หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระผู้ทรงวิสุทธิคุณ ตอนพระเทวานัมปิยเถระ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 26 ตุลาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระผู้ทรงวิสุทธิคุณ ตอนพระเทวานัมปิยเถระ
    [​IMG]
    ชีวประวัติและปฏิปทาของ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ดำเนินมาแต่เมื่อเริ่มกำเนิด วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ...จนกระทั่งวันสุดท้าย คือวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๘ ได้ดำเนินมาเป็นมิ่งขวัญของประเทศ เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ปวงศิษย์ ทั้งบรรพชิต และฆราวาส และประชาชนทั่วไปอีกนานเท่านาน
    ยามเมื่อดำรงชนม์ชีพอยู่ องค์ท่านเจ้าของประวัติเอง...มิได้สนใจกับ “อดีต” ที่ผ่านมาแล้วของท่าน...ท่านมิได้สนใจกับ “อนาคต” ที่จะเป็นไป ซึ่งหากเป็นปุถุชนคนธรรมดาย่อมไขว่คว้าปรารถนาหาเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร แม้กระทั่งปรารถนาแดนพ้นทุกข์ ท่านก็มิได้สนใจแล้ว...ท่านมิได้สนใจแม้แต่ “ปัจจุบัน” ซึ่งก็อีกน่ะแหละ หากเป็นบุคคลธรรมดา ย่อมเร่งประกอบการงาน เร่งหาเลี้ยงชีพ หาชื่อเสียง ยศศักดิ์ เป็นนักบวช ก็เร่งทำความเพียร เร่งทำกิจอันควรกระทำ...ทำปัจจุบัน ให้สร้างอนาคต
    ท่านมิได้ต้องสนใจ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต และทั้งปัจจุบัน
    ท่าน “วาง” แล้ว ดังที่ท่านกำลังสอนอยู่ ให้เรา “วาง” บ้าง
    กิจอันควรกระทำของท่านคงจะได้เสร็จสิ้นแล้ว
    ท่านดำรงธาตุขันธ์อยู่ ท่านก็มีเมตตาธรรมเป็นเครื่องอยู่...โปรดศรัทธาญาติโยมตามกาละอันควร ตามเทศะอันควร จากเหนือจดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก ...ทั่วประเทศเขตแคว้น ทั้งต่างแดนใกล้และไกล ที่เมตตาของท่านประพรมโสรจสรงจิตใจคน
    “เรา” ต่างหากที่เมื่อกราบองค์ท่านแล้ว ด้วยความเคารพรัก เลื่อมใส ศรัทธา อย่างสุดซึ้งแล้ว ก็ยังมิได้พอใจเพียงนั้น ยังอาจเอื้อมขอความเมตตามากขึ้นไปอีก ขออนุญาตให้ได้นำ “อดีต” ของท่าน ที่ท่านทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำของศิษย์ทุกคน นำมารวบรวมเรียบเรียงเป็นชีวประวัติ อ้างด้วยว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนคนไทยรุ่นหลัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจได้ศึกษา เพื่อให้ผู้เคารพรักได้เทิดทูน เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นแนวทางให้ผู้ใคร่ในธรรมเร่งปฏิบัติทำความเพียร
    สารพัดจะอ้าง...
    ท่านก็เมตตา...
    แต่แรกผู้เขียนก็ตื่นเต้น ดีใจ ตามประสากบในกะลาครอบ...เราเคยกราบท่าน เคยเรียนถามท่าน ท่านเมตตาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม...คงเขียนได้...คิดดูไม่ยากเลย
    แต่เมื่อเริ่มรวบรวมข้อความ เริ่มลงมือเขียน จึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ง่ายเลย
    เป็นการยากที่จะนำ “อดีต” อันยาวนาน ผ่านมาตลอดเวลากว่า ๙๐ ปีนี้ มาบันทึกไว้ให้ได้ทุกบททุกตอน แม้จะให้เลือกเฉพาะที่ควรบันทึก ควรสนใจก็เถอะ...!
    “อดีต” ที่ดำเนินมาของท่าน....
