ยุคพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำที่ซิดนีย์

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    [SIZE=+1]ยุคพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำที่ซิดนีย์[/SIZE] หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลและเตรียมการมาเป็นเวลานานพสมควรแล้ว ในเดือนเมษายน (พ.ศ.๒๕๑๖) (ค.ศ.๑๙๗๓) มหามกฏราชวิทยาลัยได้ส่งพระปริยัติกวี วัดราชบพิธ (อัมพร อมฺพโร) และพระขันติปาโล ชาวอังกฤษ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกับไวยาวัจกร ๑ คน มาอยู่ประจำนครซิดนีย์ ตามคำเชิญของ มร. ไนท์ ประธานพุทธสมาคมแห่งนิวเซาท์เวลส์ ท่านทั้งสองได้เดินทางมาถึงก่อนการเปิดวัดพุทธวิหารออสเตรเลียที่เมืองกาตูม บา เป็นเวลาร่วม ๒ เดือน
    เนื่องจากยังไมมีที่พักของตัวเอง พระสงฆ์ทั้ง ๒ รูปจึงต้องไปอาศัยบ้านของพุทธสมาคมเป็นเวลาร่วม ๒ สัปดาห์ ต่อมาจึงได้ย้ายออกมาอยู่บ้านเช่า เลขที่ ๙ ถนนริปอนเวย์ โรสเบรี่ (( 9 Ripon Way Rosebery) ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยได้จัดหาไว้ แม้พระสงฆ์ทั้งสองรูปจะเดินทางมาตามคำเชิญของพุทธสมาคม แต่การอุปถัมภ์บำรุงส่วนใหญ่ก็ตกเป็นภาระของชาวพุทธเอเชีย มีไทย พม่า ศรีลังกา และจีน เป็นหลัก หากจะเปรียบพุทธศาสนาเหมือนหลวงตาแก่ๆองค์หนึ่ง ชาวพุทธเอเชียก็เปรียบเหมือนศิษย์เก่าแก่ของหลวงตาซึ่งรับใช้มาเป็นเวลานาน แล้ว ชาวพุทธฝรั่งเหมือนศิษย์ใหม่เพิ่งมาฝาก หุงข้าวให้หลวงตาฉันยังไม่เป็น คงต้องฝึกอีกนาน
    ท่านเจ้าคุณพระปริยัติกวี เป็นพระเถระไทยรูปแรกที่ชาวพุทธนครซิดนีย์รู้จักคุ้นเคย เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธทั้งหลาย ทั้งไทย พม่า ศรีลังกา จีน และออสเตรเลีย เป็นผู้วางรากฐานให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลงและปูทางให้หมู่เพื่อน สหธรรมิกที่จะมาภายหลังได้อยู่สุขสบาย
    สำหรับพระขันติปาโล ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ได้เขียนตำราเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บางกาลบางสถานที่ท่านไปบรรยายมีคนไปฟังกันมากมาย คำว่ามากในที่นี้กรุณาอย่าเพิ่งไปเปรียบกับคนฟังที่เมืองไทย มีคนฟังเพียง ๕๐-๖๐ คนหรือบางครั้ง ๑๐๐-๒๐๐ คนเราก็ถือว่ามากอยู่แล้ว การเข้าฝึกกัมมัฏฐานที่เขาเรียกกันว่า เมดิเตชั่น คอร์ส ( Meditation course) พระขันติปาโล พระลามาธิเบต พระอาจารย์พม่า อาจารย์นิกายเซ็น ชอบทำกันมาก เป็นกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่ขึ้นหน้าขึ้นตา พระฝรั่งหลายรูปที่เลื่อมใสจนได้ไปบวชเมืองไทย ส่วนใหญ่ได้ฝึกผ่านเมดิเตชั่นคอร์สมาแล้วทั้งนั้น
    หลังจากที่อยู่จำพรรษาที่นครซิดนีย์เป็นเวลา ๑ ปี พระปริยัติกวีก็มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ทางมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ส่งพระธรรมทูตใหม่มาแทน ๒ รูป คือ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต วัดบ้านใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้เขียนเอง พระมหาสมัย สุขสมิทฺโธ วัดปทุมวนาราม และต่อมาก่อนเข้าพรรษา พระมหาสำเนียง วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้ตามมาเพื่อช่วยงานพระธรรมทูตอีกแรงหนึ่ง
