มาณพเกียจคร้าน/การให้ทาน/นางอุมมาทันตี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 21 พฤษภาคม 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    มาณพเกียจคร้าน

    เป็นเรื่องราวของลูกเศรษฐีเมืองพาราณสี พ่อเป็นคนเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีลห้านิจศีล ลูกเองตอนแรกๆ ก็มีแววว่าจะเป็นเด็กดี แต่เนื่องจากเป็นคนหัวอ่อน จึงถูกเพื่อนชักจูงได้ง่าย บรรดาเพื่อนๆ ก็ล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวผับเที่ยวเธคกันทั้งนั้น ชวนแกไปเที่ยวไปดื่ม แกก็ไปกับเขาอย่างว่าง่าย

    แรกๆ แกก็ดื่มไม่เป็น เพราะพ่อสอนว่าอย่าแตะต้องสุราเมรัย แกก็เชื่อฟังคำสอนของพ่อ เพื่อนรินเหล้าให้ก็ไม่ยอมแตะแม้แต่จิบเดียว เพื่อนๆ จึงร่วมกันวางแผนให้เขาดื่มเหล้าจนได้โดยให้เอาใบบัวมาทำเป็นรูปกระทง เจาะรู เอาจ่อปาก แล้วเทน้ำใสๆ ลงดื่มทีละหยดๆ บอกแกว่าน้ำหวานจากใบบัวอร่อยมาก ให้เขาลองชิมดู

    มาณพหนุ่มพาซื่อ ลองดูบ้าง ปรากฏว่ารสน้ำจากใบบัวมีรสชาติแปลกประหลาดซาบซ่าเสียนี่กระไร ดื่มไปหลายกระทงก็ยังไม่พอ ปากก็เรียกร้อง "เอามาอีกๆ"

    "หมดแล้ว" เพื่อนๆ บอก

    "อะไร ทำไมหมดเร็วนัก" มาณพหนุ่มถาม

    "น้ำใบบัวน่ะไม่หมดดอก แต่เงินหมด ไม่มีเงินจะซื้อ"

    เรื่องเล็ก เอานี่ไป ว่าแล้วก็ควักเหรียญกษาปณ์ให้ถุงเบ้อเร่อเท่อ ให้เพื่อนไปหาน้ำจากใบบัวมาดื่ม

    กว่าจะรู้ว่าน้ำจากใบบัวที่แท้นั้นก็คือสุรา เขาก็ติดเสียจนงอมแงมแล้ว ถอนตัวไม่ขึ้น กลายเป็นนักดื่มคอทองแดงในเวลาไม่นาน พ่อแม่ทักท้วงอย่างไรก็ไม่ฟัง เงินทองก็ร่อยหรอเพราะไปซื้อสุรายาเมามาเลี้ยงเพื่อนๆ

    พ่อของเขาเมื่อได้ตระหนักแล้วว่า ลูกชายของตัวเกิดมาเพื่อล้างผลาญทรัพย์สมบัติ จึงฟ้องต่อศาลตัดขาดจากความเป็นพ่อลูกกัน เนรเทศเขาออกจากบ้าน เขาก็ระเหเร่ร่อนเที่ยวกินเที่ยวดื่มกับเพื่อนๆ ไป สักพักหนึ่งเมื่อเงินหมด เพื่อนๆ ก็หดหายไปด้วย เหลืออยู่ตัวคนเดียว

    สมกับโคลงสุภาษิตโลกนิติว่า "เพื่อนกิน สิ้นทรัพย์แล้วแหนงหนี" ยังไงยังงั้น

    ในที่สุดก็ต้องถือกะลาเที่ยวขอทาน และจบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายข้างฝาเรือคนอื่น ตายอย่างหมากลางถนนว่ากันอย่างนั้นเถิด

    อาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ ท่านสรุปท้ายด้วยคำคมว่า...

    "ผู้หลับในกลางวันเป็นปกติ

    เกลียดการลุกขึ้นในกลางคืน

    เมาเป็นนิตย์ เป็นนักเลง ไม่อาจครองเรือนได้"

    "ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยมาณพผู้ทิ้งงานด้วยอ้างว่า เวลานี้หนาวนัก เวลานี้ร้อนนัก เวลานี้เย็นนัก"



    การให้ทาน

    มงคลข้อต่อไปคือทาน การให้ การให้นั้นแบ่งได้หลายประเภท ที่รู้กันส่วนมาก คือ อามิสทาน (สิ่งของ) ธรรมทาน (ให้ธรรมะ) และ อภัยทาน (ให้ความไม่มีภัย ให้ชีวิต)

