หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน ไปนมัสการหลวงพ่อโหน่ง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 4 กุมภาพันธ์ 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน ไปนมัสการหลวงพ่อโหน่ง
    [​IMG]
    ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 ในตอนก่อน มาเล่าทิ้งไว้ถึงเรื่องภายในวัด ทีนี้เรื่องภายในวัด ความจริงก็มีมาก การปฏิบัติตนในวัดเป็นแบบธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ใช่ ใช้เวลาไปนั่งสมาธิให้ใครเห็น

    การทำสมาธิ ก็เป็นเวลา แต่การใช้อารมณ์วิปัสสนา ใช้เป็นปกติ แต่คำว่า ปกติ จะถือว่า เป็นผู้ชนะกิเลสไม่ได้ คือ บางครั้งจิตมันก็เห็นความสวยเป็นของดี บางครั้งจิตมันก็เห็นความโกรธเป็นของดี นี่ใช้ไม่ได้

    ก็เป็นอันว่า การปฏิบัติในวัด ถือว่าเป็นสภาพปกติธรรมดา ๆ ไม่ผิดแผก กลับมาในวัดก็ห่มผ้าสีเหลืองตามเดิม ไม่ห่มผ้าสีกรัก เพราะผ้าสีกรักจริง ๆ เขานิยมกันเฉพาะออกธุดงค์ เพราะเวลาไปธุดงค์ ห่มผ้าสีเหลืองตก มันก็เป็นสีขาว และต่อมามันก็จะเป็นสีฝุ่น เพราะฝุ่นจับ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องใช้ผ้าสีกรัก

    แต่ว่าเวลานี้รู้สึกจะเปลี่ยนตาลปัตรไปเวลานี้นะ โดยมากเห็นพระท่านนิยมห่มผ้าสีกรักก็เลยกลายเป็นคิดว่า พระทุกองค์เจริญสมถวิปัสสนา แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ มันไม่ใช่

    รวมความว่า ไม่ถือว่าใครผิด ไม่ถือว่าใครถูก ถ้าจะว่าคนห่มผ้าสีเหลืองผิด คนห่มผ้าสีกรักก็ผิด ถ้าจะว่าคนห่มผ้าสีเหลืองถูก คนห่มผ้าสีกรักก็ถูก ก็ให้มันเหมือนกันเสียก็หมดเรื่อง ทำใจให้เหมือนกัน

    สีไม่เป็นเรื่องสำคัญ สีผ้าไม่สำคัญเท่าสีใจ ถ้าสีใจของใครใสเป็นเพชรนั่นแหละดีที่สุด เป็นเพชรน้ำหนึ่งที่ไม่มีรอยขีด ไม่มีรอยข่วน ไม่มีตำหนิติเตียน ไม่มีอะไรทั้งหมด สีใจนี่สำคัญ

    ทีนี้ต่อไปก็จะขอคุยกันว่า พระที่มีสีใจสะอาด มีท่านหนึ่งคือ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เวลานี้เขาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอะไรก็ไม่ทราบ สมัยนั้นเรียก วัดคลองมะดัน อยู่ปลายเขตอำเภอสองพี่น้องขึ้นไป ใกล้สระยายโสม

    หลวงพ่อปาน ท่านเวลาออกพรรษาไปแล้ว รับกฐินแล้ว ท่านก็ชวนพระ และญาติโยมพุทธบริษัทจากกรุงเทพฯ มีเรือยนต์ นายละไม เป็นเรือลาก เดินทางเข้าผ่านประตูน้ำบางยี่หน ออกจากประตูน้ำบางยี่หนแล้ว ก็วิ่งไปทางบางใหญ่ เลยบางใหญ่ไปแล้วเรือก็วิ่งลัดทุ่ง

    คราวนี้ไม่เข้าประตูน้ำสองพี่น้อง วิ่งลัดไปในทุ่ง (จำทางไม่ได้หรอก ไปเที่ยวเดียว แต่ว่าเรือเขาก็เก่ง) เขาพาไปถึงวัดคลองมะดันก็เป็นตอนเย็น

