หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค มหาโพธิสัตว์เมืองกรุงเก่า ตอน พบโขลงช้างที่สระบุรี

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 8 มีนาคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค มหาโพธิสัตว์เมืองกรุงเก่า ตอน พบโขลงช้างที่สระบุรี
    [​IMG]
    หลวงพ่อฤๅษีฯ ได้เล่าเรื่องหลวงพ่อปานนำคณะศิษย์ อันมี หลวงพ่อฤๅษีฯ พระเขียน และพระเพื่อนของหลวงพ่อฤๅษีฯ ที่ท่านเรียกว่า “จ้าลิงขาว และ “เจ้าลิงเล็ก” รวมเป็น 4 รูป ออกธุดงค์ไว้ว่า

    หลวงพ่อปานท่านสมาทานกับหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พระอุปัชฌาย์ของท่าน เมื่อสมาทานแล้ว (คำว่าสมาทานคือ ขอเรียนวิธีปฏิบัติตนเมื่อขณะไปธุดงค์) ท่านก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปพระพุทธบาท สมัยนั้นหารถยนต์เรือยนต์ได้ที่ไหน ต้องใช้รถเท้าหรือถ่อกันทั้งนั้น
    เมื่อเข้าเขตสระบุรี ท่านเห็นป่าแห่งหนึ่งว่าทุ่งว่างประมาณร้อยไร่ เห็นหมู่บ้านไกลจากทุ่งประมาณ 2 กม. ท่านเป็นหัวหน้า มีพระติดตามมาอีก 4 องค์ รวมเป็น 5 องค์ทั้งท่าน สมัยนั้นพระออกธุดงค์อย่างมากไม่เกินชุดละ 5 องค์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ลำบากชาวบ้านที่จะสงเคราะห์ เมื่อท่านเห็นเหมาะ ท่านสั่งพลพรรคปักกลดตามระเบียบของธุดงค์ เมื่อปักกลดแล้วจะมีอันตรายขนาดไหนก็ตามจะถอนกลดหนีไม่ได้ ต้องยอมตายเพื่อธรรมเสมอ
    เมื่อท่านจะปักกลด ท่านเลือกชัยภูมิที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม คือ เลือกเอาปากทางที่ออกมาจากป่า มีทางเดินออกจากป่าทางเดียว ตรงนั้นมีแอ่งน้ำแต่แห้ง แล้วท่านปักกลดตรงแอ่ง กลดของท่านคลุมปากแอ่งน้ำ ทุกองค์ต่างปักกลดเสร็จ พอเรียบร้อย ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ในป่าที่มองเห็นมีบ้านประมาณ 4 หลังคาเรือน เมื่อเขามองเห็นสีเหลืองก็ทราบว่าเป็นพระมาปักกลด ต่างก็พากันออกมา นำน้ำตาลน้ำดื่มมาถวาย เมื่อพระฉันครบแล้ว เขาก็บอกว่าที่ทุ่งนี้มีโขลงช้างอยู่ 1 โขลง มันอาศัยอยู่ในป่านี้ มันออกมาอาละวาดเสมอ พระที่มาปักกลดทุ่งนี้ตายเพราะช้างหลายองค์แล้ว เขาขอให้ถอนกลดไปปักใกล้บ้านเขาจะได้ไม่มีภัย ถ้าหากมีก็จะได้ช่วยทัน
    หลวงพ่อท่านรักธรรมวินัยยิ่งกว่าชีวิต ท่านบอกว่า เมื่อปักกลดแล้วถอนไม่ได้ ถ้าจะมีอันตรายถึงตายก็ยอม เพราะมาเพื่อตายกับธรรม ไม่ใช่มาแสวงหาความสุขทางกาย ชาวบ้านจะอ้อนวอนเท่าไรท่านก็ยืนยันระเบียบ พวกเขาก็จนปัญญา เมื่อเขาหวังดีแต่ไม่มีผล ต่างก็สั่งว่าถ้าบังเอิญช้างออกมาให้เคาะฝาบาตรเขาจะรีบมาช่วย
