หลวงปู่ขาวเรียนถามเรื่องการบรรลุธรรมกับหลวงปู่มั่น

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย กัณฑกะ, 20 กรกฎาคม 2013.

  1. กัณฑกะ

    กัณฑกะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    595
    ค่าพลัง:
    +1,427
    บางครั้งหลวงปู่ขาวเกิดความสงสัยเรียนถามท่านอาจารย์มั่นท่านยังดุเอา
    โดยท่านว่าถามเอาตามความชอบใจของตนมิได้เล็งดูหลักธรรมคือความจริง
    ควรจะเป็นอย่างไรบ้างความสงสัยที่เรียนถามนั้นมีว่า


    …ในครั้งพุทธกาลตามประวัติว่ามีผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานมากและรวดเร็วกว่าสมัยนี้
    ซึ่งไม่ค่อยมีท่านผู้ใดสำเร็จกันแม้ไม่มากเหมือนครั้งโน้นหากมีการสำเร็จได้ก็รู้สึกจะช้ากว่ากันมาก…


    ท่านย้อนถามทันทีว่า

    ท่านทราบได้อย่างไรว่าสมัยนี้ไม่ค่อยมีท่านผู้ได้สำเร็จมรรคผลกันแม้สำเร็จได้ก็ช้ากว่ากันมากดังนี้

    ท่านเรียนตอบท่านว่า

    ก็ไม่ค่อยได้ยินว่าใครสำเร็จเหมือนครั้งโน้นซึ่งเขียนไว้ในตำราว่าสำเร็จกันครั้งละมากๆ
    แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดตลอดการบำเพ็ญโดยลำพังในที่ต่างๆ
    ก็ทราบว่าท่านสำเร็จโดยรวดเร็วและง่ายดายจริงๆน่าเพลินใจด้วยผลที่ท่านได้รับ
    แต่มาสมัยทุกวันนี้ทำแทบล้มแทบตายก็ไม่ค่อยปรากฏผลเท่าที่ควรแก่เหตุบ้างเลย
    อันเป็นสาเหตุให้ผู้บำเพ็ญท้อใจและอ่อนแอต่อความเพียร


    ท่านอาจารย์มั่นถามท่านว่า

    ครั้งโน้นในตำราท่านแสดงไว้ด้วยหรือว่าผู้บำเพ็ญล้วนเป็นผู้สำเร็จอย่างรวดเร็ว
    และง่ายดายทันใจทุกรายไป

    หรือมีทั้งผู้ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้าผู้ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว
    ผู้ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้าและผู้ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว
    อันเป็นไปตามประเภทของบุคคลที่มีภูมิอุปนิสัยวาสนายิ่งหย่อนต่างกัน


    หลวงปู่ขาวเรียนตอบว่า

    มีแบ่งภาคไว้ต่างๆกันเหมือนกันมิได้มีแต่ผู้สำเร็จอย่างรวดเร็วและง่ายดายอย่างเดียว
    ส่วนผู้ปฏิบัติลำบากทั้งสำเร็จได้ช้าและปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็วก็มี
    แต่รู้สึกผิดกับสมัยทุกวันนี้อยู่มากแม้จะมีแบ่งประเภทบุคคลไว้ต่างกันเช่นเดียวกับสมัยนี้

    ท่านอาจารย์อธิบายว่า

    ข้อนี้ขึ้นอยู่กับผู้แนะนำถูกต้องแม่นยำผิดกันตลอดอำนาจวาสนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวก
    และพวกเราผิดกันอยู่มากจนเทียบกันไม่ได้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความสนใจในธรรมต่างกันมาก
    สำหรับสมัยนี้กับสมัยพุทธกาลแม้พื้นเพนิสัยก็ผิดกันกับครั้งนั้นมากเมื่ออะไรๆก็ผิดกัน
    ผลจะให้เป็นเหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้เราไม่ต้องพูดเรื่องผู้อื่นสมัยอื่นให้เยิ่นเย้อไปมาก
    แม้ตัวเราเองยังแสดงความหยาบกระทบกระเทือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาทั้งที่เป็นนักบวชและนักปฏิบัติ
    ซึ่งกำลังเข้าใจว่าตัวประกอบความเพียรอยู่เวลานั้น

    ด้วยวิธีเดินจงกรมอยู่บ้างนั่งสมาธิภาวนาอยู่บ้างแต่นั้นเป็นเพียงกิริยาแห่งความเพียรทางกาย
    ส่วนใจมิได้เป็นความเพียรไปตามกิริยาเลย
    มีแต่ความคิดสั่งสมกิเลสความกระเทือนใจอยู่ตลอดเวลา
    ในขณะที่เข้าใจว่าตนกำลังทำความเพียรด้วยวิธีนั้นๆ
    ดังนั้นผลจึงเป็นความกระทบกระเทือนใจโดยไม่เลือกกาลสถานที่
    แล้วก็มาเหมาเอาว่าตนทำความเพียรรอดตายไม่ได้รับผลเท่าที่ควร
    ความจริงตนเดินจงกรมนั่งสมาธิสั่งสมยาพิษทำลายตนโดยไม่รู้สึกตัวต่างหาก

