หลวงปู่สี ฉันทสิริ (พระอรหันต์ ๗ แผ่นดิน)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 ตุลาคม 2014.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,893
    [​IMG]


    ท่านเป็นสหธรรมิกของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    (จากประวัติการธุดงค์ของหลวงปู่สี ฉันทสิริ)​

    ปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ หลวงปู่สีท่านจึงลาออกจากทางราชการในตอนนั้น ท่านมีอายุได้ ๓๙ ปี เมื่อออกจากราชการ ท่านก็เดินทางไปเยี่ยมญาติของท่านที่จังหวัดสระบุรี ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางไปบ้านเส้า (อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ ในปัจจุบันนี้) ท่านได้อุปสมบทที่วัดบ้านเส้า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ อายุได้ ๓๙ ปี พระครูธรรมขันธ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ หลังจากที่ได้บวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ขอสมาทานธุดงควัตร จากพระอุปัชฌาย์ของท่าน พระอาจารย์ของท่านเห็นว่าเคยบวชเรียนเป็นสามเณรมาแล้ว เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ความสามารถ จึงอนุญาตให้หลวงปู่สี ท่านออกธุดงค์ตามประสงค์ ท่านจึงตัดสินใจเข้าไปอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรก่อนที่จะเข้าพรรษา จึงออกธุดงค์ไปจำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำเขาไม้เสียบ ตำบบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลา ๑ พรรษา และเมื่อออกพรรษาท่านจึงออกธุดงค์ ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขาไม้เสียบ มีพระภิกษุทางเหนือมาจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เล่าเรื่อง "พระบาทสี่รอย" ให้ท่านฟัง ทำให้ท่านเกิดความคิดที่จะไปนมัสการ "พระบาทสี่รอย"
    มีพระบางรูปพูดให้ท่านฟังว่า การเดินทางไปนั้นมีอันตรายนานาประการ การเดินทางเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อไข้ป่า และสัตว์ร้ายนานาชนิด พระภิกษุหนุ่มมิได้กลัวด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม เป็นกุศลจิต มุ่งอุทิศเพื่อพุทธศาสนา แผ่เมตตาธรรมแก่สรรพสัตว์อย่างไร้ขอบเขต มุ่งลดละกิเลสด้วยสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน...

    พระพุทธบาทสี่รอย
    พ.ศ. ๒๔๓๒ หลังจากออกพรรษา และรับกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระภิกษุสี (หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ) ท่านได้ออกเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยที่เชียงใหม่ การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องเดินทางเข้าป่าดงลึก บางครั้งก็ต้องปีนป่ายขึ้นๆ ลงๆ ตามขุมเขาต่างๆ บางแห่งเป็นป่ารกลึกๆ ก็ยากที่จะพบผู้คน

    การเดินทางครั้งนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่ง ในป่าลึก ผู้คนไม่มีอาศัยอยู่ ท่านต้องอดอาหาร ไม่มีอะไรให้ฉันถึง ๑๑ วัน นัยว่าเทพยดาในป่าเขา ได้ทดลองจิตของท่านว่ามีความเข้มแข็งสักปานใด จึงทำให้เดินหลงป่า ไม่พบผู้คน อดอาหารอยู่ถึง ๑๑ วัน จนวันหนึ่งในขณะที่กำลังวังชาของท่านใกล้จะสิ้นลงนั้น ก็บังเอิญได้พบชายหญิงคู่หนึ่ง กำลังนั่งกินยาลูกกลอนอยู่ ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ หญิงชายทั้งสองพอเห็นพระธุดงค์เดินมาก็ออกปากนิมนต์ พร้อมทั้งนำยามาถวายให้ ๑ ช้อน พระภิกษุสี ก็รับยาจากโยมถวายมาปั้นเป็นลูกกลอน (ลูกกลม) ได้ ๑ ลูก ท่านผลพุดทรา มีกลิ่นหอมประหลาดๆ ท่านจึงฉันพร้อมน้ำ ๑ กระบอก พอกลืนยาลงไปตกถึงท้อง ก็มีอาการประหลาดมหัศจรรย์เสมือนหนึ่งมีพลังความร้อนแผ่กระจายไปทั่วขุมขน ท่านจึงพริ้มตาหลับลงด้วยลักษณะทำสมาธิสักอึดใจ ท่านก็ลืมตาขึ้น แต่เป็นที่ประหลาดนัก ปรากฏว่า ชายหญิงคู่นั้นที่นั่งอยู่ตรงหน้าหายไป