    ...แต่วัยเด็ก ที่โลดเต้นไปตามประสาเด็ก แต่ก็มีความกตัญญูรู้คิด ทำหน้าที่ลูกที่ดี พี่ที่ดีของครอบครัว รู้คิด...เริ่มคำนึงหาทางออกจากทุกข์ จนออกบวช เป็นผ้าขาวน้อย เป็นสามเณร
    ...ผ่านวัยหนุ่ม ที่บวชเป็นภิกษุ แล้วก็ออกธุดงค์ บำเพ็ญความเพียรอย่างมอบกายถวายชีวิตให้ธรรม พยายามห้ำหั่นฟันกิเลสด้วยอุบายวิธีนานา...ทั้งที่ได้รับแนวทางคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ และที่เกิดปัญญาคิดค้นขึ้นมาได้เอง ผ่านสัตว์ร้ายในป่าลึก พบช้าง ผจญเสือ ทรมานงูพิษ พญานาค พบสิ่งลึกลับอันเกินสายตามนุษย์ธรรมดาจะพึงพบ พึงเห็น พึงรู้จัก....
    ...ผ่านวัยกลาง ที่เปรียบประดุจพญาราชสีห์กำลังทรงพลังอันแข็งแกร่ง เมื่อถึงเวลา...ก็บันลือสีหนาทก้อง...สยบป่าให้สิโรราบลง ท่านได้นำความองอาจ เด็ดเดี่ยว ความรู้ ความสงบ และดวงปัญญาที่สะสมดำเนินมาเป็นลำดับ ๆ ออกใช้เป็นดาบเพชร สยบตัดกิเลสอาสวะ ให้ขาดกระเด็นสิโรราบลงโดยราบคาบ
    ...สู่วัยปลาย ที่ท่านดำรงอยู่ด้วยทิฏฐธรรม วิหารธรรม เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของหมู่เทวดา และมวลมนุษย์ เป็นที่เคารพรัก สักการะของปวงชนชาวไทย
    จริงแท้ เป็นการยากอย่างยิ่ง ที่จะสามารถบันทึก “อดีต” อันยาวนาน ที่งดงามน่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งบำเพ็ญตาม...เหล่านี้มาบันทึกให้เป็นภาพประวัติที่งดงาม น่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งปฏิบัติบำเพ็ญตาม...เช่นดั่งความจริงที่ผ่านมา
    ยังมี “อดีต” ที่ไม่ได้ทราบ...ที่ ทราบแล้ว แต่ไม่ได้เขียน...ที่ เขียนแล้ว แต่คนเขียนไม่มีความสามารถจะถ่ายทอดความจริงได้
    ประดุจใบไม้อันเขียวขจีจับตาในป่า ยากอย่างยิ่งที่จะนำมาจัดลงประดับในแจกันเล็ก ๆ เพียงแจกันเดียว ใบไม้มาจนลานตาประการหนึ่ง เก็บที่สวยมาไม่ได้หมดประการหนึ่ง ผู้จัดไม่ได้มีสุนทรียจิตพออีกประการหนึ่ง ฉันใด แจกันเล็กใบนั้น...ก็ฉันนั้น หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ จะเก็บ คัด อย่างไรก็ไม่อาจเป็นตัวแทน “อดีต” อันงดงามของท่านได้
    จึงขอประทานอภัย ท่านผู้รู้ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้
    โดยเฉพาะองค์ท่านเจ้าของประวัติเอง
    aíaíaíaíaíaíaíaíaía
    บันทึกมาเพียงแค่นี้ (บันทึกครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๒๙) ก็มีน้อง ๆ มาซัก
    “พี่คะ ในโลกนี้ ยังมีพระอย่างนี้หรือคะ”
    “มีจริงหรือคะ”
    ต้องอธิบายไว้ด้วย ว่าการจัดทำหนังสือเล่มนี้นั้น ในช่วงหลังของหนังสือกว่าครึ่ง เป็นการเขียน “ผ่อนส่ง” คือเขียนไป ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ไป เพื่อให้พิมพ์เป็นเล่มเสร็จทันเวลา ฉะนั้น เขียนไปก็จะถูกเร่งต้นฉบับ เกรงช้า แต่ระยะหลัง การเร่งมิใช่เร่งเพราะกลัวช้า เพราะผู้พิมพ์ตัวคอมพิวฯ ซึ่งมีหลายคนอยากอ่าน อยากรู้เรื่อง มีคนซึ่งปกติไม่มีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟพิสูจน์อักษร ขอช่วยตรวจปรู๊ฟ แย่งกันพิมพ์ แย่งกันช่วยปรู๊ฟ
    เธอเหล่านั้น บอกว่า อ่านแล้ว ขนลุก น้ำตาคลอ....