    เมื่อเวลาใกล้ค่ำ เขาก็พากันกลับ ก่อนกลับแสดงความห่วงใยมาก เมื่อชาวบ้านกลับ พระก็ต่างเข้าเจริญกรรมฐานตามความสามารถของตน
    เวลาผ่านไปประมาณ 22 น. ปรากฏว่าฝูงช้างออกมาจากป่าจริง ๆ เมื่อพระจะเจริญกรรมฐาน หลวงพ่อปานท่านก็สั่งให้พวกพระทั้งหมดตั้งอยู่ในพรหมวิหาร 4 ทำให้เป็นฌาน ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลแล้วจึงพิจารณาตามอารมณ์วิปัสสนาหรือภาวนาตามแบบสมถะ ท่านมีอาวุธของท่านครบทุกองค์ พระต่างใช้พรหมวิหารเป็นหลัก เมื่ออารมณ์สบายก็ทรงฌานตามปกติ มันเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับพระธุดงค์สมัยนั้น
    เมื่อฝูงช้างปรากฏ มีช้างตัวใหญ่ประเภทสีดอ ช้างงาสั้น ตัวใหญ่มาก ออกมาก่อนช้างตัวอื่น มายืนคร่อมกลดหลวงพ่อปานไว้ ด้วยท่านปักกลดปากทางออกพอดี ช้างตัวอื่นเมื่อจะออกมาต่างก็ต้องเบียดช้างตัวใหญ่ออกมาแล้วเดินไปตามทางเฉย ๆ ไม่มีใครสนใจกลดพระเลย เมื่อโขลงช้างตัวปกติออกไปหมดแล้ว ช้างตัวเอกจอมเกเรมาล่าสุด
    ชาวบ้านเรียกมันว่าไอ้เก เพราะงามันบิดเกไม่ตรงอยู่ข้างหนึ่ง พ่อเก พระเอกของโขลงออกมาแล้ว แกเดินแบบคนเก ตอนนั้นเป็นตอนข้างขึ้น เดือนสว่างมากเพราะใกล้กลางเดือน พระเห็นช้างถนัดทุกเชือก นายเกเมื่อเดินมาถึงทุ่งกว้างแทนที่แกจะเดินเข้าป่าตรงข้ามอย่างเชือกอื่น แกก็เริ่มวางท่าทางเกของแกออกมา เมื่อแกเหลียวซ้ายแลขวามองเห็นกลดพระธุดงค์ที่ปักอยู่เป็นระยะ แกมองด้วยใจที่ไม่เป็นมิตร แล้วก็วิ่งเข้าใส่กลดหลวงพ่อปานทันที
    หลวงพ่อฤๅษีฯ เขียนไว้ว่า
    “ท่านบอกว่าตอนนั้นฉันมีอารมณ์เป็นปกติ ฉันคิดถึงพระโพธิญาณเป็นอารมณ์ คิดว่าตายเมื่อไรฉันก็จะสบาย คือไปนอนรอเวลาที่ชั้นดุสิต ท่านบอกว่า ท่านไปของท่านเป็นปกติ จนมีอารมณ์รักชั้นดุสิตเป็นกำลังใหญ่ และพอใจพระโพธิญาณยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
    เมื่อเจ้าเกวิ่งเข้ามา ท่านบอกว่า ท่านไปนอนดูมันอยู่ชั้นดุสิต แบบนี้จะหวาดหวั่นอะไร สำหรับพระที่ไปด้วยท่านบอกว่า ฉันมองดูใจเขาทุกองค์ เขาเอาใจจดจ่อพระนิพพานทุกองค์ ฉันเลยสบายใจที่ฉันมีเพื่อน ไม่เสียทีที่ร่วมทางกันมา”
    เมื่อเจ้าเกวิ่งมาใกล้กลดหลวงพ่อปาน พอได้ระยะงวงของเจ้าสีดอที่ยืนคร่อมกลดหลวงพ่อปานอยู่ เจ้าสีดอก็เอางวงเหวี่ยงเจ้าเกเข้า 3 ปับ ฟาดแต่ละทีเจ้าเกหัวซุนเกือบทิ่มดิน เมื่อหวดเข้า 3 ทีแล้วก็จับงาเจ้าเกบิด หลวงพ่อปานท่านว่า ที่งามันเกคงจะเป็นเพราะอานิสงส์เกเรของมันที่ถูกนายของมันจับงาบิดนั่นเอง เมื่อถูกบิดงา เจ้าเกก็เสียหลักล้มลงอย่างแรง เมื่อนายมันปล่อย ปรากฏว่าหมดแรง เดินอย่างช้างสิ้นกำลังเข้าป่าตรงข้ามไป