    ท่านก็มองหารอบๆ ที่นั่น ก็ไม่ปรากฏร่างของชายหญิงคู่นั้น ท่านจึงให้ศีลให้พรแก่เทพยดาที่ถวายยาให้ท่าน ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางไปพระพุทะบาทสี่รอย
    พบช้างป่า

    ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงปู่ไปนมัสการพรพุทธบาทสี่รอย ตอนเช้าท่านก็ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยเป็นประจำทุกวัน แต่น่าประหลาดบริเวณรอยพระพุทธบาทสะอาดเรียบร้อยไม่เปรอะเลื้อน ทั้งๆ ที่ไม่คนอยู่ทำความสะอาด ต่อมาก็ได้ เห็นช้างป่าหลายเชือกมาทำความสะอาดในตอนเช้าเป็นประจำ โดยการใช้งวงปัดเป่าทำความสะอาดได้อย่างยอดเยี่ยม

    ท่านเล่าว่า ด้วยการที่อยู่ใกล้กัน และเห็นกันอยู่ทุกวันเป็นประจำ ทำให้ช้างเหล่านั้นเกิดความสนิทสนมกับท่านเป็นอย่างดี จนในเวลาต่อมาช้างเหล่านั้นได้นำหัวบัวบ้าง กระจับบ้าง และน้ำอ้อยมาถวายท่านได้ฉันอย่างไม่ขาด ช้างเหล่านั้นมันปฏิบัติได้เหมือนคนไม่มีผิด แม้พวกช้างเหล่านั้นจะเป็นช้างป่าก็ตาม แต่ก็เชื่องเหมือนช้างบ้าน

    เมื่อท่านได้นมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและปฏิบัติธรรมนานพอสมควรแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับเพื่อไปแสวงหาความวิเวกที่อื่นต่อไป ในวันที่ท่านเดินทางกลับนั้น หลังจากฉันอาหารที่เหล่าฝูงช้างป่านำมาถวาย และบอกว่าวันนี้ท่านจะเดินทางกลับแล้ว ช้างป่าเหล่านั้นก็พร้อมใจกันเดินทางมาส่งท่านที่เชิงเขาด้วยความอาลัย

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่หลวงปู่เดินธุดงค์ไปในป่าลึก ขณะที่หลวงปู่เดินอยู่ในป่าดงดิบนั้น ท่านก็ได้พบช้างโขลงใหญ่ ช้างป่าทุกเชือกมีลักษณะโหดร้าย โดยเฉพาะเชือกจ่าฝูง รูปร่างสูงใหญ่งายาว มันยืนจ้องมองมายังหลวงปู่ พอหลวงปู่เห็นท่านก็ยืนสงบแผ่เมตตาให้พญาช้าง และทุกๆ เชือกในโขลงนั้น...พลันเชือกที่เป็นหัวหน้าโขลง ก็ชูงวงขึ้นพร้อมเปล่งเสียงร้องดังก้องป่า ในสภาพบรรยากาศเช่นนี้หากไม่ใช่หลวงปู่แล้ว นับว่าเป็นช่วงที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง แต่หลวงปู่ท่านอยู่ในอาการสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    พอสื้นเสียงร้องก้องกังวาลของหัวหน้าโขลง ช้างป่าทุกเชือกก็ย่อตัวลงหมอบอยู่กับพื้นพร้อมชูงวงขึ้น ประหนึ่งเป็นการแสดงคารวะอย่างน้อมน้อมต่อหลวงปู่สี ผู้มีเมตตาธรรมและความบริสุทธิ์ ต่อจากนั้นหัวหน้าโขลงก็เดินเข้ามาหมอบอยู่ตรงหน้าท่าน ต่อจากนั้นช้างอีกเชือกก็เข้ามาใช้งวงช้อนร่างหลวงปู่ให้ขึ้นไปนั่งบนคอของหัวหน้าโขลง ทุกอย่าเป็นไปอย่างอัศจรรย์ยิ่ง ต่อจากนั้นมันก็ลุกขึ้นเดินนำโขลงไปส่งท่าน ผ่านป่าดงดิบจนถึงชายป่า

