หลวงปู่มั่นละสังขาร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย nayple, 8 ธันวาคม 2013.

  1. nayple

    nayple ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กันยายน 2010
    โพสต์:
    312
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,130
    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]


    หลังจากที่ท่านอาจารย์มั่นได้มอบหมายให้อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ดูแลหมู่คณะแล้ว ท่านอาจารย์มั่นก็ออกท่องธุดงค์หาความสงบอยู่กับความวิเวกท่องเที่ยวอยู่ทางเชียงใหม่ เชียงราย เป็นเวลา ๑๒ ปี

    ในที่สุดท่านก็กลับมายังภาคอีสานบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นกำลังใจแก่ศิษย์ เป็นแกนกลางในการปฏิบัติและเผยแพร่ธรรม ท่านได้มาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือตลอด ๕ ปี ที่นี่ท่านได้วางแผนงานสุดท้ายให้แก่ศิษย์

    และแล้วก็มาถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน คือปี พ.ศ.๒๔๙๒ หลังจากที่ตรากตรำกรำงานมาหนัก ท่านไม่สบาย อาการหนักขึ้นทุก ๆ วัน ไม่บรรเทาเบาบาง ทั้งหมอและศิษย์ช่วยกันรักษาพยาบาล อาการก็ไม่ดีขึ้น

    มีอยู่วันหนึ่งค่อยยังชั่วขึ้นมาบ้าง แต่ท่านก็ไม่ยอมฉันอะไรเลย ไม่ว่ายาหรืออาหาร ท่านปฏิเสธหมด
    ท่านบอกว่า “ต้นไม้ที่มันตายยืนต้นอยู่แล้ว จะเอาน้ำไปรดเท่าไรจะให้มันเกิดใบอีกไม่ได้หรอก อายุของเรามันก็ถึงแล้ว”

    ต่อมาท่านได้บอกข่าวน่าสลดใจว่า “ชีวิตของเราใกล้สิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมเป็นครั้งสุดท้าย”

    ลูกศิษย์ลูกหาได้กระวีกระวาดติดต่อกันอย่างรีบด่วน เมื่อศิษย์ทั้งหลายมาพร้อมหน้า ท่านได้ลุกขึ้นนั่งแสดงธรรมแก่ศิษย์มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า
    “การปฏิบัติจิตถือเป็นเรื่องสำคัญ การทำจิตให้สงบถือเป็นกำลัง การพิจารณาอริยสัจถือเป็นการถูกต้อง การปฏิบัติข้อวัตรมีการฉันหนเดียวเป็นต้น ผู้เดินผิดทางย่อมไม่ถึงที่หมาย คือพระนิพพาน”

    ชาวบ้านอยากให้ท่านอาจารย์มั่นมรณภาพที่บ้านหนองผือ แต่ท่านบอกว่า
    “เราจะไม่มรณภาพที่นี่ เพราะถ้าเราตายที่นี่แล้วคนทั้งหลายก็จะพากันมามาก จะพากันฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย เนื่องด้วยศพของเราจะทำให้ชาวบ้านเป็นบาป สมควรที่จะจัดให้เราไปมรณภาพในจังหวัดสกลนครเถิด”

    “นับแต่ผมบวชมา ไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากเดือดร้อน โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความเมตตาสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูแก่สัตว์ ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักของแต่ละตัว เพราะผมเป็นต้นเหตุเพียงคนเดียวนั้นผมทำไม่ได้

    อย่างไรก็ขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่ เพียงผมป่วยยังไม่ถึงตายเลย ผู้คน พระเณร ก็พากันหลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน และนับวันมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งพอเป็นพยานอย่างประจักษ์แล้ว”

    “ผมตายได้ทุกกาล สถานที่ ไม่อาลัยเสียดายร่างกายนี้เลย เพราะผมได้พิจารณาทราบเรื่องของมันตลอดทั่วถึงแล้ว ว่าเป็นเพียงส่วนผสมของธาตุรวมกันอยู่ชั่วระยะกาล แล้วก็แตกทำลายลงไปสู่ธาตุเดิมของมันเท่านั้น จะมาอาลัยเสียดายหาประโยชน์อะไร

    ที่พูดมานี้ก็เพื่อความอนุเคราะห์สัตว์อย่าให้เขาต้องมาพร้อมกันตายเป็นป่าช้าผีดิบ วางขายเกลื่อนอยู่ริมถนนหนทางอันเป็นที่น่าสมเพชเวทนาเอาหนักหนาเลย ซึ่งไม่สุดวิสัยที่จะควรพิจารณาแก้ไขได้ในเวลานี้