    ผู้เขียนเองและพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ได้เดินทางมาถึงเมืองซิดนีย์ในตอนกลางคืนของวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. ๑๙๗๕) ความตั้งใจของผู้เขียนเองก็เพียงเพื่อเป็นคณะปูรกะอยู่รับใช้ครูบาอาจารย์ ช่วยเหลือท่านในสิ่งที่พอทำได้ ผู้ที่มีพระคุณสูงสุดเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะธรรมยุตโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ ความเมตตาร่มเย็นแก่คณะพระสงฆ์ธรรมยุตในต่างประเทศก็คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และท่านเจ้าคุณพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เนปาล เจริญรุ่งเรืองเป็นหลักฐานขึ้นมาเพราะพระเมตตาของปูชนียเถระทั้งสองท่านแท้ ๆ ทีเดียว
    เมื่อผู้เขียนมาถึงไม่นานนัก ก็ได้รับคำสั่งจากมหามกุฏราชวิทยาลัยให้หาบ้านที่เหมาะสมเพื่อซื้อเป็นที่ ตั้งสำนักสงฆ์ พระขันติปาโล พระมหาสำเนียง และผู้เขียนมองหาบ้านที่เหมาะสมอยู่ประมาณ ๓ เดือน จึงได้ปลงใจให้กรรมการจัดซื้อ บ้านเลขที่ ๘๘ สแตนมอร์ เป็นสำนักสงฆ์ แม้จะหนวกหูบ้างบางครั้งเพราะอยู่ใกล้เส้นทางเครื่องบิน แต่เห็นว่าเป็นบ้านที่เหมาะสมที่สุด อยู่สบายสำหรับพระสงฆ์ เพราะ ๒ ชั้น และมีบริเวณสวนหลังบ้านยาวพอสมควรผู้ที่เป็นเจ้าภาพใหญ่บริจาคเงินผ่านมหาม กุฏราชวิทยาลัยก็คือ คุณหญิงละมูน มีนะนันท์ บริจาค ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท และผู้บริจาครายย่อยเพิ่มเติมอีก ๒๕๘,๒๕๐ บาท รวมทั้งหมดคิดเป็นเงินออสเตรเลียประมาณ ๖๕,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งเป็นราคาของบ้านรวมทั้งที่ดิน
    มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานนามวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “ วัดพุทธรังษี “ และได้ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชเสด็จมาทรงเปิดวัดใหม่แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ( ค.ศ. ๑๙๗๕ )
    คณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมพิธีเปิดวัดพุทธรังษีมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ) ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก (วิชมัย ปุญญาราโม) พระราชมุนี พร้อมทั้งพระผู้ใหญ่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพศิรินทราวาส และวัดราชบพิธประมาณ ๑๐ รูป และมีคณะญาติโยมผู้ติดตามมี คุณหญิงละมูน มีนะนันท์ , ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์, ดร. เชาวน์ ณศีลวันต์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย คุณประสงค์ บุญเจิม คุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร , คุณนายเข็มทอง โอสถาพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเอกอัครราชทูตไทยขณะนั้น คุณวิวรรธ ณ ป้อมเพชร ผู้ช่วยทูตทหารบก เรือ อากาศ ตลอดถึงข้าราชการสถานทูตทุกท่านมาร่วมงาน นายกรัฐมนตรีรัฐนิวเซาธ์เวลส์ นายกเทศมนตรีเมืองซิดนีย์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ มร. เอียน ฮัดสัน ( Mr. Ian Hudson ) ก็ได้รับเชิญมาร่วมพิธีเปิดเช่นกัน ในงานเปิดวัดครั้งนี้ ได้มีการบรรพชาสามเณรรูปหนึ่ง คือ มร. รอด พลานต์ ( Mr. Rod Plant ) นับว่าเป็นการบวชสามเณรครั้งแรกในออสเตรเลีย