    เมื่อถึงเวลาตอนเย็น ก็ปรากฏว่า หลวงพ่อโหน่งท่านเดินลงมารับหลวงพ่อปานที่หน้าสะพาน ต่างองค์ต่างนมัสการ ต่างองค์ต่างไหว้ ต่างองค์ต่างกราบกัน รู้สึกว่าท่านดีกันเหลือเกิน

    พวกเรา ก็กราบ ญาติโยมทุกคนไปก็กราบ แล้วท่านก็พาไปพักที่หอสวดมนต์ของท่าน ซึ่งใหญ่พอสมควร ขณะที่นั่งพักอยู่ หลวงพ่อปานก็โอภาปราศรัย คุยกันตามธรรมดา ๆ บรรดาญาติโยม ท่านก็ทักคนโน้นบ้าง ทักคนนี้บ้างตามสมควร

    เมื่อได้เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง หลวงพ่อปานก็บอกฝาก บอกว่า ผมขอฝากพระ 3 องค์นี่ด้วยครับ ถ้ามีอะไรจะต้องตักเตือน โปรดตักเตือนด้วย ถ้าเห็นว่ามีอะไรบกพร่องก็สอนได้เลยครับ ผมขอถวายเป็นลูกศิษย์ พวกคณะเราทั้ง 3 คน ก็เข้าไปกราบท่าน หลวงพ่อโหน่งท่านมองหน้า แล้วท่านก็บอกว่า จะให้สอนอะไร เลยกราบเรียนท่านบอกว่า สุดแล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควรครับ

    ท่านถามว่า บกพร่องตรงไหน ก็กราบเรียนตรง ๆ บอกว่า กิเลสทั้งหมด บกพร่องทั้งหมดครับ ท่านยิ้ม ท่านบอก ไม่จริงหรอก ก็มีคุณ 3 องค์นี่เท่านี้แหละ ที่มารายงานตัวผมว่า คุณเลว มีนักปฏิบัติมากมายเยอะแยะ ที่เขาฝึกจากผมบ้าง เขาฝึกจากอาจารย์ปานบ้าง เขาฝึกจากคนอื่นบ้าง เขามาถึง เขาก็บอกว่า เขาเป็นคนดีหมด ตั้งแต่ผมเกิดมานี่ เพิ่งเห็นลูกศิษย์อาจารย์ปาน 3 องค์นี่เท่านั้นแหละ ว่า เป็นคนเลว

    แล้วหลวงพ่อปานก็ถามว่า แล้วพากเธอเลวหรือไม่เลวล่ะ หลวงพ่อโหน่งก็บอกว่าเดี๋ยวซักซ้อมกันก่อนสิ ได้ยินว่าเลว หรือไม่เลว คำว่า เลว อาจจะมีคำว่า ดี อาจจะมี ความชั่วอาจจะมี ความดีอาจจะปรากฏแต่เจ้าตัวเองยังไม่ทราบคำว่าดี หรือไม่ทราบคำว่าเลว ที่แท้จริง อาจจะมีความสงสัยอยู่บ้างหรืออาจจะรู้ แต่ว่าแกล้งบอกว่า เลว

    ก็เลยกราบเรียนท่านบอกว่า ขึ้นชื่อว่าความดีจริง ๆ ยังมีไม่ถึงขอรับ ท่านถามว่า ความดีจริง ๆ มีไม่ถึง เธอมีความหมายว่าอย่างไร ก็กราบเรียนท่านบอกว่า อจิรัง วตยังกาโย ปฐวิง อธิเสสสติ ฉุฑโฑ อเปตวิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง ข้อนี้ยังไม่ครบถ้วนขอรับท่านหัวเราะใหญ่ ชอบใจ เออ..นี่เป็นคาถาที่พระท่านสอน ที่ใกล้ ๆ กับดอนเจดีย์ใช่ไหม

