วิธีอันแยบคาย : สำเหนียกจิต (พระอาจารย์สุเมโธ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 6 พฤศจิกายน 2009.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    วิธีอันแยบคาย : สำ เ ห นี ย ก จิ ต
    พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)
    วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Monastery)
    เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ


    สมาธิภาวนาตามแบบที่เราปฏิบัติอยู่นี้
    มุ่งให้เราสำเหนียกเข้าไปข้างในด้วยความระมัดระวัง
    และที่จะเข้าไปฟังข้างในให้ได้นั้น
    เราต้องถือว่า สิ่งภายนอกทั้งหลายทั้งปวงล้วนไร้สาระ
    ให้ลบความเชื่อ ความคิดเห็นต่างๆ ไปเสีย
    สิ่งเหล่านี้มิใช่ตัวตนของท่าน

    จงฟังสิ่งที่อยู่รอบๆ คำพูด
    คือฟังความเงียบและความว่างนั่นเอง


    ทีนี้เมื่อฟังแล้ว ท่านยินอะไรบ้าง
    ได้ยินคำพูดที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คำบ่นรำพันว่า

    “ฉันไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนั้น รำคาญ อยากจะกลับบ้าน”

    หรือไปพวกคลั่งศาสนา หรือคนที่ชอบเยาะเย้ยถากถางผู้อื่น
    จะเป็นเสียงพูดในลักษณะใดก็ตามเถิด
    ท่านจะระลึกรู้ถึงลักษณะอันไม่เที่ยงของมันอยู่เสมอ
    ถ้าสำเหนียกเข้าไปข้างในตลอดเวลา
    เราจะเริ่มรู้จักกับความว่าง

    ตามปกติ คนเราไม่ใคร่จะยอมฟังใคร
    คิดว่าตนเองนี้สำคัญ และเสียงเหล่านั้นก็คือเรา
    จึงก่อปัญหาร้ายแรงให้แก่ตนเอง
    โดยไปเกาะติดอยู่กับเสียงแห่งตัณหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
    เราไปคิดกันว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตน ยั่งยืน ถาวร


    แต่ในสมาธิภาวนานั้น
    เรา “รู้ว่า” เสียงนั้นเกิดจากความว่าง
    เมื่อเกิดแล้วดับไป


    ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

    การปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อให้เกิด “ความรู้”
    รู้อะไร ? พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านตรัสรู้อะไร
    “ผู้รู้” รู้อะไร
    “ผู้รู้” ท่านรู้สภาวะทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่เที่ยงเหล่านี้
    ไม่มีตัวตนไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
    หรืออยู่ในลักษณะคล้ายวิญญาณ
    ไม่มีอะไรในสิ่งเหล่านี้ที่บุคคลจะยึดถือได้ว่าเป็นของตนตลอดกาล


    ผู้รู้ท่านรู้ว่าเมื่อมีเกิดแล้วย่อมมีดับ
    ถ้าท่านต้องการที่จะเป็นพุทธก็ไม่จำเป็นที่จำต้องไปรู้อะไรมากกว่านี้
    ความเป็นพุทธนั้นต้องรู้จากการสังเกตด้วยตนเอง
    มิใช่ไปเชื่อตามพระไตรปิฎกหรือมาเชื่ออาตมา

    จงดูด้วยตาของท่านเอง
    ไปค้นดูซิว่าสภาวะธรรมอะไรที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว
    ไม่สลายไป มีอะไรบ้างที่เกิดแล้วไม่ตาย

    จะเป็น “ผู้รู้แจ้ง ผู้ตื่น อยุ่เสมอนั้น”

    ก็ต้องพากเพียรให้รู้ด้วยตนเอง
    ในชีวิตนี้ที่นี่และ ณ บัดนี้
    ไม่ใช่ไปหลงละเมอจมหายอยู่กับ
    ความอยากเป็นพระพุทธเจ้า

    บางทีความปรารถนาทะยานอยากนั้น
    จะก่อเป็นรูปพระพุทธองค์ขึ้นมา
    แท้จริงแล้ว ไม่มีตัว

    “ผู้รู้” และที่จะบรรลุความเป็นพุทธนั้น
    มิใช่เพียงแต่จะ “เป็น” พุทธอยู่เฉยๆ เท่านั้น


    ทางฝ่ายเถรวาทจะกล่าวถึงอนัตตา
    ส่วนทางฝ่ายมหายานจะพูดถึงสุญญตา
    ที่จริงแล้ว สองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน

    จะรู้จักอนัตตาได้ บุคคลนั้นต้องสืบค้น
    และมองให้เห็นว่าสิ่งที่เกาะติดอยู่กับอัตตา
    หรือที่เกาะติดอยู่กับอาการโรคประสาทที่เรากำลังเป็นกันอยู่นี้

    ได้แก่ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวง ความใคร่
    ความเคียดแค้นชิงชัง และความหลงมัวเมา
    เหล่านี้เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน

    เป็นเพียงสภาวะที่ปราศจากแก่นสาร
    มันเกิดมาจากความว่างเปล่า
    แล้วกลับคืนสู่ความว่างนั้นอีก
    โดยไม่มีอะไรหลงเหลือ

    ฉะนั้นจงปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นเสีย
    ให้เป็นไปตามเรื่องของมัน
    โดยท่านไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว

    ถ้าท่านพบกับสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์
    ไม่จำเป็นต้องมุ่งทำลายล้าง
    เพราะมันจะจากไปตามทางของมัน


    คนที่เห็นแก่ตัวมักพูดว่า

    “ฉันไม่ชอบเรื่องอย่างนี้ จะต้องกำจัดมันเสีย”

    นี้แหละ จะก่อให้เกิดสถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม
    ท่านกำลังพยายามผลักดันบางสิ่งบางอย่างออกไป
    ซุกหัวลงในดินแล้วบอกว่า

    “โอมันไปแล้ว”

    แต่เจ้าตัวความปรารถนาที่จะกำจัดนั้น
    วิภวตัณหา จะเป็นปัจจัยให้มันเกิดขึ้นอีก
    เพราะเราไม่ได้มองเห็นว่ามันตายไปเองตามธรรมชาติ


    เรากำลังนั่งอยู่ในห้องอันเต็มไปด้วยผลแห่งกรรม
    ซึ่งเราถือว่าเป็นตัวตน ยั่งยืนถาวร
    ไปไหนเราก็หอบหิ้วมันไปด้วย

    เพราะในเบื้องต้นนั้น
    เราถือว่า แต่ละคนเป็นตัวเป็นตน

    ท่านล่ะ แบกอะไรไปบ้าง

    ความเคียดแค้นริษยา ความหลงมัวเมา ความหวาดกลัว
    และเรื่องราวที่ผ่านในอดีต

    เพียงแต่นึกถึงชื่อคนที่เคยให้ทุกข์กับเรา เราก็เกิดอารมณ์เสีย

    “เขากล้ายังไงมาทำกับเราอย่างนี้”

    ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว
    บางคนพกเอาความเคียดแค้นไว้เกือบตลอดชีวิต
    จนมันเผาผลาญชีวิตของตนเอง

    แต่เราในฐานะนักปฏิบัติ
    เราฟันฝ่าความทรงจำเหล่านั้น
    คือแทนที่จะไปนั่งจดจำชื่อคนแล้วทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
    เราจะมองให้เห็นว่า
    ความทรงจำก็ดี ความขมขื่นก็ดี
    เป็นสภาวะธรรมีที่ไม่เที่ยง
    มองให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


    มันเปรียบเหมือนกับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา
    มันจะงามวิจิตร หรือสกปรก ดำหรือขาว
    มันก็เป็นเม็ดทรายอยู่อย่างนั้น

    ดังนั้นจงเงี่ยหูฟังเข้าไปข้างใน
    เมื่อกายของท่านเจ็บ ก็จงสำรวจที่ดวงจิต
    ฟังคำรำพัน คำร้องทุกข์

    หรือฟังเมื่อท่านเกิดปิติ
    ฟังเทวดาที่กำลังซ้องเสพอยู่กับความสำราญ

    จงวางตัวเป็นคนนิ่งฟัง
    อย่าไปเข้าข้างเทวดาหรือภูติผีปีศาจ

    จงจำไว้ว่า
    ถ้ามันเป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มันย่อมมีจุดจบ


    จงกำหนดรู้แลปะล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามเรื่องของมัน
    มันเป็นของไม่เที่ยง อย่าไปยุ่งเกี่ยว

    ใจคนสมัยใหม่มักจะคิดว่า มีมารร้ายสิงอยู่ภายใน
    ถ้าเผลอนิดเดียว มันก็จะเล่นงานท่าน ทำเอาจนเสียสติ