    พูดถึงทาน นึกถึงคำอีกคำหนึ่ง คือ จาคะ หรือ ปริจจาคะ สองคำนี้ใช้แทนกันได้ ในที่ใดใช้คำเดียวว่า "ทาน" ในที่นั้นย่อมคลุมถึงความหมายของ "จาคะ" ด้วย แต่ถ้าทั้งสองคำมาด้วยกัน ทาน หมายถึงให้สิ่งของ ปริจจาคะ หมายถึงเสียสละกิเลส

    ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า "จาคะ" หมายถึงสละความหวงแหนสิ่งของที่ตนมีออกจากใจ หรือ "การตัดใจ" นั่นเอง ทาน หมายถึงกิริยาอาการที่ยื่นสิ่งของนั้นให้หลังจากตัดใจแล้ว แต่ถ้าใช้คำว่า ทาน หรือจาคะ โดดๆ ก็รวมทั้งสองความหมายนั้นอยู่ในคำเดียวกัน

    มีพุทธวจนะพูดถึงสาเหตุที่คนให้ทานแตกต่างกัน บางคนให้ทานเพราะหวังผล มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังสะสมจึงให้ คิดว่าจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กินได้ใช้

    บางคนให้ด้วยคิดว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมา ไม่ควรให้เสียจารีตประเพณี บางคนให้ด้วยคิดว่า เรามีอยู่มีกิน ควรแบ่งปันให้คนอื่นที่เขาไม่มีอยู่ไม่มีกิน บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้ของตนนั้นเป็นเกียรติยศ บางคนให้ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ท่าน จิตใจจะโสมนัสแช่มชื่น บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการเป็นบริขารของจิต (หมายถึงเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ดีขึ้น ยกระดับจิตให้มีคุณภาพขึ้น)

    ท่านชอบให้ทานแบบไหน ก็เลือกเอาตามสบายเถิด

    มาฟังนิทานกันดีกว่า...



    นางอุมมาทันตี

    หญิงยากจนคนหนึ่งรับจ้างทำงานอยู่ 3 ปี จึงได้ผ้าเนื้อดีย้อมด้วยดอกคำมาผืนหนึ่ง ขณะคิดว่าจะตัดเสื้อผ้าใช้เองแลเห็นพระสาวกของพระพุทธเจ้ารูปหนึ่งถูกโจรลักจีวรไป จึงฉีกผ้านั้นถวายพระท่านไปครึ่งหนึ่ง เมื่อพระคุณเจ้านุ่งห่มผ้านั้นแล้วมีผิวพรรณผ่องใส นางก็มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ตั้งจิตอธิษฐานว่า

    "ด้วยการถวายผ้านี้ ดิฉันเกิดในชาติใด ภพใด ในภายภาคหน้า ขอให้มีรูปร่างสวยงามหาใครเปรียบมิได้ ชายใดเห็นแล้วหลงรักทันที"

    สำเร็จตามปรารถนาครับ นางสิ้นชีพแล้วไปเกิดเป็นเทพธิดาแสนสวยบนสวรรค์ สร้างความโกลาหลปั่นป่วนทั่วสวรรค์เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างต้องการนางไปอภิรมย์ จุติจากสวรรค์ ก็ได้ไปเกิดเป็นลูกสาวแสนสวยของเศรษฐีเมือง

    อริฏฐะแคว้นสีพีรัฐ

    ใครๆ ได้ยลโฉมก็คลั่งไคล้ใหลหลง ไม่สามารถดำรงคงสติอยู่ได้ นางจึงมีชื่อว่า อุมมาทันตี (ทำให้คนหลงใหล)

    เศรษฐีไม่เห็นใครเหมาะสมกับนาง จึงเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสีพี ขอยกบุตรสาวให้ พระราชารับสั่งให้พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในการดูโหงวเฮ้งไปดูนางก่อน

    พราหมณ์ทั้ง 8 ไปเห็นนางเท่านั้น ต่างก็มองตาค้าง โอ้โฮ ทำไมสวยอย่างนี้ เมื่อนางได้นำข้าวปลามาให้รับประทานพราหมณ์ทั้ง 8 ต่างก็ไม่เป็นอันกินข้าว ได้แต่จ้องมองนาง ตักข้าวเข้าปากผิดๆ ถูกๆ ข้าวหกเรี่ยราด จนนางโมโหว่า "นี่หรือพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญดูลักษณะคน เซอะๆ ซะๆ ยังกับบ้าใบ้ไสหัวไป"