    บางคนน้ำตาคลอ สงสารตอนท่านเป็นเด็ก ๗ ขวบ อยากหาเงินช่วยพ่อแม่หาบขี้ครั่งไปขายจนสองบ่าแตกเป็นแผล ...บางคนสงสารตอนท่านมีชีวิตอยู่ในป่า อกอยาก ยากแค้น ทนอด ทนหิว ทนหนาว ตากแดด ตากฝน มีชีวิตเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง บางคนจับใจตอนท่านเมตตาสั่งสอนเสือ สั่งสอนงูพิษ บางคนอัศจรรย์ ความรู้ความเห็นที่ลึกลับของท่าน บางคนตื่นเต้นตอนเทวดามาใส่บาตร เทวดามาคอยรักษา คอยอนุเคราะห์ บางคนสะดุ้งกลัวเรื่องภพชาติที่ต้องมาเกิดเวียนว่ายในวัฏวนของชีวิต
    “ขนาดท่านยังเคยต้องเกิดเป็นสัตว์ แล้วเราล่ะ...!”
    “ผมคงไม่กล้าทำบาปฆ่าสัตว์อีก ! ”
    aíaíaíaíaíaíaíaíaía
    “ท่านเป็นพระอย่างไร.....”
    “ท่านเป็นพระอรหันต์ใช่ไหมครับ”
    ท่านเป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ไหนเลยจะตอบได้ ธรรมของท่านอยู่ในจิตของท่าน ท่านผู้รู้เสมอด้วยท่านเท่านั้น จะตอบได้....
    เพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรของท่าน อย่างพระคุณเจ้าหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่มรณภาพแล้ว ถวายเพลิง และพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิธาตุต่างปรากฏเป็นพระธาตุแล้ว ท่านเหล่านั้นต่างเคยชมจิตของหลวงปู่เสมอ เฉพาะหลวงปู่ขาวนั้น ถ้าชาวจังหวัดเลยไปกราบ ท่านมักบอกเสมอ “....เสียค่ารถมาทำไมให้ลำบาก บ่อเพชรอยู่ที่จังหวัดเลย กลับไปกราบท่านอาจารย์ชอบเด้อ !”
    สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่สามเณรอจีรวตะ ผู้อัคคิเวสนโคตร ณ เวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ความว่า
    “ภิกษุนั้น รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก
    ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจาก เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี อดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต ภิกษุนั้นเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาด อันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า”
    หลวงปู่ย่อมรู้ชัดว่า ชาติของท่านสิ้นแล้วหรือไม่ พรหมจรรย์จบแล้วหรือไม่ กิจควรทำของท่านได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกหรือไม่
    ท่านได้แสดงให้ประจักษ์ตลอดมาว่า ท่านเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี ท่านอดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต
    ท่านคงเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว
    ท่านคงเป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า
    ท่านเป็นพระอย่างไร...เป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ดูเหมือนพระพุทธองค์จะเคยตรัสไว้เป็นสัจวาจาว่า “ดูก่อน อานนท์ ...ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ พระอรหันต์ย่อมไม่สูญไปจากโลก...”
    หลวงปู่ท่านปฏิบัติธรรมแล้ว สมควรแก่ธรรมแล้วแค่ไหน เราจะทราบได้อย่างไร
    นึกถึงที่ครูบาอาจารย์เคยเทศนา สาธกพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้ฟัง ยังจำได้ เนื่องด้วยคิดว่า ไพเราะนัก ท่านว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์แท้...”
