หลวงพ่อสอนอานาปานุสสติกรรมฐานแบบง่ายๆ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 16 สิงหาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    [​IMG]
    สูตร สำหรับมหาสติปฏิฐานสูตรเป็นแบบสุกขวิปัสสโกโดยเฉพาะท่านให้กำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้ายาวหรือสั้น เวลาหายใจออกยาว หรือสั้นให้รู้อยู่
    นี่ท่านให้ใช้กำหนดจิตเฉพาะเท่านี้เอง คือไม่มีการปรับพื้นฐานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่า สุกขวิปัสสโกในอันดับต้นใช้ อารมณ์สมาธิเล็กน้อย แล้วก็พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป ไม่จำเป็นต้องตั้งอารมณ์ให้เป็นฌานก่อน ทั้งนี้เพราะว่าเป็น การปฏิบัติแบบง่ายๆ ไม่ต้องการประเภท วิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ ต้องการอย่างเดียว คุมอารมณ์ได้เล็กน้อย ก็ควบคุมไปกับวิปัสสนาญาณ แต่เมื่ออาศัยที่พิจารณาวิปัสสนาญาณ กับควบคุมกำลังใจเล็กน้อย เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌาน ก็มีอำนาจตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน เป็นแบบง่ายๆ จึงเรียกว่า สุกขวิปัสสโกสำหรับใน กรรมฐาน ๔๐ ท่านวางไว้อีก แบบหนึ่ง คือ เฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐาน ท่านให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเหมือนกัน ทีนี้ในกรรมฐาน ๔๐ ท่านสอนให้ ๔ แบบคือ แบบ สุกขวิปัสสโก เตวิชโช (วิชชาสาม) ฉฬภิญโญ(อภิญญา ๖) ปฏิสัมภิทัปปัตโตคือ ปฏิสัมภิทาญาณ

    ฉะนั้นการวางอารมณ์พื้นฐานของจิตใจในตอนต้น จึงวางพื้นฐานอารมณ์ไว้สูงมาก เป็น แบบสายกลางๆ ไม่ใช่ตั้ง ๗ ฐาน ๘ ฐาน นั่นตั้งกันแบบใหม่ สำหรับพระพุทธเจ้าท่าน ตั้งไว้ ๓ ฐาน คือเวลาหายใจเข้าและหายใจออก เวลาหายใจเข้า ให้กำหนดรู้ไว้ที่จมูก ลมจะกระทบที่จมูก ลมจะกระทบไหลเรื่อยไปกระทบ ที่หน้าอกแล้วกระทบศูนย์เหนือสะดือเล็กน้อย เวลาหายใจออกลมกระทบศูนย์เหนือ สะดือ กระทบหน้าอก และกระทบริมฝีปาก หรือจมูก ถ้าคนริมฝีปากยื่นจะกระทบริมฝี ปาก ถ้าริมฝีปากงุ้มรับความรู้สึกที่จมูก นี่จำไว้ให้ดี

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้อานาปานุสสติกรรมฐานกองเดียว กรรมฐานอีก ๔๐ กองง่าย มาก กรรมฐานที่ยากจริงๆ ก็คือ อานาปานุสสติกรรมฐาน แล้วก็เป็นกรรมฐานที่มีความจำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ได้ หากว่าท่านไม่ได้ อานาปานุสสติกรรมฐานเสียกองเดียวกรรมฐาน กองอื่นไม่มีความหมาย ท่านจะบอกว่าท่านไม่ได้อานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ได้กรรมฐานกองอื่นๆ ด้วย ได้ กรรมฐานกองอื่นๆ อีก ๓๙ กอง อันนี้ไม่มีใครเขาเชื่อ เพราะมันเชื่อไม่ได้ เราจะเล่นกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน หรือว่าอะไรก็ตาม ถ้าไม่ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานควบคู่แล้วไม่มีทางจะได้ผล เพราะฉะนั้นอานาปานุสสติกรรมฐานจึงเป็นพื้นฐานใหญ่ที่สุด เป็นตัวนำของกรรมฐานทั้งหมด
    นี่เราก็พูดกันมาถึงอนุสสติ ๑๐ ถ้าเรารวบรวม มันจบแค่อานาปานุสสติ ฉะนั้นอานาปานุสสติมันก็ต้องพูดกันมาก หน่อยเพราะ ว่าเป็นกรรมฐานใหญ่ ถ้าได้เสียกองเดียวกอง อื่นก็หมด อานาปานุสสตินี่ทรงกำลังถึงฌาน ๔ เช่นเดียวกับกสิณ อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานกองใหญ่ทรงกำลังถึงฌาน ๔ และเป็นกรรมฐานละเอียดจับได้ยาก เมื่อจับอานาปานุสสติกรรมฐาน ได้กรรมฐานกองอื่น จะรู้สึกเป็นของง่าย

