หนีนรกโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๕ อบายภูมิเบื้องต้น

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 18 มกราคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๕ อบายภูมิเบื้องต้น
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    สำหรับตอนที่ ๕ ก็มาขอปรารถถึงเรื่อง การปฏิบัติตนเพื่อการหนีบาป
    เรื่องการหนีบาปนี้เราก็ต้องพูดกันเรื่อยๆ
    วิธีการหนีบาปก็ต้องพูดกันเหมือนกัน
    วิธีการหนีบาปเอาตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ตรัสไว้ในสังโยชน์ ความจริงสังโยชน์ทั้งหมดนี่มี ๑๐ ประการ
    แต่ถ้าตัดได้ถึง ๑๐ ก็เป็นพระอรหันต์
    ตัดได้ ๕ ก็เป็นพระอนาคา
    ถ้าตัดได้ ๓ ก็เป็นพระโสดาบันกับสกิทาคามี

    สำหรับเรื่องความเป็นพระโสดาบันหรือไม่นั้น
    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าสนใจ
    ถ้าเรามุ่งความเป็นพระโสดาบันจริงๆ อารมณ์จิตจะกลุ้ม
    ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นหรือไม่เป็นเราไม่ทราบ
    ถ้าเผอิญไม่เป็นพระโสดาบัน คิดว่าได้เป็นพระโสดาบัน กรรมหนักจะมาทีหลัง

    นั่นก็คือว่า ถ้าเวลาตายพลาดพลั้งลงไป เราจะไม่พ้นเขตอบายภูมิ
    ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัท จงตั้งใจคิดแต่เพียงว่าเราจะคุมกำลังใจ
    ให้อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการนั่นเอง
    อารมณ์ที่เราจะต้องพ้น ทำจิตใจให้ไม่มีความกังวลในอารมณ์ของสังโยชน์ ก็คือ

    ๑. สักกายทิฏฐิ อารมณ์ของสังโยชน์
    มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มันจะไม่ตาย
    ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสะอาด ไม่มีอาการสกปรก
    น่ารัก น่าชม ร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย
    ร่างกายมีในเรา อารมณ์ของสังโยชน์เป็นอย่างนี้
    เราก็ต้อค้านตัดทำลายอารมณ์นี้ทิ้งไป
    ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงแค่เบื้องต้นว่า
    ร่างกายนี้ปกติมันต้องตาย มันไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ได้
    ร่างกายสกปรกหรือไม่สกปรก น่ารักหรือไม่น่ารัก ไม่ต้องคิด
    ยังไม่ถึงเวลานั้น ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา
    เรามีในร่างกายหรือไม่มีในร่างกายก็ไม่ต้องคิดเหมือนกัน
    ปล่อยไว้ก่อน เพราะอารมณ์นั้นสูงเกินไป
    เรามาใช้กันแต่เฉพาะอารมณ์เบื้องต้นเท่านั้น

    ในตอนนี้มีความรู้สึกครั้งแรกว่า ชีวิตทีเกิดมามันเป็นของไม่เที่ยง
    แต่ความตายเป็นของเที่ยง เราต้องตายแน่นอน
    และทำความรู้สึกแบบ เปสการี
    เธอมีความรู้สึกว่าความตายมีแน่ แต่ไม่รู้เวลาตายจะเป็นเวลาไหน
    ตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางวัน ตายกลางคืน
    จะตายมีอายุน้อย ตายมีอายุมาก ไม่แน่นอน
    ระมัดระวังไว้เสมอว่า คิดว่า เราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ
    และก็ต้องตั้งใจทำความดี
    จิตทรงอารมณ์ของความดีไว้ เข้าแก้สังโยชน์ข้อที่ ๒

    สังโยชน์ข้อที่ ๒ มีความรู้สึกในใจสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า
    พระธรรมและพระอริยสงฆ์ และก็ตัดอารมณ์นั้นทิ้งด้วยปัญญา
    ว่าพระพุทธเจ้าดี พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ดี
    พระอริยสงฆ์มีความดี ทั้ง ๓ ประการมีความดี
    ควรยอมรับนับถือได้ และก็เต็มใจในการยอมรับนับถือ

