มหาภัยแห่งชีวิต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 24 มิถุนายน 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มงคลชีวิต หรือ


    การรักษาตนให้เป็นปกติ คือ
    การรักษาตนให้เกิดสำนึกว่า
    สิ่งทั้งหลายกำลังเปลี่ยนแปลงไม่มีสิ่งใดยั่งยืนคงที่แน่นอน

    เราเกิดมาเพื่อรอเวลาตาย
    เราได้มาเพื่อรอเวลาเสีย
    เรามีเพื่อรอเวลาหมด
    เราเจอเพื่อรอเวลาจาก
    เราพบเพื่อรอเวลาพลัดพรากจากกันไป


    และเมื่อเวลานั้นมาถึงเมื่อใด
    ไม่มีใครทราบ แม้แต่ตัวเราเอง
    ในการรักษาตนให้เกิดความปกติดังกล่าวนี้
    ควรยึดหลักธรรม คือ หลักแห่งความถูกต้อง
    เพื่อวัดความถูกต้องที่แน่นอน ๔ ประการ คือ

    ๑. หมั่นระลึกความดีของท่านที่ทรงคุณความดีระดับสูงไว้เป็นประจำ

    ๒. หมั่นสร้างความรัก ความปรารถนาดีแก่คนและสัตว์ทั้งหลายเป็นประจำ

    ๓. หมั่นระลึกถึงว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ตามสภาพที่แท้จริง
    ไม่มีอะไรสวยงาม ไม่มีอะไรน่ารักใคร่หลงใหล
    แต่มีลักษณะพึงรังเกียจ เพราะความปฏิกูลของมันตามสภาพที่เป็นจริง

    ๔. หมั่นระลึกถึงสิ่งที่เป็นจริง และความจริงประการสุดท้ายของชีวิต คือ
    ความตายไว้เป็นประจำ เพื่อนำความสำนึกให้ทิศทางที่ประสงค์ คือ
    บารมี-อารมณ์-กรรมฐาน ทางประเสริฐในการดำเนินชีวิต
    จึงได้แก่ การวางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง คือ อุเบกขา

    อารมณ์ที่น่ารักดีใจ ผ่านมาก็เฉย
    อารมณ์ที่น่าตระหนกตกใจ ผ่านมาก็เฉย
    โดยมีความสำนึกว่าอะไรจะเกิดไม่ว่าดี หรือไม่ดีมันก็ต้องเกิด
    อะไรจะดับ จะดีหรือไม่ดีมันก็ต้องดับ
    เราจะห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับไม่ได้
    เหมือนห้ามความร้อน ความหนาวไม่ได้ ฉะนั้นผล ก็คือ

    ๑. ไม่เสียโครงการของชีวิตที่สำคัญ
    ๒. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
    ๓. ไม่ต้องห่วหน้าพะวงหลัง
    ๔. ไม่ต้องปล่อยไปตามอารมณ์


    นี่คือ ทางแห่งความสำเร็จชั้นยอดของมนุษยชน
    เป็นบารมีที่ใหญ่ยิ่ง เป็นยอดบารมี

    ทางชีวิตที่ปลอดภัย


    การปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของชีวิต เป็นภารกิจที่มีความสูงสุดเพื่อชีวิต ชีวิตที่ปลอดภัย เป็นชีวิตที่มีคุณประเสริฐสุด เพราะเป็นที่มาแห่งความสงบสุขอันเป็นยอดปรารถนา ถึงปลอดภัยเมื่อใดก็เป็นอันถึงจุดหมาย ที่พึงประสงค์เมื่อนั้น เพราะความปลอดภัย คือ ความไร้ปัญหา

    ภัยชีวิต ได้แก่

    ๑. ความเศร้าโศกเสียใจ
    ๒. ความร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
    ๓. ความลำบากกาย
    ๔. ความลำบากใจ
    ๕. ความคับแค้นใจ-ความช้ำใจ

    ซึ่งแต่ละอย่างย่อมทำให้ชีวิตเดือดร้อน กระวนกระวาย จึงนับเป็น “มหาภัยของชีวิต” เพราะเป็นที่หวาดกลัวของชีวิตยิ่งนัก

    ภัยชีวิตทั้ง ๕ ย่อมมาจาก

    ๑. ความต้องพลัดพรากจากคนรัก
    จากของรัก และจากสิ่งที่รัก

    ๒. ความต้องคลุกคลีกับคนที่เกลียด
    ของที่เกลียด และสิ่งที่เกลียด

    ๓. ความผิดหวัง คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ถ้า
    - ไม่มีความรัก
    - ไม่มีความเกลียด
    - ไม่มีความหวัง

    ภัยของชีวิตทั้ง ๕ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นทางที่ดี ก็คือ ป้องกัน
    - ความรัก
    - ความเกลียด
    - ความหวัง

    ไม่ให้เกิดขึ้นในความนึกคิด หรือความรู้สึกก็หมดภัยแน่
    โดยศึกษาธรรมดาของสัตว์โลก ให้เกิดความเข้าใจโดยชัดเจนจนเกิดตัวปัญญาว่า

    ๑. สัตว์โลกถูกตัวชรานำไป ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน ไม่คงที่

    ๒. สัตว์โลกไม่มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีใครป้องกันตัว
    ต้องเจ็บต้องตายทั้งหมด

