ลูกชายนายช่างทอง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 1 มีนาคม 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,604
    ลูกชายนายช่างทอง

    ภิกษุสามเณรทั้งหลาย บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท วันนี้มาคุยกันก่อนหลับตามเดิม วันนี้เอาเรื่องสัทธิวิหาริกท่านพระสารีบุตร พูดไทย ๆ เขาเรียกว่าลูกศิษย์ของ พระสารีบุตร ก็แล้วกัน ใช้ศัพท์ภาษาบาลีจะไม่ใคร่รู้เรื่อง บางทีท่านผู้ฟังท่านรู้มากกว่าผมนะ ไม่แน่นอนนะ ผมก็ไม่ใช่ผู้วิเศษวิโสอะไร

    ความมีว่าเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวัน พระเชตวันสวนเจ้าเชต เขตเมืองพาราณสี ทรงปรารภสัทธิวิหาริกพระสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อุจฉินทะ เป็นต้น เนื้อความในท้องเรื่องมีว่า บุตรของนายช่างทองคนหนึ่งมีรูปร่างสวย บวชในสำนักของพระสารีบุตร พระสรีบุตรท่านก็ดำริว่า คนนี้เป็นคนหนุ่ม รูปร่างหน้าตาสวยมีราคาจริตหนาคือ มีราคะหนา เข้าใจว่าอย่างนั้น แล้วท่านก็ให้เอาอสุภกรรมฐานแก่เธอเพื่อกำจัดราคะ แต่พระกรรมฐานไม่เป็นที่สบายใจของท่าน คือไม่เหมาะแก่จริต เพราะฉะนั้นท่านเข้าไปสู่ป่าแล้ว พยายามอยู่สิ้น 3 เดือน เอาเจริญอสุภกรรมฐานไม่ได้ พระสารีบุตรจึงได้นำพระองค์เข้าไปหาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้วก็ทราบว่า องค์นี้ไม่ใช่มีราคะจริต เป็นคนที่มีโทสะจริต นี่มันผิดกันอย่างนี้ แล้วเวลาเจริญพระกรรมฐาน บรรดาท่านพุทธบริษัททุกคนต้องระมัดระวังให้ดี การที่หวังผลจริง ๆ ในพระกรรมฐานต้องเข้าใจในจริตของตัวเอง มีหลายคนมาถามผมว่า ผมควรจะปฎิบัติจริตกองไหนก่อนครับ ผมก็ส่ายหน้าแล้วบอกไปดูเอาเอง

    จริตของคนมันมีด้วยกันทั้งหมด 6 อย่าง แต่ว่ามันหนักอย่างไหนทำลายอย่างนั้นก่อน ต่อมาองค์สมเด็จพระชินวรก็ตรัสกับพระสารีบุตร ดูกรท่านสารีบุตร กุลบุตรที่มีศรัทธาที่ตถาคตสงเคราะห์ไม่ได้นั่นไม่มี ฉะนั้นเธอจงเป็นหน้าที่ของตถาคตเอง ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงให้บทกรรมฐานแก่พระองค์นั้น โดยให้กรรมฐานเกี่ยวกับโทสะจริต เพื่อเป็นการทำลายโทสะจริต ก็ได้แก่ กสิณ 4 กสิณ 4 กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าพรหมวิหาร 4 แต่เวลานั้นพระพุทธเจ้าทรงเลือกเอา กสิณสีแดง เป็นที่ถูกใจของเธอ กสิณ ทั้ง 4 อย่างนี้ ทำทั้ง 4 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งถูกใจเราทำแบบนั้น

    แต่พระองค์นั้นจิตใจชอบใจกสิณสีแดง ซึ่งจะถูกกับใจ พระพุทธเจ้าทรงให้กสิณสีแดง ที่เรียกว่า โลหิตกสิณ คือเนรมิตดอกบัวทองคำขึ้นดอกหนึ่งแล้วให้เป็นสีแดง อธิษฐานให้เป็นสีแดงก็เป็นสีแดง แล้วมอบให้แก่พระองค์นั้นให้ไปที่กองทรายหน้าวิหาร หลังจากนั้นให้มองกองทรายโดยเอาก้านดอกบัวจิ้มลงไปในกองทรายแล้วก็ลืมตาดู จำภาพสีแดงให้ได้ หลังจากนั้นก็หลับตา ภาวนาว่า สีแดง สีแดง สีแดง โลหิตกสิณัง โลหิตกสิณัง เป็นต้น บาลีเรียกว่า โลหิตกสิณัง แล้ว โลหิตกสิณัง ก็ได้ กสิณัง ก็ได้ แปลว่าสีแดง นึกในใจว่าสีแดง จำไว้สีแดง สีแดง สีแดง จะได้เป็นสมาธิในคำภาวนา แล้วใจก็จับภาพสีแดง พอภาพเลือนไป ก็ลืมตามาดูใหม่