    ทีนี้เราทรงอานาปานุสสติให้คงที่ให้เข้าถึงระดับฌาน ต้องมีพื้นฐานที่มีความสำคัญ ตามลำดับ จะยกเรื่องที่ พระพุทธเจ้าท่านทรงยกขึ้นไว้ในอุทุมพริกสูตร ในอันดับแรกท่านทั้งหลายจะต้องควบคุมกำลังใจให้เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเรา ประพฤติใจของเราให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ สมาธิหรือว่ามีอารมณ์จิตบริสุทธิ์ เราไม่ยุ่งกับอารมณ์ของบุคคลอื่น จริยาของบุคคลอื่น เขาจะดีหรือเขาจะชั่วแค่ไหนเป็นเรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา เขาดีก็ดีของเขา เขาเลวก็เลวของเขา เราไม่ได้พลอยดี เราไม่ได้พลอยเลวไปด้วย คือเวลานี้เราเข้ามาในเขตของพระพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราดี ปฏิบัติความดี คือการที่เราจะปฏิบัติความดีมันจะทำกันอย่างไร

    พระพุทธเจ้าท่านทรงกล่าวเป็นพระบาลีว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเองอยู่เสมอ อย่าไปเที่ยวนั่งเตือน ชาวบ้านเขา เตือนตัวเองแหละเป็นสำคัญ ให้ตัวรู้ตัวไว้ว่า เวลานี้เราทำอะไร เวลานี้เราต้องการอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้เราเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน หรือแม้กรรมฐานกองอื่นๆ ก็เหมือนกัน จะต้องเตือนตนเองไว้เสมอให้เรารู้ตัวเองว่า เวลานี้เรารู้ลมหายใจเข้าลมหายใจ ออก เราต้องการรู้ลมกระทบฐานไหนบ้าง ลมเข้าออกกระทบฐานไหนบ้าง นี่เราเตือนตน และบังคับจิตไว้เสมอ

    ทีนี้ผลที่จะพึงได้รับพระพุทธเจ้าท่านทรงกล่าวไว้ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน โก หิ นาโถ ปโรสิยา บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งเราได้ อัตตนา หิ สุทันเตนะ เมื่อเราฝึกฝนตนของเราดีแล้ว นาถัง ลภติ ทุลภัง เราจะได้ที่ พึ่งอันบุคคลอื่นพึ่งได้โดยยาก คือ เป็นอันว่าผลของการเจริญสมาธิภาวนาวิปัสสนาญาณ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าเราเท่านั้นที่ทำตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายความว่า ในเมื่อเรารับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วต้องปฏิบัติตามด้วยตนเอง ไม่ใช่จะไปนั่งอ้อนวอนให้ครูบาอาจารย์ช่วยบ้าง ขอบารมีคนนี้ช่วย ขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วย ขอบารมีพระปัจเจกพุทธเจ้าช่วย ขอบารมีพระอรหันต์ช่วย ขอบารมีเทวดาพรหมช่วย เป็นต้น
    เรานึกน้อมถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านอื่นๆ ที่กล่าวมา นั้นเป็นของดี แต่ทว่าอย่านึกว่า จะมาให้พระพุทธเจ้าทำจิตเราให้เป็นสมาธิอันนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้แล้วว่า อักขาตโร ตถาคตา ตถาคต เป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น ความดีหรือความชั่วเป็นเรื่องของพวกท่านเองจะพึง ปฏิบัติ อันนี้จำไว้ให้ดี จำไว้แล้วจงอย่าลืม ลืมเมื่อไหร่บรรลัยเมื่อนั้น

    คำว่า บรรลัย นี้เขาแก้ศัพท์ให้มันหย่อนลงมา ตามหลักพระพุทธศาสนาท่านบอกว่าลืมเมื่อไรฉิบหายเมื่อนั้น เป็นผู้ฉิบหายเสียแล้วจากความดี ศัพท์นี้รู้สึกว่าจะเป็นปกติในทางพระพุทธศาสนา บุคคลใดถ้าจะสลายซึ่งผลซึ่งตนจะพึงได้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้ฉิบหายเสียแล้ว อย่างท่านอาฬารดาบส และ อุทกดาบส ซึ่งเป็นพระอาจารย์ สอนให้ พระพุทธเจ้าได้สมาบัติ ๔ และสมาบัติ ๘ เมื่อพระองค์ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ องค์สมเด็จพระจอมไตร ทรงได้ระลึกถึงพระอาจารย์ทั้งสองว่าทั้งสองฟังธรรมของเราเพียงครั้งเดียวจะได้บรรลุอรหัตผล แต่ว่าทั้งสองท่านเวลานี้ ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นอรูปพรหม ไม่มีโอกาสที่จะรับสัมผัสในการแสดงพระธรรมเทศนา เพราะไม่มีอายตนะ ไม่มีหู ไม่มีตา ไม่มีกายทั้งหมด จึงกล่าวว่าเป็นที่น่าเสียดายที่อาจารย์ทั้งสองเป็นผู้ฉิบหายเสียแล้วจากความดี