    การทำพิธีเปิดวัดพุทธรังษีซึ่งเป็นวัดแรกในเมืองซิดนีย์ครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายแห่งความตั้งใจอันแน่วแน่ของพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองไทยที่จะให้ พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปทั่วทุกแห่ง เพื่อประโยชน์สุขของเทวดา มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกทั่วหน้า ชาวพุทธที่อยู่ในเมืองซิดนีย์มี ชาวไทย พม่า ศรีลังกา และจีน มีความปลื้มใจ มีความสุขใจมากที่เห็นเจ้านายชั้นสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระเถระจากเมืองไทย ตลอดถึง ผู้มีเมตตา ช่วยเหลือให้มีวัดวาศาสนาตั้งประดิษฐานขึ้นได้ในส่วนนี้ของโลก วิหาระทานัง สังฆัสสะ อัคคัง พุทเธหิ วัณณิตัง บุญใดที่จะประเสริฐเลิศเท่าวิหารทานนั้นไม่มี แม้แต่สมเด็จพระบรมศาสดาก็ยังทรงสรรเสริญ
    หลังจากพิธีเปิดวัดพุทธรังษีแล้ว สมเด็จพระญาณสังวร พระราชมุนี และคณะผู้ติดตามอีก ๓ รูป ได้เดินทางไปยังเมืองนัมบัวร์ รัฐควีนแลนด์ เพื่อแสดงธรรมแก่ชาวออสเตรเลียผู้กำลังเข้าคอร์สอยู่ที่นั่นสำนักกัมมัฏฐาน แห่งนี้นำโดยพระธิเบต ๒ รูป ชื่อ ลามะ ยะเช (Lama Yeshe ) และ ลามะ โชปะ ( Lama Zopa ) ผู้ซึ่งได้เดินทางมาสู่ออสเตรเลียมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. ๑๙๗๔ ) นอกจากนี้สมเด็จพระญาณสังวร ยังได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดชาวออสเตรเลียผู้สนใจพระพุทธศาสนาที่บ้านชาวยิว ออสเตรเลียครอบครัวหนึ่ง ชื่อ คุณ เอลซ่า และคุณเกิร์ด ( Elsa and Gerd ) ที่ ชาลอม ( Shacom ) ด้วย ผู้ที่สนใจเข้าฝึกกัมมัฏฐานกับพระธิเบตครั้งนั้นประมาณ ๒๐๐ คน ฝรั่งล้วน เป็นที่น่าอนุโมทนา
    ขณะนี้สำนักของพระธิเบตอยู่กระจายทั่วทุกรัฐ มีการสอนสมาธิภาวนากันแข็งขัน พระธิเบตนั้นก็เหมือนกับพระมหายานนิกายอื่น ๆ วินัยของท่านคล่องตัว ไม่เหมือนกับพระไทยเราซึ่งถือว่าพระวินัยเป็นส่วนสำคัญของพระศาสนาคู่กับ ธรรมมะ เราถือเคร่งครัดว่า ถ้าพระขาดวินัยก็ไม่มีธรรมะอะไรที่จะคุ้มครองตัวเองและเหลือไว้ให้ญาติโยม ได้เลย
    การเผยแพร่พุทธสาสนาของวัดพุทธรังษีในยุคแรก ๆ ทางฝ่ายภาษาอังกฤษก็ได้อาศัยพระขันติปาโล พระดอน ธัมมานันโท ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระญาณสังวร ในด้านการฝึกหัดสมาธิภาวนาพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ก็เป็นหลักสำคัญองค์หนึ่ง เป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนชาวออสเตรเลีย และชาติอื่นที่สนใจ มีการไปบรรยายธรรมะและนำผู้สนใจฝึกสมาธิที่พุทธสมาคมจีนเป็นประจำ แรก ๆ ก็ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ต่อมาสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนั้นก็ได้ไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ มีวิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งได้เชิญมา รวมทั้งมีการบรรยายต่อนักเรียนที่มาทัศนศึกษาที่วัดด้วย กิจกรรมส่วนนี้แม้ท่านขันติปาโลจะไม่ได้อยู่ด้วย และท่านธัมมานันโทก็ได้ลาสิกขาไปแล้ว ผู้เขียนและหมู่คณะเพื่อนพระธรรมทูตก็ยังทำอยู่เป็นประจำจนกระทั่งทุกวันนี้
