ลักษณะของคนที่น่ารัก(พระธรรมวิสุทธิกวี)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 29 มิถุนายน 2009.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ลักษณะของคนที่น่ารัก

    โดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
    เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร


    [​IMG]

    ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย
    คนบางคนในโลกนี้ เป็นที่เคารพรักใคร่ของคนทั้งหลาย
    แม้เพียงพบเห็นครั้งแรก จึงมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มาก
    เพราะเขามีคุณธรรมอันเป็นลักษณะของคนที่น่ารักอยู่ในตัว
    คนประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อยในสังคมปัจจุบัน
    แต่บางคนเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย
    แม้เมื่อพบเห็นหรือรู้จักกันครั้งแรก
    ไม่อาจมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้
    เพราะมีลักษณะนิสัยไม่ดี ขาดคุณธรรม
    คนประเภทนี้ก็มีอยู่มากเช่นกันในสังคม

    ดังนั้น ความประพฤติหรืออุปนิสัยใจคอ
    จึงเป็นตัวบ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าและความเสื่อมของคนเรา

    ตามหลักในพระพุทธศาสนานั้นคนที่น่ารัก
    ซึ่งเป็นที่รักพอใจของคนทั้งหลาย
    เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วมีลักษณะ ๙ ประการ คือ
    • ไม่เป็นคนอวดดี
    • ไม่พูดมากจนเขาเบื่อ
    • เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
    • รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
    • พูดจาอ่อนหวาน
    • เป็นคนเสียสละ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
    • เป็นคนกตัญญูกตเวที
    • เป็นคนไม่มีนิสัยริษยาเสียดสีผู้อื่น
    • เป็นคนมีนิสัยสุขุม รอบคอบ ไม่ยกตนข่มท่าน


    ลักษณะของคนที่น่ารัก

    • ไม่เป็นคนอวดดี
    คือใครก็ตาม ถ้าชอบเป็นคนอวดดี
    เช่น อวดรวย อวดเก่ง อวดยศศักดิ์ตำแหน่งของตน
    ชอบคุยอวดคนโน้นคนนี้ถึงความดีเด่นของตนอย่างโน้นอย่างนี้
    หรืออวดสมบัติของตน จนทำให้คนอื่นเบื่อฟังและรู้สึกหมั่นไส้
    คนเช่นนี้แม้ตนเองจะมีคุณสมบัติหรือความดีเด่นจริง
    ก็เป็นที่ชิงชังและเบื่อระอาของคนทั้งหลาย เพราะเขาไม่ชอบคนอวดดี
    ยิ่งถ้าตนไม่มีคุณสมบัติอันใดก็ยิ่งเป็นที่ชิงชังของคนทั้งหลายยิ่งขึ้น
    แต่คนที่มีนิสัยดีน่ารักนั้น เขาจะไม่โอ้อวด
    แม้จะมีดีอวดแต่เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
    และบางคนถึงกับปกปิดคุณความดีของตน
    ถ้าใครจะทราบก็ค่อยรู้เอาเอง คนเช่นนี้ย่อมเป็นที่รักใคร่ เอ็นดู
    หรือเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย
    และย่อมมีโอกาสเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้มาก
    เพราะได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากบุคคลทั่วไป

    • เป็นคนไม่พูดมากจนเขาเบื่อ
    คือใครก็ตามถ้าไม่รู้จักประมาณตนในการพูด
    พูดพล่ามพูดไร้สาระหรือพูดมากจนเกินไป
    จนคนทั้งหลายเบื่อฟังและรู้สึกรำคาญไม่อยากฟัง
    อยากออกไปเสียให้ห่าง เมื่อคนนั้นพูด
    คนเช่นนี้แม้จะมีความรู้ความสามารถดี ก็หาเป็นที่รัก
    แลเป็นที่เคารพของคนทั้งหลายไม่
    ถ้ายิ่งเป็นคนต่ำต้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลายยิ่งขึ้น
    ฉะนั้น คนที่ฉลาดและน่ารักจึงพูดแต่พอประมาณไม่พูดมากจนเขาเบื่อ
    แต่พูดมีสาระน่าฟัง เช่นพูดแนะนำหรือพูดสร้างสรรค์ เป็นต้น
    และเมื่อพูดสิ่งใดก็คิดใคร่ครวญก่อนแล้วจึงพูด
    คนเช่นนี้ย่อมเป็นที่รักใคร่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย
    และย่อมได้รับความเอ็นดู ความเกื้อกูลจากคนทั่วไป
    ฉะนั้น คนที่มีลักษณะนิสัยที่น่ารัก
    จึงไม่พูดมากจนเขาเบื่อแต่เป็นผู้พูดพอประมาณ

    • เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
    คือบางคนขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนแข็งกระด้าง
    ขาดสัมมาคารวะชอบดูหมิ่นดูถูกคนอื่น เป็นคนไม่ยอมก้มหัวให้แก่ใคร
    คนประเภทนี้หาความเจริญได้ยาก ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย
    เหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นตาย หรือเหมือนรวงข้าวที่ลีบไม่มีเมล็ด
    ไร้ค่า ยืนชูรวงโด่อยู่ไม่โน้มลง
    แต่คนที่น่ารักนั้นย่อมมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัยมีสัมมาคารวะ
    ไม่แข็งกระด้าง เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ที่เจริญกว่าตน
    ทั้งโดยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ
    คนเช่นนี้ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้มาก
    สมดังพุทธพจน์ แปลความว่า ธรรมะ ๔ ประการ
    คือ มีอายุยืน ๑ มีผิวพรรณผ่องใส ๑
    มีความสุขกายสุขใจ ๑ มีกำลังกายกำลังใจ ๑
    ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ
    ฉะนั้นผู้หวังให้ผลดีทั้ง ๔ นี้เกิดขึ้นแก่ตน ก็ต้องสร้างเหตุคือ
    นิสัยที่น่ารักด้วยการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิจ

    • รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
    คือใครก็ตาม รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวในปัญหาต่างๆ
    ในข้อตกลงหรือปรึกษาหารือต่างๆ ไม่ดึงดันเอาแต่ความเห็น
    หรืออำนาจตามอำเภอใจของตนฝ่ายเดียว
    ย่อมรู้จักประนีประนอมในปัญหาต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน
    เมื่อฝ่ายหนึ่งรุนแรงยืนยันขันแข็งในท่าที
    หรือจุดประสงค์ของตนก็ผ่อนปรนลงบ้าง
    ไม่ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ว่าปัญหาครอบครัว
    การทำงานหรือในข้อขัดแย้งต่างๆ
    ทั้งนี้ก็เพื่อความสามัคคีถนอมน้ำใจกัน
    และความสงบสุขในครอบครัว ในหน่วยงานหรือในสังคม
    ถ้าเมื่อฝ่ายหนึ่งหย่อนยานเกินไป อันอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายได้
    ก็มีทีท่าเข้มงวดเข้าไว้ให้ถูกระเบียบและกฎเกณฑ์
    ก็จะทำให้เกิดความพอดีขึ้น
    คนเช่นนี้สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างสงบสุข
    ราบรื่นไม่ค่อยมีความขัดแย้งกับใคร
    จึงทำให้เป็นคนมีนิสัยน่ารักเพราะรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
    การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวนี้ ทำให้เกิดความพอดี
    ไม่เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้งกับใครๆ
    เพราะไม่ตึง ไม่หย่อน จนเกินไป
    เหมือนคนที่เล่นว่าว ถ้าเล่นว่าวเป็น ว่าวก็จะไม่ตกและกินลมได้ดี
    คือ เมื่อลมแรงเกินไป ก็ปล่อยสายป่านให้ยาวออกไป
    เพราะถ้าดึงไว้สายป่านก็จะขาดทำให้ว่าวตก
    หรือเมื่อลมอ่อนเกินไปก็พยายามดึงสายป่านเอาไว
    ว่าวก็จะกินลมได้ดีและไม่ตก การดำเนินชีวิตก็เหมือนกัน
    ถ้าจะให้ราบรื่นก็ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวในปัญหาขัดแย้งต่างๆ
    ถ้าไม่รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวแล้ว ก็จะขัดแย้งกับคนอื่นอยู่เสมอ
    ไม่ว่าในปัญหาครอบครัวหรือปัญหาใดๆ
    ฉะนั้น การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว จึงเป็นลักษณะนิสัยที่น่ารักประการหนึ่ง