    สังโยชน์ข้อที่ ๓ มีความไม่แน่นอนในศีล
    ทำตนเป็นการปฏิบัติตนแบบศรัทธาหัวเฒ่า ผลุบเข้าผลุบออก
    เคารพในศีลบ้าง ไม่เคารพในศีลบ้าง อันนี้เป็นเหยื่อของอบายภูมิ
    เราก็ต้องฝืน อารมณ์นี้เอาชนะให้ได้
    มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ศีลเราต้องรักษาให้แน่นอน
    เฉพาะฆราวาสมีศีลห้า คือ ศีลมี ๕ สิกขาบท
    มีปาณาติบาต เป็นต้น มีสุราเป็นที่สุด
    เราจะเว้นแน่นอนในศีล ๕ ประการ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
    บาปกรรมเก่าๆ ที่ทำไว้แล้วเท่าไร
    ก็เป็นเรื่องของเวลานั้นไม่ใช่เวลานี้
    เวลานี้เราจะเป็นคนดีมีความเคารพในศีล

    เพียงแค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ถ้าอารมณ์ของทุกคนมีความไม่ประมาทในชีวิต
    คิดว่ามันอาจจะต้องตาย ในเมื่อความตายนี้ก็ไม่แน่นอนนัก
    จะตายเมื่อไรก็ได้ พร้อมคิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ
    แล้วก็ทรงความดีเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
    ทรงศีลให้บริสุทธิ์ เป็นปกติ
    เพียงแค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ
    คือ การเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี
    เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี จะไม่มีสำหรับเราไปทุกชาติ ทุกสมัย
    ถ้าจะมีการเกิดอีกเพียงใดก็ตามที ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ไม่ไปกันแน่
    ทางที่จะไปอย่างต่ำก็มนุษย์ อย่างสูงขึ้นไปก็สวรรค์หรือพรหม
    ถ้าขณะใดเกิดจิตไม่นิยมร่างกายขึ้นมาเมื่อไร
    ขณะนั้นก็ถึงนิพพานทันที

    สำหรับเรื่องการหนีบาปในเบื้องต้น
    ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ
    ก็ต้องพูดกันทุกวันแบบนี้ กันลืม

    ต่อแต่นี้ไปก็มาพูดกันถึงอารมณ์
    อารมณ์ของบุคคลนี้เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน
    อันนี้เป็นตอนที่ ๕ วันนี้ก็จะขอพูดถึงอารมณ์ของคน
    ที่ความจริง ก็ไม่ได้หมายถึง บาป บาปที่ทำมายังไม่ถึง
    เป็นแต่เพียงว่าก่อนตายมีความคิดว่า ต้องการอะไร
    และจิตตั้งความมุ่งหมายไว้อย่างไร
    เวลาตายแล้วไปเกิดที่นั่นทันที
    แต่สำหรับการตายการเกิดในวันนี้
    ก็ขอพูดถึงอบายภูมิเบื้องต้น คือ ขั้นสัตว์เดรัจฉาน
    เพราะตายจากความเป็นคน เพราะไม่ได้ละเมิดศีล
    ไม่ใช่โอกาสไม่ใช่บาปที่ละเมิดศีล
    ไม่ใช่ว่าบาปปรามาสพระไตรสรณคมณ์
    มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นแต่เพียงอารมณ์คิดเฉยๆ ว่า จุดนี้ดี
    พอตายปุ๊บก็ไปทันที เกิดที่นั่นทันใด
    แล้วภายหลังต่อจากนั้นไป
    เมื่อตายจากไปแล้ว เขาก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
    ตอนที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดมีความรักในพระปัจเจกของพระพุทธเจ้า
    เมื่อตายจากสัตว์เดรัจฉาน เมื่อตายจากสุนัข (เขาเป็นสุนัข)
    ก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก

    นี่ถ้าท่านทั้งหลายได้ฟังใครเขาพูดว่า
    สัตว์เดรัจฉานทำบุญไม่ได้นั้น ไม่จริง
    อย่างท่านผู้นี้ก็ดี หรือว่า เอราวันเทพบุตร ก็ดี
    ท่านเอราวัณเทพบุตร เป็นช้างของพระอินทร์ในสมัยที่เป็น มฆมานพ
    ใช้แบกไม้ ใช้ดึงไม้ เอาไปสร้างศาลาเป็นสาธารณะ
    ตายไปจากความเป็นช้างไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก
    มีนามว่า เอราวัณเทพบุตร
    ก็รวมความว่าสัตว์เดรัจฉานก็ทำบุญได้
    เทวดาหรือพรหมก็ทำบุญได้ มีผลเช่นกัน