    ๓. สัตว์โลกไม่มีอะไรเป็นของตนเลย
    ต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด

    ๔. สัตว์โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์
    ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของตัณหา

    ซึ่งท่านกำหนดไว้ว่าเป็น ธรรมมุทเทศ คือ
    เป็นเครื่องนำไปสู่ความถูกต้อง หรือเป็นเครื่องชี้เครื่องกำหนดความถูกต้อง
    ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ถูกต้อง ต้องเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจถูกต้อง

    คำว่า สัตว์โลก หมายถึง คนที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับ
    โลก คือ ยังติดโลก ยังยึดโลก
    โลก คือ สิ่งที่มีลักษณะเสื่อมโทรม
    ติดโลก ก็คือ ติดความเสื่อมโทรม
    ความเสื่อมโทรม คือ ภาวะที่เปลี่ยนแปลงปรวนแปร

    อาการของความเปลี่ยนแปลงปรวนแปร ก็ปรากฎเป็น
    ๑. ความแก่
    ๒. ความเจ็บ
    ๓. ความตาย
    ๔. ความไม่มีอะไรเหลือในที่สุด

    ซึ่งอาการเหล่านี้มีแก่สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ทั่วถึงกัน เท่าเทียมกัน
    ไม่ยกเว้นใคร ไม่ยกเว้นสิ่งใด
    ท่านจึงเรียกว่า สามัญลักษณะ ซึ่งแปลว่า
    ข้อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ว่า


    ๑. อนิจจัง ความไม่แน่นอน
    ๒. ทุกขัง ความไม่คงที่
    ๓. อนัตตา ความไม่ใช่ของเรา


    เมื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า
    เห็นความจริงของโลกด้วยสิ่งประเสริฐ คือ ปัญญา

    ผลที่ตามมา ก็คือว่า
    ๑. ไม่มีอะไรน่ารัก
    ๒. ไม่มีอะไร น่าเกลียด
    ๓. ไม่มีอะไรน่าหวัง

    ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามสภาพธรรมดา เมื่อถึงคราวเกิดก็เกิด เมื่อถึงคราวดับก็ดับ ไม่มีใครมาทำให้เกิด ไม่มีใครมาทำให้ดับ ปัจจัยตามธรรมชาติ ทำให้เกิด…ทำให้ดับ ตามวาระของมันเอง ย่อมไม่มีความรู้สึกว่า

    ๑. จากคนรัก ของรัก และสิ่งรัก
    ๒. คลุกคลีกับคนที่เกลียด ของที่เกลียด สิ่งที่เกลียด
    ๓. ผิดหวัง

    แล้วในที่สุด
    ๑. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
    ๒. ไม่ต้องร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
    ๓. ไม่ต้องลำบากกาย
    ๔. ไม่ต้องลำบากใจ
    ๕. ไม่ต้องแค้นใจ ไม่ต้องช้ำใจ

    เข้าใจสัจจะธรรมที่ว่า
    ๑. ภัยมีอยู่ตามสภาพ
    แต่คนที่ประสบภัยไม่มี เพราะไม่มีคนประสบภัย
    ๒. ความทะยานอยากมีอยู่ตามสภาพ
    แต่คนทะยานอยากไม่มี

    เพราะไม่ทราบว่าจะทะยานให้ต้องชอกช้ำผิดหวังไปทำไม
    เหมือนกระแสลม หรือแสงแดด ที่ปรากฎอยู่ตามภาวะ
    แต่ไม่มีใครมาสัมผัส
    ก็ไม่มีใครรู้สึกเย็น รู้สึกร้อนนั่นเอง
    กระแสลมปรากฎความเย็นแก่คนสัมผัส
    แสงแดดก็ปรากฎความร้อนแก่คนสัมผัส
    ถ้าไม่มีคนสัมผัส ก็ไม่ปรากฎความเย็นความร้อนได้
    นี่คือ ทางแห่งความปลอดภัยของชีวิต
    ถ้าพิจารณาถึงชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ก็พอจะพบทางดังว่านี้ได้
    พวกเรา ยังเป็นสัตว์โลก เพราะความรู้สึกยังติดโลก ยังยึดโลกอยู่

    บางคราวก็ติดมาก ยึดมาก
    บางคราวก็ติดน้อย ยึดน้อย
    บางคราวก็ดูเหมือนไม่ติด ไม่ยึดเลย

    จึงทำให้ชีวิตมีภาวะแตกต่างกัน คือ
    คราวใดติดมาก ยึดมาก คราวนั้น
    ก็มีเรื่องวุ่นวายมาก มีปัญหามาก คือมีภัยมาก


    คราวใดติดน้อย ยึดน้อย คราวนั้น
    ก็มีเรื่องวุ่นวายน้อย มีปัญหาน้อย คือมีภัยน้อย

    ในคราวที่รู้สึกดูเหมือนว่าจะไม่ติด ไม่ยึดอะไร ใครจะไปไหนมาไหนอย่างไร ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร จะได้อะไร จะเสียอะไร ก็เฉยๆ จะสบายไม่สบายอย่างไรก็เป็นธรรมดา