    • พูดจาอ่อนหวาน
    การพูดจาอ่อนหวานเป็นเสน่ห์ประการหนึ่ง
    ที่ยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่นไว้ได้
    เพราะทำให้ผู้ฟังชื่นใจ สบายใจ
    ทำให้เป็นกันเอง ทำให้ผูกมิตรไมตรีไว้ได้
    จึงเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย
    ผู้ที่พูดจาไม่น่าฟัง พูดขาดสัมมาคารวะ
    พูดไม่รู้ที่ต่ำที่สูงหรือพูดส่อเสียด
    ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย
    การพูดจาอ่อนหวานนี้ จัดเป็นวาจาสุภาษิตประการหนึ่ง

    วาจาสุภาษิตมีองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ
    • เป็นคำจริง
    • เป็นคำอ่อนหวาน
    • เป็นคำมีประโยชน์
    • พูดถูกกาลเทศะ
    • พูดประกอบด้วยเมตตา


    คำพูดใด แม้จะเป็นคำจริง และเป็นคำอ่อนหวาน
    แต่ถ้าไม่มีประโยชน์แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไม่ให้พูด
    เพราะไม่ได้ประโยชน์
    หรือคำพูดใด แม้จะเป็นคำจริง คำอ่อนหวานและมีประโยชน์
    แต่ถ้าพูดไม่ถูกกาลเทศะ
    พระองค์ก็ไม่ตรัสสอนให้พูดเช่นกัน เพราะไม่เป็นวาจาสุภาษิต
    แต่ถ้าคำนั้นปะกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการ
    คือ เป็นคำจริง เป็นคำอ่อนหวาน เป็นคำมีประโยชน์
    พูดถูกกาลเทศะ และพูดด้วยเมตตาจิตแล้ว
    พระองค์ก็ตรัสสอนให้พูดคำเช่นนี้
    เพราะก่อให้เกิดคุณค่าให้แก่ตนเองและผู้อื่นเป็นอันมาก
    ทำให้เป็นที่รักของคนทั้งหลาย และจัดเป็นมงคลแก่ชีวิต

    • เป็นคนเสียสละ
    ไม่เอาเปรียบผู้อื่น คือใครก็ตามถ้ามีน้ำใจเป็นนักเสียสละ
    ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวรู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว
    ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ย่อมเป็นที่รัก
    ที่เคารพนับถือของคนทั้งหลายโดยทั่วไป
    เพราะการให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ และผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
    การเป็นคนเสียสละหรือนักเสียสละในที่นี้
    ไม่ได้หมายถึง การเสียสละเงินทอง หรือวัตถุสิ่งของเท่านั้น
    หากแต่หมายถึง การเสียสละกำลังกาย
    เสียสละกำลังสติปัญญาช่วยเหลือกิจการของผู้อื่น
    หรือสาธารณกุศลโดยส่วนรวมหรือแม้แต่ชีวิตก็สละได้
    เมื่อมาคำนึงถึงความยุติธรรมและความถูกต้อง
    แต่ไม่ใช่เป็นการฆ่าตัวเอง

    ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แปลความว่า
    นรชนพึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ
    พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
    เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทุกอย่าง
    คือ ทั้งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต


    นอกจากเสียสละแล้ว คนที่น่ารักต้องไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นด้วย
    คือไม่เห็นแก่ได้ หรือความสะดวกสบายส่วนตนแต่ฝ่ายเดียว
    ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่คนที่มีลักษณะขี้เหนียว
    ไม่เห็นใจเพื่อนมนุษย์หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน
    เป็นคนเห็นแก่ตัว และเอารัดเอาเปรียบก็ย่อมเป็นที่เกลียดชัง