    มิได้ตรงตามความจริงตามหลักแห่งความเพียรเลย

    ฉะนั้นครั้งพุทธกาลที่ท่านทำความเพียรด้วยความจริงจังหวังพ้นทุกข์จริงๆ
    กับสมัยที่พวกเราทำเล่นราวเด็กกับตุ๊กตาจึงนำมาเทียบกันไม่ได้
    ขืนเทียบไปมากเท่าไรยิ่งเป็นการขายกิเลสความไม่เป็นท่าของตัวมากเพียงนั้น
    ผมแม้เป็นคนในสมัยทำเล่นลวงๆตัวเองก็ไม่เห็นด้วยกับคำพูดดูถูกศาสนาและดูถูกตัวเองดังที่ท่านว่ามานั้น

    ถ้าท่านยังเห็นว่าตัวยังพอมีสารคุณอยู่บ้าง
    ท่านลองทำตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้โดยถูกต้องดูซิ
    อย่าทำตามแบบที่กิเลสพาฉุดลาดไปอยู่ทุกวี่ทุกวันทุกเวลา

    แม้ขณะกำลังเข้าใจว่าตนกำลังทำความเพียรอยู่มรรคผลนิพพานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
    เป็นสมบัติกลางจะเป็นสมบัติอันพึงใจท่านในวันหนึ่งแน่นอนโดยไม่มีคำว่ายากลำบาก
    และสำเร็จได้ช้ามาเป็นอุปสรรคได้เลยขนาดที่พวกเราทำความเพียร
    แบบกระดูกจะหลุดออกจากกันเพราะความขี้เกียจอ่อนแออยู่เวลานี้

    ผมเข้าใจว่าเหมือนคนที่แสนโง่และขี้เกียจเอาสิ่งอันเล็กๆเท่านิ้วมือไปเจาะภูเขาทั้งลูก
    แต่หวังให้ภูเขานั้นทะลุในวันเวลาเดียว
    ซึ่งเป็นที่น่าหัวเราะของท่านผู้ฉลาดปราดเปรื่องด้วยปัญญาและมีความเพียรกล้าเป็นไหนๆ
    พวกเราลองคิดดูประโยชน์แห่งความเพียรของท่านผู้เป็นศากยบุตรพุทธสาวกในครั้งพุทธกาล
    ท่านน่าสมเพชเวทนาเหลือประมาณแต่หวังพระนิพพานด้วยความเพียรเท่าฝ่ามือนั้น
    ลองคิดดูกิเลสเท่ามหาสมุทรแต่ความเพียรเท่าฝ่ามือนั้นมันห่างไกลกันขนาดไหน
    คนสมัยฝ่ามือแตะมหาสมุทรทำความเพียรเพียงเล็กน้อย
    แต่ความหมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสารเมื่อไม่ได้ตามใจหวังก็หาเรื่องตำหนิศาสนา

    และกาลสถานที่ตลอดคนสมัยนั้นสมัยนี้ไม่ละอายการประกาศความไม่เป็นท่าของตัว
    ให้นักปราชญ์ท่านหัวเราะด้วยความอ่อนใจว่าเราเป็นผู้หมดความสามารถโดยประการทั้งปวง

    การลงทุนแต่เพียงเล็กน้อยด้วยความเสียดายเรี่ยวแรงแต่ต้องการผลกำไรล้นโลกล้นสงสาร
    นั่นเป็นทางเดินของโมฆบุรุษโมฆสตรีผู้เตรียมสร้างป่าช้าไว้เผาตัวและนอนจมอยู่ในกองทุกข์

    ไม่ชมเชยศาสนธรรมชมเชยกาลสถานที่และบุคคลในครั้งพุทธกาลแต่ตำหนิศาสนธรรม
    ตำหนิกาลสถานที่และบุคคลในสมัยนี้จึงเป็นคำชมเชยและติเตียนของโมฆบุรุษโมฆสตรี

    ที่ปิดกั้นทางเดินของตนจนหาทางเล็ดลอดปลอดจากภัยไปไม่ได้
    และเป็นคำถามของคนสิ้นท่าเป็นคำถามของคนผู้ตัดหนามกั้นทางเดินของตัว
    มิได้เป็นคำถามเพื่อช่วยบุกเบิกทางเดินให้เตียนโล่งพอมีทางปลอดโปร่งโล่งใจ
    เพราะความสนใจปลดเปลื้องตนจากกิเลสด้วยสวากขาตธรรม
    อันเป็นมัชฌิมาที่เคยให้ความเสมอภาคแก่สัตว์โลกผู้สนใจปฏิบัติตามโดยถูกต้องตลอดมาแต่อย่างใดเลย…..


    (คัดลอกจากส่วนหนึ่งของหนังสืออนาลโยวาท:หลวงปู่ขาวอนาลโย)
    https://www.facebook.com/pages/ศูนย์เผยแผ่ธรรมะออนไลน์กัณฑกะ/185628298217350
     

แชร์หน้านี้

Loading...