อานิสงส์การรักษาศีล

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 12 กันยายน 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    #อานิสงส์การรักษาศีล

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ หนูขอทราบอานิสงส์ของ การรักษาศีล กับ การให้ทาน ค่ะ…?”

    หลวงพ่อ :- “จำที่พระบอกในตอนท้ายได้ไหมล่ะ…

    สีเลนะ สุคติง ยันติ
    การรักษาศีล เป็นปัจจัยให้มีความสุข สุขทั้งชาตินี้ สุขทั้งชาติหน้านะ

    สีเลนะ โภคสัมปทา
    ถ้ามีศีล ชาตินี้ทรัพย์สมบัติก็ไม่ฝืดเคือง ชาติหน้าก็มีทรัพย์สมบัติมาก

    สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
    ศีล เป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานได้โดยง่าย

    นี่อานิสงส์ของศีล ท่านว่าไว้อย่างนี้

    ส่วนการให้ทาน ท่านบอกว่า
    ทานัง สัคคโส ปาณัง ทานเป็นบันไดให้เกิดบนสวรรค์

    การให้ทานมากก็ตามน้อยก็ตาม ผลของทานทำให้เกิดในสวรรค์ ถ้าหากว่าพ้นจากสวรรค์มาแล้ว เป็นคนก็ไม่ยากจนเข็ญใจ แต่ว่าจะรวยเท่าไรนั้นเป็นเขตของทานนะ ท่านเรียกว่า ปุญญักเขตตัง เป็นเนื้อนาบุญ ถ้าเราให้ในเขตที่มีความบริสุทธิ์มาก เราก็รวยมาก ให้ในเขตที่มีความบริสุทธิ์น้อย เราก็มีทรัพย์สินน้อย แต่คำว่า อดตาย ไม่มีสำหรับคนให้ทาน”

    ผู้ถาม :- “แล้ว ศีล กับ ทาน อย่างไหนจะอานิสงส์มากกว่าคะ”

    หลวงพ่อ :- “อ้าว…มันคนละคนนี่หนู ต่างคนต่างแก่ ต่างคนต่างกล้า

    ทานเขาก็ให้ผลไปอย่างหนึ่ง ศีลก็ให้ผลมีกำลังอย่างหนึ่ง แต่ว่าทั้ง ๒ อย่างต้องร่วมกันนะ ถ้าแยกกันเมื่อไรก็พังเมื่อนั้นแหล่ะ เรามีแต่ทานอย่างเดียว แต่บกพร่องในศีลทั้ง ๕ ข้อ หรือข้อใดข้อหนึ่ง เราก็ตกนรก ต้องพ้นจากนรกมาก่อนแล้วจึงจะรวย ถ้าเรามีแต่ศีลอย่างเดียว ไม่มีทาน เกิดชาติหน้า อายุยืน หน้าตาสวย แต่อดตาย เอาซิ เอาอย่างไหนล่ะ เอาไงดี…?”

    ผู้ถาม :- “หมายความว่าต้องทำคู่กันใช่ไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ต้องคู่กันไปหนู หนูไม่มีข้าวกิน มาที่นี่ได้ไหม…?

    ร่างกายดี รูปร่างหน้าตาสวย เพราะศีลข้อที่ ๑

    รักษาศีลข้อที่ ๒ ได้ ทรัพย์สินไม่เสียหายเพราะไฟเพราะน้ำ เพราะโจร

    รักษาศีลข้อที่ ๓ ได้ คนที่อยู่ในปกครองว่าง่ายสอนง่าย พวกที่มีลูกดื้อหลานดื้อ เพราะพลาดศีลข้อที่ ๓

    ถ้าทรงศีลข้อที่ ๔ ได้ เป็นผู้มีวาจาไพเราะ พูดแล้วคนอื่นชอบฟัง

    รักษาศีลข้อที่ ๕ ได้ ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่เป็นโรคบ้า

    แต่ว่าอด ไม่มีข้าวกิน ไหวไหม…? ดี ๕ อย่าง แต่ไม่มีอาหารจะกิน ไม่มีผ้าจะนุ่ง มันต้องคู่กันหนู จะว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากันมันก็ไม่ควร

    ทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาวัตถุ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่เข้าถึงบุญกุศล ก็คือ

    ๑. การให้ทาน
    ๒. การรักษาศีล
    ๓. เจริญภาวนา ภาวนานี่หมายถึงสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา คือใช้ปัญญาคิดอยู่