    ไอ้แบบนี้ผมเคยบอกไป บางคนบอกว่าเพ่งซะน้ำตาไหล แสบตา อันนี้ไม่ถูก คือลืมตาตั้งใจจำแล้วก็หลับตานึกถึงภาพ วิธีปฎิบัติกสิณจริง ๆ เขาทำแบบนี้ คือเรามีที่ใดที่หนึ่งตั้งกสิณไว้ ก็ไปนั่งหลับตาลืมตานึกถึงภาพกสิณ จนกระทั่งติดใจ พอติดใจแล้วกลับมานอนที่เดิม นั่งที่เดิม นั่งก็ได้ นอนก็ได้ เดินก็ได้ นึกถึงภาพกสิณกองนั้นให้ขึ้นใจ อย่างกสิณสีแดงนี่ กสิณทุกกองหรือกรรมฐานทุกกองจะมีสภาพเหมือนกัน มันจะคลายจากสีเดิม สีแดงคลายจากสีแดงลงมา สีจะค่อย ๆ คลาย ถ้าจิตเข้าถึง อุปจารสมาธิ ถ้ายังเป็น ขณิกสมาธิ อยู่มันก็เป็นสีแดงตามเดิม

    ถ้าเริ่มเป็น อุปจารสมาธิ จะคลายจากสีแดงอ่อนลง อ่อนลงจนกระทั่งกลายเป็นสีเหลือง จิตดีขึ้น อุปจารสามาธิเข้มขึ้น จะค่อย ๆ ขาวขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งขาวโพลนหมด เมื่อขาวโพลนหมดทีนี้เมื่อกำลังจิตดีขึ้นกว่านั้น ก็จะบังคับสี ขยายให้เล็กก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ อยู่สูงก็ได้ อยู่ต่ำก็ได้ อยู่ข้าง ๆ ก็ได้ อยู่ข้างหน้าก็ได้ อยู่ข้างหลังก็ได้ จิตจะเห็นภาพอันนั้นอยู่ที่ๆ เราต้องการ อย่างนี้ถือว่าเป็น อุปจาระ เต็มที่

    ต่อไปสีขาวจะคลายไปทีละน้อย ๆ จนเป็นประกายขึ้นแวววาวเป็นระยับสะท้อนแสงพระอาทิตย์ ผมก็ไปจำเอาภาษานักประพันธ์เขามาพูด แพรวพราวเป็นระยับตอนนี้เป็นฌาน เป็นฌานนี่ต้องสังเกตว่า ถ้าฌานที่ 1 เห็นภาพแพรวพราวเป็นระยับ หูได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มภายนอกมาก จิตยังภาวนาเป็นสีแดง สีแดงอยู่แต่ว่าไม่รำคาญในเสียงนั้น อย่างนี้เป็น ปฐมฌาน แล้วจิตก็ยังรู้ลมหายใจเข้าออก

    หลังจากนั้นเมื่อเข้าถึง ฌานที่ 2 คำภาวนาจะหายไป ลมหายใจเข้าออกจะเบา จิตจะมีความ ชุ่มชื่นดีกว่าเก่า ภาพชัดเจนดีกว่าเก่า แพรวพราวดีกว่าเก่า อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ 2

    พอถึง ฌานที่ 3 ความอิ่มเอิบหายไป จิตสงัดมากขึ้น ลมหายใจเบา รู้สึกเบามาก เสียงภายนอกที่สะท้อน ที่สะท้อนเข้ามาถึงหูได้ยินเสียงแว่ว ๆ เบาลงไปทุกที อาการทางกายตึงเป๋ง เครียด นอน ธรรมดา นั่งธรรมดาเหมือนกับใครจับมัดติดกับเสาแน่น อย่างนี้เป็นอาการของ ฌานที่ 3