    ก็ขอนำเอาเรื่องรางของพระสูตร เรื่องนี้มาคุยสู่กันฟัง
    เวลานี้ก็ผ่านไป ๙ นาทีแล้ว เรื่องนี้ก็ปรากฏใน พระธรรมบทขุททกนิกาย
    มาในเรื่อง สามาวดี ท่านตัวเอกของเรื่องในเรื่องนี้
    ตามบาลีว่าเรื่อง โกตุหลิกะ
    โกตุหลิกะคนนี้เป็นคนยากจน
    หนีภัยแห่งโรคระบาดมากับภรรยาและลูกน้อย
    ในที่สุดเมื่ออาหารหมดในป่าหลายวัน
    ทนไม่ไหวต้องปล่อยลูกน้อยตายในป่า
    (คือลูกเล็กๆ ลูกน้อยก็หมายถึงลูกคนเดียว
    และก็เป็นลูกยังเล็กอยู่ช่วยตัวเองไม่ได้)
    แต่กรรมนี้ยังตามสนองเธอไม่ทัน
    ออกมาก็ไปสู่บ้านของกฏมพี คือ คนที่มีเงิน ไปขอข้าวเขากิน
    เพราะอยากจะทำงานเพื่อเลี้ยงชีพเฉยๆ
    ค่าจ้างจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่ทราบ ไม่เป็นไร
    ต้องการอย่างเดียว คือ ทรงชีวิตอยู่ได้

    คนที่อดคนที่หิวเป็นอย่างนี้
    บรรดาท่านพุทธบริษัท มีความคิดอยู่ว่า
    ถ้าชีวิตมีอยู่ได้ก็ใช้ได้ มีอาหารกินก็ใช้ได้

    เมื่อเข้าไปถึงบ้านของท่านกุฎุมพี แล้ว
    เข้าไปพร้อมกับภรรยาว่า ท่านกุฎุมพีให้คนจัดอาหารมาเลี้ยง
    ก็เป็นอาหารประเภทที่คนใช้กิน อย่างคนใช้เขากิน
    จะว่าเลวเกินไปก็ไม่ใช่แน่
    บ้านคนที่มีความร่ำรวย เขาไม่ถือว่าแกงหมู แกงเนื้อ
    แกงไก่ มันเลิศประเสริฐเกินไป
    มันชินสำหรับบ้านประเภทนั้น
    อย่างบ้านเราจนๆ อาตมาเองก็เคยเกิดในฐานะที่ไม่ค่อยจะมีอะไรกินนัก
    บางครั้งพวกเราเห็นพริกเผานิดหน่อย
    ที่ผสมน้ำปลาเอร็ดอร่อยเหลือเกิน
    เห็นคนอื่นเขากินหมู กินเนื้อ กินไก่
    ก็มีความรู้สึกในใจว่าถ้าเรารวยเมื่อไร จะกินหมู กินเนื้อ กินไก่มันทุกวัน
    กินมันทั้งวันเลยก็ยังได้ ความรู้สึกของคนอด
    ความรู้สึกของคนหิวมีแค่นี้ ไม่ทะเยอะทะยานมากเกินไป

    ในขณะที่ โกตุหลิกะ เห็นว่าท่านกุฎุมพี
    ให้คนรับใช้เอาอาหารมาให้สองส่วนเวลานี้
    อาจแบ่งเป็นจานก็ได้ หรือจะเป็นจานถาดหลุมก็ได้
    นำเอามาให้ภรรยาส่วนหนึ่ง คือ ชามหนึ่ง
    เอามาให้นายโกตุหลิกะชามหนึ่ง
    ภรรยารักสามีมาก ส่วนของเธอเธอยังไม่กินให้สามีกินก่อน
    ท่านสามีก็แสนจะดีมาก
    น่าจะคิดว่าเรากับภรรยาต่างคนต่างอดกันมา
    ก็กินกันคนละชาม มันก็ทรงชีวิตได้แล้ว
    แต่ว่าบุรุษผู้ใจแกล้ว คำว่า "ใจแกล้ว" นี่นะ
    ใจแกล้วในด้านความโง่ แทนที่เธอจะคิดอย่างนั้น
    ส่วนของเธอว่าเสียถนัดใจกินจนหมดชาม
    ภรรยาทนหิว น่ารักเหลือเกิน
    เมื่อเห็นผัวกินหมดชาม แล้วก็ถามว่าต้องการอีกไหม
    ถ้าต้องการเธอให้ส่วนของเธอ
    นายโกตุหลิกะก็บอก "เอา"
    ความจริงน้ำใจแบบนี้ไม่น่ารักเลย เมียส่งให้ก็กินอีก

