อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลาย

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 11 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ
    คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ…เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
    เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติ หลงลืม
    เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอ
    ผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
    แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิอันบุคคลพึงหวังได้ ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ…เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
    เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืม
    เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ
    ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
    เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น
    สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง
    เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า
    เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆคล่องปาก ขึ้นใจ
    แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ…บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏ
    แก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรม
    ในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน
    เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้น
    ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกลพึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า
    เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้
    เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม
    คือสุตตะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
    แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิอันบุคคลพึงหวังได้ ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ … บทแห่งธรรมทั้งหลาย
    ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดง
    ธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือน
    เทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน
    เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้นฤทุกข์ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว
    ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ
    เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกันย่อมเล่าเรียน
    ธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ
    แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก
    ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ

    [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้พึงรู้ด้วยฐานะ ๔ ฐานะ ๔ เป็นไฉน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย
    มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ความสะอาด
    พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการอยู่จึงจะรู้
    ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย
    และกำลังใจนั้นแล พึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่
    คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนาและปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดย
    กาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญา
    ทรามหารู้ไม่ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน…คนมีปัญญาทราม
    หารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้
    อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มักทำศีลให้ขาด มักทำให้ทะลุมักทำให้ด่าง มักทำให้พร้อย ตลอดกาลนานแล
    ไม่กระทำติดต่อไป ไม่ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นคนทุศีล หาใช่เป็นคนมีศีลไม่
    อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีปรกติไม่ทำศีลให้ขาด
    ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย ตลอดกาลนาน มีปรกติทำติดต่อไป ประพฤติติดต่อในศีล
    ทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล หาใช่เป็นผู้ทุศีล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วย
    การอยู่ร่วมกัน…คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ คนมีปัญญาทราม
    หารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลกนี้สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้
    อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างหนึ่ง พูดกันสองต่อสองเป็นอย่างหนึ่ง พูดกันสามคนเป็น
    อย่างหนึ่ง พูดกันมากคนเป็นอย่างหนึ่งท่านผู้นี้พูดคำหลังผิดแผกไปจากคำก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำ
    ไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้หามีถ้อยคำบริสุทธิ์ไม่ อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่อสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้
    อย่างนี้ว่าท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างไร พูดกันสองคน สามคน มากคน ก็อย่างนั้นท่าน
    ผู้นี้พูดคำหลังไม่ผิดแผกจากคำก่อน มีถ้อยคำบริสุทธิ์ ท่านผู้นี้หามีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ไม่ ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ…คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
    นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย…คนมีปัญญาทราม
    หารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทบความเสื่อมญาติ
    กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่า
    โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้อัตภาพเป็นอย่างนั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว
    ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว โลกธรรม ๘ คือ
    ลาภ ๑
    ความเสื่อมลาภ ๑
    ยศ ๑
    ความเสื่อมยศ ๑
    นินทา ๑
    สรรเสริญ ๑
    สุข ๑
    ทุกข์ ๑ ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ดังนี้
    บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความ
    เสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล ส่วนบุคคล
    บางคนในโลกนี้ กระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อม
    เพราะโรคย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าโลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้อัตภาพเป็นอย่างนั้น ใน
    โลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อม
    ลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ หมุนเวียน ไปตามโลก
    และโลกย่อมหมุนเวียนตามโลกธรรม ๘ ดังนี้ บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อม
    โภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรคย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก
    คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูกรภิกษุทั้งหลายคำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย…
    คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่ ดังนี้นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา…คนมีปัญญาทราม
    หารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคนในโลกนี้ สนทนากับบุคคลย่อมรู้
    อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร อภินิหารของท่านผู้นี้เพียงไร และการถามปัญหาของท่าน
    ผู้นี้เพียงไร ท่านผู้นี้ปัญญาทรามท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้าง
    บทความอันลึกซึ้งอันสงบ ประณีต ที่สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้ อนึ่ง
    ท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด ท่านผู้นี้ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก
    กระทำให้ตื้น ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้ โดยย่อหรือโดยพิสดารท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่านผู้นี้
    ไม่มีปัญญา

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาเล็กๆ ผุดอยู่ เขาพึง
    ทราบได้ว่า กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร
    ปลาตัวนี้เล็ก ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลเมื่อสนทนากับบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน
    ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา
    ดังนี้ ส่วนบุคคลในโลกนี้ สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่าความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร
    อภินิหารของท่านผู้นี้เพียงไร การถามปัญหาของท่านผู้นี้เพียงไร ท่านผู้นี้มีปัญญา ท่านผู้นี้ไม่ใช่
    ทรามปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุอะไรเพราะท่านผู้นี้ย่อมอ้างบทความลึกซึ้ง สงบ ประณีต สามัญชน
    คาดไม่ถึง ละเอียดอันบัณฑิตพึงรู้ได้ และท่านผู้นี้ย่อมกล่าวธรรมใด ท่านผู้นี้เป็นผู้สามารถเพื่อจะบอก
    เพื่อแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้น
    ทั้งโดยย่อหรือพิสดารได้ ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา ท่านผู้นี้หาใช่เป็นผู้มีปัญญาทรามไม่ ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่กำลังผุด เขาพึงรู้อย่างนี้ว่า กิริยา
    ผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นได้เพียงไหน มีความเร็วเพียงไร ปลาตัวนี้ใหญ่ หาใช่
    ปลาตัวเล็กไม่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลสนทนาอยู่กับบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้ง
    ของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญา หาใช่เป็นผู้มีปัญญาทรามไม่ ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลายคำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา…คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้ว
    เพราะอาศัยข้อนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ นี้ ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๗๘/๒๔๐ ข้อที่ ๑๙๑
     

แชร์หน้านี้

Loading...