อยากเเบ่งปันค่ะ ตอนที่ 2 วิธีนั่งสมาธิภาวนา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย หนูนะโม, 10 มกราคม 2015.

  1. หนูนะโม

    หนูนะโม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มกราคม 2015
    โพสต์:
    45
    ค่าพลัง:
    +128
    จากการที่ได้ไปบวชชีพราหมณ์ที่วัดแห่งหนึ่งมา และได้มีโอกาสได้รับหนังสือเล่มหนึ่งมา เป็นหนังสือที่ส่วนตัวคิดว่าให้ความกระจ่างและชัดเจนเป็นอย่างมากสำหรับผู้เริ่มเจริญสมาธิและภาวนา จึงมีความคิดที่จะนำมาเผยแพร่แก่สมาชิกทุกท่านที่สนใจในแนวทางนี้ค่ะ


    ======================================================



    ชื่อหนังสือ สมาธิภาวนา กับ หลวงตามหาบัว

    จึงขอคัดลอกมา ซึ่งมีเนื้อความ ดังนี้ค่ะ......



    คำนำ

    หนังสือ "สมาธิภาวนากับหลวงตามหาบัว" นี้สำเร็จขึ้นมาด้วยความวิริยะอุตสาหะของเพื่อนสหธรรมิกหลายสิบท่าน ที่มาร่วมกันคัดเลือกธรรมโอวาทของหลวงตาเมื่อครั้งจัดทำหนังสือที่ระลึกงาน พระราชทานเพลิงสรีระสังขารของท่านจากธรรมโอวาทนับเป็นพันหน้า ถูกกลั่นกรองเพื่อเลือกเฟ้นเฉพาะที่ตอบโจทย์เรื่อง "วิธีการภาวนาและข้อพึงระวัง" เกิดผลพลอยได้เป็นหนังสือเล่มเล็กๆให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและนำมาปฎิบัติให้เป็นของจริง
    คณะผู้จัดทำขอขมาต่อองค์หลวงตาในความผิดพลาดบกพร่องที่อาจเกิดขึ้น และขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมดังกล่าว หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากหนังสือนี้และนำไปสู่สิ่งที่ดีงามของชีวิตในที่สุด​


    คณะผู้จัดทำ
    ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖​


    ==============================================​


    วิธีนั่งสมาธิภาวนา ท่าน (พระอาจารย์มั่น) สอนไว้ว่า


    • พึงนั่งขัดสมาธิ คือนั่งขัดสมาธิ์ตามแบบพระพุทธรูปองค์แทนศาสดา เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือทั้งสองไว้บนตักหรือบนสมาธิ์ ตั้งกายให้ตรงธรรมดาอย่าก้มนักเงยนัก อย่าให้เอียงซ้ายเอียงขวาจนผิดธรรมดา ไม่กดหรือเกร็งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอันเป็นการบังคับกายให้ลำบาก ปล่อยวางอวัยวะทุกส่วนไว้ตามปกติธรรมดา


    • การเริ่มต้นทางจิตภาวนา พึงตั้งความรู้สึกคือจิตลงเฉพาะหน้าที่เรียกว่าปัจจุบันธรรม อันเป็นทางความรู้เคลื่อนไหวของจิตของธรรมารมณ์ต่างๆ ดีชั่วได้ดีในเวลานั้นมากกว่าเวลาอื่นๆ คือตั้งจิตลงเฉพาะหน้า มีสติคือความระลึกรู้อยู่กับใจอันเป็นการเตือนตนให้รู้ว่าจะเริ่มทำงานในขณะนั้น กรุณาระวังไม่ให้จิตส่งออกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต ทั้งดีและชั่วที่นอกจากงานบริกรรมภาวนาซึ่งกำลังทำอยู่ในเวลานั้น


    • พอเริ่มต้นทางจิตภาวนาแล้ว ไม่ควรเป็นกังวลกับทางกาย ตั้งหน้าทำงานทางจิตต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งการออกจากที่สมาธิภาวนา... กรุณาทำความสนใจกับหน้าที่นั้นอย่างเดียว ไม่พึงกลับมาทำความกังวลรักษาท่าสมาธิที่กำหนดไว้เดิม โดยการเกร่งท่านั่งนั้นจะเคลื่อนจากอาการเดิม เป็นการก้มเกินไปหรือเงยเกินไป เอียงซ้ายเกินไป เอียงขวาเกินไป ซึ่งเป็นการกังวลกับอาการทางกายมากกว่าทางจิต สมาธิภาวนาจะดำเนินไปไม่สะดวก