    ตอนเช้าวันหนึ่ง พวกชาวบ้านป่าได้มาพบเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์เช่นนั้น ต่างก็ก้มลงกราบหลวงปู่ และนำอาหารมาถวาย ถามหลวงปู่ว่าทำอย่างไรช้างป่าจึงไม่ทำร้าย และยังมาส่งหลวงปู่อีก

    ชาวบ้านเขตชายแดนไทยพม่า ทราบดีมาช้างป่าโขลงนี้เป็นช้างป่าที่โหดร้ายที่สุดในแถบนั้น แต่น่าอัศจรรย์ที่ช้างป่าไม่ทำร้ายหลวงปู่สี หลังจากหลวงปู่สีฉันอาหารเสร็จ ท่านให้ให้ศีลให้พรชาวบ้านป่า และถามถึงเส้นทางที่จะเดินทางไป


    https://www.facebook.com/groups/226951157350091/permalink/862573637121170/
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,893
    เมื่อครั้งธุดงค์ที่หลวงพระบางพบ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    ท่านทั้ง ๒ จึงเดินธุดงค์ร่วมกัน กลายเป็น "สหธรรมิก"
    (จากประวัติการธุดงค์ของหลวงปู่สี ฉันทสิริ)

    พระลูกศิษย์ทั้งหลายที่บุกบั่นรอนแรมเข้าป่าดงไปหาหลวงปู่สี ท่านจะให้อยู่กับท่านไม่นานนัก แล้วท่านก็จะสั่งให้แยกย้ายกันออกหาที่วิเวกตามที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนามุ่งทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ท่านให้พักตามถ้ำบ้าง ตามชายเขา และยอดเขาบ้าง การขบฉันอาหารก็ให้ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านชาวป่าชาวเขา บางครั้ง ๗-๘ วันถึงได้ออกบิณฑบาตกัน เพราะมัวแต่เพลิดเพลินเจริญในสมาธิวิปัสสนาจนลืมเวลา ลืมคืนลืมวัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าหิวโหยอ่อนเพลียเจ็บไข้ได้ป่วยกันแต่อย่างไร เพราะจิตสงเคราะห์มีความสุขชุ่มชื่นเย็นใจ เย็นกายด้วยอำนาจบารมีธรรม มีพระลูกศิษย์ของท่านบางองค์ มีอำนาจจิตแก่กล้าบุญญาบารมีสูง ทรงอภิญญา ๖ สามารถทรงตัวอยู่ในสมาธิวิปัสสนาได้เป็นเวลานานถึง ๓ เดือนก็มี โดยที่ไม่ขบฉันอาหารเลย นอกจากฉันแต่น้ำอย่างเดียว นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์

    พระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงปู่สี ล้วนเป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก เที่ยวแสวงหาธรรมกันในป่าในเขาถิ่นอันตรายแบบเอาชีวิตเข้าแลกจริงๆ ไม่อาลัยชีวิตยิ่งกว่าธรรม ที่ใดมีเสือ มีอำนาจป่าเร้นลับ น่าสะพรึงกลัว หลวงปู่สีจะสั่งให้พระไปอยู่ที่นั่น เพราะเป็นสถานที่กระตุ้นเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจ ความเพียรก็จำต้องติดต่อกันไปเอง และเป็นเครื่องหนุนใจให้มีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติที่ควรจะเป็น ท่านเองก็บำเพ็ญสุขวิหารธรรมอยู่โดดเดี่ยว ในป่าในเขาอันชุกชุมด้วยสัตว์ร้าย สงัดเงียบปราศจากผู้คนทั้งกลางวัน กลางคืน

    การติดต่อกับพวกกายทิพย์ เช่น เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม พญานาค และภูติผีที่มาจากที่ต่างๆ ท่านถือเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องมีจริง เป็นเรื่องลี้ลับพิสดารที่พระธุดงค์กรรมฐานเท่านั้นจะพานพบรู้เห็นได้ เหลือวิสัยที่จะพูดที่จะอธิบายให้ปุถุชนชาวบ้านเข้าใจได้ เพราะปุถุชนชาวบ้านทั่วไปมีความช่างสงสัยเป็นนิสัย