    นี่คำว่า ฉิบหาย นี้เป็นของธรรมดา เป็นพวกสลายตัวหมดเท่าที่จะได้รับ ถ้าพวกเราบอกว่าฉิบหายนี่เราโกรธ จะไป โกรธเขาทำไม ถ้าเราดีเราก็ไม่ฉิบหาย ไม่บรรลัย ไม่สลายตัว อันนี้เป็นเครื่องเตือนให้ท่านทั้งหลาย ว่าจงอย่าลืมถ้อยคำตามที่กล่าวมาแล้ว จำไว้ว่าเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่ช่วยตัวของเราเองได้

    ในอันดับแรกจงจำไว้ว่าเราจะไม่ยุ่งกับอารมณ์ของบุคคลใด เราจะไม่ยุ่งกับจริยาของบุคคลใด เราจะสนใจอย่างเดียว ระงับอารมณ์ของเราให้ทรงอยู่ในด้านของกุศลเป็นอันดับแรก เราตั้งใจไว้ว่า เรากำหนดจิตแต่เฉพาะอารมณ์ใด เราจะทรงอารมณ์นั้นไว้โดยเฉพาะ นี่เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าหากว่าท่านทำใจได้ดีอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ท่านเข้าถึงสะเก็ดของพระพุทธศาสนา

    เห็นไหม เมื่ออารมณ์ที่ไม่ยุ่งกับความดี และความชั่วของชาวบ้านนั้นเข้าถึงสะเก็ดของพระพุทธศาสนา ถ้าอารมณ์ใจของเรายังยุ่งอยู่ เราก็ไม่ถึงสะเก็ด วัดใจของท่านเองไว้ด้วยนะ นี่เวลานี้เราตั้งใจจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราก็ตั้งใจ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราก็ตั้งเฉพาะลมหายใจเข้าออกเพื่อเป็นการกันความฟุ้งซ่านของจิต แต่อึกอักจะมาตั้งอารมณ์ ให้ทรงตัว แบบนี้มันไม่ง่ายนัก พระกรรมฐานไม่ใช่ของง่าย แต่ก็ไม่ใช่ของยาก เมื่อควบคุมอารมณ์ไว้ได้ดีไม่ยุ่งในจริยา ของคนอื่นแล้วก็จงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ นี่เป็นอันดับสอง เพราะว่าเมื่อพยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้ชาวบ้านชาวเมืองอื่นเขาทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

    แล้วต่อไปก็ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ นิวรณ์ ๕ ประการนี่เราต้องเป็นผู้ชนะ ไม่ใช่ ผู้แพ้ ถ้าท่านแพ้นิวรณ์ ๕ ท่านก็เขียน ไว้เลือก เอานรกขุมไหน ถ้าเป็นพระเป็นเจ้าด้วยยิ่งสบาย ดีนัก ลงอเวจีมหานรกจะนึกว่าทำไมเข้มข้นนัก ที่อื่นทำไมไม่พูดกัน ก็ที่อื่นเขาไม่ได้สนใจนี่ อยากจะลงขุมไหนก็ตามใจตนเอง แต่ว่าสำนักนี้ไม่ต้องการให้ใครลงนรก แต่ว่าอยากจะลงก็ห้ามไม่ได้เหมือนกัน ได้แต่แนะนำ

    ทีนี้การที่เราจะทรงสมาธิได้ดี ไม่ยุ่งกับ อารมณ์ของบุคคลอื่น มีศีลบริสุทธิ์แล้วยังเอาดีไม่ได้ เคยบอกแล้วว่ามีศีล บริสุทธิ์มันยังไม่ดี พระพุทธเจ้ายังไม่ได้บอกไว้ ยังไม่ถือเป็นสมมุติสงฆ์แท้ จะต้องมีอารมณ์ชนะนิวรณ์ ๕ ขณะที่เราทรงสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก จิตจะไม่พะวงถึง