    • เป็นคนกตัญญูกตเวที
    คือ ใครก็ตามถ้าเป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้มีพระคุณแก่ตนมาก่อน
    คนนั้นจัดเป็นคนดี เป็นคนที่น่ารักและน่าเคารพนับถือ ยกย่อง
    จากคนทั้งหลาย เพราะเป็นการแสดงถึงพื้นฐานจิตใจของคนดี
    ดังคำพระบาลีที่ว่า ภูมิ เว สาธุรูปานํ กตญฺญกตเวทิตา
    (ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นใจของคนดี)
    กตัญญูกตเวทีนี้ แยกเป็น ๒ ศัพท์ คือ กตัญญู ศัพท์หนึ่งและ กตเวที ศัพท์หนึ่ง
    กตัญญู หมายถึง ผู้รู้อุปการคุณที่คนอื่นได้เคยทำแก่ตนมา
    เช่น เคยเลี้ยงดูและเคยช่วยเหลือตนมา เป็นต้น
    แม้ยังไม่ได้ตอบแทน แต่ถ้ารู้ถึงบุญคุณที่คนอื่นเคยกระทำแก่ตนมา
    ก็จัดเป็นคนกตัญญูแล้ว
    ส่วนกตเวทีนั้น หมายถึง คนที่ได้ตอบแทนอุปการคุณที่เขาได้เคยทำแก่ตนมาแล้ว
    เช่น ได้ตอบแทนอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ของตน
    หรือต่อคนที่เคยช่วยเหลือตนเป็นต้น
    คนที่รู้บุญคุณที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วแก่ตน และได้ตอบแทนเช่นนี้
    จัดเป็นคนกตัญญูกตเวที ย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลายที่พบเห็น
    และย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มาก
    เช่น คนที่เลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเป็นต้น

    ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มาตาปิตุอุปฏฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตนํ
    แปลว่า การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลอย่างสูงสุดของชีวิต
    คือใครก็ตาม ถ้าได้เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน
    จะมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่ตกอับ
    ถ้าจะตกอับบ้างก็ด้วยอำนาจกรรมชั่วในปางก่อนติดตามมา
    แต่ต้องเจริญรุ่งเรืองในที่สุด
    เพราะได้บุญมากอันเกิดจากการเลี้ยงดูมารดาบิดาของตนนั่นแล


    ข้อนี้พิสูจน์ดูก็ได้คือถ้าผู้ใดยังมีพ่อแม่ ทั้ง ๒ ยังมีชีวิตอยู่
    หรือยังอยู่คนใดคนหนึ่ง โดยเราเอาเสื้อผ้า อาหาร
    หรือเงินทองไปมอบให้แก่ท่าน
    หรือได้เลี้ยงดูท่านด้วยความจริงใจในอุปการคุณของท่าน
    ผู้นั้นจะได้ลาภ ยศ หรือความรุ่งเรืองในชีวิตเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
    บางทีภายในเดือนหนึ่ง หรือ ๒-๓ เดือนเท่านั้น
    ถ้าผู้นั้นมีลูกหลานๆ ก็จะเลี้ยงเขาตอบ
    แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ใดเป็นคนอกตัญญูอกตเวที
    ไม่รู้คุณท่านผู้มีพระคุณแก่ตนและไม่คิดตอบแทน
    เช่นไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน และซ้ำร้ายกลับด่าว่าทุบตี
    และเหยียดหยามมารดาบิดาของตน
    และปล่อยให้ท่านถึงความลำบากเมื่อท่านป่วยไข้เข้าสู่วัยชรา
    คนเช่นนี้จะไม่มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้เลย จะมีแต่ตกต่ำฝ่ายเดียว
    ถ้าจะเจริญบ้างก็ด้วยอำนาจกรรมดีในปางก่อนดลบันดาลมา
    แต่ก็ต้องเสื่อมไปในที่สุด เพราะบาปมาก
    อันเกิดจากการประพฤติผิดต่อมารดาบิดาของตน
    ถ้าเขามีลูกหลานๆ ก็จะประพฤติต่อเขา
    เหมือนอย่างที่เขาเคยประพฤติต่อพ่อแม่ของตน
    ด้วยเหตุนี้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย
    จะไม่ทอดทิ้งพ่อแม่ของเรา
    ฉะนั้นคนแก่เฒ่าในชาติของเรา จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากลูกหลานของตน
    มากกว่าคนแก่ในโลกตะวันตกซึ่งมักจะถูกทอดทิ้ง
    ความกตัญญูกตเวทีจึงมีผลอย่างมากต่อครอบครัว
    และสังคมไทยโดยส่วนรวม ฉะนั้น ความกตัญญูกตเวที
    จึงเป็นลักษณะของคนที่น่ารัก และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมโดยส่วนรวม