    ไม่อยากรักใคร ไม่อยากเกลียดใคร
    ไม่มุ่งหวังสิ่งใด ไม่มุ่งหมายอะไรจากใคร
    ก็รู้สึกไม่มีเรื่องที่ต้องวุ่นวายไม่มีปัญหา
    ซึ่งเป็นสัญญานแห่งความไม่มีภัย
    อดีตเป็นฉันใด ปัจจุบันก็เป็นฉันนั้น และอนาคตก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นบทเรียนชีวิตที่ดีที่สุด ก็คือ ชีวิตเราเอง ชีวิตเราเป็นหลัก ชีวิตเขาเป็นส่วนประกอบ แต่เราต้องยอมรับความจริงในตัวเรา ได้ถูกต้องทุกประการ

    พระพุทธเจ้าทรงประสบความสำเร็จในการตรัสรู้ ก็เพราะทรงรู้ที่พระองค์เอง
    จะทรงรู้ทุกข์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทุกข์ในพระองค์เอง จะทรงรู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ลักษณะความดับทุกข์ และทางให้ดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้ามิได้ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง เราทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น รู้เรื่องโลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร ได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เราก็ไม่ทราบได้และก็ไม่แน่ใจว่ามีใครทราบหรือไม่


    <center>ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:จากหนังสือการเจริญกรรมฐาน การเจริญสมาธิด้วยสติปัฐฐาน ๔ โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม สำนักพิมพ์ ธรรมสภา </center>
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ภาวะของคนสองประเภท

    ทุฆราวาสํ ทุปพฺพชิตํ

    อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์ เป็นบรรพชิตก็เป็นทุกข์

    ในพระภาษิตทั้งสองบทนี้ ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ของบุคคล ๒ ประเภทว่า เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้ามีจิตอันบริสุทธิ์และซื่อตรง ได้แสดงถึงสภาพความเป็นจริง ซึ่งผิดจากความเห็นของบุคคลบางคนในโลก

    ผู้ยังตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความหลงว่า

    เป็นฆราวาสมีความสุขบ้าง บวชมีความสุขบ้าง จึงได้ทำความไม่สงบวุ่นวายให้เกิดขึ้นในวงสังคมทั้งสองดังที่ปรากฏเห็นกันอยู่แล้ว เมื่อบุคคลมีความเข้าใจผิดเห็นผิดแล้วก็ย่อมกระทำผิดเป็นธรรมดาอยู่เอง สิ่งที่ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ บางคนเมื่อตนเข้าใจผิดแล้ว ยังแถมไปใส่โทษพระพุทธเจ้าเข้าไปอีกว่า

    คำสอนของพระพุทธองค์ผู้เป็นทุกขนิยม

    พระองค์ยอมสละเสียซึ่งความเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่และความสุขทั้งปวงแล้ว จะมาทรงปรารถนาประโยชน์อะไรจากชาวโลกอีก มีแต่ทรงยอมทรมานพระวรกายเสด็จไปประกาศสัจธรรมของจริงแก่พลโลก เนื่องจากทรงพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงแก่ปวงสัตว์ผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความมืด ซึ่งต่างก็พากันดิ้นรนเพื่อให้พ้นเสียจากความมืด แล้วจะยังมาหาว่าคำสอนของพระพุทธองค์เป็นทุกขนิยมไปเสียอีก

    สัตว์โลกผู้ยังหนาแน่นด้วยความมืด คือ

    อวิชชา มีฝ้าปิดบังกล่าว คือ โมหะ ย่อมไม่เห็นด้วยกับสัจจวาทีของผู้หวังดีต่อตน นอกจากไม่เห็นดีด้วยแล้วยังเห็นคำสอนเป็นไม้เบื่อไม้เมาอีกด้วยจึงเป็นที่น่าสงสารมาก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ผู้ซึ่งปราศจากพระโยธาหาญาติมิได้ ก็มิได้หวั่นเกรงต่ออำนาจอิทธิพลใดๆ และของใครๆ ทั้งนั้น

    ทรงเปล่งสีหนาทประกาศสัจจธรรม

    ในท่ามกลางพระพุทธบริษัทตามความเป็นจริง โดยมิได้อคติอันใดทั้งสิ้น ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้น อันมีความว่า “อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์ บวชก็เป็นทุกข์” ดังนี้ โดยมิได้เกรงใจใคร และมิได้เห็นแก่หน้าใครๆ ทั้งสิ้น ว่าเขาเหล่านั้นจะชอบใจหรือไม่ แต่ตรัสตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่อุบัติมาในโลกนี้ทั้งหมดจะเป็นรูปก็ตาม เป็นนามก็ตาม ที่เรียกว่า สังขาร ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

    ความจริงคนเราเกิดมาแล้ว

    มิใช่พึงเป็นทุกข์เมื่อเป็นฆราวาสและเมื่อบวชเท่านั้น มันเป็นทุกข์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดาโน้น ที่พระพุทธเจ้าทรงยกเอาทุกข์ของฆราวาสและบรรพชิตมาตรัสนี้

    เพียงแต่เพื่อชี้ให้เห็นทุกข์ส่วนหนึ่งในบรรดาทุกข์ทั้งหลายเท่านั้น

    และทรงมุ่งให้ผู้เข้าใจผิดเห็นตามเป็นจริงแล้วจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ได้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ต้องดิ้นรนจนทำให้สิ่งแวดล้อมยุ่งเท่านั้น หาไม่แล้ว ผู้ที่เข้าใจผิดเห็นผิดดังว่ามาแล้วนั้นจะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมยุ่งไปหมด