    ทาน นั้นเป็นปัจจัยตัดโลภะ ความโลภ เป็นก้าวหนึ่งที่จะถึงนิพพาน

    ศีล เป็นเหตุตัดโทสะ ความโกรธ เป็นก้าวที่สองที่จะทำให้ถึงนิพพาน

    ภาวนา เป็นตัวตัดกิเลสตัวสำคัญทั้งใหญ่และเล็ก เป็นปัจจัยให้กิเลสหมดจริง เข้าถึงนิพพานแน่นอน

    แล้วทั้ง ๓ อย่างนี้ จะถืออะไรสำคัญกว่ากันไม่ได้เลย ต้องถือว่าสำคัญเท่ากัน ถ้าเราขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะถึงนิพพานไม่ได้

    เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาหารการบริโภคมีความสำคัญในการครองชีพ ร่างกายเราจะทรงตัวได้เพราะศีล ถ้าเรามีแต่อาหาร แต่ไม่มีร่างกาย ก็ไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหม…เรามีร่างกายดี มีอาหารดี แต่ไร้ปัญญาก็เป็นเหยื่อของคนฉลาด เพราะตัววิปัสสนาญาณและตัวภาวนาเป็นตัวทำให้เกิดปัญญา

    รวมความว่า ๑ เรามีอาหาร ๒ มีร่างกาย ๓ มีปัญญา ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องประกอบกัน หนูจะเลือกเอาอย่างไหนโดยเฉพาะล่ะ? เอาแต่ปัญญาดี ไม่มีร่างกาย ไม่มีอาหาร ดีไหม…? แล้วก็มีร่างกาย ไม่มีอาหาร ไม่มีปัญญา ดีไหม…? เอา ๓ อย่างเลยสบายๆ”

    ผู้ถาม :- “รักษาศีล ๘ ดู ที.วี.ได้หรือเปล่าคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ดู ที.วี.ได้ แต่ห้ามเต้นตาม ที.วี. “เดี๋ยวๆ อีหนู เอ้า อย่ารำคนเดียวซิ ข้าจะช่วยรำ” เสร็จ เต้นไปเต้นมา ที.วี.เลิกเมื่อไรก็ไม่รู้ เต้นเพลิน

    ดู ที.วี.ความจริงก็ไม่เป็นไร ถ้าเราเป็นนักปฎิบัติกรรมฐาน ดูได้ทุกอย่าง ดูอย่างนักกรรมฐานดูนะ ถ้าเป็นละครชีวิต มีสุขบ้างทุกข์บ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็ดูว่าภาวะอันนี้เป็นความจริงของโลก คนที่เกิดมาในโลก ถ้าเราเกิดมามันต้องประสบอาการอย่างนี้ เวลานี้เขาทะเลาะกันให้เราดู เขาแสดงการทะเลาะ เรายังไม่ได้ทะเลาะ สักวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะทะเลาะกับใครก็ได้ อย่างที่เขาเรียกว่า ดูเป็นกรรมฐาน”

    ผู้ถาม :- “ถ้าเราเดินไปเหยียบสัตว์เล็กๆ หรือปัดยุงแล้วไปโดนยุงตาย อย่างนี้ศีลจะขาดไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ถ้าเป็นสัตว์เล็กๆ เดินไปเราไม่เห็น บังเอิญเราไปเหยียบตาย อย่างนี้ศีลไม่ขาด หรือสัตว์เล็กๆ มันมาเกาะกินเลือดของเรา เราไม่คิดจะฆ่ามัน ถ้ามันเกาะนานเกินไป ก็ค่อยๆ เอามือลูบให้มันหนีไป แต่บังเอิญมันหนีไม่ทัน ไปถูกมันตาย อย่างนี้ศีลไม่ขาด เพราะไม่มีเจตนาจะฆ่า”

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ คนที่มีศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์ ถ้าจะเจริญพระกรรมฐาน จะได้ผลไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ถ้ามีศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์ เจริญไปก็ไม่มีผล ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะว่า ยังลงนรกอยู่ เจริญสมาธิเท่าไร มันก็ไม่พ้นนรก เพราะศีล ๕ นี่มันปิดทางนรก ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ตัวที่ขาดนี่ มันจะเข้ามาขวางเวลาที่เราจะตาย เป็นกรรมที่เป็นอกุศล”

    ผู้ถาม :- “ฆราวาสถือศีล ๖ ได้ไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ได้ ศีล ๑ ยังได้เลย ศีลข้อที่ ๖ อะไรล่ะ?”