    • เป็นคนไม่มีนิสัยริษยา เสียดสีผู้อื่น
    คือใครก็ตาม ถ้าเป็นคนมีนิสัยริษยาผู้อื่น
    เห็นใครเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ รู้สึกเร่าร้อนใจ ไม่สบายใจ
    ในความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของผู้อื่น
    และพยายามกลั่นแกล้งกีดกันต่อผู้ที่ดีเหนือกว่าตน
    ไม่อยากให้เขาได้ดีเหนือตน
    เช่น เห็นเขาสบายกว่าตน เขารวยกว่าตน
    เขามีทรัพย์สมบัติแลเกียรติยศชื่อเสียงเหนือกว่าตน
    หรือไม่อยากให้เขาดีเสมอตน ก็มีความเร่าร้อนใจ
    ที่เรียกว่า อิจฉาตาร้อน ต้องการให้ผู้นั้นเสื่อมไป
    หรือไม่ได้รับสิ่งที่ดีนั้นเหนือตน หรือเหนือกว่าดีกว่าคนที่ตนรักใคร่นับถือ
    คนเช่นนี้ย่อมมีใจต่ำ และจิตใจที่ร้อนผ่าวเมื่อเห็นคนอื่นเขาได้ดี
    เป็นคนขาดมุทิตา คือการพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นเขาได้ดีแท้ที่จริง
    ความริษยาเป็นพิษต่อจิตใจของผู้ริษยาเอง คือทำให้ใจเร่าร้อน ไม่สงบสุข
    แม้คนที่ถูกริษยาเขาจะทุกข์หรือไม่ก็ตาม แต่คนที่ริษยาก็มีความเดือดร้อนแล้ว
    เพราะสร้างไฟริษยาขึ้นเผาใจตนเอง
    บางคนไม่ใช่มีนิสัยริษยาอย่างเดียว แต่ยังมีนิสัยเสียดสีผู้อื่นอีกด้วย
    คือกระทำหรือพูดกระทบกระแทกให้คนอื่นเขาเจ็บใจ
    เพราะเขาทนในความสุขความเจริญของผู้อื่นไม่ได้
    คนเช่นนี้นอกจากตนเองจะเดือดร้อนแล้ว ก็ยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย
    และเป็นที่เกลียดชังของคนที่มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย
    แต่คนใดที่มีนิสัยไม่ริษยาเสียดสีผู้อื่น และพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นเขาได้ดี
    เช่นเห็นเขาสวย เขารวย เขามียศตำแหน่งฐานะดี
    ก็แสดงความยินดีต่อผู้นั้นด้วยจริงใจ
    เหมือนอย่างพ่อแม่เห็นความเจริญรุ่งเรืองของลูก
    ก็รู้สึกปลื้มใจยินดีอย่างเหลือล้น และด้วยความบริสุทธิ์ใจ
    คนเช่นนี้ย่อมได้รับความสุขใจ และเป็นที่รักใคร่ยกย่องของคนทั้งหลาย
    เพราะเป็นผู้มีใจสูงประกอบด้วยคุณธรรม
    ฉะนั้น การเป็นคนไม่มีนิสัยริษยาเสียดสีผู้อื่น
    จึงนับว่าเป็นลักษณะของคนที่น่ารักประการหนึ่ง

