่สามารถลาบวชได้นานถึง 3 เดือน นอกจากคนที่เพิ่งเรียนจบ และพ่อแม่ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนา ต้องการให้ลูกชายบวชก่อนทำงาน จึงสามารถบวชได้ครบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บวชในระยะสั้นๆ เพียง 7 วัน 15 วัน กลับมีเพิ่มขึ้น แต่ระยะเวลาเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเรียนรู้หลักธรรมได้ดีพอ นอกจากนี้ การบวชในปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากมีการตรวจสอบประวัติ อย่างเข้มงวด ป้องกันผู้ที่ต้องการหลบหนีคดีมาบวช อีกทั้งยังต้องติดต่อพระอุปัชฌาย์ล่วงหน้า 1 เดือน จากนั้นจึงจะกำหนดวันบวช

    วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากจะส่งผลถึงเรื่องการบวชเรียนของชายไทยแล้ว ยังรวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไปด้วย พระมหาวินัย กล่าวว่า แม้คนไทยจะไม่มีเวลามากนัก ในปัจจุบัน เนื่องจากต้องประกอบอาชีพ แต่ก็อยากให้ระลึกไว้เสมอว่าเป็นชาวพุทธ และนับถือพระรัตนตรัย ที่ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    [​IMG]

    "พระพุทธ คือ พระพุทธรูป ถ้าพอจะมีไว้อยู่ในบ้านได้ ก็สมควรจะนำไว้ภายในบ้าน หรือบนหัวนอน ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ต่อมา คือ หลักธรรม เราจะอ้างว่า เราทำงานทุกวัน ไม่มีเวลา ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เราก้ต้องมีเวลาว่างของเราอยู่แล้ว ก็หาหนังสือธรรมะ ซึ่งในปัจจุบันมีหนังสือเยอะ พระไตรปิฎกเยอะ ถามว่าประชาชนคนไทยอ่านพระไตรปิฎกจบกี่คน คิดว่าสัก 2% ใน 100% อาจจะพอมีอยู่บ้าง ที่เขาศึกษาจริงๆ สุดท้าย คือ พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ บางทีคนมองพระสงฆ์ ก็จะมองในหลายๆ แบบ เพราะพระสงฆ์มีภูมิหลังต่างกัน ดังนั้น การมองพระสงฆ์ ให้มองเป็นรูปๆ ไป ถ้าพระรูปนั้น ทำไม่ดี บาปจะตกอยู่ที่ท่าน แต่เราไม่ควรคิดไม่ดี จนกลายเป็นอกุศลแก่ตัวเอง .. อยากให้คนไทยเรา ระลึกนึกถึงไว้ว่า อย่างน้อยๆ นี่ เราเป็นชาวพุทธ เราอย่าปฏิเสธพระเลย ถึงจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร เราก็หนีไม่พ้นวัดแน่นอน เพราะฉะนั้น การที่พระสงฆ์รูปนั้น ท่านทำผิด เป็นความผิดของท่าน ให้คิดว่าเป็นเฉพาะองค์ อย่าไปคิดเหมารวมทั้งหมดว่าพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น"

    [​IMG]

    นอกจากระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้ว พระมหาวินัยยังฝากถึงฆราวาสธรรม หรือ ธรรมของฆราวาส 4 ประการ ที่เหมาะสมต่อการนำมาปรับใช้ ในสังคมปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ โดยปัจจุบันนี้ คนในสังคมเริ่มมีสัจจะลดน้อยลง และไม่มีความจริงใจต่อกัน 2.ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ โดยพุทธศาสนิกชนควรเก็บความรู้สึก หรือการแสดงความไม่พอใจ ไว้ภายในใจ 3.ขันติ แปลว่า อดทน ซึ่งปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยมีความอดทนเท่าที่ควร และมักใช้ความรุนแรง ในการแก้ปัญหา มากกว่าการใช้หลักธรรม 4.จาคะ แปลว่า เสียสละ นั่นคือ การบริจาคทานในบางคราว โดยไม่ควรคิดว่าเรื่องการทำบุญ บริจาคทาน เป็นสิ่งที่ต้องทำในวัยชรา แต่แม้ว่าอยู่ในวัยหนุ่มสาว ก็สามารถทำได้

    พระมหาวินัย กล่าวต่อว่า หลักธรรมอีกประการที่สำคัญ ต่อการดำรงชีวิต คือ มรรค 8 หรือ มรรคมีองค์ 8 นั่นคือทางสายกลาง ประกอบด้วย 1.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา 2.สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม 3.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม 4.สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง 5.สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน 6.สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม 7.สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ 8.สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

    หัวใจสำคัญของพุทธศาสนา คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ และพึงระลึกถึงทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น เนื่องจากการมีหลักธรรมประดับจิตใจ และการใช้ชีวิตอย่างมีสติ คือ หนทางสู่ความเจริญรุ่งเรือง และการมีความสุขในชีวิต อย่างแท้จริง

    [​IMG]



    ข่าวไทยรัฐออนไลน์ - "อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา" บูชาพระรัตนตรัย
     
  2. minidog

    minidog Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2009
    โพสต์:
    266
    ค่าพลัง:
    +91
    น่าเห็นใจบางคนที่เขาอยู่ไกลๆวัดหรือต่างประเทศแต่หาโอกาศมาร่วมกิจกรรมของวันนี้ไม่ได้
     
  3. อวิปลาส

    อวิปลาส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    211
    ค่าพลัง:
    +353



    ขอบคุณครับ...
    อนุโมทนา..ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...