    ผู้ถาม :- “วิกาลโภชนา ค่ะ แต่ว่าหนูทำงานเลิกเที่ยง แล้วอย่างนี้จะรักษาศีลข้อนี้ได้ไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ถ้าเที่ยงแล้วเรายังไม่เลิกงาน ก็ถือว่าเราจะกินข้าวไม่เกินบ่ายโมง หรือบ่ายสองโมง ตั้งเวลาไว้เลยใช้ได้ ไม่ใช่ ๒ ชั่วโมงกินๆ ก็ต้องคิดเหมือนกัน”

    ผู้ถาม :- “ถ้าหากเป็นพระ ฉันอาหารเลยเที่ยงได้ไหมคะ..?”

    หลวงพ่อ :- “เวลาเดิมของพระจริงๆ ตามวินัยนี่ มันไม่ใช่เลิกฉันเที่ยง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระอาทิตย์ตรงศีรษะเริ่มฉันได้ แต่อย่าให้เงาพระอาทิตย์เลย ๒ นิ้ว ความจริงท่านสั่งฉันเที่ยง แต่เงาเลยไป ๒ นิ้วไม่ได้ ๒ นิ้วไม่ใช่น้อยนะ มาตอนหลังเลื่อนเข้ามาฉัน ๕ โมง เลิกเที่ยง เวลานี้ไปถือตามพระวินัยแบบนั้น ชาวบ้านเขาถือว่าเลยเที่ยงไปแล้วฉันไม่ได้ หาว่าพระกินเลยเวลา”

    ผู้ถาม :- “ที่จริงหนูอยากจะถือเพิ่มอีกหนึ่งข้อ คือข้อ นัจจคีตะวา แต่ว่าหนูยังชอบดู ที.วี.อยู่ค่ะ”

    หลวงพ่อ :- “ดู ที.วี.ก็ดูอย่างพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ดูมหรสพซิ ดูไปก็คิดว่า ไอ้นี่มันทุกข์ ชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ พยายามพิจารณาบ่อยๆ ถ้าจะให้ดี ก็ถือให้ครบ ๘ ไปเลย เพิ่มข้อ มาลาคันธะ ไปด้วย”

    ผู้ถาม :- “รู้สึกว่าหนูจะทำไม่ได้ค่ะ เพราะว่ายังแต่งตัวทาหน้าอยู่ค่ะ”

    หลวงพ่อ :- “ก็ให้ถือว่า การเอาแป้งทาหน้า น้ำหอมใส่ตัวนี่ เราทำเพื่อสังคม ถ้าในสังคมนั้นๆ จำจะต้องแต่งตัวกันอย่างนั้น ก็แต่งไป เราไม่แต่งเพื่อกิเลส เราแต่งเพื่อความเหมาะสมในสังคม เพื่อความไม่เก้อเขิน ถ้าจิตเราตั้งอยู่แบบนี้ ศีลมันไม่ขาด”

    ผู้ถาม :- “แล้วข้อที่ห้ามนอนที่นอนสูงใหญ่ แต่ว่าพื้นที่นอนเป็นหินอ่อน เราเอาผ้าห่มรองตัว อย่างนี้ได้ไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ได้…ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ยัดด้วยนุ่นและสำลี อันนี้เขาป้องกันความลุ่มหลง ความฟุ่มเฟือย ถ้าจิตมันไม่คิดไปในด้านกิเลส ฉันว่าทำได้ ไม่เห็นแปลก

    ศีล ๘ นี่เป็นตัวธรรมะเสีย ๔ ข้อ เป็นตัวศีลเสีย ๔ ข้อ ถ้าผิดข้อ ปาณา, อทินนา, มุสา, สุรา ลงนรกแน่ แต่ตัวธรรมะ คือ อพรัหม, วิกาล, นัจจคีตะวา, มาลาคันธะ, อุจจาสยนะ ถ้าพลาดมันไม่ลงนรกนะ

    ข้ออพรัหมจริยา เวรมณี ถ้าเราละเมิดเฉพาะสามีภรรยาของเรา ไม่ได้ประพฤติล่วงเกินสามีภรรยาผู้อื่น ไม่ได้ขาดกาเม ตัวนี้เป็นธรรมะ

    ข้อวิกาลโภชนา เวรมณี ข้อนี้เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ มันบาปที่ไหนล่ะ

    ข้ออุจจาสยนะ คือไม่นอนในที่นอนสูงที่นอนใหญ่

    ข้อมาลาคันธะ คือไม่ทัดดอกไม้และของหอม อันนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรใคร”

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ขโมยเงินพ่อแม่นี่บาปไหมคะ มีคนเขาบอกว่า ขโมยเงินพ่อแม่นี่ไม่บาป เพราะพ่อแม่ต้องจ่ายอยู่แล้วค่ะ”