    ชาวบ้านศึกษาเรียนรู้ ช่างจด ช่างจำ ช่างสงสัย หมายรู้เอาด้วยทางวัตถุสิ่งมีตัวตนจับต้องได้ มองเห็นได้ แต่ทางพระ ศึกษาเรียนรู้ทางจิตที่ไม่ใช่วัตถุ การรู้เห็นทางจิตจึงเป็นการรู้ด้วยสติปัญญา นามธรรม ดังนั้นการเห็นการรู้ของพระและของชาวบ้านจึงแตกต่างกัน หลวงปู่สีท่านมีการติดต่อกับพวกกายทิพย์จากโลกวิญญาณ เช่นเดียวกับมนุษย์ติดต่อไปมาหาสู่กันกับพวกมนุษย์ชาติต่างๆ ที่รู้ภาษากันนั่นเอง เพราะท่านชำนิชำนาญในทางนี้มานานแล้ว การพบเห็นวิญญาณของท่าน ไม่ใช่สิ่งลวงตาลวงใจ

    เมื่อคราวที่หลวงปู่สี ฉันทสิริ เดินธุดงค์อยู่ในป่าหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้พบกับพระภิกษุมั่น ภูริทัตโต เดินธุดงค์ในป่าหลวงพระบาง พระภิกษุสี และพระภิกษุมั่น ได้พบกันและร่วมเดินธุดงค์ด้วยกัน ยามพักผ่อนก็สนทนาธรรมกัน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พรรษาอ่อนกว่าหลวงปู่สี ฉันทสิริ ถึง ๖ พรรษา หลวงปู่สีอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

    ส่วนอายุอ่อนกว่าหลวงปู่สี ๒๑ ปี หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ชาตะ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ หลวงปู่สี ฉันทสิริ ชาตะ วันอังคาร เดือน ๕ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๒

    พระอาจารย์ทั้งสองถึงจะอายุต่างกัน แต่มีปฏิปทาในการปฏิบัติ มุ่งมั่นในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน จากวัยที่ต่างกัน หลวงปู่มั่นจึงให้ความเคารพหลวงปู่สี เรียกหลวงปู่สีว่า “หลวงพี่” ในขณะที่ร่วมเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า ไม่เฉพาะแต่พระอาจารย์มั่นเท่านั้น ในขณะที่หลวงปู่ปฏิบัติธรรมอยู่ในดงในป่า หลวงปู่สีท่านได้พบพระที่ชอบปฏิบัติอยู่ตามป่าดงอีกหลายรูปด้วยกัน แต่หากไม่มีใครถามท่าน ท่านก็จะไม่พูดไม่เล่าให้ฟัง เพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระพูดน้อย สำรวม มุ่งแต่ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิต

    ข้อมูลที่พระอาจารย์มั่น พบกับหลวงปู่สีดังกล่าวข้างต้น ทราบจากคำบอกเล่าของ หลวงปู่บุดดา ถาวโร อายุ ๑๐๑ ปี เมื่อคราวนวดให้ท่านตอนอายุ ๙๙ ปี ปัจจุบันท่านละสังขารไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗

    ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงปู่สีธุดงค์กลับมายังบ้านหมกเต่า ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิด และจำพรรษาอยู่ที่วัดอีสานหมกเต่า

    หลวงปู่กลับสู่บ้านเกิดของท่านอย่างพระเถระผู้รุ่งเรืองด้วยบารมีธรรม นับจากบรรพชา หลวงปู่สีท่านก็ได้ผ่านช่วงของการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มข้น ตามปฏิปทาทางดำเนินของพระธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริง เป็นเวลาถึง ๑๐ ปี


    หลวงปู่สีท่านเป็นผู้มีบุญบารมี

    มีวาสนาที่ได้มีโอกาสได้รับการวางพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ธนบุรี ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเด็กวัด รับใช้สมเด็จฯ และบวชเป็นสามเณร อยู่นานถึง ๙ ปี และติดตามพระอาจารย์อินทร์ ธุดงค์อยู่ป่าอีกหลายปี หลวงปู่สีจึงมีพื้นญาณที่แข็งแกร่ง มั่นคงในทางธรรม จวบกับท่านได้มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตหลายรูปแบบ ทั้งพรานป่า พ่อค้า ข้าราชการ ทหารกล้าอาสาศึก ตำรวจหลวงในสมัย ร.๕ จวบจนท่านบรรพชาเป็นพระ มุ่งปฏิบัติธรรมตามป่าดง มุ่งแสวงหาธรรมในป่าเขา มิได้เป็นอยู่สบายเช่นพระเมือง