    ฉะนั้น จึงขอให้รีบจัดการให้ผมได้ออกไปทันกับเวลาที่ยังควรอยู่ในระยะนี้ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ที่รอตายตามผมอยู่เป็นจำนวนมาก ให้เขาได้มีความปลอดภัยในชีวิตของเขาโดยทั่วกัน หรือใครมีความเห็นอย่างไรก็พูดได้ในเวลานี้”

    พระอาจารย์วิริยังค์ได้บันทึกไว้ว่า พระคณาจารย์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับทราบความประสงค์ของท่านแล้ว ก็พากันประชุมกันในค่ำคืนวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๑๒ นั่นเอง ตกลงจะนำท่านไปวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่งของพวกเขาจะไปในตอนเช้าของพรุ่งนี้แล้ว จึงทำให้เกิดโกลาหลอลหม่านไปราวกับว่าแผ่นดินทรุด ฉะนั้นไม่ทราบว่าจะคิดอ่านประการใดเพราะเหตุผลให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว

    ต่างก็หารือในอันที่จะยับยั้งท่านไว้ บางคนมากราบเรียนยับยั้งแต่ก็ไม่ได้ผล ในคืนวันนั้นก็มิได้เป็นอันหลับอันนอนกันทั้งหมู่บ้าน เข้ามาวัดฟังเหตุการณ์จนถึงรุ่งสางของวันใหม่ เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าท่านจะไป ทุกคนต่างก็แสดงสีหน้าสลดผิดปกติ ล้วนเสียใจเป็นที่ยิ่งไม่มีอะไรเปรียบ

    ชาวบ้านหนองผืออัดอั้นตันใจ จะพูดว่าอย่างไรก็หมดหนทางแล้ว สุดท้ายก็คือประชุมกันเพื่อไปส่งท่าน ภิกษุสามเณรในเช้าวันนั้นต่างก็รีบฉันกันแต่เช้า ครั้นเมื่อถึงกำหนดเวลา ซึ่งเป็นวันไปจากบ้านหนองผือของท่านอาจารย์มั่น ชาวบ้านทั้งแก่เฒ่าหนุ่มสาวหลามไหลเข้าวัดกันอย่างคับคั่ง ในมือถือดอกไม้และธูปเทียนนำเข้าถวายท่านอาจารย์มั่น แล้วก็กล่าวขอขมาลาโทษ

    ส่วนพระเถระได้มาประชุมกันที่หน้ากุฏิใหญ่ของท่านอาจารย์มั่น จัดแคร่สำหรับหามที่มุงด้วยผ้าขาวมาวางไว้ข้างบันได เมื่อทุกอย่างเสร็จแล้วก็เข้าไปกราบเรียนท่าน ท่านอาจารย์มั่นก็เตรียมตัวลุกขึ้นเองทั้ง ๆ ที่ท่านลุกไม่ได้มาตั้ง ๙ วันแล้ว ท่านเรียกเอาไม้เท้าค้ำยันเดินไปและก็เป็นการเดินครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน

    ท่านได้เดินไปที่แคร่หาม ผู้มีกำลังก็เข้าประจำที่จะหามท่านอาจารย์ออกจากบ้านหนองผือ ในวันนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. อันเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านหนองผือ สายตาของท่านได้สอดส่ายไปดูญาติโยมจนถ้วนทั่ว แต่ท่านก็ไม่ได้พูดอะไร

    ครั้นแล้วขบวนก็ได้เคลื่อนออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ บรรดาพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาก็ออกติดตามเป็นทิวแถว เมื่อขบวนผ่านใจกลางบ้าน ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็พากันชะเง้อคอมองดู บ้างก็เตรียมตัวออกมาส่ง บ้างก็แสดงความโศกเศร้าทั้งออกหน้าและลับหลัง เพราะของที่เคารพบูชาจะพลัดพรากจากไป ทั้ง ๆ ที่แลเห็นแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกครั้งเมื่อท่านกับพระภิกษุสามเณรแวดล้อมติดตามไปเป็นทิวแถวนั้นคือการไปบิณฑบาต แล้วก็กลับมายังที่วัดป่า