    หลวงพ่อ :- “ไอ้บาปนี่แปลว่าชั่ว การขโมยเงินมันก็เป็นบาปทั้งหมด ถ้าเราขโมยท่าน ท่านไม่ชอบใจ ท่านก็ทำเฉย การขโมยของพ่อแม่ ท่านชอบไหมล่ะ การกระทำอย่างนี้ชั่ว ฉะนั้นจึงบาป”

    ผู้ถาม :- “ถ้าหากท่านเห็นเล่าคะ แล้วเราหยิบไปเลย อย่างนี้บาปไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “ก็สาธุก็แล้วกัน ดีแล้วที่ไม่ว่าฉัน ถ้าเราหยิบไป ท่านเห็นแล้วท่านไม่ห้ามปราม ไม่ว่าอะไรก็ไม่เป็นไร ถ้าหากท่านไม่ให้ ท่านห้ามเราก็ไม่หยิบ ก็หมดเรื่องไป การขโมยนี่จิตมันเริ่มชั่ว ตั้งแต่ก่อนที่จะกระทำ คิดจะขโมยน่ะ จิตมันชั่วแล้วนะ”

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ ดิฉันไปซื้อดอกไม้แถวสนามหลวงราคา ๑๕๐ บาท พอกลับมาถึงบ้าน บอกกับสามีว่าต้นไม้ราคา ๕๐ บาท ที่บอกอย่างนั้น เพราะเกรงว่าสามีจะดุเอา ตอนหลังมานึกดูรู้สึกเสียใจค่ะ ไม่น่าโกหกเขาเลย อย่างนี้ศีลจะขาดไหมคะ…?”

    หลวงพ่อ :- “อย่างนี้เป็นการรักษาประโยชน์ไว้ไม่ได้ทำลายประโยชน์ ข้อมุสาวาทจะขาดมันต้องทำลายประโยชน์ของบุคคลอื่น แต่นี่เป็นการพูดเพื่อรักษากำลังใจเขา มันมีประโยชน์ แต่ว่าไปโกหกอย่างอื่น เอาเรื่องนะ อย่างเช่นของเลวบอกว่าของดี ของราคาถูกบอกของราคาแพง อันนี้มันทำลายประโยชน์”

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ การเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรา ศีลขาดไหมครับ..?”

    หลวงพ่อ :- “สุรา เขาห้ามกินนะ แล้วคุณกินหรือเปล่าล่ะ…?”

    ผู้ถาม :- “เปล่าครับ”

    หลวงพ่อ :- “ไม่กินก็ยังไม่ขาด พระพุทธเจ้าบอกว่า มันเป็น มิจฉาวณิชชา แปลว่า ไม่ควรขายของที่มันผิดศีล”

    ผู้ถาม :- “และถ้าหากว่า ค้าขายอาวุธ ศีลจะขาดไหมครับ…?”

    หลวงพ่อ :- “ถามว่าศีลขาดไหม ก็ขอตอบว่า ศีลไม่ขาด ถ้าเป็นอาวุธเราไม่ได้ไปฆ่าเขา คนอื่นเขาเอาไปฆ่า ก็เป็นเรื่องของเขา แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ควร”

    ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ ถ้าหากเอาเหล้ามาผสมเพื่อเป็นกระสายยา ดื่มเข้าไปแล้ว ศีลจะขาดไหมครับ…?”

    หลวงพ่อ :- “อย่างเอามาผสมเป็นกระสายยานี่ ถ้าไม่ปรากฎรสปรากฎกลิ่น นี่ไม่มีโทษ แต่ประเภทกินยาดองใช้ยา ๑ ช้อนกาแฟ ผสมเหล้า ๑ ไห อย่างนี้ไม่ผิดศีล ชนศีลพังไปเลย อย่างนี้ให้อภัยไม่ได้”

    ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าผสมตามสูตรเล่าคะ คือว่า ไม่ใช้ยา ๑ ช้อน เหล้า ๑ ไห นะค่ะ”

    หลวงพ่อ :- “ทำตามสูตรเขาไม่เป็นไร ไม่ผิดโยม พระเขายังไม่ห้ามเลย แต่ว่าต้องไม่ปรากฎรสปรากฎกลิ่นนะ

    การถือศีลถ้าเคร่งเกินไปก็เดือดร้อน พระพุทธเจ้าท่านให้ปฏิบัติในทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา อย่าให้มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือเบียดเบียนตนเกินไป ต้องดูแต่พอเหมาะพอดีพอควร

    ในอุทุมพริกสูตร พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับนิโครธปริพาชก บอกว่า จงอย่าทำลายศีลด้วยตนเอง อย่ายุยงส่งเสริมบุคคลอื่นให้ทำลายศีล และจงอย่ายินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว ท่านแนะนำอย่างนี้นะ”

    ผู้ถาม :- “ผลที่เห็นชัดๆ ว่าเราถือได้ ศีลบริสุทธิ์แน่ๆ เราพอจะรู้ไหมครับ ว่าตอนไหน…?”

