มุตโตทัย โดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย Aek9549, 6 พฤษภาคม 2012.

  1. Aek9549

    Aek9549 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    811
    ค่าพลัง:
    +1,031
    หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)
    มุตโตทัย
    โดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    การปฏิบัติเป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์


    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคตเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) ไป แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐาน ในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย
    เพราะฉะนั้น เมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติธรรมถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจ กำจัดเหล่ากะปอมก่า คือ อุปกิเลสแล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย
    ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

    ปุริสทัมมสารถิ สัตถา เทวมนุสสานํ พุทโธ ภควา สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัด พระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สัตถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กัลยาโณ กิตติสัทโท อัพภุคคโต เสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจาตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้
    แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกันปรากฏว่า ท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้วและทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทโท โหติ คือเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจาตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในกาลก่อนทั้งหลาย ฯลฯ
    <center> มูลการของสังสารวัฏฏ์ </center> ฐีติภูตํ อวิชชาปัจจยา สังขารา อุปาทานัง ภโว ชาติ คนเราทุกรูปทุกนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้นกล่าวคือ มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติ ปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชชาปัจจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไร? ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่พวกเราก็ยังมีบิดามารดา อวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเอง เป็นพ่อแม่ของอวิชชา
    ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั่งเดิม เมื่อ ฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึด ถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจาก ฐีติภูตํ เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อ ฐีติภูตํ กอปรด้วยอวิชชา จึงไม่รู้เท่าอาการทั้งหลาย แต่เมื่อ ฐีติภูตํ กอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริงนี่พิจารณาด้วย วุฏฐานคามินีวิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํเป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่ามูลตันไตร
    เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏให้ขาดสูญจึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชา รู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริงก็จะหายหลงแล้วไม่ก่อการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏด้วยประการฉะนี้

    <center> อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคผลนิพพาน </center> อคคํ ฐานํ มนุสเสสุ มัคคํ สัตตวิสุทธิยา ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ฐานะอันเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ อธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดา มารดา กล่าวคือ ตัวของเรานี้แลอันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นชาติสูงสุดเป็นผู้เลิศ ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือ มีกายสมบัติ วจีสมบัติ และมโนสมบัติบริบูรณ์จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรค ผล นิพพาน ธรรมวิเศษ ก็ได้
    พระพุทธองค์ทรง บัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ช้างม้าโคกระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้ว ทำให้ยิ่งได้ สมด้วยเทศนานัย อันมาในเวสสันดรชาดกว่า ทานํ เทติ สีลํ รักขติ ภาวนํ ภาเวตวาเอกัจโจ สัคคํ คัจฉติ เอกัจโจ โมกขํ คัจฉติ นิสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้วบางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่ สวรรค์ บางพวกแลขยันทำจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลัง ประกอบกันก็สามารถเข้าสู่พระนิพพาน โดยไม่ต้องสงสัยเลยพวกสัตว์ดิรัจฉานทานไม่ได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้จึงสมกับคำว่า มนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี สามารถนำตนเข้าสู่มรรคผลเข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

    <center> สติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ คือ สนามฝึกฝนตน </center> พระบรมศาสดาจารย์ เจ้าทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้ง มหาสติปัฏฐาน เป็นชัยภูมิอุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัยมุ่งหมายชัยชนะจำต้องหาชัยภูมิถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อม สามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้น สามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่าชัยภูมิคือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูหอรบอัน มั่นคงฉันใด
    อุปไมย ในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอา มหาสติปัฏฐาน เป็นชัยภูมิ ก็โดยที่ผู้จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่เกิดกามราคะ เป็นต้นขึ้นก็เกิดที่กายและใจเพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบเหตุนั้นจึง ได้ความว่ากายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณาที่กายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำใจให้สงบได้ณ ที่นี้ พึงทำให้มาก คือ พิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคหนิมิตปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะ คิดว่าที่นี่ เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกาย ออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆ อาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียดที่เรียกว่า ปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคหนิมิตนั้นจนชำนาญที่จะชำนาญได้ก็ ต้องพิจารณาซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั่นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่า ไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสีย ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคหนิมิตในที่ใดแล้วไม่พิจารณาในที่นั้นให้มาก ปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน
    การพิจารณากายนี้ มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือกายนี้เองก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่าอาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากายอาจทำลายอุปนิสสัย แห่งพระอรหัตของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพระขีณาสวเจ้าทั้งหลายชื่อว่า จะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่งโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทธา แผ่นดินภายนอก ให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายใน กล่าวคือ อัตภาพร่างกายนี้ จงไตร่ตรองพิจารณาให้แยบคายกระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็บรรลุพระอรหัตผล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 พฤษภาคม 2012
  2. Aek9549