    • วิธีตั้งสติเฉพาะหน้า จิตเป็นผู้รู้โดยธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีความแยบคายใคร่ครวญในตัวเอง เป็นเพียง รู้คิด รู้นึก รู้เย็น รู้ร้อน จากสิ่งสัมผัสต่างๆเท่านั้น ไม่มีความแยบคายใคร่ครวญในตัวเอง ไม่รู้การพินิจพิจารณาและตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดลงไปได้ คือ ไม่รู้จักผิดถูกชั่วดีโดยลำพังตนเอง จึงต้องอาศัยสติและปัญญาตัวรู้ตัววินิจฉัยใคร่ครวญกำกับรักษา เพราะสติปัญญามีอำนาจเหนือจิต สามารถรู้เท่าทันจิตที่คิดไปในอารมณ์ต่างๆได้ดีฉะนั้น พึงเอาสติคือความระลึกรู้ชนิดหนึ่งที่มีอำนาจเหนือจิตนั้นมาไว้เฉพาะหน้า ทำหน้าที่กำหนดรู้และรักษาจิตไม่ให้ส่งไปที่อื่นจากอารมณ์ที่ภาวนา การมีสติรักษาจิตอยู่ทุกระยะนั้น สติสัมปชัญญะจะพึงเป็นสมบัติที่ควรได้รับในวาระนั้นหรือวาระต่อไปแน่นอน


    • การภาวนาด้วยบริกรรมกับธรรมบทใดบทหนึ่ง นั้นพึงให้เป็นไปตามจริต ไม่ควรฝืน ธรรมบทใดเป็นที่สบายใจในเวลานั้น พึงนำธรรมบทนั้นมาบริกรรมภาวนาสืบต่อไปดังที่เคยอธิบายมาแล้ว


    • วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา การนึกคำบริกรรมภาวนานั้น จะนึกกับธรรมบทใดบทหนึ่งตามนิสัยชอบดังกล่าวแล้วก็ได้ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ ๓ จบแล้ว กำหนดเอาเพียงบทเดียวติดต่อกันไปด้วยความมีสติ แต่จะกำหนดธรรมบทใดก็ตามนอกจากสามบทนี้ ก่อนจะเจริญธรรมบทนั้นๆ ทุกครั้ง


    • ควรเจริญรำลึกธรรมสามบท คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ ครั้ง อันเป็นองค์พระรัตนตรัยก่อน จากนั้นค่อยบริกรรมบทที่ตนต้องการต่อไป เช่น อานาปานสติฯ หรือ อัฐิฯ ตะโจฯ เป็นต้น


    • ท่านให้มีคำภาวนาเป็นบทๆ กำกับในใจเวลานั้นเวลาอื่น ก็เพื่อเป็นอารมณ์เครื่องยึดของใจในเวลาต้องการความสงบ เพราะใจเป็นของละเอียดตามธรรมชาติ ทั้งยังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ เนื่องจากจิตยังไม่เป็นตัวของตัวเองโดยสมบูรณ์ดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านจำเป็นต้องมีบทเป็นคำบริกรรมเพื่อผูกใจหรือเพื่อเป็นอารมณ์ของใจเวลานั้น


    • อย่าคาดหมายผลที่จะพึงเกิดขึ้นในเวลานั้น การบริกรรมภาวนาในธรรมบทใดก็ตาม กรุณาอย่าคาดหมายผลที่จะพึงเกิดขึ้นในเวลานั้น เช่น ความสงบจะเกิดขึ้นในลักษณะนั้น นิมิตต่างๆ จะเกิดขึ้นในเวลานั้น หรืออาจจะเห็นนรกสวรรค์ขุมใดหรือชั้นใดในเวลานั้นเป็นต้น นั้นเป็นการคาดคะเนหรือด้นเดาซึ่งเป็นการก่อความไม่สงบแก่ใจเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรจากการวาดภาพนั้นเลย และอาจจะทำให้ใจท้อถอยหรือหวาดกลัวไปต่างๆ ซึ่งผิดจากความมุ่งหมายของการภาวานาโดยถูกทางที่สอนไว้