    พวกเราฟังกันแล้ว ก็มองหน้ากัน ท่านบอก ไม่ต้องมองหน้ากัน มีพระ 2 องค์ใช่ไหมล่ะ ก่อนที่จะกลับน่ะ ท่านสอนว่า อจิรัง วตยัง กาโยฯ กับ อนิจจา วต สังขาราฯ ถามว่าหลวงพ่อ ทราบหรือครับ ท่านก็บอกว่า พระท่านเพิ่งบอกฉันเดี๋ยวนี้เอง ท่านบอกว่า ท่านสอนว่า อจิรัง วตยัง กาโยฯ กับ อนิจจา วต สังขาราฯ แต่ว่าพวกเธอทั้ง 3 คนก็ยังบกพร่องอยู่มาก อันนี้ถูกต้อง เธอคิดถูก แต่ทว่าคิดไกลเกินไป

    เอาอย่างนี้ดีกว่า ลองถามกันจริง ๆ เถอะ ที่ชาวบ้านเขาว่า ดี หรือไม่ดี ทิ้งเขา ปล่อยของเขา เวลานี้เธอเจอะพระไหม ก็ตอบท่านบอกว่า เจอะพระทุกเวลาขอรับ ถ้ามีอะไรขัดข้อง ถามพระได้ไหม บอก ถามได้ขอรับ แล้วพระตอบให้ฟังรู้เรื่องไหม ก็บอกว่า รู้เรื่องขอรับ พระแนะนำอย่างไร แนะนำแล้วทำตามหรือเปล่า บอก ทำตามขอรับ

    ท่านถามว่า ถ้าอย่างนี้ทำไมจึงถือว่า เลว ก็กราบเรียนท่านบอกว่า มันยังดีไม่พอเท่าที่พระท่านสอนนี่ขอรับ ท่านสอนทำอย่างนี้ก็ทำ แต่ผลทางด้านจิตใจมันดีไม่พอ ท่านก็ยอมรับว่าจริง

    ท่านก็กันไปหาสององค์ว่า สององค์นี่เดินทางกันคนละทางกับองค์นี้ใช่ไหม สององค์มองหน้ากันแล้วก็นิ่ง ท่านบอกว่า เธอองค์ปรารถนาสาวกภูมิใช่ไหม สององค์ก็ตอบว่าใช่ ท่านถามว่า เวลานี้สังโยชน์ 3 มีการคล่องตัวไหม ทั้ง 2 องค์ตอบว่า ไม่มีอุปสรรคขอรับ ท่านก็เลยหันมาทางอาตมาว่า เธอปรารถนาพุทธภูมิ ก็ทำอารมณ์เปรียบเทียบเข้าไปก็แล้วกัน ท่านก็เลยบอกว่า การพบพระก็ดี พบเทวดา พบพรหมก็ดี พบได้เสมอใช่ไหม

    หลวงพ่อปานก็บอกว่า เขาชอบปฏิปทาของพระโมคคัลลาน์ กับพระมาลัยขอรับ ปกติเขาชอบเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ แล้วตอนเช้าก็มาซักซ้อมกับผมว่า ถูกต้องไหม หลวงพ่อโหน่งท่านก็บอกว่า เอ้อ.นี่ดีมาก ๆ อย่างนี้ดีมาก อย่าเชื่อตัวเอง ต้องมีการซักซ้อม หาเหตุหาผลเพราะการเชื่อตัวเองเกินไปมันก็จะเป็น อุปาทาน

    ก็รวมความว่า คุยกับหลวงพ่อโหน่งถึงตอนนี้ ท่านก็บอกว่า เอาละ ที่เข้าใจว่าตัวเองยังไม่ดีน่ะ ถูกต้อง แต่ฉันก็คิดว่า ยังดีกว่าคนที่เขาว่า ดี ตั้งเยอะแยะ ตั้งหลายคน เพราะคนหลายคนที่เขามาหาฉัน เพียงเขามาภาวนาว่า พุทโธ ได้นิดหน่อย เขาบอกเขาดีแล้ว