    นางสั่งไล่พราหมณ์เหล่านั้นไป ทำให้พวกเขาเจ็บใจมากที่ถูกดูหมิ่น จึงไปกราบทูลพระราชาว่า นางงามที่ว่านั้นมิได้งามจริงดังเล่าลือดอก "งามแต่รูปจูบไม่หอม" ที่แท้นางเป็นกาลกิณีบ้านเมือง ขืนเอามาไว้ในราชสำนักจะมีแต่ความวิบัติ พะย่ะค่ะ

    พระราชาเลยเลิกคิดจะนำนางเข้าวัง ผู้เป็นพ่อจึงยกนางให้เป็นภรรยาของเสนาบดี วันหนึ่งพระราชาเสด็จเลียบพระนครซึ่งจะต้องผ่านมาที่บ้านเสนาบดีด้วย เสนาบดีผู้สามีสั่งภรรยาว่าให้หลบอยู่แต่ในบ้าน อย่าโผล่หน้ามาให้พระราชาเห็นเป็นอันขาดสั่งแล้วก็เข้าวังไป

    พระเจ้ากรุงสีพีขึ้นทรงช้างมงคล เสด็จเลียบพระนครไปตามลำดับ ตอนพลบค่ำได้เสด็จผ่านมาทางคฤหาสน์เสนาบดี นางอุมมาทันตีแอบมองทางหน้าต่างเพื่อชมขบวนเสด็จ บังเอิญพระราชาแหงนพระพักตร์สอดส่ายสายพระเนตรมาทางหน้าต่าง ทอดพระเนตรเห็นนางพอดี เกิดปฏิพัทธ์ในพระราชหฤทัย เสด็จกลับไปวังแล้ว มิอาจเสวย มิอาจบรรทมได้ตามปกติ เพราะพิษรักแรกพบ ว่าอย่างนั้นเถิด

    เสนาบดีรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ด้วยความจงรักภักดีต่อพระราชบัลลังก์ จึงออกอุบายให้คนใช้คนสนิทคนหนึ่งไปหลบอยู่ในโพรงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งใกล้กับเทวาลัย ซักซ้อมกันอย่างดี รู้กันสองคน

    วันหนึ่งเสนาบดีก็ไปยังเทวาลัย กล่าวดังๆ ว่า

    "ข้าแต่เทวะผู้ประเสริฐ ระยะนี้พระราชาของข้า ไม่ทรงพระสำราญ มิอาจเสวย มิอาจบรรทมได้ตามปกติ ไม่ทราบว่าเกิดเภทภัยอันใด จะแก้ไขอย่างไร"

    เสียงเทวะ (ปลอม) ดังก้องมาจากโพรงไม้ใกล้ๆ ว่า "พระราชาของเจ้าเกิดปฏิพัทธ์ในภรรยาของเจ้า อยากได้นางเป็นมเหสี ถ้าไม่ได้นาง พระราชาจักสวรรคตภายใน 7 วันนี้ เจ้าจะคิดเห็นประการใด สุดแต่เจ้าเถิด"

    เสนาบดีเข้าเฝ้าพระราชา และกราบทูลคำพูดของเทวะผู้ประเสริฐให้พระองค์ทรงทราบ และยินดีถวายนางอุมมาทันตีภรรยาของตน เพื่อรักษาพระชนม์ชีพของพระราชาไว้

    เบื้องแรกพระราชาก็ปลื้มพระราชหฤทัยที่จะได้นางมาเป็นสมบัติ ซึ้งในความจงรักภักดีของเสนาบดี ที่ยอมสละได้แม้กระทั่งของรักของหวงที่สุด แต่คิดไปคิดมา เกิดความละอายพระทัยว่าพฤติกรรมของพระองค์รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั่น วิญญูชนติเตียนเทวดาไม่ชื่นชม พรหมไม่สรรเสริญ อย่างแน่นอน

    จึงรับสั่งขอบคุณในความจงรักภักดีของเสนาบดี แต่ทรงรับไว้ไม่ได้

    เรื่องนี้จบลงด้วยความชื่นชมในพระราชาเมืองสีพี ที่มีหิริโอตตัปปะ ไม่รับภรรยาของคนอื่น ทั้งที่สามียินดียกให้ คุณธรรมอย่างนี้หายากครับ

    เรื่องนี้ผู้รจนาคัมภีร์ต้องการชี้ว่า การถวายทานด้วยความเลื่อมใส ย่อมได้อานิสงส์ตามปรารถนาแล...

    http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud05210550&day=2007/05/21&sectionid=0307
     

แชร์หน้านี้

Loading...