    • ตั้งจิตกับสติไว้เฉพาะหน้า มีคำบริกรรมเป็นอารมณ์ของใจ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยมีใจกับสติสืบต่ออยู่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ ๆ สืบเนื่องกันไปด้วยความมีสติและพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ อย่าให้จิตเผลอตัวไปสู่อารมณ์อื่น ระหว่างสติกับคำบริกรรมมีความสืบต่อกลมกลืนกันได้เพียงไร ยิ่งเป็นความมุ่งหมายของการภาวนาเพียงนั้น ผลคือความสงบเย็นหรืออื่นๆ ที่แปลกประหลาดไม่เคยพบเคยเห็น อันจะพึงเกิดขึ้นให้ชมตามนิสัยวาสนาในเวลานั้นจะเกิดขึ้นเองเพราะอำนาจของการรักษาจิตกับคำบริกรรมไวได้ด้วยสตินั้นแล จะมีอะไรมาบันดาลให้เป็นขึ้นไม่ได้



    ========================================================​


    ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต​


    กรรรมฐานบางประเภทอันเป็นอารมณ์ของจิต ย่อมมีฐานเป็นตัวอยู่แล้ว เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน มีฐานเป็นของตัวอยู่โดยเฉพาะ ส่วนหนังบางส่วนที่ถูกกำหนดเป็นฐาน ย่อมทราบว่าอยู่ในที่เช่นไร สิ่งที่ถูกกำหนดนั้นๆ พึงทราบไว้ว่ามีอยู่ อารมณ์แห่งกรรมฐานในที่เช่นนั้นๆ สูงหรือต่ำประการใด สิ่งนั้นๆ มีฐานของตนเป็นที่อยู่ตายตัว ฟัน หนัง ผม ขน เอ็น กระดูก มีอยู่ในที่ทั่วไปตามแต่จะกำหนดเอาอาการใดเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐาน และอาการนั้นๆ ตั้งอยู่ในที่เช่นไร เวลากำหนดสิ่งนั้นๆ เป็นอารมณ์ตามฐานของตน ที่ตั้งอยู่สูงหรือต่ำประการใด กรุณาทราบไว้ตามฐานของสิ่งนั้นๆ


    เวลากำหนดอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมาเป็นอารมณ์ในขณะภาวนา พึงกำหนดเฉพาะอาการนั้นเป็นสำคัญกว่าความสูงหรือต่ำที่กำหนดไว้เดิม เช่นเดียวกับท่านั่งสมาธิที่เอนเอียงไปบ้างไม่สำคัญ ความสูงหรือต่ำที่เรากำหนดไว้เดิมอย่างไร ก็ปล่อยตามสภาพเดิม อย่ายกกรรมฐานที่เราเคยกำหนดแล้วว่า อยู่ในที่เช่นนั้นมาตั้งใหม่เรื่อยๆ โดยเข้าใจว่าเคลื่อนที่จากเดิม ถ้ายกมาตั้งใหม่ตามความสำคัญของใจ จะทำให้เป็นกังวลไปกับฐานนั้นๆ ไม่เป็นอันกำหนดภาวนากับกรรมฐานบทนั้นได้อย่างถนัดชัดเจน เช่นการกำหนดกระดูกศรีษะและเพ่งสิ่งนั้นเป็นอารมณ์จนปรากฎเห็นเป็นภาพชัดเหมือนกับดูด้วยตาเนื้อ... ที่ถูกควรกำหนดอาการนั้นๆ ให้อยู่ในความรู้สึกหรือความเห็นภาพเเห่งอาการนั้นๆ ด้วยความรู้สติไปตลอดสายแม้ภาพของอาการนั้นๆ จะแสดงอาการใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงหรือแสดงอาการแตกสลายไป ก็ควรกำหนดรู้ไปตามอาการของมันโดยไม่คำนึงถึงความสูงต่ำที่เคยกำหนดไว้เดิม การทำอย่างนี้จะทำให้จิตใจแนบสนิทและเกิดความสลดสังเวชไปกับอาการที่กำหนดซึ่งแสดงอาการแปรสภาพให้เห็นอย่างเต็มใจ




    ครั้งหน้าจะมาต่อ เรื่อง อานาปานสติ และ ภวังคจิต
    อนุโมทนาบุญกับผู้ที่นำไปปฎิบัติด้วยนะคะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มกราคม 2015

แชร์หน้านี้

Loading...