    ๑. กามฉันทะ คือ รูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวล อารมณ์ ใคร่ครวญในกามารมณ์ ไอ้อาการ อย่างนี้ต้องไม่มีในขณะที่เราทรงสมาธิ หรือกำหนดรู้ลมหาย ใจเข้าออก
    ๒. เราจะไม่มีอารมณ์ความโกรธหรือ ความพยาบาทคิดอยู่ในใจขณะนั้น
    ๓. ขณะที่เรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราจะตัดความง่วงไม่ให้เป็นเจ้าหัวใจของเรา
    ๔. เราจะคุมอารมณ์ใจของเราโดยเฉพาะในเวลาที่เราตั้งไว้
    ๕.เราจะไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเชื่อว่าผลการปฏิบัตินี่มีผลดีจริง ๆ

    นิวรณ์ ๕ ประการนี้ทุกขณะที่ท่านต้องการทรงสมาธิ ทุกท่านจะต้องป้องกันไม่ให้มันเข้ามายุ่งกับจิตเป็นอันขาด แต่ถ้าหากมัวแต่คิดว่า ถ้าหากจะชนะแต่เวลาที่จะเจริญพระกรรมฐานมันยังเบาเกินไป วันหนึ่งเรามานั่งเจริญกรรมฐานกี่นาที เราปล่อยอารมณ์ให้มันเลื่อนลอยกี่นาที ดูปริมาณของเวลามันพอกันหรือไม่ ถ้าเวลาปริมาณมันพอกัน ก็ยังเรียกว่าเป็นคนกึ่งนรกกึ่งสวรรค์

    ความจริงนิวรณ์ ๕ ประการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระไม่ควรจะให้มันเข้ามายุ่งในจิต แม้แต่วินาทีหนึ่งของ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าหากว่านิวรณ์ไม่เข้ามายุ่งกับจิตของท่านเมื่อไร เวลานั้นจิตของท่านทรงตัวเป็นฌานทันที ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเข้ามายุ่งกับใจ เวลานั้นคำว่าสมาธิจิตไม่มีแก่จิตของท่าน เข้าใจไว้ด้วย

    เมื่อระงับนิวรณ์จิตใจของเราชนะนิวรณ์ได้โดยเด็ดขาดแล้ว ก็ต้องทรงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา ความรัก แผ่ความรัก ความปรานี ปรารถนาความเป็นมิตรไปในทั่วจักรวาลทั้งปวง ถือว่าเราเป็นคนไม่มีศัตรู สัตว์และบุคคลทั้งหมดย่อมเป็นที่ รักของเรา กรุณา มีจิตสงสาร ใคร่สงเคราะห์ให้เขามีความสุขทั้งคนและสัตว์ มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ยินดีเมื่อบุคคล อื่นได้ดี ไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา สิ่งใดที่มันเกินวิสัยซึ่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจความตายจะเข้ามา ถึง จิตใจเราไม่ดิ้นรน ปล่อยเป็นเรื่องธรรมดา วางเฉย

    หากว่าท่านทรงศีลบริสุทธิ์ ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ ทรงพรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะ ตลอดวันตลอดคืน อย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ท่านมีความดีเข้าถึงเปลือกของพระพุทธศาสนา นี่ต้องจำให้ดีนะ อานาปานุสสตินี่เราต้องคุย กันมาก เพราะเป็นกรรมฐานกองใหญ่ ก็จะต้องพูดถึงฌาน ๔ และฌาน ๘ ว่ากันตามลำดับ
    นักศึกษาใหม่ฟังแล้วก็ตั้งใจทำให้ดีนะ เพราะการสอนพระกรรมฐานตอนกลางคืนนี่ ไม่ซ้ำกัน จนกว่าจะจบ กรรมฐาน ๔๐ และ วิปัสสนาญาณ ใครจะมาก่อนมาหลังไม่รับทราบ เพราะถ้าขืนไปดูแล้วเวลานี้เราต้องอธิบายให้เข้าใจเพื่อ ผลในการปฏิบัติเท่านั้น ก็จะสอนไปตามประเภทไม่ถอยหลัง
    ทีนี้อันดับแรกนี้ก่อนที่จะจบก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังว่า เวลานี้เราจะรู้ลมหายใจเข้าออก จนกว่าจะสิ้นเวลา ก็จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา เอากันเท่านี้ก่อนนะ วันพรุ่งนี้ต่อไปใหม่ ต่อไปนี้ขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา ๚ะ

    ที่มา http://thaisquare.com/Dhamma/book/various/content.html#<!-- #EndEditable -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...