    บางคนก็นึกถึงวิปัสสนาญาณตัวเล็กน้อย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาบอก เขาดีแล้ว แต่ความจริงนั่นเขาก็ดี การภาวนา นึกว่า พุทโธ ถ้าเขายึดไว้ได้ อย่างต่ำเขาก็ไปสวรรค์ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นวิสัยแห่ง อรหัตมรรค อรหัตผลได้ คือ เป็นพื้นฐานขึ้นไป แต่มันยังไม่ถึง

    ก็เป็นอันว่า คุยกับหลวงพ่อโหน่ง แล้วหลวงพ่อปานก็ฝากท่านว่าในกาลต่อไปถ้าผมไม่มีโอกาสไม่พามาหา แต่ก็จะส่งมาฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่อขอรับ หลวงพ่อโหน่งก็บอกว่า เอ้า เต็มใจ มาเมื่อไรได้เลย แล้วฉันจะสอนให้ตามที่ต้องการนะ การบรรลุมรรค บรรลุผล ใครสัญญากันไม่ได้

    ทีนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโหน่ง ความจริง หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ก็เขียนไว้แล้ว แต่เล่มนี้ควรจะบอกไว้สักหน่อยหนึ่ง ความเป็นมาจริง ๆ ของหลวงพ่อโหน่ง เป็นพระที่ไม่เคยศึกษาธรรมวินัยมาก่อน อ่านแล้วก็อย่าตกใจว่า ไม่รู้อะไรเลยนะ

    เมื่อท่านบวชยังไม่ได้พรรษาแรก เพิ่งบวช หลวงน้าของท่านอยู่ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียนและหลวงน้าของท่านได้เปรียญ 9 ประโยค เป็นเจ้าคุณด้วย เมื่อท่านบวชพระเสร็จอยู่ไม่กี่วันท่านก็เข้าไปหาหลวงน้าท่านที่กรุงเทพฯ หวังจะเรียนหนังสือ หลวงน้าเห็นพระหลานชายมาก็ดีใจมาก จัดห้องจัดหับให้อยู่

    ต่อมาวันรุ่งขึ้น ท่านมีโอกาสก็ถามหลวงน้าว่า หลวงน้าขอรับ หลวงน้าเป็นเปรียญ 9 ประโยค แล้วก็เป็นเจ้าคุณด้วย ตัดกิเลสหมดไหมครับ หลวงน้าฟังแล้วก็ชอบใจ ท่านไม่ตอบ ท่านบอก โหน่ง ลองเข้าไปดูข้างในห้องฉันสิ

    หลวงพ่อโหน่งก็เข้าไปดู คิดว่าจะมีตำราแต่ไม่มีหรอก มีโต๊ะหมู่ทองบ้าง โต๊ะหมู่มุกบ้าง งาช้างบ้าง เครื่องประดับประดา สวยสดงดงามมาก แล้วท่านก็ออกมา บอก ไม่เห็นมีอะไรครับ เห็นมีโต๊ะหมู่ทองบ้าง โต๊ะมุกบ้าง งาช้างบ้าง เครื่องประดับต่าง ๆ บ้าง แพรวพราวเป็นระยับ สวยสดงดงาม

    หลวงน้า ก็เลยบอกว่า โหน่ง ที่ฉันให้เข้าไปดู ฉันจะได้บอกให้ทราบว่า ถ้าฉันหมดกิเลสของทั้งหลายเหล่านี้มันไม่มี ถ้ามันมี มันก็ต้องไม่ใช่ของฉัน เป็นของสงฆ์ แต่นี่ฉันยังถือว่าของทั้งหลายเหล่านี้เป็นของฉัน

    แสดงว่า ฉันได้เปรียญ 9 ก็จริง และเป็นเจ้าคุณก็จริง แต่ว่าฉันไม่ได้เป็นพระอรหันต์ กิเลสไม่ได้หมด หลวงพ่อโหน่งก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นหลวงน้าขอรับ ในเมื่อเรียนถึงเปรียญ 9 ประโยคแล้ว และเป็นเจ้าคุณแล้ว กิเลสไม่หมด ผมก็ไม่เรียนแล้วครับ ผมขอลากลับบ้าน วันรุ่งขึ้นท่านก็เดินทางกลับ (นี่ตามประวัติที่ท่านเล่าให้ฟังย่อ ๆ นะ)