    พอถึงอาการของ ฌานที่ 4 จิตจะผ่องใส กสิณจะโพลง แจ่มมาก จิตจะทรงตัว หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ลมหายใจไม่รู้สึกหายใจ เป็นอาการของฌานที่ 4 ที่สุดของกสิณ ต้องทำให้คล่อง

    พระองค์นั้นเข้าถึงจิตตอนนั้นพอดีสมเด็จพระชินศรีอยู่พระเชตวันวิหาร ก็ทรงพิจารณาว่า ฌานของเธอถึงที่สุดแล้ว ถ้าว่าเราจะไม่ช่วยจะทำวิเศษขึ้นได้ไหม เป็นพระอริยะได้ไหม ก็ทรงทราบว่าถ้าไม่ช่วยไม่สามารถจะเป็นพระอริยเจ้าได้ แล้วก็ทรงอธิษฐานว่าขอดอกบัวนั้นจงเหี่ยวแห้งไป ดอกบัวดอกนั้นก็เหี่ยว ความสดใสก็หายไป แล้วก็กลายเป็นสีดำเหมือนดอกบัวที่ถูกขยี้ด้วยมือ ภิกษุองค์นั้นออกจากฌานแล้วแลดูดอกบัวนั้น นึกถึงเป็นอนิจจัง ลักษณะนี้เป็นอาการไม่เที่ยง เอ๊ะ เมื่อกี้นี้ก็สดใสนี่นา แล้วทำไมก็เหี่ยวไปแล้ว ก็สีดำปรากฎขึ้นได้แปลกจริง ๆ ต่อมาเมื่อปรากฎว่า อนุปปาทินนกะ แม้สังขารมาเทียบกับร่างกายของตน ไอ้ร่างกายของเรามันก็เป็นแบบนี้ เมื่อก่อนเราเป็นเด็ก ตอนนี้เราเป็นหนุ่ม ไม่ช้าก็แก่เหมือนพ่อ ก็ย่ำแย่เหมือนยาย ผลที่สุดก็ตายแน่ ในที่สุดก็เห็นว่าไม่เป็นเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพต่าง ๆ ไม่ได้ความ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความแน่นอนไม่ได้ ไอ้ดอกบัวมันดีกว่า เนื้อหนังของเรายังเป็นแบบนี้ ผลที่สุดท่านก็ตัดอารมณ์ความรู้สึกในร่างกายเสียได้ เป็นพระอรหันต์ประกอบไปด้วยปฎิสัมภิทาญาณ

    เรื่องนี้ที่ผมนำมาเล่าสู่ท่านฟัง บรรดาญาติโยมพระภิกษุทั้งหลายอย่าประมาทในการปฎิบัติของตน คิดว่าเราได้มโนมยิทธิเข้าใจเรื่องสวรรค์ เรื่องพรหมโลก เรื่องพระนิพพาน เรื่องเทวดา เรื่องนรก เปรต อสุรกาย สามารถทำปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เกิดขึ้นได้ ถอยหลังชาติได้ อะไรก็ตามทั้งหมดนี่เรายังดีไม่พอ อันนี้เป็นเรื่องของ สมถภาวนา ควบวิปัสสนาภาวนา ต้องเร่งรัดให้สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาให้ขึ้นใจตามจริตของเรา

    ต้องศึกษากรรมฐานตามจริตของเราให้ครบถ้วน ได้แก่อะไร เพราะจริตจริง ๆ มันมีหก

    1. ราคะจริต รักสวยรักงาม มันก็มีในใจของเรา เราต้องพร้อมพยายามป้องกันความรักสวย รักงามอย่าให้เกิดกับใจ แต่ก็อย่าลืมนะครับ อย่าลืมว่าการทำลายนิด ๆ มันใช้เวลา น้อย ๆ มันไม่ค่อยมีผล ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ลด คือใช้กายคตานุสสติ ในร่างกายของเรานี้ แล้วเอา อสุภกรรมฐาน ให้เห็นว่า ร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ดูตามความเป็นจริง ในท้องของเรามันมีอะไรบ้าง เหงื่อไคลที่ไหลออกมามันสะอาดหรือสกปรก ดูอย่างนี้นะแล้วจิตจะค่อยคลายตัว แล้วต่อไปก็

    2. โทสะจริต คนที่ชอบโกรธ อาการชอบโกรธมันก็มีด้วยกับทุกคน นี่ก็ถือว่าโทสะจริตนั้นก็มีกับเรา พยายามหาทางตัดโดยใช้ พรหมวิหาร 4 หรือกสิณ 4 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ค่อยคลายอารมณ์ด้วยปัญญา ต่อไปก็