    • เป็นคนมีนิสัยสุขุม รอบคอบ ไม่ยกตนข่มท่าน
    คือใครก็ตามไม่ว่าจะทำงาน จะลุก จะเดิน จะเจรจาปราศรัย
    ก็ทำด้วยความนิ่มนวล สุขุมรอบคอบ
    มีนิสัยเรียบร้อย สำรวม ละมุนละม่อม ไม่โฉ่งฉาง
    มีกิริยามรรยาทน่าเลื่อมใส น่ารัก น่าเอ็นดู
    ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพนับถือ น่าบูชา
    และทำงานด้วยความเรียบร้อยไม่ประมาท ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย
    ผลงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่พอใจของผู้พบเห็น
    ทั้งเป็นคนไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยกตนข่มท่าน ให้เกียรติแก่คนทั้งหลาย
    คนเช่นนี้ย่อมเป็นที่เคารพ รักใคร่ นับถือ ยกย่อง ของคนทั่วไป
    ทั้งได้รับความไว้วางใจให้ทำงานที่ต้องไว้วางใจสูง
    ที่มีเกียรติ หรือตำแหน่งสูง
    เพราะมีลักษณะนิสัยเป็นที่ประทับใจของคนทั่วไป
    แต่ในทางตรงกันข้าม หากว่าผู้ใดมีนิสัยขาดความสุขุมรอบคอบ ไร้มารยาท
    ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้การงานเสียหาย
    และมีนิสัยกดขี่ข่มเหงผู้อื่น ยกตนและพวกพ้องของตนว่าดีแต่ผู้เดียว
    แต่ข่มผู้อื่น แม้เขาจะดีก็พูดไม่ให้กำลังใจ
    คนเช่นนี้ไม่ค่อยมีใครอยากคบค้าสมาคม
    ไม่มีใครพอใจให้ทำงานหรือทำงานด้วย
    ฉะนั้น คนดีทั้งหลายจึงพยายามหลีกเลี่ยงนิสัยที่ตรงกันข้ามนี้เสีย
    แล้วพยายามฝึกอบรมนิสัยของตนเอง ให้สุขุมรอบคอบ ไม่ยกตนข่มท่าน
    เพราะย่อมเป็นไปเพื่อความน่ารัก
    อันมีผลสะท้อนเป็นความสุขความเจริญทั้งแต่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวม

    ท่านสาธุชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะเห็นได้แล้วว่า
    คนที่มีลักษณะนิสัยน่ารักนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
    นำความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาแก่ตน และสังคมส่วนรวมได้อย่างไร
    ส่วนคนที่มีลักษณะนิสัยตรงกันข้าม ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย
    และนำความเสื่อมมาสู่ตนและโดยส่วนรวมอย่างไร

    เมื่อทราบชัดเช่นนี้ก็พึงฝึกอบรมตนให้มีลักษณะที่น่ารัก ๙ ประการ
    ไม่เป็นคนอวดดี ไม่พูดมากจนเขาเบื่อ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
    รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว พูดจาอ่อนหวาน เป็นคนเสียสละ
    ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นคนไม่มีนิสัยริษยาเสียดสีผู้อื่น
    และเป็นคนมีนิสัยสุขุม รอบคอบ ไม่ยกตนข่มท่าน
    ก็จะเป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนทั้งหลาย
    ซึ่งย่อมเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญทั้งแก่ตนเอง และสังคมโดยส่วนรวม
    ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
    ในที่สุดนี้ ขออำนวยพรให้ท่านสาธุชนทุกท่าน
    จงประสบแต่ความสุขความเจริญ เป็นที่รักใคร่เคารพ นับถือ
    ของคนทั้งหลายด้วยการสร้างลักษณะของคนที่น่ารัก ๙ ประการ
    ดังกล่าวมาแล้วโดยทั่วกันเทอญ ขอเจริญพร


    คัดลอกจาก...
     
  2. ราคุเรียวซาย

    ราคุเรียวซาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    2,940
    ค่าพลัง:
    +8,515
    สาธุ
    กำลังพยายามแก้นิสัยเสียดสีผู้อื่นอยู่
     

แชร์หน้านี้

Loading...