ระดับของสมาธิ หลวงพ่อชา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย kraiwit, 29 พฤศจิกายน 2013.

  1. kraiwit

    kraiwit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +743
    ระดับของสมาธิ
    ในวงกรรมฐาน ท่านมักกล่าวว่าความสงบมี ๓ ระดับ

    ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ เป็นความสงบขั้นต้นในการภาวนา พอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ทำให้จิตใจสงบสบายเพราะได้พักชั่วคราว

    อุปจารสมาธิ คือ สมาธิเฉียดฌาน จวนจะแน่วแน่ระงับนิวรณ์ทั้งห้าได้แล้ว แต่จะเหมือนไก่ในเล้า ไม่นิ่งเลยทีเดียว

    อัปปนาสมาธิ คือขั้นที่จิตตั้งมั่นอย่างสนิทแน่วแน่ เมื่อจิตอิ่มตัวอย่างเต็มที่แล้ว ก็ถอนออกจาก อัปปนา กลับมาสู่ขั้นอุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่จิตจะทำงานทางปัญญาได้ดีที่สุด

    “สมมุติว่ามีครอบแก้วอันหนึ่งแล้วจิตของเราไปอยู่ในนั้น ไม่ออกจากวงอันนั้น แต่ว่ามันยังมีอารมณ์อยู่ ยังมีขอบเขต คือว่าอารมณ์ยังเข้าได้บ้างแต่มีขอบเขต ไม่วิ่งไปตามอารมณ์ มีหลักอยู่บ้าง อยู่ในวงจำกัด อันนี้คือ อุปจารสมาธิ จิตต้องอาศัย อุปจารสมาธิ คือ กำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้วพอสมควร ถอนออกมารู้อาการภายนอก ดูอาการภายนอกให้เกิดปัญญา
    อันนี้ดูยากสักหน่อย เพราะมันคล้าย ๆ จะเป็นสังขารความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา เราอาจเห็นว่าอันนี้มันไม่สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้นมันรู้สึกอยู่ในความสงบ พิจารณาอยู่ในความสงบแล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้นมาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ใช่ว่าคิดเอาหรือเดาเอา มันเป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่าความรู้อยู่ในความสงบ ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่งจิตมันก็ไม่สงบ มันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง มันเป็นความรู้สึกของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่า การพิจารณานี้ปัญญาเกิดตรงนี้”

    หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องสมาธิจากประสบการณ์ของท่าน

    สมาธิทุกขั้นมีความสำคัญ มีหน้าที่อยู่ในตัวของมัน จะทิ้งอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายของหลวงพ่อ ระหว่างการสนทนากับอุบาสกคนหนึ่ง

    อุบาสก:ถ้าทำสมาธินี้เอาแต่ ขณิกสมาธิก็พอไม่จำเป็นต้องไปยิ่งกว่านี้ใช่ไหมครับ
    หลวงพ่อ: ก็ไม่เป็นไรอย่างนั้น คือหมายความว่ามันต้องเดินไปถึงกรุงเทพฯ ก่อน ว่ากรุงเทพฯ มันเป็นอย่างนี้ อย่าไปถึงแต่โคราชซิ ถึงแม้ว่าจะไปอยู่โคราชก็ให้มันถึงกรุงเทพฯ มันจะเห็นว่า อ้อ! เมืองโคราชเจริญแค่นั้น คือไปให้ถึงเมืองกรุงเทพฯ ก่อนและเราก็ผ่านอุบลราชธานีด้วย ผ่านโคราชด้วย ผ่านกรุงเทพฯ ด้วย คือ เรียกว่าสมาธิน่ะ ขณิกสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะถึงที่ก็ให้มันถึงที่ มันจึงจะรู้จักโครตของสมาธิว่ามันเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิ นี่มันมากกว่า อุปจารสมาธิ ไปแค่โคราชเท่านั้น.

    อุบาสก: อัปปนาสมาธินี่มากกว่าอุปจารสมาธิ
    หลวงพ่อ : อุปจาระมันไปแค่โคราชเท่านั้น แต่มันเทียวไปเที่ยวมา อุปจารสมาธิ ขณิกสมาธิ นี้เข้าไปวิ่ง อุปจารสมาธิ มันไม่เข้าไป มันเดินไปเดินมา ขณะจิตของเรามันคิดไปคิดมาอยู่ แต่คิดอยู่ในความสงบ บางทีคิดไปคิดมาก็เข้าไปหยุดอยู่แต่ขณะหนึ่ง เมื่อเข้าไปถึง อัปปนาสมาธิ น่ะมันทิ้ง ขณิกสมาธิอุปจารสมาธิ ทิ้งไปหมด เข้าไปอยู่โน่น ตรงนี้มันพ้นจากสิ่งทั้งหลาย แต่ว่ามันก็เป็นผลของ ขณิกสมาธิ ด้วยนะ และก็เป็นผลของอุปจารสมาธิด้วย มันต้องผ่านนี่ ถ้าไม่ผ่านไม่ได้ถึงโน่น.

    อุบาสก: แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันถึงไหนแล้ว ขณิกะ,อุปจาระ หรืออัปปนา
    หลวงพ่อ : มันจะเป็น อัปปนาสมาธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้มันรู้แจ้งในใจของเราว่า มันสงบได้ก็แล้วกัน ให้มันรู้ชัดเจนว่าใจเราหยุดได้จริง เชื่อมั่นว่าจิตใจของเราเป็นจิตใจอันผ่องใสหรือไม่ ต้องรับรองด้วยตนเอง เท่านี้ก็ไม่ต้องไปสงสัยแล้วว่า มันจะเป็น อัปปนา หรือขณิกะ หรืออะไร อย่าไปคิดมันเลยเสียประโยชน์เปล่า ๆ มาเอาใจของเรา เอาความจริงของเราดีกว่า เมื่อไรมันยังไม่เป็นเราก็ยังต้องทำ เมื่อไรมันยังไม่เห็นเราก็ต้องฝึกอยู่นั่นแหละ.

    คำสำคัญ: อุปลมณี
    สร้างเมื่อ: 2010-08-25 04:28:29 แก้ไขเมื่อ: 2013-06-25 08:19:22
     

แชร์หน้านี้

Loading...