    3. โมหะจริต กับ 4. วิตกจริต จริตที่เต็มไปด้วย โมหะ โง่งึนงึก วิตก ก็โง่เหมือนกัน คิดอะไรไม่ตก สมองช้า อย่างนี้ให้ใช้ อานาปานุสสติ อย่างเดียว เพราะฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐาน อารมณ์โง่เรามี การเจริญกรรมฐาน ต้องขึ้นด้วย อานาปานุสสติ เสมออย่าทิ้ง อย่าคิดว่าเราทำจริตอิ่น อันนี้เราก็ไม่ใช้ไม่ได้ เป็นพื้นฐานใหญ่ อานาปานุสสติ นอกจากจะยับยั้งความโง่แล้ว มันยังยับยั้งความฟุ้งซ่านที่ทุกคนบอก ฉันทำไม่ได้ ผมทำไม่ได้ เพราะจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่าน ก็ไม่ต้องมาทำ ท่านที่จิตไม่ฟุ้งซ่านมีท่านเดียวคือพระอรหันต์ ยังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใด จิตมันก็ฟุ้งซ่าน ค้องค่อย ๆ ฝึก ต่อไปจิตเราก็ยอมเชื่อ

    5. บางครั้งเราเชื่อโดยไร้เหตุไร้ผล คล้าย ๆ การพิจารณา ถ้าอาการอย่างนี้มีมากท่านเรียกว่า ศรัทธาจริต สำหรับศรัทธาจริตนี้ พระพุทธเจ้าให้ใช้กรรมฐาน 6 อย่าง ก็เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ พุทธานุสติ ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ธัมมานุสสติ ให้นึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์ สังฆานุสสติ ให้นึกถึงพระอริยสงฆ์เป็นอารมณ์ สีลานุสสติ นึกถึงศีล ควบคุมศีลเป็นอารมณ์ จาคานุสสติ นึกถึงทานการบริจาคเป็นอารมณ์ เทวตานุสสติ นึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ เทวตานุสสติ ไม่ใช่นึกถึงเทวดาอย่างเดียว ต้องนึกถึงความดีของเทวดา และคนที่จะเป็นเทวดได้ประกอบด้วยคุณธรรม 2 ประการคือ หิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว ความเดือดร้อนมี พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันเรื่องเทวดา แล้วทรงยืนยันว่า จงเคารพความดีของเทวดา

    ฉะนั้นท่านที่แนะนำบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทว่าเทวดาไม่มี ท่านพวกนี้ไม่ใช่สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่คนในพระพุทธศาสนา ถ้าแต่งตัวเหมือนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า เขามุ่งเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นศัตรูของพระพุทธศาสนานั่นเอง เมื่อเราทราบอย่างนี้เราจะทำอย่างไร เราก็ไม่สนใจกับเขาก็หมดเรื่อง เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง เราเชื่อพระพุทธเจ้าก็หมดเรื่องกันไป เจริญพระกรรมฐานนั้นมีความสำคัญอย่างนี้

    บรรดาทั้งหลายที่ได้มโนมยิทธิเวลานี้รู้สึกสบายมาก ญาติโยมพุทธบริษัทไปนรก ไปขอบารมีของพระ ก็หมายความว่า พระของเราบำเพ็ญบารมีลงนรกกันเป็นแถว ไม่ใช่ทุกองค์นะ ที่ท่านไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพานก็เยอะ แต่ที่นิยมลงนรกก็มีไม่น้อย เวลานี้ก็มีดื่น บางทีเวลานี้ญาติโยมพุทธบริษัทไปนรกบางทีไปพบพระที่รู้จักกัน แม้มีกิริยาดี มีศักด์ศรีใหญ่ แต่เพื่อนมีความสามารถเป็นพิเศษ คือ ไป นั่งเล่น นอนเล่นในไฟ ให้หอกทิ่มแดงสด จับดาบฟัน ฆ้อนทุบ ไปสบาย นี่มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐาน ระวัง ถ้าถามว่าจะใช้จริตใดจึงจะดี ถ้าถามผม ผมต้องตอบทันทีว่า ผมไม่รู้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพระสารีบุตร ท่านยังพลาดการให้กรรมฐาน แล้วผมเอาความดีส่วนไหนไปเทียบกับพระสารีบุตร เรื่องปัญญาบารมี ยังไม่มีทางเทียบเลย ที่จะไปเทียบพระสารีบุตร แล้วก็บารมีทุกอย่าง อย่าลืม ท่านเป็น อัครสาวก สาวกที่เลิศไปด้วยปํญญา ก็ยังมีโอกาสเข้าใจผิดในด้านจริต อย่าโทษว่าขนาดอัครสาวกเข้าใจผิดในด้านจริต พระพุทธเจ้าท่านตั้งไว้ทำไม ก็ต้องตอบว่าคนที่เข้าใจจริง ๆ ในเรื่องจริคคือพระพุทธเจ้า ท่านเห็นว่าจุดหนักส่วนไหนทำลายส่วนนั้นก่อน