    บางคนอยู่กับความกลัวเช่นนี้ทุกครั้งที่มันโผล่หัวขึ้นมา
    เขาก็ร้องลั่น แต่เจ้ามารร้ายพวกนี้มันคือสังขาร
    หรือความคิดปรุงแต่งอย่างหนึ่งเท่านั้น
    เหมือนเม็ดทรายเม็ดหนึ่งในแม่น้ำคงคา
    อาจจะเป็นทรายสกปรก แต่มันก็เท่านั้นเอง

    ถ้าท่านเห็นทรายสกปรกแล้วเกิดอารมณ์เสียทุกครั้ง
    ชีวิตของท่านจะยุ่งยากลำบากยิ่ง
    บางครั้งเราต้องยอมรับว่า
    ทรายบางเม็ดมันสกปรกน่ารังเกียจ ก็ให้มันน่าเกลียดไป
    อย่าไปเกิดอารมณ์เสีย


    ถ้าท่านเห็นอาตมานั่งอยู่ริมฝั่งแม่น่ำคงคา
    จ้องดูเม็ดทรายสกปรก แล้วร้องขึ้นว่า

    “ฉันกำลังจะเป็นบ้า”

    ท่านคงคิดว่า

    “อาจารย์สุเมโธเป็นบ้าไปแล้ว”

    แม้เม็ดทรายมันจะสกปรก น่ารังเกียจเพียงใด
    มันก็เป็นเพียงเม็ดทรายเท่านั้น

    ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้ คือเพ่งดูที่ปัจจัยปรุงแต่ง
    ซึ่งเปรียบเสมือนมารร้ายที่ซ่อนเร้น
    หรืออำนาจลึกลับที่ถูกกดเอาไว้
    จะเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือสังขารนั่นเอง

    ท่านจงฝ่ายพระพุทธองค์ คือฝ่ายรู้

    แม้อวิชชาก็ให้เห็นว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยง
    ประเดี๋ยวรู้ ประเดี๋ยวไม่รู้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา


    เมื่อมีมืดก็มีสว่าง มีกลางวันก็มีกลางคืน
    เปลี่ยนอยู่เช่นนี้ไม่มีอะไรเป็นตัวตน

    ถ้าท่านดำรงเป็นผู้รู้อยู่ ก็จะไม่มีภพชาติ
    แต่ถ้าไปมีปฏิกิริยาต่อสังสาร
    คือการเวียนว่ายตายเกิด
    ท่านจะเป็นโรคประสาท
    เพราะมันเป็นเรื่องไม่จบไม่สิ้น

    กี่ชั่วชีวิตคนแล้วที่หมดไปกับการไปไหวติงต่อเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

    ท่านคิดว่า
    ท่านจะต้องมีเวทนาหรืออารมณ์ขานรับ
    ต่อเม็ดทรายทุกเม็ดหรือ


    โดยเกิดปิติเมื่อเห็นเม็ดงามๆ (“สุขเวทนา”)
    แล้วเศร้าหมองกับส่วนที่สกปรก (ทุกขเวทนา)


    แต่คนเราก็ทำอยู่อย่างนั้น
    จึงทำให้เกิดอาการมึนงง อ่อนเพลีย ปั่นป่วนอยู่ตลอดเวลา
    แล้วต้องการจะกำจัดมันให้สิ้นไป
    โดยหันไปใช้ยาบ้าง ดื่มเหล้าจนเมาจนมึนชา

    แต่ที่เราปฏิบัติอยู่นี่
    คือแทนที่จะไปสร้างเกราะหรือเปลือกหุ้ม
    แล้วซุกซ่อนตัวหลีกลี้ด้วยความกลัว

    เราจะมองให้เห็นว่า
    ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร
    เราไม่ต้องไปทำให้มันชาต่อความรู้สึกใดๆ
    แต่กลับจะมีความไวต่อความรู้สึกมากขึ้นไปอีก
    จะมีความแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา

    และในความโชติช่วงชัชวาลนี้
    จะมี “วิชชา” หรือ “ธาตุรู้” ว่า
    ถ้ามีเกิดก็มีดับ

    นี่แหละคือ ธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้



    (ที่มา : วีธีอันแยบคาย -สำเหนียกจิต ใน จิตตวิเวก ธรรม จากจิตอันสงบ : รวมธรรมบรรยายของพระอาจารย์สุเมโธ วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ : นายแพทย์วิเชียร สืบแสง แปลจาก Cittaviveka Teachings from the silent mind, ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๖. หน้า ๒๙-๓๔.)

    ที่มา ::
     

แชร์หน้านี้

Loading...