    การทำวัตรเช้า-วัตรเย็น นั่งสมาธิภาวนาร่วมกับผู้สนใจมานั่งฝึกด้วย เป็นกิจกรรมประจำทุกวันทำมาเสมอต้นเสมอปลายโดยไม่หยุด บางครั้งก็มีฝรั่งชาวออสเตรเลียมานั่งด้วย ๒-๓ คน บางครั้งก็มากกว่านั้น ห้องพระวัดพุทธรังษีนั้นแคบมาก วันไหนมีคนมานั่งด้วยประมาณ ๘-๑๐ คน ก็รู้สึกจะแน่นเต็มที่แล้ว
    พระธัมมานันโท เป็นพระฝรั่งที่อัธยาศัยดีมาก เสียดายที่ท่านอยู่ในเพศสมณะไม่นาน ท่านพูดภาษาอังกฤษได้นุ่มนวลเป็นที่จับใจแก่ผู้ฟังทั้งหลาย สิ่งที่ท่านมักย้ำเป็นประจำก็คือ คาถาบทว่า เยนะ เยนะ หิมัญญันติ ตะโตตังโหติ อัญญะถา แปลความว่าแม้ว่าเราจะสำคัญมั่นหมายสักเพียงใดก็ตาม สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมายอยากให้มีอยู่ อยากให้เป็นอยู่นั้น ไม่มีทางสมปรารถนาเป็นอันขาด คือมันจะกลับตรงกันข้ามกับความสำคัญมั่นหมายของเรา ท่านอธิบายว่า รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ นั้นหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปเสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในโลกเหมือนกับว่าเป็นเรื่องโกหก สิ่งที่ไม่โกหกก็มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือพระนิพพาน
    พระเถระในคณะพระธรรมทูตรูปหนึ่งซึ่งมีคุณานุคุณทำปะโยชน์มากแก่ชาว ออสเตรเลีย คือพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ท่านมีประสบการณ์เรื่องสมาธิภาวนามาก เคยอยู่จำพรรษากับครูบาอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ในยุคต้นๆ แห่งการเผยแพร่ธรรมในออสเตรเลียท่านมักจำอยู่พรรษากับชาวออสเตรเลียที่เมือง นิมบิ้น (Nimbin) ทางเหนือของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ท่านได้ส่งลูกศิษย์ออสเตรเลียหลายคนไปบวชที่เมืองไทย แม้ส่วนใหญ่จะลาสิกขาไปมากแล้ว ชาวออสเตรเลียเหล่านั้นก็ยังนับถือพระพุทธศาสนา เอาพุทธธรรมเป็นเครื่องนำชีวิตของตนอยู่ สิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากท่านมีมากมาย แต่ก็มีเรื่องหนึ่งอยากจะนำมาเล่าต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมะที่เกิดจากใจแท้ ๆ ของท่าน ท่านเล่าว่าเมื่อก่อนโน้นท่านท่านมีอุปนิสัยชอบขัดคอคน ฟังเรื่องอะไรที่ไม่เข้าท่าแล้วอดพูดไม่ได้ วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งสมาธิ เมื่อจิตสงบก็มีบาลีโผล่ขึ้นมาในใจของท่านว่า นะโส เห ตะวัง วิวาโท โลกุตตระ สันตัง แล้วก็แปลให้ฟังด้วยว่า “ กรุณาอย่าเป็นบ้าน้ำลายเถียงกันให้ลำบากเลย โลกุตรธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นสงบเย็นสูงสุดแล้ว” อีกครั้งหนึ่ง ท่านให้คติผู้เขียนว่า “ท่านมหา หากเราเป็นปุถุชนอยู่ กิเลสมันคลุมหัวเราตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้ว ท่านอย่าไปมัวอ้าปากพูดธรรมะให้เสียเวลาเลย กิเลสมันจะออกมาด้วย”
    เมื่อเราฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ พิจารณาด้วยใจสงบด้วยจิตเป็นธรรมแล้วก็รู้สึกซาบซึ้งได้เหตุได้ผลดี หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
     
  2. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    หลวงปู่เทสก์มาเยี่ยมเยือน ออสเตรเลีย