    สำหรับพวกเราก็เล่นยาหม้อใหญ่ ทำอย่างไรได้ เราก็จับจริตทั้ง 6 อย่าง มีไหมการรักสวย รักงามของเรา มีแน่ อารมณ์ความโกรธมีไหม มีแน่ ประสาทมึนงงคิดอะไรไม่ออก มีไหม มีแน่ บางครั้งเชื่อ แจ๋ว ใครพูดอะไรก็เชื่อหมด บางโอกาสก็มีแน่

    6. ต่อไปอีกจริตหนึ่งคือ พุทธจริต คือความฉลาด ท่านว่ามีความฉลาด บางโอกาสมีสมองปลอดโปร่ง พระพุทธเจ้าให้ใช้กรรมฐานแบบนี้

    1. มรณานุสสติกรรมฐาน ให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
    2. อาหาเรปฎิกูลสัญญา คือพิจารณาอาหารว่ามีพื้นฐานจากความสกปรกแล้ว
    3. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วก็
    4. ธาตุสี่ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาในโลก ร่างกายของเรา ร่างกายคนอื่น มีธาตุสี่ ประกอบกันขึ้นมา มีวิญญาณธาตุ ประกอบขึ้น จึงเดินเหินได้ รู้อะไรได้ แล้วเราก็ไม่ติดมันทั้งกาย ร่างกายเรา ร่างกายคนอื่นเราก็ไม่ติด ติดมันทำไม มันของสกปรกโสโครก หันไปดู ราคะจริต โทสะจริต ก็มีไฟโทสะเผาผลาญตลอดเวลา


    ความโกรธของคนคือความโง่ ความรักของคนก็คือความโง่ ทำไมจะโง่ ของที่เราจะรัก เราเลือกแล้วเลือกอีก เอาง่าย ๆ คนก็แล้วกัน เราจะแต่งงานกับใคร เลือกทั้งกิริยาท่าทาง ผิวพรรณ เลือกทั้งฐานะ เลือกหมดทุกอย่าง เก๋ที่สุด แต่พออยู่กันแล้วไม่กี่วันทั้งหย่อนทั้งยาน ทั้งเศร้าทั้งหมองเพราะอะไร มันทรุดโทรม ไอ้ความสวย ความงาม มันจะอยู่ได้ขนาดไหน ร่างกายของแต่ละคนทั้งผู้หญิงผู้ชายเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ผู้ที่มีสามีภรรยาแล้วรู้จักการเสพกามแล้ว ก็รู้ว่ามันเลอะเทอะขนาดไหน น่าเกลียดสะอิดสะเอียนขนาดไหน เราทำไปเพราะความเมามัน กิเลสมันสอน

    ความโกรธก็เหมือนกัน เราต้องการความสุขดันไปหาความโกรธมาเผาผลาญใจ ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นมันดีที่ไหน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่ายกายทรุดโทรม ปัญญาก็ตก คนที่โกรธง่ายก็โง่ ความโกรธเกิดขึ้นมาปั๊ป มันคิดอะไรไม่ออก ดันทุรังอย่างเดียว มันมีแต่อาการของความทุกข์ มีความหลง ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู แล้วไม่มีปัญญาเป็นเครื่องตัด โมหะจริต และวิตกจริต ก็เหมือนกัน ไอ้นี่อารมณ์เลวเหมือนกัน ไอ้ของกู ของกู ตายแล้วเอาอะไรไปบ้าง แม้แต่เส้นผมเบา เส้นเดียว ยังไม่สามารถจะติดไปได้ ถูกเขาเผา ถูกเขาฝังทิ้งหมด มันดีหรือ