    หลวงปู่สีท่านได้กลับมาโปรดโยมพ่อ โยมแม่ของท่าน และญาติพี่น้องด้วยกตัญญู และเมตตาธรรม อาจารย์ประสงค์ ดีนาน อดีตอาจารย์ใหญ่ และเป็นหลานชายแท้ๆ ของหลวงปู่สี ได้เล่าว่า วันหนึ่งมีคณะมาสำรวจประวัติพระภิกษุในวัดต่างๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้สำรวจถามหลวงปู่ถึงชื่อ และฉายา หลวงปู่บอกว่าชื่อ “ลี” นามฉายา “จันทสิริ” (คำของภาษาท้องถิ่น) นั่นคือ หลวงปู่ชื่อ “ลี จันทสิริ” แต่ต่อมาเพื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ที่ตาคลี นครสวรรค์ คนทางตาคลีเรียกชื่อท่านเพี้ยนไปว่า “หลวงปู่สี ฉันทสิริ”

    หลวงปู่สี ฉันทสิริ เป็นพระผู้มักน้อย รักสันโดษ พูดน้อย ฉันน้อย แต่ทำมาก คือ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน สมถวิปัสสนา ทุกอิริยาบถ ๔ ท่านมุ่งมั่นในการฝึกฝน อบรมจิตด้วยสมาธิภาวนา โดยเพ่งกสิณเป็นอาจิณ ยกระดับจิตให้พ้นตัณหาดโอฆะทั้งปวง มุ่งความสะอาด สงบ สว่างแห่งจิต เป็นจุดหมายสำคัญ ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นตามแนวทางที่พระบรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แนะไว้ (อักขาตาโร ตถาคตา) หลวงปู่สีท่านรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ และของบริขารเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอย่างมาก หลวงปู่จะเช็ดถูกุฏิน้อยของท่านด้วยผ้าขี้ริ้วที่สะอาดอยู่เสมอ เช็ดถูจนพื้นขึ้นมันเป็นเงา ท่านจะปัดกวาดใต้ถุนกุฏิน้อย และบริเวณข้างเคียงเป็นประจำ จึงดูสะอาดตาโล่งเตียน และยังเป็นการบริหารร่างกายให้คลายเมื่อยขบอีกด้วย เรื่องความสะอาดนี้ อาจารย์สุพจน์ ผู้อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่สีได้เล่าเน้นให้ฟังอีกเช่นกัน

    สบง จีวร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ต่างๆ ของหลวงปู่สี จะดูสะอาดตาอย่างมาก ในการซักผ้านั้น ท่านไม่ให้ใช้สบู่ (สมัยโน้นมีสบู่กรด สบู่ซันไลต์) เป็นอันขาด ท่านจะใช้ต้มซัก หรือซักด้วยน้ำร้อนเท่านั้น เมื่อซักแล้วท่านไม่ค่อยชอบย้อม สีจึงซีดดูสะอาดตามาก ถ้าจะพึงย้อมผ้า หลวงปู่ก็ให้ย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุน ตามอย่างโบราณ่าของผ้ากาสาวะ ตามปกติหลวงปู่จะปลงผมทุกวันโกน กลางเดือน และสิ้นเดือน ท่านจะปลงด้วยตนเอง โดยไม่ส่องกระจกเงา และปลงผมได้เกลี้ยงเกลาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

    หลวงปู่สี ฉันทสิริ ไม่ฉันเนื้อวัว เนื้อควายเป็นอันขาด ด้วยวัวควายเป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ท่านหลวงปู่เป็นผู้ที่สำรวมระวังในอาหารการขบฉัน ตามแบบอย่างของสมณะ อาหารง่ายๆ ที่ท่านชอบฉัน เมื่ออยู่ที่วัดอีสานหมกเต่า คือ ข้าวสุกคลุกด้วยกากกะทิที่เคี่ยวเอาน้ำมันมะพร้าวแล้ว และท่านมักแบ่งให้แจกแก่เด็กนักเรียนช่วงพักกลางวัน (เพล) ด้วย สมัยนั้นยังไม่มีน้ำมันก๊าดใช้เพื่อให้แสงสว่าง จึงต้องใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวเอาเอง สำหรับน้ำที่ใช้ฉันนั้น ท่านหลวงปู่จะฉันน้ำต้มสุกทุกเวลา ถ้าต้มไม่สุกท่านจะไม่ฉันด้วย ส่วนมากจะเป็นน้ำใบชา น้ำมะตูม น้ำใบกะเพรา น้ำใบเตย รวมทั้งน้ำต้มพืชสมุนไพร ยาสมุนไพรด้วย