    มาบัดนี้ท่านได้ผ่านไปพร้อมกับพระภิกษุสามเณร เป็นการไปไม่กลับเสียแล้ว ชาวบ้านประมาณ ๒๐๐ ต่างก็พากันออกติดตามไปส่งเพื่อไว้อาลัย ที่ท่านได้มาสั่งสอนในธรรมะปฏิบัติต่าง ๆ จนพากันเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นระยะเวลาถึง ๕ ปีทีเดียว

    ขบวนได้มาถึงบ้านห้วยบุ่น ท่านอาจารย์หลุยกับท่านอาจารย์เนตรกำลังออกวิเวกอยู่ พึ่งรู้ออกมารับและติดตามไปด้วย ท่านอาจารย์วิริยังค์ถามว่า “เอ้า! ทำไมไม่รู้เรื่องหรือยังไง”
    ท่านอาจารย์หลุยตอบว่า “กำลังภาวนาอยู่ในถ้ำกำลังดี ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมก็เลยออกมาดู เจอพอดี เกือบเสียคน”

    คราวนี้พวกออกหน้าก็คอยถางทาง อันมีเรียวไม้ต้นไม้ระเกะระกะอยู่ พวกหามก็ผลัดกันออกผลัดกันเข้าเคลื่อนขบวนกันไปเรื่อย ๆ โดยอาการช้า ๆ ตามราวป่า แถวนั้นมีบ้านชาวเขาอยู่ประปรายห่าง ๆ กัน พอทราบข่าวการจากไปของท่านอาจารย์มั่น ก็พากันออกจากป่ามาเข้าขบวนเลยกลายเป็นขบวนใหญ่

    ขบวนนี้ก็ขึ้นดงลงห้วยลำธารเลาะลัดไปตามป่าไม้น้อยใหญ่เลียบไปตามชายภูเขามีเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ทั้งขึ้นโคกออกทุ่งเป็นแห่ง ๆ ไป มีทั้งต้นไม้เดียรดาษอันมีต้นพฤกษาชาติต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ มีทั้งสมอ มะขามป้อมซึ่งกำลังผลิดอกออกผล ขบวนได้หยุดลง ณ ที่นี่พอดี

    ผู้คนไปส่งก็พากันกลับ เหลือแต่ผู้หามเคลื่อนขบวนกันไปเรื่อย ๆ บ่ายโมงถึงบ้านโคกกระ-
    โหร่ง ได้หยุดพักถวายยาชูกำลังและบำบัดโรคตามสมควรเท่าที่จะหาได้เพื่อประทังไป ขบวนหามก็เริ่มหามต่อไป ในไม่ช้าข่าวนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วถึงชาวบ้านโคกสาวขวัญ , บ้านกุดอ้อม , บ้านบง , บ้านม่วงไข่พรรณา อำเภอพรรณา ว่าท่านอาจารย์มั่นกำลังมา

    ประชาชนต่างออกมาดักขบวนเข้าช่วยหาม เวลาบ่าย ๕ โมงเย็นก็ถึงบ้านโคกสาวขวัญ ถึงบ้านบงและพระได้เรียนท่านว่าบัดนี้ถึงบ้านกุดอ้อมแล้ว ท่านบอกว่าให้นำท่านไปวัดป่าบ้านนาภู่ แต่ชาวบ้านม่วงไข่ก็จะเอาไปม่วงไข่ ตอนนี้อยู่ระหว่างกึ่งกลางทางจะไปม่วงไข่และดงนาภู่

    ชาวบ้านได้เถียงกันเป็นการใหญ่ ต่างคนก็ต่างจะเอาไป ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า “ให้ไปบ้านภู่ดีกว่า” ขบวนจึงตกลงไปวัดป่าบ้านนาภู่ ท่านอาจารย์มั่นบอกแก่ขบวนว่า “เราต้องการจะไปโปรดนายอ่อนและนางสัม”

    ขบวนก็ข้ามทุ่งนา ซึ่งข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง เจ้าของนาก็ออกมารับและปวารณาว่าให้ย่ำข้าไปเลยจะเสียหายสักเท่าใดไม่ว่า “ท่านอาจารย์ผ่านนาโชคดีแท้ ๆ” เจ้าของนาว่า

    ในที่สุดขบวนก็มาถึงวัดป่าดงนาภู่ เป็นเวลา ๒๑.๐๐ น. พอดี จึงได้นำท่านอาจารย์ขึ้นสู่ศาลา พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างมาสักการะบำเพ็ญกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอ่อนและนางสัม โมราราช สองสามีภรรยาได้มีความปลาบปลื้มปีติเหลือล้น เพราะได้คิดว่าวัดนี้เป็นวัดของตน ท่านอาจารย์มั่นได้มาพักสมดั่งเจตนาเดิมด้วย ทั้งกลางวันกลางคืนได้เข้าเฝ้าท่านอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมห่าง

    วันนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ขณะที่นางสัมยืนมองท่านทางหน้าต่างศาลา ท่านทักขึ้นว่า “นี่หรือนางสัมภรรยานายอ่อน” นางสัมตอบว่า “ค่ะ” ท่านจึงถามต่อว่า “สบายดีหรือ” ตอบว่า “สบายดีค่ะ”
    “เราเต็มที่แล้ว โรคเกิดขึ้นคราวนี้หนักมากนะ” เป็นคำพูดที่ท่านพูดโต้ตอบมากกว่าใคร ๆ ทั้งสิ้น ทำให้นางสัมมีความยินดีปรีดาอย่างยิ่งและก็สลดใจ ฝ่ายท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโร) ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านเจ้าคุณอริยะคุณาธาร (เส็ง ปุญโส) พึ่งจะมาถึง ก็ทะยอยกันเข้ามาเป็นลำดับ

    ท่านอาจารย์มั่นได้พักอยู่ที่บ้านดงนาภู่เป็นเวลา ๙ วัน จวบกระทั่งวันแรม ๕ ค่ำ นางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้อุปัฏฐากมาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์เสาร์ ได้เข้าไปนมัสการท่าน ท่านพูดกับนางนุ่มว่า “เราเต็มที่แล้ว อาการหนักเหมือนบุรุษมีกำลังหลายคน จับคนไม่มีกำลังคนเดียว”

    เมื่อนางนุ่มได้ฟังแล้วก็รู้สึกตื้นตันใจจนไม่ทราบจะกล่าวประการใดก็ลากลับ ในระยะที่อยู่บ้านนาภู่นี้ผู้คนหลั่งไหลมามากมาย ทั้งไปกลับทั้งนอนค้างแน่นขนัดไปหมดทั่วบริเวณ การเข้านมัสการท่านอาจารย์มั่นนั้น เข้ากันจนไม่ขาดระยะ (ศาลาหลังนี้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร)

    อาจารย์วิริยังค์ผู้อุปัฏฐากมาตั้งแต่หนองผือจนกระทั่งบัดนี้ เห็นว่าจะเป็นการรบกวนท่านมากเกินไป เลยห้ามไม่ให้คนเข้ามาภายในศาลา ให้นมัสการข้างนอกแล้วปิดประตูไว้ เมื่อท่านได้ยินเข้ากลับบอกให้เขาเปิดประตูให้เข้ามาตามความพอใจ ผู้คนต่างพากันเข้ามาทางประตูจนเกิดแน่นขนัด ผู้ที่เข้าไม่ได้ก็ยืนมองอยู่ข้างนอกประตู เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องเปิดหน้าต่างอีกข้างหนึ่งใกล้ ๆ

    ตอนที่ท่านพักอยู่ที่บ้านนาภู่นั้น ได้พูดกับศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า
    “นำเราไปวัดสุทธาวาสเถอะเหมาะดี” ดังนี้ตั้งหลายครั้ง ส่วนนายอ่อนและนางสัมไม่ยอมเด็ดขาด อ้อนวอนท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ และท่านอาจารย์เทสก์ให้ทัดทานไม่ให้ท่านไป แต่ก็ไม่เป็นผล ท่านยังคงยืนยันคำเดิมและในวันนั้นคือวันพฤหัสบดี วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันเกิดของท่านพอดี ท่านบอกว่า

    “ต้องไปวันนี้เพราะเป็นวันสุดท้ายแล้ว”
    ชาวสกลนครมีนางนุ่มเป็นต้น ได้จัดการนำรถมาเพื่อนำท่านไปยังวัดสุทธาวาส จอดรถคอยตั้งแต่เช้าตรู่ของวันแรม ๕ ค่ำนั้นแล้ว แต่ด้วยเหตุที่นายอ่อนและนางสัมทัดทานอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การเดินทางต้องล่าช้า เพราะว่าคณาจารย์ที่เป็นศิษย์ของท่านต่างรู้แล้วว่า ท่านจะสิ้นใจไปเสียวันนี้เป็นแน่ จึงได้เตรียมการกันเสียเอิกเกริก เพื่อให้พอเพียงต่อความสะดวกต่าง ๆ

