สุขภาพจิตกับพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย ผ่อนคลาย, 16 สิงหาคม 2010.

  1. ผ่อนคลาย

    ผ่อนคลาย Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    5,775
    ค่าพลัง:
    +12,934
    [​IMG]

    บทบาทของพระสงฆ์ในด้านสุขภาพจิต

    บทบาทพระสงฆ์ พระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา มีบทบาทต่อสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของสังคมอย่างโดดเด่นมาตั้งแต่อดีต เมื่อมาในยุคปัจจุบัน บทบาทของพระสงฆ์ในงานด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพจิต หรือการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในด้านบวกและด้านลบ ทั้งเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมและอาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนในอีกสังคมหนึ่งก็ได้ อาจจำแนกบทบาทพระสงฆ์ในสังคมที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ดังนี้

    พระสงฆ์ในฐานะผู้สืบทอดพระศาสนา

    บทบาทของพระสงฆ์เด่นชัดอยู่แล้วโดยถือปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาท คือ บทบาท ๓ ทาง ได้แก่ บทบาทส่วนตน คือ การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์ ขัดเกลากิเลส อบรมตนเองให้เป็นสุปฏิบัติ อุชุปฏิบัติ
    เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้หมดจด

    พระสงฆ์ในฐานะผู้บำบัดรักษา

    ในปัจจุบันพระสงฆ์ก็มีบทบาทสำคัญต่อการรักษา เยียวยาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างมาก

    สำนักเขาน้ำพุ ได้มีข่าวดังเกรียวกราวเมื่อหลายปีก่อนเมื่อพระสงฆ์ได้รับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ไร้ญาติขาดมิตรเพราะสังคมรังเกียจหรือเพราะความไม่เข้าใจของสังคม เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้สังคมไม่ยอมรับ เป็นที่รังเกียจของคนในสังคมแม้แต่พ่อแม่เองก็ยากจะทำใจยอมรับได้ จึงทำให้ญาตินำผู้ป่วยไปฝากไว้ในที่นั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและภาระการดูแลผู้ป่วย

    ถ้ำกระบอก รับรักษาบำบัดผู้ติดยาเสพติด เป็นอีกสำนักหนึ่งที่ทำหน้าที่เพื่อบำบัดผู้มีปัญหาเพราะยาเสพติด ซึ่งมีชื่อเสียงมากและมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจำนวนมาก แม้จะเป็นการบำบัดโรคทางกายมิใช่โรคทางใจอย่างที่พระองค์ประสงค์แต่ก็พอจะสงเคราะห์เข้ากันได้ ถ้าหากร่างกายดีก็ส่งผลต่อทางด้านจิตใจด้วย

    พระสงฆ์ในฐานะผู้เสดาะเคราะห์ หมอผี หมอดู

    พระสงฆ์จึงมีบทบาทในการทำให้ประชาชนได้สบายใจ เป็นการทำการบำบัดโดยอาศัยความเชื่อ ไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการก็ทำได้

    ฉะนั้นพระสงฆ์จึงมีบทบาทต่อสังคมไทยเป็นอย่างมากทั้งในทางที่ถูกต้องตามหลักการและนอกหลักการของศาสนา จะเห็นได้ว่าสังคมไทยสมัยก่อนยึดติดอยู่กับวัดกับพระสงฆ์จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตกัน

    แต่ทุกวันนี้คนเริ่มห่างวัด หาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ สถิติผู้ป่วยโรคจิตโรคประสาทจึงเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามพระสงฆ์ก็มีพระธรรมวินัยเป็นขอบเขตในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมเช่นกัน


    การป้องกันสุขภาพจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

    ชีวิตจะดีงามมีความสุขประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคนซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพการพัฒนาคนก็คือการศึกษาประโยชน์หรือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของชีวิต เรียกว่า อัตถะ หรืออรรถ มี ๒ ระดับ ถ้าแยกละเอียด แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