    Aek9549 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    811
    ค่าพลัง:
    +1,031
    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="6" width="100%"><tbody><tr><tr><td colspan="2" valign="top">[​IMG] เหตุนั้นการพิจารณากายนี้ จึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกข์ทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรก ก็ทรงพิจารณาลมลมจะไม่ใช่กายอย่างไร ! เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐาน มี กายานุปัสสนา เป็นต้นจึงชื่อว่า ชัยภูมิ เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า
    <center> อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส </center> ธรรมชาติของดีทั้งหลายย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดเป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติ พากเพียร ประโยค พยายาม ย่อมพิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียดจิตจึงพ้นสิ่งสกปรกน่าเกลียดได้
    สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือ ตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครก คือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตร คูถ ทั้งปวง) สิ่งที่ออกจากผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่าขี้ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้นเมื่อสิ่งเหล่านี้ล่วงหล่นลงสู่อาหารมีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหากไม่ชำระขัดสีก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบเข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเรา ก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็เป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆเข้า ไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดังนี้ จึงได้ความว่า ร่างกายของเรานี้เป็น เรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรก หาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย ฯลฯ
    <center> จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส </center> ปภัสสรมิทํ ภิกขเว จิตตํ ตัญจโข อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกกิลิฏฐํ ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมประภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า ไม้ชะงกหกพันง่า (กิ่ง) กะปอมก่า(กิ้งก่า) ขึ้นมื้อฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆโดยอธิบายว่า คำว่า ไม้ชะงก ๖,๐๐๐ ง่า นั้น ตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ ออกเสียเหลือแต่ ๖ คงได้ความว่า ทวารทั้ง ๖ ๆ เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอม ไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง ๖ นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมีขึ้นก็จะมีทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆวัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง ฉะนั้น อย่าพึ่งเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก
    ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนานั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงชั้นฐีติจิต แล้วชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้น หรือว่าของปลอมย่อมเข้าไม่ถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