    เมื่อเจ้าเกไปแล้วสักครู่ นายมันเดินวนเวียนสักพักใหญ่ เห็นพระไม่มีอันตราย ไม่มีใครมารบกวน แล้วก็หันมาทางกลดพระคุกเข่าลงชูงวงขึ้น ทำท่าเหมือนจะไหว้ แล้วก็ตามโขลงช้างลูกน้องไป
    แม้เมื่อช้างไปแล้ว แต่พระธุดงค์ก็ยังไม่ปลอดภัย คราวนี้ไม่ใช่เสือมารบกวน แต่เป็นเรื่องของ ธรรมชาติ ขณะนั้นพระจันทร์ที่กำลังส่องสว่างอยู่บนท้องฟ้าดี ๆ มีดาวล้อมดูสวยสดงดงามในราตรีนั้น เพียงชั่วเวลาที่ช้างไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง อากาศก็มืดเอาเฉย ๆ มืดจนมองไม่เห็นแสงเดือนและดาว ท้องฟ้าเริ่มต่ำ หยาดน้ำเริ่มไหลลงจากฟากฟ้า มันมาแบบไม่คอยใคร ต่างคนต่างแย่งกันมา
    พระธุดงค์มีระเบียบว่าปักกลดแล้วถอนไม่ได้ยอมตายกับธรรม เมื่อช้างไป ฝนมา คราวนี้เจ้าสีดอยอดเมตตาไม่มาช่วยแล้ว ด้วยตัวเองก็อาจจะกำลังหนีฝน ฝนกระหน่ำชนิดลืมหูลืมตาไม่ขึ้น พระนั่งไม่ได้ต้องยืนในกลด ออกก็ไม่ได้ ขณะที่ยืนปรากฏว่าพระลูกน้องปักกลดบนพื้นดินปกติ น้ำท่วมขึ้นมาถึงเข่า ส่วนหลวงพ่อปานเองท่านว่า แอ่งมันลึกกว่าพื้นดินประมาณ 1 ศอก น้ำขึ้นมาถึงโคนขา
    กว่าฝนจะหายก็ผ่านไปเกือบ 2 ชม. โดยประมาณ เมื่อฝนหายแล้วพื้นแผ่นดินไม่แห้ง พระทุกองค์ต่างก็เอาบาตรมารองนั่งตาม ๆ กัน
    รุ่งเช้าชาวบ้านมาแต่เช้า เห็นพระไม่ตายเพราะอ้ายเก ต่างพากันเลื่อมใสมาก เมื่อเห็นพระเปียกไม่มีผ้าแทน ก็เอาผ้าพื้นผ้านุ่งผู้ชายนุ่งแทนจนกว่าผ้าเดิมจะแห้ง
    ชาวบ้าน 5 หลังคาเรือนเลื่อมใสท่าน ขอให้อยู่โปรด 3 วัน เมื่อจะจากไปเขาขอของป้องกันเจ้าเก ท่านให้คาถาบทใหญ่และสำคัญที่สุดไว้ คาถาบทนั้นคือ “พุทโธ” โดยก่อนภาวนาขอให้นึกถึงบารมีพระพุทธเจ้าก่อน และแผ่เมตตาถึงเจ้าเกประกาศเป็นสัมพันธมิตรกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แล้วจึงภาวนาคาถา
    ปีต่อไป เมื่อหลวงพ่อปานท่านผ่านไปแถวนั้น ต้องปักกลดที่นั่นทุกปี ด้วยชาวบ้านเขาขอร้อง ปรากฏว่าคาถาของท่านได้ผล เขาพากันบอกว่านับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเจ้าเกไม่เคยอาละวาดเลย ในกาลก่อนเคยทำลายฟ่อนข้าวและทรัพย์สิน เห็นคนก็ไล่แทง เมื่อได้คาถาแล้ว มันมามันก็ไม่อยากมอง เดินก้มหน้าก้มตาไปเฉย ๆ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญฉลองพระพุทธรูปรับวัตถุมงคล.561939/
     

แชร์หน้านี้

Loading...