    ฆราวาสผู้ที่ไม่มีความสามารถในอาชีพ หรือเกียจคร้านในการงาน เป็นต้น

    ก็หาว่าฆราวาสเป็นทุกข์ บวชเป็นสุขสบายดีกว่าไม่ต้องทำงานอะไร ถึงเวลาก็มีคนหามาให้กินเอง ก็เลยอยากบวช ผู้บวชอยู่แล้วบางคนได้เคยเป็นฆราวาสมีลูกมีเมียมาก่อนเสียด้วยซ้ำ ก็ยังหาว่าบวชเป็นทุกข์เหมือนกับขังไว้ในคอกในกรง จะไปจะมาจะอยู่กินใช้สอยอย่างไร ก็ล้วนแต่มี ข้อกฎ - กติกา - ระเบียบ พระวินัย บังคับไปเสียหมดทุกอย่าง

    ที่สุดแม้แต่ ตา หู จมูก กาย ลิ้น ของตน

    ซึ่งเป็นสมบัติเดิมพ่อแม่แบ่งปันให้มาโดยเฉพาะแท้ๆ ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังต้องให้ระวังควบคุมรักษาอีกด้วย ก็เลยอยากสึกเสีย บางคนสึกออกไปแล้วได้รับอุปสรรคขัดข้องบางประการ ซึ่งตัวเองปรับปรุงตัวของตัวให้เข้ากับสังคมเขาไม่ได้ก็ดี หรือไม่รู้เท่าเข้าใจต่อเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดจนไม่มีความสามารถในหน้าที่ของตนก็ดี ก็เลยคิดถึงความสุขเล็กน้อย ที่ตนได้รับเมื่อครั้งที่บวชอยู่ แล้วหาว่าฆราวาสมันยุ่ง สกปรกเป็นทุกข์มาก กลับมาบวชอีกสองครั้งสามทีก็มี

    คนประเภทที่กล่าวนี้

    มีจิตใจคลอนแคลนไม่หนักแน่น ไม่มีหลักธรรมประจำใจ มักกระทำตามความคิดที่เหลวไหลของตน แล้วก็ไม่เชื่อความคิดเห็นของคนอื่นอีกด้วย พูดง่ายๆ ว่า เป็นคนเจ้าอารมณ์ (เป็นทาสของอารมณ์) ยอมแพ้ทั้งทางโลกและทางธรรม คนโบราณจึงได้พูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์” ไม่ควรคบเอาเป็นมิตร (อย่าเอาเป็นตัวอย่าง)

    แท้จริงสิ่งที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ที่เรียกว่า

    สังขาร คือ พวกที่มีแต่ชีวิต เช่น ต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นก็ดี ที่มีวิญาณด้วยเช่น สัตว์ มนุษย์ เป็นต้นก็ดี ล้วนแล้วแต่พากันเกลียดทุกข์ต้องการสุขด้วยกันทั้งนั้น ต่างพากันดิ้นรนให้พ้นไปจากทุกข์ หมายจะเอาชนะทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนเราต้องการความสุขมากกว่าเขาทั้งหมด และเมื่อได้รับความสุขมาแล้วก็ไม่รู้จักพอเสียด้วย คนเราจึงได้ทำให้โลกเป็นทุกข์และเดือดร้อนมาก

    อาจกล่าวได้ว่า

    โลกที่เดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ทุกข์วันนี้เกิดมาจากมนุษย์เราเป็นส่วนมาก แม้แต่สัตว์ที่หนีไปซุกซ่อนอยู่ในป่าดงพงลึก หรือในก้นทะเล ก็ไม่พ้นจากคนตามไปเบียดเบียน เป็นธรรมดาผู้ต้องการมากก็ต้องใช้ความคิดมาก

    พร้อมกันนั้นก็มีความฉลาดมากอีกด้วย

    แต่ถ้านำความฉลาดนั้นมาใช้ให้เกินขอบเขตไป มักจะเป็นเหตุทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่น พุทธภาษิตที่ตรัสว่า อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์นั้นอยู่ในข่ายนี้เหมือนกัน ทุกข์มากก็ดิ้นรนมากก็ยิ่งแต่จะเดือดร้อนมากเหมือนกับนกที่ติดข่าย ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดตัวเข้า ไม่ดิ้นเสียเลยก็มีหวังเข้าหม้อแกงแน่ พูดสั้นๆ ว่า ดิ้นรนก็เป็นทุกข์ ไม่ดิ้นรนก็เป็นทุกข์ ไม่พ้นคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ไปได้

    เมื่อเหตุผลมีอยู่อย่างนี้แล้ว

    จะไม่ให้พระองค์ผู้ทรงมีจักษุดี ทรงมองดูมนุษย์และสัตว์ผู้มืดมัวอยู่ด้วยความเมตตาแล้วทรงเปล่งสีหนาทประกาศก้องว่า นั่นเป็นทุกข์ๆ อย่างไรเล่า และยังได้ทรงชี้ตัวทุกข์อย่างตรงๆ ตามที่มีอยู่เป็นอยู่จริงๆ อีกด้วยว่ามี ๑๑ ประการ คือ

    ๑. ความเกิด
    ๒. ความชรา (ความเจ็บไข้ก็รวมอยู่ในชรานี้)
    ๓. ความตาย
    ๔. ความโศก
    ๕. ความพิไรร้องไห้รำพัน
    ๖. ความทุกข์ใจ
    ๗. ความน้อยใจ
    ๘. ความเหือดแห้งใจ
    ๙. ความประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
    ๑๐. ความปรารถนาสิ่งใดๆ แล้วไม่สมประสงค์ และ
    ๑๑. ความวิปโยคพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักและชอบใจ

    เหล่านี้แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์

    ถ้าหากทุกข์ทั้ง ๑๑ อย่างนั้นโหมกลุ้มรุมเข้ามาพร้อมกันทั้งหมดใส่บุคคลใดแล้ว บุคคลผู้นั้นถ้าไม่ถึงดิ้นแด่วดับชีวิต ก็มีหวังเหลืองไปทั้งตัวทีเดียว ทุกข์ทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วนี้ เมื่อสรุปแล้วก็อยู่ที่ความถือว่ากาย ใจ นี้ เป็นเรา เป็นของเรา (อัตตานุทิฎฐิ) ที่เรียกว่า อุปทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

    อุปทานขันธ์เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์

    เมื่อบุคคลมาพิจารณา อุปทานขันธ์ เห็นตามเป็นจริง และปล่อยวางได้ ทุกข์ทั้งหลายก็ไม่มี ถ้าปล่อยวางอุปทานขันธ์ นี้ยังไม่ได้ตราบใด กายและใจก็จะพร้อมกันสร้างกิเลสขึ้นเสวยร่วมกันอยู่ตราบนั้น

    เมื่อกายแตกดับทำลายไปตามสภาพของสังขาร

    ใจเป็นผู้หอบเอากิเลสอันเป็นเชื้อนำให้ไปเกิดในภพอื่น และร่วมกันทำกรรมเสวยทุกข์ต่อไปอีก แล้วก็ดิ้นรนเดือดร้อนประกอบกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดภพชาติต่อไปอีก วนไปวนมาไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที หากจะเขียนให้เข้าใจง่ายแล้ว ก็ต้องเขียนดังนี้

    แผนผังของภพชาติ

    เหตุ............................................... ผล

    วิปากวัฏฏ์ (เกิดมา)..... กัมมะวัฏฏ์ (ทำกรรม)..... กิเลสวัฏฏ์ (เศร้าหมองใจ)

    ปากวัฏฏ์ (เกิดอีก)....... กัมมะวัฏฏ์ (ทำกรรม)...... กิเลสวัฏฏ์ (เศร้าหมองใจ)

    จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเป็นเหตุเป็นผล

    ผลัดเป็นต้นผลัดเป็นปลายของกันและกันวนอย่างนี้อยู่เรื่อยไป ไม่รู้จักจบจักสิ้นตลอดภพตลอดชาติ ท่านจัดเรียกว่า วัฏฏสงสาร การหมุนของวัฏฏ์ทั้ง ๓ ดังแสดงมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องแสดงอาการของความทุกข์สลับกันไปมาทั้งนั้น

    <center>ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี </center>

     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง

    ผู้ทำดีย่อมได้ดี ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว

    ๏ สิ่งปรารถนาของมนุษย์

    อันความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุกๆ คน และทุกๆ คนย่อมเคยประสบความสุขมาแล้ว ความสุขเป็นอย่างไร จึงเป็นที่รู้จักกันอยู่ ในเวลาที่กายและจิตใจอิ่มเอิบ สมบูรณ์ สบาย ก็กล่าวกันว่าเป็นสุข ความสุขจึงเกิดขึ้นที่กายและใจนี่เอง


    ๏ ความสุขทางร่างกาย

    สำหรับกายนั้น เพียงให้เครื่องอุปโภคบริโภคพอให้เป็นไปได้ก็นับว่าสบาย แม้กายสบายดังกล่าวมานี้ ถ้าจิตไม่สบาย กายก็พลอยซูบซีดเศร้าหมองด้วย

    ส่วนกายเมื่อไม่สบายด้วยความเจ็บป่วย หรือด้วยความคับแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตยังร่าเริงสบายอยู่ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นร้อนเท่าใดนัก และ ความไม่สบายของกายก็อาจบรรเทาไปได้ เพราะเหตุนี้ความสุขจิตสุขใจนั่นแลเป็นสำคัญ

    ๏ ความสุขทางจิตใจ

    อันความสุขทางจิตใจนี้ คิดๆ ดูก็เห็นว่าหาได้ไม่ยากอีก เพราะความสุขอยู่ที่จิตใจของตนเอง จักต้องการให้จิตเป็นสุขเมื่อใดก็น่าจะได้ ใครๆ เมื่อคิดดูก็จักตองยอมรับว่าน่าคิดเห็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องยอมจนอีกว่า สามัญชนทำไม่ได้เสมอไป เพราะยังต้องการเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุข มีเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น

    ถ้าเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขขาดไป หรือมีไม่เพียงพอ ก็ทำให้เป็นสุขมิได้ นี้เรียกว่ายังต้องปล่อยใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์อยู่ ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเหตุฉะนี้ ในที่นี้จึงประสงค์ความสุขที่มีเครื่องแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “สุขสมบัติ” อันเป็นความสุขขั้นสามัญชนทั่วไป


    ๏ ความสุขอยู่ที่ไหน ?