    ๑. จุดหมายชั้นตาเห็นหรือประโยชน์ปัจจุบันทันตา (ทิฏฐะธัมมิกัตถะ)
    ที่สำคัญคือ
    ๑.๑ ความมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง สง่างาม ไร้โรคตลอดจะมีอายุยืนยาว
    ๑.๒ ความมีทรัพย์สินเงินทอง อย่างน้อยมีอาชีพการงานพึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ
    ๑.๓ การมีครอบคัวที่มั่นคงผาสุก ตลอดจนวงศ์ตระกูลเป็นที่นับถือ
    ๑.๔ ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีสถานภาพดี มีชื่อเสียงเกียรติคุณ พรั่งพร้อมด้วย ยศ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ บริวาร ยศ หรืออิสริยยศ

    ๒. จุหมายขั้นเลยตามองเห็น หรือประโยชน์เบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ)
    เช่น
    ๒.๑ การมีความสุขทางจิตใจ ด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย ซาบซึ้งในบุญกุศล และ มั่นใจในการทำกรรมดี

    ๒.๒ ความอิ่มใจมั่นใจในชีวิตของตนที่มีความประพฤติสุจริตดีงามได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง

    ๒.๓ ความอิ่มใจภูมิใจในความมีชีวิตที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ที่ได้เสียสละทำการสร้างสรรค์เกื้อกูลไว้แก่เพื่อนมนุษย์และสังคม

    ๒.๔ ความแกล้วกล้ามั่นใจ และปลอดโปร่งเบิกบานใจเนื่องจากมีความรู้ มีปัญญาที่จะแก้ปัญหาและจัดทำดำเนินกิจการต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

    ๒.๕ ความสบายใจมั่นใจในกรรมที่ได้ประกอบไว้อันเป็นบุญกุศลดีงามสุจริตเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้าสามารถจากโลกนี้ไปโดยไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยแห่งทุคติ

    ๓. จุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถะ)
    หมายถึง ความมีจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงบรรลุภาวะที่เรียกสั้น ๆ ว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอิสรภาพ สันติ และความสุขอย่างสูงสุด มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรมคือความผันผวนปรวนแปรเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานเป็นสุขและสะอาดบริสุทธิ์ได้ตลอดทุกเวลามีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริงอนึ่ง ประโยชน์หรือจุดหมาย

    (อัตถะ) ทั้ง ๒ หรือ ๓ ระดับนี้ แยกออกไปอีกเป็น ๓ ด้าน ซึ่งบัณฑิตที่แท้จริงจะต้องบำเพ็ญให้สำเร็จคือ

    ๑. ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ)
    คือประโยชน์ ๓ ระดับ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ที่พึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนเองให้ลุถึง

    ๒. ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)
    คือประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อมนุษย์ได้บรรลุถึงด้วยการชักนำให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

    ๓. ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ)
    คือ ประโยชน์ร่วมกันหรือประโยชน์แก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสภาพและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่พึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษาอันจะเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นเข้าถึงจุดหมายทั้ง ๓ ระดับนั้นการฝึกตนของมนุษย์นั้น เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) การพัฒนาชีวิต คือ ภาวนา (วิปัสสนา)

    มนุษย์อาจแสวงหาหรือทำให้สำเร็จได้ ทั้งจากการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนของระบบที่จัดตั้งกันขึ้นไว้ในสังคมมนุษย์ คือในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และจากการเรียนรู้ด้วยวิธีการอย่างอื่น ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการศึกษานอกระบบการศึกษา (สิกขา) แยกซอยออกไปเป็น ๓ ด้าน โดยสอดคล้องกับองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิตมนุษย์ที่มี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ศีล คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม หมายถึง การพัฒนาพฤติกรรม ทางกายและวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องมีผลดี

    สิ่งแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์มี ๒ ประเภท คือ

    ๑. สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ เพื่อนมนุษย์ (ในความหมายเดิมทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งสัตว์อื่นทั้งหลายทั้งปวงด้วย)