    <center> การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร
    ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสสัย
    </center> นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมานม้า เขาทูลว่ามีม้า ๔ ชนิด คือ
    ๑. ทรมานง่าย
    ๒. ทรมานอย่างกลาง
    ๓. ทรมานยากแท้
    ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย
    พระองค์จึงตรัสว่า เราก็เหมือนกัน
    ๑. ผู้ทรมานง่าย คือ ผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่าย ก็ให้กินอาหารเพียงพองเพื่อบำรุงร่างกาย
    ๒. ผู้ทรมานอย่างกลาง คือ ผู้ทำจิตไม่ค่อยจะลง ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก
    ๓. ทรมานยากแท้ คือ ผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็นอัตตัญญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไรแค่ไหน
    ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือ ผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้เป็นปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือ ไม่ทรงสั่งสอนอุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น
    <center> มูลติกสูตร <center> </center> </center> ติก แปลว่า ๓ มูล แปลว่า เค้ามูล รากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก ๓ อกุศลมูลสำหรับตัณหา ก็มี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ส่วนโอฆะ และอาสวะ ก็มีอย่างละ ๓ คือ กามะ ภวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วยสามเช่นนี้ ติปริวัตตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น ๓-๓ ก็ต้องเป็นโลก ๓ คือ กามโลก รูปโลกอรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ ๓ เป็นเค้ามูล โลก ๓ เครื่องแก้ก็มี ๓ คือ ศีลสมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตาม ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้นติปริวัตตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น ๓-๓ ก็ไม่เป็นโลก ๓ ชื่อว่าพ้นจากโลก๓ แล
    <center> วิสุทธิเทวาเท่านั้น เป็นสันตบุคคลแท้ </center> อกุปปํ สัพพธัมเมสุ เญยยธัมมา ปเวสสันโต บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็น พหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สันโต จึงเป็นผู้สงบระงับสันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคง เป็นสัปบุรุษ ผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตตัปปสัมปันนา สุกกธัมมสมาหิตา สันโต สัปปุริสา โลเก เทวธัมมาติ วุจจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้
    ความในพระคาถานี้ย่อมต้อง หมายถึง วิสุทธิเทวา คือ พระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย หิริโอตตัปปะ และสุกกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้
    <center> อกิริยาเป็นที่สุดโลก สุดสมมติบัญญัติ </center> สัจจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมันโต เต โลเก ปรินิพพุตาสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยาเพราะแต่ละสัจจะๆย่อมมีอาการต้องทำ คือ ทุกข์ ต้องทำการกำหนดรู้ สมุทัย ต้องละ นิโรธ ต้องทำให้แจ้ง มรรค ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมดถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยา เพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่า สัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไปหรือก้าวขึ้นไป ๔ พัก จึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นจึงเรียกว่า อกิริยา
    อุปมาดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ – ๙ ทิ้งเสียเหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละคือ ปัญญารอบรู้ เพราะทำลายกิริยา คือความสมมติ หรือว่า ลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลายคำว่า ลบ คือ ทำลายกิริยา กล่าวคือความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยานั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความเป็นจริงซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เอง เห็นเอง นั่นแหละจึงจะเข้าใจได้
    ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย ดับโลก ๓ รุ่งโรจน์อยู่ คือ ทำการพิจารณาบำเพ็ญเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือ ทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลัง สามารถพิจารณาสมมติทั้งหลาย ทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้ จนเป็นอกิริยา ก็ย่อมดับโลก ๓ ได้ การดับโลก ๓ นั้น ท่าน ขีณาสวะเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียวคงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียว เมื่อจะดับโลก ๓ ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลก๓ คงดับอยู่ที่จิต ๆ นั่นเองเป็นโลก ๓ ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลก ๓ พึงดับที่จิตของตนๆ จนทำลายกิริยาคือ ตัวสมมติหมดสิ้น จากจิตยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรม อันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล
    <center> สัตตาวาส ๙ </center> เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลกที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกาม รวมเป็น ๑ รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปโลกที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้สำเร็จอรูปฌาน ๔ รวมทั้งสิ้นเป็น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้มารู้เท่าของสัตตาวาส ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ไม่ต้องอยู่ในที่ ๙ แห่งนี้และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่าทส นาม กี อะไรชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสอังเคหิ สมันนาคโต พระขีณาสวะเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน ๑๐ ก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์)ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ๐ (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่
    ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) ๆ เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมากเช่นเลข ๑ เมื่อเอา ๐ (ศูนย์) ต่อเข้าก็กลายเป็น ๑๐ (สิบ) จิตใจนี้ก็เหมือนกันเมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็กลายเป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันทีแต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดให้รู้สรรพเญยยธรรมแล้ว ย่อมกลับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่าง โปร่ง พ้นจากการนับการอ่านแล้วมิได้อยู่ในที่ ๙ แห่ง อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ ๐ (ศูนย์)หรือกิริยาดังกล่าวนั่นเอง
    <center> ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนาและปัจฉิมเทศนา </center> พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ กาล มีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ
    ก. ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัจจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้น ทรงยกส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นแสดงว่า เทวเม ภิกขเวอันตา ปัพพชิเตน น เสวิตัพพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขขัลลิกา และ อัตตกิลมถา อธิบายว่ากามสุขขัลลิกาเป็นส่วนแห่งความรัก อัตตกิลมถาเป็นส่วนแห่งความชัง ทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัยเมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดนอยู่ซึ่งส่วนทั้ง ๒ นี้ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิจิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจครั้นเมื่อจิต นึกคิดให้ฟุ้งซ่าน รำคาญก็เสียใจ ความดีใจ นั้น คือกามสุขขัลลิกาความเสียใจ นั้น คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็น ราคะ ความเสียใจเป็น โทสะความไม่รู้เท่าราคะ โทสะทั้ง ๒ นี้เป็นโมหะ
    ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกก็ต้องกระทบส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่ แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียวต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้ง ๒ ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคืออาสวักขยญาณในยากใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลาง อันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือ ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้น พ้นจากสมมติโคตรสมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตรอริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั่นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ทำให้ถูกอาสวักขยญาณ พ้นจากความผิดตามพระองค์ไปส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรก ๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าและทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ก็ตกในโลกธรรมเมื่อตกอยู่ใน โลกธรรมจึงเป็นผู้หวั่นไหวไปมา อุปปนโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหนเกิดที่เรา โลกธรรมมี ๘ มรรคคือเครื่องแก้ก็มี ๘ มรรค ๘ เป็นเครื่องแก้โลกธรรม ๘
    ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา แก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรคตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็น จาโคปฏินิสสัคโค มุตติอนาลโย (สละ สลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมากพระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไรเพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็ไม่ใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน๒ ธาตุ ของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล
    ข. มัชฌิมโพธิกาล ทรงแสดง โอวาท ปาฏิโมกข์ ในชุมนุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ในความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตเต จ อาโยโค เอตํ พุทธานสาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะกระทำจิตให้ยิ่งได้ ต้องเป็นผู้สงบระงับอิจฉาโลภสมาปันโน สมโณ กึ ภวิสสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงบระงับได้อย่างไร? ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติวินัยเป็นเบื้องต้นและเจริญกรรมฐาน ตั้งต้นแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก
    ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกายโดยอาการแห่งบริกรรมสวนะ คือ พิจารณาโดยอาการคาดคะเนว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะไป เสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มากในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญในที่นั้นจนให้เป็นปฏิภาคชำนาญในปฏิภาค โดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฎ์ ทำจิตเข้าถึง ฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่าปฏิบัติ
    เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกข์ จึงข้ามพ้นคือ พ้นจากโลกชื่อว่า โลกุตรธรรมเขมํ จึงเกษมจากโยคะ (เครื่องร้อย) ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึง วิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้แล ฯ
    ค. ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมนุมพระอริยสาวกณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หันททานิ อามันตยามิ โว ภิกขเว ปฏิเวทยามิ โว ภิกขเว ขยวย ธัมมาสังขารา อัปปมาเทน สัมปาเทถ เราบอก ท่านทั้งหลายว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาทพิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ ไม่ตรัสอะไรต่อไปอีกเลยจึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนา
    อธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหน? อะไรเป็นสังขารสังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิต ให้เกิดขึ้น ซึ่งสมมติทั้งหลายสังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติ สิ่งทั้งหลายในโลก ความจริงของในโลกทั้งหลาย หรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขาฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย ตลอดจนตนตัวมนุษย์ก็เป็นธาตุของโลกเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้จนหลงกันว่าเป็นจริงถือเอาว่าเป็นเรา เป็นของๆ เราเสียสิ้น จึงมีราคะโทสะ โมหะ เกิดขึ้น ทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอเนกภพอเนกชาติ เพราะเจ้าสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ
    จึงทรงสอนให้พิจารณาสังขารว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพสังขารา ทุกขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้นจนทำจิตให้เข้าภวังค์ เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เกิดขึ้นในจิตจริงๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ได้ในคาถาว่า อกุปปํ สัพพ ธัมเมสุ เญยยธัมมา ปเวสสันโตเมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สันโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้ ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ทำให้ผู้พิจารณา รู้แจ้งถึงที่สุด พระองค์จึงได้ปิดประโอษฐ์แต่เพียงนี้
    พระธรรมเทศนาใน ๓ กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุกๆ กาล ปฐมเทศนา ก็เล็งถึงวิมุตติธรรม มัชฌิมเทศนา ก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนา ก็เล็งถึง วิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึง วิมุตติธรรม ทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้
    <center> พระอรหันต์ทุกประเภท บรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ </center> อนาสวํ เจโตวิมุตติ ปญญาวิมุตตึ ทิฏเฐว ธัมเม สยํ อภิญญา สัจฉิกัตวา อุปสัมปัชช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติทั้งปัญญาวิมุตติ ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่าเจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิมาก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุขวิปัสสกะ ผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ นั้น ย่อมขัดแย้งต่อมรรค
    มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีทั้งสัมมาทิฐิทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน ฉะนั้น จึงว่าพระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติทั้งปัญญาวิมุตติ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
    ที่มา:http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1123.php</td></tr></tr></tbody></table>
     
  3. สัมภิทา

    สัมภิทา Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    15
    ค่าพลัง:
    +77
    จิตเดิมเป็นธรรมชาติที่ใสสว่างแต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส
     

แชร์หน้านี้

Loading...