    ขณะที่กินข้าวอยู่นั่นที่ท่านกุฎุมพี ท่านมีสุนัขตัวเมียอยู่ตัวหนึ่ง
    ท่านเลี้ยงไว้ใกล้ชิดและก็ท่านเองท่านกำลังกินข้าวเหมือนกัน
    กินข้าวมธุปายาส ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวที่มีราคาแพงมาก
    จะกินได้แต่คนที่ร่ำรวยกับมหาเศรษฐี กับกษัตริย์เท่านั้น
    คนที่จนลงมากินบ่อยๆ ไม่ได้นานๆ กินครั้งได้
    แต่อย่างท่านกุฏุมพี ท่านกินได้ทุกวันทุกเวลา
    ข้าวมธุปายาสเขาทำอย่างไร
    ไม่ขออธิบายในที่นี้ เปลืองเวลาเปล่าๆ

    เมื่อท่านกินข้าวมธุปายาส หมาตัวเมียที่ท่านเลี้ยงไว้
    มันหมอบอยู่ใกล้ๆ ท่านก็เอาใส่จานแบ่งให้หมาตัวเมีย
    เจ้าหมาตัวเมียผู้น่ารัก ผู้มีบุญมันก็กินข้าวนั่น
    โกตุหลิกะมองดูหมาตัวเมียก็คิดในใจว่า
    เจ้าหมาตัวนี้มันเกิดเป็นหมา มันดีกว่าเราซึ่งเป็นคนมาก
    เราซึ่งเป็นคนเกิดมาจนกระทั่งมีเมียมีลูกหนึ่งคนแล้ว
    คำว่าข้าวมธุปายาส แม้แต่เอาเศษของเล็บเข้าไปแตะก็ไม่เคยได้พบ
    ทั้งนี้ข้างมธุปายาสเป็นข้าวที่มีราคาแพงมาก
    เหมาะสำหรับคนที่มีฐานะดีอย่างกุฎุมพี และเศรษฐีเท่านั้น
    เธอก็นึกในใจว่าหมาตัวนี้มีบุญเหลือเกิน
    แต่ว่าเธอจะคิดว่าเราเกิดเป็นหมาบ้างก็ดี
    คิดหรือเปล่าบาลีไม่ได้บอก

    รวมความว่าขณะที่คิดว่าเจ้าหมาตัวนั้นดีกว่าตัวเท่านั้น
    เธอกินข้าวหมดชามชามหลัง ตามพระบาลีบอกว่า "ลมกำเริบ"
    ก็คือ อาหารไม่ย่อย ย่อยไม่ทัน
    อดมาตั้งหลายวัน กินเข้าไปมาก
    ส่วนทุกส่วนของร่ายกายก็เพลีย ไม่สามารถจะย่อยได้
    เธอก็ขาดใจตายลงไป เวลานั้นเมื่อขาดใจตายไปแล้ว
    "จิตวิญญาณ" หรือ "อทิสสมานกาย" วิญญาณไม่ไปด้วยแน่
    ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟังไว้ด้วยนะ

    คำว่า "วิญญาณ" นั้นเป็นความรู้สึก
    และที่เราเรียกกันว่า "ประสาท"
    ตามที่เขาบอกกันว่า ขันธ์ ๕ มี ๕ อย่าง
    คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    ทั้ง ๕ อย่างนี้เวลาตายมันตายพร้อมกัน
    คือ ไม่เกาะกับร่างกาย วิญญาณไม่ใช่จิต
    วิญญาณไม่ใช่อทิสสมานกาย