    ๒. สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ได้แก่ ปัจจัย ๔ เครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยี และสิ่งทั้งหลายที่มีในธรรมชาติการรู้จักใช้อินทรีย์ (อินทรียสังวร) เรารับรู้สิ่งแวดล้อม โดยผ่านทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ถ้ารับรู้ใช้หูตาไม่เป็น เช่น ดูไม่เป็น ฟังไม่เป็น แทนที่จะได้รับประโยชน์ก็จะเกิดโทษ จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมในการใช้อินทรีย์ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ เมื่อดูเป็น ฟังเป็น ก็จะได้ปัญญาได้คุณภาพชีวิตและนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลและทำการสร้างสรรค์

    สมาธิ หมายถึง การฝึกฝนพัฒนาในด้านจิตใจสมาธิมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจิตใจเป็นบานของพฤติกรรม เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือเจตนา ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงาม ก็จะควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย แม้ความสุขความทุกข์ในที่สุดก็อยู่ที่ใจยิ่งกว่านั้น ปัญญาจะเจริญงอกงามได้ ด้วยอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งสู้ปัญหาเอาใจใส่ มีความเพียรพยายามที่จะคิดค้นไม่ท้อถอย คือต้องมีสมาธิ จึงจะคิดได้ชัดเจน เจาะลึกทะลุได้ และมองเห็นทั่วตลอด จิตที่ฝึกดีแล้ว จึงเป็นฐานที่จะให้ปัญญาทำงานและพัฒนาอย่างได้ผล

    การพัฒนาจิตใจนี้ มีสมาธิเป็นแกนหรือเป็นศูนย์กลาง

    สมาธิ อาจแยกออกได้เป็นการพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจในด้านต่าง ๆ คือ พัฒนาคุณธรรม ซึ่งเป็นคุณภารพของจิตใจ กล่าวคือ คุณสมบัติที่สร้างจิตใจให้ดีงาม ให้เป็นจิตใจที่สูง ประณีตและประเสริฐ เช่น

    เมตตา คือ ความรัก และปรารถนาดี เป็นมิตรอยากให้ผู้อื่นมีความสุข
    กรุณา คือ ความสงสารอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
    มุทิตา คือ ความพลอยยินดี พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่ประสบความสำเร็จมีความสุขหรือก้าวหน้าในการทำสิ่งที่ดีงาม
    อุเบกขา คือ ความวางตัววางใจเป็นกลางเพื่อรักษาธรรมเมื่อผู้อื่นควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามเหตุและผล
    จาคะ คือ ความมีน้ำใจ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว
    กตัญญูกตเวทิตา คือ ความรู้จักคุณค่า แห่งการกระทำของผู้อื่น และแสดงออกให้เห็นถึงการรู้คุณค่านั้น
    หิริ คือ ความอายต่อบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว
    โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วร้าย
    คารวะ คือ ความเคารพ ความใส่ใจรู้จักให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้น ผู้นั้น อย่างถูกต้องเหมาะสม
    มัทวะ คือ ความอ่อนโยน สุภาพ นุ่มนวล ไม่กระด้าง

    พัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ

    โดยเสริมสร้างคุณสมบัติที่ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคงแกล้วกล้าสามารถทำกิจหน้าที่ได้ผลดี เช่น

    ฉันทะ คือ ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ อยากรู้ความจริง และใฝ่ที่จะทำสิ่งดีงามให้สำเร็จอยากเข้าถึงภาวะดีงามอันเลิศสูงสุด
    วิริยะ คือ ความเพียร บุกฝ่าไปข้าหน้า เอาธุระรับผิดชอบ ไม่ยอมทอดทิ้งกิจหน้าที่
    อุตสาหะ คือ ความขยันความอึดสู้ ความสู้ยากบากบั่น ไม่ถอย
    ขันติ คือ ความอดทน ความเข้มแข็ง ความทนทาน หนักแน่น มั่นคง
    สัจจะ คือ ความตั้งใจจริง จริงใจและจริงจัง เอาจริงเอาจัง
    อธิษฐาน คือ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย
    ตบะ คือ พลังเผากิเลส กำลังความเข้มแข็งพากเพียรในการทำกิจหน้าที่ให้สำเร็จ
    สติ คือ ความระลึกนึกได้ ไม่เผอเรอ ไม่เลื่อนลอยทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป
    สมาธิ คือ ภาวะจิตที่ตั้งมั่น แน่วแน่ ได้ที่ อยู่ตัวสงบ อยู่กับสิ่งที่ต้องการทำ