    ประชาชนและคฤหัสถ์ต่างเนืองแน่นอยู่เต็มบริเวณวัด ในที่สุดพระก็ได้อุ้มท่านเข้าสู่แคร่คานหามอีกครั้งเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. ก่อนที่จะขึ้นแคร่ท่านได้พูดกับพระคณาจารย์ที่ยืนออกันอยู่ ณ ที่นั่นว่า “เราจะเข้าฌานสงบ” แล้วท่านก็ไม่ได้พูดอะไรกับใครอีกเลย มีผู้คนติดตามไปส่งท่านที่รถเป็นขบวนยาวเหยียดเพื่อไปขึ้นรถยนต์ที่ถนนใหญ่ ซึ่งมีท่านอาจารย์เทสก์ , อาจารย์วิริยังค์ , ท่านอาจารย์วัน อุตตโม , ท่านอาจารย์สิงห์ , ท่านอาจารย์กงมา , เจ้าคุณธรรมเจดีย์ และสามเณรอำพนธิ์ ผู้ซึ่งเป็นเหลนของท่านเป็นผู้พยุงท่านไปกับรถ

    ขณะนั้นเองนายอ่อนนางสัม อุบาสกอุบาสิกาในแถบพรรณานิคมที่มาประชุมกันอยู่นั้นถึงกับตกตะลึง นางสัมเป็นลมล้มพับไป เพราะการไปของท่านอาจารย์มั่นคราวนี้ด่วนมาก ตกลงเพียงชั่วโมงเดียว จึงทำให้ไม่ทันคิดยับยั้งจิตไม่ทัน ทำให้เกิดความเสียใจมาก

    รถฟาร์โก้ขนาดเล็กพาท่านอาจารย์มั่น และคณะแล่นไปตามถนนหลวง ๑๔.๓๐ น. รถฟาร์โก้คนนั้นก็นำท่านอาจารย์ไปจอดสงบนิ่งอยู่ในลานวัดสุทธาวาส ครั้นถึงแล้วก็ได้จัดแจงเข้าพักในกุฏิเป็นที่เรียบร้อยและท่านก็นอนในสภาพปกติ ชาวสกลนครเดินทางมากราบไหว้ทั้งพ่อค้าประชาชนเป็นจำนวนมาก

    เมื่อดึกควรแก่เวลาแล้ว ชาวบ้านที่มานมัสการก็พากันทยอยกลับ ส่วนพระคณาจารย์ที่เป็นศิษย์ทั้งหลายก็ได้นั่งประชุมกันอยู่ตลอดเวลา อาการของท่านเป็นปกติอยู่จนกระทั่ง ๒๔.๐๐ น. ครั้นเมื่อถึง ๐๑.๐๐ น. อาการของท่านผิดปกติขึ้นทันที อาจารย์วัน อุตตโม ผู้ปฏิบัติใกล้ชิดได้รีบแจ้งแก่พระคณาจารย์ทุกองค์ แล้วมาพร้อมกันอยู่ในห้องเพื่อคอยดูอาการ

    ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ชีพจรทั้งหลายก็อ่อนลงทุก ๆ ที ถอนขึ้นทุกระยะจนเหลืออยู่แต่ที่หัวใจ และสิ้นลมหายใจด้วยอาการปกติทุกประการ
    ต่อจากนั้นอาจารย์ทั้งหลายก็ผลัดกันเข้าไปกราบศพเป็นลำดับ จนถึงวาระของพระอาจารย์วิริยังค์ ท่านได้กราบลงหมอนข้างศีรษะของอาจารย์มั่น จิตก็คิดว่า
    “ท่านอาจารย์หนอ มาละพวกกระผมไปเสียแล้ว โดยสภาพแห่งความเป็นจริงของสังขาร อันโทษกรรมใด ๆ ทั้งที่เป็นทางกายด้วย ทางวาจาด้วย ทางใจด้วย ซึ่งกระผมได้มีต่อท่านอาจารย์แล้ว ขอจงอโหสิกรรมแก่กระผมด้วยเถิด”

    อมตชน
    ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มรณภาพดับขันธ์ไปเมื่อเวลา ๐๒.๒๓ น. วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ รวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี
    พระผู้ใหญ่ได้สั่งให้จัดที่นอนให้เรียบร้อย และอาราธนาท่านให้นอนอยู่กับที่ที่ท่านมรณภาพไปก่อน พรุ่งนี้เช้าค่อยปรึกษาหารือกันใหม่ หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ พระเณร ก็ทยอยกันออกจากห้องลงไปอยู่ข้างล่างบ้าง ยังอยู่ที่เฉลียงนอกห้องบ้าง มีตะเกียงเจ้าพายุจุดอยู่อย่างสว่างไสวทั่วบริเวณ