    สำหรับสิ่งที่ออกจากร่างกายไป คือ จิตหรืออทิสสมานกาย
    จิตมีสภาพคิด อทิสสมานกาย คือ กายอีกกายหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในเนื้อกายนั้น
    ตามธรรมดาที่เขาบอกว่า คนตายแล้วไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง
    ไปเกิดที่นั้นบ้าง เราจะเห็นว่าร่างกายถูกเผาบ้าง ถูกฝังบ้าง
    เอาอะไรไปเกิด ? ก็คือ เอาความจริงของตัวเราข้างในไปเกิด
    ตัวเราข้างใน ถ้าจะเห็นได้ ถ้าไม่ได้ทิพจักขุญาณ
    เห็นด้วยตาเปล่าไม่ได้ เห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้
    ท่านจึงเรียกว่า "อทิสสมานกาย"
    เป็นกายที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ
    ถ้าเราจะมีความรู้สึกว่าจะมีไหม ก็ต้องตอบว่า มี
    นั่นก็คือ เวลาฝัน เรานอน ฝันว่าทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น
    นั่นแหละ ในกายข้างในจริงๆ มันไปจริงๆ
    แต่กายเนื้อมันนอนอยู่
    เจ้ากายตัวนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท

    ขณะที่อารมณ์จิตคิดว่า หมาตัวนี้ดีกว่าเรา มีบุญวาสนาดีกว่าเรา
    เมื่อสิ้นลมปราณลมหายใจหมดไปปั๊บ
    กายตัวนี้มันออกจากกายเนื้อ
    เข้าสู่ครรภ์ของนางหมาตัวเมียทันที
    ต่อมาไม่ช้าไม่นานเท่าไร ก็คลอดออกมาเป็นหมาโทน
    การที่ตายจากคนไปเกิดเป็นสุนัข
    สุนัขประเภทนี้รู้ภาษาคนดีมาก เป็นที่รักของท่านคหบดี

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    อย่าคิดว่ากรรมที่ทำให้เขาเกิดเป็นสุนัขนี้
    ยังไม่หมายถึง การทิ้งลูก กรรมบาปที่ทิ้งลูกยังไม่มาสนอง
    กรรมอย่างอื่นใด กรรมเพราะการปรามาสพระไตรสรณคมณ์
    ก็ยังไม่มาถึง กรรมเพราะละเมิดศีลห้าข้อข้อใดข้อหนึ่ง ก็ยังไม่มาถึง
    เป็นแต่เพียงความรู้สึกคิดว่าสุนัขดี หรือหมาดี เพียงคิดเท่านี้
    พอจิตออกจากร่างหรืออทิสสมานกายออกจากร่าง
    ก็เข้าสู่ครรภ์ของสุนัขทันที เข้าท้องหมา

    นี่จำไว้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราเจริญ สมาธิ
    และ วิปัสสนาญาณ ทำอารมณ์ให้ทรงตัว ที่เรียกว่า "สมาธิ"
    คือ การตั้งใจ ตั้งใจนึกถึงความดี มี พุทธานุสสติ
    นึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้น ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรม
    สังฆานุสสติ นึกถึงพระอริยสงฆ์
    สีลานุสสติ จิตคุมอารมณ์ในศีลห้าให้ทรงตัว
    จาคานุสสติ นึกถึงทานการบริจาค คือ การให้
    เทวตานุสสติ นึกถึงความดีของเทวดา เป็นต้น
    ที่องค์สมเด็จพระทศพลแนะนำให้ทำอย่างนี้
    ที่ท่านบอกว่าทำให้เป็นฌาน "ฌาน" คือ อารมณ์ชิน
    การนึกถึงความดีทั้ง ๖ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
    ถ้าเวลาจะตายในยามปกติ เราก็นึกได้บ้างนึกไม่ได้บ้าง
    ลืมบ้าง นึกถึงบ้าง แต่เวลาก่อนจะหลับหรือตื่นใหม่ๆ
    ควรจะทรงอารมณ์ให้ทรงตัว คือ ตั้งใจภาวนา
    โดยนึกถึงให้ทรงตัวสัก ๒-๓ นาทีก็พอให้ชิน
    และเวลาใกล้จะตายจริงๆ อารมณ์ความดีจะรวมตัว
    ถ้านึกถึงอารมณ์ความดี ๖ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
    อย่างเลวหรืออย่างอ่อนที่สุด
    ตายจากความเป็นคนจะไปเป็นเทวดาหรือพรหมทันที

    ทั้งนี้เพราะอะไร ?
    เพราะจิตน้อมถึงกุศล คำว่า "กุศล" หมายถึง จิตคิดอยู่ในความฉลาด
    ไม่พลาดจากความดี ก็เล่ากันย่อๆ เรื่องพุทธานุสสติ เป็นต้น
    เอาไว้ถึงเวลานั้นค่อยมาพูดกัน