    [SIZE=+1]หลวงปู่เทสก์มาเยี่ยมเยือน[/SIZE] การมาเยี่ยมเยือนของหลวงปู่เทสก์และคณะ มีท่านชัยชาญ พระสตีเวน หมอชะวดี แม่ชีชวน เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ( ค.ศ. ๑๙๗๖ ) นั้น เป็นที่ปลื้มปิติแก่หมู่เพื่อนสหธรรมิกและชาวพุทธที่นครซิดนีย์เป็นอย่าง ยิ่ง
    หลวงปู่ท่านเป็นพระมหาเถรชั้นพิเศษ งามทั้งรูปร่างผิวพรรณ จริยาวัตรปฏิปทา กระแสเสียงไพเราะ ทั้งเป็นศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของท่านอาจารย์มั่นด้วย ถือเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวอีสานและประชาชนผู้ตั้งใจปฏิบัติทั่วเมืองไทย ครูบาอาจารย์ พระเณร ผู้สนใจในการปฏิบัติทุกท่านที่ขึ้นไปสู่อีสาน เหนือ อุดร หนองคาย ถนนทุกสายมุ่งสู่วัดหินหมากเป้งทั้งนั้น ตั้งแต่ปีที่หลวงปู่มาเยี่ยมจนกระทั่งทุกวันนี้ ๑๕-๑๖ ปีล่วงแล้ว ญาติโยมผู้สนใจปฏิบัติธรรมทางนครซิดนีย์ตลอดทั้งผู้เขียนเอง เวลากลับมาเยี่ยมเมืองไทย ต้องไปกราบคารวะหลวงปู่เสมอ ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นในมงคลสูตรที่ว่า สมณานัญจะ ทัสสะนัง การได้มีโอกาสไหว้ครูบาอาจารย์ผู้ประเสริฐนั้น จะทำให้เราเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้เป็นคนกับเขาไปนานเท่านาน ผู้เขียนมักจะเปรียบตัวเองเหมือนทหารเกณฑ์ที่รักษาด่านอยู่ตามป่าตามเขา นาน ๆ ได้เห็นขุนพลใหญ่แห่งกองทัพธรรมเข้า รู้สึกดีใจและได้กำลังใจเป็นที่สุด
    หลวงปู่ท่านให้โอวาทหลังจากปาฏิโมกข์ซึ่งมีพระสุโสภโณ ชาวเนปาลเป็นผู้สวดถวายวันนั้นว่า ผมเห็นใจและสงสารหมู่เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ห่างไกล สมัยก่อนโน้นหน้าที่ประกาศพระศาสนาเป็นของพระอรหันต์ผู้มีความเสียสละเป็น อย่างยิ่ง ทั้งกิเลสของท่านก็หมดแล้วเหลือแต่ธรรมะล้วน ๆ ที่จะให้ด้วยความเมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีใครที่จะตำหนิติเตียน ท่านเพราะข้อวัตรปฏิบัติได้เลย แต่มาสมัยนี้ พวกเราเป็นเพียงพระปุถุชนออกประกาศพระศาสนา ถ้าไม่ระมัดระวังสำรวมให้มาก ไม่ยึดข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์เป็นทางเดินแล้ว ผมกลัวว่าพระเราจะเอาของเน่าไปขายตลาด........ ถ้าหากทุกข์ยากลำบากอย่างไร ก็ขอให้ระลึกถึงความเสียสละของครูบาอาจารย์ที่เอาเลือดเนื้อช่วยกันรักษาและ เผยแพร่พุทธศาสนาสืบทอดมาจนกระทั่งถึงพวกเราทุกวันนี้ ในสมัยอยุธยา พระอุบาลีท่านก็ได้นำพระธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ ชาวศรีลังกาอยู่จนมรณภาพที่นั่น และคณะพระธรรมทูตชุดที่ ๒ ที่ถูกส่งไปสับเปลี่ยน เรือก็ไปเกยหินโสโครกอับปาง พระเณรก็ได้มรณภาพเสียหลายรูป.......
    เรื่องความเสียสละทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ผู้เขียนคิดว่าพวกเราคณะพระธรรมทูตมีอุปนิสัยพอเป็นพอไป แต่เรื่องเอาของเน่าไปขายตลาดนี้ เป็นสิ่งที่หวาดเกรงเป็นที่สุด ถ้าตัวเราเองแท้ ๆ ไม่มีอะไรดีแล้ว จะเอาความดีอะไรไปเผยแพร่ให้คนอื่นเขา กลัวเป็นที่สุดว่าพระเราจะเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาเสียเอง
    หลวงปู่อยู่ด้วยเป็นเวลา ๗ วัน มีผู้มาร่วมทำวัตรฝึกสมาธิและฟังธรรมะจากหลวงปู่ทุกวัน หลวงปู่เทศน์ที่สมาคมจีน ๒ ครั้ง แต่ละครั้งมีผู้มาร่วมฟังเทศน์ประมาณ ๕๐ คน
     

แชร์หน้านี้

Loading...