    รุ่งเช้า ทั้งพระผู้ใหญ่ ทั้งข้าราชการทุกแผนกในตัวจังหวัดทราบข่าวการมรณภาพของท่าน ต่างก็พากันมาเยี่ยมศพท่าน และปรึกษาหารือกิจกรรมเกี่ยวกับศพท่านว่า ควรปฏิบัติเช่นไร เพื่อความเหมาะสมและเป็นการถวายเกียรติโดยควรแก่ฐานะที่ท่านเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความเคารพเลื่อมใส มีการนำข่าวออกทางวิทยุและหนังสือพิมพ์

    ในวันต่อมา เวลาบ่ายสี่โมง ได้สรงน้ำศพท่าน เสร็จแล้วใช้ผ้าขาวพับห่อพันองค์ท่านหลายชั้นภายนอกจีวรที่ครองถวาย เรียบร้อยแล้วก็อาราธนาเข้าในหีบศพถาวร หลังจากนั้นคณะศรัทธามีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นประธาน ปรึกษาตกลงให้มีการสวดมนต์ถวายท่านทุกคืน และมีการแสดงธรรมด้วยในวาระเดียวกัน ส่วนหีบศพท่านด้านหน้าปิดกระจกเพื่อท่านผู้มาแต่ไกลยังไม่เห็นองค์ท่าน ประสงค์จะดูก็ย่อมเป็นความสะดวกไม่เสียใจว่ามาแล้วไม่ได้เห็น

    วันเคลื่อนศพจากศาลาสู่เมรุ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีพระภิกษุสามเณรอุบาสกและอุบาสิกามากันแน่นขนัด เหลืออีก ๓ วัน ที่จะถึงวันประชุมเพลิง มีการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าบังสุกุลตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

    เมรุที่บรรจุศพท่าน ได้จัดขึ้นในบริเวณพระอุโบสถ จัดทำอย่างสวยงามสมเกียรติ ทำเป็นจตุรมุข มีลวดลายที่แปลกประหลาด การถวายเพลิงท่านมิได้ถวายด้วยฟืนหรือถ่าน แต่ถวายด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งบรรดาศิษย์ผู้เคารพเลื่อมใสในท่านสั่งมาจากฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศลาวเป็นพิเศษ และผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิง

    เวลา ๑๗.๐๐ น. ของวันเผา ร่วมกันวางดอกไม้จันทน์ ประชาชนแน่นขนัดในบริเวณวัดเนื่อที่กว่า ๕๐ ไร่ แม้เขาเหล่านั้นจะวางดอกไม้จันทน์กันแล้ว ทุกคนไม่กลับรอคอยประชุมเพลิงจริง เมื่อถึงเวลาเผาจริงคนจึงยิ่งมากขึ้นในเวลา ๒๒.๐๐ น.

    วันรุ่งขึ้น เวลา ๐๙.๐๐ น. ก็เริ่มเก็บอัฐิท่าน และแจกไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีผู้มาในงานนี้ เพื่อนำไปเป็นสมบัติกลาง โดยมอบกับพระในนามของจังหวัดนั้น ๆ เชิญไปบรรจุไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ตามแต่จะเห็นสมควร มี ๒๐ กว่าจังหวัดที่ได้ไป

    ส่วนประชาชนก็มีการแจกเหมือนกัน แต่คนมากต่อมาก ไม่อาจปฏิบัติได้ทั่วถึง พอคณะกรรมการเก็บอัฐิท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนทั้งหญิงชายต่างชุลมุนวุ่นวายกันเข้าเก็บกวาดเอาเถ้าและถ่านซึ่งเป็นเศษเหลือจากที่เก็บแล้วไปสักการะบูชา ได้คนละเล็กละน้อย จนสถานที่นั้นเตียนเกลี้ยงยิ่งกว่าล้างด้วยน้ำและเช็ดถู ครั้นได้ออกมาแล้ว ต่างคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสดีใจเป็นล้นพ้น

    อัฐิของท่านในเวลาต่อมา กลายเป็นพระธาตุ ทำให้เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์

    เฟสบุ๊ค กลุ่ม:พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น https://www.facebook.com/groups/226951157350091

    เฟสบุ๊ค เพจ : พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น
    https://www.facebook.com/pages/พระอรหันต์-สายหลวงปู่มั่น/238296179593402
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 ธันวาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...