อานิสงส์แห่งธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 4 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


    โสตานุคตสูตร

    ว่าด้วยอาสงส์แห่งธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท

    [๑๙๑] ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน?

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุท่าน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมเข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกาหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฎแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่เมื่อเธอมีสติย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี่เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชากด อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมเข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฎแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี่คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นเข้า แต่เมื่อเธอมีสติย่อมเป็นผู้บรรลุคูณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจ่า เสียงกลองแน่แท้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมเข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฎแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือ ธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่เมื่อเธอมีสติย่อมเป้นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์ เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์แน่แท้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ เวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมเข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ เพอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฎว่าแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นิรทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่าเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ ท่านผู้นิรทุกข์ๆ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่เมื่อเธอมีสติย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสหายเล่นฝุ่นด้วยกันสองคน เชามาพบกันบางครั้งบางคราวในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหาย คนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุทั้งหลายนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจแทงตลอดด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

    ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสต คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

    โสตานุคตสูตรที่ ๑ จบ


    อรรถกถาโสตานุคตสูตรที่ ๑

    พึงทราบอธิบายในโสตานุคตสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้

    คำว่า ที่เข้าถึงโสต (โสตานุคตานํ) ได้แก่ ธรรมที่บุคคลเงี่ยโสตประสาทฟังแล้วกำหนดด้วยโสตญาณ.
    คำว่า อานิสงส์ ๔ ประการ... อันบุคคลพึงหวังได้ (จตฺตาโร อานิสํสา ปาฏิกงฺจา) ความว่า คุณานิสงส์ ๔ ประการ พึงหวังได้้. ก็พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่อง (อัตถุปปัตติ). ถามว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่องอะไร? ตอบว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่องคือ การที่ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าไปฟังธรรม. ได้ยินว่า พวกพรามหณ์ ๕๐๐ บวชแล้วไม่ไปฟังธรรมด้วยคิดว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสด้วยลิงค์ วจนะ วิภัตติ บทและพยัญชนะ เป็นต้น จักตรัสแต่ข้อที่พวกเรารู้แล้วทั้งนั้น จักตรัสอะไรที่เรายังไม่รู้เล่า." พระศาสดาได้สดับเรื่องนั้นแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ที่บวชเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า "เพราะอะไร พวกเธอจึงทำอย่างนี้ พวกเธอจงฟังธรรมโดยความเคารพ เมื่อฟังธรรมโดยความเคารพและสาธยายธรรมโดยเคารพ อานิสงส์เหล่านี้เท่านี้เป็นหวังได้" เมื่อทรงแสดงจึงปรารภเทศนานี้.

    บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ย่อมเล่าเรียนธรรม (ธมฺมํ ปริยาปุณาติ) ความว่า ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรมคือบาลี ซึ่งเป็นคำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ มีสุตตะ เคยยะ เป็นอาทิ. คำว่า เป็นธรรมเข้าถึงโสต (โสตานุคตา โหนฺติ) ได้แก่ ธรรมเหล่านั้นก็ย่อมตามไปเข้าโสตเนืองๆ. คำว่า ขึ้นใจ (มนสานุเปกฺขิตา) ได้แก่ ตรวจดูด้วยจิต. คำว่า แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ (ทิฏฺฐยา สุปฺปฏิวิทฺธา) ได้แก่ รู้ทะลุปรุโปร่งดี คือทำให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญาทั้งโดยผลทั้งโดยเหตุ. พระพุทธพจน์ว่า มีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ (มฏฺฐสฺสติ กาลํ กุรุมาโน) นี้ ไม่ใช่ตรัสเพราะไม่มีสติระลึกถึง แต่ตรัสหมายถึงการตายของปุถุชน. จริงอยู่ ปุถุชนชื่อว่าหลงลืมสติตาย. คำว่า ย่อมเข้าถึง (อุปปช์ชติ) ได้แก่ ภิกษุตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมเกิดในเทวโลก. ชื่อว่า บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฎ (ธมฺมปทาปิลปนฺติ) ความว่่า ธรรมคือพระพุทธวจนะ ที่คล่องปาก อันมีการสาธยายเป็นมูลมาแต่ก่อนทั้งหมด ย่อมลอยเด่นปรากฎรู้ได้ชัดแก่ภิกษุผู้มีสุข ผู้เกิดในภพอันสงบ เหมือนเงาในกระจกใส. ข้อว่า สติบังเกิดขึ้นช้า (ทนฺโธ ภิกฺขเว สตุปฺปาโท) ความว่า การเระลึกถึงพระพุทธพจน์เกิดขึ้นช้า คือยาก. ข้อว่า แต่เมื่อเธอมีสติย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน (อถ โส สตฺโต ขิปฺปเมว วิเสสคามี โหติ) ความว่า ย่อมเป็นผู้บรรลุนิพพาน.

    ข้อว่า แต่ผู้ฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต (สิทฺธิมา เจโต วสิปฺปตฺโต) ได้แก่ พระขีณาสพผู้ถึงพร้อมด้วยฤทธิ์ถึงความเชี่ยวชาญแห่งจิต. วา ศัพท์ในคำว่า อยํ วา โส ธมฺมวินโย (นี้คือธรรมวินัยนั้น) นี้ มีอรรถว่ากระจ่างแจ้ง. คำว่า ได้ประพฤติพรหมจรรย์ (พฺรหฺมจริยํ อจรึ) ได้แก่ เราได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์. คำนั้น ตรัสด้วยอำนาจการระลึกถึงพระพุทธพจน์ว่า "ชื่อว่า พระพุทธพจน์แม้นี้ เราก็ได้เล่าเรียนมาแล้วแต่ก่อน" คำว่า เทพบุตร (เทวปุตฺโต) ได้แก่ เทพบุตร ผู้เป็นธรรมกถึกกองหนึ่ง ดุจปัญจาลจัณฑเทพบุตร ดุจหัตถกมหาพรหมและดุจสนังกุมารพรหม. ข้อว่า เทพบุตรผู้เกิดก่อนตักเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลัง (โอปปาติโก โอปปาติกํ สาเรติ) ความว่า เทวบุตรผู้เกิดก่อนให้เทวบุตรผู้เกิดภายหลังระลึก. ทรงแสดงความที่สหายเหล่านั้นสนิทสนอมกันมานาน ด้วยคำนี้ว่า เล่นฝุ่นด้วยกัน. คำว่า มาพบกัน (สมาคจฺเฉยยุ ํ) ได้แก่สหายเหล่านั้นพึงไปพร้อมกันที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง. คำว่า พึงกล่าว (เอวํ วเทยฺย) ความว่า สหายผู้นั่งก่อนที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง พึงกล่าวอย่างนี้กะสหายผู้มาภายหลัง. คำที่เหลือทุกแห่งพึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแล.

    อรรถกถาโสตานุคตสูตรที่ ๑ จบ



    พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล
    มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย
    จตุกกนิบาต มหาวรรคที่ ๕
    หน้า ๔๙๐-๔๙๕



     

แชร์หน้านี้

Loading...