    แล้วท่านก็ชี้ไปที่พระอุโบสถ ท่านบอกว่า ที่ตรงนี้มันเป็นดงไผ่ แต่เป็นที่โปร่งหน่อยหนึ่ง ฉันก็มานั่งกรรมฐานตรงนี้ ถึงเวลากลางคืนฉันก็มานั่งกรรมฐานที่นี่ ที่วัดนี้มีการเจริญกรรมฐานฉันคนเดียว แล้วผลที่ได้รับจากบรรดาเพื่อนทั้งหลายก็คือว่า ฉันบ้า

    แต่ว่ากรรมฐานที่ฉันเรียนนี่ ฉันไปเรียนกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ฉันไปเรียนกับหลวงพ่อเนียม หลวงพ่อเนียมยืนยัน บอกว่า การปฏิบัติกรรมฐานกับท่านถึงที่สุดแน่

    ฉันก็มาเลือกชัยภูมิ เห็นตรงนี้ เวลาหน้าแล้งจัด ดินที่อื่นแตกเป็นระแหง แต่ที่นี่ชุ่มมีความชื้น แล้วนั่งก็เย็น ฉันเลยถือเป็นที่นั่งเจริญกรรมฐาน เวลานั้นฉันบวชเข้าพรรษาที่ 2 อยู่ในพรรษาที่ 2 แต่ยังไม่ครบพรรษาที่ 2 ฉันนั่ง กรรมฐานไป ตอนกลาง ๆ พรรษาจิตก็เริ่มเป็นสุขขึ้นมาทีละน้อย ๆ ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อเนียมสอน

    ก็หมายความว่า ก่อนที่จะภาวนา อันดับแรกก็นึกถึงวิปัสสนาอย่างอ่อน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก่อน เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต ของร่างกายของทรัพย์สิน แล้วก็ต่อจากนั้นไป ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก แล้วภาวนา ผลที่ได้ก็คือ อารมณ์เป็นสุข มีจิตสว่างบ้าง มีแสงสว่างบ้าง มืดบ้าง ตามเรื่องตามราวตามธรรมดา แต่ว่าสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ก็คือ มีอารมณ์เป็นสุข

    มาคืนวันหนึ่ง ตอนกลาง ๆ พรรษา วันนั้นฝนไม่ตก ฉันนั่งกรรมฐานไป เวลาประมาณสัก 2 ทุ่มเศษ เพราะว่าทุ่มกว่า ๆ มืด ฉันก็เริ่มทำแล้ว ปรากฏว่า มีพระสวย มีพระสงฆ์รูปร่างหน้าตาสวยทรวดทรงดี ผิวเหลือง เนื้อกับจีวร เหลืองคล้ายคลึงกัน แต่จีวรเหลืองมากกว่า เนื้อเหลืองน้อยกว่านิดหน่อย มีรัศมีออกจากกาย มาบอกว่า โหน่ง เธอจงสร้างพระอุโบสถตรงนี้นะ

    เวลานั้น วัดนั้นยังไม่มีพระอุโบสถ ท่านก็กราบเรียนพระว่า กระผมเป็นพระหนุ่มขอรับ บวชยังไม่เต็ม 2 พรรษา เกรงว่าญาติโยมจะไม่เชื่อ และประการที่สอง การติดต่อหาซื้อของ ติดต่อหาช่องก็แสนยาก เพราะไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

    ท่านบอกว่าไม่เป็นไร เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น จะเป็นวันพระให้ประกาศกับบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่มาทำบุญ บอกว่า อยากจะสร้างโบสถ์ที่ตรงนั้น แล้วก็จะมีคนช่วยตัดไม้นั่งร้านไม้ในป่า มีคนช่วยตัดมา จะมีคนหาทราย มีช่างทำอิฐ แต่ละคนจะต่างคนต่างอาสาทำจนครบ