    พัฒนาความสุขและภาวะที่เกื้อหนุนสุขภาพของจิตใจ

    คุณสมบัติที่ควรเสริมสร้างขึ้นให้มีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อความมีสุขภาพจิตที่ดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะ

    ปราโมทย์ คือ ความร่าเริง สดชื่น เบิกบาน ไม่หดหู่หรือห่อเหี่ยว
    ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปราบปลื้ม เปรมใจ ฟูใจ ไม่โหยหิวแห้งใจ
    ปัสสัทธิ คือ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่คับไม่เครียด
    สุข คือ ความคล่องใจ สะดวกสบายใจ สมใจ ไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดคับข้อง
    สันติ คือ ความสงบ ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย
    เกษม คือ ความปลอดโปร่ง ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย โล่ง โปร่งใจไร้กังวล
    สีติภาพ คือ ความเย็นสบาย ไม่มีอะไรแผดเผาใจ ไม่ตรอมตรม
    เสรีภาพ คือ ความมีใจเสรี เป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัด จะไปไหนก็ไปได้ตามประสงค์
    ปริโยทาตา คือ ความผ่องใส ผุดผ่อง แจ่มจ้า กระจ่าง สว่างใจ ไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง
    วิมริยาทิกัตตา คือ ความมีใจไร้พรหมแดน ไม่กีดกั้นจำกัดตัวหรือหมกม่นติดค้าง

    คุณสมบัติทั้งหลายที่กล่าวมานี้ แม้จะดีงามเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่บางอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดโทษได้การพัฒนาในด้านจิตใจนี้ เมื่อปฏิบัติสูงขึ้นไป ความสำคัญของสมาธิที่เป็นแกนหรือศูนย์กลาง จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นและเมื่อสมาธิเจริญขึ้นไปจนจิตแน่วดิ่งอยู่ตัว แท้จริงแล้วผู้บำเพ็ญนั้นก็จะบรรลุภาวะจิตที่เรียกว่า ฌาน ซึ่งเป็นสมาธิจิตขั้นสูงการทำงานทางปัญญาที่ยิ่งละเอียดซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้นก็ยิ่งต้องการสมาธิจิตสูงขึ้น การพัฒนาจิตใจหรือสมาธินี้จึงมีความสำคัญมาก

    ปัญญา หมายถึง การพัฒนาปัญญา
    ปัญญามีความสำคัญสูงสุด เพราะปัญญาเป็นตัวนำทางและควบคุมพฤติกรรมทั้งหมดคนเราจะมีพฤติกรรมอะไร อย่างไร และแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่ามีปัญญาชี้นำหรือบอกทางให้เท่าใด และปัญญาเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจ ให้ทางออกแก่จิตใจ

    เช่น เมื่อจิตใจอึดอัดมีปัญหาติดตันอยู่พอเกิดปัญญารู้ว่าจะทำอย่างไรจิตใจก็โล่งเป็นอิสระได้ การพัฒนาปัญญาเป็นเรื่องกว้างขวาง แยกออกไปได้หลายด้าน และมีหลายชั้นหลายระดับ เช่น

    ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จ

    ๑. ความรู้ความเข้าใจข้อมูลความรู้ รวมทั้งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ
    ๒. การเรียนรู้รับรู้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ตรงตามสภาวะของสิ่งนั้น ๆ หรือตามที่มันเป็น
    ๓. ความรู้จักจับสาระของความรู้หรือเรื่องราวต่าง ๆ รู้จักรู้ประเด็น
    ๔. ความรู้จักสื่อสารถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ให้ผู้อื่นรู้ตามเห็นตามเป็นต้น
    ๕. การคิดการวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจนและเที่ยงตรง
    ๖. ความรู้จักแยกแยะวิเคราะห์วิจัยสืบสาวเหตุปัจจัยของเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้
    ๗. ความรู้จักจัดทำดำเนินการหรือบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ให้สำเร็จผลตามที่มุ่งหมาย
    ๘. ความรู้จักเชื่อสัมพันธ์ประสบการณ์ข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ โยงเข้ามาประสานเป็นภาพองค์รวมที่ชัดเจน หรือโยงออกไปสู่ความหยั่งรู้หยั่งเห็นใหม่ ๆ ได้

    ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

    ความรู้เข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายที่อิงอาศัยสืบเนื่องส่งผลต่อกันตามเหตุปัจจัย มองเห็นภาวะและกระบวนการที่ชีวิต สังคม และโลกคือหมู่สัตว์ มีความเป็นมา และจะเป็นไป ตามกระแสแห่งเจตจำนงและเหตุปัจจัยที่ตนประกอบสร้างสมจัดสรร และมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นทั้งหลาย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นไปตามกรรม

    ปัญญาที่ช่วยให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม

    ความรู้เข้าใจเข้าถึงเท่าทันความจริงของสังขารคือ โลกและชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎธรรมดาของธรรมขาติ จนสามารถวางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายทำจิตใจให้หลุดพ้น เป็นอิสระได้โดยสมบูรณ์และมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

    กิจกรรมที่เกื้อหนุนกระบวนการของการศึกษา

    ๑. ทาน คือการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน คือ การถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ในฐานะที่ท่านปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่าง และเป็นผู้ดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

    ๒. ศีล คือ การประพฤติดีงาม ไม่เบียดเบียน และฝึกหัดขัดเกลารักษาศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้านผู้ยังแสวงหาวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภคต่าง ๆ เมื่อต่างคนต่างหา ทุกคนก็อยากได้ คนที่มีกำลัง มีโอกาส มีความสามารถมากว่า ก็จะข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ที่ด้อยกำลัง ด้อยโอกาส สังคมก็จะ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงวางหลักศีล ๕ ไว้เป็นกรอบเป็นขอบเขต ว่าใครจะแสวงหาอย่างไรก็หาไป แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อนี้ แล้วสังคมก็จะสงบสุขพอสมควร

    ๓. ภาวนา คือการพัฒนาชีวิตหมายถึงการพัฒนาชีวิตด้านใน คือจิตใจและปัญญา และที่เน้นเป็นพิเศษสำหรับภาวนาในระดับบุกิริยาวัตถุนี้ พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงการเจริญเมตตาจิต ซึ่งเป็นฐานของทานและศีล เพราะเมตตาหรือความมีน้ำใจไมตรีต่อกันนี้ เป็นคุณสมบัติที่แท้จริงในตัวมนุษย์ ที่จะรักษาสันติภาพไว้ในสังคม และทำให้โลกมีความร่มเย็นเป็นสุข

    หนังสืออ้างอิง
    สิริวัฒน์ ศรีเครือดง, ดร. สุขภาพจิต(เอกสารประกอบการสอน). พ.ศ. ๒๕๔๓.

    ขอบคุณมากครับ
    > ที่มา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 18 สิงหาคม 2010
  2. อรชร

    อรชร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2010
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +11,465
    พุทธศาสนา พัฒนาจิต ชีวิตมีสุข

    อนุโมทนา สาธุค่ะ
     
  3. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    น่านนะซิ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
     
  4. ติงติง

    ติงติง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    38,272
    ค่าพลัง:
    +82,731
    [​IMG]
    บทความนี้ดีจังค่ะ...สาธุๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...