    ต่อมาก็มาคุยกับบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
    เมื่อเขาเกิดเป็นสุนุข อาศัยที่ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นสุนัข
    ภาษาของคนทุกคำเขารู้เรื่องหมด แต่ว่าเขาจะพูดอย่างคนไม่ได้
    ได้แต่อาการของการแสดงออกทางกายบ้าง ทางเสียงบ้าง ทางตาบ้าง
    รวมความว่า ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    พึงทราบว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหมดทีเราเห็นๆ อยู่นี่ มาจากคนทั้งนั้น
    คนที่มีอารมณ์พลาดจากความดี
    อารมณ์ของความชั่วเข้าสิงใจ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ไม่ยาก

    เรื่องนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสต่อไปว่า
    หลังจากที่เขาเกิดเป็นสุนัขแล้ว เป็นสุนัขแสนรู้ที่ท่านคหบดีรักมาก
    ท่านคหบดีก็มีพระองค์หนึ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
    ท่านคหบดีมีความเคารพมาก
    เวลาออกพรรษาแล้ว ท่านก็มาพักที่เขาใกล้ๆ
    เวลาจะไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า
    ก็นำเอาเจ้าสุนัขแสนรู้ตัวนี้ไปด้วย
    บางครั้งบางคราวท่านมีธุระไม่สามารถจะไปได้
    ก็ใช้สุนัขแสนรู้ตัวนี้ไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า

    การนิมนต์ของเธอก็เห่าบ้าง หอนบ้าง แสดงสัญญาณ
    จุดที่ใดที่ท่านมหาเศรษฐี คือ พุ่มไม้ใหญ่ๆ ที่หนาทึบ
    ท่านมหาเศรษฐีคหบดี ท่านคิดว่าสัตว์ร้าย อาจจะอาศัยอยู่
    ไปถึงท่านก็ตีให้มันหนีไป คือ พุ่มไม้ให้มันตกใจหนีไป
    เจ้าสุนัขตัวนี้จำได้ เวลาไปเองตามลำพังไปถึงที่นั่นก็เห่าบ้าง หอนบ้าง
    เป็นการกระโชก หากว่าสัตว์ร้ายมีจะได้หนีไป

    ต่อมาปรากฏว่าเวลาเข้าพรรษาใกล้เข้ามา
    พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ไปลาท่านคหบดี
    ขอไปจำพรรษาที่ภูเขาคันธมาทน์
    อันเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั่วไป
    เมื่อลาท่านแล้วก็ออกไป เจ้าสุนัขตัวนี้มันรักพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก
    มองดูพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหาะไป เห่าบ้าง หอนบ้าง
    ส่งเสียงแสดงถึงความรักความเคารพ
    พอพระปัจเจกพุทธเจ้าพ้นสายตาของมัน มันก็ขาดใจตายทันที
    ตายเพราะความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า
    หรือตายเพราะวาระเข้ามาถึงดีกว่า
    อาตมาคิดว่ามันตาย เพราะวาระของชีวิตเข้ามาถึงพอดี
    แต่ว่าคนส่วนใหญ่มักพูดว่า
    ตายเพราะอาศัยความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า
    แต่เรื่องความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ อาตมาไม่เถียงว่ารักแน่
    รักและก็มีความเคารพ และก็แสนรู้
    แต่บางครั้งพระปัจเจกพุทธเจ้า จะลองใจมัน
    ในเมื่อเจ้าสุนัขตัวนี้ไปตามท่าน ท่านก็เดินตามมา
    บางคราวท่านลองใจ แกล้งเดินเลยทางที่จะเลี้ยวเข้าบ้าน
    เจ้าสุนัขตัวนี้ก็วิ่งเข้ากั้น พอท่านแกล้งเดินเลยต่อไป
    มันก็ดึงชายสบงให้กลับ ตอนดึงชายสบงนี้ไม่กลับไม่ได้
    บรรดาท่านพุทธบริษัท เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้านี่มีผ้าแค่ ๓ ผืนสำคัญ
    คือ สบง ๑ ตัว จีวร ๑ ตัว สังฆาฏิ ๑ ตัว
    ผ้าเกินก็มี "รัดประคตเอว" กับ "อังสะ" เท่านั้นเอง
    ถ้าเผอิญผ้าสบงหายไป เพราะเจ้าสุนัขดึงก็เห็นจะเป็นชีเปลือย