    คิดดูเผินๆ ความสุขนี้น่าจักหาได้ไม่ยาก เพราะในโลกนี้มีเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขแวดล้อมอยู่โดยมาก หากสังเกตดูชีวิตของคนโดยมากที่กำลังดำเนินไปอยู่ จักรู้สึกว่าตรงกันข้ามกับที่คิดคาด ทั้งนี้มิใช่เพราะเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขในโลกนี้มีน้อยจนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะผู้ขาดแคลนความสุขสมบัติไม่ทำเหตุอันเป็นศรีแห่งสุขสมบัติ จึงไม่ได้สุขสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนผู้ที่ทำเหตุแห่งสุขสมบัติ ย่อมได้สุขสมบัติมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเหตุนี้ ผู้ปรารถนาสุขจึงสมควรจับเหตุให้ได้ก่อนว่า อะไรเป็นเหตุของความสุข และอะไรเป็นเหตุของความทุกข์

    ๏ เหตุแห่งความสุข และเหตุแห่งความทุกข์

    บางคนอาจเห็นว่า เหตุของความสุขความทุกข์อยู่ภายนอก คือสุขเกิดจากสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง บ้านที่สวยงาม เป็นต้น ส่วนความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งภายนอกนั้นเหมือนกัน บางคนอาจเห็นว่าความสุขความทุกข์เกิดจากเหตุภายใน


    ๏ เงื่อนไขของความสุข

    สิ่งภายนอกโดยมากถ้าเป็นส่วนที่ดี มีเงินทอง ยศชื่อเสียง เป็นต้น ก็เป็นที่ปรารถนาตรงกันของคนเป็นอันมาก จึงต้องมีการแสวงหาแข่งขั้นกันโดยทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้มาก็ให้เกิดความสุขเพราะสมปรารถนาบ้าง เพราะนำไปเลี้ยงชีพตน และผู้อื่นให้อิ่มหนำสำราญบ้าง สิ่งภายนอกย่อมอุดหนุนความสุขฉะนี้

    แต่สิ่งภายนอกเป็นของไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ ความสุขที่เกี่ยวเกาะติดอยู่ก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์จึงปรากฏขึ้นติดๆ กันไปทีเดียว ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ลอยไปลอยมา หรือเรียกว่าเป็นความสุขลูกโป่ง และในความแสวงหา ถ้าไม่ได้หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบก็ให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่สมปรารถนา

    ๏ สิ่งภายนอกไม่ใช่ตัวเหตุของความสุข

    อนึ่ง ถ้าได้สิ่งนั้นๆ มาด้วยการกระทำที่ไม่ดี การกระทำนั้นก็จักเป็นเครื่องตัดทอนตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงว่าสิ่งภายนอกอุดหนุนความสุขสำราญให้บ้าง แต่จัดเป็นเหตุของความสุขหรือ ? ถ้าเป็นเหตุของความสุข ผู้ที่มีสิ่งภายนอกบริบูรณ์จักต้องเป็นสุขทุกคน

    แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยสิ่งภายนอกแต่เป็นทุกข์มีถมไป เพราะเหตุนี้สิ่งภายนอกจึงมิใช่ตัวเหตุของความสุข เป็นเพียงเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขดังกล่าวแล้วเท่านั้น


    ๏ สิ่งภายนอกที่เป็นอุปกรณ์แห่งความสุข

    อันสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น อันเป็นอุปกรณ์แห่งความสุข เมื่อคิดดูให้ซึ้งลงไป จักเห็นว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง ถ้าตนเองอยู่เฉยๆ ไม่ทำการงานอันเป็นเหตุที่เพิ่มพูนสิ่งภายนอกเหล่านั้น สิ่งภายนอกนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีใหม่มาชดเชยก็จักต้องหมดไปในที่สุด เพราะเหตุฉะนี้จึงกล่าวได้ว่า สิ่งภายนอกที่เป็นอุปกรณ์แก่ความสุขนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเองในทางธรรม

    ๏ ความสุขเบื้องต้นพบได้อย่างไร

    ผู้ปรารถนาสุขเบื้องต้น จึงสมควร หมั่นประกบการงาน หาเลี้ยงชีพตามทางของตนๆ โดยไม่ตัดรอนกัน ไม่เฉื่อยชา เกียจคร้าน และแก้ไขในการงานของตนให้ดีขึ้น ก็จักไม่ต้องประสบความแร้นแค้น ขัดข้อง

    ถ้าไม่หมั่นประกอบการงานของตนให้ดีขึ้น ปล่อยไปตามเรื่อง ก็อาจจักต้องประสบความยากจนค่นแค้น ต้องอกแห้งเป็นทุกข์ และนั่นเป็นความผิดต่อประโยชน์ปัจจุบันของตนเอง

    ๏ สุจริต...วิถีทางของคนดี

    การทำอย่างหนึ่งทางธรรมเรียกว่าดี เป็นวิถีทางของคนฉลาด และทางโลกยกย่องนับถือว่าดี การทำอย่างนี้เรียกว่า สุจริต แปลว่า ประพฤติดี ประพฤติดีทางกายเรียกว่ากายสุจริต ประพฤติดีทางวาจาเรียกว่าวจีสุจริต ประพฤติดีทางใจเรียกว่ามโนสุจริต

    กายสุจริต จำแนกเป็น ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามประเวณี

    วจีสุจริต จำแนกเป็น ๔ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

    มโนสุจริต จำแนกเป็น ๓ คือ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยโลภ…เจตนาคิดจะเอามาเป็นของของตน ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม มีความเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น รวมเป็น ๑๐ ประการ

