"ศาสนธรรม"ไม่ใช่มีไว้เพื่อสนองตอบต่อ"ทุกข์"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 6 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    ศาสนธรรมถูกกำหนดให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการบำบัดทุกข์ ธรรมะของศาสนาจึงถูกหยิบยื่นสังเวยให้กับทุกข์ เพราะรอจนชีวิตมี"ทุกข์" ศาสนธรรมจึงเป็นอัศวินที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของคนเรา

    ดังจะเห็นจากคำกล่าวที่เป็นมาตรฐานในสังคม เช่น "เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ" หรือ "เรื่องธรรมะเป็นเรื่องของพระสงฆ์" หรือ "การรักษาศีล เจริญสติทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องของผู้เฒ่าผู้แก่" ทำให้ศาสนธรรมเป็นความรู้สึกที่ไกลตัว หรือแม้แต่ผู้ที่เข้าไปบวชในพระพุทธศาสนาเอง ภาพที่ถูกฉายออกมาล้วนเป็นผู้ที่ "ถูกกระทำ" มาแล้วทั้งสิ้น

    ศาสนสถานกลายเป็นสถานที่พำนักของคนไม่มีทางไป ดังนั้น ศาสนธรรมจึงถูกวาทกรรม "เป็นหนทางดับทุกข์" เข้าครอบงำ

    เมื่อเป็นดังนี้ บทบาทและความสำคัญของสถาบันศาสนาจึงเป็นเพียงสถาบันทางพิธีกรรมและที่ปลอบประโลมของคนทุกข์

    เมื่อความคิดในการเข้าถึงศาสนธรรมมีบทบาทก็ภายหลังจากมีทุกข์แล้วดังกล่าว ทำให้คนที่หลงคิดว่าการกระทำในปัจจุบันเป็นการกระทำที่ให้สุขแก่ตนแล้ว คนจึงห่างเหินหันหลังให้หลักธรรม อย่างน้อยก็ต้องรอจนกว่าชีวิตไร้สิ้นหนทางและรับรู้ได้ว่าชีวิตกำลังเผชิญกับทุกข์จึงค่อยหันมาพึ่งหลักศาสนธรรม

    ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าว ทำให้มนุษย์บางคนไม่เคยมีโอกาสแม้เพียงจะลิ้มชิมรสของธรรมะเลย เพราะมัวหลงระเริงอยู่กับกาลเวลาจนทุกอย่างสายเกินไป

    หากเรากล่าวถึงศาสนธรรมโดยเอาทุกข์เป็นที่ตั้ง พื้นที่ของศาสนธรรมในวิถีชีวิตจะแคบเล็กและตีบตัน ชีวิตจึงเปิดโอกาสให้พื้นที่กับกิเลสและตัณหาความยาก จนนำไปสู่ความไร้สมดุลทางสังคมและจิตวิญญาณในปัจจุบัน

    แท้จริงแล้วศาสนธรรม (โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา) ไม่ใช่เรื่องของทางแห่งการ "บำบัดทุกข์" แต่เป็นเรื่องของ "ความเป็นจริง" ของสรรพสิ่งทั้งมวล

    ดังนั้น ศาสนธรรมไม่ใช่ "ส่วนหนึ่งของชีวิต" หากแต่ชีวิตนั่นแหละคือ "ส่วนหนึ่งของธรรมะ"

    หากเราปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองต่อศาสนธรรมกันใหม่ดังที่กล่าว ศาสนธรรมจะถูกจัดตั้งใหม่ให้เป็นหลักสำคัญ เป็นภาระหน้าที่ของชีวิตที่จะนำพาตัวเองเข้าไปผูกโยงเอาไว้ เพื่อหล่อหลอมชีวิตให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับหลักธรรมทั้งหลาย อันจะนำมาซึ่งความดี ความงาม และความจริงของชีวิต

    หากเราย่อส่วนของชีวิตลง (ลดความเป็นอัตตา) เราจะเห็นชีวิตเป็นเพียงธุลี เมื่อเปรียบเทียบกับหลักศาสนธรรมที่ศาสดาทรงสอนปูทางไว้ให้ ทั้งนี้ เพราะว่าชั่วชีวิตของเรายากยิ่งที่จะค้นหาเพื่อการค้นพบธรรมด้วยตนเอง ดังนั้น การเด็ดยอดเอาความจริงจากศาสนธรรม จึงเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจแห่งชีวิต มากกว่าการยกยอหลักธรรมทั้งหลายไว้เหนือหัว หรือให้เป็นเพียงแค่เครื่องมือคอยสนองตอบต่อความต้องการปลดเปลื้องชีวิตออกจากความบีบคั้น (ทุกข์) ทั้งหลายเมื่อชีวิตต้องเผชิญ

    หากเราคิดไตร่ตรองอย่างยุติธรรมต่อชีวิตของเราเองเพียงพอ เราจะเห็นว่าศาสนธรรมมีอยู่ในทุกช่วงของชีวิต มีอยู่ในหลักการดำเนินชีวิตปกติของคนเรา ไม่ใช่เรื่องพระสงฆ์หรือสถาบันทางศาสนาแต่อย่างใด หากแต่ทุกคนมีหน้าที่ในการยึดเอาหลักธรรมมาใช้เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและเท่าทัน เพื่อสร้างเกราะป้องกันจากหล่มแห่งทุกข์ มากกว่าที่จะมีไว้เพื่อรักษาแผลเน่าเปื่อยอันเนื่องมาจากทุกข์

    ดังนั้น ศาสนธรรมไม่ใช่ตั้งไว้เพื่อให้คนเรียกร้องหาเมื่อต้องเผชิญกับความบีบคั้นและความทุกข์ หรือเมื่อโดนกระทำจนบอบช้ำอย่างเจ็บปวด แต่ศาสนธรรมมีไว้เพื่อให้ทุกคนได้พิจารณาไตร่ตรองยึดเหนี่ยวทั้งชีวิตและจิตวิญญาณไว้ เพื่อไม่ให้ชีวิตทั้งชีวิต สังคมทั้งสังคม โลกทั้งโลก กลายเป็นเครื่องสังเวยของทุกข์ทั้งหลาย

    ศาสนธรรมจึงเป็น "ภูมิคุ้มกัน" ได้ดีกว่าเป็น "ยารักษา" โรคทุกข์

    ดังนั้น ศาสนธรรมจึงเป็นเรื่องของคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติศาสนา และทุกช่วงเวลาของชีวิต
     

แชร์หน้านี้

Loading...