    หลวงพ่อ :- “เมื่อเราตั้งใจเว้นแล้ว เราก็เว้นจริงๆ ไม่ทำ อย่าง

    ข้อที่ ๑ ปาณาติบาต สัตว์ที่ควรจะฆ่า ไม่มีจิตคิดจะฆ่า
    ถ้าเรารักษาได้ จะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นคนสวย เพราะศีลข้อนี้เราจะรักษาได้ ต้องอาศัยเมตตาเป็นปัจจัย และศีลข้อนี้นี่แหละจะทำให้เรามีโรคภัยไข้เจ็บน้อย เพราะว่ามันเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ ที่ว่าน้อยเพราะว่าเราเคยเบียดเบียนกันมาบ้าง เมื่อเข้ามาในเขตรักษาศีล บางทีเราเผลอไปบี้มดเข้าบ้าง นั่นเป็นเรื่องของการเผลอ เป็นอาการของความเคยชิน แต่ว่าอารมณ์ส่วนใหญ่เราระมัดระวังอยู่ในศีล นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว การรักษาศีลข้อที่ ๑ ผู้ที่รักษาได้จะทำให้เป็นคนที่มีอายุยืนยาวนาน อาจจะเต็มอายุขัยหรือเลยอายุขัยไปนิดหน่อย

    ข้อที่ ๒ เห็นของที่ควรจะขโมยได้ เราก็ไม่ขโมย
    ถ้าเรารักษาได้ จะมีอานิสงส์เป็นพิเศษกว่าปกติ หรือทรัพย์สินของท่านทั้งหมดที่มีอยู่ จะไม่มีภัย จากไฟไหม้ จากน้ำท่วม จากโจรขโมย แล้วก็หาความยากจนไม่ได้

    ข้อที่ ๓ เห็นโอกาสที่เราจะทำกาเมสุมิจฉาจาราได้ เราก็ไม่ทำ
    ถ้าเรารักษาไว้ได้ คนในปกครองหรือในคณะทั้งหมด จะเป็นคนที่อยู่ในโอวาท คือไม่ว่ายากสอนยาก คนในบังคับบัญชาจะไม่ล่วงละเมิดในแบบแผน หรือกฎระเบียบที่เรามีอยู่

    ข้อที่ ๔ เราจะโกหกได้ เราก็ไม่โกหก
    ถ้าเรารักษาได้ ตามพระบาลีท่านบอกว่าจะเป็นคนปากหอม (แต่อย่าไปดมเข้านะ ถ้าแกลืมแปรงฟันละก็หงายท้องเชียวนะ) คำว่าปากหอม ในที่นี้หมายความว่า พูดแล้วมีคนอยากฟังอยากเชื่อ

    ข้อที่ ๕ มีเหล้ากิน มีสุราดื่ม เราก็ไม่กิน
    ถ้าเรารักษาได้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

    เมื่อเราประสบแล้วเราไม่ทำ คือเว้นได้จริงๆ ตอนนี้บริสุทธิ์แน่ และจะได้รับอานิสงส์ดังที่กล่าวมาแล้ว”

    ผู้ถาม :- “ถ้าอย่างนี้ การสมาทานศีล หรือรับศีลเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่บริสุทธิ์ใช่ไหมครับ…?”

    หลวงพ่อ :- “การสมาทานศีล ไม่ได้หมายถึงศีลบริสุทธิ์นี่คุณ นั่นเป็นคำขอ จะบริสุทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อจิตตั้งใจงดเว้นจริงๆ ตัวตั้งใจงดเว้นตัวนี้แหละเป็นตัวศีล”

    ผู้ถาม :- “แล้วอย่างชาวประมงที่เขามีอาชีพหาปลาโดยตรง จะทำยังไงล่ะครับ…?”

    หลวงพ่อ :- “อาชีพเขาจริง แต่เวลาที่ก่อนจะตาย เขาคิดถึงบุญกุศล อย่างท่าน สุปติฏฐิตะเทพบุตร เห็นไหม ทำชั่วทุกประตูเลย วันดีไม่ละ วันพระไม่เว้น พอจะตายขึ้นมา นึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมา ไปเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วก็พบพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง ฟังเทศน์จบเดียวเป็นพระโสดาบัน”

    ..................................................................................
    หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๓๗-๔๗
    (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
     

แชร์หน้านี้

Loading...