    ๏ ทุจริต...วิถีทางแห่งความชั่ว

    ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้ามเรียกว่า ทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่ว ประพฤติชั่วทางกายเรียกว่า กายทุจริต ประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต ประพฤติชั่วทางใจเรียกว่า มโนทุจริต ทุจริต ๓ นี้มีจำแนกตรงกันข้ามกับสุจริต

    คำว่า “ประพฤติ” มักจะพูดมุ่งหมายถึงการกระทำทางกายและวาจา คำว่า “ทำ” ก็มักพูดมุ่งหมายถึงการทำทางกาย การทำทางวาจาเรียกว่าพูด การทำทางใจเรียกว่าคิด

    ส่วนในทางธรรม การทำ พูด คิด เรียกเป็นอย่างเดียวกันว่า ทำ หรือ ประพฤติ และมีคำว่า กาย วาจา ใจ กำกับ เพื่อให้รู้ว่าทำหรือประพฤติทางไหน

    ๏ วิถีทางของผู้ไม่ฉลาด

    ทุจริตทางธรรมเรียกว่าไม่ดี เป็นวิถีทางของผู้ไม่ฉลาด ทางโลกก็เหยียดหยามว่าเลว ไม่ดี โดยนัยนี้จึงเห็นว่า ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม นับถือสิทธิของผู้อื่น หรือเรียกว่านับถือขอบเขตแห่งความสงบสุขของผู้อื่น เพราะสุจริตและทุจริตที่จำแนกไว้อย่างละ ๑๐ ประการนั้น

    โดยความก็คือ

    ไม่ประพฤติละเมิดสิทธิ หรือไม่เบียดเบียนความสงบสุขของผู้อื่น และการประพฤติละเมิดสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่นนั้นเอง แต่ทางโลกนับถือสิทธิของบุคคลและสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก ไม่นับถือบางจำพวก โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก ส่วนทางธรรมนับถือทั่วไป ไม่มีแบ่งแยกยกเว้น เพราะทางธรรมละเอียด ประณีต

    ๏ ธรรมะในใจควรประพฤติคู่กันไปกับสุจริต

    อนึ่ง ทุจริตอยู่เฉยๆ ประพฤติไม่ได้ ต้องประพฤติด้วยความขวนขวายพยายาม จนผิดแผกแปลกไปจากปกติ จึงจัดเป็นทุจริตได้ ส่วนสุจริตประพฤติได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง ประพฤติไปตามปกติของตน ไม่ต้องตบแต่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นสุจริตได้

    เพราะเหตุนี้ เมื่อว่าทางความประพฤติ สุจริตจึงประพฤติได้ง่ายกว่า

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรทุจริตจึงเกิดขึ้นได้ ? ข้อนี้เป็นเพราะยังขาดธรรมในใจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ความประพฤติจึงเป็นไปตามใจของตนเอง ผู้รักษาศีลหรือประพฤติสุจริต หรือแม้ประพฤติกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่มีธรรมอยู่ในใจบ้างแล้ว ก็มักจะรักษาหรือประพฤติทำนองทนายความว่า เพราะการกระทำบางอย่างไม่ผิดศีลตามสิกขาบท ไม่ผิดสุจริตตามหัวข้อ แต่ผิดธรรมมีอยู่ และจะประพฤติหรือรักษาให้ตลอดไปมิได้ เพราะเหตุนี้ จึงสมควรมีธรรมในใจสำหรับประพฤติคู่กันไปกับสุจริต

    ๏ เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง

    ผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมเป็นคนไม่มีภัย ไม่มีเวร มีกายวาจาใจปลอดโปร่ง นี้เป็นความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนผู้ประพฤติทุจริตอธรรม ตรงกันข้าม มีกายวาจาใจ หมกมุ่น วุ่นวาย แม้จักมีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียงสักเท่าใด ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้ ต้องเปลืองทรัพย์ เปลืองสุข ระวังทรัพย์ ระวังรอบด้าน นี้เป็นความทุกข์ที่เห็นกันอยู่แล้ว

    ส่วนในอนาคตเล่าจักเป็นอย่างไร ? อาศัยพุทธภาษิตที่แสดงว่า...

    กลฺยาณการี กลฺยาณํ...ผู้ทำดีย่อมได้ดี
    ปาปการี จ ปาปกํ...ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว


    ๏ ผลแห่งสุจริตธรรม

    จึงลงสันนิษฐานได้ว่า สุจริตธรรมอำนวยผลที่ดีคือความสุข ทุจริตอธรรมอำนวยผลที่ชั่วคือความทุกข์ แม้ในอนาคตแน่แท้ อนึ่ง ในที่นี้รวมผลแห่งสุจริตธรรมทั้งสิ้น แสดงรวมยอดอย่างเดียวว่าความสุข เพราะเหตุนี้สิ่งใดเป็นอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าสุขสมบัติ เช่น ความบริบูรณ์ทรัพย์ ผิวพรรณงาม อายุยืน ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นผลแห่งสุจริตธรรม

    ๏ วิธีปฏิบัติสุจริตธรรม

    จักแสดงวิธีปฏิบัติสุจริตธรรมสักคู่หนึ่ง โดยย่อไว้เผื่อผู้ต้องการต่อไป คือ ไม่พยาบาท กับ เมตตา