    ความเชื่อก็เหมือนกัน การเชื่อไร้เหตุผลไม่ดี แต่ความเชื่อศรัทธาจริต ก็ดี ส่งเข้าไปหา พุทธา นุสสติ ธัมมานุสสติ อนุสสติ ทั้ง 6 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง จับได้แจ๋ว พวกศรัทธาจริต ผมสรรเสริญ ถ้าจับจังหวะได้ถูกละท่านทั้งหลาย วิ่งลิ่วเลย เขาบอกท่านทำอย่างนี้นะเชื่อ ทำอย่างโน้นนะเชื่อ แต่คนสอนที่ดีสอนให้เชื่อในครูบาอาจารย์ พวกพุทธจริต นี้ต้องสรรเสริญคุณวิเศษเป็นพิเศษ พวกนี้มีความฉลาดมาก แนะอย่างเดียวมีความเข้าใจ ฉะนั้นบรรดาพวกเราทั้งหลาย ฟังแล้วมันก็จะจบ ผมจะถือว่าสูตรนี้เป็นสูตรสุดท้ายของตอนแรก

    ต่อไปนี้ผมจะพูดถึงประสบการณ์ที่ผมผ่านมา เพราะว่าบรรดาท่านทั้งหลายจงเข้าใจ ว่าผมมีความปลอดโปร่งทุกอย่าง อารมณ์ใจปลอดโปร่ง แต่ศัตรูรอบด้าน ศัตรูเป็นกอบปริมาณบอกไม่ถูก แต่ผมก็เฉย ผมถือว่าผมเกิดมาชาติหนึ่ง ในที่สุดแห่งชีวิตผมก็ตาย แต่ผมก็จะประคับประครองให้มันตายอยู่ในระหว่างความดี ศัตรูจะมาแบบไหน พวกท่านจะรู้กัน ผมจะพูดให้ทราบถึงประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี คนที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู แม้แต่รู้ว่าเราให้การสงเคราะห์แก่คนทั่วไป เราหวังในธรรมก็ยังมีศัตรูจองล้างจองผลาญ แต่จะหนักใจทำไม แม้แต่องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็มีศัตรูตลอดมา สมเด็จพระองค์พระศาสดาก็ทรงเฉย แต่ว่าพวกเรามีความดียังไม่เท่าท่าน มันจะเลวขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่ทราบ แต่ก็พยายามประคับประคองอย่าให้มันเลวมาก

    เป็นอันว่าการเจริญพระกรรมฐานทุกท่าน เมื่อได้มโนยิทธิได้กำไรมาก ใช้ญาณต่าง ๆ ให้ชัด สงสัยอะไรให้ถามจากสมเด็จพระทรงสวัสดิ์ ถามอย่างไร ตั้งใจจับพระรูปพระโฉมองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส ทำใจให้เป็นกลางที่เขาเรียกว่า อุเบกขารมณ์ หลังจากนั้นก็พิจารณาอารมณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ดูว่าเราจะตัดตัวไหนก่อนในด้านของจริต นี่คำว่าพระพุทธเจ้าคือ ความดีของพระพุทธองค์ เมื่อท่านจับได้หมดแล้ว เมื่อเห็นอะไรแน่นอนก็ควรจะตัดก่อน ก็ทำลายจุดนั้นเสีย อย่าไปรอ อย่าคิดว่ามันยังไม่มาก เรามันยังไม่ดี ถ้าเราไม่ทำมันก็ยังไม่ดี ทำมันเรื่อยไป มันดีเรื่อยไป จงอย่าคิด ทำแล้วพบดีเดี๋ยวนี้ ค่อย ๆ ดี ดูว่าอารมณ์มันลด ทำไปแล้ว ราคาจริต ลดลดบ้าง เบาลง โทสะจริต เบาลง โมหะจริต เบาลง วิตกจริต เบาลง ศรัทธา มีความฉลาดดีจับถูก ปัญญาดีขึ้น รู้เท่าทันตามความจริง เท่านี้บรรดาพุทธบริษัทญาติโยมชายหญิง พวกเราก็น่าจะภูมิใจ เราสามารถกระเตื้อง ความชั่วร้ายก็เบาบางลงบ้าง

    สำหรับวันนี้หมดเวลาแล้ว สัญญาณหมดเวลาแล้ว ก็ต้องลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาพุทธบริษัทและภิกษุสามเณร สวัสดี.
     

แชร์หน้านี้

Loading...