    รวมความว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ลองแล้วลองอีก
    มันก็ไม่ยอมให้ท่านเลยหลังบ้าน นี่แสดงถึงความรักในตัวมัน
    มันรักพระปัจเจกมากจริงๆ ก็อาศัยที่มีความเคารพอย่างนี้แหละ
    บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง เขารักพระปัจเจกพุทธเจ้า
    แสดงถึงความเคารพรักด้วย เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า
    บันดาลให้เธอเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก

    เห็นไหมบรรดาท่านพุทธบริษัท สัตว์เดรัจฉาน ก็ทำความดีได้
    ไปเกิดเป็นเทวดาแล้วก็มีนามตามที่เขาประกาศกันว่า โฆษกเทพบุตร

    คำว่า "โฆษก" หรือว่า "โฆษกะ" แปลว่า "กึกก้อง"
    คือ เสียงดังมาก อย่างโฆษกเขาประกาศอะไรเขาต้องใช้เสียงดังๆ
    อย่างในศาลาที่ญาติโยมจะทำบุญก็ดี ในวัดที่เขาทำบุญกันก็ดี
    ในงานต่างๆ ที่ทำบุญก็ดี หรือมีงานก็ตาม
    โฆษกจะเป็นคนเสียงดังมาก
    ถ้าเสียงตัวเองดังไม่พอ ก็ใช้เครื่องขยายเสียงช่วย

    ก็รวมความว่า โฆษกเทพบุตรเสียงดังมาก
    ท่านบอกว่าแค่พูดเบาๆ ดังไปถึง ๖๐ โยชน์
    ถ้าหัวเราะเต็มเสียงดังก้องชั้นดาวดึงส์

    เธอเสวยความสุขบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลกอยู่นานเท่าไร
    บาลีไม่ได้บอก แต่ว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลกนี่มีเวลาอยู่พันปีทิพย์
    คือ มีอายุได้จริงๆนั้น ๑,๐๐๐ ปีทิพย์
    แต่ว่า ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ของดาวดึงส์ ไม่ใช่ ๑,๐๐๐ ปี ของมนุษย์
    หากเทียบเวลากันในมนุษย์ ๑๐๐ ปี เท่ากับ ๑ วันของดาวดึงส์
    แต่สำหรับดาวดึงส์นั่น ๓๐ วันก็เป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนก็เป็น ๑ ปี
    ก็เลยไม่ทราบว่า เธอเป็นเทวดาในดาวดึงส์กี่วันของเทวดา
    หรือว่ากี่ปีของเทวดา และนับเวลาเท่าไรของเมืองมนุษย์ อันนี้อาตมาไม่ทราบ

    เอาแต่เพียงว่า คนที่จะไม่ทำบาป เพราะขาดศีลห้า
    ไม่ทำบาป เพราะมีเจตนาปรามาสพระไตรสรณคมณ์
    แต่อารมณ์จิตฟุ้งซ่าน นิยมส่วนที่เป็นส่วนเสีย
    หมายความว่า อารมณ์ที่ต่ำกว่า คือ ไปนิยมสัตว์เดรัจฉาน
    หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ตายแล้วก็ไปอยู่อบายภูมิแค่สัตว์เดรัจฉานได้
    และส่วนที่กล่าวมาแล้วนั้นบางตอนลงนรกไปเลย

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    จึงขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงระมัดระวังอย่าไว้ใจตนเอง
    ทุกวันทุกเวลา ฝึกไว้ว่าเราอาจจะตายวันนี้ และก็ทรงความดี
    คือ ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
    และกำลังใจตั้งตรงอยู่ในศีลทั้ง ๕ ประการ
    ไม่ละเมิดศีลทั้งกาย วาจา และใจ

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถ้าทำได้อย่างนี้
    เกิดกี่ชาติ ก็ไม่เกิดในอบายภูมิแน่
    ในเมื่อแลดูเวลา หมด ๓๐ นาทีพอดี
    ก็ต้องขอลาก่อนนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    โอกาสหน้าพบกันใหม่ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี
    ที่มาhttp://palungjit.org/posts/9895186
     

แชร์หน้านี้

Loading...