    หลวงปู่สีท่านไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ท่านขออยู่ด้วยความวิเวกเงียบสงัดให้เหมาะแก่การปฏิบัติ เพื่อสลัดตัดเสียซึ่งบ่วงแห่งตัณหาทั้งปวง เมื่ออยู่ที่วัดอีสานหมกเต่า ท่านก็เป็น “ครูบาใหญ่” เท่านั้น ไม่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส และไม่ว่าจะอยู่ที่วัดไหนๆ ด้วย โดยปกติหลวงปู่ท่านจะแยกตัวไปอยู่กุฏิน้อยเพียงรูปเดียว กุฏิน้อยของหลวงปู่สีนั้น ท่านจะให้ยกขึ้นแบบง่ายๆ เป็นการชั่วคราว มีความกว้างยาวพอประมาณ ยกพื้นเตี้ยๆ มีบันไดไม่เกิน ๓ ขั้น แบ่งพื้นเป็น ๒ ระดับ เรียกกันว่า พักล่าง พักบน

    พักบน เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐานสมาธิภาวนา จำวัด พักล่างเป็นที่นั่งปกติ ที่ฉัน และทำกิจบางอย่าง ถ้ามีพระเณรญาติโยมไปเยี่ยมไปหา ก็จะนั่งได้เพียง ๒-๓ ท่านเท่านั้น หลวงปู่สีมีวีธีป้องปรามเด็กๆ ส่งเสียงดังในบริเวณวัด ด้วยการใช้หน้าไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “หน้าถุน” ท่านจะใช้ดินเหนียวคลึงให้กลม ขนาดเท่าผลพุทราเขื่องๆ ตากให้แห้งเก็บไว้ใช้เป็นลูกหน้าถุน ถ้ามีพวกเด็กๆ ส่งเสียงดังให้รำคาญหู แม้จะอยู่ห่างกุฏิน้อย หลวงปู่ก็จะยิงด้วยหน้าถุน ให้ถูกกิ่งไม้ใกล้ๆ เด็ก จนลูกดินเหนียวแตกกระจาย เด็กๆ จะเงียบกริบทีเดียว ท่านไม่ใช้ปากปรามเด็กๆ อันเป็นการส่งเสียงดังเสียเอง และเป็นการระวังปาก ระวังเสียงของท่าน

    เหตุที่หลวงปู่สี ชอบอยู่กุฏิน้อยตามลำพังเพื่อปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั่นเอง จึงมีหลายท่านสรุปเอาเองว่า ท่านเป็นพระที่ไม่เข้าหมู่พวก ไปอยู่วัดไหนก็ให้ยกกุฏิน้อยให้อยู่องค์เดียว ฉันองค์เดียว พอออกพรรษาก็มักจะหนีไปเที่ยวในที่ต่างๆ ไปๆ มาๆ อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่แน่นอน ญาติโยมนิมนต์ไปงานบุญในละแวกบ้านก็มักจะไม่ไป และที่มองว่าหลวงปู่สีเป็นพระตระหนี่ เห็นแก่ตัวก็มีด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เอื้อให้หลวงปู่ท่านได้อยู่ตามลำพังอย่างสงบเงียบ ไม่วุ่นวาย เสมือนพระสิทธัตถะได้โอกาสอยู่ลำพัง พระองค์จึงตรัสรู้ได้ เพราะปัญจวัคคีย์ที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่เสียที่อื่น

    หลวงปู่สีท่านเองก็ไม่เคยอวดตัว ไม่บอกให้รู้ด้วยซ้ำว่าท่านกำลังทำอะไร กำลังปฏิบัติอะไร เพื่ออะไร อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานและญาติโยมทางบ้านเดิมมิได้สนใจท่าน ไม่ได้ตามถามถึงท่านเท่าที่ควร จะมีก็เพียงในฐานะเป็นญาติใกล้ชิดเท่านั้น จึงเป็นเสมือนใกล้เกลือกินด่าง ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมบุญบารมีธรรม เมตตาธรรมจากท่านหลวงปู่สี ในเมื่อท่านเข้าสู่ความเป็นผู้พ้นโลกแล้ว


    https://www.facebook.com/groups/226951157350091/permalink/862578717120662/
     

แชร์หน้านี้

Loading...