    เมื่ออารมณ์ร้ายอย่างเบา

    คือความหงุดหงิดไม่พอใจแรงขึ้นเป็นความฉุนเฉียวร้ายกาจ แรงขึ้นอีกเป็นพยาบาท เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรทำความรู้จักตัวและพิจารณาโดยนัยว่า นี้เท่ากับทำโทษตน เผาตนโดยตรง มิใช่ทำโทษหรือแผดเผาผู้อื่นเลย คราวที่ตนผิดใจยังเคยให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น เหตุไฉนเมื่อผู้อื่นทำผิดใจจึงมาลงโทษแผดเผาตนเล่า ผู้อื่นที่ตนโกรธนั้นเขามิได้ทุกข์ร้อนไปกับเราด้วยเลย

    อนึ่ง ควรตั้งกติกาข้อบังคับสำหรับตนว่า

    เมื่อเกิดอารมณ์ร้าย มีโกรธเป็นต้นขึ้น จักไม่พูด จักไม่แสดงกิริยาของคนโกรธ หรือตั้งกติกาประการอื่น ซึ่งอาจจักรักษาอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไว้ข้างใน มิให้ออกมาเต้นอยู่ข้างนอก และพยายามดับเสียด้วยอารมณ์เย็นชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยการพิจารณาให้แยบคาย มิให้ลุกกระพือสุมอกอยู่ได้

    ๏ การแผ่เมตตาปรารถนาดีต่อกัน

    เมตตา มิตร ไมตรี สามคำนี้เป็นคำหนึ่งอันเดียวกัน
    เมตตา คือความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
    มิตร คือผู้มีเมตตาปรารถนาสุขประโยชน์ต่อกัน
    ไมตรี คือความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน


    ผู้ปรารถนาจะปลูกเมตตาให้งอกงามอยู่ในจิต

    พึงปลูกด้วยการคิดแผ่ ในเบื้องต้นแผ่ไปโดยเจาะจงก่อน ในบุคคลที่ชอบพอ มีมารดาบิดา ญาติมิตรเป็นต้น โดยนัยว่าผู้นั้นๆ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุขสวัสดิ์รักษาตนเถิด

    เมื่อจิตได้รับการฝึกหัดคุ้นเคยกับเมตตาเข้าแล้ว

    ก็แผ่ขยายให้กว้างออกไปโดยลำดับดังนี้ ในคนที่เฉยๆ ไม่ชอบไม่ชัง ในคนที่ไม่ชอบน้อย ในคนที่ไม่ชอบมาก ในมนุษย์และดิรัจฉานไม่มีประมาณ

    เมตตาจิต ย่อมให้ความสุขแก่ชนส่วนรวมตั้งแต่สองขึ้นไปด้วย

    คือหมู่ชนที่มีไมตรีจิตต่อกัน ย่อมหมดความระแวง มีโอกาสประกอบการงานอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและหมู่เต็มที่ มีความเจริญรุ่งเรือง และความสงบสุขโดยส่วนเดียว

    ๏ ผู้สุจริตย่อมเป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ผู้ทรงมีพระเมตตาไมตรี มีมิตรภาพในสรรพสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกล จึงได้ทรงประทานศาสนธรรมไว้หนึ่งฉันทคาถา แปลความว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และในโลกอื่นดังนี้

    เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาสุข

    เมื่อจับตัวเหตุการณ์แห่งความสุขและความทุกข์ได้แล้ว ควรเว้นทุจริตอธรรมอันเป็นเหตุของความทุกข์ ควรประพฤติสุจริตธรรมอันเป็นเหตุของความสุข ถ้าประพฤติดังนี้ชื่อว่า ได้ก่อเหตุการณ์ของความสุขสมบัติไว้แล้ว


    ๏ ผู้ประพฤติธรรมสุจริตเป็นสุขทุกทิวาราตรีกาล

    ถ้ามีปัญญาในชีวิตปัจจุบันของผู้ประพฤติสุจริตธรรม หรือทุจริตอธรรมเกิดขึ้น พึงทราบว่า ในคราวที่สุจริตธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่ ผู้ประพฤติทุจริตอธรรมย่อมพรั่งพร้อมด้วยสุขสมบัติและความสดชื่น ร่าเริง อาจสำคัญทุจริตธรรมดุจน้ำหวาน และอาจเย้ยหยันผู้ประพฤติสุจริตธรรมได้ แต่ในกาลที่ทุจริตอธรรมของตนให้ผล ก็จักต้องประจวบทุกข์พิบัติซบเซาเศร้าหมอง ดุจต้นไม้ในฤดูแล้ง

    อนึ่ง ในคราวทุจริตอธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่

    ผู้ประพฤติสุจริตธรรมก็ยังต้องประสบทุกข์พิบัติซบเซาอับเฉาอยู่ก่อน แต่ในกาลที่สุจริตธรรมของตนให้ผล ย่อมเกิดสุขสมบัติย่างน่าพิศวง ดุจต้นไม้ในฤดูฝน แม้สุจริตธรรมจักยังไม่ให้ผลโดยนัยที่กล่าวนี้ กาย วาจา และใจ ของตนก็ย่อมปลอดโปร่งเป็นสุขสงบ เป็นผลที่มีประจำทุกทิวาราตรีกาล

    ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช


     

แชร์หน้านี้

Loading...