    หลวงพ่อโหน่งท่านก็ประกาศแบบนั้นจริง ๆ วันพระ เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไป ท่านบอกว่า ท่านก็เป็นลูกคนจน ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เป็นคนมั่งมี เป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นเจ้าบุญนายคุณใคร แต่ว่าประกาศไปเท่านั้น

    คนนั้นก็รับอาสา คนนี้ก็รับอาสา คนนั้นจะตัดไม้ คนนี้จะทำอิฐหาทราย หาแกลบ ต่างคนต่างทำกันจนเสร็จ เมื่อทำอิฐ ทำทรายเสร็จดี เรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างคนต่างช่วยกัน ใครที่เป็นช่างก็ช่วยแนะนำ สร้างพระอุโบสถเสร็จไป 1 หลัง ใช้เวลาเพียง 1 ปีเศษ ๆ พระอุโบสถเสร็จ

    ในเมื่อพระอุโบสถเสร็จแล้ว ก็ปรากฏว่า พระประธานยังไม่มี ท่านก็คิดว่า จะปั้นพระประธานแต่ไม่ทราบว่าจะหาช่างที่ไหน ก็ทิ้งไว้ก่อน มีพระพุทธรูปองค์ย่อม ๆ ก็ไปตั้งเป็นประธานเข้าไว้ ก็ปรากฏว่า

    เวลานั่งกรรมฐานตอนกลางคืน ก็มีพระองค์เดิม ท่านบอกว่า โหน่ง ช่างที่จะปั้นพระประธานมีอยู่นะ อยู่ที่จังหวัดอยุธยา (อาตมาก็ลืมตำบลเสียแล้ว นึกเชื่อไม่ออก ต้องอ่านหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ตอนนั้นยังนึกออก) ให้ไปปักกลดที่นั้น

    ตอนเช้าจะมีคนมาก่อนคนอื่นทั้งหมด ถือขันข้าวมา 1 ขัน นุ่งขาวห่มขาว ผมยาว นั่งจะไม่คุยกับใคร นั่งเรียบร้อย ใส่บาตรแล้วก็นั่งเฉยๆ คนนี้แหละเป็นช่างปั้นพระประธาน ให้คุณโหน่ง ติดต่อกับเขา แล้วเขาก็จะรับเอง ให้ไปในลักษณะธุดงค์

    ตอนเช้าหลวงพ่อโหน่ง ท่านเชื่ออยู่แล้วนี่ ท่านก็เอา ตกลง เตรียมตัวออกธุดงค์เดินตัดทุ่งไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ปักกลดที่นั่น ถึงตอนเช้าก็มีคนนั้นจริง รูปร่างหน้าตาทรวดทรงดี ผมขาว ผิวเนื้อขาว นุ่งขาวห่มขาวเสร็จ มีขันข้าว มีแต่ข้าวแต่ว่าไม่มีกับ เดินมาเป็นคนแรก มาใส่บาตรพระธุดงค์ แล้วต่อมาญาติโยมทั้งหลายก็มา

    เมื่อหลวงพ่อโหน่งฉันเสร็จ ท่านก็หันไปถามว่า โยม คุณโยมเป็นช่างปั้นพระใช่ไหม โยมนั้นก็ตอบว่า ใช่ ท่านก็บอกว่า อาตมาอยากปั้นพระประธานในพระอุโบสถ เพิ่งสร้างพระอุโบสถเสร็จ ยังไม่มีพระประธาน โยมก็รับปากว่า ผมจะทำให้ ทำถวายขอรับ เต็มใจทำถวาย

    เมื่อคุยกันมา คุยกันไป ก็ลืมบอกตำบลที่อยู่ หลวงพ่อโหน่งก็ลากลับ ถอนกลดเดินทางกลับ เมื่อเดินทางมาระหว่างทาง ก็นึกขึ้นมาในใจว่า เอ๊. เราก็ลืมบอกตำบลที่อยู่ให้โยมไปแล้ว โยมท่านจะมาถูก หรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ และเวลาที่นึกได้ก็ใกล้วัดเต็มทีแล้ว เข้าวัดก่อน