    ถึงเราจะคิดว่า ที่ซึ่งครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่อยู่ เป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์ สงบเย็น แต่ก็อย่าไปนึกสงสัย คาดคิดให้ยุ่งไปเลย...
    เราลองนึกถึงความจริงข้อนี้กันดีกว่า...ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ ...!
    ในขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ บรรดาศิษย์ผู้เคารพรัก เลื่อมใส เทิดทูนท่าน ได้กราบขอเส้นเกศาของท่านไปกราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว แต่บางคนโชคดี ได้เห็นเส้นเกศาของท่านกำลังรวมตัว ในสภาพจะกลายเป็นพระธาตุแล้ว...!
    หรือบางคนนำรูปปั้นเหมือนของท่านบ้าง รูปภาพบ้าง นำขึ้นที่บูชาด้วยเคารพมุ่งมั่น รักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด วันดีคืนดีจะมีพระธาตุบ้าง เส้นเกศาบ้าง ปรากฏให้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ
    ในโลกนี้ ยังมีพระอย่างนี้อีกไหมคะ...?
    คงมีซี หนูเอ๋ย แต่อาจจะหายากหน่อย และเมื่อเราโชคดีได้พบแล้ว ก็ควรถือเป็นบุญอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสกราบพระอย่างท่าน
    “พระ” ผู้ยิ่งด้วยวิสุทธิธรรม
    “พระ” ผู้ควรแก่สมมตินามของ “พระ” โดยแท้
    “พระ” ผู้แปลว่า ผู้ประเสริฐ ผู้เลิศ ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ผู้ควรแก่อัญชลีกรรม ผู้ควรแก่ทักษิณาทาน..ผู้เป็นนาบุญเอกแห่งโลก ยากที่จะมีนาบุญใดมาเปรียบได้
    “พระ” ผู้เป็นที่เคารพ สักการะ และเทิดทูนแห่งมวลมนุษย์
    “พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ
    พระเทวานัมปิยเถระ
    aíaíaíaíaíaíaíaíaía
    ผู้เขียนยังจำได้ไม่ลืม เมื่อได้นำหนังสือ “ชีวประวัติพระคุณเจ้า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไปกราบถวาย พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ แห่ง วัดหินหมากเป้ง ท่านก็อ่านอย่างสนใจ เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน และเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันเช่นกัน ที่เรียกผู้เขียนไป... ท่านให้คำวิจารณ์โดยละเอียดและมากด้วยเมตตา จนทำให้ผู้เขียนอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า
    นี่แหละ ท่านผู้เป็นปราชญ์ ! ...ท่านผู้เป็นปราชญ์แท้ ย่อมเป็นดังนี้...!
    ....หลังจากที่ พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้อ่านจนจบถึงตอน พระเทวานัมปิยเถระ แล้ว ท่านก็รำพึงกับผู้เขียนว่า
    “เทวดารักท่านชอบมาก อันที่จริงแล้ว มากกว่าท่านอาจารย์มั่นด้วยซ้ำไป ...ในเรื่องเกี่ยวกับเทวดานี้แล้ว บางครั้งท่านอาจารย์มั่นก็ยังขอให้ท่านชอบช่วยจัดการให้เสมอ”
    เมื่อผู้เขียนแสดงความสงสัยว่า “เอ๊ะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์หลวงปู่ชอบนะเจ้าคะ เทวดาน่าจะรักและเกรงใจหลวงปู่มั่นมากกว่า”
    หลวงปู่เทสก์ ท่านก็อธิบายความว่า “เป็นเรื่องบารมีของแต่ละองค์ ก็เหมือนพระพุทธเจ้ากับพระสิวลี ในเรื่องบารมีทางลาภแล้ว บางครั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ยังให้พระสิวลีช่วย”
    “พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงแก้ววิหารหลวงพ่อโต-วัดกุฎีทอง-อยุธยา.553352/
     

แชร์หน้านี้

Loading...