รวมยอดคำสอน เพื่อชีวิตที่ดีงาม...ของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย aaatiti, 23 มีนาคม 2020.

  1. aaatiti

    aaatiti สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มกราคม 2020
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +7
    รวมยอดคำสอน เพื่อชีวิตที่ดีงาม...ของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

    ๑. ครูอาจารย์ดี ๆ มีอยู่มากก็จริง แต่สำคัญที่เราต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มาก นั่นแหละจึงจะดี

    ๒. การปฏิบัติ ถ้าหยิบตำราโน้นนี้มาสงสัยถาม มักจะโต้เถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาจากอาจารย์โน่นนี่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา …การจะปฏิบัติให้รู้ธรรมเห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง เอาให้จริงให้รู้ ถ้าไปเรียนกับครูอาจารย์อื่นโดยยังไม่ทำให้จริงให้รู้ ก็เหมือนดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์

    ๓. การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ...ศีล คือ ดิน ...สมาธิ คือ ลำต้น ...ปัญญา คือ ดอกผล ...เราต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ก็ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน และต้องคอยระมัดระวังมิให้ตัวหนอนคือ โลภ โกรธ หลง มากัดกิน

    ๔. ถ้าเป็นโลกแล้ว จะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา แต่ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องวกกลับเข้ามาหาตัวเอง เพราะธรรมแท้ ๆ ย่อมเกิดในตัวของเรานี้ทั้งนั้น

    ๕. “โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม”
    เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง... ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง

    ๖. ให้พยายามภาวนาไว้เรื่อย ๆ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ตลอดเวลาถ้าเราจะทำ ดีกว่านั่งร้องเพลง จะซักผ้า หุงข้าว ต้มแกง นั่งรถ ทำได้ทั้งนั้น เขาเรียกว่า พยายามเกลี่ยจิตใจให้เข้าที่ ถ้าจะรอเวลาปฏิบัติ (นั่งสมาธิภาวนา) ทีเดียวมันยาก เพราะจิตมันแตกมาตลอดวัน

    ๗. ของดีอยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต

    หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท

    ๘. คนดีน่ะ เขาไม่ตีใคร

    หลวงปู่ดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหน ๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านจึงว่า “คนดีน่ะ...เขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง

    ๙. ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนรสแกงส้ม
    - ศีล เปรียบได้กับรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวทำหน้าที่กัดกร่อนความสกปรกออก ทำนองเดียวกัน ศีลจะช่วยขัดเกลาความหยาบออกจากทางกาย วาจา ใจ

    - สมาธิ เปรียบได้กับรสเค็ม เพราะความเค็มช่วยรักษาอาหารต่าง ๆ ไม่ให้เน่าเสีย สมาธิก็เหมือนกัน สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้

    - ปัญญา เปรียบได้กับรสเผ็ด เพราะปัญญามีลักษณะคิด อ่าน ตริตรอง โลดแล่นไป เพื่อขจัดอวิชชาความหลง

    ๑๐. การปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเร็ว ๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย เลยไม่เป็นอีกเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกรรมฐานที่ตั้งไว้

    ภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าว ไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อย ๆ กินไป มันก็อิ่มเอง ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือภาวนาไป ก็จะถึงของดีของวิเศษในตัว แล้วเราจะรู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป

    ๑๑. รวยกับซวยมันใกล้กันนะ จะเอารวยน่ะ จะหามายังไงก็ทุกข์ กลัวคนจะมาจี้มาปล้น หมดไปก็เป็นทุกข์อีก ไปคิดดูเถอะ มันไม่จบหรอก มีแต่เรื่องยุ่ง เอา “ดี” ดีกว่า

    ๑๒. ความสำเร็จนั้น มิใช่อยู่ที่การสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มา
    ประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้วทุกอย่าง
    รับรองว่าต้องสำเร็จ ไม่ใช่จะสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ทำตามแบบ เป็นตัวอย่างให้เราดู...อัฐิของท่านก็เลยกลายเป็นพระธาตุกันหมด

    ๑๓. รอให้แก่เฒ่าหรือจวนตัวแล้วจึงสนใจภาวนา ก็เหมือนคนหัดว่ายน้ำตอนเรือหรือ
    แพใกล้แตก มันจะไม่ทันการณ์

    ๑๔. ที่ว่านิมิต แสงสว่างเป็นกิเลสก็ถูก แต่เบื้องแรกต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส
    (อาศัยกิเลสละเอียดไปละกิเลสอย่างหยาบ) แต่ไม่ได้ให้ติดแสงสว่างหรือหลง
    แสงสว่าง ท่านให้ใช้แสงสว่างให้ถูก ให้เกิดประโยชน์

    เหมือนอย่างกับ...เราเดินทางผ่านไปในที่มืด ก็ต้องอาศัยแสงไฟช่วยนำทาง หรืออย่างว่าเราจะข้ามแม่น้ำ ก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ เมื่อถึงฝั่งแล้ว เราจะแบกเรือแบกแพขึ้นฝั่งไปด้วยทำไม

    ๑๕. อย่าต้มน้ำทิ้งเปล่า ๆ โดยไม่ได้เอาน้ำร้อนไปใช้ประโยชน์ (หมายถึงอย่าเอาแต่ทำสมาธิโดยไม่พิจารณาธรรม)

    ๑๖. อย่าปฏิบัติแบบไฟไหม้ฟาง (หมายถึงไหม้วูบเดียวแล้วก็ดับ กล่าวคือ ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็หยุด อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องทำ (ปฏิบัติธรรม) ให้สม่ำเสมอให้ได้ทั้งในยามขยันและขี้เกียจ)

    ::::::::::::::

    บทเสริม :


    หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่าย ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมย ประกอบในการสอนธรรมะจึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง

    แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่า หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว

    อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ
     

แชร์หน้านี้

Loading...