    ปรากฏว่าตอนเช้า ช่างมาถึงวัดพอดี มาพร้อมกับลูกน้อง รับอาสาทำพระประธานไม่กี่วันนัก ทำพระประธานเสร็จ พระประธานสวยสดงดงาม เรียบร้อย ทรวดทรงดีมาก เป็นที่ถูกใจกันทุกคน

    แต่ปรากฎว่า พอทำพระประธานเสร็จ ช่างกับลูกน้องก็เดินทางกลับ โดยไม่บอกให้ใครทราบ หลวงพ่อโหน่งก็ไม่ทราบ พระเณรก็ไม่ทราบ หลวงพ่อโหน่งก็ไม่แน่ใจว่า ช่างเขามีลูกน้อง มันต้องใช้เงินใช้ทอง ก็ใช้วิธีการเดินธุดงค์ไปที่เดิม

    พอไปถึง ชาวบ้านก็มาทำบุญ ก็ถามถึงคน ๆ นั้น ชาวบ้านบอกว่า คน ๆ นั้นไม่ใช่คนแถวนี้ครับ วันนั้นผมเห็นเหมือนกัน ผมไม่รู้จัก ไม่ทราบว่าคนที่ไหน ก็รวมความว่า หลวงพ่อโหน่งท่านก็บอกว่า ช่างที่มาทำ ผมก็เพิ่งรู้ทีหลังว่า นั่นคือ ท่านวิษณุกรรมเทพบุตร เป็นคำสั่งของพระอินทร์ท่าน

    ทีนี้สำหรับประวัติหลวงพ่อโหน่งมีอยู่ว่า ท่านไม่เคยเรียนแม้แต่นักธรรมตรี ตั้งใจเจริญกรรมฐานอย่างเดียว แต่ว่าเวลาเช้าบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านก็แบ่งข้าวให้กับโยม ท่านเอาโยมท่านมาเลี้ยงที่วัด เมื่อโยมรับประทานเสร็จ ท่านฉันเสร็จ ท่านก็เทศน์ให้โยมฟัง 1 กัณฑ์

    การเทศน์นี่ไม่ต้องการหนังสือ ก็ไปถามหลวงพ่อโหน่งว่า เวลาเทศน์หลวงพ่อเทศน์เรื่องอะไรบ้างครับ ท่านก็บอกว่า สุดแล้วแต่พระท่านให้เทศน์พระให้เทศน์เรื่องอะไร ก็เทศน์อย่างนั้น ท่านดลใจเอง ไม่ต้องนึก ปากก็ว่าไปตามความรู้สึกของใจ

    ถ้าเวลาใครไปนิมนต์หลวงพ่อโหน่ง หลวงพ่อโหน่งท่านบอกว่า จะถามพระก่อน พระจะให้ไป หรือไม่ให้ไป ก็จะไป พระไม่ให้ไป รวมความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำขึ้น อาศัยพระอย่างเดียว ท่านต้องถามพระก่อน ถ้าพระไม่อนุมัติ ท่านจะไม่ทำเด็ดขาด

    ก็เลยถามหลวงพ่อขอรับ คำว่า พระ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม ท่านมองหน้า แล้วท่านก็บอกว่า นี่เฉพาะที่คุณนั่งอยู่เวลานี้ไม่มีใครนะ ถ้ามีคนอื่น ฉันจะไม่ตอบ และเวลานี้ก็มีแต่ ท่านอาจารย์ปาน กับเธอทั้ง 3 องค์ พอพูดกันรู้เรื่อง ฉันก็ ยอมรับว่า คำว่า พระ ก็คือ พระพุทธเจ้า ทุกอย่างที่ฉันจะทำ ฉันทำตามพระพุทธเจ้าสั่งทุกอย่าง
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญปิดทองคำรับพระกริ่งผงพระพุทธรูปเพื่อมอบให้โรงเรียน.560840/
     

แชร์หน้านี้

Loading...